Committed For All
ส่องเรื่องราว ‘4 บุคลากร’ ผู้ได้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กับการใช้ความมุ่งมั่นยกระดับวงการสาธารณสุขโลก
นอกเหนือจากเศรษฐกิจ การศึกษา หรือสาธารณูปโภค อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศแข็งแรงคือเรื่องของ ‘ระบบสาธารณสุข’ ซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนในยามเจ็บป่วยตั้งแต่อาการไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงอาการหนักหนาสาหัส และโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ยกตัวอย่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในทวีปเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ที่มีอัตรา GDP ในประเทศเติบโตมากถึงร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการมีระบบสาธารณสุขยอดเยี่ยม ถึงขั้นเคยคว้าอันดับ 1 ของประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสาร CEOWORLD โดยประชากรผู้เสียภาษีของเกาหลีใต้จำนวน 96.3% อยู่ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนอีก 3.7% ที่เป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อยก็อยู่ภายใต้การดูแลของโครงการช่วยเหลือทางการแพทย์อย่าง Medical Aid Program
เนื่องจากโอกาสการรักษาที่ครอบคลุมประชาชนทุกระดับนี้เอง จึงไม่แปลกใจสักเท่าไหร่นักหากประชากรเกาหลีใต้จะมีอัตราการรอดชีวิตจากโรคร้ายแรงสูง ยกตัวอย่างโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งลำไส้ ที่ผู้ป่วยมีโอกาสรอดสูงถึง 72.8%
หรืออย่างประเทศไทยซึ่งเคยคว้าอันดับ 6 ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลก ก็มีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่ปี 2544 ด้วยจุดประสงค์ที่อยากลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการมีอยู่ระบบสาธารณสุขที่ดี ย่อมต้องพึ่งพา ‘บุคลากรทางการแพทย์’ หรือ ‘นักวิจัย’ ที่สามารถส่งต่อแนวทางหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มโอกาสการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคไต โรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง หรือโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ที่มนุษยชาติเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตไปไม่นาน ซึ่งแต่ละกรณีล้วนแต่มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ “ ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง ให้ทุกคนเข้าถึงสุขภาพดีถ้วนหน้า ”
ด้วยความสำคัญของบุคคลเบื้องหลังทางการแพทย์และสาธารณสุขที่กล่าวถึงข้างต้น คอลัมน์ Recap จึงอยากบอกเล่าถึงชีวิตบุคลากรกลุ่มหนึ่งผู้เป็นดังกระดูกสันหลังของวงการสาธารณสุขโลก ที่ใช้สองมือ มันสมอง และความมุ่งมั่น แปรเปลี่ยนเป็นหนทางการช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกมากมายจากโรคร้าย
ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จากโรคมะเร็งด้วย ‘วิธีรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า’
มะเร็ง คือโรคร้ายอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษาและติดตามเฝ้าดูอาการ ศาสตราจารย์ ดร. แอนโทนี เร็กซ์ ฮันเตอร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ศาสตราจารย์ ดร.โทนี ฮันเตอร์’ ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่สถาบันซอล์กเพื่อการศึกษาชีววิทยา และ นักวิจัยอาวุโส (Renato Dulbecco Chair) ของศูนย์มะเร็งแห่งสถาบันซอล์กเพื่อการศึกษาชีววิทยา สหรัฐอเมริกา จึงพยายามคิดค้นหาวิธีเพื่อช่วยผู้คนให้หายจากโรคมะเร็งในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น ก่อนจะพบกับแนวทางการรักษาที่มีชื่อว่า ‘การรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า (targeted therapy)’
ความสำเร็จของแนวทางการรักษาดังกล่าว มาจากการที่ศาสตราจารย์ ดร.โทนี ฮันเตอร์ ได้ค้นพบกระบวนการ ‘ฟอสโฟรีเลชั่น’ (phosphorylation) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (tyrosine kinase) ที่หากมีการผลิตมากเกินในร่างกายจะนำไปสู่การเปลี่ยนเซลล์ธรรมดาให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยการค้นพบนั้นนำไปสู่การพัฒนายาที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้เป็นจำนวนมากมาย ไม่น้อยกว่า 86 ตัว เช่น อิมาทินิบ (Imatinib, Gleevec™) ที่ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ดังนั้นการค้นพบครั้งนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการแพทย์และสาธารณสุขในการรักษาโรคมะเร็ง และช่วยให้ผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคนี้ได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง
รางวัลอันทรงเกียรติที่เคยได้รับ : รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ปี 2567
ชายผู้ใช้เวลา 20 ปี คิดค้นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่ผู้คนประสบทั่วโลก ซึ่งนอกจากเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ขาดสารอินซูลิน ก็ยังมีเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากการดูดกลืนน้ำตาลกลับเข้าที่ไตเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางการไหลผ่านระหว่างโซเดียมและน้ำตาลในร่างกาย โดยเบาหวานชนิดที่ 2 นี้มักเกิดขึ้นในผู้มีภาวะอ้วนลงพุง ที่มักไม่ตอบสนองต่อการให้สารอินซูลิน
กระทั่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการคิดค้นหาวิธีรักษากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ตั้งแต่การใช้ยาเมทฟอร์มิน (metformin) ที่ช่วยยับยั้งการดูดกลับของน้ำตาลสู่ไต ควบคู่กับการใช้วิธีรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) โดยออกแบบโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกายลดน้ำหนักตามความเหมาะสมของบุคคล ซึ่งต่อมาวิธีนี้ได้เผยแพร่ใช้กันในการรักษาเบาหวานทั่วโลก
รางวัลอันทรงเกียรติที่เคยได้รับ : รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ปี 2566
การค้นพบ ‘ยาต้านเกล็ดเลือด’ เพื่อช่วยผู้ป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
เป็นเวลาเกือบครึ่งชีวิตที่ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ วาเลนติน ฟัสเตอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งชาติ กรุงมาดริด ประเทศสเปน, นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลเมาท์ไซนาย นครนิวยอร์ก จากสหรัฐอเมริกา และหัวหน้ากองบรรณาธิการ วารสารวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งอเมริกา สหรัฐอเมริกา หมดไปกับการวิจัยเรื่องบทบาทของ ‘เกล็ดเลือด’ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ที่แต่เดิมมีวิธีการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น และบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาป่วยซ้ำหลังการผ่าตัด
หลังใช้เวลาอย่างยาวนาน จนในที่สุด ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์ ได้คิดค้นยาที่มีชื่อว่า ‘ยาต้านเกล็ดเลือด’ ซึ่งสามารถใช้ควบคู่ภายหลังจากการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส’ (CABG-Coronary Artery Bypass Grafting) ในผู้ป่วยโรคหัวใจตีบตัน ทำให้อัตราการสูญเสียในกลุ่มผู้ป่วยโรคดังกล่าวลดน้อยลง และหายขาดจนกลับมาใช้ชีวิตได้ดังปกติ อีกทั้งยาตัวดังกล่าวยังสามารถนำไปต่อยอดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับหลอดเลือดอุดตันส่วนอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เป็นต้น ได้อีกด้วย
รางวัลอันทรงเกียรติที่เคยได้รับ : รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ปี 2563
‘แมทธิว โนโมแกรม’ เครื่องมือช่วยเหลือช่วยเหลือผู้ประสบตับเป็นพิษจากยาพาราเซตามอล
พาราเซตามอลคือยาสามัญประจำบ้านที่มีไว้บรรเทาอาการปวด ทว่าการใช้ในปริมาณที่มากหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเป็นพิษต่อตับ ยิ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 52 ปีที่มีผู้เสียชีวิตจากภาวะตับวายจากการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด มากถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั่วโลก
จากปัญหาดังกล่าว ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ที่ในเวลานั้นดำรงตำแหน่งอยู่ในโรงพยาบาลรอยัลแห่งเอดินบะระ ในประเทศสกอตแลนด์ ได้คิดหาวิธีช่วยชีวิตผู้ที่ประสบตับเป็นพิษจากพาราเซตามอล ก่อนจะสามารถประดิษฐ์ ‘Rumack–Matthew nomogram’ หรือเครื่องมือที่สามารถแสดงกราฟค่าความเข้มข้นของพาราเซตามอลในเลือด ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อภาวะตับเป็นพิษในผู้ป่วยแต่ละราย ควบคู่กับการใช้ยาเอ็น อะซิติลซิสเตอีน (N-acetylcysteine) ที่สามารถบรรเทาอาการตับเป็นพิษรุนแรง โดยต่อมาเครื่องมือนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนกห้องฉุกเฉินที่ต้องกะปริมาณยาในเวลาสั้นๆ
รางวัลอันทรงเกียรติที่เคยได้รับ : รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ปี 2566
‘สู่รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รางวัลโนเบลด้านการแพทย์ของไทย’
อย่างที่เห็นว่า บุคลากรที่กล่าวมาทั้ง 4 คนล้วนควรค่าแก่การชื่มชมและยกย่อง ในฐานะผู้ยกระดับและช่วยเหลือวงการสาธารณสุขโลก โดยแต่ละรายล้วนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ นั่นคือ ‘รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมนภ์’ (Prince Mahidol Award Foundation) ที่เป็นเสมือนดั่ง ‘รางวัลโนเบล’ สาขาการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อตอบแทนความมุ่งมั่นพยายามของพวกเขา โดยแบ่งเป็น ‘รางวัลสาขาการแพทย์’ ที่มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และวิจัยดีเด่นการแพทย์ อันก่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ และ ‘รางวัลสาขาการสาธารณสุข’ ที่มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงานดีเด่นทางด้านสาธารณสุข เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมนุษยชาติ
ซึ่งการมอบรางวัลให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้ง 4 ราย ถือเป็นความตั้งใจของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ต้องการสร้างความพร้อมควบคู่กับความเจริญก้าวหน้าของวงการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงเป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย
ทั้งนี้ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงเป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 100 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 จวบจนปัจจุบัน
นอกจากการมอบรางวัลเชิดชู มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ยังมีอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญ นั่นคือการดำเนิน ‘โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ (Prince Mahidol Award Youth Program) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้าง
นักวิจัยและนักพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพรุ่นใหม่ ที่พร้อมสานต่อเจตนารมณ์แห่งการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยงานวิจัยสร้างสรรค์จากการศึกษาด้านทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง ดังนั้นเยาวชนที่มีความฝันอยากจะเป็นแพทย์หรือนักวิจัยโครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งบันไดสำคัญในการไปถึงจุดหมาย (สามารถดูรายละเอียดของโครงการได้ที่เว็บไซต์ เว็บไซต์ https://www.si.mahidol.ac.th/PMAYP/index.html)
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของบุคคลสำคัญที่ใช้ความรู้ ความสามารถ ในการคิดค้นแนวทางและเครื่องมือการรักษาเพื่อช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่เหนือสิ่งอื่นใด รางวัลอาจเป็นเพียงผลลัพธ์ปลายทางของความสำเร็จ แต่ ‘หัวใจ’ จริงๆ ที่อยู่ในของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รวมไปถึงเจตนารมย์ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ นั่นคือ ‘การเสียสละ’ เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนร่วมโลกจำนวนมาก ซึ่งสักวันคนไทยที่มีความสามารถก็อาจก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ตราบใดที่ไม่ละทิ้งความพยายาม
อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า ทุกๆ ความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ดี ย่อมนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมกับสามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ โดยมีบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นดังกระดูกสันหลังคอยค้ำจุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งบุคคลเหล่านี้เหมาะสมแล้วแก่การเชิดชูและจดจำในหน้าประวัติศาสตร์