Big Corporate

โลกร้อน ผลผลิตต่ำ ซ้ำเติมเกษตรกร! ในวันที่มันฝรั่งขาดตลาด เลย์ทำยังไงให้รอดทั้งเกษตรกรและอุตสาหกรรม 

ถ้าถามถึงพืชเศรษฐกิจของไทย หลายคนน่าจะนึกถึงข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แต่รู้มั้ยว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ มันฝรั่งถือเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 

แต่ข้อจำกัดคือมันฝรั่งเป็นพืชฤดูหนาวที่เหมาะกับการเพาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือเป็นหลัก เมื่อโลกช่วงฤดูหนาวสั้นลงและอากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรไทยจึงไม่สามารถปลูกมันฝรั่งได้ตลอดทั้งปี และต้องรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตไวกว่าปกติ ส่งผลให้มันฝรั่งหัวเล็กลงและได้ผลผลิตน้อยลง สวนทางกับความต้องการของตลาด เป็นโจทย์แสนท้าทายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจต้องร่วมกันหาทางออก 

หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือการจับมือกันระหว่าง ‘เลย์‘ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบยอดนิยมภายใต้บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด, จีไอแซด (GIZ) และหน่วยงานของไทยอย่างกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว เพื่อจัดตั้งจัดโครงการ ‘การจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวและมันฝรั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยวิธีการปลูกข้าวมันฝรั่งและข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน’ 

แนวทางของเลย์จะแก้ไขปัญหามันฝรั่งขาดตลาดซึ่งส่งผลต่อทั้งอุตสาหกรรมของตนเองและเกษตรกรไทยยังไงบ้าง capital มา recap ให้ฟังในตอนนี้

1. เลย์ร่วมมือกับเกษตรกรไทย 5,800 คนในใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ สกลนคร และนครพนม เพื่อจัดทำฟาร์มต้นแบบ (Model Farm) จำนวน 19 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 38,000 ไร่ 

2. ฟาร์มต้นแบบนี้ทำขึ้นบนข้อตกลงร่วมกันระหว่างเลย์และเกษตรกรว่าจะต้องไม่เผาฟางและตอซัง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาฝุ่น หมอกควัน และไฟป่าที่รุนแรง 

3. เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเลย์จะได้รับองค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคนิค พร้อมเทคโนโลยีในการปลูกมันฝรั่ง เช่น การใช้โดรนประเมินโรคและตรวจสอบสภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ปลูก การใช้เทคโนโลยีอินฟราเรดตรวจสอบสภาพดิน การติดตั้งระบบชลประทานน้ำหยดแทนระบบน้ำร่องช่วยลดการใช้แรงงานและลดค่าใช้จ่าย 

4. ด้วยมันฝรั่งไม่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เลย์จึงสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชแบบหมุนเวียนโดยสลับปลูกข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพด ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ทั้งยังมีการรับประกันราคารับซื้อมันฝรั่งที่แน่นอน ภายใต้การทำข้อตกลงของระบบเกษตรพันธสัญญา 

5. เป๊ปซี่โคยังร่วมกับกรมวิชาการเกษตรพัฒนามันฝรั่งสายพันธุ์ท้องถิ่นสำหรับภูมิอากาศเขตร้อน และหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าช่วยยกระดับการเพาะปลูกต่อไป เพื่อเพิ่มผลผลิตเป็น 5 ตันต่อไร่ ภายใน 5 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในฟาร์มต้นแบบ

ปัจจุบันเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรจากเดิม 2 ตันต่อไร่ มาเป็น 3.0-3.2 ตันต่อไร่ สร้างผลผลิตได้รวมกว่า 100,000 ตันต่อปี และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรได้มากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี เลย์ที่ถึงมือลูกค้า ถึงปากผู้บริโภคตอนนี้จึงใช้มันฝรั่งที่ปลูกในประเทศถึง 70% เป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนอีก 30% เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เพราะถึงจะเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการหาทางรอดและทางเลือกให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคเกษตรกรรมของไทยที่ลงลึกถึงราก ตั้งแต่วัตถุดิบในการผลิต สิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นอีกกรณีศึกษาสำหรับองค์กรและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการปรับตัวให้เข้ากับแนวทาง ESG ที่ถือไม่ใช่เพียงทางเลือกอีกต่อไป แต่ถึงเป็นอีกกฎหลักของการทำธุรกิจทั้งในไทยและระดับโลก

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

You Might Also Like