779
November 14, 2024

Lavender’s Magic of Buriram

KTC x เพ ลา เพลิน ชูกลยุทธ์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เพิ่มมูลค่าให้ลาเวนเดอร์และสนับสนุนชุมชน

รู้ไหมว่าพืชเมืองหนาวอย่างลาเวนเดอร์ก็ปลูกที่อีสานได้! จากการจัดอันดับล่าสุด จังหวัดบุรีรัมย์ขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ของจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในภาคอีสาน และ ‘เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท’ ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรมที่เป็นต้นแบบที่ดีในการทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบยั่งยืน

ที่นี่ไม่ใช่แค่รีสอร์ตทั่วไปที่มีอุทยานไม้ดอกเมืองหนาวให้เข้าชม แต่เป็นธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายระยะยาวว่าอยากเป็น ‘มหานครแห่งสมุนไพร’ หรือ Herbstopia ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าลาเวนเดอร์และสมุนไพรต่างๆ สู่ผลิตภัณฑ์และบริการนับไม่ถ้วน โดยช่วงฤดูหนาวปลายปีนี้ถือเป็นช่วงพิเศษที่มีการจัด ‘เทศกาลลาเวนเดอร์ พืชเศรษฐกิจยั่งยืน Lavender’s Magic’ ครั้งแรกในประเทศไทย เปิดให้เข้าชมทุ่งลาเวนเดอร์ที่สวยงามในโรงเรือน, นำเสนอเวิร์กช็อปและผลิตภัณฑ์ลาเวนเดอร์, เมนูอาหารที่ผสมผสานกลิ่นและสรรพคุณจากลาเวนเดอร์ และบริการด้านสุขภาพในสปาอโรคยาศาลา

ชวนฟังเรื่องราวและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท ร่วมมือกับ เคทีซีในการสนับสนุนพลังชุมชนท้องถิ่น พัฒนาเศรษฐกิจสมุนไพรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไปจนถึงเรื่องราวการสร้างแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านธุรกิจท่องเที่ยว

ปั้น ‘ลาเวนเด้อ’ แดนอีสานเป็นพืชเศรษฐกิจ

ก่อนจะเป็นเพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท ที่มีทั้งที่พัก แคมป์ปิ้งสำหรับนักเรียนนักศึกษา อุทยานไม้ดอกเมืองหนาวและศูนย์สุขภาพแบบองค์รวมอย่างทุกวันนี้ ประณัย สายชมภู กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด เล่าว่าความจริงแล้วเพ ลา เพลินเป็นธุรกิจครอบครัวที่ไม่ได้เริ่มจากการปลูกพันธ์ุพืชตั้งแต่แรก แต่เริ่มจากธุรกิจการศึกษาที่หว่านเมล็ดพันธ์ุความรู้ให้เยาวชนด้วยการนำครูต่างชาติเข้าไปสอนในโรงเรียนทั่วไทยเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว

การทำธุรกิจการศึกษาทำให้สังเกตเห็นว่าบุรีรัมย์ไม่ค่อยมีแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการนำดอกไม้เมืองหนาวมาให้คนอีสานได้สัมผัสและแตกโมเดลธุรกิจสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) ในพื้นที่กว่า 400 ไร่ที่อำเภอคูเมือง ซึ่งห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ 30 กิโลเมตร จนกลายเป็นอุทยานไม้ดอกเมืองหนาวแห่งแรกในอีสาน

แม้แดนอีสานจะถูกมองว่ามีอากาศร้อนแห้งแล้งและไม่มีใครเชื่อในตอนแรกว่าจะสามารถปลูกพืชเมืองหนาวที่บุรีรัมย์ได้ แต่เพ ลา เพลินก็นำทิวลิปจากเนเธอร์แลนด์มาทดลองปลูกในอุทยานเป็นพันธ์ุแรกและสำเร็จตั้งแต่ 17 ปีที่แล้ว เพราะมุ่งมั่นปรับนิสัยพืชเมืองหนาวให้สามารถปลูกในอีสานได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวโดยพัฒนาการปลูกอย่างต่อเนื่องหลายปี จนเมื่อธุรกิจงอกงามมากขึ้นก็หันมาพัฒนาการปลูกดอกไม้เมืองหนาวสายพันธ์ุอื่นอย่างลาเวนเดอร์ โดยปลายปีนี้เลือกชูจุดเด่นการสร้างสรรค์ประสบการณ์เที่ยวที่ชูเอกลักษณ์ของลาเวนเดอร์ซึ่งนำไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ได้

มากกว่าการปลูกลาเวนเดอร์เพื่อเชยชมความสวยงาม คุณค่าของลาเวนเดอร์ในทางสุขภาพคือการนำก้าน ใบ ดอกมาพัฒนาเป็นสินค้าได้ ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงด้วยแนวคิดการทำการเกษตรแบบยั่งยืนและการปลูกแบบผสมผสานเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ลดการใช้สารเคมี ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

เทศกาล Lavender’s Magic จึงเป็นแพ็กเกจการท่องเที่ยวจากความร่วมมือของ เพ ลา เพลิน กับบริษัทบัตรเครดิต KTC ที่มองว่าเทศกาลลาเวนเดอร์จะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือผู้เยี่ยมชมสามารถเข้ามาสัมผัสได้ทุกกระบวนการตั้งแต่เรื่องราวการปลูกจนถึงการแปรรูป

ปริม ปัญญาเสรีพร ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่าวิสัยทัศน์ที่เคทีซีมีร่วมกันกับเพ ลา เพลินคือการอยากส่งเสริมโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green hotel) และการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นสำหรับทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสูงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของรีสอร์ทและยังเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของเคทีซีที่สนใจสัมผัสเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นในเชิงสร้างสรรค์อย่างเทศกาลลาเวนเดอร์ในปีนี้

รักษากายาที่ ‘อโรคยา เวลเนส ศาลา’

โซนเด่นของเพ ลา เพลินซึ่งมีเป้าหมายทางธุรกิจเป็นมหานครแห่งสมุนไพรคือ ‘อโรคยา เวลเนส ศาลา’ (Arokaya Wellness Sala) ศูนย์รวมศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีที่มาจากชื่อ ‘อโรคยาศาล’ จากตำนานอารยธรรมอีสานใต้ โดยในอดีตพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้มีพระราชดำริให้ก่อตั้งอโรคยาศาลขึ้นเพื่อใช้สมุนไพรมาปรุงยา บรรเทารักษาอาการเจ็บป่วย บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน

ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้และต่อยอดการรักษาโรคด้วยสมุนไพรจากองค์ความรู้โบราณกว่าพันปี โดยพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพแบบองค์รวมที่มีทั้งทีมแพทย์จากศาสตร์แผนไทย จีน ปัจจุบัน และคลินิกกัญชาทางการแพทย์

หัตถการของที่นี่จึงเป็นการผสานภูมิปัญญาอย่างการสุมยา การนวดประคบ นวดกษัย ฝังเข็ม พอกตา เผายา ฯลฯ แน่นอนว่าสมุนไพรที่ใช้ในหัตถการทั้งหมดจากวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรของเพ ลา เพลิน ซึ่งมีการนำสมุนไพรเหล่านี้ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ AKAYA (เอกายา) ด้วยทั้งเซรั่ม ครีมบำรุง น้ำมันนวด

สำหรับช่วงเทศกาลลาเวนเดอร์ นอกจากผลิตภัณฑ์และชาจากสมุนไพรอื่นๆ แล้ว ยังมีสินค้าสเปรย์ฉีดห้องและหมอนกลิ่นลาเวนเดอร์รวมถึงเวิร์กช็อปแบบง่ายๆ ที่เปิดโอกาสให้ฝึกทำบอดี้สครับจากลาเวนเดอร์และผงฟู่แช่เท้ากลิ่นลาเวนเดอร์ซึ่งช่วยดับกลิ่นเท้า ทำให้เท้าหอมและนุ่ม

ที่สำคัญคือการรักษากายาที่ ‘อโรคยา เวลเนส ศาลา’ นั้นอยู่ในราคาที่เข้าถึงได้ อีกทั้งศาสตร์การรักษายังมาจากรากวัฒนธรรมและสมุนไพรที่ปลูกเองในชุมชนอย่างยั่งยืน

สาโทจากนครชัยบุรินทร์
และ Local Chef’s Table จากวัตถุดิบพื้นบ้าน

นอกจากสมุนไพรของที่นี่จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพแล้วยังนำไปเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารและเครื่องดื่มจากวัตถุดิบท้องถิ่นได้อีกด้วย จากข้าวหักเหลือทิ้งในบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่มีใครสนใจไยดี เพ ลา เพลิน ได้สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในการต่อยอดข้าวเหล่านี้เป็น AKAYA RICE WINE สุราแช่จากภูมิปัญญาพื้นบ้านของอีสาน ตามกรรมวิธีการทำสาโทพื้นบ้าน

แต่เดิมวิถีชาวอีสานจะนำข้าวมาหมักด้วยราและยีสต์ กลายเป็นลูกแป้งซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของแต่ละบ้าน จากนั้นแป้งที่ผ่านการหมักจะกลายเป็นน้ำตาลและแอลกอฮอล์ กลายเป็นไวน์ข้าวในที่สุด โดยไวน์ของเอกายาจะมี 4 รสที่เป็นภูมิปัญญาจากนครชัยบุรินทร์ (ประกอบด้วย 4 จังหวัดได้แก่ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) คือ ‘ทิวา’ ไวน์รสหวาน กลิ่นหอมจากข้าวเหนียวขาวพันธ์ุ กข. 6, ‘อุษา’ ไวน์จากข้าวกล้องทับทิมชุมแพ, ‘ศศิ’ ไวน์จากข้าวเหนียวดำที่นิยมมาทำขนม และ ‘นิสา’ ไวน์จากข้าวมะลินิลสุรินทร์

หากแวะมาที่เพ ลา เพลิน จะได้เห็นกิจกรรมตั้งแต่การดำนา เกี่ยวข้าวซึ่งเวียนทำตามฤดูกาล ไปจนถึงการแปรรูปข้าว โดยนอกจากการผลิตสาโท คนอีสานยังนิยมนำข้าวมาแปรรูปเป็นข้าวหมากซึ่งเป็นอาหารหมักสำหรับทานเล่นตามแบบฉบับภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีโพรไบโอติกสูง

นอกจากนี้ห้องอาหารของเพ ลา เพลินยังมีการนำเสนอเมนูจากวัตถุดิบพื้นบ้านอื่นๆ ของชุมชน เช่น ปลาส้ม น้ำพริกกุ้งจ่อม น้ำพริกกุเลา ฯลฯ ในโอกาสพิเศษมีการรังสรรค์เมนูฟิวชั่นของอาหารอีสานอย่าง ‘Buriram Food Series Local Chef’s Table’ อย่าง คอหมูย่าง ปอเปี๊ยะลาบกุ้ง ไก่หลงดง ต้มแซ่บคากิ ค็อกเทลต้มยำ ปลากะพงผัดพริกแห้ง ข้าวอบกุ้งจ่อม บัวลอยมันม่วงข้าวหมาก ซึ่งหลายเมนูคิดขึ้นพิเศษและหาทานได้เฉพาะที่นี่โดยเฉพาะ

ออกแบบเพลาที่เพลินใจ ณ บูติครีสอร์ท

ความพิเศษในการเป็นบูติค รีสอร์ทของ เพ ลา เพลินคือห้องพักทั้ง 73 ห้องมีเอกลักษณ์การตกแต่งด้วยการเพนต์ลายดอกไม้และสิงสาราสัตว์ที่ไม่เหมือนกันเลยสักห้อง สำหรับห้อง suite จะมี ‘ตู้ไทยเวลเนส’ (Thai Wellness shelf) ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ‘ส่วยยา’ หรือที่คนปัจจุบันเรียกกันว่าตู้ยาสามัญประจำบ้านที่มีประจำทุกครัวเรือน

ลูกค้าของรีสอร์ทที่เข้าพักห้อง suite สามารถทดลองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและสุขภาพจากสมุนไพรของแบรนด์เอกายาได้จากตู้ยานี้ โดยการตั้งเป้าเป็น green hotel ที่สนับสนุนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมทำให้ทางรีสอร์ทมีการสนับสนุนการลดใช้เคมีภันฑ์ในห้องพัก สนับสนุนชุมชนให้ทำน้ำยาอเนกประสงค์และปุ๋ยหมักใช้เองในครัวเรือน ไปจนถึงมีโปรโมชั่นเมื่อลูกค้าลดการใช้พลาสติกด้วยการนำภาชนะมาเอง

นอกจากกิจกรรมทางสุขภาพแล้ว เพ ลา เพลินยังมีทั้งกิจกรรมทำผ้ามัดย้อม, ดูหนังกลางนา, ช้อปปิ้งที่ศูนย์รวมสินค้าโอทอปจากชุมชน ‘Joy Market’, ชมของสะสมเก่าที่ ‘โรงเล่น…เรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ และ ‘กาลครั้งหนึ่งแกลลอรี่’, แวะทานขนมที่คาเฟ่แลดาว ในบรรยากาศร่มรื่น นับเป็นแหล่งการเรียนรู้เชิงสุขภาพที่ผสานความเป็นแหล่งท่องเที่ยวกับแหล่งเรียนรู้ไว้ด้วยกันอย่างลงตัวและมีการออกแบบประสบการณ์ (experience design) ที่มีการเล่าเรื่องภูมิปัญญาในองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ของรีสอร์ท

Play La Ploen Learning Park

หัวใจสำคัญของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนคือการทำธุรกิจอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสได้ตั้งแต่การปลูกพืชและสมุนไพร ไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งเชิงสุขภาพและอาหารซึ่งทำให้เห็นว่าเพิ่มมูลค่าและสนับสนุนชุมชนได้จริง

สิ่งที่เพ ลา เพลินตั้งใจทำมาตลอดคือการศึกษานอกห้องเรียนที่สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก โดยทุกวันนี้โมเดลธุรกิจมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นสถาบันการศึกษาที่พานักเรียนมาทัศนศึกษาและทำกิจกรรมที่บุรีรัมย์ ที่ผ่านมายังมีแคมเปญพิเศษเช่น เมื่อถึงฤดูดอกกระเจียวบาน เพ ลา เพลินได้ริเริ่มโครงการ ‘กระเจียวเพื่อน้องท้องอิ่มที่นำเมล็ดต้นกล้าให้นักเรียนจากโรงเรียนในชุมชนได้ฝึกปลูก จากนั้นทางรีสอร์ทจะซื้อผลผลิตที่นักเรียนเป็นผู้ปลูกกลับคืนมาเพื่อนำมาเพิ่มมูลค่า

ทั้งนี้เพ ลา เพลิน มองว่าพืชเมืองหนาวอย่างลาเวนเดอร์มีศักยภาพและเป็นความหวังในการสร้างโอกาสใหม่ในอนาคต การปลูกลาเวนเดอร์ไม่ใช่แค่การสร้างเอกลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอุทยานไม้ดอกของที่นี่อย่างเพลิดเพลิน ไม่ใช่แค่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กลิ่นลาเวนเดอร์ที่มีกลิ่นหอม แต่เป็นการสร้างความแข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชนและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนมาร่วมกันพัฒนาชุมชนในอีสานอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับเคทีซีแล้วการสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความยั่งยืนไม่ใช่แค่การทำโปรโมชั่น แต่คือการเข้าใจวิสัยทัศน์ของธุรกิจและเข้าถึงจิตใจของผู้ประกอบการอย่างลึกซึ้ง โดยเคทีซีมีกลยุทธ์การตลาดที่ตั้งใจผลักดันการท่องเที่ยวยั่งยืนด้วยการสนับสนุนโรงแรมและรีสอร์ทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง สำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีจะได้รับสิทธิ์ใน ‘เทศกาลลาเวนเดอร์ พืชเศรษฐกิจยั่งยืน Lavender’s Magic’ ได้แก่การจองแพ็กเกจห้องพักราคาพิเศษในราคาเริ่มต้นที่ 2,500 บาท รวมเซตอาหารเย็น การเข้าชมอุทยานลาเวนเดอร์ฟรีในช่วงเทศกาล เวิร์กช็อปผ่อนคลายด้วยผลิตภัณฑ์ลาเวนเดอร์ฟรี 1 ครั้ง รวมถึงส่วนลด 10% สำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ห้องอาหารเพลาภิรมย์ ไปจนถึงสปาและทรีตเมนต์ที่อโรคยาศาลา (AROKAYA WELLNESS SALA) หรือเมื่อซื้อสินค้าที่ CANN & COOP ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่รังสรรค์จากลาเวนเดอร์
ลูกค้ายังสามารถซื้อสินค้าที่มีส่วนผสมของลาเวนเดอร์ภายใต้แบรนด์เอกายาได้ที่ KTC U SHOP ช่องทางขายออนไลน์บนเว็บไซต์เคทีซี ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.ktc.co.th และมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับเทศกาลลาเวนเดอร์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 28 กุมภาพันธ์ 2568

You Might Also Like