นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Golden Imperfections

หลัก 4P+1 และปรัชญาของสตูดิโอ ‘ซ่อมด้วยรัก’ ที่รับซ่อมเซรามิกแตกให้งดงามด้วยศิลปะคินสึงิ

คินสึงิ คือศิลปะการซ่อมกระเบื้องที่แตกด้วยยางรัก เกิดเป็นรอยร้าวสีทองที่งดงามแม้เคยแตกเป็นเศษเล็กเศษน้อยไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นศิลปะแล้ว แก่นของคินสึงิยังเป็นปรัชญาทางเซนด้านการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองด้วยเช่นกัน

ตูน–ชยานันท์ อนันตวัชกร เป็นศิลปินคินสึงิที่ทำงานศิลปะเป็นงานอดิเรกอย่างจริงจังจนเปิดเพจชื่อ ‘ซ่อมด้วยรัก Kintsugi Thai’ ที่ปัจจุบันมีคนติดตามกว่าสามพันคนและรับซ่อมให้คนที่ทำถ้วยชาหรือภาชนะของรักของหวงแตก 

ความหลงใหลในศิลปะของตูนเริ่มจากการชอบดื่มชามาก่อนซึ่งนำพาให้เขาได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการดื่มชา ศึกษาลงลึกตั้งแต่เรื่องราวเกี่ยวกับใบชาไปจนถึงประวัติศาสตร์ของถ้วยกระเบื้องและเซรามิกที่ใช้ดื่ม จนเริ่มสะสมถ้วยชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเก็บความทรงจำเหล่านั้นในจักรวาลแห่งถ้วยชา  

การบังเอิญทำถ้วยชาใบหนึ่งแตกเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตูนรู้จักกับคินสึงิ เขาศึกษาเองและลองทำเองด้วยความสนุกจนมีคนติดตามและส่งภาชนะใบรักมาให้ซ่อมเรื่อยๆ ตูนมองตัวเองเป็นทั้งศิลปินที่ทำงานศิลปะและ craftsman ซึ่งต้องสะสมทั้งประสบการณ์และออกนอกกรอบในขณะเดียวกัน ในการทำงานคราฟต์ต้องสะสมระยะเวลาฝึกฝีมือจนเชี่ยวชาญคล้ายเชฟซูชิที่แล่ปลาเก่งจากการสะสมประสบการณ์แล่ปลานับครั้งไม่ถ้วน ส่วนงานศิลปะก็ต้องออกนอกกรอบเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง และการทำงานคินสึงิของตูนก็เป็นทั้งสองแบบนั้น  

แม้จะเป็นงานศิลปะที่ไม่ได้ตั้งใจขยายเป็นธุรกิจที่คิดกำไรอย่างจริงจัง แต่งานคินสึงิของตูนก็เป็นทั้งการซ่อมสินค้า (product) ให้ถ้วยชาที่มีรอยร้าวกลับมาผสานกันดังเดิมในทางตรงและเป็นกระบวนการ (service) ซ่อมใจที่แตกสลายในทางอ้อม ทำให้ความหมายของชื่อสตูดิโอซ่อมด้วยรักมีความหมายอันลึกซึ้งเป็นสองแบบ 

(Art) Product
ศิลปะการซ่อมถ้วยชาที่แตกร้าว 

‘รัก’ ในความหมายแรกของ ‘ซ่อมด้วยรัก’ หมายถึงยางรักซึ่งใช้เชื่อมกระเบื้องเซรามิกที่แตกให้ติดกัน

คินสึงิจัดเป็นศิลปะประเภทงานเครื่องเขิน (lacquer art) แก่นของการทำคือใช้วัสดุจากธรรมชาติ เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีกาวสังเคราะห์เหมือนในยุคปัจจุบัน คนโบราณจึงคิดค้นประดิษฐ์กาวจากธรรมชาติเรียกว่ายางรักหรืออุรุชิที่ได้มาจากยางต้นไม้ของญี่ปุ่นและมีคุณสมบัติประสานวัตถุเข้าด้วยกัน 

การทำกาวจากธรรมชาติจะใช้แป้งผสมกับยางรัก ซึ่งตูนลงมือผสมด้วยตัวเอง “ยางรักนี้จะได้รับผลกระทบต่อความชื้นและความร้อนของอากาศ พอมาทำที่บ้านเราซึ่งความชื้นของอากาศต่างกับญี่ปุ่นและได้ยางจากต้นไม้คนละพันธ์ุ เราก็ต้องมาประยุกต์การผสมอุรุชิของเราเอง แป้งที่นำไปผสมกับยางรักจะมีความเหนียว มีคุณสมบัติสามารถแอนตี้แบคทีเรียและปลอดภัยต่อการบริโภค มันก็เลยเวิร์กกับการมาทำเครื่องดื่มชา” 

กระบวนการแรกเมื่อได้เศษกระเบื้องที่แตกมาแล้วคือหาเศษชิ้นส่วนที่พอดีกัน “เวลากระเบื้องแตก เราก็ต้องมาดูลักษณะการแตกว่ามันแตกยังไง บางอันร้าว บางอันแตกแยกจากกันเลย” ตูนบอกว่าสำหรับงานบางประเภทจะสามารถหยิบชิ้นส่วนที่แตกหักมาต่อกันได้เลยเหมือนต่อจิ๊กซอว์ แต่กระเบื้องบางชิ้นที่แตกเป็นขุยจากการเผาในอุณภูมิต่ำต้องใช้เครื่องมาเจียให้มีช่องว่างก่อนใส่ (ยาง) รักเชื่อมเข้าไป 

“พอเราแปะเข้าไปเสร็จก็เอาไปบ่มไว้ให้จับตัวแข็งมากขึ้น มั่นใจได้เลยว่าจะไม่กลับมาแตกอีก ถ้าฟังเสียงเคาะของงานคินสึงิจะเป็นเสียงเดียวกันเลยกับชิ้นที่ยังไม่แตก โดยทั่วไปคนที่ดื่มชาจะทะนุถนอมอยู่แล้วเพราะฉะนั้นความแข็งแรงในระดับนี้มากพอที่จะนำไปใช้งานต่อได้ปกติ”  

หลังจากนำกระเบื้องมาติดประกบกันแล้วจะมีรูพรุน จึงต้องเชื่อมชั้นพื้นฐานให้แน่นด้วย ‘ซาบิอุรุชิ’ คือการนำอุรุชิไปผสมกับผงดินชนิดหนึ่งเพื่อเอาไปอุดรูเหมือนยาแนว จากนั้นเอาไปขัดด้วยกระดาษทรายเพื่อให้ได้เส้นที่เนียนสะอาดและเก็บรายละเอียดความเนี้ยบของเส้นเชื่อมด้วยการลงยางรักซ้ำราว 3-4 รอบ 

“และขั้นตอนสุดท้ายคือลงทอง ตอนที่ยางรักยังไม่แห้งและไม่เปียกจนเกินไปก็นำฝุ่นทองที่บดละเอียดมาโรยและปัดซึ่งบ้านเราไม่มีขาย การลงรักปิดทองของบ้านเราจะเป็นการเอาทองคำเปลวมาแปะ ถ้าฝุ่นทองของญี่ปุ่นจะนำทองมาบดจนละเอียดแล้วใส่เข้าไปในน้ำ บดไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเกล็ดเล็กๆ นำไประเหยออกให้กลายเป็นฝุ่น ซึ่งจะเป็นทองคำแท้ กลายเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงในการซ่อม พอรักแห้ง มันจะหลอมรวมกัน เกลี่ยเข้าด้วยกันแล้วจะเนียนไปกับพื้นผิวและทนต่อแรงขูดขีด”

กระบวนการทั้งหมดนี้ตูนเรียนรู้ด้วยตัวเองจากหนังสือและบล็อกต่างๆ ที่คนญี่ปุ่นเขียนไว้ “เคยมีบทสนทนากับคนญี่ปุ่นเหมือนกันว่าวิธีคิดของคนญี่ปุ่นที่ทำงานคราฟต์ดั้งเดิมจะไม่เหมือนกับที่เราทำเท่าไหร่ ของเขาจะมีสำนัก มีครูและมีศิษย์ มีหลักการว่าแตกยังไงก็ต้องซ่อมแบบนั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ทำสืบทอดกันมาตลอด ส่วนเราไม่เคยเข้าไปเรียนในคลาส academic ของเขา ทำให้ไม่ค่อยมีกรอบ เราทดลองทำเองมาเรื่อยๆ ทำลายกรอบเหล่านั้นแล้วเดินตามทางของเรา คล้าย beginner’s mind ของคนวาดรูปที่ไม่เคยผ่านอะไรมาจะแตกต่างกับคนที่เรียนจากอาจารย์แล้วค่อยๆ พัฒนา มันจะคนละแบบกัน เราจะมีอิสระในการทำงานศิลปะต่างจากคนที่เรียนคินสึงิโดยตรงมาจากทางญี่ปุ่นเลย”  

เพราะชอบการพลิกแพลงจึงไม่น่าแปลกใจที่นอกจากซ่อมถ้วยชา ตูนยังนำเทคนิคคินสึงิมาใช้ซ่อมภาชนะประเภทอื่นที่ผู้คนทำแตกและอยากให้ซ่อมอีกมากมายอย่างกระปุกน้ำหอมโบราณ เครื่องชามของไทย แก้วใส่เทียนหอม จานรองจอกชาไม้สนขาวจากญี่ปุ่น หรือแม้แต่พระเครื่อง 

ของทุกชิ้นล้วนเป็นของรักของหวงของใครสักคนที่ไม่ได้ตั้งใจทำแตก เมื่อได้รับการผสานรอยร้าวก็ดั่งได้รับการทะนุถนอมเก็บความทรงจำของคนที่รักผ่านภาชนะเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานที่เอาถ้วยชาของคุณปู่มาฝากซ่อมหรือคนในครอบครัวที่อยากปัดฝุ่นเอาของเก่าแก่ในบ้านมาชื่นชม

“มันน่าสนใจตรงที่ว่าข้าวของมันเหมือนจะเสียไปแล้วแต่ความทรงจำของเขายังไปต่อได้ บางครั้งของอาจไม่ได้มีมูลค่าและดูธรรมดาแต่มีความทรงจำอยู่ในนั้นและไม่ธรรมดาสำหรับเจ้าของ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราซ่อมมันมีความหมาย” 

ปรัชญาการซ่อมหัวใจที่แตกสลาย

‘รัก’ ในความหมายที่สองของ ‘ซ่อมด้วยรัก’ หมายถึงความรักในตัวเองและผู้อื่นตามธรรมชาติของแต่ละคนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ซ่อมใจเวลาเกิดความรู้สึกแตกสลาย 

ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น พิธีกรรมการดื่มชาไม่ใช่แค่การลิ้มรสชาเท่านั้น แต่ยังเป็นการชื่นชมกระบวนการชงและความงดงามของถ้วยชา เกิดเป็นคำว่าทิวทัศน์บนถ้วย “เวลาเราเดินขึ้นภูเขาแล้วมองไปที่วิว จากวิวทั้งหมดอาจจะมีจุดที่สวยที่สุดแค่ 2-3 จุด เหมือนเวลาเราเห็นถ้วยมัตฉะมีด้านหนึ่งที่สวยที่สุด เราก็จะเอาด้านนั้นหันไปเสิร์ฟให้แขกดู แขกก็จะเห็นทิวทัศน์นั้น คนโบราณก็เลยเปรียบเทียบวิวบนถ้วยชาว่าเป็นทิวทัศน์บนกระเบื้องเซรามิก”   

“วันหนึ่งเจ้าของทำถ้วยแตกซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ พอเอามาซ่อม มันก็จะเกิดทิวทัศน์ใหม่ซึ่งแต่ละชิ้นจะไม่เหมือนกัน เส้นที่แตกก็จะมาประสานกับงานเดิม บางครั้งมองแล้วเหมือนเมฆหรือถ้าคนจินตนาการหน่อยก็จะมองเห็นเหมือนสายฟ้าผ่าลงมา ถ้าไม่ได้อยู่ในจุดที่แตกหักทั้งหมด ทิวทัศน์เดิมก็จะยังอยู่แล้วผสมผสานกับคินสึงิ เกิดเป็นทิวทัศน์ใหม่ ของพวกนี้มันเกิดจากความบังเอิญที่เกิดขึ้น”  

ทิวทัศน์ใหม่ในสายตาของตูนเมื่อทำผลงานศิลปะเสร็จแล้วมีทั้งรอยร้าวที่ทอดยาวบนจานทำให้นึกถึงทิวทัศน์ทะเลและก้อนหินโค้งมนบนหาดทราย, คินสึงิสีทองบนถ้วยชาสีดำสนิทที่ส่องสะท้อนเหมือนแสงสว่างในความมืด, ถ้วยชาสีเขียวที่เมื่อประกอบเศษเข้าด้วยกันอีกครั้งทำให้นึกถึงภาพมอสสดบนขอนไม้เก่าและแสงสะท้อนของน้ำค้างยามเช้า

ทุกชิ้นมีรอยแตกหักจากความบังเอิญที่ไม่เหมือนกันเลยและศิลปินจะซ่อมตามรอยแตกทางธรรมชาตินั้น ทั้งส่วนป้านคยุสุ (ด้ามจับของถ้วยชาญี่ปุ่น) แตก ถ้วยชาที่เกิดรอยร้าวทั้งใบจนน้ำซึม จานที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและสภาพโทรมจนแทบไม่เห็นลวดลายเดิม ทุกรอยร้าวแตกออกและกลับมาอยู่ด้วยกันใหม่อย่างสวยงามได้อีกครั้งดั่งปาฏิหาริย์

เราไม่ได้กำลังพูดถึงแค่การซ่อมถ้วยชาที่แตก หากเปรียบภาชนะเป็นความรู้สึกทางใจที่รองรับอารมณ์ไว้มากมาย เมื่อกลับไปอ่านทวนเรื่องราวการมองทิวทิศน์บนถ้วยชาให้สวยงามอีกครั้งจะพบว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันกับการซ่อมความรู้สึกที่แตกสลาย เพราะการไม่พยายามควบคุมให้ได้ดั่งใจและยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบเป็นหัวใจของปรัชญาคินสึงิที่ไม่มองรอยแตกว่าเป็นบาดแผลในชีวิต แต่โอบกอดส่วนที่แตกสลายและแต่งแต้มบาดแผลนั้นให้สวยงาม 

“เราไม่สามารถควบคุมการแตกได้ว่าจะให้มันแตกตรงนี้หรือแตกแบบนี้ ถึงเวลาเราก็ต้องเรียนรู้ ยอมรับสภาพและอยู่กับมัน แทนที่จะรังเกียจและรู้สึกไม่สมบูรณ์ ก็ยอมรับและเอนจอยกับมัน เหมือนเวลาเราไปดูสวนหินของญี่ปุ่น บางครั้งก็มีมอสขึ้นหรือมีหินที่เบี้ยว คนญี่ปุ่นพยายามจะสื่อว่าของทุกชิ้นไม่จำเป็นต้องวางเหมือนกันเป๊ะ บางครั้งเราก็ปล่อยให้มันโตขึ้นด้วยตัวเองตามธรรมชาติ”  

เพราะรอยแตกเป็นเรื่องของความบังเอิญ ตูนจึงกล่าวไว้ในเพจซ่อมด้วยรักว่า “การสรรค์สร้างนี้จึงเป็นเรื่องของโอกาส (by chance) เท่านั้น เพราะงั้นแล้ว จึงไม่มีครั้งที่สองอีก ในป้านทุกใบ ในถ้วยชาทุกถ้วย” ไม่มีรอยร้าวไหนในชีวิตที่แตกซ้ำรอยกัน ในรูปแบบเดียวกัน แต่ทุกร่องรอยของบาดแผลล้วนทิ้งเรื่องราวเป็น ‘Traces of the story that happened’ ให้ได้เรียนรู้เอาไว้ 

Price 
Value is in the Eye of the Beholder 

ช่วงราคาการซ่อมคินสึงิเริ่มต้นที่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นขึ้นอยู่กับปริมาณของรอยแตก ลักษณะและขนาดของภาชนะที่เอามาซ่อม โดยใช้ระยะเวลาในการซ่อมไม่ต่ำกว่า 8-10 สัปดาห์ ไปจนถึงเป็นปีสำหรับบางชิ้นที่มีรอยแตกหักเยอะหรือมีขนาดใหญ่

ตูนบอกว่าต้นทุนในการทำงานศิลปะคินสึงิแบ่งเป็นสองแบบ หนึ่งคือต้นทุนจริง เช่น ต้นทุนของยางรักและฝุ่นทองที่ต้องหามาจากญี่ปุ่น สองคือต้นทุนที่มองไม่เห็น ซึ่งศิลปินต้องประเมินด้วยตัวเองอย่างเวลาที่ใช้ในการซ่อมไปจนถึงฝีมือของศิลปิน โดยถ้าเป็นชิ้นที่มีรอยแตกเยอะ ก็ต้องใช้เวลาและใช้ยางรักเยอะมากขึ้นตามไปด้วย

“ถ้าเราเป็นศิลปินจะมีหลักการคิดราคาคนละแบบกับธุรกิจ ธุรกิจจะสนใจกำไรเป็นปลายทาง ส่วนในการเริ่มต้นทำงานศิลปะซึ่งเป็นงานอดิเรก เราไม่ได้มองว่าเราจะต้องรวยกับการขายงาน แต่ก็ต้องมีมูลค่าด้วยเช่นกัน ซึ่งมูลค่านั้นจะสะท้อนมาจากความพยายามและคุณค่างานของเรา ต้องมาดูว่าเมื่อเทียบมูลค่าราคาที่จ่ายกับมูลค่าทางความรู้สึกของลูกค้ามันสอดคล้องกันหรือเปล่า ภาชนะชิ้นนั้นสำคัญพอสำหรับเขาหรือเปล่า”

โดยตูนมองว่างานคราฟต์อย่างคินสึงิเป็นงานศิลปะที่สะท้อนคุณค่าและฝีมือของศิลปินออกมาได้เองโดยไม่ต้องอธิบาย หมายความว่างานชิ้นนั้นสามารถหยุดสายตาของคนได้ คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านคินสึงิมาก่อนก็สามารถชื่นชมความงามของคินสึงิบนถ้วยชาได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องฟังคำพรรณนาความงามจากศิลปิน ซึ่งพอมองเห็นความงามด้วยตัวเองก็จะไม่มีคำถามต่อว่าทำไมงานศิลปะถึงต้องแพง นอกจากการรับซ่อมภาชนะที่คนทำแตกแล้ว ในอนาคตตูนยังอยากเพิ่มมูลค่าของเศษกระเบื้องด้วยหลายวิธี อย่างการประยุกต์ใช้เทคนิคคินสึงิกับงานศิลปะอื่นๆ เช่น งาน sculpture เพื่อให้คนสามารถสะสมได้ 

“เคยไปเที่ยวที่สุโขทัย แล้วเห็นเศษชามกระเบื้องต่างๆ ก็เลยซื้อกลับมา ถ้าเราเอาไปให้พิพิธภัณฑ์ เขาอาจจะไม่รับเพราะมันยังเหมือนเป็นขยะ เราอยากเอาเศษกระเบื้องพวกนี้มาซ่อมมันจะกลายเป็นชิ้นงานศิลปะชิ้นใหม่ เราแพลนว่าอาจจะทำงานร่วมกับร้านเตาเผาที่มีเศษกระเบื้องและไปนำเสนอกับแกลเลอรีต่างๆ”

อีกรูปแบบที่ให้คนทั่วไปสัมผัสคินสึงิได้คือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองในเวิร์กช็อปที่ตูนเคยจัดในนามสตูดิโอซ่อมด้วยรักโดยสอนตั้งแต่พื้นฐานศิลปะญี่ปุ่นและทุกขั้นตอนการทำในราคา 9,500 บาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าในการเรียนศาสตร์อันลึกซึ้งของศิลปะญี่ปุ่น

Promotion & Place
เล่าเรื่องผ่านการลงมือทำที่ร้านชา

ด้วยเป็นงานศิลปะและเชื่อในความงามที่สะกดสายตาคนเห็นโดยไม่ต้องพรรณนา ตูนจึงบอกว่าเขาไม่เคยตั้งใจโปรโมตผลงานทางเพจอย่างจริงจัง แค่ลงผลงานและมีกลุ่มคนที่ชอบแบบเดียวกันมาติดตามเรื่อยๆ
โดยยึดในหลักการว่าแม้เป็นงานศิลปะก็จะไม่ลดราคาพร่ำเพรื่อแต่ยืนหยัดในมูลค่าของงาน 

“บางครั้งราคาของคินสึงิก็ไม่แมตช์กับราคาที่ลูกค้าคิด เวลาที่ลูกค้ารับไม่ไหวกับค่าซ่อม เราก็ต้องยืนยันคุณค่างานซ่อมคินสึงิของเรา เพราะบางครั้งการต่อรองราคาลงมาก็เป็นการลดคุณค่าแรงงานของเราเองและต้นทุนของเราก็อาจจะไม่ไหวด้วย เราจึงต้องมีจุดยืนในคุณค่าแรงงานที่ใช้ในการทำงานด้วย 

สำหรับคำว่าโปรโมชั่นในหลัก 4P นอกจากจะหมายความถึงส่วนลดที่ตรงตัวแล้ว ยังหมายถึงการเล่าเรื่องราวเพื่อทำให้คนเข้าใจเบื้องหลังความเป็นมาก่อนจะออกมาเป็นผลงานสุดท้าย ซึ่งสำหรับตูน เขาเล่าสตอรีเหล่านี้ผ่านเวิร์กช็อป

คอร์สเรียนครั้งแรกของตูนจัดขึ้นในชื่อ ‘Kintsugi Workshop : Comprehensive Traditional Kintsugi Class’ ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ Aoon Pottery ร้านชาบรรยากาศอบอุ่นที่ปั้นถ้วยชาเซรามิกและขายชาเพื่อให้ผู้คนสามารถแวะมาลองสัมผัสไออุ่นจากการจิบชาด้วยถ้วยเซรามิกได้ 

สาเหตุที่ตูนเลือกจัดที่ร้าน Aoon Pottery นั้นมีเหตุผลที่ลึกซึ้งอยู่ “ทางร้าน Aoon Pottery มีส่วนที่คาบเกี่ยวกันระหว่างคนทำกระเบื้องและคนรักการดื่มชาที่เข้าใจวัฒนธรรมตะวันออก เพราะถ้าไม่ดื่มชาก็จะไม่เข้าใจรายละเอียดต่างๆ เช่น การเคลือบถ้วย ส่วนคอนเซปต์ของเราคือรับของจากที่อื่นมาซ่อม ไม่ได้ซื้อกระเบื้องมาทุบแล้วขาย พอจะจัดเวิร์กช็อปก็นึกว่าจะไปหาเศษกระเบื้องมาจากไหนดี เลยคิดว่าไปหาคนปั้นงานที่มีคุณค่าโดยตรงเลยดีกว่า” 

“การที่เราเข้าไปร้านเขาถึงที่เตาเผาเลย ก็คิดว่ามันทำให้มีความน่าสนใจที่จะจัดเวิร์กช็อป เพราะการปั้นเซรามิกก็เป็นศาสตร์หนึ่ง ส่วนการซ่อมมันก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่ง มันน่าจะเวิร์กเมื่อคนทำกับคนซ่อมมาจัดเวิร์กช็อปร่วมกัน ก็เป็นการขยายมุมมองของตัวเองและได้ไอเดียมากขึ้นด้วย” โดยระยะเวลาของ 1 คอร์สคือ 4 สัปดาห์ เพราะแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาในการทาส่วนผสมแล้วรอเกือบอาทิตย์ให้แห้ง  

กิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่ตูนจัดขึ้นเป็นมินิเวิร์กช็อปซึ่งจัดร่วมกับร้านอาหาร Kintsugi Bangkok by Jeff Ramsey ที่โรงแรม The Athenee Hotel ที่อยากนำเสนออาหารญี่ปุ่นสไตล์ไคเซกิแบบดั้งเดิมโดยเติมไอเดียใหม่แต่ยังคงเสน่ห์ดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งเป็นการตีความคอนเซปต์ของคินสึงิในรูปแบบใหม่ที่ถ่ายทอดศิลปะผ่านอาหาร ในครั้งนี้ตูนถ่ายทอดเรื่องราวโดยสอนลงรักและลงทองบางส่วน ย่อกระบวนการทั้งหมดให้เหลือสั้นไม่กี่ชั่วโมงพร้อมกิจกรรมชิมอาหารที่ร้าน 

ไม่ว่าเวิร์กช็อปรูปแบบไหน สิ่งสำคัญที่ตูนอยากให้ผู้เข้าร่วมได้รับกลับไปคือการบรรลุในจุดประสงค์ของตัวเองเมื่อมาเข้าร่วม “คิดว่าศิลปะมันกว้างและเป็นเรื่องปัจเจกของแต่ละคน มันมีทั้งเรื่องการชื่นชมความสวยงามของศิลปะอย่างเส้นทองที่อยู่บนกระเบื้องสวย บางคนเป็นคนที่สะสมของเก่าโบราณแล้วไปขุดไปซ่อมของมาขาย บางคนอาจจะภูมิใจกับการได้ลงมือทำหรือบางคนมาเพื่ออยากทำกระบวนการแล้วสะท้อนไปถึงตัวเอง”

“ในเวิร์กช็อปเราจะคุยทั้งเรื่องคอนเซปต์ของศิลปะ กระบวนการคิด กระบวนการทำ แล้วแต่ละคนชอบหรือหลงใหลด้านไหนเป็นพิเศษ เขาก็จะไปลงรายละเอียดของเขาเอง เหมือนเวลาที่เราให้ผ้าใบสีขาวและสีกับแต่ละคนไป แต่ทุกคนจะวาดรูปออกมาไม่เหมือนกันแน่นอน”   

สำหรับคนที่เป็นซึมเศร้า การทำคินสึงิซึ่งซ่อมของที่แตกหักในมือด้วยกระบวนการอันเนิบช้าช่วยสะท้อนกลับไปยังจิตใจภายในเหมือนได้ซ่อมความแตกสลายข้างในไปด้วย “การทำสิ่งนี้ช่วยเชื่อม broken pieces back together ภายในใจของเขา ซ่อมของที่แตกอยู่ข้างใน”  

“งานแบบนี้ต้องค่อยๆ ทำ มันเร่งไม่ได้ ถ้าสมัยก่อนที่ทำเพนต์ติ้ง เราสามารถวาดไปได้เรื่อย ๆ แต่อย่างคินสึงิเราโดนบังคับให้รอให้แห้งร้อยเปอร์เซ็นต์มันถึงจะทำต่อได้  มันจะดึงให้เราช้าลง ทุกวันนี้ทุกอย่างมันเร็วไปหมด พอคนเป็นแบบนี้ทำให้ความช้าในการใช้ชีวิตหายไป พอมาทำอาร์ตพวกนี้เหมือนการบำบัด รักษาให้ตัวเองกลับมามีสมาธิอีกครั้ง” 

People 
Ritual of Art Appreciation

สำหรับศิลปินคินสึงิอย่างตูน เขามองว่างานศิลปะที่ทำมาทั้งหมดจะไม่มีมูลค่าเลยถ้าไม่มีมนุษย์ผู้เสพศิลปะด้วยอารมณ์  “ถ้าไม่มีมนุษย์ สุดท้ายงานศิลปะชิ้นหนึ่งจะไม่มีประโยชน์เลย ไม่เหมือนซื้อเครื่องสำอางที่มันจะถูกใช้งาน งานศิลปะมันตอบความรู้สึกทางจิตใจของคน ที่เราทำอยู่นี้มันไม่ได้ซ่อมแค่วัตถุ แต่ยังซ่อมตัวเจ้าของเองด้วย เพราะว่าบางครั้งเจ้าของอาจรู้สึกว่าเขาไม่สมบูรณ์แบบ ของเขาแตกไป แต่เราสามารถซ่อมจิตใจของเขากลับมาได้ เขาก็มีความสุข ได้เติมเต็มมากขึ้น” 

“เราอาจจะเป็นมนุษย์ปัจจุบันที่มีความทันสมัย เราไปถึงอวกาศ เรามี ChatGPT แต่อย่าลืมว่าการทำเรื่องเล็กๆ เช่น การดื่มชา การวาดรูป เป่าขลุ่ย เล่นไวโอลิน การชื่นชมงานศิลปะเหล่านี้หรือทำงานศิลปะด้วยวิธีการของมันโดยไม่ใช้ทางลัดเป็นการรักษาความทรงจำของคนโบราณเอาไว้ด้วยวิธีหนึ่ง เหมือนว่าคุณกำลังคุยเรื่องเดียวกับคนยุคสี่ร้อยปีก่อนโดยไม่ได้ให้เทคโนโลยีทำแทนทั้งหมด เราเป็นมนุษย์ที่พยายามจะทำให้งานศิลปะต่างๆ มายกระดับจิตใจเราให้ดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เดินไปข้างหน้าแต่การทำตามวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบนี้มันก็เป็นทางเลือกหนึ่ง”  

เรื่องเล็กๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ตูนมองว่ามีผลอย่างใหญ่หลวงในการรักษาวัฒนธรรมให้มีลมหายใจ “ที่ญี่ปุ่น ทำไมเขาถึงมีสำนักจัดดอกไม้และสำนักชงชา ผู้คนยังใส่กิโมโน การทำอะไรเล็กๆ แบบนี้ของคนญี่ปุ่นมันช่วยส่งเสริมให้ฐานของวัฒนธรรมมีชีวิตต่อไปได้ เหมือนช่างศิลป์ของญี่ปุ่นที่บางศาสตร์มีมาตลอดถึงรุ่นที่ 17 ทำมาตลอด 17 ปีไม่เคยขาดตอน เพราะคนในประเทศยังคงชื่นชมกับงานเล็กๆ แบบนี้ แค่ซื้อชาและถ้วยชาที่ผลิตในพื้นที่ ก็เป็นเหมือนสิ่งหล่อเลี้ยงให้ช่างศิลป์มีชีวิตต่อไปได้ ให้วัฒนธรรมยังมีลมหายใจอยู่”

แม้จะถนัดศาสตร์งานศิลป์จากญี่ปุ่น แต่ตูนมองว่าวัฒนธรรมไทยก็สามารถสร้างมูลค่าแบบนี้ได้เช่นกัน การเริ่มต้นเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมอาจไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานศิลป์ดั้งเดิมอย่างวาดลายกนก แค่บริโภคงานคราฟต์และอุดหนุนของกิน ของใช้จากชุมชนท้องถิ่นในชีวิตประจำวันก็เป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมในรูปแบบหนึ่งแล้ว 

เมื่อการซ่อมถ้วยเซรามิกที่แตกกลายเป็นวิถีชีวิตอันรื่นรมย์ในแต่ละวันก็ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของศิลปินและยังกลายเป็นงานศิลปะที่ขายได้ สร้างความรื่นรมย์แก่ผู้ที่มองเห็นความงามของคินสึงิคนอื่นๆ ต่อไป


ข้อมูลติดต่อ :
Facebook :
ซ่อมด้วยรัก Kintsugi Thai
Instagram :
@fixbylove
Email :
fixbylovebyKintsugiThai@gmail.com

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like