นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

ซ่อมรถ ซ่อมสังคม

‘RepairSmith’ บริการซ่อมรถถึงหน้าบ้านที่แบ่งรายได้ไปซ่อมรถให้กับองค์กรการกุศล

ในยุคที่ทุกอย่างในชีวิตสะดวกสบายไปซะหมด ซื้อของใช้เข้าบ้าน กดแป๊บเดียวเย็นนี้ก็มาส่งถึงแล้ว ช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นธรรมชาติที่อยากได้อะไรก็แค่เปิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมาแล้วกดสั่ง อีกไม่กี่วัน (หรือบางกรณีวันเดียวก็มี) ก็ได้ของชิ้นนั้นอยู่ในมือ อยากทานอาหารร้านไหนก็กดสั่ง 30 นาทีก็พร้อมตักเข้าปาก คลาสเรียนเสริมความรู้ก็สามารถทำออนไลน์ได้จากทุกที่ เรียกรถแท็กซี่ก็ทำได้ง่ายๆ แค่กดไม่กี่ปุ่มเท่านั้น มีเพียงแค่ไม่กี่อย่างในชีวิตเท่านั้นที่เรายังไม่สามารถกดปุ่มสั่งงานจากโทรศัพท์สมาร์ตโฟนในมือได้ หนึ่งในนั้นคือการนำรถไปเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง

นั่นคือแนวคิดเบื้องหลังสตาร์ทอัพ ‘RepairSmith’ ที่จะเข้ามาปฏิวัติธุรกิจซ่อมรถที่คงรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมาเลยตลอดครึ่งศตวรรษ

RepairSmith

คงมีสักครั้งในชีวิตที่เวลารถเสียหรือต้องเอาเข้าศูนย์เช็กระยะแล้วเรามีความคิดว่า “มันมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหมนะ ขี้เกียจเสียเวลาขับเข้าไป นั่งรออีกไม่รู้กี่ชั่วโมง อยากเอาเวลาตรงนั้นไปทำอย่างอื่นจัง” นั่นคือปัญหาที่เจ้าของรถยนต์ทุกคนต้องพบเจอมากน้อยแตกต่างกันไป โจเอล มิลเนอ​ (Joel Milne) และ ฟิลิกซ์-แมตเทียส วัลเทอร์ (Felix-Matthias Walter) ผู้ร่วมก่อตั้งทราบเรื่องนี้ดีเลยสร้างสตาร์ทอัพแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าสามารถกดเรียกช่างซ่อมรถแบบ on-demand มาซ่อมถึงหน้าบ้านหรือที่ทำงาน โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาขับรถไปเข้าศูนย์หรือนั่งเฝ้าให้รถซ่อมเสร็จ

RepairSmith ที่ได้รับการสนับสนุนเงินส่วนใหญ่โดย Daimler AG (เจ้าของ Mercedes-Benz) เป็นมากกว่าแค่สตาร์ทอัพแบบ on-demand ทั่วไป มันทำให้ประสบการณ์การซ่อมรถยนต์แบบดั้งเดิมเปลี่ยนไปเลย มันนำเอาความสะดวกสบายของงานบริการระดับพรีเมียมเหมือนเอารถยนต์ไปเข้าศูนย์ที่มีมาตรฐานสูง โดยใช้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการซ่อมในรูปแบบต่างๆ มาดูแลถึงที่บ้าน บอกราคาประมาณเบื้องต้นมาให้เรียบร้อย สามารถจองผ่านออนไลน์ ถ้าซ่อมตรงนั้นไม่ได้เพราะมีงานที่ซับซ้อนหรือเสียหายมากกว่าที่ประเมิน ช่างก็จะลากเอาไปซ่อมที่อู่ให้ต่อจนจบและนัดวันเอามาคืน ที่สำคัญคือมีประกันคุ้มครองความเสียหายทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบงานเลยทีเดียว

RepairSmith

Match Made in Heaven

โจเอล มิลเนอ​ และฟิลิกซ์-แมตเทียส วัลเทอร์ คือสองคนที่ร่วมกันก่อตั้งสตาร์ทอัพแห่งนี้ขึ้นมาในปี 2019

มิลเนอนั้นมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัวอยู่แล้วตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เขาเริ่มเขียนโปรแกรมเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบและเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวัยเพียง 16 ปีเท่านั้น หลังจากจบมหาวิทยาลัยในวัย 21 ปีก็เริ่มก่อตั้งบริษัทแรกของตัวเอง เขาจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์ และปริญญาโทบริหารธุรกิจจาก Harvard Business School เป็นผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญสายเทคโนโลยีที่เคยผ่านการระดมทุนระดับ 100 ล้านดอลลาร์มาแล้วในช่วงที่ทำธุรกิจ เป็นตั้งแต่ CEO, COO และ CTO ในหลายบริษัทตลอด 20 ปีก่อนมาก่อตั้ง RepairSmith นอกจากนั้นยังเป็นนักลงทุนและผู้ให้คำแนะนำกับสตาร์ทอัพอีกหลายแห่งในแคลิฟอร์เนีย เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าความตั้งใจส่วนตัวของเขาคือการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้ชีวิตของผู้ใช้งานง่ายขึ้นก็คงไม่ผิดมากนัก

ส่วนวัลเทอร์คือคนที่เข้ามาเติมเต็มและทำให้สตาร์ทอัพแห่งนี้เกิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ มิลเนอเชี่ยวชาญเรื่องการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ส่วนวัลเทอร์นั้นมีประสบการณ์ยาวนานกับอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 25 ปี ตั้งแต่การซ่อมรถในโรงรถของพ่อแม่สมัยยังเป็นวัยรุ่นไปจนถึงบทบาทผู้บริหารระดับสูงที่ Daimler AG เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นช่างเครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz ทำงานตั้งแต่อู่ซ่อมไต่เต้าไปจนถึงตำแหน่งซีเนียร์ที่ Daimler ทำตั้งแต่วางแผนกลยุทธ์องค์กร จัดการดูแลส่วนรถยนต์มือสอง ดูแลรถที่ใช่เพื่อการพาณิชย์ และทำการตลาดสำหรับบริการและชิ้นส่วนอะไหล่อีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยเมื่อลูกค้าใช้บริการของ ​RepairSmith แล้วจะบอกว่ามาตรฐานของที่นี่สูงมากเหมือนกับเข้าอู่รถไม่มีผิด แถมเขายังคัดเลือกทั้งพันธมิตรร้านค้าที่ไว้ใจได้สำหรับการซ่อมที่อู่ และยังดูแลทีมที่ตรวจสอบความพึงพอใจของลูกค้าเองด้วย

เมื่อเอาทั้งสองคนมารวมกันก็กลายเป็น RepairSmith ที่มีเป้าหมายชัดเจน คือการเปลี่ยนประสบการณ์อันเลวร้ายในการเอารถไปเข้าอู่ ให้ลูกค้ารู้สึกว่าการซ่อมรถนั่นง่ายเหมือนกับการกดเรียก Grab หรือ Uber เลย

แต่ในยุคปัจจุบันที่ความ ‘ง่าย’ และ ‘สะดวกสบาย’ ถือเป็นพื้นฐานของบริการออนไลน์อยู่แล้ว ที่นี่จะเป็นเพียงแค่บริการแบบ on-demand แบบเดิมๆ ทั่วไปคงไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกไปว่าตอนนี้ (แทบ) ทุกอย่างในชีวิตหาได้แค่ปลายนิ้ว สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างออกไปคือ ‘ทักษะความรู้’ หรือ ‘ความสามารถ’ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้

RepairSmith

เมื่อเราพูดถึงบริการส่งของ ส่งอาหาร ส่งเอกสารทั่วไปนั้นจะทราบว่าใครๆ ก็พอทำได้ มีรถมอเตอร์ไซค์ มีใบขับขี่ก็โอเคแล้ว แต่ว่าการ ‘ซ่อมบำรุง’ รถยนต์ถึงหน้าบ้านต้องใช้พนักงานที่มีความสามารถเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป RepairSmith จึงมีพนักงานประจำที่มีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรถ ผ่านการอบรมของบริษัท และเป็นช่างที่มีประสบการณ์ หลังจากที่ลูกค้าจองคิวออนไลน์เสร็จ พนักงานก็จะขับรถตู้คันใหญ่ที่มีอุปกรณ์ซ่อมรถมาด้วย ซึ่งมิลเนอบอกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของบริการที่ลูกค้าเรียกนั้นสามารถทำได้ด้วยอุปกรณ์ในรถตู้คันนี้ ถ้าซ่อมไม่ได้จริง ๆ พวกเขาจะขับไปเข้าอู่ที่เป็นพาร์ตเนอร์และจัดการซ่อมที่นั่นแล้วขับกลับมาส่งถึงหน้าบ้านภายหลัง ส่วนราคาก็แทบจะไม่ต่างจากการขับไปที่อู่เองเลย มิลเนอให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Inc.com ว่า

“คุณไม่ยกห้องน้ำไปหาช่างประปา เมื่อมีช่างประปามาถึงบ้าน เราก็อยากจะให้มันเป็นอย่างนั้นต่อไป”

ถึงแม้ตอนนี้บริษัทจะไม่ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องรายได้กับสาธารณะ แต่ตัวเลขหลังจากเปิดตัวมาได้สองปีก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพ่อใจ​ (ราวๆ 8 หลัก หรือ 10 ล้านดอลลาร์) เติบโต 22 เปอร์เซ็นต์ต่อปี พยายามจ้างงานให้เร็วที่สุดจากความต้องการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รถตู้สำหรับใช้งานก็ต้องมีการออกใหม่แทบอาทิตย์ละคัน และภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีช่างซ่อมรถที่เป็นพนักงานประจำถึง 70 ตำแหน่งและรถตู้ราวๆ 100 คัน

ความท้าทายคือเรื่องของการจัดตารางเวลาให้ลงตัว มิลเนอบอกว่า “มันเหมือนการวิ่งและถือกรรไกรไว้ในมือด้วย ในช่วงวันแรกๆ ที่เรามีรถตู้แค่ 2-3 คัน ผมสามารถจัดตารางไว้ในอีเมล Outlook ได้เลย แต่พอมี 50 คัน? โชคดีนะเพื่อน”

ตอนนี้มิลเนอต้องสร้างระบบหลังบ้านเข้ามาช่วยเรื่องการวิเคราะห์และจัดการเรื่องเวลาการรอคอยให้เหลือไม่เกิน 2-3 วันเท่านั้น เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องรอนานจนเกินไป

RepairSmith

Giving Back

ภายในเวลาสามปี ตอนนี้ RepairSmith ขยายไปแล้วกว่า 8 รัฐ อันได้แก่ ออริกอน, เนวาดา, เท็กซัส, แอริโซนา, วอชิงตัน, ฟลอริดา, จอร์เจีย และแคลิฟอร์เนีย ครอบคลุม 650 เมืองทั่วอเมริกา เป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งและปกติแล้วคิวจะเต็มอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังตั้งเป้าหมายในการมอบบางสิ่งคืนให้กับสังคมที่พวกเขาอยู่ด้วย โดยในช่วงต้นปี 2021 พวกเขาตั้งเงินไว้ 125,000 ดอลลาร์สำหรับการซ่อมรถยนต์ให้กับพยาบาลหรือแพทย์ที่ต้องทำงานหนักและเป็นแถวหน้าของการต่อสู้กับโรคระบาด บางส่วนแบ่งไปใช้ซ่อมให้คนได้รับผลกระทบ ตกงานจากเศรษฐกิจที่ถูกกระทบเป็นวงกว้าง

เงินตรงนี้เป็นเงินที่พวกเขาแบ่งออกมาจากรายได้เพื่อช่วยแบ่งเบาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม มิลเนอเล่าว่ามันเป็นการมอบคืนที่มีความหมายแต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะมีความต้องการเยอะมากแต่พวกเขาตอบสนองได้ไม่เพียงพอ เงินตรงนี้ไม่นานก็หมดและคนก็ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ มีคนโทรติดต่อมาตลอดเพื่อขอให้ช่างของพวกเขาไปซ่อมรถให้หน่อย มันเป็นเรื่องที่ลำบากใจมากที่จะปฏิเสธ แถมไม่พอ การต้องเอาทรัพยากรของบริษัทมาตอบคำถามและดูแลเรื่องนี้ก็ทำให้งานหยุดชะงัก ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ไม่ดีด้วยถ้าต้องรอรับบริการนานเกินไป มิลเนอจึงพยายามแก้ไขและแบ่งเงินออกมาอีกก้อนหนึ่งราวๆ 250,000 ดอลลาร์ แต่ครั้งนี้เขาวางแผนว่าต้องจัดการให้ดีขึ้นกว่าเดิม

RepairSmith

หลังจากเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการที่ชื่อ ‘CAHOOTS’ ในเมืองยูจีน รัฐ ออริกอน ที่แพทย์และผู้ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจะเดินทางไปเจอคนป่วยที่บ้านด้วยรถแวน มิลเนอจึงเกิดไอเดียขึ้นมาว่าที่จริงแล้วพวกเขาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้ได้ ไม่ต้องช่วยหรือซ่อมรถของประชาชนทั่วไปโดยตรง แต่สามารถซ่อมบำรุงรถแวนที่ทำงานการกุศลเหล่านี้ได้ เพื่อให้งานของพวกเขาไม่ติดขัด เพื่อที่องค์กรเหล่านี้จะสามารถใช้ความเชี่ยวชาญและความรู้ของพวกเขาไปช่วยคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรเหล่านั้นและสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนด้วย

“ผมเห็นองค์กรนั้นแล้วคิด ‘เฮ้ พวกเขามีรถเก่าเยอะเลย เวลาซ่อมคงใช้เงินเยอะ เราสามารถช่วยคนกลุ่มนี้บรรลุเป้าหมายของพวกเขาได้นะ’”

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา พวกเขาจึงเริ่มโครงการ ‘Jump Start’ ที่จะเข้าไปช่วยพาร์ตเนอร์ที่เป็นองค์กรการกุศลในเมืองต่าง ๆ ที่พวกเขาทำงานอยู่ โดยเข้าไปให้บริการแต่ละองค์กรเป็นเงินราวๆ 10,000 ดอลลาร์จนครบเป้า 250,000 ดอลลาร์ที่วางเอาไว้ พาร์ตเนอร์แรกๆ อย่าง Project Angel Food ที่ใช้รถเพื่อนำอาหารไปส่งคนป่วยที่ออกจากบ้านไม่ได้กว่า 2,100 คนทุก ๆ วัน ซึ่งพวกเขาก็จะเอารถแวนกว่า 10 คันขององค์กรนี้มาซ่อมเพื่อให้มันใช้งานต่อได้อย่างไม่ติดขัด

แอนน์-มารี วิลเลียมส์ (Anne-Marie Williams) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารและการตลาดของโครงการ Project Angel Food บอกว่า “RepairSmith ทำให้การขับรถแวนของเราเพื่อไปส่งอาหารให้กับคนที่ต้องการนั้นเป็นไปได้” ทำตั้งแต่ปรับศูนย์ถ่วงล้อ เปลี่ยนนำ้มันเครื่อง เปลี่ยนผ้าใบเบรกและเปลี่ยนปั๊มระบบพวงมาลัยพาวเวอร์

โดยมิลเนอก็เชื่อว่าเขาได้ค้นพบจุดที่บริษัทของเขาสามารถมอบคืนให้กับสังคมได้แล้ว การทำให้องค์กรเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัดหมายความว่าคนที่จะได้รับความช่วยเหลือก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับอนาคตของบริษัทแล้ว มิลเนอเชื่อว่าพวกเขาอยู่ในจุดที่ได้เปรียบกว่าอู่ซ่อมรถทั่วไป เพราะยิ่งเทคโนโลยีของรถยนต์พัฒนาและซับซ้อนมากขึ้น บริษัทของเขาก็จะยิ่งอยู่ในจุดที่เติบโตตามไปด้วยเพราะช่างที่อยู่ในบริษัทจะได้รับการอบรมและพัฒนาความรู้อยู่ตลอดเวลา

“ที่อเมริกามีอู่ซ่อมขนาดเล็กราวๆ 200,000 แห่งทั่วประเทศ และการที่พวกเขาจะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นทั้งราคาสูงและเป็นเรื่องยาก เรารู้สึกว่าเราเป็นแพลตฟอร์มที่ขยายได้ เราจะใช้เงินเพื่อลงทุนในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ จำนวนการซ่อมอาจจะเหมือนเดิม แต่ประเภทของงานซ่อมจะแตกต่างออกไปจากเดิมแน่นอน”

วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรเคยกล่าวเอาไว้ว่า

“เราหาเลี้ยงชีพด้วยสิ่งที่เราได้ แต่เราสร้างชีวิตด้วยสิ่งที่เราให้”

ความสำเร็จของธุรกิจหนึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ทั้งการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยาย และการให้บริการที่ดี มอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในราคาที่เหมาะสม แต่สำหรับ RepairSmith ในขณะที่พวกเขากำลังเติบโตก็มองไปถึงการมอบคืนให้สังคมต่อด้วย ใช้ความสามารถและความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในสังคมผ่านตัวกลางคนอื่นๆ ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมภายในเวลาแค่สองปีจึงขยายไปได้กว่า 650 เมืองและมีเสียงตอบรับที่ดีขนาดนี้

อ้างอิง

inc.com/tim-crino/repair-smith-mechanic-on-demand-jump-start-nonprofits.html

inc.com/sageworks/why-business-is-booming-for-auto-repair-entrepreneurs.html?cid=search

repairsmith.com/i/blog/meet-the-driving-force-behind-repairsmith

edition.cnn.com/2020/07/05/us/cahoots-replace-police-mental-health-trnd/index.html

angelfood.org

Tagged:

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like