Love Moments Creator

OMG Matchmaking ออร์แกไนเซอร์สปีดเดตติ้งที่อยากเป็นผู้สร้างโมเมนต์ของการรู้จักกัน

หากพูดถึงการไปอีเวนต์ออกเดต ในสมัยก่อนหลายคนอาจนึกถึงการนัดบอดหรือคลุมถุงชนที่ให้ความรู้สึกเขินอายและจริงจัง ยุคนี้การหาคู่มีทางเลือกใหม่คล้ายการไปงานเน็ตเวิร์กกิ้งที่เปิดกว้างมากขึ้นและอาจทำให้คนโสดหายประหม่าและสนุกในการได้รู้จักเพื่อนใหม่  

OMG Matchmaking เป็นออร์แกไนเซอร์จัดงานสปีดเดตติ้ง (Speed Dating) ในไทยที่นิยามตัวเองกว้างกว่าผู้จัดงานออกเดตแต่เป็น matchmaker ที่อยากสร้างโอกาส บทสนทนาและโมเมนต์แห่งความประทับใจในการรู้จักกันระหว่างคนแปลกหน้า

ยีน–อินทิรา โสภากุล และ พลอย–ไพลิน เกริกพิทยา เชื่อว่าอีเวนต์เป็นทางเลือกตรงกลางที่ช่วยแก้ pain point ในตลาดหาคู่ที่มีช่องว่างระหว่างการปัดขวาในแอพพลิเคชั่นบนโลกออนไลน์กับการจ้างบริษัทหาคู่อย่างจริงจังที่มีราคาสูง

ทั้งคู่เริ่มจัดสปีดเดตติ้งครั้งแรกราวเดือน 7 ปีที่แล้วและจัดครั้งล่าสุดช่วงพรีวาเลนไทน์ในกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นครั้งที่ 7 โดยเห็นโอกาสจากกระแสความนิยมของงานสปีดเดตติ้งที่ต่างประเทศและอยากจัดงานอีเวนต์แบบนี้อย่างต่อเนื่องในไทยเพื่อให้คนโสดมีโอกาสรู้จักกันและสานสัมพันธ์กันต่อมากขึ้น

ชวนฟังเรื่องราวการจัดงานสปีดเดตติ้งในวันที่เริ่มมีคนให้ความสนใจและยังไม่ค่อยมีผู้จัดอีเวนต์แนวนี้ในไทยมากมายนัก

คุณเริ่มรู้จักสปีดเดตติ้งครั้งแรกได้ยังไง 

ยีน : ส่วนตัวยีนโสด ไม่อยากทำงานอย่างเดียวแล้วเงยหน้ามาอีกทีพบว่าเลยวัยมีความรักแล้ว ตอนไปเที่ยวต่างประเทศเราเห็นงานสปีดเดตติ้งเลยลองไปดู พอไปนั่งในอีเวนต์แล้วรู้สึกว่าดีจัง มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมงานที่เป็นคนมีคุณภาพมาในระดับหนึ่ง คุยกับหลายคนแล้วสนุก ได้เรียนรู้คนใหม่ๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ ว่าเขาใช้ชีวิตยังไง มีมุมมองยังไง ได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากันไม่เฉพาะกับเพศตรงข้ามเท่านั้น กับเพศเดียวกันที่เป็นผู้เข้าร่วมงานก็ได้คุยกันระหว่างเบรก ตอนนั้นมองเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ไปเที่ยวแล้วอยากลองแวะไปเพราะอยากรู้ว่ากิจกรรมแนวนี้เป็นลักษณะไหน ไม่ได้ตั้งใจไปศึกษาดูงานจริงจัง 

ในต่างประเทศสปีดเดตติ้งเป็นที่นิยมแค่ไหน รูปแบบงานเป็นยังไง 

ยีน : นิยมจัดในหลายประเทศทั่วโลกทั้งอเมริกา อังกฤษ ฯลฯ หลายประเทศในเอเชียก็เริ่มจัดกันมากขึ้น เป็นกิจกรรมที่คนต่างชาติกำลังให้ความสนใจมากโดยเฉพาะที่ออสเตรเลียจะป๊อปปูลาร์เป็นพิเศษ หลายเมืองจัดกันทุกวันและทุกเดือนเพราะมีดีมานด์มากและบัตรเต็มเร็ว งานแบบนี้ที่เมืองนอกมักจัดสำหรับชายหญิงโดยกำหนดธีมงานด้วยช่วงอายุ พอมีผู้ให้ความสนใจมากและหลากหลายก็สามารถกำหนดช่วงอายุของผู้ร่วมงานได้ คนสูงวัยที่เมืองนอกเขาก็ยังอยากรู้จักคนใหม่ๆ อยู่ 

คุณคิดว่าอะไรทำให้คนต่างชาติเปิดกว้างในการทำความรู้จักกันจนอีเวนต์แนวนี้เป็นที่นิยม 

ยีน : ยีนกับพลอยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม meet up ที่ได้ทำความรู้จักคนใหม่ๆ หลายครั้ง พบว่าถ้าเป็นคน expat ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหม่ เขาจะคิดว่าทำยังไงให้ได้รู้จักกับคนท้องถิ่นหรือคนที่มาจากต่างประเทศเหมือนกันเลยพยายามสร้างสังคมใหม่ แต่ส่วนใหญ่คนไทยมักติดอยู่ในวงสังคมปิดที่รู้จักกันอยู่แล้ว นานๆ ทีถึงออกไปทำความรู้จักคนใหม่ คิดว่าไม่ใช่เพราะต่างชาติเปิดรับงานสปีดเดตติ้งมากกว่าแต่เป็นเพราะวัฒนธรรมของเขาค่อนข้างเปิดกว้างอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้คนไทยก็เริ่มอยากคอนเนกต์กันมากขึ้นแต่ก็ยังเป็นช่วงเริ่มต้น พื้นฐานนิสัยของเราต่างจากเขา 

มองว่าสปีดเดตติ้งในไทยอยู่ในระยะแรกเหมือนแอพฯ หาคู่ที่เริ่มจากกลุ่มคน outgoing ให้ความสนใจก่อนแล้วจะค่อยๆ ขยายวงกว้างจนแมสมากขึ้นในเวลาต่อมา ตอนนี้คนเพิ่งเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นหลังโควิด-19 จากที่หลายคนบอกว่า work from home ทำให้ไม่ได้เจอคนใหม่ๆ เลย 

แล้วทำไมพวกคุณถึงอยากเป็นผู้จัดอีเวนต์เองในไทย

ยีน : ยีนกับพลอยเคยไปงานสปีดเดตติ้งในไทยมาแล้ว ครั้งนั้นเป็นอีเวนต์พิเศษที่ไม่ได้จัดประจำแต่ไปแล้วไม่รู้สึกได้แรงบันดาลใจกลับมาเท่าไหร่ ตอนนั้นเรามีปิ๊งอยู่ 1-2 คน แต่พอกลับจากงานแล้วเขาไม่ได้ส่งคอนแทกต์มาให้ เราเลยมีคำถามว่าแล้วยังไงต่อ ปรากฏว่าที่จริงต้องแลกคอนแทกต์กันเองในงานแต่เราไม่รู้ทำให้ไม่ได้ทำความรู้จักต่อ 

หลังจากไปงานแบบนี้ที่ต่างประเทศแล้วเห็นการจัดงานที่เป็นระบบมากขึ้นเลยทำให้รู้สึกว่าเราน่าจะจัดกันเองได้ดีกว่านี้ที่ไทย มันเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับคนโสดซึ่งในไทยก็มีจำนวนคนโสดเยอะและยังไม่มีงานสปีดเดตติ้งที่จัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง มีเฉพาะช่วงวาเลนไทน์ที่นานๆ ทีจัดเป็นครั้งคราว เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ เราอยากทำอีเวนต์ที่มีธีมสร้างสรรค์กว่าเมืองนอก หลังกลับจากไปสปีดเดตติ้งที่ต่างประเทศเลยโทรชวนพลอยมาทำด้วยกัน  

งานอีเวนต์แบบสปีดเดตติ้งช่วยแก้ pain point ของตลาดหาคู่ในไทยยังไง 

ยีน : ก่อนมาทำเราสำรวจตลาดหาคู่ว่ามีอะไรที่ตอบโจทย์คนโสดบ้าง พบว่ามี 2 อย่างเป็นหลัก หนึ่งคือแอพฯ หาคู่ที่ทุกวันนี้แมสกว่าช่วงแรกมาก ใครก็มาเล่นได้ทำให้เจอกับคนหลากหลาย แต่กลับรู้สึกว่าโอกาสในการเจอคนที่มี same page กับเรายาก สองคือบริษัทหาคู่อย่างจริงจังที่มีเรตราคาพรีเมียมมาก เรามองว่าสปีดเดตติ้งเป็นตรงกลางระหว่างแอพพลิเคชั่นกับบริษัทหาคู่ที่ตอบโจทย์ช่องว่างตลาด

กติกาของสปีดเดตติ้งเป็นยังไง 

พลอย : ตอนเปิดรับสมัครจะมีการสอบถามมุมมองของผู้ร่วมงาน เช่น มองหาความสัมพันธ์แบบไหนเพื่อเอามา pre-match หรือจับคู่ให้ล่วงหน้าสำหรับคู่ที่จะคุยกันเป็นคู่แรกในงาน ในวันงานจะเริ่มต้นด้วยการบรีฟอธิบายกระบวนการทั้งหมดของกิจกรรม ต่อด้วยเกม Ice Braking เพื่อให้ผ่อนคลายในการทำความรู้จักกัน จากนั้นก็เริ่มเดตกันโดยแต่ละคู่มีเวลาคุยกัน 4-5 นาที หลังจากนั้นฝ่ายชายเป็นฝ่ายเวียนสลับคู่ วนไปเรื่อยๆ จนครบทุกคู่ 

ระหว่างการคุยถ้ารู้สึกสปาร์ก อยากขอคอนแทกต์กันเองเลยก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าใครเขินอาย เรามีกระดาษ OMG การ์ดให้สำหรับติ๊กว่าถูกใจใคร ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างติ๊กถูกใจกันและกันเท่ากับ แมตช์! เราจะส่งคอนแทกต์ให้เฉพาะคู่ที่ใจตรงกันเท่านั้น ถ้าติ๊กฝ่ายเดียวก็ไม่ให้คอนแทกต์  

ทำไมต้องเป็นระยะเวลาที่สั้นแค่ 4-5 นาทีในการทำความรู้จักคนคนหนึ่ง 

ยีน : เราทำรีเสิร์ชมาว่าช่วงเวลาที่ทำให้คนตกหลุมรักกันได้คือภายใน 4 นาที ความจริงบางที่จะบอกว่าแค่จ้องตากัน 7 วินาทีก็ถูกใจกันได้แล้วโดยไม่ต้องมีบทสนทนาเลยก็ได้ด้วยซ้ำ แต่จ้องตาอาจจะน่ากลัวไปนิดนึง (หัวเราะ)

‘ความเร็ว’ ในการได้สนทนากับผู้คนมากมายภายใน 1 คืนส่งผลดีต่อการทำความรู้จักกันยังไง 

ยีน : ทำให้ได้รู้จักคนหลายแบบ สมมติเราไปเล่นแอพฯ หาคู่ กว่าจะได้เดต กว่าจะออกมาเจอตัวคุยกัน อย่างมากเต็มที่ไป 2 เดตก็เยอะแล้ว ทางเลือกเราจะมีแค่คนคนนั้น พอมาอีเวนต์แบบนี้ได้รู้จักอย่างน้อย 15 คนทำให้ได้เรียงลำดับความสำคัญในใจเราว่าชอบหรือไม่ชอบสเปกแบบไหน ไม่ใช่แค่ได้รู้จักคนอื่นมากขึ้นแต่ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย 

พลอย : การที่ได้คุยกับคนตั้งสิบกว่าคนแต่สุดท้ายจำได้แค่ 1-2 คนที่ชอบจริงๆ พลอยคิดว่ามันทำให้ชัดเจนในความรู้สึกมากขึ้นว่าเป็นคนนี้แหละที่เราอยากรู้จักต่อ การเล่นแอพฯ หาคู่ใช้เวลาคุยนานและต้องทิ้งเวลาไว้กว่าจะได้ศึกษากัน บางคนอาจเบิร์นเอาต์กับมันได้ การที่เรามาสปีดเดตติ้งทำให้ได้เจอกันและคุยกันตัวเป็นๆ ได้รู้ ณ ตอนนั้นเลยว่าเคมีได้หรือเปล่า ตัดสินใจได้ง่ายกว่าว่าคนนี้คือคนที่เราอยากคุยต่อไหม คิดว่าอีเวนต์ทำให้รู้จักคนคนหนึ่งได้ดีกว่าการเล่นแอพฯ

ในฐานะคนจัดงาน คุณออกแบบประสบการณ์ในงานยังไงให้คนทำความรู้จักกันโดยไม่เคอะเขิน

พลอย : เราพยายามทำให้บรรยากาศเฟรนด์ลี่ที่สุดเหมือนพาเพื่อนของเพื่อนมาเจอกัน ทั้งชวนคุย แนะนำให้คนมาทำความรู้จักกัน มีกิจกรรมให้รู้สึกผ่อนคลาย สุดท้ายทุกคนจะพูดคล้ายกันว่าตอนแรกที่มารู้สึกเกร็งหน่อย แต่หลังจากได้เจอเพื่อนใหม่แล้วรู้สึกสนุกดีที่ได้คุยกัน 

ยีน : คอนเซปต์หลักคือการคิดว่าจะทำยังไงให้คนทักกันและได้เริ่มต้นบทสนทนากับคู่แรกของตัวเอง เช่น มีเกมภารกิจให้ไปตามหาคนหรือหาของตามคุณสมบัติที่ระบุ ปรับและเปลี่ยนเกมไปเรื่อยๆ แล้วแต่กิจกรรม  

มีวิธียังไงในการสนับสนุนให้ผู้ร่วมงานสามารถสนทนากับคนแปลกหน้าได้อย่างไหลลื่น

พลอย : เราจะมีแผ่นไอเดียชวนคุยวางประจำไว้ที่โต๊ะ มีคำถาม 2 ชุด คือคำถามที่ให้ทำความรู้จักกันแบบ fun way สำหรับคุยเล่นกัน ตัวอย่างคำถามเช่น คุณนอนกับหมอนกี่ใบ คุณชอบทำอะไร ชอบ hang out ที่ไหน ถ้าต้องกินอาหารมื้อเดียวไปตลอดชีวิตจะเลือกกินอะไร และอีกแบบคือ quick way ที่ทำให้รู้จักตัวตนของอีกฝ่ายได้เร็วขึ้น เป็นแนวกึ่งจิตวิทยานิดหน่อย ไม่ใช่คำถามที่ลึกมากแต่ช่วยให้ตกตะกอนความคิด เช่น ถ้าตื่นขึ้นมาในวันหนึ่งแล้วสามารถเลือกพลังวิเศษได้หนึ่งอย่างจะเลือกอะไร 

คำถาม small talk เหล่านี้ส่งผลดีต่อการรู้จักกันยังไง 

ยีน : เวลามีคนเปิดว่าชอบกินซูชิหรืออาหารญี่ปุ่น มันทำให้ต่อบทสนทนาไปได้ว่าชอบกินที่ไหน เราอาจเริ่มจากคำถามทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวมาก บางทีการเริ่มถามคนแปลกหน้าว่ามองหาอะไรในความสัมพันธ์อาจลึกเกินไปเพราะมีเวลาคุยกันแค่ 5 นาทีเอง คำถามอย่าง ‘คุณคิดว่าสีอะไรที่อธิบายความเป็นคุณมากที่สุด’ มันทำให้รู้จักอีกคนลึกมากขึ้นแบบสนุก ถ้าอยู่ดีๆ ให้มาเล่าว่าเราเป็นคนยังไงก็คงบอกไม่หมด

หรือบางทีไม่รู้จะคุยอะไรกับคนตรงหน้าดีในเวลาที่สั้น คำถามเหล่านี้จะเป็นไอเดียว่าอยากทำความรู้จักอีกฝ่ายในแง่มุมไหนต่อดีและทำให้มีเรื่องคุยมากขึ้น ถ้านึกอะไรไม่ออกก็หันไปดูโพยสักหน่อย บางคำถามก็ทำเป็นคอนเทนต์ในโซเชียลก่อนเริ่มงาน ให้ลองนึกเรื่องที่อยากชวนคุยมาก่อนได้ 

อยากสร้างโมเมนต์แบบไหนให้ผู้ร่วมงาน 

ยีน : เวลาแต่ละคนเจอกัน คนเราจะรู้สึกคอนเนกต์กันด้วยโมเมนต์ที่แตกต่างกัน มีทั้งช่วงเวลาที่รู้สึกขำ น่ารัก หรือสนุก กับคนหนึ่งเราอาจรู้สึกว่า ‘อุ๊ย น่ารักจังเลย’ กับอีกคนอาจสังเกตเห็นว่า ‘ยิ้มสวยดีนะ ’ เป็นความแตกต่างเหมือนฟองบับเบิลที่มีรูปทรงและดีกรีความเข้มข้นของความรู้สึกที่ต่างกันแต่เราเชื่อว่าทุกคนล้วนมีพลังที่จะเป็น OMG Moment ให้ใครอีกคนได้ ไม่อยากให้ทุกคนที่มารู้สึกกดดันว่าต้องได้ความสัมพันธ์ที่จริงจังกลับไป เราอยากสนับสนุนให้คนที่ไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์หรือแม้แต่คนที่อยากทำความรู้จักคนใหม่ๆ ได้มีโอกาสเข้ามาทำความรู้จักเพื่อนใหม่

อยากให้ผู้ร่วมงานตั้งความคาดหวังกับคู่เดตไว้แบบไหน 

ยีน : บางทีเวลาปัดแอพฯ หาคู่ เราจะมีภาพในหัวว่าอยากเดตแค่กับคนที่มีคุณลักษณะในแบบที่เราชอบเท่านั้น แต่พอเป็นสปีดเดตติ้งมันเปิดกว้างกว่า เราไม่ได้แชร์ให้เห็นก่อนว่ามาถึงแล้วคุณจะเจอใครบ้างแต่เราสกรีนผู้ร่วมงานมาให้ พอมาเจอกันกลายเป็นได้เริ่มต้นรู้จักกันจากบทสนทนาจริงๆ บางคนไม่มีโอกาสเจอคนที่ทำอาชีพนี้มาก่อนก็เป็นการพาเขาออกมาจากวงสังคมเดิม

พลอย : บางคนเลือกคุยกันต่อหลังจากวันงานเพราะรู้สึกดีและสปาร์กจากวันนั้น แต่ถ้าถามว่านี่คือสเปกของเขาไหมก็ไม่ใช่ อาจจะเจอคนที่เซอไพรส์เราจากการคุยกันตอนที่ไม่ได้ตั้งความคาดหวังเอาไว้ เราไม่ได้ตั้งธงว่าทุกคนต้องได้เป็นแฟนกัน แค่พาคนที่โสดและคนที่มองหาในสิ่งเดียวกันมาเจอกัน คุณอาจกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันหรือเป็นคอนเนกชั่นในอนาคต ถ้าโชคดีได้เจอคนที่ลงเอยคู่กันได้ก็ถือเป็นเรื่องราวที่ดีไป 

ถ้าไม่จำเป็นต้องได้แฟน แล้วสปีดเดตติ้งแตกต่างจากงานอีเวนต์เน็ตเวิร์กกิ้งในรูปแบบอื่นยังไง 

ยีน : ที่ต่างประเทศมีกิจกรรมที่ให้คนคอนเนกต์กันหลายรูปแบบ ถ้าเป็นงานเน็ตเวิร์กกิ้งเราต้องเป็นคนเดินไปทักเขาเอง ขนาดยีนเป็น extrovert ที่ชอบรู้จักเพื่อนใหม่บางทีเรายังรู้สึกว่าต้องเดินไปทักเขาอีกแล้วเหรอ แต่พอเป็นกิจกรรมรูปแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าได้คุยกับทุกคนโดยอัตโนมัติ ไม่รู้สึกเกร็งจนเกินไปที่จะมางานแบบนี้ ต่อให้บางคนรู้สึกว่าไม่รู้จะคุยอะไรกันดีภายใน 5 นาที แต่พอถึงช่วงจับเวลาให้คุยกัน ทุกคนเหมือนลงเรือลำเดียวกันและช่วยกันคุยไปเอง

สำหรับคุณ มองว่าแค่ไหนถึงเรียกว่า แมตช์! ต้องรู้สึกแค่ไหนถึงควรติ๊กถูกใจเพื่อขอคอนแทกต์กลับบ้านไปคุยต่อ

ยีน : สำหรับลูกค้าที่มาอีเวนต์ของเราซ้ำหลายครั้ง พบว่าคนที่มาครั้งแรกมักจะไม่ติ๊กถูกใจในการ์ดถ้าไม่รู้สึกชอบจริงๆ แต่ยีนพยายามเชียร์ว่าถ้าในจังหวะที่เราสั่นกระดิ่งเป็นสัญญาณว่าหมดเวลาคุย แล้ววินาทีนั้นคุณรู้สึกว่าเวลาหมดเร็วจังหรืออยากคุยกับคนนี้ต่อ ที่จริงแบบนี้ก็ควรติ๊กแล้วนะ บางทีแค่ 5 นาทีสำหรับบางคนอาจยังไม่เกิดสปาร์กหรือยังไม่รู้สึกว่าเป็นสเปกของกันและกันแต่ถ้าเคมีเข้ากันได้แปลว่าน่าทำความรู้จักกันต่อ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกใช่ตั้งแต่แรกหรือคิดว่าต้องคบคนนี้เป็นแฟนเท่านั้นถึงจะติ๊ก

ตอนอธิบายกิจกรรมเราจะบอกไว้ตั้งแต่แรกว่า ทุกคนควรติ๊กถูกใจในกระดาษ OMG การ์ดนะ ถ้าคุณไม่ติ๊กจะไม่ได้คอนแทกต์กลับไปซึ่งมันช่วยตั้งความคาดหวังของผู้ร่วมงานด้วยว่าวันนี้อาจไม่จำเป็นต้องได้เฉพาะความสัมพันธ์ที่จริงจังกลับไปอย่างเดียว อาจเป็นเพื่อนใหม่หรือคอนเนกชั่นใหม่ก็ได้  

ตอนจับคู่แรกให้ผู้ร่วมงาน (pre-match) มีวิธีเลือกคนที่น่าจะเหมาะกันยังไง  

ยีน : เราแมตช์คนจากสิ่งที่เหมือนกัน แบบสอบถามตอนที่กรอกสมัครมีไว้เพื่อเช็กความสนใจเบื้องต้น ทั้งกิจกรรมที่ชอบ คุณค่าที่ให้ความสำคัญในชีวิตและสิ่งที่มองหาในฝ่ายตรงข้ามโดยเป็นคำถามปลายเปิดให้เขียนตอบสั้นๆ เราพยายามกะเทาะคำตอบของแต่ละคนออกมาเพื่อตามหาคู่ที่เอามาอยู่ด้วยกันแล้วน่าจะเข้ากันและเหมาะกันที่สุด 

พลอย : อย่างเช่นมีคนหนึ่งบอกว่าสิ่งที่เขาให้คุณค่ามากที่สุดคือครอบครัว ตามมาด้วยงาน
ในขณะที่อีกคนก็บอกว่าสิ่งที่ให้คุณค่าที่สุดเป็นอันดับแรกคือครอบครัวเหมือนกัน อย่างที่สองเป็นเพื่อน
เวลาคนสองคนให้คุณค่าในสิ่งเดียวกัน เราก็จับเขามาคู่กัน หรือคำถามเช่นสิ่งที่มองหาจากแฟนของคุณคืออะไร ฝั่งผู้ชายตอบว่าอันดับแรกคือความซื่อสัตย์ รองลงมาคือการมีเวลาให้ ส่วนผู้หญิงบอกว่าสิ่งที่ต้องการที่สุดคือความเชื่อใจ เคสนี้ก็จับคู่กันได้ 

ยีน : หลังงานจบพอได้ลองรู้จักครบแล้วก็มาเช็กว่าชอบใคร ชอบคนแรกที่เราจับคู่ให้มากที่สุดไหมหรือชอบคนอื่นมากกว่า

ผลออกมาเป็นยังไง คนส่วนใหญ่รู้สึกคอนเนกต์กับคู่แรกที่เราจับคู่ให้ไหมหรือไปชอบคนอื่น  

ยีน : เนื่องจากแต่ละคนไม่ได้ถูกลิมิตว่าติ๊กถูกใจได้แค่คนเดียว จะเลือกกี่คนก็ได้ ผลออกมาก็เป็น
50 : 50 คือครึ่งหนึ่งจะถูกใจคู่แรกที่เราจับคู่ให้ อีกครึ่งหนึ่งก็จะไปถูกใจคนอื่น

เหตุผลที่เลือกถูกใจได้หลายคนเพราะอะไร 

ยีน : หลักการคล้ายแอพฯ หาคู่ที่สามารถกดไลก์คนที่เราอยากรู้จักต่อได้หลายคน เรื่องความสัมพันธ์เราก็ไม่รู้เนอะ บางทีเราอาจต้องลองคุย 5 คนถึงจะเจอคนที่ใช่ ตอนจัดงานครั้งแรก มีคนหนึ่งที่ติ๊กถูกใจหลายคน ผลออกมาคือแมตช์ไป 3 คู่ พอออกเดตจริงเหมือนได้คัดกรองคนที่เข้ากับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น คุยแล้วรู้สึกว่าคนนี้เด็กไป หรือรู้สึกชอบคนอีกไทป์มากกว่า มันคือการได้ไปศึกษากันต่อ 

มีวิธีสร้างบรรยากาศให้สปาร์กกันยังไง

ยีน : เหมือนเลือกร้านเวลาไปเดตเลย เราจะพยายามเลือกร้านที่มีความโรแมนติกและมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไฟไม่สว่างมาก เพลงและบรรยากาศต้องได้ เข้ามาแล้วรู้สึกน่าออกเดต ไม่จัดใน co-working space ที่บรรยากาศไม่เป็นใจ ค่อนข้างลงรายละเอียดในการเลือกร้าน การจัดโต๊ะต้องไม่เรียงติดชิดกันหมด ควรมีโซนพื้นที่ส่วนตัวด้วย

พลอย : ควรเลือกร้านที่มีเมนูอาหารขายเพราะส่วนใหญ่คนมักอยากนั่งชิลและทำความรู้จักกันต่อหลังงานจบ ที่ผ่านมาก็มีทั้งแบบนั่งคุยเป็นกลุ่มแบบเพื่อนกลุ่มใหญ่หรือคุยเป็นคู่ๆ

ยีน : คล้ายออกมาทำกิจกรรมกันแล้วมี after party ที่เราจะแจ้งผู้ร่วมงานทุกคนว่าหลังงานจบมีไปนั่งดื่มกันต่อนะ ถ้าใครไม่รีบไปไหนก็สามารถอยู่ hang out กันต่อได้ บางทีผู้จัดงานกลับแล้วเขาก็ยังอยู่ต่อกัน บางกลุ่มก็นัดไปทานข้าวกันเป็นแก๊งด้วย 

ธีมการออกเดตกลุ่มของอีเวนต์ในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันยังไง 

ยีน : เราจัดไปแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง พยายามเปลี่ยนธีมและสถานที่เรื่อยๆ 

ครั้งแรกมาในธีม let’s get sparkly ที่อยากให้คนออกมา spark joy ด้วยกัน เพราะเป็นครั้งแรกที่อยากจัดต่อเนื่องในไทย เลยพยายามทำให้เกิดภาพที่คนออกมาทำกิจกรรมสังสรรค์ด้วยกัน 

ครั้งที่ 2 ชื่อ vibe with the tribe ในคอนเซปต์ชวนออกมาตามหาคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันกับคุณ จัดแถวเมืองเก่าทำให้มี expat มาเยอะในครั้งนั้นและได้บรรยากาศนอสทัลเจีย เหมือนมาย้อนวันเวลาเก่าๆ มีผู้เชี่ยวชาญที่รู้จักย่านเมืองเก่ามาแนะนำสตอรีของถนนเส้นนั้นด้วย   

พลอย : ครั้งที่ 3 เป็นธีม meet & mingle สำหรับชายรักชาย บรรยากาศร้านเป็นชายหาดและเน้นเครื่องดื่มค็อกเทล 

ครั้งที่ 4 เป็น single over there รวมพลคนโสดที่ร้านไวน์แถวเอกมัย

ครั้งที่ 5 ธีม winter is coming เล่นกับอินไซต์คนโสดว่าลมหนาวกำลังมาแล้วนะ ให้ออกมารีบมาหาคู่ 

ครั้งที่ 6 เป็น let’s move on ชวนคนมูฟออนรับสิ้นปี คราวนี้เราได้สถานที่ใหญ่กว่าปกติและมีพื้นที่ 2 บรรยากาศ ทั้ง indoor และ outdoor เลยขยายให้มีผู้เข้าร่วมงาน 42 คน รวมเป็น 21 คู่ 

และครั้งล่าสุดคือธีมวาเลนไทน์ 11-12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ Siam Discovery 

จากที่จัดงานมา ผลตอบรับของผู้ร่วมงานเป็นยังไง 

ยีน : ครั้งแรกที่จัดงานเรารับสมัครคนไทยเป็นหลักก่อน รอบนั้นบรรยากาศระหว่างเบรกเหมือนต่างคนต่างอยู่ คุยกันไม่เยอะเท่าไหร่ ไม่ค่อย outgoing พอครั้งที่ 2 เลยรับสมัครคนต่างชาติเข้ามาเพิ่มและเชียร์ให้คุยกันมากขึ้น จากครั้งแรกที่พอปล่อยให้ลงทะเบียนเสร็จแล้วผู้ร่วมงานมักจับกลุ่มนั่งกับเพื่อนตัวเอง เราก็พาแยกไปทำความรู้จักคนอื่นตั้งแต่แรก ให้มีโอกาสทลายกำแพงของกันและกัน ครั้งที่สองก็เริ่มมีการจับกลุ่มเมาท์กันตลอดเวลาแม้อยู่ในช่วงเบรก บรรยากาศก็เปลี่ยนไป 

พลอย : คำว่าสปีดเดตติ้งมันดูน่ากลัวแต่สำหรับคนที่เคยเข้าร่วมงานก็จะบอกว่ามันคือการออกจากเซฟโซนของเขาและไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทำให้รู้สึกว่ากล้าลองทำอะไรใหม่ๆ และรู้จักคนเพิ่มขึ้น 

กลุ่มลูกค้าในไทยเป็นคนแบบไหน 

ยีน : กลุ่มเป้าหมายของเรามีทั้งคนไทยและ expat รวมถึงทุกคนที่มีสเตตัสพร้อมทำความรู้จักเพื่อนใหม่และสังคมใหม่ อยากออกมาจาก circle of friend กลุ่มเดิม เป็นคนที่พร้อมเปิดใจและเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่ด้วยความแตกต่างของสัดส่วนประชากร พอเป็นบ้านเราผู้ร่วมงานจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 25 ปีขึ้นไปจนถึง 50 ปี ถือว่ามีช่วงอายุที่แคบกว่าต่างประเทศ จากการติดตามงานอีเวนต์สปีดเดตติ้งหลายเจ้าที่เมืองนอก พบว่าส่วนใหญ่ผู้ชายจองเต็มก่อน ในขณะที่เมืองไทยผู้หญิงจองเต็มเร็วกว่าทุกรอบ ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะซื้อบัตรเร็วแต่ผู้ชายจะทักมาถามก่อนว่างานเป็นยังไงเพราะหลายคนไม่เคยมางานลักษณะนี้เลย

พลอย : ผู้ชายจะมีคำถามค่อนข้างละเอียดว่างานเล่นยังไง จัดยังไง คนที่มาอายุเท่าไหร่ ผู้หญิงเป็นแบบไหน ในขณะที่ผู้หญิงหลายคนมักตัดสินใจจองมาเลยและกลับไปบอกต่อส่วนผู้ชายจะมาเดี่ยวๆ 

ยีน : มีทั้งคน introvert และ extrovert อย่างคน introvert ที่ตอนแรกเราไม่คิดว่าคนไทป์นี้จะอยากมา ปรากฏว่าเขาก็สมัครกันมา ส่วนตัวเขาเองก็อยากรู้จักคนมากขึ้นแต่ไม่กล้าพูดกล้าคุย การที่เลือกมางานแบบนี้ทำให้ได้คุยกับคนอื่นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเดินไปทักเอง ครั้งหลังๆ จะเห็นคนที่มีบุคลิกเป็น introvert มามากขึ้น

ความประทับใจและคุณค่าของการได้ทำความรู้จักผู้คนคืออะไร 

พลอย : ได้เปิดโอกาสให้ตัวเองเจอคนใหม่ๆ และมองโลกกว้างขึ้น พลอยเป็นคน introvert  เหมือนกันพอมาทำตรงนี้รู้สึกว่าได้รู้จักคนที่เราไม่คิดว่าจะได้เจอ เพื่อนคือประสบการณ์ใหม่ คอนเนกชั่นใหม่ที่ในอนาคตอาจเป็นความสัมพันธ์ใหม่ของเราก็ได้ 

โมเมนต์ที่ประทับใจจากผู้ร่วมงานก็ไม่ใช่เฉพาะความรักอย่างเดียวแต่เป็นทุกโมเมนต์ของการรู้จักกันที่เกิดขึ้นในงาน เวลาเห็นคู่ที่อยู่ในสายอาชีพที่ใกล้กัน สนใจสิ่งเดียวกัน คุยกันแล้วถูกคอเลยตัดสินใจคุยกันต่อ หรือคู่ที่ฝ่ายชายประทับใจที่ฝ่ายหญิงเป็นคนตลกและอารมณ์ดี ส่วนฝ่ายหญิงก็รู้สึกว่าฝ่ายชายเป็นคนสุภาพและเอาใจใส่ เหล่านี้เป็นเคสประทับใจที่เราดีใจที่เกิดขึ้น 

ยีน​ : การได้ขยายวงสังคมของเราจากชีวิตประจำวันทำให้ได้เปิดโอกาสออกมาเจอผู้คนและมุมมองใหม่แทนที่บางทีเราจะติดอยู่ในความสัมพันธ์เดิมที่ไม่โอเค มันเติมความสนุกและสีสันในชีวิตได้ 

อนาคตอยากสร้างโมเมนต์ บรรยากาศ บทสนทนา หรือสายสัมพันธ์แบบไหน

พลอย : บางคนอาจมองว่าเราเป็นคนจัดงานสปีดเดตติ้งแต่ความจริงเรามองตัวเองเป็น matchmaker ที่ครีเอตโมเมนต์และสร้างโอกาสให้คนมีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน ตอนนี้เราทำสปีดเดตติ้งต่อไปเราอาจทำสปีดเฟรนด์ดิ้งหรือจัดอีเวนต์ปาร์ตี้ส่วนตัวก็ได้ เป็นแค่ไอเดียที่คิดไว้ว่าอยากทำ

ยีน : ต่อไปอาจจัดในสวนหรือบนเรือ เพิ่มความสนุกรูปแบบใหม่ในสถานที่หรือกิจกรรมในแต่ละธีม
รอให้ฐานกลุ่มคนที่สนใจงานของเราแน่นขึ้นอีกนิดหนึ่ง ก็จะเพิ่มความสนุกเข้าไป 

เอพิโสดแรกของเราคือการเดต แต่ต่อไปอาจพัฒนาเป็นรูปแบบอื่นก็ได้ 

บทเรียนทางธุรกิจจาก OMG Matchmaking

1. Broad Definition นิยามธุรกิจให้กว้างและลงลึกถึงคุณค่าที่อยากส่งต่อให้ลูกค้า เช่น ไม่ได้เป็นเพียงคนจัดงานอีเวนต์ออกเดตแต่เป็นผู้สร้างโมเมนต์ในการรู้จักกัน
2. Learn from Global Community เรียนรู้จากคอมมิวนิตี้ที่ทำสำเร็จมาก่อน
3. Be Creative ไม่หยุดนิ่งแค่แรงบันดาลใจที่ได้จากต่างประเทศ แต่สร้างสรรค์ธีม บรรยากาศและไอเดียของตัวเอง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like