นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Reading on the Way

หยิบหนังสือขึ้นรถไฟ ว่าด้วยกิจกรรมการอ่านระหว่างทางและยุคของกิจการสิ่งพิมพ์

เวลานั่งรถไปทำงาน คุณยังหยิบหนังสือติดมือไปนั่งอ่านระหว่างทางอยู่ไหม ย้อนไปในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นยุคแรกของการนั่งรถไฟ ตอนนั้นคนเมืองเริ่มนั่งรถไฟไอน้ำเพื่อไปทำงานกันเหมือนเราในทุกวันนี้ การเกิดขึ้นของการนั่งรถไฟทุกๆ วันนับเป็นพื้นที่และการใช้เวลาใหม่ของผู้คน ทำให้เกิดกิจกรรมสำคัญนั่นคือการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านระหว่างทาง การอ่านระหว่างทางนี้ส่งผลกระทบต่อวงการสิ่งพิมพ์และหน้าตาหนังสือจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงนี้กรุงเทพฯ กำลังตื่นเต้นกับรถไฟฟ้าสายใหม่ ประกอบกับช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาคือวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของเซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ผู้เขียนเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เจ้าพ่องานเขียนแนวสืบสวนระดับขึ้นหิ้ง ทั้งรถไฟและงานแนวสืบสวนอันที่จริงเป็นของคู่กัน รถไฟเป็นประดิษฐกรรมที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อสังคม และผลด้านหนึ่งที่น่าประหลาดใจคือผลกระทบต่อวงการสิ่งพิมพ์ ความนิยมของงานสืบสวนสอบสวนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นหนึ่งในหนังสือราคาถูกที่คนทั่วไปจะซื้อที่สถานีเพื่ออ่านระหว่างทาง และบ้างก็โยนทิ้งไปเมื่อถึงปลายทาง

งานเขียนประเภทงานสืบสวนสอบสวนเป็นอีกหนึ่งประเภทวรรณกรรมที่เคยเป็นงานของมวลชน เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่แรกเริ่มเลยไม่ได้รับการยอมรับในฐานะวรรณกรรม เป็นเรื่องใหม่ที่แปลกประหลาด แน่นอนว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เองเป็นตัวอย่างหนึ่ง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เล่มแรกคือ A Study in Scarlet มีนิตยสารรับซื้อไปก็จริง แต่สุดท้ายสำนักพิมพ์ในขณะนั้นไม่นับว่าเป็นงานสลักสำคัญและเลือกที่จะนำไปอยู่ในฉบับแจกฟรีวันคริสต์มาส งานแนวสืบสวนกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของนิตยสารราคาถูกที่เรียกว่า shilling shocker ส่วนหนึ่งของวงการหนังสือราคาถูกหรือ Pulp Fiction หนังสืออ่านง่ายอ่านสนุกและไม่ได้มีราคาอะไร

ทว่าการเกิดขึ้นของกิจกรรมการอ่านระหว่างทางนั้น สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และการก่อตัวขึ้นของกิจการรวมถึงประเภทวรรณกรรมที่ตอบสนองกับมวลชนมากขึ้น การผลิตหนังสือในสมัยนั้นเน้นไปที่การอ่านระหว่างทางและกลุ่มผู้อ่านใหม่ๆ ที่ต้องนั่งรถไฟไปทำงานและหาเรื่องที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านจบได้ในชั่วระยะเดินทางนั้นๆ

เราจึงขอชวนผู้อ่านนั่งรถไฟฟ้าย้อนกลับไปสมัยปลายยุควิคตอเรียน ชวนดูภาพของผู้คนที่นั่งอยู่บนรถไฟและหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านระหว่างรอ ในความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน การนั่งเฉยๆ กลับทำให้เกิดรูปแบบหนังสือไปจนถึงประเภทวรรณกรรมใหม่ๆ กระทั่งนำไปสู่รูปแบบการเขียนที่รองรับการอ่านในระหว่างทางอันน่าเบื่อหน่าย

รถไฟ กับเวลาและพื้นที่ (การอ่าน) แบบใหม่

รถไฟถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ในคอลัมน์ก่อนเราพูดถึงการสร้างทางรถไฟในอเมริกาที่สัมพันธ์กับแรงงานชาวจีนและการเกิดขึ้นของกิจการร้านซักรีด ครั้งนี้เราจะชวนย้อนไปดูช่วงปลายของยุควิคตอเรียนคือช่วงศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลาที่เราอาจนึกภาพเป็นสุภาพบุรุษในชุดสวยงามและสตรีในชุดคอร์เซตนี้เองเป็นช่วงเวลาที่โลกก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ เป็นยุคสมัยที่เราเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมและโลกแห่งทุนนิยมที่กำลังสยายปีกขึ้น

แล้วรถไฟสำคัญยังไง ด้านหนึ่งรถไฟคือการวางโครงข่ายการเดินทางที่วิ่งเหมือนเส้นเลือดไปทั่วประเทศ รถจักรสีดำที่พ่นไอน้ำเป็นเหมือนชัยชนะของมนุษยชาติ ภาพของประเทศ ของขอบเขตดินแดนชัดเจนขึ้น ความเป็นมหาอำนาจสัมพันธ์กับการขนส่ง การเชื่อมต่อระหว่างเมืองต่อเมือง จากเมืองหลวงสู่พื้นที่อุตสาหกรรม จากเขตพื้นที่การทำประมงจนเหมือนเมืองที่เป็นที่มั่นของเหมืองอันเป็นวัตถุดิบล้ำค่า ระบบรถไฟทำให้เกิดการวางระบบสำคัญร่วมกันคือระบบเวลา นึกภาพว่าเจ้าโครงข่ายของรถไฟทำให้เมืองต่างๆ ที่เคยมีระบบเวลา ตั้งนาฬิกากันแบบลำลอง ต้องมีระบบเวลาเดียวกันเพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อกันได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รถมากี่โมง ถึงที่ปลายทางกี่โมง ระบบเวลาต้องเป็นชุดเดียวกัน

นอกจากภาพใหญ่ของรถไฟที่เป็นพลังสำคัญของจักวรรดิอังกฤษแล้ว ในยุคนั้นเมืองใหญ่ต่างๆ เริ่มเกิดพื้นที่อุตสาหกรรม เกิดการหลั่งไหลจากชนบทเข้าไปทำงานในเมือง และเกิดสิ่งที่เราเรียกว่าย่านชานเมือง (suburb) ขึ้น โดยพร้อมกันนั้น ช่วงปลายยุควิคตอเรียน อัตราการรู้หนังสือเริ่มเพิ่มสูงขึ้น หมายความว่า ในชนชั้นแรงงานเองก็เริ่มได้รับการศึกษาในระดับพื้นฐาน ทีนี้ในระหว่างที่คนนั่งรถไฟไปทำงานจากที่พักอาศัย ในช่วงนี้เองที่ตลาดหนังสือเริ่มเติบโตขึ้นพร้อมคนกลุ่มใหม่ คือแรงงานจำนวนมากที่อ่านหนังสือออก และมีเวลาว่างๆ ระหว่างนั่งรถไฟไปและกลับจากที่ทำงาน

ในช่วงนั้นมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างประกอบกัน กิจกรรมการอ่านหรือการผลิตหนังสือมีอยู่แล้ว แต่หนังสือเคยเป็นของแพง เมื่อถึงยุคที่กระดาษมีราคาถูกลง เทคโนโลยีการพิมพ์มีประสิทธิภาพขึ้น ผลิตหนังสือให้แมสคือทั้งปริมาณเยอะขึ้นได้และผลิตให้ผู้อ่านในระดับมวลชนได้ ในยุคหนึ่งจึงเกิดปรากฏการณ์หนังสือราคาถูกขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดแผงหนังสือที่อยู่ตามสถานีรถไฟ เป็นหนังสือที่ในยุคนั้นอ่านจบแล้วโยนทิ้งเมื่อถึงปลายทาง รวมถึงระบบรถไฟเองที่ทำหน้าที่กระจายหนังสือออกไปทุกหัวระแหงของพื้นที่

ชนชั้นกับวัฒนธรรมการอ่าน อ่านอะไรบนรถไฟ

ก่อนหนังสือจะมีราคาถูกลง ในยุคก่อนการอ่านเป็นเรื่องของผู้ดีมีเงิน คนจะอ่านหนังสือได้แน่นอนว่าต้องมีการศึกษา มีครูมาสอนส่วนตัวที่บ้าน ต้องมีเวลา และต้องมีรสนิยม ธรรมเนียมการพิมพ์หนังสือในสมัยก่อนค่อนข้างมีลำดับชั้นอย่างชัดเจน ธรรมเนียมการพิมพ์หนังสือหรือนวนิยายในต้นศตวรรษที่ 19 ของอังกฤษจะเรียกว่า three-decker นวนิยายหนึ่งเล่มเช่นงานของเจน ออสเทน ที่ยาวๆ จะถูกพิมพ์ออกมาโดยแยกเป็น 3 เล่ม หุ้มปกผ้าเดินด้ายทองสวยงาม ในช่วงนั้นหนังสือแบบนี้นับเป็นของแพงมาก เล่ม 1 จาก 3 เล่มเป็นราคา 10 ชิลลิ่ง ทั้งชุดคือ 30 ชิลลิ่ง ถ้าเทียบเป็นค่าครองชีพ หนังสือชุดหนึ่งเท่ากับค่าแรง 1 สัปดาห์ของชนชั้นกลางระดับล่าง

ในยุคนั้นประเด็นเรื่องชนชั้นค่อนข้างแข็งแรงมากกระทั่งในกิจกรรมการเข้าถึงหนังสือ โดยทั่วไปเมื่อหนังสือเล่มหนึ่งออกมาเป็นระบบ 3 เล่มสวยงาม ในตอนนั้นเมื่อออกฉบับแรกแล้วต้องรอซักพัก บ้างก็รอ 2-3 ปีทางสำนักพิมพ์ถึงจะออกแบบเล่มเดี่ยวปกอ่อน ในช่วงกลางศตวรรษเป็นต้นมาที่รายได้ต่อครัวเรือนเริ่มสูงขึ้นและการออกหนังสือแบบปกอ่อนในเวลาไล่เลี่ยกัน การอ่านในฐานะกิจกรรมสันทนาการ การอ่านนวนิยายเป็นสิ่งที่ครัวเรือนชนชั้นกลางเริ่มเข้าถึงได้ แต่ก็ใช้เวลา หมายถึงใช้เวลาจริงๆ คือคนรวยอ่านฉบับวางแผงครั้งแรกก่อน คนที่จนหน่อยก็รอต่อไป

นอกจากตัวหนังสือเองที่มีระดับราคาและราคาค่อยๆ ถูกลงแล้ว ประเด็นพื้นที่การอ่านก็สำคัญด้วย สำหรับชนชั้นแรงงานที่ไม่ใช่คนชั้นกลาง มีข้อจำกัดในการอ่านและการเข้าถึงหนังสือในหลายระดับมาก อย่างแรกคือไม่มีเวลา ชนชั้นแรงงาน (manual labor) ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานในโรงงาน ส่วนชนชั้นที่มีรายได้สูงกว่าและมีเวลาว่าง–เราเรียกว่าเป็นชนชั้นที่มีเวลาว่าง (leisure class) เงื่อนไขสำคัญอีกอย่างคือแม้ว่าชนชั้นแรงงานจะอ่านหนังสือออกบ้างแล้ว แต่ภาวะของการอยู่อาศัยเช่นการใช้แสงเทียนในตอนกลางคืนก็ทำให้การอ่านที่บ้านไม่สะดวกนัก

ความต้องการและเงื่อนไขใหม่นี้เองทำให้วงการสิ่งพิมพ์ปรับตัว มีการออกหนังสือที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้หนังสือมีราคาถูกลง เกิดหนังสือที่เรียกว่า yellow-back นวนิยายราคาถูกที่พิมพ์แล้วปกออกสีเหลือง หนึ่งในเจ้าใหญ่ของวงการนวนิยายปกเหลืองคือสำนักพิมพ์ Routledge มีการออกนวนิยายที่เรียกว่า Railway Library ในปี 1848 หนังสือปกเหลืองนับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของการพิมพ์ซ้ำจากวรรณกรรมหรือนวนิยายที่เคยเป็นปกผ้าสวยงามกลายเป็นหนังสือราคาถูก  

ระบบแผงหนังสือก็เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน บริษัทสำคัญคือการเปิดอาณาจักรแผงหนังสือของบริษัท W.H. Smith and Sonbecame ผู้วางกิจการแผงหนังสือในสถานีรถไฟ (railway bookstall) ในทศวรรษ 1850 ในช่วงเวลาต่อมาวงการหนังสือพิมพ์และนิตยสารก็ขานรับกับความเร็วและมวลชน รวมถึงกิจกรรมการอ่านระหว่างเดินทาง ทศวรรษ 1870 เริ่มเกิดหนังสือพิมพ์รายวัน (คือพอมีรถไฟ ข่าวสารจากศูนย์กลางก็เดินทางไวขึ้น คนอ่านเยอะขึ้น) ในสมัยก่อนนิตยสารเช่น The Times ในปี 1803 หรือต้นศตวรรษมีราคา 6 เพนนี มีอัตราการพิมพ์ราว 2,000 ฉบับ ในปี 1880 เกิดนิตยสาร Pall Mall Gazette ขายในราคาเพนนีเดียว และในปี 1896 ก็เกิดหนังสือพิมพ์ The Daily Mail หนังสือพิมพ์ขนาด 8 หน้า ขายในราคาครึ่งเพนนี ส่วน The Times เองก็มียอดขายเพิ่มขึ้น จาก 2,000 ฉบับ พุ่งทะยานไปถึง 70,000 ฉบับในปี 1866 

สำหรับตลาดผู้อ่านจากชนชั้นแรงงานประเมินคร่าวๆ ในปี 1867 จากประชากรทั้งหมด 20 ล้านคน ในทั้งหมดเป็นชนชั้นแรงงาน 16 ล้านคน ตลาดผู้อ่านใหม่นี้จึงเป็นสุดยอดโอกาส มีข้อสังเกตว่าบางสื่อและการทำหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารในยุคนั้นคำนึงถึงการอ่านที่ต้องเข้าใจง่าย อ่านแล้วจับใจความได้เร็วๆ ในช่วงนี้เองที่วงการสิ่งพิมพ์เริ่มเฟื่องฟูขึ้น มีเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพเข้ามาช่วย ทำให้นิตยสารหรือหนังสือที่มีภาพประกอบนำเป็นสื่อสำคัญที่ขายให้กับผู้อ่านที่ไม่ต้องมีทักษะการอ่านหรือมีเวลาอ่านมากขึ้น งานภาพประกอบอื่นๆ เช่นงานภาพโฆษณาก็เฟื่องฟูขึ้นพร้อมๆ กัน 

ตัวอย่างสำคัญคือนิตยสาร Tit-Bits ก่อตั้งในปี 1881 เป็นนิตยสารรวมบทความแบบย่อยง่าย ย่อยมาแล้ว แล้วก็มีเรื่องอ่านแบบหวือหวา มีรวมมุกตลก การอ่านบนรถไฟและกลุ่มผู้อ่านใหม่ทำให้การเขียนบทความและฟอร์แมตของสิ่งพิมพ์สนองกับผู้อ่าน บทความต่างๆ มีขนาดสั้นลง เขียนกระชับเข้าใจง่าย นอกจากบทความแล้วพวกนวนิยายก็มีขนาดสั้นลง เรื่องสั้นเกิดแนวต่างๆ ที่เน้นความสนุกสนาน น่าตื่นตาตื่นใจและความใกล้ตัว

ในแง่ของนิตยสารบันเทิงคดี นิตยสารสำหรับชนชั้นกลางที่ราคากลางๆ นอกจาก The Times ที่มียอดขายพุ่งขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นิตยสารอีกหัวที่น่าพูดถึงคือ The Strand Magazine นิตยสารหลักที่แจ้งเกิดให้กับเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของดอยล์ สำหรับ The Strand เป็นอีกนิตยสารที่มีเป้าหมายเป็นผู้อ่านทั่วไป วางขายฉบับแรกในเดือนมกราคม ปี 1891 ในราคา 6 เพนนี ตัวเลขของการพิมพ์สะท้อนการขยายตัวของผู้อ่านได้เป็นอย่างดีคือยอดขายฉบับแรกเปิดขายได้ที่ 300,000 ฉบับ และไม่นานก็พุ่งถึงครึ่งล้านฉบับ ความเท่ของนิตยสาร The Strand คือไปออกที่อเมริกาด้วยโดยออกช้ากว่าหนึ่งเดือน เป็นเล่มเดียวกันเช่นฉบับเดือนมกราคมของอังกฤษ ก็จะเป็นฉบับกุมภาพันธ์ของอเมริกา เนื้อหาหน้าตาเหมือนกัน สำหรับ The Strand ก็จะมีเนื้อหาเพื่อความบันเทิง มีบทความ เรื่องสั้น นวนิยายอ่านสนุกขนาดสั้นๆ มีเกมให้เล่นฆ่าเวลา

Penny Dreadful, Yellow Back และ Shilling Shocker

นึกภาพบรรยากาศชีวิตและการอ่านในยุคนั้น การอ่านเป็นกิจกรรมที่ผู้คนทำในช่วงเวลาว่างที่มีไม่มากคือว่างจากการทำงาน เรื่องที่เขียนขึ้นที่คนนิยมจะเป็นเรื่องที่อ่านสนุก ตื่นเต้น หรือกระทั่งสัมพันธ์กับบริบทที่ใกล้ตัว ในยุคนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์สิ่งพิมพ์ราคาถูกที่ในระยะต่อมาถูกดูแคลนว่างานเหล่านั้นก็ราคาถูก เอาไว้อ่านเล่นไม่ได้มีคุณประโยชน์อะไรด้วย ซึ่งสำนักพิมพ์เองก็ค่อนข้างปรับตัวและเปิดทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้อ่านโดยมีแนวคิดเรื่องประโยชน์อยู่โดยนัยด้วย

ปรากฏการณ์หนังสือแมสๆ ในยุคแรกคือการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มละเพนนีที่เรียกว่า Penny dreadful ถ้าเปรียบเทียบกับบ้านเราก็คล้ายกับกระแสการ์ตูนผีเล่มละบาท หนังสือประเภท Penny dreadful ตัวนิยายเล่มละเพนนีมักจะเป็นเรื่องผี เรื่องสยองขวัญ ฆาตกรรมสมชื่อ dreadful หนังสือนี้จะออกรายสัปดาห์ คือตามอ่านเป็นตอนๆ เล่มหนึ่งยาว 8-16 ตอน มีตัวละครเป็นฆาตกรเช่นสวีนนีย์ ทอดด์ เรื่องผีสางเช่นแวมไพร์ หนังสือผีราคาถูกนี้เกิดขึ้นในปี 1830 และเฟื่องฟูจนถึงทศวรรษ 1870 เป้าหมายสำคัญคือกลุ่มแรงงานผู้ชายที่จะอ่านเรื่องสนุกสนาน สื่อเช่น The Guardian นิยามว่าหนังสือเล่มละเพนนีเป็นเหมือนวิดีโอเกมสำหรับเด็กผู้ชายในยุคนั้น ในช่วงทศวรรษ 1860-1870 มีตัวเลขว่าหนังสือเล่มละเพนนีขายได้หลักล้านฉบับต่อสัปดาห์ มีตัวเลขผู้ผลิตสูงถึงเกือบร้อยราย

ต่อจากยุคเรื่องสยองเล่มละเพนนี ในกลางศตวรรษก็ได้เกิดคู่แข่งของหนังสือสยองเล่มละเพนนีคือเกิดหนังสือกลุ่มปกออกเหลือง ฟังดูไม่ดี แต่จริงๆ คือการที่สำนักพิมพ์ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้ปกหนังสือมีความสว่าง มักจะออกเฉดเหลืองตามฉายาหนังสือ (แถมอยู่ไปนานๆ กระดาษก็เหลืองด้วย) กลุ่มหนังสือประเภท yellow-back เป็นนวนิยายที่จบในตัวเอง มีความเป็นเรื่องขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังขายความสดใส (ซึ่งสะท้อนผ่านสีปกด้วย) ยังคงมีความอ่านสนุก อ่านง่าย ไม่ยาวมาก และมีราคาถูก คือราคาประมาณ 1-2 ชิลลิ่ง หนึ่งในจุดเริ่มของเจ้าพ่อวงการหนังสือปัจจุบันคือ Routledge ที่ออกหนังสือชุดห้องสมุดรถไฟ ทาง Routledge ได้นำเอานวนิยาย (ที่เราอาจเรียกว่านิยายน้ำเน่า) เรื่องผจญภัย ไปจนถึงคู่มือการศึกษาและชีวประวัติ อ่านง่ายๆ กลับมาพิมพ์ใหม่ให้มีราคาถูกและเน้นขายให้กับคนที่นั่งรถไฟ เจ้าชุดหนังสือรถไฟของ Routledge เป็นซีรีส์ยาวนานคือออกเรื่อยๆ เรื่อยมาตั้ง 50 ปี โดยรวมแล้วมีทั้งหมด 1,277 เรื่อง

เนื่องด้วยเราเปิดด้วยวันเกิดของดอยล์ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เอง ก็นับว่าเป็นหนังสือกลุ่มที่ไม่เชิงว่าราคาถูกขนาดนั้น แต่ก็ไม่ใช่ของหรูหราระดับขึ้นหิ้ง บางคนนิยามว่าโฮล์มส์เป็นความฮิตส่วนหนึ่งมาจากความหรูหราที่สัมผัสได้ นวนิยายเรื่องยาวของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เล่มแรกอยู่ในกลุ่มหนังสือประเภท shilling shocker คิดเป็นเงินปัจจุบันคือ 5 เพนนี คือเท่าๆ กับพวกหนังสือปกเหลือง งานเขียนของโฮล์มส์ที่นิตยสาร The Strand รับพิมพ์นั้นก็ชื่นชมว่าเป็นงานเขียนชั้นดีที่คนทั่วๆ ไปพอจะซื้อได้ในราคานี้ ไม่ได้ต้องราคาถูกถึงขนาดพวก Penny dreadful 

ทว่าในภาพรวมคนก็ยังมองว่าหนังสือหรือบันเทิงคดีในช่วงนั้นเน้นการเขียนให้หวือหวา พาใจไปจินตนาการ เรื่องสืบสวนก็ว่าด้วยอาชญากรรม ฆาตกรรม พวกงานแนวไซไฟก็ว่าด้วยโลกจินตนาการ พาไปเที่ยวดาวอื่น อีกทีก็เป็นเรื่องผีๆ สางๆ หรือรักๆ ใคร่ๆ งานพวกนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในนิตยสารที่เรียกว่า pulp magazine นิตยสารสีฉูดฉาดที่พิมพ์ด้วยกระดาษจากเยื่อไม้ (wood pulp paper)

อันที่จริง ในระยะต่อมา งานของดอยล์ รวมถึงงานสืบสวนกระทั่งงานไซไฟก็จะมีนักวิชาการด้านวรรณกรรมออกมาปกป้องว่าเป็นงานที่สะท้อนหลายประเด็นร่วมสมัย เช่น The Simple Art of Murder ของเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) งานแนวสืบสวนหรืองานผีหลอกสัมพันธ์กับบริบทเมือง ความที่เราอยู่กับคนแปลกหน้าเราไม่รู้ว่าข้างบ้านเราจะเป็นฆาตกรไหม หรือพื้นที่เมืองเต็มไปด้วยมุม หลืบหรืออดีตที่ลี้ลับ ประวัติศาสตร์ที่เราไม่รู้จัก หรือข้อสังเกตของวอลเทอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) นักปรัชญาที่ตั้งข้อสังเกตว่าคนที่เดินทางด้วยรถไฟมักจะหยิบงานสืบสวนติดมือไปอ่านระหว่างทางในข้อเขียน Detective Novels, On Tour

ในมิติเชิงสังคม ในช่วงหนังสือปกเหลืองราคาประหยัดเองก็ค่อยๆ ถูกแทนที่และมีคู่แข่ง บางส่วนสัมพันธ์กับบริบทและการอ่านหนังสือที่มีรถไฟเป็นส่วนประกอบที่เปลี่ยนไป เช่น การเปิดรถไฟทางไกลที่มีราคาถูกลง ทำให้คนชั้นกลางสามารถเดินทางไกลๆ ได้ หรือประเด็นเรื่องเวลาทำงานที่ลดลง เกิดวันหยุดสุดสัปดาห์เองก็ทำให้แรงงานมีเวลามากขึ้น การอ่านเพียงระยะสั้นๆ หรืออ่านแล้วทิ้งก็ค่อยๆ ลดความนิยมลง กระทั่งเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ดีขึ้น หนังสือสวยงามขึ้น ก็ทำให้เกิดคู่แข่งรายใหม่ และเกิดกลุ่มผู้บริโภคหนังสือหลายกลุ่มขึ้น

คู่แข่งสำคัญของนิยายปกเหลืองของ Routledge คือสำนักพิมพ์ Chatto & Windus เจ้านี้ออกชุดนิยายชื่อ Cheap Editions of Popular Novels คือยังรับเอาบางลักษณะของหนังสือปกเหลืองมา เช่น การเข้าเล่ม การมีภาพปกสวยงาม และโฆษณาที่ปกหลัง แต่ทว่าหนังสือชุดใหม่นี้เน้นความคงทนขึ้น มีการเข้าสันด้วยผ้า (cloth spines) ที่ทนทานขึ้น นวนิยายที่เลือกมาพิมพ์ใหม่ก็เป็นชุดที่ยอดนิยมอยู่แล้ว แต่คำโฆษณาใหม่นี้คือหนังสือชุดนี้จะเป็นหนังสือฉบับที่ทนทานขึ้น เป็นเล่มที่เราจะเก็บไว้อ่านในบ้านก็ได้ เอาใส่กระเป๋าพกพาไปอ่านที่อื่นก็ได้ ในความเปลี่ยนแปลงคือคนเรามีเวลาเยอะขึ้น บ้านมีไฟฟ้าแล้ว การจะอ่านหนังสือก็เป็นอิสระขึ้น หนังสือเองก็ถูกขายว่ายาวขึ้น เล่มหนาขึ้น อ่านได้เนื้อได้หนังขึ้น เป็นสมบัติที่อ่านแล้วเก็บ อ่านแล้วพกพาได้ แถมที่สำคัญหนังสือเทคโนโลยีใหม่นี้มีราคาถูกกว่าพวกปกเหลือง คือปกเหลืองที่ราคา 1-2 ชิลลิ่ง แต่นวนิยายปกอ่อนทำราคาที่ 6 เพนนี

อันที่จริงบรรยากาศของการพิมพ์หนังสือในช่วงนั้นค่อนข้างจะมีความซ้อนกันและเปลี่ยนแปลงไปตามนวัตกรรมและกลุ่มเป้าหมาย สำนักพิมพ์หนึ่งอาจจะออกหนังสือเรื่องเดียวกันในทุกระดับราคา จากแบบปกผ้าชุดสามเล่ม (ราคาประมาณ 30 ชิลลิ่ง) แบบเล่มเดี่ยวพิมพ์ใหม่ราคา 3 ชิลลิ่ง แบบปกเหลืองราคา 1-2 ชิลลิ่ง และแบบปกอ่อนราคา 6 เพนนีหรือถูกกว่านั้น ในราวปี 1890 หนังสือปกอ่อนราคา 6 เพนนีค่อนข้างตีตลาดหนังสือปกเหลืองได้หมด แต่จุดที่น่าสนใจคือด้วยเทคโนโลยีและการแข่งขันของระบบตลาด หนังสือเล่มหนึ่ง เรื่องเดียวกันในที่สุดค่อนข้างเข้าถึงผู้อ่านในทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น และสัมพัทธ์ไปตามความต้องการของการอ่านที่ต่างกัน

ประวัติศาสตร์บริโภคหนังสือข้างต้นเป็นกรอบประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรวมถึงตัวรูปเล่มหนังสือที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงราว 100 ปี หนังสือปกอ่อนที่ราคาและคุณค่าปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ความต้องการของผู้อ่านที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคม บางส่วนส่งผลต่อเนื่องเป็นบรรพบุรุษของยุคปัจจุบัน เช่น สำนักพิมพ์เพนกวินที่รวมงานคลาสสิกที่มีทั้งปกอ่อนปกแข็งทั้งเพื่อการอ่านและการสะสมในยุคต่อมา ร้านหนังสือที่ยุคหนึ่งเราพบเห็นตั้งแต่ตามสถานีขนส่ง ป้ายรถเมล์ สนามบิน ไปจนถึงเรื่องราวที่ถูกเล่าในนิยายเช่นเรื่องสืบสวนที่มักมีการเดินทาง การนั่งรถไฟ (เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เองก็มีฉากคิดคดีบนรถไฟระหว่างเดินทางไปที่เกิดเหตุไกลๆ เสมอ) การใช้เวลาบนเครื่องบิน หรือกระทั่งเกิดเหตุในระหว่างทางเลย เช่น ฆาตกรรมบนรถไฟของอกาธา คริสตี้

ในยุคปัจจุบันเอง การอ่านก็อาจเปลี่ยนแปลงไป การเดินทางในชีวิตประจำวันของเรา เราอาจจะอ่านจากหน้าจอ อ่านจากสื่อออนไลน์ ตัวอักษรกลายเป็นคอนเทนต์ การเขียน การคิด หรือกระบวนการสร้างสรรค์เนื้อหาก็ดูจะกำลังปรับตัวเข้าสู่เวลาและพื้นที่ในรูปแบบใหม่อีกครั้ง หรือกระทั่งกระแสการอ่านหนังสือเล่มเองที่อาจจะทั้งยังมีคุณค่าและความหมายเช่นเดิม ไปจนถึงการกลายเป็นการบริโภคทางวัฒนธรรมที่มีความหมายพิเศษ เช่น การสะสม ความสวยงาม

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like