คนไทยแปลว่าอิสระ

สำรวจวิธีใช้ไลน์ในโลกการงานและธุรกิจแสนเฉพาะตัวที่คนชาติอื่นๆ เขาไม่ทำกัน

เมื่อไม่นานมานี้ LINE Thailand ได้เผยอินไซต์ที่น่าสนใจเกี่ยวพฤติกรรมการใช้ LINE ของคนไทยตลอด 12 ปี พบว่า ปัจจุบัน LINE เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแชตอันดับหนึ่งของประเทศ ด้วยจำนวนผู้ใช้กว่า 54 ล้านคน ซึ่งถ้าเทียบกับข้อมูลของ We Are Social ที่บอกว่า คนไทย 54.5 ล้านคนใช้อินเทอร์เน็ต นั่นหมายความว่า เกือบทั้งหมดของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้นใช้ LINE ด้วย ทำให้ LINE กลายเป็นเดลี่แอพฯ ที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือแม้แต่เรื่องงาน 

‘โลกการทำงานและโลกส่วนตัวที่ทับซ้อนกันอยู่’

ประเด็นที่น่าสนใจคือแม้ LINE จะเป็นแอพฯ แชตหนึ่งเดียวที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด แต่รู้ไหมว่าเมื่อสำรวจการใช้แอพฯ แชตทั่วโลก พบว่าา แอพฯ ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดไม่ใช่ LINE แต่เป็น WhatsApp ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดใน 63 ประเทศ จาก 100 ประเทศ รองลงมาคือ Facebook Messenger นิยมใช้มากสุดใน 16 ประเทศ และอันดับ 3 คือ Telegram เป็นแอพฯ ที่นิยมใช้ใน 10 ประเทศ ส่วน LINE เป็นที่นิยมใน 3 ประเทศเท่านั้น คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย (ข้อมูลจาก Similarweb Mobile App Intelligence)

เมื่อมองถึงการใช้เทคโนโลยีของคนไทย เพื่อการทำงานและการทำธุรกิจบนไลน์ คนไทยเป็นชาติที่มีลักษณะเฉพาะในการใช้ไลน์โดยใช้งานทั้งกับชีวิตส่วนตัวและการทำงาน โดยเฉพาะวัยทำงาน ที่ใช้ Group Chat เพื่อการทำงานเป็นหลัก และแอ็กทีฟตลอดวันตั้งแต่ 8:00-20:00 น. เรียกได้ว่าแอ็กทีฟตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ไปถึงหลังเลิกงานเลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นว่าเราขยันทำงานกันแค่ไหน

หรืออีกนัยหนึ่งอาจบอกได้ว่า คนไทยมีโลกการทำงานและโลกส่วนตัวทับซ้อนกัน

‘LINE for Work เวิร์กไหม’

อยากชวนให้ทุกคนลองสำรวจตัวเองดูสักหน่อยว่าตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน กรุ๊ปไลน์ที่คุณเป็นสมาชิกอยู่ตอนนี้เป็นกรุ๊ปส่วนตัวเท่าไหร่ แล้วเป็นกรุ๊ปงานเท่าไหร่ 

ข้อมูลจาก LINE ระบุว่า กลุ่มเจนฯ Y กว่า 82% ใช้กรุ๊ปไลน์เพื่อการทำงานโดยเฉพาะ แถมยังใช้ไลน์คอลควบคู่กันด้วย และมีเจนฯ Y มากถึง 88% ที่ใช้ไลน์ในคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงานโดยเฉพาะ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยมีกรุ๊ปไลน์สำหรับทำงานเฉลี่ย 9 กรุ๊ปต่อคน เป็นกรุ๊ปที่แอ็กทีฟตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ และโดยปกติก่อนนอนเราก็มักจะเช็กไลน์ก่อน ถ้าเจอข้อความในกลุ่มออฟฟิศ อาจทำให้คุณสัมผัสถึง work ไร้ balance ได้ทันที นำมาซึ่งคำถามที่ว่า จริงๆ แล้วเราใช้แอพฯ กันถูกหรือไม่

โดยพฤติกรรมของคนไทยในการใช้กรุ๊ปไลน์ทำงานมีทั้งการส่งรูปภาพ (68%) ส่งไฟล์งาน ( 67%) ไฟล์เสียง (33%) และวิดีโอ (33%) ทำให้ฟีเจอร์กรุ๊ปไลน์มีการเติบโตสูงกว่าประเทศอื่น ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ไลน์ตัดสินใจพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์การทำงานโดยเฉพาะ ทั้งการนัดหมายงาน และการจัดเก็บไฟล์ 

มาถึงตรงนี้คุณอาจมีคำถามแล้วว่า ถ้าไม่ใช้ไลน์จะใช้อะไร?

ในต่างประเทศนิยมใช้แอพศ สำหรับทำงานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Slack ที่รวมฟังก์ชั่นการคุย ประชุม ส่งงาน และโทรไว้ในที่เดียว หรือ Microsoft Team ที่รวมฟีเจอร์สำหรับการทำงานไว้ทั้งหมด สามารถเชื่อมต่อกับแอพฯ อื่นๆ ได้ ทั้ง Gmail, Google Drive และ Zoom เป็นต้น

และยังมีเรื่องของวัฒนธรรมการทำงาน ที่บ้านเรามักจะติดต่อพนักงานนอกเวลางาน สั่งงานในวันหยุด โดยหัวหน้ามักคาดหวังให้ลูกน้องตอบทันที ซึ่งเมื่อเจอมากๆ เข้าก็ทำให้เกิดกระแสการลาออก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจกับ work-life balance มากขึ้น มีการแบ่งแยกวันหยุดและวันทำงานอย่างชัดเจน วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ที่หลายองค์กรเลือกใช้คือ การแยกโปรแกรมแชตระหว่างเรื่องงาน และชีวิตส่วนตัว 

‘ทำไมธุรกิจในไทยชอบใช้ LINE OA ทำตลาด’

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหน่วยงานไทยทั้งภาครัฐและเอกชนจะมองว่า LINE เป็นตัวเลือกแรกๆ ในการสื่อสารทางการตลาด เพราะความเคยชินทำให้ผู้คนรวมถึงแบรนด์เองก็สามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างสะดวก โดยจะเห็นได้จากการกระตุ้นให้ลูกค้าแอดไลน์ เพื่อรับส่วนลด สะสมแต้ม หรือรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากแบรนด์

แต่เชื่อว่าหลายคนที่แอดไลน์ธุรกิจแล้ว หลังกดรับโปรโมชันหรือรับสินค้าฟรี อาจกดบล็อกทันที ซึ่งก็มีหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้คนเลือกบล็อกไลน์ธุรกิจ ทั้งได้รับข้อความมากเกินไป คอนเทนต์ไม่น่าติดตาม ไม่พอใจในสินค้าและบริการ หรือการแจ้งข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ไม่ตรงกับความสนใจของผู้รับจนทำให้เกิดการบล็อกนั่นเอง

สิ่งที่คนทำธุรกิจต้องพิจารณาคือ แหล่งที่มาของการแอดไลน์ หากมีของรางวัลที่คุ้มค่ามาล่อตาล่อใจ ยอดติดตามก็เพิ่มขึ้น และเมื่อได้ของแจกหรือหมดเวลาร่วมกิจกรรมแล้ว ยอดติดตามก็ลดทันที เพราะฉะนั้นก่อนจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ควรชั่งน้ำหนักให้ดีเสียก่อนว่าคุ้มค่ากับยอดติดตามหรือไม่ หรือการได้ผู้ติดตามจำนวนมาก แต่เป็นคนที่ไม่ได้สนใจแบรนด์ อาจไม่ใช่ลูกค้าที่แท้จริง

ทีนี้เรามาดูกรณีศึกษาในต่างประเทศกันบ้าง โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้ใช้ LINE ในสหรัฐฯ ช่องทางการสื่อสารการตลาดที่ได้รับความนิยมเสมอมาคือ Email Marketing ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำกำไรได้มากที่สุดในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ตัวอย่างเช่น Airbnb ที่ใช้ Email Marketing นำเสนอเนื้อหาที่ถูกวิเคราะห์มาแล้วว่าตรงกับความสนใจของลูกค้าแน่นอน ในกรณีนี้ Airbnb มีการเก็บข้อมูลความสนใจของลูกค้าอยู่แล้ว เช่น คุณหาที่พักในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่ยังไม่ตัดสินใจจอง นั่นหมายความว่าคุณมีแผนที่จะจองที่พักในโซนนั้น ในวันต่อมาเมื่อคุณออกจากเว็บไซต์ Airbnb จะส่งอีเมลที่พักยอดนิยมในย่านนั้นๆ ทันที ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าคุณจะสนใจ หรือคลิกเพื่ออ่านรีวิวเพิ่มเติม 

วิธีนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าการแอดไลน์ หรือส่งอีเมลฉบับเดียวถึงสมาชิกทุกคน แน่นอนว่าอีเมลที่ตรงกับความสนใจย่อมมีโอกาสถูกเปิดอ่านมากกว่า ทว่า ในต่างประเทศก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการใช้แอปฯ แชตในการสื่อสารเลย ในสหรัฐฯ มีการนำ WhatsApp มาใช้เช่นกัน แต่จะใช้ในเชิงของการบริการ การติดตามการสั่งซื้อสินค้า การแจ้งปัญหา หรือรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ โดยที่ผู้ใช้สามารถส่งภาพ หรือคลิปเกี่ยวกับสินค้าได้ เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเคลมสินค้า

หากมองในแง่ของการสื่อสาร ไม่ว่าจะไลน์ แอปฯ แชทอื่นๆ หรืออีเมล ก็ล้วนเป็นเครื่องมื่อการสื่อสารอย่างหนึ่ง ที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของผู้ใช้ที่ต้องการสื่อสารข้อความไปยังผู้รับ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะหา Insight ของลูกค้าได้แค่ไหน และปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร

อ้างอิง

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like