ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์
เมื่อธุรกิจข้าวเหนียวมะม่วงถูกปลุกด้วยพลังของ MILLI จากเวที Coachella 2022
ในนาทีนี้ไม่น่าจะมีของหวานจานไหนท็อปฮิตติดเทรนด์มากไปกว่า ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’
จากการหยิบเอาข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นมากินปิดโชว์บนเวทีคอนเสิร์ต Coachella 2022 ที่เกิดขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ของแรปเปอร์สาวไทย MILLI (มิลลิ–ดนุภา คณาธีรกุล) กลับกลายเป็นว่าการตักข้าวเหนียวมะม่วงเข้าปากของเธอเพียงไม่กี่นาทีกลับสั่นสะเทือนไกลมาถึงประเทศไทย เพราะเธอกำลังปลุกกระแสข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ จนตอนนี้ร้านข้าวเหนียวมะม่วงทั่วประเทศกลับมาคึกคักรับออร์เดอร์กันอย่างไม่หวาดไม่ไหว
ก่อนหน้านี้ข้าวเหนียวมะม่วงถือเป็นเมนูยอดนิยมที่อยู่ในร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งเรื่องการขาดแคลนกำลังซื้อ ความวิตกกังวลเรื่องการออกไปจับจ่ายซื้อของ ฯลฯ และหนึ่งในวงการที่ได้รับผลกระทบคือ วงการข้าวเหนียวมะม่วง
จากกระแสที่เกิดขึ้นทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง เราจึงอยากชวนมาตามดูถึงผลที่เกิดจากกระแส ‘ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์’ จากคำบอกเล่าของคนที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจข้าวเหนียวมะม่วงมายาวนาน ว่าจุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากไหน การขึ้น-ลง ของธุรกิจข้าวเหนียวมะม่วงที่ผ่านมาเป็นยังไง และกระแสข้าวเหนียวมะม่วงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดผลกระทบยังไงบ้าง
ร้านที่เราไปสำรวจคือ ร้านข้าวเหนียวมะม่วงร้านดังย่านทองหล่อที่แฟนข้าวเหนียวมะม่วงไม่น่าจะมีใครไม่รู้จัก
แม่ค้าหญิงเจ้าของร้านผู้รับออร์เดอร์ทางโทรศัพท์ พลันอีกมือตักกะทิใส่ถุงหมุนมือโดยไวเพื่อรัดหนังยาง พร้อมๆ ไปกับสั่งการลูกน้องให้ปอกมะม่วงตามลูกค้าสั่ง ที่ข้อมือขวาของเธอใส่กำไลทองรูปพญานาครัดข้อมือ พลางบอกกับเราอย่างมีความสุขว่า “วันนี้แม่ (วารี) เอาพญานาคออกมาเล่นน้ำน่ะ”
วารี จีนสุวรรณ์ หรือที่ใครๆ เรียกเธอว่า ‘แม่วารี’ เล่าให้ฟังว่าเธอได้ทั้งวิชาได้ทั้งชื่อร้านมาจากคุณแม่ของเธอที่เคยเป็นแม่ค้าขายข้าวเหนียวมะม่วงอยู่ที่ตลาดพญาไท เมื่อครั้งแต่งงานกับสามีเลยต้องแยกครอบครัวออกมาอยู่ที่ห้องแถวหนึ่งคูหาที่ต้นซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ)
จากเดิมที่สามีทำกิจการขายผลไม้สดตามฤดูกาล เธอจึงคิดตามประสาผู้หญิงชอบทำงานว่าไม่อยากจะอยู่เฉยๆ อยากใช้วิชาที่มีจากคุณแม่มาช่วยกิจการสามีบ้าง เลยปรึกษากับสามีว่าขอแบ่งที่ครึ่งคูหากับสามี ครึ่งหนึ่งสามีเปิดร้านขายผลไม้ อีกครึ่งหนึ่งเธอจะเปิดร้านขายข้าวเหนียวมะม่วง
“เปิดมาตั้งแต่ปีไหน แม่จำไม่ได้แล้วนะเนี่ย แต่อยู่มาร่วม 40 ปีแล้วล่ะ เราเป็นคนคลุกคลีอยู่กับแม่ เรียนหนังสือไปด้วย และก็ช่วยแม่ทำงานไปด้วย พอแต่งงานแล้วก็คิดว่าอยากเอาตรงนี้มาต่อยอด ทีนี้มาต่อยอดแล้วก็คิดชื่อแบรนด์ แฟนเราก็บอกว่าใช้ชื่อเธอเลย แต่ใช้คำว่าแม่ข้างหน้า มันจะได้ดูขลัง (หัวเราะ) ตอนแรกก็คิดนะว่าจะเป็นเจ๊วารีดีไหม แต่ก็มาเป็นแม่วารีนี่แหละ”
แม่วารีเล่าไว้ว่า เมื่อแรกเริ่มกิจการเธอไม่ได้เอาสูตรของคุณแม่มาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เธอปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสูตรเรื่อยมา โดยขั้นแรกที่คิดเอาไว้คืออยากให้ถูกปากคนแถวทองหล่อ
“โอ๊ย คนแถวนี้หนึ่งเลยคือไม่กินหวาน สองคือเขาเลือกของนะ”
สูตรข้าวเหนียวมะม่วงแม่วารีจึงไม่เหมือนกับสูตรของคุณแม่เธอเสียทีเดียว เพราะเธอปรับให้หวานน้อย อร่อยมาก คัดสรรวัตถุดิบและที่มาของของทุกอย่างที่เอามาประกอบรวมกันเป็นข้าวเหนียวมะม่วง และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งหมัดเด็ดที่ทำให้เธอเอาชนะใจคนย่านสุขุมวิท 55 ได้
หรืออาจจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้น ความหวานน้อยอร่อยมากอาจจะเป็นหมัดเด็ดในการมัดใจลูกค้าจากทั่วทุกสารทิศที่มีใจรักข้าวเหนียวมะม่วง
“สุดท้ายลูกค้าไม่ได้มาจากแค่ทองหล่อนะ แต่มาจากทั่วประเทศเลย มาจากอยุธยา มาจากไหนๆ กัน คนนึงมาซื้อกันครึ่งโลฯ 10 กล่อง 20 กล่อง มาแล้วเขาก็ซื้อไปฝากกัน บอกกันปากต่อปาก ต่างประเทศเขาก็พากันมานะ มาแล้วก็ซื้อกลับไปฝากกัน”
ในขณะที่ธุรกิจกำลังราบรื่นและเติบโต แม่วารีก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือนทุกๆ ธุรกิจในบ้านเรา
ความเสียหายอันใหญ่หลวงที่โควิด-19 ทิ้งไว้แก่มวลมนุษยชาตินอกจากการสูญเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วยังส่งผลต่อเม็ดเงินที่สะพัดในระบบเศรษฐกิจ และหนึ่งในธุรกิจที่โดนพิษโควิด-19 ไปเต็มๆ คงหนีไม่พ้นธุรกิจอาหาร
ถึงแม้ว่าร้านข้าวเหนียวมะม่วงแม่วารีจะเน้นที่การขายเดลิเวอรีอยู่เป็นทุนเดิมแต่เธอก็เหมือนกับเพื่อนพ้องร่วมวงการข้าวเหนียวมะม่วงคนอื่นๆ ที่ต้องเซ่นพิษโควิด-19 เธอบอกเอาไว้ว่า ยอดขายของเธอหล่นฮวบลงมาอย่างน่าตกใจจากวิกฤตครั้งนี้
“โควิดจากวันละ 500,000 เหลือวันละ 50,000 ตกจนแบบ…” เล่าถึงตรงนี้เธอก็หยุดเล่าแล้วถอนหายใจ “เราก็พยายามคิดว่าเราจะทำยังไง เราก็ดันให้มีของหวาน ข้าวต้มมัด ขนมเทียน อะไรต่ออะไร ก็พยายามเอาวิชาออกมาต่อยอดให้ลูกน้องไม่ตกงานและอยู่รอด วุ้นเราก็ทำเองนะ พยายามทำกันเอง ลูกสาวก็ไปเรียนทำไอศครีม เราคิดว่าถ้าเราสบายก็สบายด้วยกัน ถ้าลำบากก็ลำบากไปด้วยกัน จากซีซั่น 1-2-3 ก็ไม่มีเหลือเก็บนะ แต่ประคองไปได้ในแต่ละเดือน แค่ให้ลูกน้องเราไม่ลดเงินเดือนก็พอแล้ว”
ในช่วงเวลาที่ธุรกิจซบเซา ธุรกิจต่างๆ ต้องประคับประคองให้ผ่านไปในแต่ละเดือน ข้าวเหนียวมะม่วงก็กลายเป็นปรากฏการณ์จนได้รับความนิยมในชั่วข้ามคืนจากโชว์ทรงพลังของ MILLI บนเวที Coachella 2022
ร้านข้าวเหนียวมะม่วงอย่างแม่วารีเองก็พลอยขายดิบขายดีไปด้วย
“รู้นะว่ามาจากนักร้องที่ชื่อมิลลิ ใช่ไหม ที่เอาข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปกินด้วยบนเวที นี่ว่าเดี๋ยวจะให้ลูกเปิดให้ฟังอยู่” เจ้าของร้านดังย่านทองหล่อตอบเมื่อเราถามว่ารู้ไหมว่าต้นทางของกระแสข้าวเหนียวมะม่วงมาจากที่ใด
ในวันนี้ที่ร้านล้นหลามไปด้วยผู้คนที่มารออุดหนุน เราชวนเธอคุยถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้ร้านข้าวเหนียวมะม่วงร้านหนึ่งยืนระยะผ่านช่วงเวลายากลำบากมาจนถึงวันนี้
ท่ามกลางร้านข้าวเหนียวมะม่วงมีอยู่เยอะแยะมากมาย ทำไมร้านข้าวเหนียวมะม่วงแห่งนี้จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
มองแบบผิวเผินองค์ประกอบของข้าวเหนียวมะม่วง 1 จาน มีเพียงแค่ไม่กี่อย่าง ที่แน่ๆ ก็มีข้าวเหนียว กะทิ มะม่วง และถั่วทอง องค์ประกอบเพียงไม่กี่อย่าง แต่รูป รส ของข้าวเหนียวมะม่วง แต่ทำไมข้าวเหนียวมะม่วงแต่ละร้านกลับแตกต่างกัน
คำตอบที่ดีที่สุดของคำถามนี้ จากปากคำของแม่วารีเองน่าจะแบ่งออกเป็น 2 ข้อใหญ่ๆ คือ วัตถุดิบที่นำมาใช้ และการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง
เคล็ดลับข้อแรกเธอขยายความว่า ที่เธอทำออกมาได้แตกต่าง เพราะเธอเลือกของ (ดี) มาทำของกิน
“สมัยก่อนเขาชอบใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูกันใช่ไหม เราก็ไม่ได้ใช่นะ เราใช้ข้าวเหนียวตราอูฐ ซึ่งมันจะคัดเม็ดกว่า เหนือกว่า และต้องมาจากเชียงรายเท่านั้นนะ หรืออย่างข้าวเหนียว กะทิก็ใช้จากในบาง สุราษฎร์ฯ คือของทุกอย่างมันต้องมีที่มาที่ไป เกลือก็มาจากสมุทรสาคร ถั่วก็ต้องอบ จ้างโรงงานอบ เราไม่มานั่งแช่มาคั่วนะ แบบนั้นมันจะแข็ง กินไม่ได้ มะม่วงเหมือนกัน เราก็เลือกนะ เลือกจากสวนที่เราไว้ใจมาแล้ว”
ข้าวเหนียวมะม่วง 1 ชุดของแม่วารี ประกอบไปด้วย ข้าวเหนียวมูนที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่า อยากได้ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวอัญชัน ข้าวเหนียวใบเตย หรืออยากได้ข้าวเหนียวทั้งสามสีอยู่ในชุดเดียวกัน มะม่วงสุกหั่นฝานพอดีคำ กะทิเข้มข้นรัดถุง และถั่วทองจำนวนพอดีโรยหน้า ทั้งหมดมาในราคา 150 บาท
ท่ามกลางเสียงออร์เดอร์จากโทรศัพท์ที่ดังไม่หยุด และอากาศร้อนระอุในเดือนเมษา กับเหล่าไรเดอร์นับ 20 รายที่ยืนเรียงรายอยู่หน้าร้าน แม่วารีโน้มตัวมากระซิบถามเราว่า
“เคยได้ยินไหม ที่เขาว่ากันว่าแม่ขายของแพง”
หากมองราคาข้าวเหนียวมะม่วง 1 กล่องราคา 150 บาท ด้วยตาเปล่าคุณก็คงจะคิดว่าแพง แต่แม่วารีอธิบายข้อครหาและข้อสงสัยที่ใครๆ อาจตั้งคำถามว่า ทำไมข้าวเหนียวมะม่วงของเธอจึงราคาสูงกว่าเจ้าอื่น
“เราเลือกของทุกขั้นตอนเลย เมื่อก่อนถ้ามาทองหล่อนี่ เรามีขาย 24 ชั่วโมงเลยนะ เราค่อยๆ นึ่งข้าวเหนียวตอนกลางคืนก็นึ่ง ค่อยๆ นึ่ง ค่อยๆ ออกทั้งวันทั้งคืน ให้มันอร่อยที่สุด แต่ตอนนี้ไม่ทำแล้วล่ะตอนกลางคืน ทำไม่ไหว แต่เรายังค่อยๆ ทำ และยังเลือกของเหมือนเดิม”
ยิ่งไปกว่าการบรรจงคัดวัตถุดิบและใส่ใจในการพัฒนารสชาติของตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง แม่วารียังเล่าถึงมะม่วง–ตัวเอกที่สำคัญในจานข้าวเหนียวมะม่วงไม่แพ้กันกับข้าวเหนียวมูน ที่ถูกนำมาขายในร้านว่า
“เราจะใช้น้ำดอกไม้กับอกร่อง อกร่องเนื้อจะน้อยแต่มันหวานชื่นใจ ส่วนน้ำดอกไม้เนื้อจะเยอะแต่จะหวานเย็น”
มะม่วงสุกรสหวานจากพันธุ์น้ำดอกไม้หรืออกร่องที่แม่วารีเลือกใช้อาจไม่แปลกหูแปลกตา แต่ที่น่าแปลกใจคือ เธอจัดการยังไงให้มีมะม่วงขายได้ตลอดทั้งปี
“เราก็ต้องมีลูกสวนสิ เรามีพ่อค้าคนกลางที่เขาดีลกับสวนให้เรา เพราะเขารู้ว่าเราขายทั้งปี แล้วรู้ไหมบางหน้าที่มะม่วงมันไม่มีเลย คนเขาก็เห็นเราขายแพง เพราะมันหาของไม่ได้เลย มันก็ต้องแพงสิ ดูตอนนี้สิ (เดือนเมษายน) มะม่วงโลฯ นึงไม่เท่าไหร่เอง เราก็ขายถูกนะ เราก็ใส่มะม่วงเพิ่มให้ลูกค้าช่วงที่มะม่วงมันราคาลง” แม่วารีพูดพร้อมรอยยิ้มพลางชี้นิ้วไปที่กองมะม่วงลดราคาที่วางเรียงรายบนชั้น
ส่วนเคล็ดลับข้อที่สองของเธอคือ การพัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อน
ว่ากันว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณหยุดนิ่ง อาจหมายความเท่ากับว่า คุณกำลังก้าวถอยหลัง เพราะเมื่อนั้น คู่แข่งของคุณอาจจะกำลังพัฒนาตัวเองอยู่ คำกล่าวดังว่าแม่วารีอาจจะไม่ได้เป็นคนริเริ่ม แต่เธอเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่เอาคำพูดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้จริง
จากการเที่ยวชิมข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าดังจากทั่วสารทิศ เธอจึงพัฒนาสูตรเรื่อยมา จากเดิมที่เคยใช้มะพร้าว 10 กิโลกรัมต่อการทำกะทิ 1 ชุด ตอนนี้เธอปรับเปลี่ยนให้รสชาติของกะทิเข้มข้นขึ้นด้วยการใช้มะพร้าว 20 กิโลกรัม ซึ่งนั่นหมายความถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่เธอก็ยอมแลก เพื่อให้ข้าวเหนียวมะม่วงที่อร่อยที่สุดในแบบของเธอเอง
“ขายมา 40 ปี ก็คิดเหมือนเดิม คิดอยู่เสมอว่าจะปรับปรุงยังไงให้ดีขึ้นนะ ของอร่อย (แล้ว) มีอร่อยกว่านี้อีกไหม ร้านที่เขาลือกันว่าอร่อยก็พยายามไปซื้อมานะ แล้วมาเทียบกับของตัวเอง ถ้ามีอะไรที่ดีกว่า เราต้องทำให้ดีขึ้น”