Octobeer

Oktoberfest เทศกาลที่เกิดจากการเมือง สู่อีเวนต์เบียร์สุดยิ่งใหญ่ที่คนดื่มเบียร์รวมกันราว 7 ล้านลิตร

เดือนตุลาคม นอกจากฮาโลวีนแล้ว ช่วงต้นเดือนแบบนี้เราก็ต้องนึกถึงเทศกาลสำคัญหนึ่งของดินแดนแห่งเบียร์ นั่นก็คือเทศกาล Oktoberfest หนึ่งในสุดยอดงานรื่นเริงกลางแจ้งที่มีศูนย์กลางที่เมืองมิวนิก และเป็นอีกหนึ่งสุดยอดแห่งงานกินดื่มที่ถือได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก โดยทั่วไปจะจัดยาวนานประมาณ 2 สัปดาห์ สำหรับปีนี้งานอ็อกโทเบอร์เฟสต์จัดขึ้นตั้งแต่ 16 กันยายนและจะสิ้นสุดในวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งนับเป็นการกลับมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดที่ทางงานระงับการจัดงานไปถึง 2 ปี

แล้วอ็อกโทเบอร์เฟสต์ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ด้านหนึ่งต่อให้เราไม่เคยไปเยี่ยมเมืองมิวนิก แถบบาวาเรียหรือประเทศเยอรมนี เราเองก็อาจจะเคยได้ยินร้านเบียร์หรือร้านอาหารเยอรมันจัดกิจกรรมพิเศษและเรียกมันว่าอ็อกโทเฟสต์ พูดง่ายๆ คือเทศกาลนี้กลายเป็นหมุดหมายและการเฉลิมฉลองหนึ่งที่ส่งอิทธิพลในการกินดื่มเบียร์ไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่เยอรมนี ในหลายประเทศทั้งยุโรป อเมริกา หรือเอเชียก็มีการจัดเทศกาลเบียร์เพื่อเฉลิมฉลองการมาถึงของเดือนตุลาคมนี้ด้วย

อ็อกโทเบอร์เฟสต์ถือเป็นสุดยอดงานของเมืองมิวนิก เป็นงานที่เรียกได้ว่าปิดทั้งเมืองเพื่อเลี้ยงฉลอง เป็นการใช้พื้นที่เมืองเพื่อความสนุกสนาน มีรายงานตัวเลขว่าในช่วงเทศกาลเมืองจะมีผู้ร่วมงานราว 6-7 ล้านคน มีตัวเลขการบริโภคเบียร์ราว 7 ล้านลิตร ไก่ 5 แสนตัว ผู้คนถือแก้วเบียร์ขนาด 1 ลิตรกันตั้งแต่ช่วงเที่ยงวัน กิน ดื่ม เต้นรำ และเล่นสนุกไปจนถึงเที่ยงคืน เป็นหนึ่งในเทศกาลสุดเดือดที่ต้องมีแนวทางออกมาว่าเราจะเอาตัวรอดในความสุดเหวี่ยงที่เมืองหลวงและแคว้นแห่งเบียร์คือบาวาเรียแห่งนี้ได้ยังไง

แน่นอนว่าอ็อกโทเบอร์เฟสต์ถือว่าเป็นหนึ่งในงานอีเวนต์ระดับบิ๊ก เป็นงานที่โด่งดังจากความเป็นเยอรมนีโดยเฉพาะวัฒนธรรมในแถบบาวาเรีย เป็นหนึ่งในงานที่เรียกได้ว่าเป็นงานจัดแสดงและดื่มเบียร์กันเป็นมหกรรม ตัวอ็อกโทเบอร์เฟสต์เองก็นับได้ว่าเป็นงานอีเวนต์ที่ใหญ่โตและเก่าแก่ที่สุด เพื่อเป็นการต้อนรับเดือนตุลาคมและส่งท้ายเทศกาลสำคัญนี้ ทรัพย์คัลเจอร์จะชวนย้อนดูที่มาของสุดยอดเทศกาลรื่นเริงของเดือนตุลาคม จากงานอภิเษกสมรสและการเปิดพื้นที่เมืองขนานใหญ่ที่อันที่จริงมีนัยเกี่ยวข้องกับการเมืองในรัฐบาวาเรีย จนเมืองและผู้ประกอบการเข้าใจพลังของงานเทศกาล และการกลายเป็นพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมที่ผู้คนเข้ามาร่วมรื่นเริงไปกับความเป็นเยอรมันได้

งานอภิเษกสมรสที่มีนัยของความเป็นปึกแผ่น

จุดเริ่มของงานอ็อกโทเบอร์เฟสต์ ทุกประวัติศาสตร์จะพาเราย้อนกลับไปยังปี 1810 ปีที่แคว้นบาวาเรียจัดงานอภิเษกสมรสให้กับมกุฎราชกุมารลุดวิกของบาวาเรีย (Ludwig, the crown prince of Bavaria) และเจ้าหญิงเทเรซ่า (Princess Therese) การเสกสมรสจัดขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม 1810 พร้อมการเฉลิมฉลองเป็นจำนวน 5 วัน 5 คืน เป็นการฉลองใหญ่ด้วยอาหาร เครื่องดื่ม และความบันเทิงโดยมีไฮไลต์สำคัญคือการแข่งม้าเป็นอีเวนต์หลักสำคัญในวันสุดท้ายในวันที่ 17 ตุลาคม

ก่อนที่จะเข้าสู่เทศกาล งานเสกสมรสอันเป็นงานใหญ่ของรัฐบาวาเรียในครั้งนั้น นอกจะเป็นการแสดงเกียรติยศและเฉลิมพระเกียรติพระราชวงศ์ รวมถึงการเป็นงานรื่นเริงโดยทั่วไปแล้ว งานใหญ่ในครั้งนั้นยังมีนัยทางการเมืองและนัยทางประวัติศาสตร์ของรัฐบาวาเรียอย่างสำคัญด้วย

ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ค่อนข้างซับซ้อนเล็กน้อย คือเป็นช่วงที่เกิดรัฐขึ้นหลังจากแคว้นต่างๆ เริ่มยกระดับอำนาจตัวเองออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ การยกระดับบาวาเรียขึ้นเป็นราชอาณาจักรก็มีการแต่งตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครอง ในการขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของบาวาเรียคือพระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 1 (Maximilian I) พระบิดาของเจ้าชายลุดวิกนั้นเถลิงอำนาจ (ในความช่วยเหลือของพระเจ้านโปเลียนของฝรั่งเศส) คือปี 1806 คือเพียงแค่ 4 ปี ก่อนหน้าการเสกสมรสใหญ่เท่านั้น

ทีนี้ เป้าหมายหนึ่งของการเสกสมรส ด้านหนึ่งคือความชอบธรรม เป็นการแสดงและกระชับสายเลือดราชวงศ์ให้ชอบธรรมในการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งบาวาเรียนับเป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่และมั่งคั่งรัฐหนึ่งทั้งของเยอรมนีและของยุโรป แต่ทว่าในการรวมรัฐเป็นอันหนึ่งอันเดียวนั้น สำหรับทั้งผู้ปกครองและประชาชนมีความกังวลว่าการรวมรัฐหรือการรวมชาติยังคงมีอิทธิพลภายนอกเช่นความเป็นต่างชาติเจือปนอยู่

การแข่งม้าและการแสดงความเป็นบาวาเรีย

งานใหญ่ที่ถือกันว่าเป็นจุดเริ่มของอ็อกโทเบอร์เฟสต์ในครั้งแรกจัดในทุ่งนอกเมือง ด้วยว่าเป็นแผนที่ฉลาดมากๆ คือการที่ทางรัฐเลือกรจัดงานโดยมีอีเวนต์ปิดเป็นการแข่งม้า ทีนี้ในการฉลอง 5 วันหลังพิธีเสกสมรส เรียกได้ว่าฉลองกันทั้งเมือง มีการประดับตกแต่งบ้านเรือนร้านค้า และชวนผู้คนออกมาเฉลิมฉลองกันกลางแจ้ง จัตุรัสสำคัญของมิวนิกเช่น Marienplatz, Promenadenplatz การแจกและเลี้ยงอาหาร เบียร์ และไวน์ ว่ากันว่าในการฉลองนั้นมีการแจกจ่ายขนมปังกว่า 30,000 ก้อน, สวิสชีส 4,000 ปอนด์, เนื้อแกะ 400 กิโลกรัม ไส้กรอกสารพัดประเภทนับหมื่นอัน ตามถนนหนทางมีนักดนตรีร่วมแสดงกว่า 150 คน โรงละครชั่วคราวอีก 2 แห่ง ไปจนถึงการจัดเลี้ยงอาหารพิเศษให้กับเหล่านักโทษ

ในงานเลี้ยงที่ยอดเยี่ยมที่อันที่จริงแทบจะเป็นการลิ้มรสอาหารและเบียร์ของบาวาเรีย สิ่งที่ทุกคนตั้งตารอคือการจัดแข่งม้าที่จะจัดขึ้นบริเวณทุ่งด้านนอกของเมือง ทุ่งนี้ที่แง่นึงก็เป็นเหมือนเฟสติวัลในยุคปัจจุบัน ที่มีอีเวนต์หลัก มีเตนท์ มีอาหารจำหน่าย และที่สำคัญคือมีกระโจมหลวงหรือเตนท์ของพระราชา ในงานนั้นเองทุกสายตาและผู้คนต่างเดินทางไปเพื่อชมการแข่งม้า ในทุ่งที่ต่อมาได้ชื่อว่าทุ่งของพระนางเทเรซ่า ที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่พระชายาในงานเสกสมรส

ทำไมถึงต้องเป็นการแข่งม้า และถือว่าการแข่งม้าเป็นกลยุทธ์แคมเปญและงานอีเวนต์ที่ฉลาดมากๆ คำว่าการแข่งขันม้าในยุคนั้นคือการที่เหล่านายทหารและชนชั้นสูงของแคว้นและของเมืองต่างๆ จะแต่งกายอย่างเต็มยศ เรียกได้ว่าทั้งตัวตนและกิจกรรมที่เคยเป็นพื้นที่ของชนชั้นสูงได้เผยสู่สาธารณชนหรือชาวเมืองโดยทั่วไปอย่างเป็นทางการ ตรงนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยตอบความสงสัยเรื่องความเหมาะสม ความเป็นราชวงศ์ที่เหมาะสมในการปกครองได้ด้วย

นอกจากนี้ ในงานแข่งม้ายังมีการเปิดตัวอย่างสำคัญ คือก่อนการแข่งจะมีการแสดงสำคัญเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ในการแสดงคือการเดินขบวนของเด็กหนุ่มและเด็กสาว 16 คู่ โดยเด็กๆ นั้นแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง โดยในชุดต่างๆ ที่เด็กๆ สวมใส่และเดินขบวนนั้นจะแสดงตัวตนที่เชื่อมโยงกับเขตปกครองหรือแคว้นย่อยๆ ของรัฐบาวาเรีย ตรงนี้เองคล้ายกับธรรมเนียมเทศกาลในปัจจุบันที่มีการแสดงตัวตนผ่านการแสดงและเครื่องแต่งกายที่แสดงภายในงาน

สำหรับการแข่งม้าในครั้งนั้นประสบความสำเร็จมาก มีประชาชนเข้าชมการแข่งม้าถึง 40,000 คน

จากงานของรัฐ สู่งานของผู้คน

ทีนี้จากงานเสกสมรสในเดือนตุลาคมที่กลายเป็นที่กล่าวขวัญ กลายเป็นหนึ่งในสุดยอดงานสำคัญที่ดึงผู้คนและบรรยากาศคึกคักของเมืองขึ้นมา หนึ่งปีนับจากงานใหญ่ครั้งแรกทางสมาคมเกษตรกรแห่งบาวาเรีย (Landwirtschaftlicher Verein in Bayern) ก็เลยรวมกันจัดงานขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจากงานเลี้ยงยิ่งใหญ่เพียงหน่ึงปีหลังจากนั้นเทศกาลใหม่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการจัดแสดงสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นๆ ของเมืองมิวนิกและของพื้นที่ในรัฐบาวาเรียเอง

การจัดงานอ็อกโทเบอร์เฟสต์มีความพยายามจัดอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยการเมืองของยุโรปและเงื่อนไขอื่นๆ งานใหญ่ก็มีการชะงัก ต้องหยุดบ้าง เช่นในปี 1813 มีการจัดตั้งเทศกาลด้วยชื่ออ็อกโทเบอร์เฟสต์ แต่ตอนนั้นบาวาเรียเข้าสู่สงครามนโปเลียนก็เลยต้องหยุดลง จนหลังสงครามก็จัดใหม่แต่เอกชนช่วยกันสนับสนุนจัดงาน จนกระทั่งปี 1819 ที่รัฐประกาศจัดงานอ็อกโทเบอร์เฟสต์เป็นเทศกาลประจำปีย่างเป็นทางการ เป็นจุดที่รัฐมองเห็นประโยชน์ของงานเทศกาลที่มีต่อภาคธุรกิจ รวมถึงบรรยากาศและความเคลื่อนไหวของเมืองเอง

ด้วยความที่เทศกาลอ็อกโทเบอร์เฟสต์มีอายุยาวนานราว 200 ปี ตัวงานเองก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เช่นช่วงแรกยังเป็นความบันเทิงแบบไปดูสัตว์ ดูแข่งม้า มีการประกวดแกะ วัว อันที่จริงความเปลี่ยนแปลงของงานเทศกาลมีความสัมพันธ์กับหลายด้าน ถ้าเรานับจากงานเสกสมรสเช่นจากทศวรรษ 1810 ที่งานเริ่ม พอมาถึงทศวรรษ 1880 มิวนิกกลายเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรพุ่งสูงขึ้น 6 เท่านับจากงานครั้งแรก 

ในช่วงเวลาต่อๆ มา ด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้น รสนิยมของผู้คนกว้างขึ้น จากงานแข่งม้าประกวดวัวจึงเริ่มมีร้านค้า พ่อค้าและความบันเทิงอื่นๆ ปรากฏขึ้น เช่นช่วงทศวรรษ 1830 เริ่มมีแผงขายเบียร์และขายปลาผุดขึ้นบ้าง แต่พอช่วงปี 1881 ร้านค้าก็เริ่มเยอะขึ้นคือมีบูทการแสดง มีของเล่นเช่นรถไฟหรืออื่นๆ ราว 6 ร้านและมี 12 บูทสำหรับการเล่นเกม การเปลี่ยนแปลงสำคัญอื่นๆ คือการสร้างโครงข่ายรางรถไฟที่ขยายมาถึงบาวาเรียและการรวมชาติเยอรมนีในปี 1871 ทำให้ผู้คนนอกและในเขตบาวาเรียสามารถเดินทางมายังงานได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นในช่วงแรกๆ งานอ็อกโทเบอร์เฟสต์เป็นเรื่องของสินค้าทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นๆ รวมถึงเป็นงานเทศกาลเพื่อความสนุกสนาน ตัวเทศกาลผ่านสงคราม ผ่านโรคระบาดทำให้หยุดบ้าง จัดบ้างหลายครั้ง ความเปลี่ยนแปลงค่อยๆ ปรับเข้าสู่งานเทศกาลเช่นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หมุดหมายสำคัญหนึ่งคือใน 1880 ปีที่ระบบไฟฟ้ามาถึงงานเทศกาล ในปีนั้นมีร้านกว่า 400 ร้าน รอบๆ พื้นที่ที่เคยส่องสว่างจากระบบไฟส่องสว่างจากแก๊ซ คราวนี้สว่างไสวไปด้วยไฟกว่าหมื่นดวงพร้อมด้วยชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ หลังจากนั้นในปี 1881 เริ่มมีบูทขายไส้กรอกที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาล

จริงๆ กว่างานอ็อกโทเบอร์เฟสต์จะกลายเป็นงานแสดงและดื่มเบียร์ก็ล่วงเลยมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นี่แหละ ในช่วงปี 1887 นี้เองที่เริ่มมีการจัดขบวนพาเรด โดยในขบวนนั้นมีโรงเบียร์ต่างๆ ร่วมเดินด้วย มีการส่งม้าร่วมแข่ง และในช่วงที่ไฟฟ้าเริ่มเข้ามามีบทบาท ความบันเทิงสำคัญเช่นดนตรีสดและเครื่องเล่นต่างๆ เริ่มก่อตัวขึ้น รวมไปถึงการเสิร์ฟเบียร์ในแก้วมัคที่เป็นหนึ่งในจุดเด่นของงานที่เริ่มขายเบียร์ใส่แก้วใหญ่ๆ ในช่วงปี 1892 

ในมิติทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นของอ็อกโทเบอร์เฟสต์ ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่กินดื่มและแสดงเบียร์ประจำเมืองมิวนิก คือตามธรรมเนียมเบียร์ของอ็อกโทเบอร์เฟสต์จะเป็นเบียร์ที่ผลิตจากมิวนิกเท่านั้น โรงเบียร์ 6 แห่งผลิตเบียร์ป้อนเข้างานราว 7-8 ล้านลิตรตลอดช่วงเทศกาล นอกจากอาหารแล้วในงานก็ยังเป็นตัวแทนวัฒนธรรมแทบทุกด้านของรัฐบาวาเรีย เราจะเห็นผู้คนใส่ชุดพื้นเมือง จุดเล็กๆ เช่นแก้วเบียร์เองที่ก็มีมาเก่าแก่จากการเป็นแก้วใหญ่ทำจากหินเพื่อให้ไม่แตกหักง่ายเวลาชน ปัจจุบันแม้จะเป็นแก้วใสก็จะมีการตกแต่งด้วยลวดลายประจำบาวาเรีย ตราราชวงศ์ลายตารางน้ำเงินขาวประกอบด้วยสิงโตคู่ หรือลวดลายทางศาสนาอื่นๆ ซึ่งแก้วเบียร์ที่ทำจากวัสดุอื่นๆ ก็ยังมีขายและนับเป็นของสะสมจากงานสำคัญนี้ด้วยอีกอย่างหนึ่ง

สำหรับงานอ็อกโทเบอร์เฟสต์ ปัจจุบันย้ายไปจัดกลางเดือน สัมพันธ์ทั้งบริบทภูมิอากาศคือช่วงเดือนตุลาคมในเขตเทือกเขาแอลป์ มีโอกาสเจอกับพายุ ประกอบกับความต้องการเปลี่ยนให้วันสุดท้ายของงานไปตกที่วันที่ 3 ตุลาคมอันเป็นวันรวมชาติเยอรมนี คือเป็นงานที่จัดยาว 3 สัปดาห์ แต่วันสุดท้ายจะต้องไปจบลงที่วันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม แต่ถ้าวันอาทิตย์แรกของเดือนยังไม่ใช่วันที่ 3 ตุลาคม งานก็จะยืดไปจนถึงวันที่ 3 คือให้วันรวมชาติเป็นส่วนหนึ่ง เป็นวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลองด้วย

สุดท้ายการย้อนดูเทศกาลที่เริ่มจากการเป็นพิธีที่เกี่ยวกับรัฐและความมั่นคงของชาติอายุ 200 ปี ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาสู่การเป็นพื้นที่แสดงและจำหน่ายสินค้า เรื่อยมาจนกลายเป็นพื้นที่เฉลิมฉลอง บ้างก็ว่าการฉลองนี้เป็นการหวนคืนสู่วันคืนในสมัยที่ยังเป็นรัฐบาวาเรียที่สนุกสนานในวันคืนเก่าๆ ในทางกลับกันอ็อกโทเบอร์เฟสต์ในปัจจุบันอาจไม่ได้หยุดอยู่ในเชิงพื้นที่เท่านั้น แต่เราเองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกก็อาจกำลังยกเบียร์เยอรมันจากแคว้นบาวาเรีย กระทั่งเบียร์จากมิวนิกเอง รวมไปถึงยกแก้วขนาด 1 ลิตรที่ตีตราร้านฮอฟบานฮอฟอันโด่งดัง ไปจนถึงบิเพรตเซล หั่นไส้กรอกตัวอ้วนๆ เค็มๆ เพื่อร่วมฉลองเทศกาลสำคัญนี้จากพื้นที่ไหนก็ได้ทั่วโลก 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like