Running กัน Club!
เมื่อเทรนด์การวิ่งและคลับของคนชอบวิ่งเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ
เพราะวันนี้วิ่งไม่ใช่เรื่องของคนหนึ่งคนและรองเท้าหนึ่งคู่อีกต่อไป กล่าวคือ วันนี้แวดวงการควงขาเพื่อออกกำลังกายนั้น ได้เกิดเทรนด์ที่น่าสนใจอย่าง running club ที่กลุ่มนักวิ่งเริ่มรวมตัว จับกลุ่ม หันมาวิ่งด้วยกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ที่สำคัญในระหว่างวิ่งนั้น ก็ไม่ได้มีเพียงแค่การก้มหน้าก้มตา ก้าวขาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกิจกรรม มีธีม มีประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมวิ่งแต่ละครั้ง จนทำให้การวิ่งแบบ running club สนุกและเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น จนปัจจุบันคลับที่รวมคนชอบออกกำลังกายประเภทเดียวกันเริ่มส่งอิทธิพลต่อกีฬาชนิดอื่นจนมีสารพันคลับเกิดขึ้น
และที่บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องของรองเท้าหนึ่งคู่อีกต่อไป เพราะปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับการวิ่งได้พัฒนาตามเทรนด์ของผู้คนอย่างก้าวกระโดด การเกิดขึ้นของแบรนด์เสื้อผ้าวิ่งค่ายเล็ก แต่มีเอกลักษณ์มากมาย เป็นทางเลือกให้เหล่านักวิ่งหยิบจับเสื้อผ้ามาถ่ายทอดอัตลักษณ์ของตัวเองในขณะวิ่งได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น พื้นที่ต่างๆ ยังกลายเป็น running stop ของกลุ่มวิ่ง เป็นอีกหนึ่งแนวทางการสร้างรายได้ของร้านอาหารและร้านกาแฟในยามเช้า ณ ปัจจุบัน
เพื่อเป็นการสำรวจหลักกิโลเมตรที่ running club เดินทางมาถึงในปัจจุบัน รวมถึงก้าวต่อไปว่าพวกเขาวางเป้าไปทางไหนต่อ Capital พูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง ‘กันตพงศ์ อังศุพันธุ์’ ผู้ก่อตั้ง CRUISE CONTROL RUN CLUB, ‘ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์’ หรือ บู้ Slur มือเบสที่หลงใหลในแฟชั่นเกี่ยวกับการวิ่ง และ ‘วรท ตรงเจริญชัย’ เจ้าของร้าน Never Snooze Coffee ร้านกาแฟที่เป็นเหมือนหมุดหมายของกลุ่มนักวิ่ง ผ่านคอลัมน์ Recap ในวันนี้กัน

Running Together
CRUISE CONTROL RUN CLUB
“มันเริ่มจากที่ผมกับแฟนได้ไปวิ่ง city run ตอนนั้นเราก็รู้สึกดีนะ ได้ออกไปวิ่งตรงนั้นตรงนี้ ไม่ได้จำเจอยู่ที่สวนใดสวนหนึ่งแบบที่เคยวิ่ง เลยมีความคิดกันว่า ช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว จะชวนกลุ่มเพื่อนที่ไม่ได้กลับบ้านต่างจังหวัดมาวิ่งด้วยกัน จนกลายเป็นงาน city run ครั้งแรกที่เราจัดขึ้น” กันตพงศ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการรวมกลุ่มวิ่งกันของเพื่อนๆ จนนำมาสู่การก่อตั้ง CRUISE CONTROL RUN CLUB กลุ่มวิ่งที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ที่มาพร้อมกับชุดสีดำขรึม ขัดกับบรรยากาศของกลุ่มวิ่งที่เน้นความเร็วในระดับที่ยังคุยกันได้สนุกปาก เป็นเพซ (pace) ระดับ Fun Run ที่เชื้อเชิญให้นักวิ่งหลากหลายแบบมารวมตัว จนเป็นกลุ่มใหญ่เช่นปัจจุบัน
“ตอนนั้นยังไม่ได้มีชื่อ CRUISE CONTROL หรอก เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะจัดงานวิ่งต่อหลังจากนี้ แต่ด้วยความที่วันนั้นเรารู้สึกว่าการวิ่งซิตี้รัน มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากที่ผ่านมา คือเราไม่ได้บอกว่าวิ่งกับกลุ่มเพื่อนหรือวิ่งคนเดียวแบบไหนจะดีกว่ากัน เราว่ามันดีคนละแบบ เพียงแต่การวิ่งกับกลุ่มเพื่อนมันมีเรื่องของคอมมิวนิตี้ มีการ interact กัน”
จากจุดนั้นทำให้เขาตัดสินใจเปิดอินสตาแกรมเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ว่าหากจะมีการจัดงานวิ่งครั้งต่อไป จะเป็นที่ไหน เมื่อไหร่ จอดรถที่ใด และใช้ชื่อว่า CRUISE CONTROL จนถึงวันนี้
“ในการจัดงานวิ่งครั้งหนึ่ง สิ่งแรกที่ CRUISE CONTROL ทำคือคิดชื่อธีมของงานขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากสถานที่หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการวิ่งครั้งนั้น เช่น ChaoPraya Cruise Control ก็เป็นงานที่เราจัดขึ้นชวนคนมาวิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยกัน”
“อีกส่วนที่สำคัญคือรูปถ่าย” กันตพงศ์เล่าถึงจุดแข็งของกลุ่มที่ใช้โปรโมตในโซเชียลต่างๆ “แน่นอนล่ะ ในยุคนี้มันขาดสิ่งนี้ไม่ได้จริงๆ เพียงแต่รูปของเรา จะไม่เหมือนงานวิ่งทั่วไป คือไม่ได้ดูทางการขนาดนั้น บางทีก็เอาโทรศัพท์มือถือมาถ่ายตอนที่วิ่งไปด้วยกัน มันเลยให้บรรยากาศที่แตกต่างออกไปจากภาพวิ่งที่เป็นมา”
เหตุผลที่ส่วนใหญ่งานวิ่งของ CRUISE CONTROL ต้องเป็นซิตี้รันหรือการวิ่งรอบเมือง กันตพงศ์เล่าว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะเห็นว่าหลายคนมักรู้สึกว่าการวิ่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของเมือง เป็นเรื่องที่ไกล ทำได้ยาก
เขาเลยอยากทำให้คนเห็นว่ามันทำได้นะ และเป็นเรื่องที่สนุกด้วย ที่สำคัญยังทำให้เป้าหมายในการวิ่งมีความหลากหลายยิ่งขึ้น เพราะจุดหมายอาจเป็นร้านอาหารหรือร้านกาแฟก็ได้
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการได้ร่วมงานกับแบรนด์กีฬาต่างๆ ทั้ง HOKA, ASICS SAUCONY เรื่องนี้กันตพงศ์มองว่าจริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะโมเดลแบบนี้มีให้เห็นในกลุ่มวิ่งต่างประเทศมาสักพัก ส่วนใหญ่กลุ่มวิ่งที่มีผู้สนับสนุนแบบนี้ต้องเป็นกลุ่มที่มีตัวตนชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Cruise Control จึงไม่ใช่การที่เข้าไปพูดคุยหรือเสนอไอเดียกับแบรนด์ใหญ่ แต่เป็นการทำให้ตัวเองเป็นที่จดจำ จนการร่วมงานกับแบรนด์ดังเกิดขึ้นได้จริง
“ส่วนใหญ่แล้วการที่แบรนด์เสนอโปรเจกต์มาคือเขาจะให้เราเป็นโฮสต์ของงานนั้น อาจจะเป็นการวิ่งด้วยการลองรองเท้ารุ่นใหม่ของเขา หรือบางงานจะเน้นเรื่องภาพ เน้นเรื่อง performance ก็แล้วแต่เป้าหมายของแบรนด์ในครั้งนั้น”

Running in Style
‘บู้ Slur’ กับการเป็นนักวิ่งที่ถ่ายทอดตัวตนผ่านแฟชั่น
นอกจากรูปแบบของการรวมกลุ่มของวัยรุ่นกับการตื่นมาวิ่งในตอนเช้าแล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือภาพลักษณ์และแฟชั่นของนักวิ่งในปัจจุบันที่สื่อสารออกมาอย่างหลากหลาย ขัดจากภาพจำและขนบการวิ่งที่เรารู้จัก
ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ หรือบู้ Slur คือหนึ่งตัวอย่างของนักวิ่งที่ถ่ายทอดตัวตนผ่านแฟชั่นวิ่งได้อย่างชัดเจน กับการเลือกแต่งตัวในแบบฉบับของตัวเอง ไม่ต้องใส่ชุดรัดรูปหรือสีฉูดฉาดแบบที่แบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ทำมาอีกต่อไป
“จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมเองก็เป็นคนที่วิ่งบ้าง อย่างน้อยก็สัปดาห์ละครั้ง เพราะด้วยความที่เราเป็นนักดนตรีจึงต้องดูแลรักษาสภาพร่างกายให้พร้อมอยู่ตลอด จุดเปลี่ยนจริงๆ คือการที่ได้มาวิ่งในสวนเบญจกิติและได้รู้จักเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ทำให้มุมมองต่อการวิ่งเปลี่ยนไป คือก่อนหน้านี้เรามองว่าการวิ่งคือกีฬา คือการออกกำลังกาย มันต้องเคี่ยวกรำร่างกาย มันต้องเหนื่อย ต้องล้า แต่งตัวก็ต้องมีความเป็นกีฬา เสื้อผ้ารัดติ้ว สีฉูดฉาด
“แต่พอเราได้มาอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ชื่อ Ugly Running ก็ทำให้เห็นว่าการวิ่งมันหลากหลายมากกว่านั้น คืออาจเพราะด้วยความที่พวกเราเป็นกลุ่มคนประเภท ‘ทำทรง’ อยู่หน่อย เลยมักจะชอบแต่งตัวมาวิ่งกัน ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาแบรนด์กีฬาเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น หลายแบรนด์มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน เช่น SATISFY ที่กล้าเอาแฟชั่นของคอดนตรีร็อกและพังก์มาผสมกับเสื้อผ้าวิ่ง ก็ยิ่งได้ใจเราไปใหญ่ มันเลยทำให้เราอยากจะตื่นมาวิ่ง ตื่นมาแต่งตัว ตื่นออกมาเจอเพื่อนในสวนเบญจกิติ ทุกๆ เช้าบ่อยมากขึ้น”
หลังจากนี้ทิศทางของแฟชั่นวงการวิ่งจะเป็นยังไงต่อ ธนันต์เล่าว่าเทรนด์ของแบรนด์เสื้อผ้าวิ่งกำลังอยู่ในช่วงที่สนุกและจะมีความหลากหลายมากกว่าเดิมในปีนี้
“ผมว่ามันจะมันยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะหลายแบรนด์เห็นแล้วว่า ทุกคนไม่ได้ต้องการใส่เสื้อวิ่งแบบเดียวกัน เขาก็มีตัวตนที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ ตอนนี้ก็อยู่ที่แบรนด์แล้วว่าจะผลิตสินค้าและหากลุ่มลูกค้าได้ไหม และที่สำคัญผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีการแข่งขันของแบรนด์ต่างๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด ไม่ใช่แค่แบรนด์ต่างประเทศนะ ยังรวมถึงแบรนด์ไทยด้วยเช่นกัน” ธนันต์กล่าวทิ้งท้าย

Running Stop
Never Snooze Coffee ร้านกาแฟขวัญใจนักวิ่งย่านสวนหลวง ร.9
แม้การวิ่งจะเป็นเรื่องของคน เสื้อผ้า รองเท้า และห้วงเวลาขณะวิ่ง แต่ปัจจุบันสิ่งที่กลุ่มนักวิ่งให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือกิจกรรมหลังวิ่ง ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการแฮงเอาต์ในพื้นที่สักแห่ง กินอาหารดีๆ เติมพลังงานให้กับร่างกาย บ้างก็เลือกกาแฟเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ใช้บูสต์เอนเนอร์จี้ ให้วันนั้นสดชื่นมากยิ่งขึ้น
ช่วงที่ผ่านมา ร้านอาหารและร้านกาแฟจำนวนหนึ่งจึงกลายเป็น running stop ของกลุ่มนักวิ่งที่มักจะมารวมตัวกัน เมื่อจบการฝึกซ้อม ซึ่ง Never Snooze Coffee คือหนึ่งในร้านหมุดหมายของพวกเขา
ร้านกาแฟบรรยากาศดี ติดกับสวนขนาดใหญ่ย่านบางนา เป็นหมุดหมายของนักวิ่งจำนวนมาก ที่อยากมาใช้เวลาช่วงสายๆ พูดคุยกับกลุ่มเพื่อน แน่นอนว่าวรท เจ้าของร้านที่เป็นหนึ่งในนักวิ่งเช่นกัน ก็น้อมรับกระแส ปรับร้านและเปลี่ยนทิศทางธุรกิจให้เข้ากับเทรนด์ที่เกิดขึ้น
“ถ้าถามว่า Never Snooze กลายมาเป็น running stop ของกลุ่มนักวิ่งได้ยังไง ถ้าตอบอย่างง่ายก็คงเป็นเพราะโลเคชั่นของเราใกล้กับสวนหลวง ร.9 และสวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอน แต่ถ้าขยายความให้ลึกกว่านี้ ปกติแล้วผมเป็นคนที่ชอบวิ่งมาก่อนหน้า ชอบมากจนถึงขนาดเคยมีแผนอยากทำ Never Snooze Running Club เป็นกลุ่มวิ่งของตัวเอง แต่พอตัวเองไปสังกัดอยู่กับก๊วน Fake Runner โปรเจกต์เลยพับไป
“แต่ช่วง 1-2 ปีให้หลัง ผมเห็นเทรนด์บางอย่างนะ คือเห็นคนหนุ่มสาวตื่นมาวิ่งกันตอนเช้ามากยิ่งขึ้น รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ แล้วพอหลังจากวิ่งเสร็จเขาก็ไปหาอะไรกินกัน มาหาร้านกาแฟนั่งดื่ม ซึ่งร้านเราก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกของคนที่มาวิ่งที่สวนละแวกนี้
“พฤติกรรมของกลุ่มนักวิ่งเขาจะไม่เหมือนกับลูกค้ากลุ่มอื่น บางรายเขาตัวเปียกเหงื่อมา เขาไม่อยากนั่งตากแอร์เพราะมันหนาวเราก็ควรมีพื้นที่เอาต์ดอร์ให้เขา และถ้ามีอาหารอย่างอื่นด้วยก็จะดีมาก เพราะหลังออกกำลังกาย เขาก็อยากเติมพลังงานกลับเข้าร่างกายให้เร็ว
“ดังนั้นเราเองต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน เราเองก็มีแผนอยากปรับบาร์ให้เล็กลง เพิ่มพื้นที่ และมีโต๊ะที่เข็นมารวมกันเป็นโต๊ะใหญ่ๆ ให้เขานั่งได้” วรทยังเล่าว่าสิ่งที่น่าสนใจคือการเห็นกลุ่มคนที่เปี่ยมไปด้วยไฟเช่นนี้ มันช่วยทำให้เขารู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาอยู่ไม่น้อย
“เอาเข้าจริงนอกจากในเชิงธุรกิจ มันช่วยเติมไฟในตัวผมด้วยนะ บางวันเห็นเขาวิ่งมา 20 กิโลเมตร 30 กิโลเมตร คืออยากจะทิ้งภาระหน้าที่ในร้านแล้วออกไปวิ่งเลย หรือในบางโมเมนต์ก็รู้สึกว่า โชคดีจัง ที่เราวางคาแร็กเตอร์ร้านไว้แบบนี้ ไม่อย่างนั้นคงไม่เจอเหตุการณ์ประมาณนี้แน่ อย่างเช่นตอนที่โจ ฟุคุดะ (นักวิ่งเอเชียคนแรกที่เป็นสมาชิกของ NN Running Team ทีมวิ่งเดียวกับ เอเลียด คิปโชเก้ นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา) มาทานกาแฟที่ร้านของเรา” เขากล่าวทิ้งท้าย