Big Move
ขวบปีที่ 38 ของแมคโดนัลด์ไทย จากจุดเริ่มต้นโดยนักเรียนทุน สู่เบอร์เกอร์ขายดีอันดับ 1 ในไทย
โลโก้ตัว M โค้งมนสีเหลือง เฟรนช์ฟรายส์ในกล่องแดง ชุดอาหารที่มาพร้อมกับของเล่นสุดน่ารัก
แม้จะยังไม่ได้บอกชื่อแบรนด์ แต่เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้ว่าเรากำลังพูดถึงอะไรอยู่ เพราะด้วยความแข็งแรงของแบรนด์รวมถึงการยืนระยะอยู่ในไทยมานานถึง 38 ปี จึงไม่แปลกที่หลายคนจะจดจำแบรนด์นี้ได้แม้จะยังไม่ได้เอ่ยชื่อ McDonald’s มาเลยก็ตาม
ทว่ากว่าจะเดินทางมาถึงขวบปีที่ 38 McDonald’s ไทยนั้นผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่าน big move ครั้งสำคัญมามากมาย
จากจุดเริ่มต้นของ ‘เดช บุลสุข’ เด็กหนุ่มชาวไทยที่ได้รับทุน AFS ไปเรียนต่อที่อเมริกา การเดินทางข้ามทวีปในครั้งนั้นนำพาเขาไปพบกับร้านอาหารที่มีชื่อว่า McDonald’s ซึ่งเขาชื่นชอบทั้งสูตรอาหารและสูตรการทำร้านอาหารแห่งนี้เป็นอย่างมากถึงขนาดกลับมาเขียนจดหมายเพื่อส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของ McDonald’s ในรัฐอิลลินอยส์เพื่อขอนำแบรนด์เข้ามาเปิดในไทย
ไม่ใช่เพียงแค่เดช เพราะยังมีนักธุรกิจอีกหลายคนสนใจอยากเอา McDonald’s เข้ามาเปิดในไทยเช่นกัน ทว่าอาจเพราะเล็งเห็นความตั้งใจและวิสัยทัศน์ว่าเดชจะเป็นผู้นำพาแบรนด์โกบอลให้เติบโตในตลาดโลคอลอย่างประเทศไทยได้ จากบรรดาตัวเลือกทั้งหลาย ในที่สุดเดชก็เป็นผู้ถูกเลือกให้เป็นผู้บริหารอย่างเป็นทางการในไทย
พูดแล้วฟังดูเหมือนง่าย แต่กว่าเดชจะได้รับความไว้ใจจากบริษัทแม่ให้นำ McDonald’s เข้ามาในบ้านเราเขาต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองและรอคอยกว่า 2 ปีเลยทีเดียว
หลังได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของ McDonald’s ในประเทศไทย เดชต้องเดินทางไปยัง Hamburger University ของ McDonald’s ที่ฮ่องกง เพื่อศึกษาการทำธุรกิจแฮมเบอร์เกอร์อย่างลงลึก จนในที่สุดวันที่ 16 มีนาคม 2528 ร้านแมคโดนัลด์สาขาแรกในไทยก็ได้ถูกเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยตั้งอยู่ในห้างโซโก้ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมมาเป็นอัมรินทร์พลาซ่า และไทยก็เป็นประเทศที่ 35 ของโลกที่มี McDonald’s วางขาย
ณ เวลานั้น McDonald’s ได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นอย่างมาก แตกกิ่งก้านสาขาไปได้หลายแห่ง แต่ดูเหมือนว่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ McDonald’s ในไทยเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีกขั้นคือในช่วงปี 2549 ที่เจ้าพ่อโรงหนังเมเจอร์อย่าง วิชา พูลวรลักษณ์ ได้เข้าซื้อหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ McDonald’s ไทย (นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเวลาเราไปดูหนังที่ Major มักจะเห็นร้าน McDonald’s อยู่ได้บ่อยครั้ง เพราะทั้งสองแบรนด์มีเจ้าของเดียวกัน) ความแข็งแรงของ Major จึงได้กลายมาเป็นอีกรากฐานสำคัญที่สร้างการเติบโตให้ McDonald’s ไทย มาจนถึงทุกวันนี้ได้
โดยในปัจจุบัน McDonald’s มีสาขาอยู่ 226 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานอยู่ 4,000 กว่าคน มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ในตลาดเบอร์เกอร์บ้านเรามากถึง 60%
โดยในยอดขาย 100% ของ McDonald’s เป็นยอดที่มาจากช่องทางหน้าร้าน 40% ช่องทาง Drive Thru 20% ส่วนอีก 40% ที่เหลือเป็นยอดขายที่มาจากทางเดลิเวอรี
big move ที่สำคัญอีกอย่างของ McDonald’s ในยุคปัจจุบัน คือเมื่อปี 65 ที่ผ่านมา McDonald’s ได้ประกาศเปิดตัว กิตติวรรณ อนุเวชสกุล เป็นซีอีโอคนใหม่ของแบรนด์
ในอดีตกิตติวรรณเป็นเบื้องหลังผู้ฝากผลงานสำคัญๆ ไว้กับ McDonald’s มากมาย ทั้งในช่วง launch คำว่า ‘I’m Lovin It’ ในไทย เป็นหนึ่งในทีมที่คิดเมนูโลคอลอย่างส้มตำเชค, เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวหมู ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันที่ทำให้เกิดแมคคาเฟ่ขึ้นมาด้วยเช่นกัน
ส่วนในปัจจุบัน McDonald’s ภายใต้การนำพาของกิตติวรรณจะเน้นการนำดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจ ทั้งในแง่ของสาขาหน้าร้านที่จะมีการทำร้านรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า EofT (Experience Of The Future) ที่ให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารด้วยตัวเอง แล้วจะมีพนักงานที่ร้านมาเสิร์ฟให้ จากปกติที่ลูกค้าจะต้องรออาหารอยู่หน้าเคาน์เตอร์
ส่วนเรื่องของอาหารก็จะมีการทำ Digital Food Safety ที่เอาเทคโนโลยีมาช่วยตรวจสอบคุณภาพอาหาร ซึ่งเดิมที McDonald’s มีการตรวจสอบคุณภาพอาหารอยู่แล้ว แต่การเอาดิจิทัลเข้ามาใช้ก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น แม่นยำมากขึ้น จากเดิมถ้าจะเทสต์คุณภาพเนื้อ เทสต์อุณหภูมิต่างๆ พอได้ค่ามาเสร็จก็ต้องมานั่งจดกันด้วยมือ แต่การทำ digital food safety หากนำเครื่องจิ้มเข้าไปในเนื้อ ข้อมูลที่ได้จากเนื้อชิ้นนั้นก็จะถูกส่งไปบน Cloud เอาไปประมวลผลต่ออีกที ซึ่ง McDonald’s ถือเป็นแบรนด์ QSR เจ้าแรกในไทยที่มีการเอา digital food safety เข้ามาใช้
นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ขยายสาขา รีโนเวตร้านเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น ครีเอตเมนูใหม่ๆ จัดเซตเมนูในราคาที่เข้าถึงง่าย
ซึ่งภายใต้กลยุทธ์ทั้งหลายเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายใหญ่ในฐานะ CEO อย่างกิตติวรรณ ก็คือการทำให้ McDonald’s เป็นแบรนด์ที่ผู้คนยัง Lovin’ It ในขวบปีถัดไปอยู่เรื่อยไป
อ้างอิง