Fabric Specialist

moreloop แพลตฟอร์มส่งต่อผ้าเหลือใช้ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนเทียบเท่าขับรถรอบโลก 165 รอบ

ในแวดวงแฟชั่นยั่งยืนไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก moreloop

ไม่ว่าตอนไหนที่เรามีโอกาสไปนั่งคุยกับคนในวงการนี้ อย่าง SC GRAND แบรนด์สิ่งทอรีไซเคิลที่ส่งต่อแนวคิดรักษ์โลกมาตั้งแต่รุ่นยาย หรือ Loopers แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองสุดป๊อปปูลาร์ ชื่อของ moreloop ล้วนถูกกล่าวถึงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ย้อนกลับไปราวปี 2017 ในยุคที่คำว่าแฟชั่นยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนยังไม่คุ้นหู ชินปากคนไทย moreloop เกิดขึ้นในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางส่งต่อผ้าเหลือใช้ (หรือที่พวกเขาเรียกอย่างน่ารักว่า ‘ผ้าเหงา’) คุณภาพดีจากโรงงานหลายแห่งให้กับลูกค้า 

ความตั้งใจแรกของ ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ และอมรพล หุวะนันทน์ คืออยากตัดความเสียดายในใจเวลาที่เห็นผ้าเหลือจากการผลิตออกไป ทว่าความตั้งใจที่ใหญ่กว่านั้นคือการช่วยเซฟโลกใบนี้ผ่านการหมุนเวียนทรัพยากร

วันนี้ moreloop กำลังก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 6 เติบโตขึ้นทุกปี และมีผ้าเหงาที่รอเจ้าของในสต็อกกว่า 3,000 รายการ แพลตฟอร์มนี้ยังกลายเป็นขวัญใจของดีไซเนอร์หน้าใหม่หลายคน ที่สำคัญคือพิสูจน์ว่าธุรกิจสีเขียวนั้นไม่ได้ขายยาก ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่จะอยู่กับสังคมต่อไปอย่างยั่งยืน

บ่ายวันแดดดี เราจึงเดินทางมายังโรงงานผลิตเสื้อผ้าเก่าแก่ของธมลวรรณเพื่อคุยกันเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังของการทำแพลตฟอร์มที่คนในแวดวงทุกคนต้องรู้จัก

ผ้าเหลือ

ถ้า moreloop เปรียบได้กับเสื้อสักตัว ด้ายเส้นแรกของธุรกิจก็ถูกถักทอขึ้นเมื่อราว 5 ปีก่อน 

ในตอนนั้น ธมลวรรณคือทายาทรุ่นที่ 2 ของธุรกิจผลิตเสื้อผ้าส่งออกซึ่งมีอายุกว่า 30 ปี ส่วนอมรพลคืออดีตนักการเงินที่ตัดสินใจลาออกมาสร้างอะไรบางอย่างของตัวเอง

ตามประสาคนที่เติบโตมาพร้อมกับการผลิตเสื้อผ้า หญิงสาวมองเห็นความพิเศษของผ้าทุกผืนในโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เส้นใยคุณภาพดี มีคุณสมบัติเหนือกว่าเนื้อผ้าที่ขายกันทั่วไป ทุกครั้งที่เธอเห็นว่าผ้าเหล่านั้นมีส่วนเกินหลังผลิตเสร็จจึงอดเสียดายไม่ได้ 

“เพราะเรารู้ว่าเป็นผ้าดี กว่าจะได้มาสักผืนนั้นยาก รอนาน เวลาที่ไม่ได้ถูกใช้แล้วก็จะถูกด้อยค่าไวมาก ขายโละทิ้งบ้าง ชั่งกิโลขายบ้าง โรงงานไม่ได้สนใจว่าผ้าเนื้อดีแค่ไหนแต่นับเป็นของเหลือใช้ ต่อให้เราขายไปได้เป็นร้อยเป็นพันตัว เปอร์เซ็นต์ในการใช้ผ้าเหลือก็ไม่ได้ลดลง” 

หญิงสาวเท้าความถึง pain point สำคัญ แล้วแวะขยายความคำว่าผ้าเหลือหรือที่คนในอุตสาหกรรมสิ่งทอเรียกว่า ‘ผ้าเดดสต็อก’ ให้ฟังว่า ตอนได้ยินคำว่าผ้าเหลือหรือผ้าเดดสต็อก ภาพในหัวของหลายคนคือผ้าชิ้นเล็กๆ คล้ายเศษผ้า แต่จริงๆ มันคือม้วนผ้าธรรมดาที่ใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าทั่วไปนี่แหละ

“ในมุมโรงงานเอง โดยปกติเพื่อป้องกันระยะเวลาที่จะเสียจากการสั่งผลิตใหม่ เราจำเป็นต้องสั่งเผื่อ 3-5% เผื่อผ้าเสีย เผื่อตำหนิ เผื่อลูกค้าเปลี่ยนใจ อีกมุมหนึ่งคือบางครั้งเราต้องสั่งผ้าในจำนวนขั้นต่ำ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นว่ายังไงมันก็เหลือ 

“หากมองในแง่ธุรกิจ ผ้าเหลือเหล่านี้คือเงิน คือกระแสเงินสดของบริษัท ถ้าเราทำธุรกิจแปลว่ามันต้องมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ ดังนั้นอะไรก็ตามที่สามารถสร้างรายได้ให้องค์กร ในมุมนักธุรกิจเราทิ้งไม่ได้อยู่แล้ว อยู่ที่เราจะใช้ของเหล่านั้นยังไงให้มันสร้างสรรค์และตอบโจทย์ให้กับคนอื่น”

ประกอบกับตอนนั้น อมรพลที่เพิ่งเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพอยากทำมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ที่รวบรวมของเหลือจากโรงงานพอดี

“ในฐานะนักวิเคราะห์ เราเดินโรงงานมาค่อนข้างเยอะ เห็นว่ามีของเหลือในโรงงานมากมาย จึงตั้งต้นว่าอยากทำแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับจำหน่ายของเหลือในโรงงาน แต่จะเริ่มจากอุตสาหกรรมไหนก่อนดี” เขาครุ่นคิด

วันหนึ่ง ธมลวรรณซึ่งรู้จักอมรพลอยู่แล้วทักหาเขาเพื่อขอความรู้เกี่ยวกับมาร์เก็ตเพลส ชายหนุ่มจึงแชร์สิ่งที่สนใจให้หญิงสาวฟัง แล้วก็โป๊ะเชะ

“เฮ่ย ฉันมีสิ่งนั้น”

ผ้าเยอะ

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มของพวกเขาก็ไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ เพราะจะทำธุรกิจทั้งทีก็ต้องคิดให้รอบ

คำว่ารอบในที่นี้ ถ้าแปลว่า ‘รอบข้าง’ น่าจะตรงตัวที่สุด

“เราชวนพี่พลมาดูที่โรงงานเพื่อให้เห็นว่าผ้าเหลือมีหน้าตาเป็นยังไง ซึ่งจริงๆ pain point นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับโรงงานเราแค่โรงงานเดียว” ธมลวรรณย้อนเล่า

แต่ตามประสานักวิเคราะห์ อมรพลขอไม่เชื่อและไปหาคำตอบด้วยตัวเองก่อนว่า pain point นี้ใหญ่มากพอจะทำธุรกิจหรือไม่ ปรากฏว่าผลลัพธ์เกินความคาดหมายไปมาก

“เอาแค่ในประเทศ เรามีผ้าส่วนเกินประมาณ 350,000 ตัน เทียบเท่าการผลิตเสื้อได้ 700 ล้านตัวต่อปี และสามารถทำเสื้อผ้าคนไทยฟรีอย่างน้อย 10 ตัว” ชายหนุ่มเน้นเสียงหนักแน่น 

แต่ pain point ไม่ได้จบเพียงในโรงงานเท่านั้น 

หญิงสาวเล่าว่า “ในทางกลับกัน พอเราไปคุยกับน้องๆ ดีไซเนอร์แบรนด์ต่างๆ หลายคนอยากเป็นเจ้าของแบรนด์แต่เขาไม่ได้มีทุนมากพอที่จะซื้อผ้าขั้นต่ำตลอดเวลา เพราะการทำหนึ่งคอลเลกชั่น ถ้ามีเสื้อสีเดียวแบบเดียวอาจขายยาก บางคนอยากทำเป็นคอมพลีตลุค 

“ดังนั้น การที่เขายอมปรับดีไซน์มาใช้ของเหลือจากอุตสาหกรรม เท่ากับว่าเขาสามารถเริ่มต้นแบรนด์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า แถมยังมีโอกาสได้ใช้ผ้าที่มีคุณภาพระดับเดียวกับแบรนด์ส่งออก ซึ่งเขาก็ต้องเอาความคิดสร้างสรรค์และการพลิกแพลงมาแลกด้วยเช่นกัน”

ผ้าเหงา

เมื่อตลาดกว้างพอ moreloop จึงเกิดขึ้นในปี 2017 ในฐานะแพลตฟอร์มส่งต่อผ้าส่วนเกินคุณภาพดีที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างโรงงานกับผู้ซื้อ 

กระบวนการไล่เรียงได้เช่นนี้ พวกเขาเปิดรับข้อมูลและตัวอย่างผ้าจากหลายๆ โรงงานมารวมไว้ที่โรงงานของอมรวรรณ จากนั้นจะถ่ายรูปผ้าทุกผืนแล้วอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ ใครสนใจผ้าผืนไหนก็มาดูตัวอย่างได้ที่โรงงาน ก่อนจะตกลงซื้อ-ขายกัน

“ราว 5 ปีก่อน ตอนที่เราเริ่มนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะการสื่อสาร” ธมลวรรณย้อนความ “อย่าง moreloop เองเราจะพยายามไม่เรียกผ้าของเราว่าเศษผ้าหรือเดดสต็อก เพราะ dead แปลว่าตาย stock แปลว่าเก็บ ทั้งเก็บทั้งตาย คือคุณค่ามันไม่เหลือแล้ว เราจึงใช้คำว่าผ้าส่วนเกินหรือ surplus fabric ในยุคนั้น มั่นใจมากว่าเราเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เล่นคำพวกนี้

“แต่ตอนนี้เรามีชื่อใหม่ เป็นชื่อเล่นของผ้าเขาว่า ‘ผ้าเหงา’ เพราะน้องแค่เหงา ยังไม่ถูกใช้” หญิงสาวหัวเราะ

และจริงๆ แล้วชื่อ moreloop ไม่ได้มาแต่แรกด้วยซ้ำ พวกเขาเคยใช้ชื่อว่า waste space (พื้นที่ของเหลือ) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน นั่นเพราะหนึ่ง–การใช้คำว่า waste ทำให้วัตถุดิบถูกด้อยค่าตั้งแต่ยังไม่ซื้อขาย และสอง-ชื่อใหม่นี้สื่อถึงการหมุนเวียน (loop) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่พวกเขาวางไว้เป็นรากฐานของธุรกิจ

ในยุคนั้น คำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือแฟชั่นยั่งยืนยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก moreloop จึงนับว่าเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ผลักดันเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งการมาถึงของกระแส fashion revolution ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ทำให้พวกเขาก็ยิ่งโดดเด่นในฐานะตัวละครหลักในแวดวงแฟชั่นยั่งยืนไทย

“อะไรก็ตามที่เริ่มเป็นกระแส คนให้ความสนใจ มันมีโอกาสที่เราจะต่อยอดทางธุรกิจได้มากขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่เราคิดว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เทรนด์ ไม่ใช่เป็นแค่กระแส มันคือสิ่งที่มาแล้วไม่หายไปจนกว่าเราจะแก้ สิ่งที่น่าสนใจคือมีธุรกิจของน้องๆ รุ่นใหม่ที่เขาต้องมีเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหรือองค์กร แล้วมันจะถูกขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด” หญิงสาวย้ำ

ผ้าช่วยโลก

ปัจจุบัน moreloop รับตัวอย่างผ้าจากกว่า 70 โรงงาน และมีผ้าหลากหลายเกรดกว่า 3,000 หน่วยให้เลือกสรร ตั้งแต่ผ้าสำหรับตัดเสื้อเชิ้ต เสื้อยืด กางเกง ไปจนถึงเบาะเรือ

ที่ต้องมีเยอะขนาดนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าผ้าแบบไหนที่จะคัดเข้ามาในแพลตฟอร์ม 

“เพราะถ้าเราบอกว่าจะหมุนเวียนทรัพยากรแล้วมันไม่ควรจะมีกฎเกณฑ์” ธมลวรรณให้เหตุผล แล้วกระซิบบอกว่าหากจะมีข้อยกเว้น ก็คงเป็นแค่ผ้าบางผืนที่มีลายพิมพ์โลโก้ผิดลิขสิทธิ์เท่านั้น

หลากหลายไม่แพ้เนื้อผ้าคือลูกค้า ผู้ก่อตั้งทั้งสองบอกเราว่ามีตั้งแต่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า โรงแรม ลูกค้าที่ซื้อเอาไปประดิษฐ์ของกระจุกกระจิก อาทิ ห่วงรองเท้า หรือแม้กระทั่งคนจัดงานแต่งงานที่อยากได้ผ้าไปตกแต่งงาน 

ที่น่ารักก็คือทีมงาน moreloop ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นคู่ค้าแต่คือ Fabric Specialist ผู้เป็นเพื่อนคู่คิด

“เรามีทีมที่จะคอยแนะนำแบรนด์ต่างๆ ถ้าเขาอยากได้คำแนะนำ บางคนดีไซน์สินค้าขึ้นมาสักตัวแต่ไม่รู้ว่าผ้าแบบไหนจะเหมาะกับสินค้าของเขา เราก็ช่วยแนะนำประหนึ่งเป็นแบรนด์ตัวเอง” หญิงสาวบอก

และถึงจะเป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขายผ้าแต่ moreloop ก็ไม่ได้มีรายได้มาจากแหล่งเดียวเท่านั้น พวกเขายังมีบริการอัพไซเคิลที่เปลี่ยนผ้าเหล่านี้เป็นสินค้าให้กับองค์กรต่างๆ มากกว่านั้นคือผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ moreloop ของตัวเองด้วย 

“5 ปีที่ผ่านมา เราน่าจะใช้ผ้าเหงาไปกว่า 60,000 กิโลกรัม ประหยัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปด้วยจำนวน 870,000 กิโลคาร์บอนหรือเทียบเท่ากับการขับรถรอบโลก 165 รอบ” อมรพลเผยสถิติที่ทำให้เราทึ่ง

ผ้าช่วยเรา

ผู้ก่อตั้งทั้งสองบอกว่า  ในยุคที่คำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนและแฟชั่นยั่งยืนอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป สิ่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนความตั้งใจแต่ยิ่งตอกย้ำให้พวกเขาเชื่อในสิ่งที่ทำ 

“vision ที่เรายึดถือมาตั้งแต่วันแรกคือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริง คำว่าจริงในที่นี้คือเป็นธุรกิจได้จริง ทำกำไรได้จริง เติบโตได้จริง และสเกลบริษัทได้จริง ซึ่งปัจจุบันเราทำเป็นธุรกิจที่มีกำไรได้จริงแล้ว เติบโตปีละ 20-30% นั่นหมายความว่ากลไกนี้สามารถที่จะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่เราอยากทำต่อจากนี้คือเราจะสเกลธุรกิจยังไงให้ได้ 5-10 เท่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า นั่นคือโจทย์ในอนาคตอันใกล้” อมรพลบอก

“moreloop ทำให้เราได้เรียนรู้เยอะมากในฐานะผู้ประกอบการที่พยายามจะสร้างอะไรบางอย่าง สร้างสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้สร้าง moreloop อย่างเดียวแต่ moreloop สร้างเราด้วย แบรนด์นี้ทำให้เราฝึกรับฟัง มีวินัย พัฒนาตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญมันช่วยตอบคำถามในชีวิตของเราที่เราสงสัยว่า เราเกิดมาครั้งหนึ่งแล้วเราจะสร้างอะไรให้โลกในเวลาที่เรามีเหลืออยู่ได้ไหม การทำแบรนด์นี้ตอบคำถามนั้น” ชายหนุ่มเน้นเสียง ก่อนหญิงสาวจะเสริมต่อว่า

“moreloop ทำให้เรามองลูกค้าเปลี่ยนไป มันเปลี่ยนจากการที่เราผลิตตามสั่งให้กลายเป็นคนให้คำแนะนำได้ ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการทำงานมากขึ้น สุดท้ายคือทำให้โรงงานเล็กๆ ของเราได้รับการมองเห็น แล้วสิ่งนี้ไม่ได้มีแค่เราเท่านั้นที่รู้สึกดีแต่พนักงานของเราที่อยู่กับโรงงานเรามานานเขาก็รู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่เขาทำด้วยเช่นกัน”

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like