นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

More Than Waste

หลัก 4P+1 ของ MORE ที่พัฒนาวัสดุทางเลือกใหม่จากขยะเหลือทิ้งเป็นเฟอร์นิเจอร์พรีเมียม

สโลแกนของแบรนด์ MORE คือ Waste is MORE ด้วยความเชื่อที่ว่า waste หรือวัสดุเหลือใช้เป็นมากกว่าขยะ แต่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า

‘เยื่อกาแฟจากธุรกิจกาแฟ’ ‘ฝุ่นไม้จากโรงงานไม้’ ‘ฝาขวดไม่ใช้แล้วจากขวดที่ใช้ในธุรกิจ’ และของใกล้ตัวอีกมากมาย ไม่น่าเชื่อว่าวัสดุเหล่านี้สามารถนำมาแปลงร่างให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สวยในราคาพรีเมียมได้

แม้ในทุกวันนี้แต่ละธุรกิจจะมี waste เป็นขยะเหลือทิ้งจากการผลิตอย่างล้นหลาม แต่ทีม MORE บอกว่าความท้าทายที่สุดในการนำวัสดุมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ในเชิงเทคนิคหรือเชิงวิทยาศาสตร์ แต่จะทำยังไงให้ลูกค้ายินดีจะซื้อสินค้าจากขยะไปใช้ ทำยังไงให้ลูกค้าเปิดรับวัสดุทางเลือกใหม่และแต่ละธุรกิจหันมาสนใจสิ่งที่เป็นมากกว่าแค่กำไร

ด้วยเหตุนี้ บาส–จิระวุฒิ จันเกษม และ นัท–เจตนัตว์ ศุภพิพัฒน์ Co-founder ทั้ง 2 ท่านของ MORE จึงสร้างแบรนด์และทำธุรกิจร่วมกันขึ้นมาเพราะเชื่อว่าการสร้างโมเดลธุรกิจคือคำตอบที่ยั่งยืนของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ด้วยโมเดลธุรกิจที่แปลกใหม่และน่าสนใจ วันนี้เราจึงขอชวนคุยกับผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 2 ท่านและ เน็ท–จุมพล โซ่เจริญธรรม Senior Designer ถึงหลัก 4P+1 ในการทำธุรกิจภายใต้แบรนด์ MORE ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงนอกจาก product, price, place, promotion เพื่อสร้างแบรนด์รักษ์โลกได้อย่างยั่งยืน 

Product
Turn Innovation to Brand

บาสเล่าว่าจุดเริ่มต้นคือเขาซึ่งมีบทบาทเป็นนักวิจัยพัฒนาวัสดุของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงคั่วกาแฟ Amazon ซึ่งมีเยื่อกาแฟเหลือใช้และได้รับโจทย์สำหรับงานวิจัยในห้องแล็บของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ว่าจะสร้างมูลค่าใหม่จากเยื่อกาแฟได้ยังไง 

ส่วนนัทผู้เป็นเจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ‘ฮูก’ (HOOG) ก็มีโรงงานและต้นทุนที่พร้อมอยู่แล้วในการทำเฟอร์นิเจอร์ทั้งด้านการผลิตและกลยุทธ์การตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้า เมื่อทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนาวัสดุและเจ้าของโรงงานผู้ผลิตได้เจอกันจึงเริ่มลองผิดลองถูกร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมและปรับคุณสมบัติของวัสดุให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการนำมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยตั้งต้นจากเยื่อกาแฟเป็นวัสดุแรกในการวิจัย 

กระบวนการพัฒนาคือการนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมกับวัสดุต่างๆ แล้วนำมาขึ้นรูป ออกมาเป็นวัสดุทางเลือกในชื่อใหม่อย่าง PlassCoff (coffee + plastic), sawdust (sawdust + plastic), bottle cap เป็นต้น ซึ่งบาสเล่าว่าวัสดุเหล่านี้เกิดจากการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ

“พอมานั่งคุยกัน เราก็รู้สึกว่า เยื่อกาแฟเป็นเพียง waste ตัวหนึ่งจากธุรกิจหนึ่ง พอเราทำแล็บไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่าที่จริงแล้ว เรามี know-how ของคนไทย ที่ไม่ได้พึ่งพิงคนต่างประเทศแม้แต่นิดเดียวและยังใช้ waste ของคนไทย แล้วปัญหาขยะก็เริ่มมีมากขึ้นทุกวัน ก็เลยเอากระบวนการตรงนี้มาขยายผลต่อ และเอาวัสดุอื่นๆ มาลองทำ”  

ในฐานะดีไซเนอร์ เน็ทบอกว่า MORE โฟกัสที่การชูวัสดุเป็นหลักและใช้คอนเซปต์ที่เรียกว่า replace หรือสร้างวัสดุทดแทนที่เลียนแบบให้คล้ายวัสดุจริงที่สุด

“สมมติวัสดุที่ดูเหมือนไม้ เราก็จะพยายามทำ waste นั้นให้ดูเหมือนไม้ คือถ้าสังเกตสินค้าของเราจะไม่ได้ดูปุ๊บแล้วรู้ทันทีว่าทำมาจาก waste เราจะออกแบบให้แสดงความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของวัสดุที่มาจาก waste โดยตรงทั้งจากสีสันและพื้นผิว และพยายามออกแบบให้เรียบง่ายเพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร กล่าวคือลดความซับซ้อนลง ทำให้โครงสร้างเรียบง่ายเพื่อเป็นการลดการเกิด waste ให้ได้มากที่สุดด้วย”

โครงสร้างในการออกแบบที่เรียบง่ายที่เน็ตหมายถึง เช่น การสามารถถอดแยกชิ้นส่วนได้เพื่อให้ซ่อมแซมได้ง่ายในส่วนที่เชื่อมต่อกันระหว่างไม้กับพลาสติกรีไซเคิล ขาเหล็กที่สามารถแยกกับพื้นนั่งได้ซึ่งทำให้ง่ายต่อการนำกลับมารีไซเคิลด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้วัสดุทางเลือกใหม่ที่ MORE คิดค้นนั้นยังมีตัวเลือกหลากหลายทั้งแบบที่มีความพร้อมในการผลิตเชิงแมส ที่มีการเก็บรวบรวมวัสดุ สต็อกวัตถุดิบ และพัฒนากระบวนการผลิตที่นิ่งหมดแล้ว และยังมีวัสดุอีกแบบคือหมวด customize ซึ่งเป็นสนามเด็กเล่นของทีมที่ทดลองวัสดุใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้นอกจากสินค้าของ MORE ที่เห็นในวันนี้ ในอนาคตอาจมีสินค้าจากวัสดุทางเลือกใหม่และสินค้าชิ้นใหม่ที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่จำกัด 

Price
Added Value from Waste 

ในมุมธุรกิจ นัทอธิบายว่า “เราอยู่ในโพซิชั่นพรีเมียมแมส การตั้งราคาของเราจะสูงกว่าพวกเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นไม้ยางพาราประมาณ 20% และใช้หลักการ cost-based (อิงจากราคาต้นทุน) ในการตั้งราคา”  

โดย MORE ยังยึดหลักสวยและราคาเข้าถึงได้เพราะอยากให้ลูกค้าสามารถช่วยรักษ์โลกด้วยการซื้อของจาก waste ที่ใช้ได้จริง ใช้ได้นาน และใช้ได้เยอะ ไม่ใช่ซื้อใหม่แล้วทิ้งจนกลายเป็นการสร้างขยะชิ้นใหม่

ความท้าทายของทีม MORE คือการสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ว่าเบื้องหลังการผลิตสินค้ารักษ์โลกนั้นมีต้นทุนที่สูงกว่าสินค้าจากวัสดุทั่วไป บาสเล่าว่าเป้าหมายของทีมคืออยากลบภาพจำว่าของใช้ที่แปรรูปจากขยะเหล่านี้มักมีราคาถูก

“คนจะลืมคิดไปว่า ถึงแม้เราจะเอาวัตถุดิบที่เรียกว่าขยะมาทำ แต่วันนี้เราขายของที่ไม่ใช่ขยะนะ เราไม่ได้ขายเก้าอี้ที่ดูแล้วเป็นขยะ แต่ขายเก้าอี้ที่ดูเป็นเก้าอี้เหมือนปกติที่คุณใช้ เพราะฉะนั้นต้นทุนมันก็เลยจะสูง เราพยายามทำให้สินค้าดีที่สุด มีคุณภาพ ทำให้ทุกคนรู้สึกว้าวว่ามันมาจาก waste จริงเหรอ ถ้าผมไม่บอก คุณรู้ไหมว่ามันมาจาก waste ภาพของมันจะไม่ได้ต่างจากเก้าอี้ไม้ที่คุณเคยซื้อ เราพยายามจะทำลายความเชื่อว่าสินค้าจาก waste ไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย ดูไม่ดี ดูราคาถูก”

ทั้งนี้บาสเสริมว่าโมเดลธุรกิจของ MORE ไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเท่านั้น แต่เป็นการนำองค์ความรู้ทั้งหมดมาเพิ่มมูลค่าให้วัสดุในหลายรูปแบบ “เราไม่ได้บอกว่า MORE ขายเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ มันเป็นแค่สินค้าหมวดแรกๆ ที่เราอยากจะผลักดันด้วยความพร้อมของทีมพวกเราเอง ความจริงแล้วเราอยากจะบอกว่า MORE ขายทุกอย่างที่ใช้วัสดุจาก waste โมเดลของเราจึงไม่ใช่คนรับซื้อ waste แต่ชวนคนที่สนใจเปลี่ยน waste เป็นสินค้ามาคุยกัน พัฒนาวัสดุจากขยะของคุณแล้วคุณต้องรับซื้อสินค้านี้กลับไป ต้องพยายามที่จะพัฒนาและขายสินค้าที่ทำมาจาก waste ของคุณเอง ถ้าคุณอยากจะลด waste ของคุณ”

“เราพยายามจะนำเสนอลูกค้าให้เอา waste มาคุยกับเราและต้องรับผิดชอบในการซื้อผลิตภัณฑ์กลับไปแบบนี้ เพราะไม่งั้นมันกลายเป็นว่าทุกคนที่มี waste จะเอามาขายกับ MORE แล้วเราจะไม่ต่างอะไรกับร้านรับซื้อของเก่า waste ก็จะแค่ย้ายมากองที่เรา แต่เราก็จะไม่ได้ลดขยะให้กับใคร เจ้าของ waste ก็จะมองง่ายว่าสามารถใช้เงินให้จบไปแต่ไม่ได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา เขาก็จะไม่ตระหนักเรื่องของสิ่งแวดล้อมอะไรเลย แต่วันนี้เราจะเปลี่ยน waste ให้มันเป็นความภูมิใจของบริษัทเขาเอง นั่นคือความตั้งใจของเรา”

Promotion & Place 
Bring the World Closer to Sustainability 

ในการสร้างแบรนด์และการตลาด MORE ใช้คุณภาพของสินค้าเป็นตัวนำเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า เมื่อคาแร็กเตอร์ของแบรนด์แข็งแรงก็ทำให้สื่อสารความตั้งใจถึงลูกค้าได้ชัดเจน

“แบรนด์คาแร็กเตอร์ของเรามี 3 เสาหลัก คือเรื่องของ sustainability เพราะ waste คือทรัพยากรที่มีคุณค่าซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นแกนหลักของเรา แกนที่ 2 คือ innovation ที่ ณ วันนี้เรามีทีมทำวิจัยและพัฒนาวัสดุที่นำเทคโนโลยีมาใช้กับ waste เพื่อช่วยในการนำวัสดุกลับมา อย่างที่ 3 creativity คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์เพื่อที่จะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีและ resource ที่มาจาก waste ให้ถึงผู้บริโภค”

บาสมองว่าทั้ง 3 สิ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเล่าตัวตนแบรนด์ว่า MORE มีเส้นทางการเดินทางเป็นวงกลมคือมีที่มาจากคนทิ้งขยะและผ่านกระบวนการที่ทำให้วัสดุเหลือใช้กลับไปถึงคนทิ้งขยะเหล่านั้นอีกครั้ง โดยนิทรรศการเปิดตัวที่เล่าคอนเซปต์เหล่านี้ของ MORE จัดขึ้นครั้งแรกที่ Bangkok Design Week ซึ่งชวนดีไซเนอร์ 8 ทีม มาต่อยอดไอเดียเปลี่ยน waste เป็นวัสดุ เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัสดุเหล่านี้มีมูลค่าและคุณค่ามากกว่าที่ทุกคนคิด

ความพิเศษคือในกระบวนการคัดเลือก waste 8 อย่างเพื่อนำมาพัฒนาเป็นงานออกแบบนั้น มีการตั้งโจทย์จากปัญหาจริงที่ทำให้เกิดขยะในประเทศ นอกจากเยื่อกาแฟที่นำมาพัฒนาเพราะมี know-how อยู่แล้ว บาสบอกว่าเกณฑ์ในการเลือกวัสดุมีที่มาจากปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน 

“อย่าง PM2.5 เป็นเรื่องที่ทุกคนคำนึงถึง มีการรณรงค์ให้ทุกคนเลิกเผา แต่แล้วรัฐบาลมีทางออกให้กับเกษตรกรแล้วหรือยัง เราก็มาคิดต่อว่าอย่างใบอ้อย ถ้าเกษตรกรไม่เผา น่าสนใจไหมที่จะเอามาพัฒนาเป็นวัสดุ” นอกจากนี้ยังมีวัสดุตั้งต้นที่เป็นสิ่งเหลือทิ้งปริมาณมากจากการผลิตแบบแมสจากอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างฝุ่นไม้จากโรงงานไม้ ฝุ่นผ้าจากโรงงานผ้า อลูมิเนียมฟอยล์จากกล่องนม ฝาขวดที่ผู้คนยังไม่นิยมนำไปรีไซเคิล ไปจนถึงวัสดุเหลือทิ้งในครัวเรือนอย่างเปลือกไข่ 

“พอดีไซเนอร์เขาเห็นวัสดุเรา มันก็เป็นของเล่นใหม่สำหรับเขาในการที่จะไปทำงานต่อ บางทีเขาก็แนะนำดีไซเนอร์ด้วยกันให้เข้ามาคุยกับเรา พอเราเปิดตัวปุ๊บ คนก็เริ่มเดินเข้ามา แล้วก็เริ่มเกิด node ของคนที่เริ่มรู้จักเราแล้ว”

นอกจากสามารถเดินดูเฟอร์นิเจอร์และเข้ามาปรึกษาได้ที่โชว์รูมของ MORE ที่สุขุมวิทแล้ว นัทบอกว่า สามารถพบ MORE ได้ตามนิทรรศการและงานแฟร์ด้านดีไซน์ชื่อดังต่างๆ ที่หมุนเวียนไปจัดแสดง ที่ผ่านมา MORE เป็นแบรนด์แรกๆ ที่เล่าเรื่องนวัตกรรมวัสดุอย่างจริงจังทั้งในงานบ้านและสวนแฟร์, SX Sustainable Expo, FIND – Design Fair Asia, Maison&objet ฯลฯ

“ถ้าเป็นคนทั่วไปก็มักจะติดตามแบรนด์ได้ในแพลตฟอร์ม อิสตาแกรม เฟซบุ๊กของเรา ส่วนลูกค้าจะรู้จักจากทาง direct sales ที่เราวิ่งเข้าไปหาบ้าง” ซึ่งนัทมองว่าการติดต่อเข้าหาลูกค้า B2B สำหรับ MORE เป็นเรื่องไม่ยากเพราะตลาดมีความต้องการอยู่แล้ว อย่างคาเฟ่ Amazon ที่ต้องซื้อโต๊ะเก้าอี้อยู่แล้ว ก็เปลี่ยนจากซื้อเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปมาเป็นสินค้าเดิมจากเยื่อกาแฟของตัวเองที่ทำให้ธุรกิจได้รับผิดชอบในกระบวนการผลิตของตัวเองด้วย

นอกจากคาเฟ่ Amazon แล้วก็ยังมีคาเฟ่อื่นๆ อีกมากมายที่อยากรับผิดชอบต่อวัสดุเหลือทิ้งของตัวเองแล้วนำมาเปลี่ยนเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่าง Boncafé Thailand, Roots, Sizzler, Siwilai ที่ตั้งใจเก็บขวดเหลือมาเปลี่ยนทำเป็นวัสดุและของใช้สำหรับ Siwilai radical club 

“ในมุมของแบรนด์ สิ่งที่เราอยากสื่อสารกับคนทั่วไปคือเราอยากให้ทุกคนลด waste เราไม่ได้บอกว่าเราต้องการจะมีความท้าทายที่เยอะมหาศาลขนาดนี้ ให้ทุกคนช่วยกันก่อนในการลด waste แล้วหลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของเราที่จะเข้าไปช่วยพวกคุณอีกทีหนึ่งในการเอา waste ที่ลดแล้วไปพัฒนาต่อ” บาสสรุปความตั้งใจที่ไม่อยากเป็นทีมเดียวที่รักษ์โลก แต่อยากสร้างคอมมิวนิตี้ของสังคมที่ทุกคนช่วยกันในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ล้นหลาม 

Preservation
Keep Going to Expand Community 

สำหรับบาส ‘preservation’ หรือการรักษาไว้ให้ได้คือสิ่งสำคัญในการทำ MORE ที่อยากให้การทำธุรกิจมีความสมดุลตรงกลางระหว่างการอนุรักษ์กับธุรกิจ

“ทีมเรามานั่งตกผลึกด้วยกันว่า ถ้าเราอยากจะทำสิ่งนี้ไปนานๆ มันควรจะทำให้เป็นธุรกิจ เพราะถ้าเรารักสิ่งแวดล้อมแต่สุดท้ายบริษัทมีเงินทุนไม่พอ ก็จะต้องตัดเรื่องสิ่งแวดล้อมออกไป มันเลยเป็นที่มาว่ามาตั้งแบรนด์และทำแบรนดิ้งกัน

“ในมุมธุรกิจ เราก็ต้องเลี้ยงตัวเอง ถ้าเกิดเราอยากทำเรื่องนี้แล้วเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เราจะไม่มีทรัพยากรในการทำต่อ ณ วันนี้เราเลยจำเป็นต้องเข้ามาทำตรงนี้ ด้วยความที่คิดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมก่อนและอยากจะเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจ แต่สำหรับคนที่มีธุรกิจอยู่แล้ว ที่มุ่งหวังผลกำไรเราก็อยากให้เขามีมุมนี้บ้าง นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี เราอยากให้ธุรกิจในโลกใหม่ๆ คิดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่คิดถึงผลประโยชน์อย่างเดียว”

บาสเล่าอินไซต์ว่าเวลาคุยกับ waste owner หรือบริษัทผู้มีวัสดุเหลือใช้ก็พบว่าบางบริษัทยังมองเรื่องรักษ์โลกเป็นเพียงกิมมิกหรือทำเพราะอยากอินเทรนด์เท่านั้น ซึ่งการไม่พร้อมลงแรงและลงใจอย่างจริงจังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ทำงานร่วมกันยาก

“เราอยากจะให้คำว่า preservation เป็นอีกคำหนึ่งที่ ณ วันนี้ เราเชื่อเราทำแบบนี้ แต่เราคาดหวังว่าวันหนึ่ง เราอาจจะมีแรงโอเปอเรตและส่งต่อไปถึงบริษัทอื่นๆ ที่คิดถึงคำนี้ด้วยเหมือนกัน เลยเลือกคำนี้มา” ความฝันของทีมคืออยากขยายต่อความตั้งใจไปเรื่อยๆ และปั้นให้ MORE เป็นแพลตฟอร์มของคอมมิวนิตี้ที่ธุรกิจต่างๆ ช่วยกันรักษาทรัพยากรของโลกใบนี้ควบคู่กับการทำธุรกิจไปด้วยกัน


Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like