Bed Friend
mr.big แบรนด์เครื่องนอนโดยนักกายภาพบำบัดที่อยากให้ทุกเรื่องบนเตียงไม่ต้องเสียน้ำตา
mr.big คือแบรนด์ที่เปรียบตัวเองเป็นเหมือน ‘เพื่อนตัวโต’ บนเตียงนอนของทุกคน
เซ้ง–ชวกิจ เก้าเอี้ยน นักกายภาพบำบัดผู้ก่อตั้งแบรนด์มาตั้งแต่ปี 2012 บอกว่า ไม่ว่าทุกคนจะผ่านวันอันยาวนานหรือหนักหนามาแค่ไหน เขาอยากให้ mr.big เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าในช่วงเวลาท้ายสุดของวัน เราจะมีเพื่อนตัวโตคนนี้คอยกอด คอยซัพพอร์ต และพาเราให้เข้าสู่ช่วงนิทราเสมอ
ไอเทมต่างๆ ภายใต้แบรนด์ของ mr.big จึงมีหลากหลาย และล้วนเป็นโซลูชั่นสู่กิจกรรมบนเตียงที่สบายและถูกหลักการยศาสตร์ (ergonomic comfort sleep solutions) ไล่ตั้งแต่หมอนหนุนที่แมตช์กับขนาดตัว หมอนจัดท่านอนที่จัดตามท่าที่เราชอบ ท็อปเปอร์และที่นอนที่มีความนุ่มแน่นของแต่ละช่องไม่เท่ากันเพื่อแก้ปวดหลังปวดตัว ไปจนถึงสินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างหมอนรองคอที่เป็นเพื่อนเดินทาง เบาะรองเท้าและเบาะรองหลังสำหรับชาวออฟฟิศ (ซินโดรม) ชุดนอน หมอนกันกรดไหลย้อน ไปจนถึงหมอนเสยที่จะทำให้กิจกรรมทางเพศซู่ซ่า ซึ่งเพิ่งเป็นไวรัลใหญ่ในอินเตอร์เน็ตเมื่อไม่นานมานี้
ในวาระที่ mr.big กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 เราชวนเจ้าของแบรนด์อย่างเซ้งมาทบทวนการเติบโตของธุรกิจผ่านสินค้าชิ้นสำคัญ คุยกันถึงหลักคิดในการดีไซน์แบบนักกายภาพบำบัด และเคล็ดลับที่ทำให้ mr.big ยังเป็นเพื่อนบนเตียงคนดีคนเดิมของลูกค้ามาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องก่อนถึงเตียง
หลังจากเรียนจบจากรั้วมหิดล เซ้งเริ่มประกอบอาชีพนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่งานของเขาไม่ได้เหมือนกับนักกายภาพบำบัดที่เราเคยเห็นในสื่อทั่วไป เพราะเซ้งทำงานในห้องไอซียู
“หน้าที่ของนักกายภาพในห้องไอซียูคือป้องกันภาวะแทรกซ้อนและทำให้คนไข้มีอาการไม่แย่ลง เช่น ไม่ให้เกิดข้อติด ไม่ให้เกิดเสมหะสะสม พาเดินให้เขารู้สึกปลอดภัย งานของผมมี 2 กรณี กรณีแรกคือการเตรียมพร้อมผู้ป่วยก่อนเข้าผ่าตัด บอกเขาว่าหลังผ่าตัดแล้วเขาตื่นขึ้นมาจะมีอาการยังไง พาเขาเดินไปที่ห้องผ่าตัด
“อีกกรณีหนึ่งคือเจอคนไข้หลังจากที่เขาผ่าตัดแล้ว เป็นคนไข้ที่หมดสติหรือคนไข้ติดเตียง ผมจะเข้าไปเตรียมความพร้อมเพื่อให้เขาสามารถขึ้นวอร์ดและพักรักษาตัวต่อ” ชายหนุ่มอธิบาย
ทำงานในห้องไอซียูได้สองปีครึ่ง เซ้งก็ลาออกมาทำธุรกิจผลิตสำลีเช็ดหน้าขนาดใหญ่ เพราะเห็นว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีขายในตลาดตอนนั้น แต่ตอนนั้นเขายังไม่มีความรู้เรื่องการสร้างแบรนด์และจดสิทธิบัตร จึงมีโรงงานสำลีผลิตสินค้าแบบเดียวกันมาขายแข่ง แถมยังขึ้นราคาต้นทุนจนเซ้งขายต่อไม่ได้
ในช่วงเวลาสิ้นหวัง เซ้งไม่คิดว่าตัวเองจะได้ไอเดียในการทำสินค้าชิ้นใหม่ กระทั่งคนรักของเขาทักขึ้นมาเกี่ยวกับงานในห้องไอซียู

“แฟนสงสัยว่านักกายภาพบำบัดไปทำอะไรในห้องไอซียู ผมก็ทำให้เขาดูเลย ก็ให้เขานอนแล้วผมก็ยกแขน ยกขา เคาะปอด จัดท่านอนและห่มผ้าให้เขา พอเขานอนในท่าที่จัดท่าแล้ว รุ่งเช้าตื่นขึ้นมาเขาหายปวดสะบัก เขาเลยติดใจ”
หลังจากนั้น เซ้งปิ๊งไอเดียในการทำ ‘หมอนแพ’ ขึ้นมาให้แฟน เขานำหมอนหลากหลายขนาดมาเย็บติดกัน เพื่อช่วยรองรับสรีสระและจัดท่าทางการนอนให้เหมาะสม จากหนึ่งใบกลายเป็นสองเพราะทำแจกจ่ายให้เพื่อน เมื่อฟีดแบ็กยิ่งดี ชายหนุ่มก็ซื้อผ้า สำลี และอุปกรณ์อื่นๆ มาพัฒนาหมอนจัดท่านอน แล้วลองส่งเข้าประกวดในเวทีดีไซน์ DeMark Award ในปี 2556
หมอนใบนั้นคือ ‘หมอนเลข 9’ สินค้าตัวแรกของ mr.big

เรื่องบนเตียง
หมอนเลข 9
ศีรษะและลำคอ แขน ไหล่ สะบัก กลางหลัง หลังล่าง สะโพก ต้นขา เข่า
อวัยวะ 9 ส่วนที่ว่ามาคือสิ่งที่หมอนเลข 9 ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ นอกจากจะช่วยรองรับอวัยวะทั้ง 9 ในคราวเดียวเมื่อล้มตัวลงนอน หมอนเลข 9 ยังช่วยจัดกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวที่ถูกต้อง และช่วยลดการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง เหมาะสำหรับคนชอบนอนตะแคงที่ตื่นมาแล้วมักจะปวดไหล่และหลังส่วนล่าง หรือสตรีมีครรภ์ที่ต้องฝึกนอนตะแคงในช่วงใกล้คลอด
อีกเหตุผลน่ารักๆ ที่ตอบคำถามว่าทำไมต้องเป็นเลข 9 ก็เพราะมันคล้องจองกับ ‘เก้าเอี้ยน’ นามสกุลของเซ้งยังไงล่ะ
“หมอนเลข 9 เกิดขึ้นพร้อมกับแบรนด์ mr.big แท็กไลน์ของเราคือ mr.big is your bed friend เราคิดว่าเราอยากเป็นหมอนใบใหญ่ที่คอยซัพพอร์ต หลังจากเราเจอเรื่องราวในแต่ละวันที่เยอะแยะมากมายแต่เมื่อกลับมาที่เตียง เราจะมีหมอนใบใหญ่ใบนี้ให้เรากอดเสมอ”


หมอนเลข 9 วางจำหน่ายครั้งแรกในฐานะสินค้าฝากขายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ซึ่งเซ้งหิ้วมันเข้าไปหาเซ็นทรัลก่อนที่หมอนจะได้รางวัลด้วยซ้ำ หลังจากนั้น 2 เดือนเขาก็มีโอกาสไปเปิดบูทขายที่ห้างเอมโพเรียม ชายหนุ่มนิยามประสบการณ์นั้นว่าเป็นประสบการณ์ที่เปิดโลกมาก
“จากเดิมที่เราเป็นนักกายภาพบำบัด พอวันหนึ่งมาเป็นพนักงานขายที่อธิบายหมอนเลข 9 ให้ลูกค้าฟัง พอลูกค้ารู้ว่าเราเป็นนักกายภาพ เขาก็จะอธิบายมาหมดเลยว่าปวดตรงไหน พอวันรุ่งขึ้นก็ชวนเพื่อนมาอีก กลายเป็นผมเหมือนได้เปิดโต๊ะให้คำปรึกษาที่เอมโพเรียม 15 วัน” ชายหนุ่มหัวเราะ
“แต่มันดีมากเลย เพราะเราเห็นว่าคนไข้เราเต็มไปหมดเลย แทนที่จะเต็มโรงพยาบาลแต่เต็มห้างเลย รู้สึกว่าใครๆ ก็เป็นคนไข้ของนักกายภาพทั้งนั้นเลย มันเลยเป็นตัวจุดประกายว่าเราทำแค่หมอนเลข 9 ไม่ได้แล้ว เพราะเป็นหมอนที่เหมาะกับคนที่นอนตะแคง แล้วคนอื่นที่ไม่ได้ชอบนอนตะแคงล่ะ”

ท็อปเปอร์
เวลาผ่านไปแรมปี mr.big ก็คลอดสินค้าตัวที่ 2 ออกมา นั่นคือท็อปเปอร์สี่เหลี่ยมที่แบ่งเป็นช่องๆ ซึ่งแต่ละช่องมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน ตอบโจทย์เพื่อให้คนนอนหงายนอนได้ดี
“ตอนทำหมอนเลข 9 เรากำหนดไซส์ของหมอนจากข้อมูลระยะสัดส่วนร่างกาย ตอนทำท็อปเปอร์ก็เหมือนกัน เราเอาข้อมูลส่วนนี้มาออกแบบว่าแต่ละช่วงของร่างกายมีน้ำหนักกดในแนวราบเท่าไหร่ มีระยะโค้งเว้ายังไงเพื่อกำหนดความหนาแน่นของแต่ละช่องเพื่อให้นอนสบาย” เซ้งเล่าเบื้องหลังการดีไซน์

หมอนหนุนและหมอนอื่นๆ
จากข้อมูลชุดเดียวกัน mr.big แตกไลน์ออกมาเป็นหมอนหนุนที่มี 5 ไซส์ โดยแบ่งตามขนาดรูปร่าง น้ำหนัก และส่วนสูงของกลุ่มตัวอย่าง เซ้งบอกว่า การได้หนุนหมอนที่ใช่ก็เหมือนการสวมรองเท้าถูกคู่
“ถ้าเราใส่รองเท้าที่หน้าแคบไปเราก็จะเจ็บเท้า หมอนก็เหมือนกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่รองรับคอกับศีรษะ ซึ่งคอเป็นกระดูกสันหลังช่วงที่เคลื่อนไหวได้รอบทิศทางและเป็นกระดูกที่อ่อนแอที่สุด เวลาที่เรานอน เราอาจนอนท่าที่ผิดโดยไม่รู้ตัว หมอนจึงเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราอยู่ในแนวที่ถูก

“เราทำหมอนด้วยความเชื่อที่ว่า เราอยากให้คนได้ใช้หมอนที่เข้ากับตัวเอง แต่การทำแบบนั้นคือการเปลี่ยนพฤติกรรมคน ยิ่งในสมัย 10 ปีที่แล้ว คนยังไม่ได้สนใจเรื่องสุขภาพและการนอนขนาดนี้ มันก็จะยากหน่อย” เซ้งเล่าอุปสรรคที่ mr.big ต้องเจอในช่วงแรก
“ปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะได้หมอนเป็นของแถมจากการซื้อที่นอน คนเลยไม่ซื้อหมอน ช่วงแรกๆ ของการขายจึงเหนื่อยมาก เพราะปกติพนักงานขายเขาจะเชียร์ให้ขายหมอนที่นุ่มและแน่น แต่พอเป็นของเรา เขาต้องบอกว่าต้องเลือกหมอนให้เข้ากับน้ำหนักของลูกค้า คนก็จะรู้สึกว่าวุ่นวาย ไม่เอา”

เมื่อต้องอธิบายเยอะแล้วไม่มีคนสนใจ พนักงานขายจึงต้องงัดกลยุทธ์การขายโดยการชูวัสดุที่เป็นไหมญี่ปุ่นขึ้นมา ถึงจะเรียกความสนใจจากลูกค้าได้ แต่สุดท้ายเซ้งก็ยืนยันให้พนักงานขายกลับไปพูดแบบเดิม
“เราต้องพูดเสียงดังและยืนยันที่จะพูดแบบนี้ สิ่งที่ทำให้เราอยากไปต่อเรื่อยๆ คือลูกค้าแหละ เพราะเราเป็นบริษัทเล็กๆ ไม่ได้มีพลังไปซื้อสื่อหรือคนดังมาพูดทีหนึ่งแล้วดังเลย แต่ตลอดมาก็จะมีลูกค้าคอยบอกต่อให้ เราก็จะขอลูกค้าว่าถ้าชอบก็อยากให้ช่วยบอกต่อ”

นอกจากหมอนรองคอ mr.big ยังออกหมอนข้างที่ใช้นอนกอด ซึ่งมีช่วงที่นุ่มและแน่นแตกต่างกันไปตามสรีระของคนใช้เช่นกัน หลังจากนั้น mr.big ก็ออกหมอน Orthocurve ที่ทำจาก memory foam นวัตกรรมโฟมที่กดแล้วค่อยๆ คืนรูป มีส่วนโค้งเว้าที่ชัดเจนและเข้าถึงซอกคอได้มากขึ้น ทำให้รองรับกระดูกคอได้ดีกว่าหมอนทั่วไป

ถึงอย่างนั้น memory foam ก็ยังมีข้อด้อยคือเมื่อเจออากาศเย็นแล้วจะแข็งตัว ทำให้เมื่อปะทะกับร่างกายที่มีอุณหภูมิอุ่นกว่า หมอนอาจจะยุบตัวลงได้ mr.big จึงพัฒนาหมอนอีกรุ่นชื่อ Orthocore โดยใช้โฟม Aero-Elastic ที่มีแผ่นโฟมเสริมแกนหมอน 2 แผ่นพิเศษ ทำให้หมอนแน่นยาวนาน แถมยังปรับระดับความแน่นของหมอนได้อีก

หมอนกรดไหลย้อน
ช่วงโควิด-19 ระบาดหนักเป็นช่วงที่ใครหลายคนมีความเครียดสะสม กิน นอน ไม่เป็นเวลา ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนขึ้น
หนึ่งในวิธีการรักษาที่คนทั่วโลกแนะนำคือการเอนตัวให้ลำตัวตั้ง 30-45 องศา และนั่นคือที่มาของ Gerd Pillow หรือหมอนแก้กรดไหลย้อนรูปทรงสามเหลี่ยมของ mr.big
“ในท้องตลาดตอนนั้นยังไม่มีหมอนแบบนี้ ผมเลยออกแบบหมอนให้มีส่วนสำคัญ 3 ส่วนในการช่วยรองรับท่ากึ่งนั่ง ทำให้ไม่ปวดคอ ในขณะเดียวกันตรงเอวที่จะรับน้ำหนักมาก หมอนเกิร์ดก็มีส่วนที่นูนขึ้นมาเพื่อชดเชยส่วนนั้นด้วย” เซ้งบอก
เรื่องบนเตียงก็ได้ นอกเตียงก็ดี
สินค้าไลฟ์สไตล์
พ้นไปจากหมอน ที่นอน ท็อปเปอร์ mr.big ยังคลอดสินค้าไลฟ์สไตล์ตามมาอีกมากมาย เพื่อทำให้ประสบการณ์การนอนและการใช้ชีวิตของลูกค้าสมบูรณ์ที่สุด

มีตั้งแต่หมอนรองคอที่ใช้สำหรับเดินทาง ซึ่งออกแบบมาเพื่อแก้ pain point ของหมอนรองคอทั่วไปที่มีรูปร่างเป็นเกือกม้า สวมแล้วดันคอ ทำให้คนใส่ก้มหน้ายิ่งขึ้น หมอนรองคอของ mr.big จึงออกแบบให้ด้านหน้าและด้านข้างนุ่มหนา ในขณะที่หมอนด้านหลังบางกว่า ได้องศาในการสวมใส่ที่เหมาะสมกับการเดินทาง


นอกจากนี้ mr.big มีหมอนรองหลังกับเบาะรองเท้าที่ชาวออฟฟิศเลิฟสุดๆ เพราะนำมาปรับใช้กับเก้าอี้สำนักงานได้ดี ลดอาการออฟฟิศซินโดรม มีชุดนอน หมอนอ้วนที่มีรูซุกแขนได้ยามหนาว และล่าสุดคือ ‘หมอนเสย’ ที่เป็นไวรัลในอินเตอร์เน็ตอยู่ช่วงใหญ่จนใครต่อใครเรียกกันว่า ‘หมอนเสว’ เพราะมันถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อพัฒนาสุขภาพทางเพศหรือ sexual health โดยเฉพาะ
หมอนเสย
จริงๆ แล้วหมอนเสยคือสินค้าที่ mr.big จับมือพัฒนากับน้าเน็ก (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา)
“น้าเน็กเห็นว่าเราจริงจังกับเรื่องนอนมาก เลยเกิดไอเดียว่าถ้าเราทำให้คนนอนดีแล้ว เราน่าจะทำให้คนมีเซ็กซ์บนเตียงดีขึ้นด้วย ทีมออกแบบของ mr.big จึงคำนวณระยะสัดส่วนร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง ต้นขา ขาหนีบ ซึ่งทำงานหนักมากเวลาเรามีเพศสัมพันธ์ และมันมีระยะที่กล้ามเนื้อแต่ละมัดทำงานได้ดีที่สุดอยู่”

ผลลัพธ์ของทั้งหมดนี้ถูกนำมากำหนดขนาดของหมอนเสยให้สามารถยกสรีระของฝ่ายผู้รับ (passive) ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ทำให้ฝ่ายกระทำ (active) ออกแรงกล้ามเนื้อได้ดีกว่าเดิม ยิ่งหากผู้รับเป็นผู้หญิง หมอนเสยก็จะทำให้เธอรู้สึกว่าโดนจุด G-Spot ได้ดี หลั่งสารหล่อลื่นได้เยอะ การมีเพศสัมพันธ์ก็จะเต็มที่อย่างที่มันควรจะเป็น
หลังจากปล่อยออกไป หมอนเสยก็กลายเป็นสินค้าขายดีที่สุดอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดว่าแคมเปญ 3.3 ที่ผ่านมา mr.big สามารถขายหมอนเสยได้ 100 ใบใน 8 นาที
“การมีสินค้าอย่างหมอนเสยแสดงให้เห็นว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมาแบรนด์หมกมุ่นเรื่องสรีระมากแต่เราก็ไม่เคยถึงเลเวลนี้ ไม่เคยแมสถึงขั้นนี้ (หัวเราะ) แต่ผมว่าเรื่องสุขภาพทางเพศมันคงจะแมส หลายๆ เพจก็ช่วยแชร์ ในมุมของแบรนด์มันก็ดีในแง่ที่ทำให้คนเห็นว่าเราเอาจริงเอาจังเรื่องสรีระมากเลยนะ และเราก็เอาจริงเอาจังมาตลอด”

เรื่องของเพื่อนนอนคนนี้นามว่า mr.big
mr.big เชื่อในความธรรมดาแต่พิเศษมาตั้งแต่ day 1
ในความหมายที่ว่า พวกเขาไม่อยากทำหมอนหน้าตาแปลกประหลาด แต่อยากทำหมอนหน้าตาธรรมดาที่ความหนา นุ่ม แน่นของมันต้องพิเศษและแตกต่างจากหมอนทั่วไป
“เราไม่อยากเปลี่ยนแปลงหมอนที่ทุกๆ คนใช้เลย เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงมันยาก เราเลยอยากทำหมอนหน้าตาธรรมดาที่พอดีกับเรา ในมุมออกแบบผลิตภัณฑ์มันรู้สึกชนะที่เราทำให้สินค้าที่หน้าตาเฉยๆ มีอะไรอยู่ข้างใน ข้อเสียคือหน้าตามันอาจจะถูกก๊อปได้ง่าย แต่เราว่าพวกเส้นใย ปริมาณ ความแน่น เขาก็จะทำได้ไม่เหมือนเรา คนที่ซื้อไปก็จะรู้สึกได้ว่ามันไม่เหมือนกัน”


อีกสิ่งหนึ่งที่ยังยึดถือมาเหมือนกันคือความซื่อสัตย์ mr.big จะไม่เชียร์ให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่ไม่เหมาะกับลูกค้า แม้สินค้าชิ้นนั้นจะทำให้พวกเขาได้กำไรเยอะกว่าก็ตาม
“ส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นนักกายภาพบำบัด เรามีโอกาสบอกลูกค้าแต่ละคนว่าเขาเหมาะกับอะไร ซึ่งถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ เราอาจจะชี้ทางผิดให้กับเขาก็ได้ ความซื่อสัตย์คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราพูดอะไรเราก็ต้องระมัดระวัง”
ปัจจุบัน เซ้งมองว่ากว่า 90% ของแบรนด์เครื่องนอนในตลาดพูดเรื่องท่านอนและสรีระแบบเดียวกับที่ mr.big พูดมาตลอด ซึ่งนั่นยืนยันว่าเขาเลือกทางถูก ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความท้าทายในการทำแบรนด์เช่นกัน

“นั่นแปลว่าสิ่งที่เราพยายามทำมา สิ่งที่เราคิดว่ามันแตกต่าง วันหนึ่งมันก็จะไม่ต่าง เมื่อมันถูกยอมรับจากลูกค้ามากขึ้น ผู้เล่นคนอื่นเขาก็จะได้ทำเหมือนกัน เบื้องหลังเขาเราไม่รู้หรอกว่าเป็นยังไงแต่เรามั่นใจว่าเบื้องหลังของเรามี backup data ที่ดี เราทำรีเสิร์ช ทดสอบอยู่ตลอด ความท้าทายของเราคือเราจะต้องหนักแน่นกับตัวเองให้มาก เพื่อไม่ให้เสียความตั้งใจในการทำหมอนของเรา
“การได้ทำหมอนเสยหรือหมอนรองคอ ได้ส่งไปให้คนเขาได้ใช้และเขาชื่นชมว่าได้ผลดี นี่คือสิ่งที่ช่วยเติมไฟให้เรา ทำให้เราอยากคิดอะไรเพิ่มขึ้นมา ในฐานะนักกายภาพบำบัดที่เคยทำงานกับคนไข้วันละ 8 คน วันนี้ผมได้ใช้ความเป็นกายภาพบำบัดรักษาคนไป 7-8 ประเทศ มันทำให้เราชื่นใจที่ทำให้ศาสตร์นี้ได้ไปใกล้ชิดคนมากขึ้น มันทำให้ผมรู้สึกขอบคุณและรักในวิชาชีพนี้มากๆ” ชายหนุ่มยิ้ม
