PokPok of the Town

PokPok สตาร์ทอัพฟู้ดเดลิเวอรีที่ได้ไอเดียจากรถพุ่มพวง ส่งอาหารดังที่อยู่ไกลข้ามโซนถึงบ้าน

สำหรับคนไทยแล้ว เรื่องกินเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเราอาศัยอยู่แถวบางนาแล้วเกิดอยากกินกวยจั๊บเจ้าดังที่เยาวราช ก็แทบไม่ต้องคิดเลยว่าจะมีบริการแอพฯ เดลิเวอรีเจ้าไหนมาส่ง เพราะเกินระยะทางที่แอพฯ กำหนด หรือถ้าสู้ค่าส่งก็แพงหูฉี่อยู่ดี 

แต่นั่นไม่ใช่กับ PokPok สตาร์ทอัพเดลิเวอรีที่ตั้งใจส่งของอร่อยจากร้านดังในเมือง ถึงมือผู้คนในย่านชานเมือง แถมยังไม่มีค่าส่งด้วย

“คอนเซปต์ของเราคือ ร้านดังข้ามโซน เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยได้ง่ายที่สุด เราพยายามหาร้านอาหารอร่อยที่คุ้มค่าคุ้มราคา แม้จะอยู่ไกลแค่ไหนเราก็ส่ง เราทำสิ่งที่แพลตฟอร์มอื่นทำไม่ได้ ทำให้ลูกค้าอยู่กับเรามาตลอด” นาย–นัฐพงษ์ จารวิจิต CEO และ Co-founder บอกเราในวันที่นัดพบกันพร้อมกับ เจ–หฤษฎ์ หัตถวงษ์ COO และ Co-founder แห่ง PokPok

หากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในความคิดของคุณ หมายถึงการส่งอาหารถึงบ้าน สำหรับ PokPok ไม่ใช่แบบนั้น เพราะพวกเขาคัดสรรเมนูอาหารจากร้านเด็ดในโซนใจกลางเมือง ตั้งแต่ระดับมิชลินไปจนถึงสตรีทฟู้ด ในรูปแบบของ sharing economy เพื่อส่งถึงโต๊ะอาหารของผู้คนย่านชานเมือง โดยในแต่ละวันจะเปลี่ยนผันร้านและเมนูไปไม่ซ้ำกัน ในอีกทางผู้ใช้บริการก็ไม่ต้องเสียเวลาเลือกร้านหรือคิดว่าจะกินอะไรดี

PokPok นับเป็นแพลตฟอร์มที่มาช่วยแก้ pain point ของร้านอาหารและผู้บริโภคได้ทันท่วงที ทำให้วันนี้มีผู้คนแวะเวียนกันสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มกว่า 20,000 คน ใน 40 เส้นทาง เชื่อมโยงร้านดังกว่า 400 ร้านทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

กว่า 2 ปีที่ PokPok เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดนี้ท่ามกลางสงครามของฟู้ดเดลิเวอรีเจ้าดัง ไม่ได้ทำให้พวกเขาหวาดกลัวแต่อย่างใด เพราะบริการรับ-ส่งอาหารของพวกเขา ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของผู้คนย่านชานเมืองไปแล้ว 

นี่คือสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก 

จากโปรแกรมเมอร์ในเยอรมนี สู่ผู้ริเริ่มบริการรับ-ส่งอาหาร

“ผมทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในเยอรมนีกว่า 10 ปี เขียนแอพฯ มานับไม่ถ้วน” นัฐพงษ์ย้อนเล่าเรื่องราวในวันวานเมื่อเราชวนคุยถึงจุดเริ่มต้น “จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกอิ่มตัวกับการทำงาน เลยตัดสินใจย้ายกลับไทยเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาทำอะไร เลยเริ่มจากการใช้ทักษะที่มีทำแอพฯ liluna ลิลูน่า – Ride Sharing ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน ซึ่งก็ทำอยู่ประมาณ 4 ปี ประจวบกับที่โควิดมาพอดี เลยรู้ว่าธุรกิจอาจไปต่อได้ยาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง ที่ช่วงนั้นเจอการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทาง ผมจึงนำโมเดลนั้นมาพัฒนาต่อเป็น PokPok ในปัจจุบัน”

ในช่วงเวลาที่ PokPok ยังเป็นเพียงไอเดียทางธุรกิจ นัฐพงษ์และหฤษฎ์ได้เจอกันที่เวทีแข่งขันแผนธุรกิจ เมื่อมีการพูดคุยถึงโมเดลธุรกิจ และความเป็นไปได้ ทั้งคู่จึงตัดสินใจเริ่มต้น PokPok ด้วยกัน

จากวิกฤตโควิดที่บีบให้ร้านอาหารต้องเข้าสู่ระบบแอพฯ เดลิเวอรี สิ่งที่เห็นได้ชัดและส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก คงหนีไม่พ้นเรื่องค่าอาหารที่แพงกว่าหน้าร้าน เพราะร้านอาหารต้องโดนหักค่า GP (gross profit ส่วนแบ่งหรือคอมมิชชั่นที่ร้านต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม) มากถึง 30-35% ซึ่งถ้ารวมกับค่าส่งก็ยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค

“ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับร้านอาหารทั่วประเทศ เราใช้เวลาศึกษาและตกผลึกความคิดกว่า 6 เดือน เพื่อให้ไอเดียเป็นรูปเป็นร่างและจับต้องได้จริง” นัฐพงษ์เล่า

หลายคนอาจไม่เชื่อว่า จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้มาจากรถพุ่มพวง รถกับข้าวที่เข้าถึงทุกซอกซอยโดยไม่มีค่าส่ง แต่จะบวกเพิ่มจากค่าอาหารหรือวัตถุดิบนั้นๆ ในบริบทของคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีเวลาทำอาหาร รถพุ่มพวงอาจยังไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะมักขายของสดที่ต้องนำมาปรุงต่อ แต่สิ่งที่ตอบโจทย์กว่าน่าจะเป็นอาหารพร้อมทาน และที่สำคัญคือต้องเป็นอาหารอร่อย

พร้อมส่งทุกที่ เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากทานของอร่อย

อย่างที่ว่าไว้ PokPok ถือกำเนิดขึ้นในช่วงโควิด พร้อมภารกิจที่ยิ่งใหญ่คือ การส่งต่อความอร่อยจากร้านดังในเมืองถึงบ้านคุณ ด้วยกลไกง่ายๆ เริ่มจากการเป็นตัวกลางประสานระหว่างร้านอาหาร พาร์ตเนอร์ และลูกค้าที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ผ่าน LINE@

“ความตั้งใจของเราคืออยากส่งมอบอาหารอร่อยๆ จากร้านดังในเมือง ถึงผู้คนที่อยู่ห่างไกล ตัวผมอยู่คอนโดย่านบางนา เกิดอยากกินกวยจั๊บเยาวราช ถ้าสั่งผ่านแอพฯ ก็คงเสียค่าส่งแพงสุดๆ หรือถ้าจะขับรถมาเองก็ต้องเสียค่าน้ำมัน เสียเวลาในการเดินทาง 2-3 ชั่วโมง ผมเลยคิดว่าจะทำยังไงให้เสียค่าส่งน้อยที่สุด

“ทุกคอนโดหรือหมู่บ้านมักจะมีไลน์กลุ่มอยู่แล้ว และในช่วงโควิด เราเห็นคนโพสต์ขายอาหารบ่อยๆ ถ้าผมโพสต์ว่าพรุ่งนี้จะไปเยาวราช มีใครอยากฝากซื้ออะไรไหม แล้วเรามาแชร์ค่าส่งด้วยกัน แค่นี้ก็ประหยัดค่าส่งได้ หรือคิดค่าหิ้วออร์เดอร์ละ 20 บาท ถ้าในคอนโดมีคนสั่ง 50 ออร์เดอร์ก็คุ้มแล้ว” นัฐพงษ์เล่า

วิธีการขายของ PokPok เป็นการเข้าหาลูกค้าเชิงรุก ทุกวันทีมงานจะส่งเมนูประจำวันให้ลูกค้าทางไลน์กลุ่มตามเส้นทางต่างๆ หากลูกค้าอยากกินเมนูไหนก็สามารถสั่งผ่านไลน์ของพาร์ตเนอร์ หรือที่แอพฯ อื่นๆ เรียกว่าไรเดอร์ได้เลย

พาร์ตเนอร์ที่เข้ามาทำงานกับ PokPok มีทั้งคนที่เคยเป็นไรเดอร์ผ่านแอพฯ เดลิเวอรีมาก่อน หรือคนที่ต้องการหาอาชีพเสริม ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วทีมงานจะสอนการใช้แพลตฟอร์มและวิธีการเข้าถึงลูกค้า รวมถึงช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า เมนูยอดนิยม และนำมาวิเคราะห์เพื่อส่งให้ลูกค้าเลือกในวันต่อๆ ไป ซึ่งวิธีนี้เหมือนการรับหิ้ว ฝากซื้อ เป็นวิธีบ้านๆ ที่เข้าใจง่าย และตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง

ทดลองเพื่อหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจและบริการ

ช่วงแรกพวกเขาเป็นคนรับ-ส่งอาหารด้วยตัวเอง ตั้งแต่การดีลกับร้านอาหาร การนัดจุดรับส่ง วางแผนการเดินทาง สำรวจเส้นทาง ที่ตั้งร้านอาหาร รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ 

หนึ่งในสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้คือการรักษาคุณภาพอาหาร ด้วยความที่อยากให้อาหารอร่อยเหมือนกินที่ร้าน 

“ช่วงแรกเรายังไม่มีความรู้ พอมีรถฟู้ดทรัคก็ต้องใช้ตู้อุ่นอาหาร ซึ่งตามมาด้วยการติดตั้งตู้ปั่นไฟบนรถ เมื่อนำมาใช้จริงก็ไม่เวิร์กเหมือนที่คิด เพราะทำให้ในรถอากาศร้อนมาก แถมยังมีเสียงดัง จริงๆ แล้วแค่กล่องเก็บอุณหภูมิก็พอ ทำให้เราเสียเงินเสียเวลาไปพอสมควร”

เลือกใช้ไลน์เพื่อเข้าถึงผู้สูงอายุ

ถ้าคุณอยากลองสั่งอาหารผ่าน PokPok ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แค่แอดไลน์ @rodpokpok ก็สามารถสั่งอาหารได้ทันที ดูว่ามีเส้นทางไหนน่าสนใจและเลือกจุดที่ต้องการให้ไปส่ง โดยบวกเพิ่ม 20 บาทจากค่าอาหาร

รูปแบบการให้บริการของ PokPok นั้นสะดวกและเรียบง่ายคล้ายกับการรับหิ้ว แต่หลายคนก็คงสงสัยว่า ในเมื่อทีมงานเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ทำไมไม่นำแอพฯ มาใช้เหมือนกับผู้ให้บริการอื่นๆ

“ผมได้ยินคำถามนี้บ่อยๆ แต่จากการทดลองทำด้วยตัวเอง พบว่าแอพฯ ยังไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น เพราะเราให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ดังนั้นเราจึงเลือกใช้วิธีการสั่งซื้อผ่านไลน์อย่างเดียว และลูกค้าของเราก็มีกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดใช้แอพฯ การคุยผ่านไลน์จึงสะดวกต่อพวกเขามากกว่าด้วย” นัฐพงษ์เล่า

“แล้วทายสิครับว่ากลุ่มลูกค้าหลักของ PokPok อายุเท่าไหร่” คราวนี้นัฐพงษ์ถามเรากลับก่อนเฉลย

ไม่ใช่ 20+ หรือ 30+ แต่เป็นกลุ่มที่มีอายุ 45-70 ปี

“ทุกคนที่โทรมาหาผมจะแทนตัวเองว่าป้า และเรียกผมว่าลูกเกือบทุกคน ทำให้ผมได้รู้ว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องใช้ไลน์ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ไลน์ตัวจริง เราต้องค่อยๆ อธิบาย สื่อสารด้วยความเข้าใจ ให้เวลาในการคิดและเรียบเรียงคำพูดมากกว่าวัยอื่นๆ บางคนเป็นคนเหงา โทรมาหาเราคุยกันเป็นชั่วโมง เล่าเรื่องราวชีวิต หรือแนะนำร้านอาหารต่างๆ”

เท่าที่เราฟังทั้งคู่เล่า ทำให้เรามองเห็นอีกความพิเศษของเดลิเวอรีที่ชื่อ PokPok

จะมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีสักกี่รายที่เข้าใจด้วยการเข้าถึงลูกค้าขนาดนี้

ปัจจุบันรายได้หลักของ PokPok มาจาก 2 ส่วนคือ ค่าบริการ 20 บาท และการซื้ออาหารในราคาทุน เนื่องจากเราซื้อในจำนวนมาก จึงทำให้ได้ราคาถูกกว่าหน้าร้าน ซึ่งก็เป็นความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายระหว่างร้านอาหารกับเราที่เกื้อกูลกัน และไม่ต้องการให้ภาระไปตกที่ลูกค้า

“ส่วนเรื่องการบริการ ผมเน้นย้ำกับพาร์ตเนอร์เรื่องการแต่งตัวต้องใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีโลโก้ PokPok เพื่อแสดงตัวว่ามาจากที่ไหน และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นๆ รู้จักเรามากขึ้น ที่สำคัญต้องมีใจรักในงานบริการ เพราะเขาเป็นเหมือนตัวแทนบริษัทที่ต้องพูดคุยกับลูกค้าไม่ใช่แค่รับ-ส่งอาหารอย่างเดียว ตอนนี้เรามีพาร์ตเนอร์ประมาณ 40 คน แต่ละคนมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน เราจึงต้องมีการฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการบริการอยู่เสมอ

ด้วยความที่ PokPok เป็นทีมเล็กๆ ที่ช่วยกันทำทุกอย่าง เบอร์โทรที่ติดอยู่บนรถพาร์ตเนอร์ก็คือเบอร์พวกผมเอง หากมีข้อผิดพลาดหรือเรื่องร้องเรียนลูกค้าจะโทรหาเราทันที ทำให้เราเห็นทุกอย่างว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และเข้าไปแก้ไขทันที หฤษฎ์กล่าว

ไม่เคยมองว่าต้องแข่งกับใคร เพราะไม่เหมือนใคร

แม้ PokPok จะเป็นธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีที่เปิดได้ไม่นาน แต่พวกเขาก็มองเห็นการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจนี้

“เราไม่เคยมองว่าต้องแข่งกับใคร เพราะเราไม่เหมือนใคร ถ้าต้องแข่งขันด้วยโปรโมชั่นหรือส่วนลดก็ไม่ใช่ทางของเรา เพราะค่าส่งเราถูกอยู่แล้ว หากต้องเลือกคู่แข่ง เรามองว่าคู่แข่งของเราคือแม่ค้ารับหิ้ว ที่มีรูปแบบธุรกิจเหมือนกัน เวลาเราโพสต์เมนูประจำวันเขาก็จะโพสต์ตาม หรือโพสต์ล่วงหน้าคิดแทนว่าพรุ่งนี้เราจะขายอะไร ทว่าความได้เปรียบของเราอยู่ที่ระยะทาง สามารถส่งระยะไกลได้ อาหารมีความหลากหลาย และเวลาจัดส่งแน่นอน ขณะเดียวกันเราก็พยายามเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นพาร์ตเนอร์แทน ด้วยการชวนให้เขามาทำงานกับเรา” นัฐพงษ์เล่าวิธีคิด

ว่ากันว่าการทำงานกับ ‘คน’ เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก แล้วพวกเขามีวิธีจัดการยังไง-เราสงสัย

“ใช่ จัดการยากจริงๆ” นัฐพงษ์ตอบทันที “เราต้องดูว่าส่วนไหนที่เราใช้คนบ้าง และพยายามลดทอนในขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เช่น มีทีมงานหรือนำระบบ POS (point of sale) เข้ามาช่วยในการออร์เดอร์ หรือพาร์ตเนอร์บางคนไม่ถนัดเรื่องการสื่อสาร เราต้องมีผู้ช่วยเข้าไปคุยกับลูกค้าแทน เพื่อตอกย้ำจุดแข็งของเราในเรื่องการเข้าถึงและความเป็นกันเอง”

ส่วนระบบหลังบ้าน หฤษฎ์เล่าให้ฟังว่า มีทีมแอดมินดูแลข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่การหาร้านอาหาร การทำอาร์ตเวิร์กเมนูแต่ละร้าน การควบคุมคุณภาพอาหาร การบริการลูกค้า รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ถ้าเจอจุดผิดพลาดจะให้การช่วยเหลือทันที ในระหว่างส่งอาหารจะมีการอัพเดตสเตตัสด้วยการถ่ายรูปเมื่อถึงร้าน การคอนเฟิร์มออร์เดอร์ ทุกขั้นตอนเราจะส่งรูปให้ลูกค้าดูเสมอ เพื่อแสดงถึงความใส่ใจ โดยมากพาร์ตเนอร์จะส่งอาหารในเส้นทางเดิม จึงมีความผูกพันกับลูกค้าในเส้นทางของตนเอง 

ความตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญ อย่าล้อเล่นกับคนโมโหหิว

งานฟู้ดเดลิเวอรีเวลาทุกวินาทีมีความหมาย 

“เวลาที่ลูกค้าสั่งอาหารกับเรา พวกเขาต้องส่งล่วงหน้า 1 วัน นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องได้รับอาหารตรงเวลา เราจะสั่งอาหารกับร้านไว้ก่อน พอไปถึงก็จะได้รับอาหารพอดี หากมีการส่งช้า ส่งผิด เราต้องให้ทานฟรี หรือมีการชดเชย เพราะการทำผิดกับคนโมโหหิวเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น 

“ถ้ามีข้อผิดพลาดและไม่รีบแก้ไข ลูกค้าก็พร้อมเปลี่ยนไปใช้แอพฯ อื่น และถ้ามีหนึ่งคนไม่พอใจแล้วโพสต์ลงกรุ๊ปไลน์ จะส่งผลเสียต่อธุรกิจอย่างมาก ฉะนั้นเราต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการส่งตรงเวลา” นัฐพงษ์พูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้

ร้านเด็ด ร้านดัง ร้านลับ เก็บเรียบทุกเส้นทาง

ปัจจุบัน PokPok มี 40 เส้นทางครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในแต่ละเส้นทางมีการทำรีเสิร์ชร้านเด็ดในย่านต่างๆ ทั้งเยาวราช ตลาดพลู บรรทัดทอง เป็นข้อมูลที่มาจากการลงพื้นที่ค้นหาร้านเด็ดของทีมงาน การแนะนำจากลูกค้า รวมถึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ร้านดังที่ว่ามีทั้ง ก๋วยจั๊บนายเอ็ก, ลอดช่องสิงคโปร์, ขนมเปี๊ยะง่วนฮะเซ้ง, ขาหมูสมใจ สะพานควาย, ตาชัย ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย, กุยช่าย ตลาดพลู, เย็นตาโฟ เสาชิงช้า และเจ๊ปากแดง ก๋วยเตี๋ยวหลอด

กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งสตรีทฟู้ดที่เต็มไปด้วยอาหารอร่อย การเสาะแสวงหาร้านเด็ดจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเปิดเส้นทางใหม่นั้นยากกว่า

PokPok จะพิจารณาจากจำนวนจุดจอด (หมู่บ้าน คอนโด และชุมชน) และระยะทางจากร้านอาหารถึงบ้านลูกค้า ต้องเป็นเส้นทางที่ไม่ไกลจนเกินไป เพื่อรักษาคุณภาพอาหารให้อร่อยเหมือนทานสดใหม่ที่ร้าน เช่น รับอาหารจากร้านตอนบ่าย 2 ส่งถึงบ้านลูกค้าตอน 4 โมงเย็น ก็จะทำให้อาหารอร่อยเหมือนเดิม 

“ในแต่ละเส้นทางต้องมีหมู่บ้านหรือคอนโดมากพอที่จะส่งได้ ขั้นต่ำอยู่ที่ 5 จุดจอด ประมาณ 30 ออร์เดอร์ ถ้าจุดจอดน้อยกว่านั้น จำนวนออร์เดอร์ต้องมากกว่าหรือเทียบเท่า” นัฐพงษ์เล่าถึงขั้นตอนการวางแผนกำหนดเส้นทาง

ทั้งคู่เล่าให้ฟังว่า อาหารที่ขายดีเป็นเมนูที่ราคาไม่เกิน 100 บาท เป็นอาหารจานเดียวง่ายๆ อย่างกวยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง ทำให้ในการเลือกเส้นทาง ต้องมีร้านอาหารที่หลากหลาย คาวหวาน เครื่องดื่มต้องครบ ถ้ามีเมนูข้าวก็ต้องมีเมนูเส้น หรือถ้ามีของแพงก็ต้องมีของที่ราคาต่ำกว่า 100 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า และกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งหลายเมนูในครั้งเดียว ส่วนใหญ่แล้ว 1 ออร์เดอร์จะสั่ง 1-3 เมนู มูลค่าการสั่งซื้อต่อครั้งอยู่ที่ 150-200 บาท และอัตราการซื้อซ้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

อย่างที่รู้กันว่า PokPok เริ่มต้นช่วงโควิดที่ผู้คนไม่ชอบออกจากบ้าน แต่ว่าตอนนี้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัว

“ช่วงโควิดยอดขายเราดีมากๆ พอโควิดซาลง ในแง่ของพฤติกรรมตอนนี้ผู้คนกล้าออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ยอดขายหายไปเกือบครึ่ง เป็นอยู่อย่างนั้น 6 เดือนถึงเกือบปี หลังจากนั้นยอดขายก็ค่อยๆ กลับมาแต่อาจไม่ดีเท่าเดิม สิ่งที่เราเห็นเป็นเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการสั่งอาหารออนไลน์ ไม่ชอบรอคิว ไม่อยากเดินทาง เราสามารถปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้นได้ด้วยการเพิ่มร้านใหม่ๆ พัฒนาระบบการสั่งอาหารให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น มีทีมงานช่วยในการรับออร์เดอร์ รวมถึงมีระบบจัดเก็บข้อมูลการขาย ทำให้เรารู้ว่าลูกค้าชอบทานอาหารประเภทไหน และสามารถส่งมอบบริการที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด 

“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ต้องมีคนสั่งอาหารเยอะ แต่จริงๆ แล้ววันธรรมดา หรือวันทำงานต่างหากที่มียอดสั่งมากที่สุด โดยเฉพาะในโซนออฟฟิศที่สั่งเพื่อกินเป็นมื้อเย็น หรือสั่งเผื่อวันหยุด เพราะเมื่อถึงวันหยุด คนส่วนใหญ่ก็อยากออกไปกินข้าวนอกบ้าน ใช้เวลากับครอบครัว”

เป็นธรรมดาของการทำธุรกิจที่ย่อมมีคู่แข่ง แอพฯ ฟู้ดเดลิเวอรีหลายเจ้าแข่งขันกันเรื่องราคาและโปรโมชั่น ซึ่งท้าทายการทำงานของพวกเขาอย่างมาก

“สิ่งที่เรายึดมั่นในการทำธุรกิจคือ การรักษาจุดยืนเรื่องราคาและคุณภาพ ตอนนี้เราเริ่มต้นที่ราคา 20 บาท ถ้าคู่แข่งเข้ามาทำในราคาที่ต่ำกว่าก็คงทำได้ยาก แม้วันนี้จะไม่มีคู่แข่ง เราก็ต้องพัฒนาตลอดเวลา เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

“อีกอย่างเราก็ยังไม่ได้ดีขนาดนั้น ยังมีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องคุณภาพอาหาร การจัดส่งให้ตรงเวลา การหาลูกค้าใหม่ รักษาลูกค้าเดิม รวมถึงสร้างความพึงพอใจให้ทุกฝ่าย ทั้งพาร์ตเนอร์ ลูกค้า และร้านอาหาร” หฤษฎ์พูดถึงความเชื่อในการทำธุรกิจ

“ตอนนี้ผมให้คะแนนตัวเองอยู่ในเกณฑ์พอไปได้ ยังมีอะไรต้องพัฒนาอีกเยอะ” นัฐพงษ์สมทบ

ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา เพื่อโตไปด้วยกัน

การพาธุรกิจให้ไปต่อเพื่อให้อยู่รอดในยุคนี้เป็นเรื่องยาก สิ่งสำคัญที่พวกเขายึดถือมาตลอดจึงเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพราะพาร์ตเนอร์เองก็เป็นฟันเฟืองที่ขาดไม่ได้ของ PokPok ซึ่งแอพฯ อื่นจะเรียกว่าไรเดอร์ ซึ่งอาจจะให้ความรู้สึกเหินห่างกว่าคำว่าพาร์ตเนอร์ ที่เปรียบเหมือนคู่คิดและเพื่อนในการทำงาน

“ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับเราได้ ขอแค่มีใจรักงานบริการ มีรถยนต์ และพร้อมทำงาน เราพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน มีพาร์ตเนอร์เราหลายคนที่เข้ามาทำแล้วมีรายได้มากกว่าการทำงานประจำ มีคนที่ทำได้ 5,000 บาทต่อวัน แรกๆ ก็ทำคนเดียวแต่เมื่อมีรายได้มั่นคง ก็เริ่มชวนเพื่อนหรือคนในครอบครัวมาทำด้วย หรือบางคนถึงกับเปลี่ยนใหม่เลยก็มี

“ในฝั่งของร้านอาหาร หลายร้านที่เราไปคุยบอกว่า ออร์เดอร์ที่ได้จากเราเป็นจำนวนที่ไม่เคยได้มาก่อน เพราะถ้าสั่งจากแอพฯ ปกติ จะอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากร้าน แต่ลูกค้าที่มาจากเรามีทั้งบางนา ลำลูกกา หรือพุทธมณฑล ทำให้ร้านได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ เหมือนกับการขยายสาขาให้ร้านโดยที่ไม่ต้องเปิดสาขาเอง”

ในวันที่เราคุยกันนี้ PokPok เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 ถือว่ายังเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีแพชชั่นในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้แพลตฟอร์มเติบโตในแบบที่พวกเขาคาดหวัง

“อาหารเป็นเพียงจุดเริ่มต้น วันหนึ่งที่เติบโตขึ้น เราสามารถให้บริการรับ-ส่งสินค้าประเภทอื่นได้ ในอนาคตเรามีแผนขยายเส้นทางให้มากขึ้นจาก 40 เป็น 200 เส้นทาง โดยเป้าหมายของปีหน้าเราตั้งเป้าไว้ที่ 100 เส้นทาง โดยต้องตรงเงื่อนไขที่ว่า เส้นนั้นต้องมีร้านอร่อย คุ้มค่าคุ้มราคา หากทำได้เราก็พร้อมจะมุ่งสู่นอกกรุงเทพฯ”

นี่เป็นเรื่องราวของ PokPok สตาร์ทอัพไทยที่ไม่ใช่แค่ฟู้ดเดลิเวอรีรับ-ส่งอาหารทั่วไป แต่เป็นสื่อกลางระหว่างร้านอาหาร พาร์ตเนอร์ และลูกค้า ที่พร้อมส่งมอบของอร่อยและอีกหลากความเป็นไปได้ในอนาคตสู่ทุกครัวเรือน และสร้าง ecosystem ด้านอาหารอย่างครบวงจร

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like