MILLImeter
เส้นทางของศิลปินชื่อ ‘MILLI’ เพิ่มเติมคือ มีธุรกิจยิมมวยและหนังสือเล่มแรกเป็นของตัวเอง
จากเด็กสาวที่ขึ้นไปประกาศศักดาบนเวทีรายการ The Rapper Thailand Season 2 มาวันนี้ ‘มินนี่–ดนุภา คณาธีรกุล’ หรือ ‘มิลลิ’ (MILLI) หรือ ‘นวย’ aka ตามแต่ใครจะยินดีเรียก ได้กลายมาเป็นแร็ปเปอร์เบอร์ต้นของประเทศไทย ภายใต้ชายคาของค่าย YUPP! Entertainment โดยปราศจากข้อกังขาในความสามารถของเธอ
นอกจากผลงานเพลงฮิตติดชาร์ตทั่วบ้านทั่วเมือง อย่าง พักก่อน, สุดปัง, 17 นาที, สาธุ, Sad Aerobic ฯลฯ อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ชีวิตของมิลลิเติบโตอย่างก้าวกระโดด นั่นคือการได้เป็นศิลปินหญิงเดี่ยวชาวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นไปแสดงบนเวทีระดับโลกอย่าง Coachella เมื่อปี 2022 ร่วมกับค่าย 88rising พร้อมประกาศก้องให้โลกรู้ว่า คนไทยไม่ได้ขี่ช้าง และเมนู ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ นั้นโคตรจะแซ่บ
และในตอนนี้ชีวิตของศิลปินชื่อมิลลิกำลังก้าวสู่อีกเส้นทาง นั่นคือการเป็นหุ้นส่วนเจ้าของยิมมวยย่านพระราม 9 ที่มีชื่อว่า ‘Rope a Dope’ (โรป อะ โดป) ร่วมกับศิลปินรุ่นพี่ในวงการแร็ปเปอร์อย่าง ‘ธชา คงคาเขตร’ หรือ ‘หลุยส์ 1-Flow’ รวมไปถึงการมี ‘MILLIPEDIA’ หนังสือเล่มแรกในชีวิต ที่เธอนิยามว่าเป็น ‘สารานุกรม’ บอกเล่าการเติบโตในชีวิตทุกๆ มิลลิเมตร
น่าสนใจว่ากีฬามวยมีอิทธิพลยังไงกับแร็ปเปอร์หญิงรายนี้ ธุรกิจยิมมวยที่มีชื่อว่า Rope a Dope ของเธอน่าสนใจยังไง มีวิธีการบริหารแบบไหน และทำไมเธอถึงตัดสินใจออกหนังสือเล่มแรกของตัวเอง รวมไปถึงเส้นทางการเติบโตของเธอในฐานะศิลปินให้แง่คิดอะไรกลับมาบ้าง เราขอชวนฟังคำตอบจากปากของมิลลิไปพร้อมกัน ในคอลัมน์ Brand Belief ตอนนี้
Let’s Get Ready to Rumble!

วันนี้สามารถพูดได้เต็มปากแล้วหรือยัง ว่าเด็กหญิงที่ชื่อ ‘มินนี่’ เมื่อหลายปีก่อน เติบโตเป็นศิลปินที่ชื่อว่า ‘มิลลิ’ อย่างเต็มภาคภูมิ
ถ้าพูดถึงชีวิตการเป็นศิลปินหนูรู้สึกตัวเองโตขึ้นมาหลายระดับ แต่ก็ยังมีหนทางอีกไกลให้ได้โตอีก ทุกวันนี้หนูยังรู้สึกเอนจอยกับอาชีพศิลปิน ยังรู้สึกเอนจอยกับการได้ออกไปเอนเตอร์เทนผู้คน แต่ถ้าพูดถึงในแง่ของชีวิตส่วนตัว หนูรู้สึกว่าความเป็น ‘มินนี่’ มันยังคงอยู่เสมอ หนูให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว ออกไปเที่ยว ออกไปทำสิ่งที่อยากทำซึ่งมีอยู่เต็มไปหมด
คิดว่าการที่ได้เล่นบนเวที Coachella เมื่อปี 2022 คือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตและของอาชีพการเป็นศิลปินหรือเปล่า?
มันมีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในทุกๆ วัน รู้ตัวอีกทีหนูใช้ชื่อมิลลิมา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ยังเรียนมัธยมไม่จบจนตอนนี้จบมหา’ลัย บางคนยังนึกว่าหนูอายุ 17 ไม่ใช่จ้า ตอนนี้อายุ 22 แล้ว คือใช้ชีวิตได้คุ้มมาก
สำหรับเวที Coachella มันเป็นเหมือนตัวจุดประกายที่นำพาบทเรียนหลายๆ อย่างให้ตัวเองได้เรียนรู้มากขึ้น เข้าใจวิธีการทำงานของเวทีระดับโลกที่มีการแข่งขันกันสูงมาก ที่นั่นเขามองทุกอย่างเป็นเรื่องของธุรกิจ ผิดกับที่ไทยที่ศิลปินในวงการมีความเป็นพี่เป็นน้องกันสูง
แต่ถ้าถามว่ามีอะไรเปลี่ยนไปมากมั้ยหลังกลับมาจาก Coachella นอกจากจะได้กินเมนูข้าวเหนียวมะม่วงแทบทุกร้าน ทุกอย่างในชีวิตแทบจะเหมือนเดิม หนูยังนั่งมอเตอร์ไซค์ไปทำงาน ยังเดินห้างซื้อของเข้าบ้าน ชีวิตประจำวันยังคงเหมือนเดิม


หลายคนมักพูดว่า มิลลิดูเป็นคนมีเอนเนอร์จี้ ดูแอ็กทีฟตลอดเวลา คำถามคือคุณมีเคล็ดลับในการรักษาทั้ง 2 สิ่งนี้ยังไงให้มีอยู่ในทุกๆ วัน
เอาเข้าจริงถ้าวันไหนรักษาไม่ได้หนูก็จะไม่รักษา มีวันหนึ่งหนูเคยตื่นเช้ามาวิ่ง 10 กิโลฯ ต่อด้วยว่ายน้ำ เข้ายิมไปเวท เสร็จแล้วค่อยออกไปทำงาน เสร็จงานก็กลับมาปั่นจักรยาน แต่มันก็จะมีบางวันที่เราอยากตื่นมาแล้วไม่อยากทำอะไรเยอะแยะ มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ เช่นสั่งมะยงชิดมากินสักกล่อง ออกไปหาอาหารอินเดียอร่อยๆ กิน ไปหาคนที่เราอยู่ด้วยแล้วรู้สึกแฮปปี้
ไม่นานมานี้หนูเพิ่งบอกกับตัวเองว่า ชีวิตเรามีเรื่องให้เครียดเยอะมากเหมือนกันนะเนี่ย แต่ยังดีที่รู้จักหาความสุขใส่ตัวเองเป็นไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม ซึ่งมุมนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้บอกในโซเชียลฯ
ดูเหมือนคุณจะเป็นคนชอบหากิจกรรมใหม่ๆ ทำอยู่เสมอ
ใช่ อย่างช่วงนี้ก็ชอบกิจกรรมที่เป็นกีฬา ก็จะออกไปลองเล่นกีฬาหลายๆ ประเภท ที่ผ่านมาก็มีโบว์ลิ่ง ปีนผา และเวคบอร์ด ส่วนใหญ่เป็นกีฬาแนวเอกซ์ตรีม ทุกวันนี้เลยเจ็บข้อเจ็บเข่าไปหมด (หัวเราะ)
จริงๆ อีกกีฬาที่หนูชอบคือการต่อยมวย หนูต่อยมวยมาได้ 2 ปีแล้วนะ เริ่มต่อยครั้งแรกตอนช่วงเรียนมหา’ลัยปี 3 เหตุผลที่เริ่มเล่นเพราะว่า เครียดจากการซ้อมดนตรีเลยอยากออกกำลังกาย อีกส่วนหนึ่งคือเป็นคนชอบกีฬา MMA (Mixed Martial Arts) แต่หาเรียนยากและราคาค่อนข้างแพง
เผอิญแถวหอนักศึกษามีค่ายมวยก็เลยไปลองเข้าดู ซึ่งหนูแสดงเจตจำนงกับพี่เจ้าของค่ายว่า หนูไม่ได้อยากมาแค่ออกกำลังกาย หนูอยากรู้ว่ามวยไทยคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง การฝึกซ้อมแบบไหนดีที่สุดเป็นยังไง พี่เขาก็ตั้งใจสอน จนทุกวันนี้สนิทกับพี่เจ้าของค่าย มาค่ายทีเขาก็ดูแลเราเหมือนเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่ง
ซึ่งหนูได้ค้นพบตัวเองว่า การที่เราโดนครูมวยต่อยหรือเตะ ถือเป็นอีกวิธีในการปลดปล่อยความเครียด ความเครียดที่สะสมมันถูกระบายผ่านความเจ็บปวดทางร่างกาย จนนานวันก็กลายเป็นความชอบในกีฬามวย โดยเฉพาะมวยไทย หนูชอบมวยไทยเพราะส่วนตัวเราเป็นคนบู๊ๆ ชอบพุ่งชน และดาเมจมันเยอะกว่ามวยประเภทอื่นๆ
กระทั่งเรียนจบต้องกลับมาใช้ชีวิตในเมือง ก็ยังไม่เจอค่ายมวยที่ถูกใจ หนูรู้สึกว่าค่ายมวยในเมืองพอลูกค้าเขาเยอะเขาไม่สามารถลงรายละเอียดการฝึกซ้อมได้เหมือนแบบที่หนูเคยเจอมาก่อน จนวันหนึ่งมาเจอกับยิมมวย Rope a Dope ของพี่หลุยส์ (ธชา คงคาเขตร ศิลปินแร็ปเปอร์ aka 1-Flow) ซึ่งที่นั่นสอนมวยสากลเป็นหลัก ก็เลยหันมาเล่นมวยสากล เทคนิคที่จำได้แม่นจากตอนเรียนมวยสากลคือท่าต่อย Peek a Boo เป็นท่าไม้ตายที่ต้องย่อตัว โยกหลบ แล้วกลับขึ้นมาฮุก เป็นไม้ตายแบบเดียวกับที่ไมค์ ไทสัน ใช้ประจำ

จากลูกค้าทำไมถึงกลายมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจของยิมมวย Rope a Dope ได้
คือปกติเราเป็นคนไม่ค่อยเสียตังค์ให้กับอะไร พอพี่หลุยส์เอ่ยปากชวนมาเป็นหุ้นส่วนก็รู้สึกว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ
พี่หลุยส์โฆษณาให้ฟังว่าเขาอยากทำ Rope a Dope ให้เป็นยิมมวยเหมือนของต่างชาติ ติดแอร์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พอได้ฟังไอเดียจนจบก็เลยอยากลองลงทุนดูสักครั้ง เพราะนี่เป็นสิ่งที่เราชอบ เราต่อยอดกับมันได้ และที่สำคัญคือพอเราลงทุนเป็นหุ้นส่วน Rope a Dope ก็เหมือนได้เป็นสมาชิกยิมฟรีตลอดชีวิต
ทำไมถึงต้องเป็นยิมมวยสากล
เอาจริงๆ มวยสากลในประเทศไทยหาเรียนยาก ความยากต่อมาพอเป็นธุรกิจมวยสากลคือ ฝรั่งหรือคนไทยส่วนใหญ่ที่มาก็อยากจะเรียนมวยไทย เพราะเป็นคนไทยหรือมาถึงประเทศไทยก็ต้องเรียนมวยไทย มวยสากลก็เลยหาเรียนยากแต่มันก็ใช่ว่าจะไม่มี ที่นี่ก็เลยอยากจะเป็นอีกหนึ่งที่สอนมวยสากล
ชื่อยิม Rope a Dope หมายถึงอะไร
Rope a Dope เป็นเทคนิคหนึ่งในการชกของมวยสากล เป็นท่าที่ใช้หลังพิงเชือกโยกหลบคู่ต่อสู้ นักมวยที่ใช้เก่งๆ ก็คือมูฮัมหมัด อาลี เป็นท่าชวนหงุดหงิดที่หนูเคยโดนมาแล้ว ซึ่งพี่หลุยส์ชอบท่านี้ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อยิม

Rope a Dope มีบริการอะไรบ้างที่แตกต่างจากยิมมวยสากลที่อื่นๆ?
ตอนนี้ Rope a Dope มีโปรแกรม ice bath ที่จัดขึ้นอาทิตย์ละครั้ง ซึ่งนำโปรแกรมโดยตัวหนูเอง กับอีกโปรแกรมคือ ‘นวดสปอร์ต’ (sport therapeutic massage) ที่ทำทั้งสองโปรแกรมนี้ขึ้นมา เพราะหนูสังเกตเห็นว่า คนที่มาต่อยมวยส่วนใหญ่ไม่ค่อยระมัดระวังตัวเอง บ้าพลังใส่สุดจนร่างกายบาดเจ็บ กับอีกอย่างคือไม่ค่อยยืดเส้นหลังฝึกซ้อม ซึ่งความยืดหยุ่นมันสำคัญมากๆ กับการต่อยมวย ยิ่งคุณออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงหนักๆ ยิ่งต้องดูแลร่างกายตัวเอง
ที่ Rope a Dope ยังมีคลาสหลายประเภทให้เลือก ทั้งคอร์สสำหรับคนที่อยากมาเพื่อออกกำลังกาย หรือคอร์สส่วนตัวสำหรับคนที่อยากรู้ทุกอย่างของมวยสากล ไปจนถึงคอร์สสำหรับคนที่อยากเทิร์นตัวเองเป็นนักมวยสากลจริงๆ จังๆ โดยเทรนเนอร์ในยิมก็เป็นเทรนเนอร์ที่ฝึกสอนหนูมากับมือ

คุณมักจะเน้นย้ำเสมอว่า Rope a Dope เป็น ‘ยิมมวย’ ไม่ใช่ ‘ค่ายมวย’ เพราะอะไรจึงต้องเน้นย้ำแบบนั้น
เหตุผลเพราะถ้าเป็นค่ายคุณจะต้องมีนักมวยเป็นของตัวเอง แต่ Rope a Dope ยังไม่มีนักมวยเป็นของตัวเอง ตอนนี้เราเป็นเหมือนยิมอเนกประสงค์ เรามีที่ออกกำลังกายก็เลยอยากพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นให้มันทำอะไรได้มากขึ้น
จุดมุ่งหมายเราอยากทำพื้นที่ตรงนั้น (พระราม 9 ซอย 41) เป็น ‘ฮับ’ เพราะว่านอกจากจะมียิม ใกล้ๆ ตรงนั้นยังมี ‘ร้านกะเพราเสือป่า’ ที่พี่หลุยส์ทำกับพี่สาว เพราะฉะนั้นถ้าเกิดคุณมาที่ฮับนี้ คุณหิวไม่มีแรงก็ไปกินกะเพราก่อนแล้วค่อยไปต่อยมวย หรือคุณต่อยมวยเสร็จแล้วหิวก็ไปกินกะเพราต่อได้เลย และถ้าเผื่อในอนาคตมันเวิร์กจริงๆ ร้านกะเพราเสือป่าก็อาจจะมีเมนูคลีนสำหรับคนรักสุขภาพ รวมๆ ฟีลเหมือนคุณมาออกกำลังกาย มากินข้าวแถวบ้าน มีกลิ่นอายความเป็นโฮมมี่
ยากไหมกับการมีธุรกิจตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย
หนูว่าฟีลๆ จอยๆ ดีค่ะ ถ้าทุกคนที่มายิมจะได้เจอหนูแน่ๆ บางวันหนูจะอยู่รับแขกด้วยตัวเองตั้งแต่ 8 โมง อยู่จนยิมปิดตอน 2 ทุ่ม หลังยิมปิดหนูก็อยู่ปั่นจักรยาน เล่นเวทเทรนนิ่งไปเรื่อย
ทีมงานของ Rope a Dope ตอนนี้หลักๆ มีอยู่ 3-4 คน ทุกคนช่วยแบ่งเบาการทำงาน งานแอดมินหนูก็ทำ ใครที่ทักเข้ามาในเพจแล้วแอดมินตอบว่าค่ะ ก็จะเป็นหนูตอบ แต่ถ้าตอบว่าครับ ก็จะเป็นครูมวยตอบ หลังๆ หนูดีใจมากที่ยิมมีลูกค้ามากขึ้น


ดูคุณจะเป็นคนที่เนิร์ดเรื่องมวยมากๆ เพราะนอกจากคุณจะเป็นหุ้นส่วนยิมมวยแล้ว คุณยังเป็นสปอนเซอร์ให้กับนักมวยอีกด้วย
จุดเริ่มต้นมันมาจากที่หนูได้ร่วมโปรเจกต์หนึ่งกับค่ายมวย Fairtex ทีนี้ทางนั้นเขาก็ถามว่าสนใจเป็นสปอนเซอร์ให้กับแรมโบ้เล็ก ฉ.อจลบุญ ไหม ซึ่งหนูก็รู้สึกว่าคอมมิวนิตี้มวยมันมีความเป็นพี่น้องเหมือนวงการฮิปฮอป และหนูเห็นว่านักมวยคนนี้ดูทรงดีนะ ก็เลยตัดสินใจเป็นสปอนเซอร์ให้เขาในนามยิม Rope a Dope
ประสบการณ์การได้เป็นสปอนเซอร์ให้กับนักมวยเป็นยังไง
กดดันมาก ความรู้สึกแรกคืออย่ามาแพ้โดยที่มีชื่อยิมเราปักอยู่บนกางเกงนะ ทุกคนก็เลยเห็นรีแอกชั่นของหนูว่าเชียร์ได้โอเวอร์มาก อาจจะเพราะคนอื่นไม่เคยเห็นหนูในมุมที่อินกับมวยมากๆ หนูอินถึงขั้นที่วันเกิดปีที่แล้วหนูนั่งดูมวยกับที่บ้านจนหลับคาหน้าจอทีวี
ในอัลบั้มใหม่ของคุณที่กำลังจะปล่อยเร็วๆ นี้ ก็มีซิงเกิลที่เกิดจากแพสชั่นในกีฬามวย?
เพลงแรกคือเพลง HEAVYWEIGHT ที่ใช้เปิดตัวพี่ตะวันฉาย (ตะวันฉาย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม) บนเวที ONE 170 กับอีกเพลงที่เพิ่งปล่อยมิวสิกวิดีโอไปชื่อว่าเพลง ONE PUNCH ซึ่งทั้ง 2 เพลงนี้จะอยู่ในอัลบั้มใหม่
อย่างเพลง HEAVYWEIGHT ชื่อมันก็มาจากรุ่นน้ำหนักมวย เนื้อหาในเพลงที่พูดถึงในนั้นสื่อถึงเราเป็นนักมวยที่เคยอยู่ระดับสมัครเล่นมาก่อน จนเติบโตมาเป็นรุ่น atomweight ผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักจนมาเป็นรุ่นที่ใหญ่ที่สุดในมวยสากลสมัครเล่น นั่นคือรุ่น Heavyweight เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็เข้ามาได้เลย เราจะต่อยมันให้หมด
ส่วน ONE PUNCH เป็นเพลงที่เล่าถึงการพิสูจน์ตัวเองในฐานะที่เป็น women fighter ที่มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ต้องสู้ สู้กับการถูกตราหน้าว่าจะทำได้หรือ? แต่จริงๆ เราทำได้อยู่แล้ว และเราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรเพื่อคุณ ซึ่งอัลบั้มเต็มทั้งหมดจะได้ฟังในเดือนมิถุนายน

ข้อคิดสำคัญที่ได้จากการบริหารธุรกิจ Rope a Dope คือ?
การพูดคุยกับผู้คน การประชุมอย่างเดียวจะไม่เกิดผลจนกว่าจะลงมือทำ เราคุยฟุ้งเรื่องไอเดียได้แต่ต้องจับมือกันไปทำงานด้วย เพราะอย่างพี่หลุยส์เขาก็มีหลายธุรกิจที่ต้องทำ หนูก็จะเข้ามาช่วยดูแล เข้ามาสานต่องานที่ต้องทำ
ส่วนในอนาคตนอกจากอยากจะสร้างฮับของคนรักกีฬามวย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะส่งนักมวยสากลสักคนไปต่อยในรายการจริงๆ จังๆ สักรายการ
จากเรื่องธุรกิจมวย ตอนนี้คุณเพิ่งมีหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ชื่อว่า ‘MILLIPEDIA’ ซึ่งคอลแล็บร่วมกับ ‘ขายหัวเราะ’ ด้วย
มันเริ่มมาจากทางขายหัวเราะติดต่อมาว่า อยากชวนหนูมาร่วมทำโปรเจกต์หนึ่งซึ่งขายหัวเราะเป็นหนังสือที่เราผูกพันมาตั้งแต่เด็ก แล้ววันนี้เขาอยากคอลแล็บกับเรา นำเสนอชีวิตของศิลปินชื่อมิลลิผ่านหนังสือสักเล่ม แต่ชีวิตของหนูถ้าจะให้เล่าในมุมที่จริงจังก็อาจไม่ใช่ตัวเองสักเท่าไหร่ โดยปกติหนูเป็นคนที่ make fun กับ trauma ของตัวเอง ข้างนอกฮาๆ ข้างในฮือๆ ก็เลยรู้สึกว่า ขายหัวเราะน่าจะถ่ายทอดเรื่องราวของหนูออกมาได้ดี

ชื่อหนังสือ MILLIPEDIA มาจากอะไร?
มันได้ไอเดียมาจากตอนที่หนูเสิร์ชประวัติตัวเองในวิกิพีเดีย ผลปรากฏคือไม่มีข้อมูลข้อไหนที่ตรงเลย พื้นเพหนูไปเกิดสุราษฎร์ธานีได้ยังไง หนูเกิดที่โรงพยาบาลหัวเฉียว หนูก็เลยเขาไปแก้ไขข้อมูลว่า พื้นเพเป็นคนสวย หลังจากนั้นคือเข้าไปแก้ไขข้อมูลอะไรไม่ได้อีกเลย (หัวเราะ)
ก็เลยเป็นไอเดียว่า ข้อมูลในวิกิพีเดียไม่มีอะไรถูกต้องเลย ถ้างั้นเราสร้างมิลลิพีเดียเป็นของตัวเอง รับรองว่าข้อมูลถูกต้องแน่นอน


ทำไมถึงนิยาม MILLIPEDIA ว่าเป็น ‘สารานุกรมชีวิต’ ของมิลลิ
เพราะข้างในหนังสือเล่มนี้จะเล่าทุกเรื่องที่คุณสงสัยเกี่ยวกับหนู และมีบางเรื่องที่หนูไม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไหนมาก่อน ถ้าเป็นมะม่วงก็เหมือนมะม่วงที่ถูกปลอกเปลือกจนเห็นเนื้อในทั้งหมดให้ทุกคนได้ชิมกัน
เรื่องมีตั้งแต่ตัวหนูเริ่มจากศูนย์ ตั้งแต่ตัวเท่าหัวเข่า อะไรที่ทำให้เด็กคนนี้มั่นอยากจะเป็นดารา อยากจะเป็นศิลปิน ซึ่งจริงๆ ตอนแรกหนูไม่อยากเป็นด้วยซ้ำ หนูอยากเป็นพิธีกร อยากเป็นนักจิตวิทยา อยากเป็นผู้ประกาศข่าว เพราะเราชอบกระดกลิ้น ร เรือ ชอบอ่านหนังสือ แต่ทำไมถึงลงเอยมามีอาชีพเป็นศิลปิน แร็ปเปอร์
ในหนังสือจะไล่ทุกอย่างในชีวิตของหนูตั้งแต่ตอนประกวด The Rapper วันที่ได้ขึ้นเวที Coachella จนถึงไปในอนาคตว่าหนูมองแผนในชีวิตตัวเองยังไง ซึ่งพอทำกับขายหัวเราะ แน่นอนว่าก็จะมีภาพประกอบเนื้อหาที่ลายเส้นน่ารัก เหมือนอ่านการ์ตูนขายหัวเราะเพลินๆ สักเล่ม
คนที่ได้อ่านหนังสือ MILLIPEDIA จะได้อะไรกลับไปบ้าง
ไม่แน่ใจว่าชีวิตของหนูจะเป็นประโยชน์ให้กับคนอ่านได้มากน้อยแค่ไหน แต่หนูรู้สึกว่าบางคำถามในชีวิตที่หนูสามารถตอบตัวเองได้แล้ว อาจจะเป็นคำตอบให้กับคำถามของผู้อ่านหลายๆ คน จริงอยู่ที่รูปแบบของสิ่งที่เจอในชีวิตมันอาจจะไม่เหมือนกัน แต่มันอาจจะมีแนวทางในการผ่านเรื่องนั้นไปใกล้เคียงกัน หรือมันอาจจะมีแนวทางในการตัดสินใจที่คล้ายๆ กัน ซึ่งผู้อ่านอาจจะนำเอาไปใช้ได้
จนถึงตรงนี้คุณได้ผ่านทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่แย่มาไม่น้อย คิดว่าสิ่งเหล่านี้สอนอะไรแก่คุณบ้าง
หนูไม่ได้เสียใจให้กับเรื่องที่แย่นะ อาจจะมีบางเรื่องที่รู้สึกเสียใจที่ตัวเองปากแจ๋วเกินไป แต่สุดท้ายมานั่งคิดดูอีกที เรื่องบางเรื่องมันเป็นความผิดพลาดที่สอนเรา
อย่างดราม่าของ พักก่อน ซึ่งเป็นเพลงเดบิวต์ของหนูที่มีการใช้คำพูดที่ฟังแล้วรู้สึกรุนแรง ถ้าไม่มีดราม่าในวันนั้น ในวันนี้หนูก็อาจไม่ตระหนักว่า หนูจำเป็นต้องรับผิดชอบกับผลงานของเราที่ไปถึงหูผู้ฟังจำนวนมาก ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจเพลงของเราได้ทั้งหมด ในเมื่อทุกคนไม่ได้เติบโตมาแบบเดียวกัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องแคร์คนฟังให้มากๆ คิดถึงใจคนอื่นให้มากขึ้น และพิถีพิถันกับงานของเราให้มากขึ้น

ถ้าเปรียบการเติบโตของชีวิตตัวเองเป็นหน่วย ‘มิลลิเมตร’ คิดว่าตัวคุณเติบโตไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว
1 กิโลเมตร เท่ากับ 1 ล้านมิลลิเมตร ถ้างั้นหนูว่า 5 ปีที่ผ่านมา ชีวิตศิลปินของหนูน่าจะเพิ่งผ่านไปแค่ 1 ล้านมิลลิเมตร หนูว่ามันแป๊บเดียวเองนะ ปกติหนูวิ่งเพซ 4 แป๊บเดียวก็ 1 กิโลเมตรแล้ว (หัวเราะ)
‘MILLIPEDIA : บันทึก MILLI ทุกมิลลิเมตร’ คือหนังสือที่บันทึกถึงเส้นทางการเติบโต การเดินตามความฝัน และทุกเหตุผลที่ทำให้ ‘มินนี่–ดนุภา คณาธีรกุล’ หรือ ‘มิลลิ’ (MILLI) กลายเป็นศิลปินแร็ปเปอร์ชื่อดัง ผ่านลายเส้นคาแร็กเตอร์ประกอบเนื้อหาโดย ขายหัวเราะ Studio จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ Salmon Books ราคา 245 บาท

(เครดิตภาพ : เพจเฟซบุ๊ก ขายหัวเราะ)