นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

เวลามีค่า

‘Mirai Shokudo’ ร้านอาหารแห่งอนาคต ที่ให้คุณใช้เวลาแทนเงิน มีวันละเมนู และไม่โดดเดี่ยวเมื่อมาคนเดียว

เวลา = เงิน

ปี 2011 ภาพยนตร์ไซไฟแอ็กชั่นเรื่อง In time ที่นำแสดงโดยจัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) และอแมนดา ไซเฟรด (Amanda Seyfried) นำเสนอคอนเซปใหม่ของโลกในอนาคตที่ผู้คนหยุดเวลาความเสื่อมถอยของร่างกายไว้ที่ 25 ปี อธิบายให้ฟังง่ายๆ ก็คือคุณจะมีรูปลักษณ์เสมือนหนุ่มสาวที่อายุ 25 ตลอดไปแม้ว่าคุณจะมีอายุมากเท่าไหร่ก็ตาม

แค่คอนเซปต์การหยุดความแก่เฒ่าของร่างกายที่คัดค้านความจริงของโลกก็ว่าแปลกตาแล้ว แต่อีกคอนเซปต์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นแกนหลักของเรื่องคือ การใช้เวลาเป็นสิ่งแลกแปลี่ยนแทนสกุลเงิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีหลักการว่า ในโลกอนาคตสิ่งที่ล้ำค่าราวกับเงินตราคือ ‘เวลา’ เมื่อคุณอยากจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า อาหารใดๆ คุณจะใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้สิ่งของชิ้นนั้นมา ประชาชนทุกคนไม่มีกระเป๋าสตางค์ แต่จะมี ‘เวลา’ ระบุอยู่บนข้อมือตนเอง ซึ่ง ‘เวลา’ นี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากเท่าไหร่ และในขณะเดียวกันมันเป็นเหมือนนาฬิกา คอยบอกคุณว่าคุณจะสามารถมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกกี่ปี 

ทุกครั้งที่คุณซื้อของ เวลาที่เหลืออยู่บนโลกของคุณจะลดลง และในขณะเดียวกันคุณสามารถเพิ่มเวลาบนข้อมือคุณได้ด้วย ‘การทำงาน’

เราอยากจะบอกกับคุณว่าคอนเซปต์การใช้ ‘เวลา’ แทนเงินตราในการจ่ายค่าอาหารไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ในหนัง แต่มันได้เกิดขึ้นแล้วบนโลกใบนี้

ที่ประเทศญี่ปุ่น

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

ที่นี่…ญี่ปุ่น

โคบายาชิ เซไก (Kobayashi Sekai) เจ้าของร้านอาหาร มิไร โชคุโด (Mirai Shokudo–แปลเป็นไทยว่า ร้านอาหารแห่งอนาคต) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานี Jimbocho ในกรุงโตเกียว เธอคิดคอนเซปต์ที่ใช้เวลาในการทำงานและค่าอาหารขึ้นมา โดยคุณสามารถทำงานเป็นเวลา 50 นาทีเพื่อแลกกับอาหาร 1 มื้อ (อาหารกลางวันแบบเซต ราคา 900 เยน)

งานที่คุณสามารถทำเพื่อแลกกับการได้กินอาหารฟรี 1 มื้อ มีตั้งแต่การเตรียมอาหาร การเก็บโต๊ะ ล้างจานรวมไปจนถึงการเก็บกวาดร้านเมื่อร้านปิด

แล้วไอเดียในการใช้เวลาทำงานแลกอาหารของเธอได้แต่ใดมา?

เดิมทีโคบายาชิเป็นวิศวกรทำงานอยู่ที่ IBM Japan และต่อมาย้ายไปทำงานที่ Cookpad (เว็บไซต์รวบรวมสูตรอาหารของญี่ปุ่น) โดยที่นี่ได้ให้แรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าแก่โคบายาชิในการเปิดร้านอาหาร เพราะที่ออฟฟิศของ Cookpad จะมีครัวกลางที่พนักงานสามารถทำอาหารและนั่งกินข้าวร่วมกันได้ โคบายาชิสังเกตเห็นว่าเพื่อนร่วมงานของเธอชอบกินอาหารที่เธอทำ และภายในครัวของออฟฟิศมักจะมีเสียงพูดคุยและเสียงหัวเราะเกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อเธอทำอาหารและแบ่งปันให้แก่เพื่อนร่วมงาน 

จากเดิมที่ออฟฟิศเงียบๆ เหงาๆ ต่างคนต่างเอาข่าวมานั่งกิน กินเสร็จก็ลุกออกไป เมื่อโคบายาชิลุกขึ้นมาทำอาหารในปริมาณที่มากพอที่จะแบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมงานได้ และเพื่อนร่วมงานก็เอนจอยกับอาหารและบทสนทนาต่างๆ ก็ลื่นไหลไปกับบรรยากาศแห่งความสุขรอบโต๊ะอาหาร โคบายาชิจึงเห็นเป้าหมายอันแน่ชัดของตัวเองในวัย 30 กว่าๆ ว่า เธอจะเปิดร้านอาหารของตัวเอง

โคบายาชิตัดสินใจลาออกจากการเป็นวิศวกร แล้วไปตระเวนฝึกงานตามร้านอาหารเพื่อเปิดร้านอาหาร และในปี 2015 ร้านอาหาร มิไร โชคุโด จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

ร้านอาหารที่ต้อนรับทุกคนเสมอ

การทำงานแลกข้าวของร้านอาหาร มิไร โชคุโด ก็ว่าเจ๋งแล้ว แต่อันที่จริงแล้วคอนเซปต์ที่ว่าให้ทำงานเป็นเวลา 50 นาทีแลกกับการกินอาหารได้ฟรี 1 มื้อ เธอคิดขึ้นมาเพื่อสนองต่อหลักการในการเปิดร้านอาหารของเธอ นั่นคือ เธอต้องการให้ร้านอาหาร มิไร โชคุโด เป็นร้านอาหารที่ต้อนรับทุกคน และเหมาะสมกับทุกคน

แต่ร้านอาหารจะเหมาะสมกับคุณและต้อนรับคุณได้อย่างไร ถ้าคุณไม่มีเงิน?

โคบายาชิ เริ่มคิดหาคำตอบจากคำถามนี้ เธอจึงเกิดไอเดียการทำร้านอาหารที่ต้อนรับคนทุกคนที่เดินเข้ามาในร้าน ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็ตาม แต่คุณจะต้องอิ่มท้องออกจากร้านอาหารร้านนี้ที่เธอเป็นเจ้าของ

นี่จึงเป็นที่มาของการทำร้านอาหารให้คนสามารถทำงาน 50 นาทีเพื่อแลกกับมื้ออาหารได้

แต่ไม่ใช่ว่าใครจะวอกล์กอินเข้ามาทำงานเมื่อไหร่ก็ได้ คุณจะต้องลงทะเบียนจองเวลาการทำงานผ่านเว็บไซต์ของทางร้านก่อนล่วงหน้า เพื่อการจัดการที่ดีและเป็นระบบระเบียบ ร้านมิไร โชคุโด เป็นร้านที่มีโคบายาชิเพียงคนเดียวที่เป็นทั้งเจ้าของร้านและเป็นลูกจ้างภายในร้าน ดังนั้นเธอจึงยินดีเป็นอย่างมากที่จะมีคนมาช่วยเหลืองานร้านอาหารของเธอเพื่อแลกกับการกินอาหารฟรีของที่ร้าน

ภาพที่เราจะได้เห็นกันเมื่อเดินเข้าไปในร้าน มิไร โชคุโด จึงเป็นโคบายาชิกำลังทำงานในร้านอาหารกับพนักงานมากหน้าหลายตาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาที่ร้านของเธอ บ้างก็เป็นนักเรียน บ้างเป็นคนวัยทำงาน หรือบางทีอาจเป็นนักท่องเที่ยวหน้าตาออกไปทางชาวคอร์เคเชียนไปเลย

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

ไม่มีเวลาเหรอ…เราให้

บางคนที่ลงทะเบียนและมาทำงานเป็นเวลา 50 นาทีให้กับร้านก็มาทำเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานร้านอาหาร หรือเพื่อต้องการอยากเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อมื้ออาหารที่ดีให้กับคนอื่นๆ พวกเขาและเธอบางคนก็ไม่ได้ต้องการที่จะกินอาหารฟรีหลังจากที่ทำงานเสร็จแล้ว โคบายาชิจึงมีระบบการใช้คูปอง ‘เวลา’ เกิดขึ้น

ขอวกกลับมาที่ภาพยนตร์เรื่อง In Time อีกครั้ง จุดเปลี่ยนสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่พระเอกของเรื่อง คือจัสติน ทิมเบอร์เลก ได้พบกับอภิมหาเศรษฐีทางด้านเวลาที่นำแสดงโดยแมตต์ โบมอร์ (Matt Bomer) โดยแมตผู้ร่ำรวยทางเวลาและมีเวลาเหลือเฟือพอที่จะอยู่ไปได้จนนิจนิรันดร์ ได้โอนถ่ายเวลาของเขาให้กับพระเอกของเรื่อง คือจัสตินนั่นเอง

เป็นอีกครั้งที่ร้านอาหาร มิไร โชคุโด ใช้คอนเซปต์เดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง In Time หากคุณมีเวลา ซึ่งถูกนับเป็นเงินตราอยู่มากจนเกินจำเป็น ที่ร้านแห่งนี้อนุญาตให้คุณสามารถส่งมันต่อให้กับคนอื่นที่ต้องการมันมากกว่าคุณได้

การส่งต่อเวลาที่ร้านอาหาร มิไร โชคุโด มิได้ให้คนเอาข้อมือมาเชื่อมต่อกันเพื่อถ่ายโอนเวลาดั่งในภาพยนตร์ แต่โคบายาชิจะให้คนที่ต้องการส่งต่อเวลานี้แก่ผู้อื่น เขียนวัน-เวลา ที่พวกเขาและเธอทำงานไว้ใส่ในกระดาษโพสต์อิทเล็กๆ พร้อมเขียนข้อความต่างๆ ที่พวกเขาและเธออยากจะเขียนติดไว้อยู่ที่กระดานแขวนหน้าร้าน

ดังนั้นคนที่เข้ามาที่ร้านแห่งนี้แต่ไม่มีเงินและไม่มีเวลา คุณก็ยังคงได้รับการโอบรับอย่างดีจากร้าน เพียงแค่คุณดึงกระดาษโพสต์อิทแล้วเดินเข้ามาในร้าน คุณก็จะได้รับอาหารฟรี 1 มื้อ

ตัวอย่างข้อความต่างๆ ที่ เขียนไว้ในกระดาษโพสต์อิทได้แก่ “กินให้อร่อยนะ” “มาเที่ยวไต้หวันบ้างนะ” ฉะนั้นนอกจากคนที่ดึงคูปองโพสต์อิทเหล่านี้ไปใช้จะได้อิ่มท้องแล้ว เมื่ออ่านข้อความต่างๆ บนกระดาษแผ่นเล็กๆ เหล่านี้ พวกเขาก็คงจะได้ความอิ่มอกอิ่มใจด้วยเช่นกัน

นอกจากการทำงานแลกมื้ออาหารจะเป็นคอนเซปต์หลักที่มีสื่อต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศพูดถึง เมื่อเอื้อนเอ่ยถึงร้าน มิไร โชคุโด อีกหนึ่งคอนเซปต์ของร้านอาหารแห่งอนาคตนี้ที่เข้มแข็งไม่แพ้กันคือการบริหารจัดการอาหาร

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

คำถามที่อยากให้มีคนมาช่วยคิดคำตอบ

“เที่ยงนี้กินอะไรดี” 

ประโยคคำถามโลกแตกที่วนเวียนเข้ามาในสมองทุกวัน และเราก็ต้องคิดหาคำตอบให้แก่คำถามนี้ทุกวัน โคบายาชิจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการเสิร์ฟเมนูอาหารภายในร้านวันละ 1 เมนู หมายความว่าคุณไม่จำเป็นที่จะต้องคิดว่า คุณอยากกินอะไร เพราะร้านนี้มีเพียงแค่ 1 เมนูในวันนี้ 

โคบายาชิเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ Kydonews ว่าส่วนใหญ่นักธุรกิจหรือพนักงานที่มีเวลาจำกัดในช่วงพักกลางวันต้องการกินอาหารที่อิ่มอร่อยและรวดเร็วที่สุด ดังนั้นหากเธอตัดตอนคำถามที่ว่า “เที่ยงนี้กินอะไรดี” ออกไปได้ เธอจะสามารถประหยัดเวลาให้กับลูกค้าได้

นอกจากประหยัดเวลาให้กับลูกค้าแล้ว การเสิร์ฟอาหารเพียงแค่วันละ 1 เมนูเป็นการประหยัดเวลาในการเตรียมอาหารให้แก่โคบายาชิอีกด้วย เมื่อมีลูกค้าเดินเข้าประตูร้านมา เธอก็สามารถเตรียมจัดอาหารใส่จานให้แก่ลูกค้าได้เลยในทันที (เพราะเธอรู้อยู่แล้วว่าลูกค้าจะต้องกินอะไร เนื่องจากมันมีอยู่แค่เมนูเดียวทั้งร้าน) ดังนั้นเมื่อลูกค้านั่งลงกับเก้าอี้เสร็จเรียบร้อย โคบายาชิก็แทบจะเสิร์ฟอาหารได้เลยในทันที

นอกจากการเสิร์ฟอาหารเพียงแค่เมนูเดียวของโคบายาชิจะทำให้เธอสามารถจัดการเวลาของลูกค้าแต่ละคนได้ดีแล้ว เธอยังสามารถบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบอาหารได้ดีอีกด้วย

หากคุณมีรายการอาหารในเมนูมากมายนับสิบนับร้อย นั่นหมายความว่าคุณจะต้องเตรียมวัตถุดิบในการทำเมนูแต่ละเมนูให้พร้อมเพรียง ไหนจะบางเมนูที่ขายไม่ออก วัตถุดิบที่เตรียมไว้อาจจะเน่าเสียทิ้งอีก แต่ถ้าหากคุณมีเมนูอาหารเพียงแค่เมนูเดียว คุณก็เตรียมวัตถุดิบในการทำอาหารเพียงแค่สำหรับอาหารเมนูเดียวเท่านั้น แบบนี้คุณก็จะสามารถบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบของคุณได้โดยแทบจะไม่มีอะไรเหลือให้เสียเลย เพราะทุกอย่างที่เตรียมมาต้องใช้กับเมนูที่คุณเตรียมมาขายในวันนี้แน่นอน

แล้วการเสิร์ฟอาหารของโคบายาชิเพียงแค่วันละ 1 เมนูก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ลูกค้าเบื่อเมนูอาหารแล้วไม่กลับมากินข้าวที่ร้านอีก เพราะโคบายาชิจะเปลี่ยนเมนูในการเสิร์ฟไปเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วอีกสองเดือนเมนูเดิมที่เคยเสิร์ฟถึงจะกลับมาขายอีกครั้ง อีกทั้งโคบายาชิยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเสนอไอเดียในการทำเมนูอาหารของสัปดาห์ถัดไปอีกด้วย ว่าเธอควรจะทำอาหารอะไรขาย และนี่เป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดที่ทำให้ลูกค้ากลับมากินข้าวที่ร้านของเธอ เพื่อกลับมาดูว่าโคบายาชิได้ทำเมนูที่พวกเขาเสนอไปหรือไม่ และทำออกมาแล้วหน้าตาและรสชาติเป็นยังไง

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

อาหารตามสั่ง ณ กรุงโตเกียว

สำหรับอาหารมื้อกลางวันที่ขายเป็นเซต อยู่ที่ราคาเซตละ 900 เยน แต่หากเป็นอาหารเย็นและคุณอยากจะให้โคบายาชิเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในวันนั้นมาทำอาหารเมนูอื่น (ที่ในวันนั้นในร้านไม่ได้เสิร์ฟ) คุณก็สามารถบอกโคบายาชิได้ โดยมื้อเย็นนี้คุณจ่ายเพิ่มอีก 400 เยน คุณก็จะได้อาหารตามสั่งตามเมนูที่คุณอยากจะกิน

โดยโคบายาชิจะเขียนวัตถุดิบไว้บนกระดานว่าวันนี้มีวัตถุดิบอะไรบ้าง เช่น ไข่ ต้นหอม ปลา ที่เหลือก็สุดแต่ความคิดสร้างสรรค์หรือเงื่อนไขของคุณจะพาไป ลูกค้าบางคนอาจเกิดอาการไม่สบายตัว จึงอยากให้โคบายาชิต้มซุปร้อนๆให้กิน หรืออาจจะอยากให้โคบายาชิทำโอเด้งให้กินในวันที่อากาศหนาวๆ 

โคบายาชิเองเคยบอกเอาไว้ว่า โจทย์ที่เธอคิดว่าท้าทายที่สุดตั้งแต่เคยเปิดร้านมาคือ การที่มีลูกค้าเคยรีเควสต์ให้เธอทำบักกุดเต๋ให้กิน (แต่เธอไม่ได้บอกเอาไว้ว่าลูกค้าคนนั้นให้ฟีดแบ็กยังไงหลังจากได้ชิมบักกุดเต๋ฝีมือโคบายาชิแล้ว) แต่โดยภาพรวมลูกค้ามักจะเขียนถึงร้านของโคบายาชิว่า เป็นร้านอาหารที่มีรสชาตินุ่มนวลและอ่อนโยน และเป็นรสชาติที่สามารถกินได้ทุกวัน

ระบบอาหารตามสั่งแบบนี้กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างโคบายาชิกับลูกค้า แต่อันที่จริงการออกแบบโต๊ะที่นั่งของร้าน มิไร โชคุโด ของโคบายาชิได้สนับสนุนความคิดที่จะให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างลูกค้า-ลูกค้าอยู่แล้ว

Mirai Shokudo
miraishokudo.com

ร้านที่คุณจะไม่โดดเดี่ยวเมื่อต้องนั่งกินข้าวคนเดียว

โต๊ะที่นั่งภายในร้าน มิไร โชคุโด ถูกออกแบบให้เป็นโต๊ะรูปตัวยู หรือรูปเกือกม้า จำนวนเพียง 12 ที่นั่ง โดยทุกคนหันหน้าเข้าหากันและโคบายาชิยืนอยู่ตรงกลางตรงเคาน์เตอร์เพื่อคอยบริการลูกค้า ดีไซน์โต๊ะแบบนี้ทำให้ทุกคนสามารถมองเห็นหน้ากันและกันได้ คนที่มากินข้าวคนเดียวก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อต้องนั่งกินข้าวคนเดียว

โคบายาชิอาจนิยามความหมายของ คำว่า ‘ร้านอาหารแห่งอนาคต’ ไว้ว่าเป็นร้านอาหารที่ผู้คนจะไม่โดดเดี่ยว ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับการต้อนรับและอิ่มท้องเป็นอย่างดีอย่างเท่าเทียมกันหากมาเยือนที่นี่ โคบายาชิเธอได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเส้นทางการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์และการทำธุรกิจสามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้ เพราะเธอสามารถบริหารจัดการร้านจนพอมีกำไรและอยู่รอดมาได้จนวันนี้

โคบายาชิออกแบบโลกอนาคตที่เธออยากอาศัยอยู่ในแบบของเธอแล้ว คุณอยากอยู่ในโลกอนาคตแบบไหนคุณเองก็สามารถออกแบบมันได้เช่นกัน

ที่มา

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like