1426
September 6, 2024

ติดเลกับชาวสะกอม 

หรอยจ้านกับอาหารทะเลสดใน ‘ทัวร์ลาต๊ะ’ ที่ชวนท่องเลจะนะกับชาวสะกอม

“ไม่มีเศรษฐีคนไหน สามารถสร้างปูได้

ไม่มีเศรษฐีพันล้านหมื่นล้านคนใด สร้างหมึกและปลาใสๆ ได้

เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่อัลเลาะห์ให้มา เราต้องหวงแหนและรักษาไว้”

นี่คือคำกล่าวของชาวบ้านจะนะจากภาพยนตร์สารคดี ‘นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน’ (Sarong Warrior Documentary)

ทะเลจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ทางอาหารทะเล สวรรค์ของอาหารซีฟู้ด กุ้งเนื้อนุ่มแน่น หวาน สารพัดพันธ์ุปลา ปู หอยสดๆ จากเรือประมงพื้นบ้านที่นำมาปรุงด้วยสูตรท้องถิ่น ปิ้งบนเตาย่างหอมๆ จิ้มกับน้ำซีฟู้ดรสเด็ด พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นทั้งบ้าน แหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากินที่ทำให้ชาวบ้านอิ่มหนำสำราญและร่ำรวยมาช้านาน

ชาวบ้านที่นี่จึงรัก ผูกพัน และหวงแหนทะเลมาก

วันที่ภาครัฐประกาศแผนการเปลี่ยนชายฝั่งจะนะเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มแม่บ้าน และผู้หญิงชุมชนประมงพร้อมวางครัวรวมตัวผนึกกำลังปกป้องทะเลอย่างกล้าหาญและเรียกตัวเองว่า ‘นักรบผ้าถุง’ ทุกวันนี้แผนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ถูกระงับไว้ชั่วคราวและกลุ่มนักรบผ้าถุงได้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมต่อไปในชื่อ ‘อาหารปันรัก’ ธุรกิจที่ส่งเสริมวิถีประมงพื้นบ้านด้วยการนำเสนอสินค้าอาหารทะเล พร้อมบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่พานักท่องเที่ยวไปสัมผัสความอร่อยไปจนถึงล่องเรือจับปลาด้วยกัน 

“เวลาอยู่ที่นี่ หนึ่งวันต้องหัวเราะเกิน 10 ครั้ง” 

คนนอกพื้นที่อย่างตั้มและปาล์มบอกว่าการได้เข้ามาสัมผัสจะนะด้วยตัวเองทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงนิสัยทะเล้นของคนใต้ ความจริงใจที่ทำให้สนิทกันหมือนญาติพี่น้องได้อย่างรวดเร็วจนอยากถ่ายทอดเสน่ห์ให้คนนอกได้รับรู้แบบเดียวกับที่พวกเขาได้สัมผัส  

ตั้ม–กีรติ โชติรัตน์ เป็นผู้กำกับของ On the Rec. ที่เชี่ยวชาญการผลิตสื่อวิดีโอทั้งงานสารคดีภาพยนตร์และสนุกกับการถ่ายทอดวิถีชีวิตของชุมชนให้เข้าถึงคนวงกว้าง ส่วนปาล์ม–วิศรุต ขวัญสง่า เป็นนักออกแบบอิสระที่เคยทำงานเป็นสถาปนิกชุมชนมาก่อน ความถนัดคือการต่อยอดต้นทุนของชุมชนมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้  

ทั้งคู่เป็นครีเอเตอร์ที่เริ่มต้นทำงานออกแบบการสื่อสารให้กลุ่มนักรบผ้าถุงและตอนนี้ยังเลือกอยู่ที่สะกอมต่อไปเพราะจะนะกลายเป็นบ้านแห่งใหม่ของพวกเขาเรียบร้อยแล้ว

‘ทัวร์ลาต๊ะ’ เป็นไอเดียโปรแกรมท่องเที่ยวที่ตั้มและปาล์มริเริ่มร่วมกับ แก๊ส–ศุภวรรณ ชนะสงคราม ผู้จัดการโครงการอาหารปันรักและที่ปรึกษากลุ่มนักรบผ้าถุงผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมท่องเที่ยวและอาหารจากชุมชนประมงพื้นบ้าน

ด้วยทักษะการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของตั้มและความเป็นนักออกแบบของปาล์มทำให้เป็นครั้งแรกที่ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาแห่งนี้มีสื่อคลิปวิดีโอที่เล่าถึงเสน่ห์และสปิริตของชุมชนได้อย่างครบถ้วนในรอบสิบปีที่ทำอาหารปันรักมา แถมยังมีโปรแกรมทัวร์และการออกแบบกราฟิกที่เล่าเรื่องอาหารการกิน ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างเข้าใจง่ายพร้อมอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเข้าไปจองทัวร์ได้ง่ายขึ้น

วันนี้ชวนคุยกับแก๊ส ตั้ม และปาล์มถึงการทำทัวร์ลาต๊ะและการสื่อสารที่อยากชวนคนรุ่นใหม่มาเที่ยวสะกอมมากขึ้น

“มาศึกษาหมู่บ้านเรา ทะเลของเราที่เราป้องกันที่เรารักษานี้ ทำไมถึงได้มารักษา” ชาวบ้านจะนะกล่าว ก่อนภาพยนต์สารคดีจบลง

สะกอม Glossary 

ก่อนหน้านี้แก๊สสื่อสารเรื่องราววิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน ทรัพยากรวัฒนธรรม ภาษา อาหารการกินของชุมชนแบบง่ายๆ ผ่านเพจ ‘อาหารปันรัก’ และเฟซบุ๊กส่วนตัว “ที่ผ่านมาเราจะเล่าว่าอาหารทะเลของเราอุดมสมบูรณ์ มีอาหารทะเลสด อร่อย ไม่ว่าจะออกแบบทัวร์แบบไหนคนก็จะเรียกเราว่าเป็นทัวร์กิน” 

แต่เดิมชื่ออาหารปันรักมีที่มาจากการอยากแบ่งปันอาหารดี อาหารสด แบ่งปันความรักให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมโดยที่ผ่านมากลุ่มที่สนใจทัวร์ชุมชนมากที่สุดคือเจนฯ X แม้ชุมชนจะชวนนักท่องเที่ยวมาตลอดสม่ำเสมอ และมีการบอกต่อกันปากต่อปากแต่การสื่อสารประชาสัมพันธ์ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มคนวงกว้างและเจนฯ Y มากนัก

ชื่อ ‘ทัวร์ลาต๊ะ’ พร้อมสโลแกน ‘ชวนลางาน กินราไหม ไปสะกอม’ เป็นคอนเซปต์ที่ตั้มและปาล์มร่วมเสนอไอเดียตั้งชื่อขึ้นใหม่เพราะอยากเปลี่ยนจากชื่อที่เป็นทางการให้มีความเฟรนด์ลี่กับนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มากขึ้น ใช้คำที่ชวนสงสัยและน่าติดตามมากขึ้นโดยถามข้อมูลภาษาท้องถิ่นจากแก๊ส  

“อย่างคำว่า ‘ลาต๊ะ’ ทั้ง 2 คนก็ใช้วิธีถามพี่ว่ามีคำอะไรบ้างที่จะเกี่ยวข้องกับทัวร์ได้” 

‘ลาต๊ะ’ แปลว่า กินเล่น สื่อว่าที่นี่มีอาหารทะเลเยอะจนสามารถกินกับมากกว่ากินข้าว หรือกินเล่นแต่กับ ไม่กินข้าวก็ได้ กินเสร็จแล้วก็มีให้กินเล่นกันต่อได้เรื่อยๆ  

‘ชวนลางาน’ สื่อถึงการอยากให้กลุ่มคนเจนฯ Y ในวัยทำงานลางานมาเที่ยว

‘กินราไหม’ สื่อถึงการชวนมากินข้าวร่วมกันให้สนุกสนานจาก ‘ราไหม’ ในภาษาสะกอมที่แปลว่าสนุก

‘ไปสะกอม’ คือชวนมาเที่ยวที่สะกอม  

คำไม่คุ้นหูคนกรุงเหล่านี้เป็นภาษาสะกอมที่ใช้ในตำบลสะกอมซึ่งแตกต่างจากภาษาใต้ทั่วไป โดยแต่เดิมทัวร์อาหารปันรักจะครอบคลุมการท่องเที่ยวใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะที่ติดชายทะเล ได้แก่ตำบลนาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม แต่ด้วยความที่การออกแบบทัวร์ครั้งนี้อยากโปรโมตเฉพาะพื้นที่สะกอมเป็นพิเศษ เลยนำภาษาสะกอมมาใช้

อัตลักษณ์ด้านภาษาเป็นสิ่งที่แก๊สคาดไม่ถึงว่าเป็นสิ่งที่สื่อสารออกไปแล้วทำให้เรื่องราวชุมชนมีเสน่ห์ 

“พี่เข้าไปทำงานที่นี่ 20 กว่าปีแล้ว หลายอย่างก็รู้สึกชิน ไม่เห็นว่าอะไรพิเศษ อย่างมากเราก็ไปโม้คนอื่นว่ามีภาษาสะกอมแล้วได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแค่นั้นก็จบ แต่ทั้งสองคนเข้ามาทำให้เห็นว่าเอาภาษานี้มาทำให้คนรู้จักได้อย่างน่าตื่นเต้น มีเสน่ห์ และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วย” 

ลองฟังเสียง สำเนียงคนสะกอมที่ออกเสียงคำว่า ‘ลาต๊ะ’ ได้อย่างน่ารักและเรียนภาษาสะกอม 101 ได้ที่ สะกอม Glossary

ตีเนียนเป็นคนสะกอม

“จุดเด่นของอาหารปันรักคือทัวร์กิน มาที่นี่ต้องได้กิน เราวางไว้ว่าต้องชูจุดเด่นและเรื่องราวของอาหาร ก็เลยแบ่งประเภทออกมาเป็น ‘4 ติด’” คอนเซปต์ ‘ติดหรู ติดฉาว ติดนิ ติดเล’ คือไอเดียที่ตั้มบอกว่าคิดขึ้นมาเพราะอยากเล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย

ติดหรู คือการทานอาหารทะเลแบบฟิวชั่น สัมผัสความอร่อยของสะกอมทุกรูปแบบตั้งแต่รสชาติพื้นบ้านยันจานร่วมสมัยที่เชฟในพื้นที่พร้อมมาปรุงให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวัตถุดิบในทะเลจะนะ 

ติดฉาว ‘ฉาว’ ในภาษาใต้แปลว่าเสียงดัง สื่อถึงการล้อมวงกินกันหลายคน enjoy eating กันแบบสนุกๆ เป็นโปรแกรมทานอาหารทะเลสดแบบปิ้งย่างเองริมทะเลที่ใครมาเยือนสะกอมต้องไม่พลาด 

ติดนิ ทานอาหารฝีมือ ‘นิ’ ซึ่งในภาษาใต้แปลว่าพี่สาว สื่อถึงอาหารฝีมือแม่รสชาติท้องถิ่นที่จะมีโอกาสชิมเมื่อไปกินตามบ้านในชุมชนเท่านั้น นิจะเข้าครัวเตรียมวัตถุดิบพื้นบ้านทั้งโขลกเครื่องแกงให้ถึงรสชาติ ทอดปลากรอบๆ และเปิดบ้านให้ทานจนอิ่ม

ติดเล ลงทะเลพร้อมชาวประมง สัมผัสความมหัศจรรย์ในการออกทะเลและกินสำรับเดียวกับชาวประมง เรียกได้ว่าชาวประมงกินแบบไหนก็ได้กินแบบนั้น

แทบทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมเดิมที่ตั้มบอกว่ากลุ่มอาหารปันรักจัดให้นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่เพิ่มกิมมิกใหม่และการเล่าเรื่องให้น่าสนใจขึ้นในรูปแบบทัวร์ลาต๊ะ จัดหมวดหมู่โปรแกรมเที่ยว เล่าเรื่องใหม่ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น “นักท่องเที่ยวจะไม่ได้แค่มากินอย่างเดียว แต่ทุกกิจกรรมก็จะมีเรื่องราว มีนิๆ อยู่ในทุกส่วนของอาหารในมื้อนั้น จะได้ร่วมเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไปด้วย”

วิถีเรือประมงพื้นบ้านของที่นี่ยังจับปลาตามฤดูกาลโดยไม่เอาเปรียบธรรมชาติทำให้เมนูอาหารทะเลไม่ซ้ำกันในแต่ละฤดู คาดเดาเมนูไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าอยากมาเยี่ยมสะกอมช่วงไหนของปี

มีตั้งแต่ปลาจะละเม็ด ปลากะพง ปลาอินทรี หมึกกล้วย หมึกหอม หมึกกระดอง หมึกสาย ปลาเก๋า ปลากุเลา ปลาทราย ปลากระบอก ปลาสาก ปลาช่อนทะเล หอยหวาน หอยแมลงภู่ ปูม้า กุ้งแชบ๊วย กุ้งหวาย กุ้งก้ามกราม ไปจนถึงเมนูปรุงแล้วได้แก่ เนื้อปูแกะ ปูนึ่ง กั้งกระดานนึ่ง กะปิเคยจากทะเล และอีกมากมาย

อาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่แก๊สบอกว่าทำให้ชุมชนที่นี่ร่ำรวย “ที่นี่จะมีอาหารทะเลเยอะ ชาวบ้านก็จะพูดว่า ‘เรารวยนะ แต่เราไม่ได้รวยตังค์ เรารวยอาหารทะเล’ อย่างปลาจะละเม็ดขาวหรือปลาเต๋าเต้ยที่ราคาแพงมาก ถ้าทำอาชีพอื่นคงยากที่จะเอามาให้กินได้แต่ว่าเราไปจับมาเองได้เลย เราสามารถเอาของที่คนเมืองเห็นว่าราคาสูงมาเลี้ยงได้เองทำให้รู้สึกภูมิใจ 

“เวลาเดินไปเห็นชาวบ้านล้อมวงกันอยู่ เขาบอกเราว่าวันนี้ออกทะเลจับอะไรไม่ได้อะไรเลย แต่กลางวงมีหอยชนิดหนึ่งชื่อหอยขาวต้มไว้เป็นกระทะใหญ่เลย ติดอวนมาแล้วก็ทำน้ำจิ้มมานั่งกินกันเล่นๆ  ถ้าเป็นคนอื่นคงรู้สึกว่า โห…นี่เป็นมื้อหรูเลย

“สิ่งนี้เป็นความพิเศษที่รู้สึกประทับใจ คนชนบทเขามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ทำให้ไม่ต้องไปซื้อมาเหมือนคนเมืองแล้วก็มีความเอื้อเฟื้อ เอื้ออารีที่เผื่อแผ่ถึงคนอื่น ชวนคนกินข้าวด้วย” 

ออกแบบสื่ออย่างหรอย

ทัวร์ลาต๊ะยังถูกออกแบบโปรแกรมใหม่ให้เหมาะกับทุกไลฟ์สไตล์ ทั้งกิจกรรมทาน 1 มื้อสำหรับคนที่มีเวลาน้อยแต่อยากกินอาหารทะเล, เที่ยว 1 วันแบบไปเช้า เย็นกลับ หรือทัวร์ 2-3 วันที่กินให้ครบทุกโปรแกรมในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดยาว

จากแต่เดิมที่ชุมชนไม่ได้ออกแบบกิจกรรมเป็นโปรแกรมทัวร์ ใช้วิธีโทรคุยตกลงกับนักท่องเที่ยวว่าอยากกินอะไรและเที่ยวแบบไหน ตอนนี้ชุมชนมีเว็บไซต์ ‘ทัวร์ลาต๊ะ’ ที่ปาล์มทำขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวอ่านเรื่องราวและโปรแกรมทัวร์ก่อนจองได้สะดวกขึ้นและยังพัฒนาระบบการจองแบบง่ายๆ ผ่าน Google Forms ที่ลดขั้นตอนการทำงานแมนวลของชุมชนออกไป เมื่อจองเสร็จนักท่องเที่ยวจะได้รับข้อมูลยืนยันการจองที่มีการระบุว่าเมนูอาหารทะเลตามฤดูกาลของชุมชนในช่วงนั้นมีอะไรบ้าง

การที่ตั้มได้ไปลองใช้ชีวิตกับชาวบ้านที่สะกอมยังทำให้เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของชาวบ้านที่นี่ได้เป็นอย่างดี ทีม On the Rec. เป็นผู้จัดทำภาพยนตร์สารคดี ‘นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน’ และวิดีโอโฆษณาทัวร์ลาต๊ะที่เก็บบรรยากาศครื้นเครงเป็นกันเองและอยากชวนให้คนรุ่นใหม่ออกมาเที่ยวสะกอม 

“เราเล่าโปรแกรมทัวร์ ‘ติดหรู ติดเล ติดนิ ติดฉาว’ ในวิดีโอตัวนี้เพื่อชูให้เห็นว่าที่นี่มีเรื่องราวทั้งอาหารการกิน การท่องเที่ยวเชิงวิถี ได้พาตัวเองไปที่ไม่คุ้นเคยและได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ โดยคนรุ่นใหม่สามารถปรับไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับคนพื้นถิ่นได้” 

ด้วยชื่อทัวร์ภาษาสะกอมที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ปาล์มจึงออกแบบตัวอักษรกราฟิกเป็นฟอนต์เส้นประลายจุดคล้ายในสมุดคัดลายมือจากแรงบันดาลใจในคอนเซปต์ท่ีสื่อถึงการเรียนรู้ภาษาใหม่ในโลกใหม่  

“เวลาเราเรียนภาษาใหม่ ก ไก่ ข ไข่ เราก็ต้องมานั่งลากเส้นประ สะกอมคือภาษาใหม่สำหรับคนที่จะเข้ามาเรียนรู้หรือก้าวสู่โลกใหม่ใกล้บ้านเขา เราตั้งเป้าว่าอยากดึงดูดคนหาดใหญ่ก่อน เขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเดินทางไม่กี่นาทีจากตัวเมืองหาดใหญ่ก็สามารถไปสู่โลกใหม่ที่คนใช้ภาษาพูดกันแบบสนุกสนาน แม้จะฟังไม่รู้เรื่องแต่สนุกมาก

“ด้วยความที่นี่เป็นชุมชนมุสลิมและบางคนจะไม่เข้าใจในวิถีที่แตกต่างเหล่านี้ เราก็ใช้กระบวนการออกแบบมาทำให้องค์ประกอบของคีย์วิชวลต่างๆ ดูเฟรนด์ลี่มากขึ้น เช่น ตัวการ์ตูนกราฟิกวิถีมุสลิม ความรู้ที่อ่านสนุกแล้วทำให้เข้าใจชุมชนก่อนมาเที่ยวมากขึ้น”   

ไอเดียการทำทัวร์ คอนเทนต์ และการออกแบบการสื่อสารทั้งหมดได้ทดลองทำในชุมชนและนำระบบการจองทัวร์แบบใหม่มาทดลองใช้ในงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีค 2024 โดยระยะยาวมีการวางแผนต่อยอดการทำคอนเทนต์ด้วยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารจากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมไปยังยูทูบและติ๊กต็อกเพิ่มเติม เตรียมฝึกให้นักรบผ้าถุงใช้งานเว็บไซต์และ Google Forms เพื่อรับสมัครและโต้ตอบกับนักท่องเที่ยวเองได้ ไปจนถึงฝึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของชุมชนมาสานต่อการทำเวิร์กช็อป

สิ่งเล็กๆ น้อยนิดมหาศาลที่ดีต่อใจ  

“ถ้านั่งรถผ่านเข้ามาในชุมชนโดยมองด้วยตาเนื้อธรรมดาก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นชุมชนมุสลิมแห่งหนึ่งที่ไม่ได้น่าสนใจเลย แต่พอได้เข้ามาอยู่ในชุมชน ได้มาเห็น แล้วมองด้วยตาของนักออกแบบ จะมองเห็นดีเทลกระจุกกระจิกที่น่าสนใจซ่อนอยู่เต็มไปหมดเลย คนที่นี่อาจจะมองเป็นเรื่องธรรมดาและไม่รู้ว่าพิเศษแต่สำหรับเรามันเจ๋งไปหมดเลย พอเดินไปดูที่แต่ละบ้านคือฝาพัดลมหายไปหมดเลย การเอาฝาหน้าพัดลมมาทำที่ห้อย ที่ตากปลา การมัด เอาอวนมาทำนู่นทำนี่ มันทั้งตลกและน่ารัก”  

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ดีต่อใจอย่างมหาศาลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปาล์มหยิบจับมาเป็นออกแบบประสบการณ์สุดพิเศษในทัวร์      

สำหรับใครที่มาเที่ยวทัวร์ลาต๊ะแล้วอยากได้ของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ กลับไป แก๊สเล่าว่าที่นี่ยังมีกิจกรรมของที่ระลึก DIY ที่เก็บความทรงจำจากชุมชนไว้  

“แต่ก่อนเวลานักท่องเที่ยวมาก็จะถามว่ามีอะไรให้ติดไม้ติดมือกลับไปไหม ทางพี่น้องนักรบผ้าถุงคิดกันอยู่นานมากว่าจะมีอะไรเป็นของที่ระลึกได้ แต่เราก็นึกไม่ออก อย่างมากก็คิดว่าให้เขาซื้อกะปิ ปลาแห้งกลับไป

“แต่ปาล์มเห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนว่าที่นี่มีการเอาเงื่อนของชาวประมงมาผูกเพิงบ้าน เอามามัดมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ซึ่งมันผ่านตาพี่มาตลอดเกือบทุกวันแต่เราไม่เคยเห็นมันเลย พอไปบอกพี่น้องชาวประมงเขาก็ตื่นเต้นว่าของแบบนี้มันสำคัญด้วยหรือ เกิดเป็น ‘ปาแรแต๊ะ’” 

‘ปาแรแต๊ะ’ แปลว่าประดิดประดอย ในที่นี้สื่อถึงโมบายจากเปลือกหอยที่ตั้งใจประดิดประดอยจาก ‘ส็อกแส็ก’ หรือขยะที่ติดอวนปูจากการหาปูในทะเลซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษเปลือกหอยและขยะชิ้นเล็ก นำมาผูกกับไม้ไผ่ด้วยเงื่อนจากภูมิปัญญาการมัดของชาวประมง

“เดิมเราคิดว่าของที่ระลึกต้องเป็นสิ่งที่เราทำวางไว้แล้วยื่นให้ พอตั้มกับปาล์มมาคุยทำให้เข้าใจว่าการที่นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำเองก็ยิ่งเพิ่มความรู้สึกและความทรงจำกับที่นี่มากขึ้นไปอีก สิ่งที่ได้กลับบ้านไปคือทั้งวัตถุดิบและทักษะจากชุมชน” 

นอกจากเวิร์กช็อปประดิษฐ์โมบายแล้วทัวร์ลาต๊ะยังมีกิจกรรมวิถีชุมชนอย่างเวิร์กช็อปดับจาน (แปลว่า จัดเรียง ประดับจาน) ที่ให้นักท่องเที่ยวเป็นคนจัดเรียงอาหารท้องถิ่นเมนูข้าวดอกราย (คล้ายข้าวคลุกน้ำพริก) ด้วยตัวเองให้สวยงาม

และเวิร์กช็อปโปะเทียนที่นำใบเทียนตำผสมกับสมุนไพรต่างๆ แล้วโปะที่นิ้วเพื่อให้เล็บเป็นสีส้มเข้ม ชาวบ้านใช้ในการดูแลรักษามือและเล็บโดยเฉพาะเวลาจับปลาแล้วโดนหอยและปูทิ่มหรือตำมือ

ไอเดียน่ารักน่าลองทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าตั้มกับปาล์มไม่ได้เข้าไปสนิทชิดเชื้อและทำงานระยะยาวในพื้นที่กับชุมชน

จิตวิญญาณแห่งจะนะ 

ในฐานะที่ปรึกษาของชุมชน แก๊สมองว่าชาวบ้านที่นี่พร้อมเรียนรู้และปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ จากที่ปกติจะชวนกลุ่มนักรบผ้าถุงคุยกันเรื่องการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม เมื่อพลิกมาชวนคุยเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว ชุมชนก็ให้ความสนใจและทำได้ดี  

ผลลัพธ์การทำทัวร์ที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นนี้ ย้อนกลับไปตอบโจทย์ว่าจะนะมีเสน่ห์ล้นเหลือกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวและแหล่งความมั่นคงทางอาหารมากกว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรม 

สมาชิกทีมอย่างปาล์มก็มองเห็นสปิริตของชาวบ้านเช่นเดียวกันกับแก๊ส “ด้วยความที่คนที่นี่มีความเป็น active citizen เขามีพลังในตัวเอง เขาเชื่อมั่นในพลังของตัวเองและความเป็นเขา ภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็น ชุมชนที่เขามี สิ่งที่เขามี ซึ่งไม่ใช่ทุกชุมชนจะรู้ว่าตัวเองมีคุณค่าขนาดนี้แล้วตระหนักในพลังของตัวเอง สิ่งนี้สำคัญมากๆ ที่ทำให้เราทำงานกันในระดับเดียวกันและแลกเปลี่ยนกันได้  ไม่ใช่การทำงานแบบสั่งการที่ให้ทุกคนทำตาม”

การทำทัวร์ลาต๊ะยังทำให้แก๊สเห็นการเติบโตของชุมชนที่เธอดูแลมาตลอด “ชาวบ้านพูดเองเลยว่าเมื่อก่อนเวลาเขาจะพูดอะไร เขาจะพูดในสิ่งที่เขาอยากพูด เขาไม่ได้สนใจหรอกว่านักท่องเที่ยวอยากฟังอะไรแต่เขาอยากพูดเรื่องนี้ หลังจากเจอกลุ่มคนหลากหลายและนักท่องเที่ยวเยอะๆ เขาพูดว่าตอนนี้เขาเริ่มคิดแล้วว่าเขาน่าจะดูก่อนว่าคนฟังอยากฟังอะไร ซึ่งพี่คิดว่าถึงเขาจะยังทำแบบนี้ไม่ได้ 100% แต่มองว่าการที่เขาสะดุดใจตรงนี้เป็นการเรียนรู้ได้เร็วมาก 

“ส่วนสิ่งที่ประทับใจตั้มกับปาล์มคือทั้งสองคนจะตื่นเต้นกับเรื่องราวของนักรบผ้าถุงอยู่ตลอดเวลา เรารู้สึกได้ว่าเขาอยากรู้ อยากค้นหาและสนุกที่จะฟัง ถึงจะมีความเห็นต่าง เขาก็เคารพชุมชนในแง่การออกแบบและเคารพในตัวของเขาเองที่เข้ามาในชุมชนด้วย โดยที่ไม่ได้คล้อยตามเราทั้งหมดซึ่งทำให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาได้โดยไม่ละเลยตัวตนของชุมชน”  

ตั้มบอกว่าสิ่งสำคัญในการทำทัวร์ลาต๊ะคือไอเดียทั้งหมดไม่ได้มาจากตัวเขาหรือทีมฝ่ายเดียวแต่มาจากการคุยกันอย่างเปิดกว้างกับชาวบ้าน “การมาทำงานด้านสื่อสารที่ชุมชนนี้ต้องมองถึงเป้าหมายของชุมชนก่อนว่าอยากได้อะไรแล้วมาคิดต่อว่าจะทำยังไงให้ไปถึงเป้านั้นด้วยวิธีการนำเสนอแบบใหม่ๆ  ถ้าเราอยากสื่อสารเรื่องราวจากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่หรือสิ่งที่เขาต้องการเล่า เราก็ต้องทำงานร่วมกันกับชาวบ้าน ไม่ใช่คิดจบมาแล้วจากที่บ้านหรือคิดจากตัวเราเองแล้วมายัดให้คนในชุมชน” 

ในขณะที่ปาล์มก็คิดว่าสามารถต่อยอดไอเดียพัฒนาทัวร์ลาต๊ะได้ไม่รู้จบ “ตอนแรกสุดที่เข้ามาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเห็นไอเดียอะไรในการทำที่ท่องเที่ยว แต่พออยู่ยาวๆ ไปความธรรมดากลายเป็นพิเศษ แล้วก็ไม่เคยน่าเบื่อเลยจริงๆ มันเห็นเลยว่า ถ้าเราจะทำซีรีส์โปรโมต มันสามารถทำเป็นซีรีส์ยาวได้หลายปีมากเลย มีเรื่องเล็กๆ ซ่อนอยู่มากมายแล้วมันไม่เคยจบ” 

จากทัวร์ลาต๊ะที่ร่วมกันทำด้วยความสามัคคี ทั้งสามคนและนักรบผ้าถุงน่าจะยังมีความฝันและไอเดียอีกมากมายที่อยากพัฒนาสะกอมต่อไป ใครที่อยากสัมผัสหัวใจและจิตวิญญาณของชุมชนประมงแห่งนี้เหมือนตั้มและปาล์มก็ขอชวนแวะไปทักทายพวกเขากันได้ที่สะกอม 

เบื้องหลังต้นทุนทางภูมิปัญญาชาวสะกอมและทักษะการออกแบบของครีเอเตอร์ในการทำทัวร์ลาต๊ะ ทั้งหมดนี้ได้มีการพัฒนาไอเดียและโมเดลธุรกิจภายใต้โครงการ ‘CHANGEx2: Greater Together ผนึกกําลังสุดครีเอต อัปเกรดธุรกิจโลคัล’ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA สิ่งที่ทางทีมได้รับคำแนะนำจากโครงการคือเครื่องมือในการวิเคราะห์จุดแข็งที่ทำให้วิเคราะห์ความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนออกมาได้อย่างตรงประเด็นและทำให้คิดคอนเซปต์โปรแกรมทัวร์ที่สร้างความแตกต่างได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เครื่องมืออย่าง service canvas ยังช่วยในการออกแบบประสบการณ์ (service design) ในการสร้างระบบการจองและจัดโปรแกรมทัวร์ซึ่งช่วยต่อยอดให้ชุมชนมีการบริหารจัดการการทำทัวร์ท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมกับการต่อยอดต่อไปในอนาคต 

ขอบคุณรูปจากทีมทัวร์ลาต๊ะ 

อาหารปันรัก และ นักรบผ้าถุง

@latahsakom

ทัวร์ลาต๊ะ

Writer

Lifestyle Columnist, Craft Curator, Chief Dream Weaver, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

You Might Also Like