More than one baby

คุยกับ SAFE ผู้นำบริการทางการแพทย์สำหรับคนมีบุตรยาก ที่อยากเป็นจิ๊กซอว์เติมเต็มความสุขของครอบครัว

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป มีสารพัดปัจจัยที่ทำให้คนหนุ่มสาวเลือกที่จะมีลูกช้า หรือไม่มีลูกเลยก็ตาม สะท้อนจากสถิติ และจำนวนอัตราการเกิดของประชากรในแต่ละปีค่อยๆ ลดน้อยลงทุกทีๆ อย่างปีที่ผ่านมาคนเกิดต่ำกว่า 5 แสนคน

แต่เอาเข้าจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพครอบครัวสุขสันต์ที่มีทั้งพ่อ แม่ ลูก ก็ยังเป็นสิ่งที่หลายๆ ครอบครัวตามหาเฉกเช่นเดียวกัน และก็มีอีกหลายเหตุผลที่คนอยากมีลูกแต่ไม่สามารถมีได้

แต่คงไม่ใช่กับที่นี่แน่ๆ นี่คือ SAFE Fertility Group ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรแบบครบวงจรที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 15 ปี เป็นจิ๊กซอว์สำคัญตอบโจทย์ให้กับครอบครัวที่อยากมีลูก และใช้คำว่า ‘อยากมีลูก ไม่ใช่เรื่องยาก’ ได้ไม่เกินจริง 

ในวันเวลาที่ธุรกิจหยัดยืนได้อย่างแข็งแรงและเป็นความหวังให้หลายครอบครัว เราชวน นพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มาพูดคุยถึงเรื่องราว แนวคิด แนวทางในการทำธุรกิจเฉพาะทางที่ทำให้ SAFE Fertility Group ที่เพิ่งโลดแล่นใส่นามสกุลมหาชนเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่นาน เป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณหมอสนใจในด้านสูตินรีเวชโดยเฉพาะสาขาผู้มีบุตรยาก เพราะหากย้อนกลับไปในยุคนั้นก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักเหมือนกับปัจจุบัน

เดิมทีผมเรียนหมอจบแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และชอบสาขาวิชาโรคหัวใจที่สุด เพราะเป็นอะไรที่ซับซ้อน และก็เป็นเรื่องความเป็นความตาย การได้ช่วยคนไข้ให้รอดจากอาการหัวใจวายนี่รู้สึกว่าเป็นบุญกุศลที่ใหญ่ แต่ด้วยข้อจำกัดตอนที่ใช้ทุนไปอยู่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้มีแผนกหัวใจ ประกอบกับช่วงนั้นเองก็มีทุนเกี่ยวกับสูตินรีเวช ก็เหมือนโชคพาไปเลยก็ว่าได้ ผมเลยได้ไปเรียนต่อด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

หลังจากนั้นผมพบว่ามันมีสาขาย่อยๆ ลงไป หนึ่งในนั้นคือ สาขาภาวะการมีบุตรยาก ที่มันค่อนข้างที่จะเติบโตมาก โดยเฉพาะในตอนนั้นเรื่องของการทำกิฟต์บูมมาก ผมคิดว่าอยากช่วยคนที่อยากมีลูกได้สมหวัง เติมเต็มความสุขของครอบครัว ก็เลยมาเป็นหมอด้านนี้โดยเฉพาะ

แสดงว่าคุณหมอมองเห็นโอกาสในการเติบโต

ถ้าในตอนนั้นก็คงไม่ขนาดนั้นนะ ย้อนไปช่วงปี 1999 ตอนนั้นสาขาสูตินรีเวชที่ทำรายได้จริงๆ คือเรื่องของการทำคลอด เพราะประชากรไทยมีอัตราการเกิดมาก คนที่มีลูกยากไม่ได้มีมากเหมือนในปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันผู้คนไม่ได้มีลูกเร็วขนาดนั้น จากสาเหตุปัจจัยหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการเงิน การงาน ความเครียดต่างๆ 

30 ปีที่แล้ว ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยที่จะแต่งงานคืออายุ 25 แต่ในปัจจุบันกลายเป็นว่าอายุเฉลี่ยถ้าจำไม่ผิดก็ราวๆ 30 หรือมากกว่า หรือแต่งแล้วยังไม่อยากมีลูก พอพร้อมที่จะมีลูกก็กลายเป็นว่าอายุเยอะขึ้น ด้วยอายุที่เยอะขึ้นก็ยิ่งทำให้มีลูกยากขึ้นไปอีก

ก่อนหน้านี้รู้มาว่าคุณหมอเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณหมอตัดสินใจออกมาก่อตั้งคลินิกศูนย์เฉพาะทาง SAFE เป็นของตัวเอง 

หลังจากผมเรียนจบ ผมกลับไปใช้ทุนรัฐบาลได้ 10 ปี ก็ลาออกจากราชการ ไปอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ขวนขวายการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตรยาก ไปเทคคอร์ส และตั้งศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในโรงพยาบาลนั้นขึ้น พอทำไปสักพักมีปัญหาหลายอย่าง อย่างเช่น อยากได้เทคโนโลยีใหม่ๆ เฉพาะทาง โรงพยาบาลเองมีหลายแผนก มีข้อจำกัดด้านการจัดสรรเงินไปตามแต่ละแผนก ทำให้กว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามันค่อนข้างช้า ผมมองว่าถ้าออกมาเปิดคลินิกเปิดศูนย์ของตัวเอง เป็นศูนย์ที่เฉพาะทาง และน่าจะบริการคนไข้ได้ดีกว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมออกมาก่อตั้ง Safe Fertility Group ขึ้นในปี 2007

พอเป็นศูนย์ที่มีความเฉพาะทางย่อมมีความท้าทายมากกว่า

ในสมัยก่อนจริงๆ คนไข้อาจจะไม่ได้มากนัก และอัตราความสำเร็จไม่ค่อยสูง ก็ทำให้คนไม่ค่อยอยากมารักษา เพราะค่าใช้จ่ายก็สูง ความท้าทายคือเราจะเป็นศูนย์เฉพาะทางที่ลูกค้าเชื่อมั่นในการมาใช้บริการได้ยังไง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราความสำเร็จในการรักษาสูงขึ้น ปัจจุบันอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 50-80% ก็ทำให้คนที่อยากมีลูกเลือกที่จะมาปรึกษาและใช้บริการ

SAFE ได้รับการรับรองมาตรฐานคลินิกเด็กหลอดแก้วแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งที่ 2 ในเอเชีย จากสถาบัน RTAC

อะไรคือสิ่งที่คุณยึดถือและเป็นสิ่งที่สำคัญในการบริหาร SAFE

ผมตั้งใจอยากให้ SAFE เติมเต็มความฝันให้กับทุกครอบครัวที่อยากมีลูก ซึ่งไม่ใช่แค่อยากมีลูกอย่างเดียว แต่การมาใช้บริการที่ SAFE นั้น ลูกค้าผู้มาใช้บริการต้องได้ healthier baby กลับบ้านไปด้วย

ผมจึงตั้งใจให้ SAFE เป็น first mover ในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี SAFE ได้รับการรับรองมาตรฐานคลินิกเด็กหลอดแก้วแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งที่สองในเอเชีย จากสถาบัน RTAC

 ในปี 2555 ได้นำตู้เลี้ยงตัวอ่อนรุ่นใหม่มาใช้เป็นที่แรกในไทย และในปี 2557 มีการนำเทคโนโลยีคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนทั้ง 24 โครโมโซมมาใช้แห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งยังนำเข้าเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ และในปี 2562 ได้นำเทคโนโลยีฟื้นฟูรังไข่เข้ามาใช้เป็นต้น 

สิ่งสำคัญอีก 3 ส่วนที่ขาดไม่ได้เลยคือพนักงาน คนไข้ และผู้ถือหุ้น พนักงานของที่นี่ต้องทำงานด้วยความสุข ไม่เครียด ถ้าเราดูแลพนักงานดี พนักงานก็จะไปดูแลคนไข้ได้ดีเช่นกัน ขณะเดียวตัวศูนย์ฯ เองต้องพยายามทำให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน อบอุ่น มาแล้วปลอดภัย

ปัจจุบันที่ SAFE มีบริการอะไรบ้าง

ทั้งเครือมีธุรกิจด้วยกัน 3 ประเภทแยกเป็นบริการศูนย์ผู้มีบุตรยาก, บริการการตรวจทางพันธุศาสตร์ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ รวมถึงการตรวจคัดกรองและตรวจวินิจฉัยโครโมโซมทารกในครรภ์ และบริการด้านผิวหนังและความงามให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจรตั้งแต่ก่อนและหลังมีบุตร

หากเฉพาะบริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธีต่างๆ SAFE มีบริการดังต่อไปนี้

หนึ่ง–การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IUI เป็นการฉีดน้ำเชื้อที่ผ่านการคัดกรองเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง 

สอง–การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI คือการช่วยปฏิสนธิของไข่และเชื้ออสุจิภายนอกร่างกายและส่งกลับตัวอ่อนเข้าไปยังโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ 

สาม–การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก แบ่งเป็นการย้ายตัวอ่อนแบบรอบสดและรอบแช่แข็ง 

สี่–บริการแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ อสุจิ และตัวอ่อน  

ห้า–การเก็บอสุจิ ด้วยวิธี TESE หรือการเก็บอสุจิโดยตรงจากอัณฑะ 

หก–เทคโนโลยีคัดอสุจิด้วยวิธี IMSI ด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงเพื่อคัดเลือกอสุจิลักษณะดีมาผสมกับเซลล์ไข่ 

เจ็ด–การคัดกรองอสุจิด้วยวิธี MACs Sperm 

คนไข้มาใช้บริการอะไรมากที่สุด

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ICSI อันดับที่ 2 คือ IUI หรือการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก และอันดับที่ 3 คือบริการการแช่แข็งไข่

แล้วราคามีผลต่อจำนวนผู้มาใช้บริการหรือไม่ เพราะรู้มาว่าบริการด้านนี้ไม่ว่าจะคลินิกไหนก็ราคาค่อนข้างสูง 

ลูกค้าที่จะมาใช้บริการค่อนข้างทราบอยู่แล้ว ในมุมของผมราคาไม่ได้มีผลขนาดนั้น แต่สิ่งสำคัญ

คือเงินที่ต้องจ่ายต้องคุ้มค่ากับสิ่งที่ลูกค้าได้กลับไป

ค่ารักษาเฉลี่ยถ้าไม่ได้มีปัญหาอะไรมากเริ่มต้นหลักหมื่นบาท ส่วนการทำเด็กหลอดแก้วเฉลี่ย 4-5 แสนบาท

คุณหมอเคยเจอเคสยากๆ ไหม

 เยอะมาก (ลากเสียง) โพซิชั่นของ SAFE คือ Tertiary คนไข้ที่ล้มเหลว หมดหวัง ไปใช้บริการที่อื่นแล้วไม่ได้ผลให้มาที่นี่ ยกตัวอย่างเคสยากๆ อย่างเช่น ลูกค้าอายุ 45 ปี เป็นคนไข้ที่โพรงมดลูกพิการแต่กำเนิน SAFE ก็ช่วยให้มีลูกได้ คนที่อายุมากสุดที่มาใช้บริการนั้น สำหรับผู้ชายไม่มีข้อกำหนด ส่วนผู้หญิงทางการแพทย์ในไทยแนะนำว่าหลังอายุ 50 ปีแล้วไม่ควรตั้งครรภ์ เคสที่ผมเคยทำโดยใช้ไข่ตัวเองนั้นผู้หญิงอายุ 47 ปี ซึ่งถ้าอายุถึง 45 ปีก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แล้ว

จุดแข็งของ SAFE อยู่ที่ตรงไหน

ผมมองว่าเรามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งก่อตั้งมาอย่างยาวนาน ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เราได้ช่วยคู่สมรสที่มีบุตรยากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 15,000 คู่ 

สิ่งสำคัญในวงการนี้คือความน่าเชื่อถือ และการให้บริการที่บรรลุจุดประสงค์ของลูกค้าที่มาใช้บริการ จะเห็นว่า SAFE ไม่ค่อยได้ทำการตลาดอะไรเลย แต่สิ่งที่ทำให้คนรู้จักและมาใช้บริการที่ SAFE คือการบอกกันปากต่อปากของลูกค้ามากกว่า

ความท้าทายของวงการนี้คืออะไร

ผมมองว่าเป็นเรื่องของคน คือความท้าทายของทุกองค์กร เด็กรุ่นใหม่ๆ เปลี่ยนงานเร็ว ขณะเดียวกันหมอที่จบสาขานี้มีไม่มาก มันก็จะมีการซื้อตัวกันค่อนข้างเยอะ

เงินเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่สิ่งที่ SAFE ทำอยู่ตลอดคือพยายามสร้างวัฒนธรรมของบริษัท สร้างความสุขในการทำงาน การทำงานเป็นทีม การไม่ทำผิดกฎหมาย จะทำให้เราทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน 

เห็นว่า SAFE เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว คุณมองอนาคตต่อจากนี้ยังไง

จริงๆ แล้ว แผนการพา SAFE เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว หลักจากโควิด-19 เริ่มซาลง และประเทศเริ่มฟื้นฟูกลับมาแม้จะยังไม่เต็มร้อยก็ตาม มันจึงเป็นเวลาที่เหมาะสม

การเข้าตลาดทำให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นการหาโอกาสให้มืออาชีพเข้ามาทำงานกับเรามากขึ้น สิ่งสำคัญคือการเติบโต ขยายทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ยอดขาย และสาขาที่จะมีเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศแบบมั่นคง แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือเรื่องของคุณภาพในการบริการที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตไปอย่างยั่งยืน

You Might Also Like