ใจกล้า

JAIKLA แบรนด์ขนมหมาโปรตีนแมลงที่อยากเซฟโลกด้วยการสร้างคอมมิวนิตี้พ่อแม่หมาให้แข็งแรง 

บทสนทนาของเราวันนี้มีเสียงเห่าดังแทรกขึ้นมาเป็นระยะ

มันเป็นวันฟ้าครึ้ม แต่ใต้เงาร่มรื่นของโครงการ My Paws Backyard พื้นที่เพื่อคนรักหมาย่านรามอินทรา ขวักไขว่ไปด้วยเจ้าสี่ขาและผู้เป็นเจ้าของ บ้างก็กำลังฝึกน้องว่ายน้ำในสระ บ้างก็กำลังช้อปปิ้งไอเทมใหม่ในร้านขายของ และบ้างก็พาน้องมากินขนมที่ early yuyen คาเฟ่ที่เรากำลังนั่งรอใครบางคน (หรือตัวบางตัว) อยู่ด้านใน

ไม่นาน สมิง น้องหมาพันธุ์บีเกิลก็ปรากฏตัวพร้อมกับ โด่ง–อิทธิกร เทพมณี ผู้เป็นเจ้าของ เขาและ เพชร–พชรพล อัจฉริยะศิลป์ คือคู่หูผู้ก่อตั้ง JAIKLA แบรนด์ขนมหมาเพื่อความยั่งยืนที่เกิดขึ้นราว 5 ปีก่อน  

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น โด่งคือนักวิเคราะห์การลงทุน และเพชรคือที่ปรึกษาด้าน digital transformation ที่สนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอาหารส่วนเกินหรือ food surplus อีกจุดร่วมที่เหมือนกันคือทั้งสองล้วนเป็นพ่อน้องหมา 

จุดร่วมนี้เองทำให้สองเพื่อนรักมองเห็นโอกาสบางอย่างในตลาดที่ยังไม่มีใครเคยทำ นั่นคือขนมหมาที่ช่วยเรื่องความยั่งยืน

หากคุณรู้จัก JAIKLA อยู่แล้ว คงรู้ว่าแบรนด์ของพวกเขาเปิดตัวครั้งแรกในชื่อ LAIKA บิสกิตจากโปรตีนแมลง ที่โด่งกับเพชรปลูกฟาร์มเลี้ยงกันเอง พวกเขารับเศษอาหารเหลือจากโรงงานต่างๆ ทั่วไทยมาเป็นอาหารให้แมลงวันทหารสีดำ (black soldier fly) ซึ่งรุ่มรวยไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ก่อนแปรรูปแมลงเหล่านั้นให้กลายเป็นบิสกิตสำหรับน้องหมา บำรุงสุขภาพพร้อมกับรักษ์โลกไปพร้อมกัน 

“แค่ให้หมากินขนมก็ช่วยโลกได้แล้ว” คือปณิธานของ JAIKLA ที่ทั้งสองย้ำบ่อยๆ 

เวลาผ่านไปเข้าสู่ปีที่ 5 JAIKLA ลดปริมาณเศษอาหารส่วนเกินได้มากกว่า 500 ตัน แถมพวกเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น นอกจากโปรตีนแมลง JAIKLA ออกสินค้า plant-based อย่าง Dog Drinks เครื่องดื่มสำเร็จรูปสำหรับน้องหมา และขนมมันทอดญี่ปุ่นที่ไม่ว่าจะหมาหรือคนก็กินอร่อย 

JAIKLA ไม่ได้โดดเด่นแค่จุดขายหรือสินค้า สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือคำว่า ‘คอมมิวนิตี้’ ของน้องๆ และพ่อแม่ โด่งกับเพชรเชื่อว่า น้องหมาจะดึงดูดคนที่มีไลฟ์สไตล์และความสนใจคล้ายกันมาเจอกันได้ มากกว่านั้นคือ น้องหมาสามารถพาพ่อแม่ไปเปิดประสบการณ์ในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติใหม่ๆ และสร้างความรู้สึกอยากปกป้องโลกของเราได้ แม้สักนิดก็ยังดี

ในช่วงปีที่ผ่านมา เราจึงเห็น JAIKLA จัดกิจกรรมเล็กใหญ่ที่ชวนให้หลายคนออกนอกบ้านไปสู่ธรรมชาติ พาน้องหมามาวิ่งเล่นกับเพื่อนใหม่ เช่นเดียวกับพ่อแม่ของน้องหมาที่มาเจอคนคอเดียวกัน มีตติ้งของ JAIKLA นั้นฮอตมากถึงขนาดที่เปิดรับเมื่อไหร่ คนสมัครก็จะเต็มภายในไม่กี่ชั่วโมง

วันนี้ที่เราได้มานั่งคุยกับโด่งและเพชร จึงไม่ใช่การคุยเรื่อง JAIKLA ทำอะไรหรือมีสินค้าแบบไหนอีกแล้ว รอบนี้เราอยากอัพเดตเรื่องการเติบโตของธุรกิจ ความยากลำบากของการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน เทรนด์ของตลาดน้องหมาปัจจุบัน ไปจนถึงความสำคัญของการสร้างคอมมิวนิตี้ที่มีต่อธุรกิจ

แบรนด์เดินทางเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ในสายตาของคุณ JAIKLA เติบโตขึ้นยังไงบ้าง

โด่ง : ถ้าเป็นเรื่องผลประกอบการ เราโตขึ้นทุกเดือน ฐานลูกค้าของเรากว้างขึ้น เริ่มมีลูกค้าประจำ และมีสินค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เราไม่ได้ทำแค่ขนมจากโปรตีนแมลงแล้ว แต่ขยายไปสู่สินค้า plant-based ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความเชื่อของ JAIKLA เปลี่ยนไป เรายังอยากเป็น sustainable pet brand เหมือนเดิม

ช่วงที่ผ่านมา JAIKLA ทำงานกับลูกค้าทั้งในประเทศและนอกประเทศ อย่างปีที่ผ่านมาเราได้เข้าไปเป็น 1 ใน 10 สตาร์ทอัพในโครงการของ Hong Kong Science and Technology Park ซึ่งบอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะสินค้าของเราเป็นสินค้าที่วางอยู่แล้วขายด้วยตัวมันเองไม่ได้ มันมีเรื่องราวอยู่ข้างหลังเยอะ 

เป็นความท้าทายที่เราต้องใช้พลังและทีมทำให้มันเกิดขึ้น แต่เราไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่มีทรัพยากรมากมาย เลยอยากกลับมาโฟกัสตลาดไทยที่เรามองว่ายังมีโอกาสอยู่เยอะ

เพชร : ถ้าไม่นับเรื่องทีม เราคิดว่าเราเข้าใจหมา เข้าใจเพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) มากขึ้น เราเจอเพื่อนบางคนที่อาจไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเลย แต่เขาก็ทำบางอย่างที่ดีมาก ตั้งใจมาก บางอย่างเราก็นำมาปรับปรุงแบรนด์ JAIKLA ได้ด้วย 

แปลว่าทุกวันนี้ ความตั้งใจในการทำแบรนด์ของคุณก็ยังเหมือนเดิม

เพชร : แน่นอน ผมคิดว่าถ้าเราทำแค่แบรนด์ขนมหมา ผมว่าผมอาจจะไม่ได้อยู่ถึงตรงนี้ แต่กับ JAIKLA มันมีอิมแพกต์บางอย่างที่เราอยากสร้าง ทั้งเรื่องอาหารส่วนเกินที่นำมาอัพไซเคิลในอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องความยั่งยืนเท่าไหร่ ไหนจะเรื่องโปรตีนแมลงที่เราไม่แน่ใจว่าจะมีคนเข้าใจไหม แต่เวลาที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่ามีคนสนใจ 

เราโตมาเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้โตเร็วแต่โตอย่างยั่งยืน มันเป็นการบ้านของเราในขั้นต่อไปว่า เราจะทำยังไงให้คนได้ยินเรื่องราวของเราแล้วเขารู้สึกว่าชอบจัง อยากสนับสนุน จริงๆ จุดขายของ JAIKLA ไม่ได้มีแค่โปรตีนแมลง เรายังมีการสร้างคอมมิวนิตี้ที่เราอยากพาลูกค้าไปเจอธรรมชาติ เพราะเราเชื่อว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติจะปกป้องธรรมชาติ ซึ่งไม่ค่อยมีแบรนด์ที่พูดเรื่องนี้กัน

เจ้าของแบรนด์เพื่อความยั่งยืนหลายคนพูดคล้ายๆ กันว่า บางครั้งการเดินบนเส้นทางนี้และการพยายามจะสื่อสารเรื่องความยั่งยืนก็ทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย คุณเป็นแบบนั้นไหม และอะไรที่ทำให้อยากไปต่อ

โด่ง : ‘For Dogs and Our Planet’ ยังเป็นคำเดิมตั้งแต่วันที่เริ่มทำแบรนด์ สำหรับผม ผมอยากเปลี่ยนโลกผ่านพลังของน้องหมา อยากให้น้องหมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนเขาทำบางอย่างเพื่อส่วนรวมมากขึ้น อยากให้ JAIKLA สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ 

อาจเพราะผมเพิ่งมีลูกด้วย แต่ก่อนเคยได้ยินผู้ประกอบการพูดกันว่า ‘ผมอยากทำโลกให้ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นต่อไป’ ผมคิดว่าเขาพูดโคตรเท่เลย แต่โกหก ไม่เชื่อคุณหรอก แต่พอมีลูก บางครั้งมันก็ทำให้ผมคิดว่าเขาจะโตมาในโลกแบบไหน 

เพชร : เราพัฒนาสินค้าใหม่ให้มันดีกับโลกและสุนัขอยู่แล้ว แต่อีกส่วนที่ทำให้เราไปต่อคือ JAIKLA มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับลูกค้า เราเห็นว่าเขาเลี้ยงน้องหมาดี แล้วเขาก็ซัพพอร์ตเรามาก มันมีหลายโมเมนต์ที่เราเหนื่อยแต่พอมาเจอลูกค้าก็หายเหนื่อยเลย เพราะมิตรภาพ ความห่วงใยที่เขาให้เรา 

อย่างก่อนหน้านี้ JAIKLA เคยทำเสื้อผ้ากับ moreloop ลูกค้าบางคนก็ซื้อมาใส่ครบชุด ดูเป็นเจ้าของ JAIKLA มากกว่าผมอีก (หัวเราะ) ผมไม่คิดว่าจะมีคนที่ภูมิใจกับแบรนด์ได้ขนาดนี้ แต่เราดีใจที่ได้เห็นและมันเติมพลังให้เรามาก เพราะฉะนั้น สินค้าที่จะออกมาและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เราก็ต้องทำเต็มที่

การให้ความสำคัญกับลูกค้าและการสร้างคอมมิวนิตี้สำคัญกับแบรนด์ยังไง

เพชร : JAIKLA โตแบบออร์แกนิกมาก การที่จะโตแบบนี้ได้คือต้องมีใครสักคนไปช่วยบอกต่อ ซึ่งก็คือคอมมิวนิตี้ที่เห็นสิ่งที่เราตั้งใจทำและเอาไปแชร์ เราเลยอยากให้คอมมิวนิตี้ของเราแข็งแรง 

มี 2 คำที่เราพูดบ่อยคือ JAIKLA Hero หมายถึงลูกค้าของเราทุกคน ที่เราใช้คำว่า Hero เพราะเชื่อว่าน้องหมาเป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยง เขามีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกได้ อีกคำคือ JAIKLA Explorer กลุ่มลูกค้าของ JAIKLA ที่พาน้องหมาออกไปเที่ยวในที่ต่างๆ เพราะเราเชื่อว่าน้องหมาสามารถพาเพื่อนมนุษย์​ไปสำรวจ (explore) ธรรมชาติและปกป้องมัน 

มันเริ่มมาจากลูกค้า JAIKLA นี่แหละที่พาเราไปสำรวจธรรมชาติ แล้วเราก็เพิ่งรู้ว่า เฮ้ย หมาไปที่นี่ได้ด้วยเหรอ เฮ่ย ทำไมที่นี่มันสวยแบบนี้ หลายสถานที่เดินทางไปลำบากมาก ถ้าไม่มีหมาเราคงไม่ไปกัน แต่ถ้าหมาเราไปแล้วแฮปปี้ พ่อแม่ก็ยอมพาไป ลูกค้าของ JAIKLA เป็นแบบนี้เยอะ เราเลยอยากโฟกัสตรงนี้มากขึ้น 

โฟกัสยังไงบ้าง

เพชร : ก่อนหน้านี้เราจัด mini meet ในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เมืองนอกเขาจะให้คนมาเจอกันเพื่อพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราชวนลูกค้าเอาน้องหมามาเดินด้วยกัน กลายเป็นว่ามีหลายคนมาแล้วบอกว่าชอบจังเลยเพราะมาแล้วคุยกันสนุก เจอคนที่มีความสนใจเดียวกัน และได้เจอน้องหมาหลากหลาย หลังจากนั้นเราเลยมี mini meet เล็กๆ ระหว่างปี และช่วงสิ้นปีที่อากาศดีหน่อย เราก็อยากจัดงานที่ใหญ่ขึ้น

โด่ง : สำหรับผม คอมมิวนิตี้คือส่วนที่ทำให้ธุรกิจของเราแข่งขันได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ถ้าคอมมิวนิตี้ดีมันก็เกิดการสนับสนุน (advocate) กัน เพราะฉะนั้นถ้ามีคนรวมกันแบบนี้เยอะๆ คิดดูสิว่าโอกาสทางธุรกิจจะเกิดขึ้นขนาดไหน 

ข้อดีอีกข้อคือ ทุกวันนี้คนห่างจากธรรมชาติ พอห่างกันแล้วใครจะอยากปกป้องมัน และผมพูดบ่อยว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่ทำคนเดียวไม่ได้ เราก็ใช้กิจกรรมพวกนี้หลอกล่อให้พ่อแม่น้องหมาอยากออกไปเจอธรรมชาติ สิ่งที่เขาจะได้คือการเชื่อมสัมพันธ์กัน หนึ่งคือเชื่อมสัมพันธ์ตัวเขากับหมาของเขาเอง สองคือเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างหมากับหมาตัวอื่น สามคือเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน เขาจะได้รู้จักครอบครัว JAIKLA คนอื่นๆ ที่เป็นคนคล้ายๆ กัน สี่คือเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ 

สถานที่จัดมีตติ้งก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติบางอย่าง เช่น เขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี เป็นภูเขาที่โดนระเบิด หรือสวนพฤกษศาสตร์ระยอง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในแหล่งนั้น แต่ตอนที่เราไปมันแห้งแล้งมาก เจ้าหน้าที่ยังบอกเลยว่าไม่เคยแห้งแล้งขนาดนี้มาก่อน เราก็หวังว่านอกจากลูกค้าจะได้มาเที่ยว เจอเพื่อนใหม่แล้ว เขาจะได้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมมันมีผลกระทบยังไงบ้าง

นอกจากลูกค้าและน้องหมาแล้ว เห็นว่า JAIKLA ไปจับมือกับคนทำธุรกิจอื่นๆ หรือที่เรียกว่า Friends of JAIKLA เพื่อทำโปรเจกต์ร่วมกันด้วย ทำไมการร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งที่คุณสนใจ

เพชร : Friends of JAIKLA หมายถึงกลุ่มคนทำธุรกิจที่ดี น่าสนใจ หรืออาจเป็นร้านคาเฟ่ที่เอาสินค้าของเราไปขาย เราไม่อยากมองว่าเป็นแค่พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจแต่มองว่าเป็นเพื่อนกันมากกว่า เพราะบางทีมีจุดที่แชร์กันหลายเรื่อง บางครั้งไม่ได้พูดเรื่องธุรกิจกันอย่างเดียว เช่น ร้านบางร้านเขาทำมูลนิธิ หรือบางโรงแรมที่มีนโยบายให้น้องหมาเข้าไปพักได้ เราก็อยากเล่าเรื่องนี้ให้ลูกค้าของเราฟัง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เขาน่าจะสนใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Friends of JAIKLA เช่น บางโรงแรมที่เป็น pet-friendly นอกจากจะมี welcome drink ให้คนแล้ว เขาก็เอาขนมเราไปแจกเป็น welcome snack ให้น้องหมาด้วย ลูกค้าก็แฮปปี้ 

ในมุมของ JAIKLA พฤติกรรมของผู้บริโภค เทรนด์สินค้าน้องหมา และเทรนด์สินค้าเพื่อความยั่งยืนในตอนนี้ กำลังจะมุ่งไปในทิศทางไหน

โด่ง : ถ้าเป็นสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ผมว่าตลาดโตขึ้นนะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคืองาน Pet Expo ที่ผ่านมา ปีแรกๆ จัดในฮอลล์ 2 ฮอลล์ ล่าสุดคือ 4 ฮอลล์ แปลว่ามีความต้องการของลูกค้าและผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ แบรนด์ใหญ่ก็โตขึ้นแน่ๆ เพราะถ้าไม่โตเขาคงไม่ลงทุนมากขึ้น ในขณะที่แบรนด์เล็กก็มีการเติบโตขึ้นมากมาย อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือที่พักที่เป็น pet-friendly เปิดกันเยอะขึ้น 

เพชร : ส่วนผู้บริโภค หากอ้างอิงลูกค้า JAIKLA ส่วนใหญ่ก็เป็นคู่รักที่ไม่มีลูก มีรายได้สองทาง และมักเลือกเลี้ยงน้องหมาแทนลูก และเนื่องจากลูกค้า JAIKLA ชอบใกล้ชิดธรรมชาติ เขาก็จะมีการฝึกหมาอีกแบบหนึ่ง เลือกที่จะใช้เวลาของตัวเองกับหมาเยอะ และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้คือเลี้ยงหมาเด็กเยอะมาก 

โด่ง : ส่วนตลาดสินค้าเพื่อความยั่งยืน ในเวลาที่ผ่านมาผมเห็นเพื่อนๆ ผมหายไปเยอะ และยังไม่เห็นแบรนด์ที่เป็น top-of-mind ขึ้นมา ประเทศไทยเรายังไม่มีแบรนด์แบบ Patagonia ซึ่งผมอยากให้มีมาก เพราะเมื่อเรามีแล้ว มันจะทำให้น้องๆ คนทำธุรกิจได้เห็น วงการจะครึกครื้นเพราะเหมือนมีเคสที่ประสบความสำเร็จแล้ว 

7-8 ปีที่ผ่านมา หลายงานวิจัยบอกว่า sustainability เป็นเทรนด์ใหญ่ที่มันมาแน่นอน แต่ผมก็มีคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าจริงเหรอ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะ ตราบใดที่เรายังมีคำว่า Green Premium ลูกค้าต้องจ่ายพรีเมียมเพื่อผลประโยชน์ในอนาคตที่ทุกคนได้เท่าๆ กัน ผมว่ามันก็คงจะไม่ใช่การลงทุนที่เขาอยากจะจ่ายเพิ่ม 

จากเทรนด์ที่มองเห็น JAIKLA มีแผนจะปรับตัวยังไงต่อ

โด่ง : เราอยากนำเสนอเรื่องความยั่งยืนยังไงให้เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้ เราต้องชัดเจนกับตัวเองก่อนว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร ยกตัวอย่าง เราอยากไปสู่กลุ่มคนที่กว้างขึ้น เราจะเอาฮุกเดิมๆ มาใช้ไม่ได้แน่นอน เพราะมันอาจจะไม่มีใครฟังแล้ว เราอาจจะหาสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันเขามากกว่า

ตอนนี้ JAIKLA เพิ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการเพื่อสังคม (SE Thailand) โด่งชอบข้อความหนึ่งในหนังสือต้อนรับของสมาคมที่เขียนไว้ว่า ‘สิ่งที่เราทำโคตรเหนื่อยเลย แต่มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ’ ทำกันเองก็เหนื่อย เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่น ถ้าเราได้เรียนรู้อะไรเราแชร์เข้าไปให้เพื่อนเรา และเราเชื่อว่าเพื่อนๆ เราได้เรียนรู้อะไร เราก็จะได้เรียนรู้จากเขาเหมือนกัน

เพชร : เห็นด้วยกับโด่ง อย่างที่เราย้ำบ่อยว่าเรื่องนี้เราทำคนเดียวไม่ได้หรอก จริงๆ เราโทษผู้บริโภคไม่ได้ มันอยู่ที่ว่าเขาชอบรับการสื่อสารแบบไหน เราก็ต้องสื่อสารให้ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ JAIKLA ยังเรียนรู้อยู่

ขอขอบคุณสถานที่ ร้าน early yuyen ในโครงการ My Paws Backyard

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like