ซอสพลิก

ซอสพริกและร้านชำที่เป็นมิตรกับทุกคนของ สมภพ ภู่ธนะพิบูล เจ้าของ คี้เอ็งพานิช ตราเด็กนั่งชิงช้า

คี้เอ็งพานิช เป็นแบรนด์ร้านชำที่ออกตัวว่าเป็นมิตรกับทุกคน โปรดักต์แรกคือซอสพริกที่ไม่ได้ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม แต่เป็นซอสพริกที่เคี่ยวเองภายในพื้นที่ขนาดหนึ่งครัวบ้านที่จังหวัดระยอง ทุกลำดับขั้นตอนตั้งแต่คิดสูตร จ่ายตลาด คัดเลือกวัตถุดิบ ปรุงรส บรรจุขวด ไปจนถึงการขายและทำบัญชี เกิดขึ้นด้วยแรงคนเพียงคนเดียว 

ไมค์–สมภพ ภู่ธนะพิบูล เรียนจบนิเทศศาสตร์และบินไปเรียนคอร์สทำอาหารระยะสั้นไกลถึงสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะค้นพบว่าที่จริงแล้วตัวเองชอบทำอาหารไทย เลยกลับมาทำงานในร้านอาหารโบ.ลาน และซาหมวย แอนด์ ซันส์ หลังเขาสะสมประสบการณ์มากจำนวนปีก็วางแผนลาออกมาเพื่อหยุดพักชั่วคราว (ที่เจ้าตัวก็นึกไม่ถึงว่าจะได้พักยาวขนาดนี้) แต่ด้วยผลกระทบของโควิด-19 เขาเลยได้พักยาวและเรียนรู้ว่าตัวเองก็สามารถสร้างแบรนด์เล็กๆ และกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้ หลังจากห่างระยองมานานจนลืมปี

“ทำซอสพริกที่เราอยากกิน” ถ้อยคำอันเป็นจุดเริ่มต้นของคี้เอ็งพานิช แบรนด์ของชำที่เป็นมิตรกับทุกคน ซอสพริกสูตรออริจินัลที่คัดสรรวัตถุดิบรสกลมกล่อมจากธรรมชาติที่ได้สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยด้วย ความเผ็ดจัดจ้านจากพริกชี้ฟ้ากับพริกจินดา ความเค็มจากดอกเกลือและหัวน้ำปลา หวานจากน้ำตาลมะพร้าวอินทรีย์ เปรี้ยวจากน้ำส้มสายชูหมักธรรมชาติ และสูตรหัวร้อน ที่เพิ่มเครื่องเทศรสไทยและพริกกะเหรี่ยงเข้าไปเพิ่มความเผ็ดร้อนแบบที่ความหวานตามมาไม่ค่อยทัน ตามนิยามของไมค์ 

หากนึกถึงเครื่องจิ้มที่ได้รับ (ฟรี) บ่อยครั้งเมื่อสั่งอาหารเดลิเวอรี่ หลายคนต้องนึกถึงซอสพริก แน่นอนว่าคี้เอ็งพานิชเลือกนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้ท่ามกลางความสงสัยจากคนรอบตัวว่าทำไมพวกเขาต้องจ่ายเงินซื้อซอสที่ปกติได้ฟรี แต่กลับกันในฝั่งตรงข้าม ลูกค้าประจำของคี้เอ็งพานิชคือกลุ่มคนที่รู้แน่ว่าทำไมต้องจ่ายเพื่อซอสพริกที่ดี 

เตรียมมือไว้หมุนฝาขวดซอสให้เปิดออก พร้อมลิ้มรสเผ็ดเปรี้ยวเค็มหวาน และรับรู้บทสนทนาร่วมกัน

คี้เอ็งพานิช

คี้เอ็งพานิชเริ่มต้นธุรกิจในปี 2020 ช่วงเดียวกับล็อกดาวน์ที่หลายแบรนด์ทยอยปิดตัวลง คุณมองเห็นโอกาสอะไร

ตอนนั้นเราทำงานเป็นเชฟที่ร้านอาหารและแพลนเอาไว้ว่าจะลาออกจากงานเดือนมกราคม กะว่าอยากหยุดสักพักแล้วค่อยกลับไปหางานใหม่ช่วงกลางปีละกัน แต่กลับกลายเป็นว่าพอหยุดแล้วได้หยุดยาว (ลากเสียง) เพราะร้านอาหารโดนล็อกดาวน์หมดเลย ระหว่างที่ยังไม่รู้จะทำยังไง ช่วงนั้นเพื่อนๆ ทั้งที่เป็นเชฟและที่ทำอาชีพอื่นก็หันมาทำของขายกันเยอะมาก เราก็คิดว่าเฮ้ย เราต้องมีบ้างสิ ลองทำสนุกๆ ดีกว่าอยู่เฉยๆ และจะได้มีรายได้ด้วย ก็เลยทำซอสพริกออกมาขายแค่กลุ่มเพื่อนในเฟซบุ๊ก ด้วยการเอาขวดแก้วที่มีในบ้านมากรอก แต่ละขวดหน้าตาไม่เหมือนกัน ขนาดก็ไม่เท่ากัน แต่กลายเป็นว่ามีเพื่อนซื้อไปเยอะ เพื่อนของคุณพ่อก็สั่งไปแจกลูกค้า จากตรงนั้นเลยคิดว่าซอสพริกของเราน่าจะต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะขึ้นมา คนที่รับไปจะได้รู้สึกถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์

ทำไมต้องเป็นซอสพริก

เราชอบกินอาหารกับซอสพริก ด้วยความที่บ้านอยู่ระยอง เราจะผัดอาหารทะเลกับซอสพริกบ้าง นึ่งอาหารทะเลจิ้มกับซอสพริกบ้าง แต่ด้วยความที่รสชาติซอสพริกในตลาดยังไม่ถูกใจ มันจะออกหวาน เค็ม เปรี้ยว แต่ไม่ค่อยมีรสเผ็ด และเราเองมีสูตรซอสพริกอยู่ในใจอยู่แล้ว ก็เอามาประยุกต์และปรับให้เป็นรสชาติที่เราชื่นชอบ ตั้งใจให้เป็นซอสพริกครอบจักรวาล คือมากกว่าแค่การเป็นเครื่องจิ้ม ซอสพริกคี้เอ็งเอาไปจิ้มได้ ผัดได้ ปรุงอาหารก็ได้ 

คี้เอ็งพานิช

ฉลากตราเด็กนั่งชิงช้าและชื่อคี้เอ็งพานิชได้มากจากไหน

เมื่อก่อนอากงของเราขายกาแฟยี่ห้อภู่ฮั่วมิ้น ขายมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ปัจจุบันเลิกทำไปแล้ว แต่โรงคั่วกาแฟยังอยู่หลังบ้าน วันหนึ่งเราเข้าไปเก็บของแล้วไปเจอฉลากเก่าของแบรนด์กาแฟอากง เป็นช่วงเดียวกับที่กำลังจะทำแบรนด์ซอสพริกของเราให้จริงจังขึ้นมาอีกหน่อย เราเลยอยากให้ฉลากของคี้เอ็งมีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงแบบนี้ มันมีทั้งความเก่าแก่ ความน่าเชื่อถือ ความผูกพันของครอบครัว รูปเด็กนั่งชิงช้าก็เป็นรูปของตัวเองที่แขวนอยู่ที่บ้าน เราเลยร่างแบบคร่าวๆ ให้พี่ที่เป็นกราฟิกช่วยหน่อย ส่วนคี้เอ็งเป็นชื่อจีนของเราที่อากงตั้งให้ ที่เลือกใช้ชื่อตัวเอง เพราะปัจจุบันที่คนทำผลิตภัณฑ์ออกมาขายไม่ค่อยมีใครใช้ชื่อตัวเองเหมือนสมัยก่อน เรานึกถึงน้ำจิ้มน้ำพริกตราแม่ต่างๆ และไหนๆ เราก็จะขายตัวตนของเราเข้าไปในผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ก็ใช้ชื่อเรา รูปเราเลยละกัน

เข้าใจว่ารูปวัยเด็กของคุณก็คงมีหลายใบ ทำไมเลือกรูปนั่งชิงช้า

รูปนี้ถูกใส่กรอบและตั้งอยู่ที่บ้านตั้งแต่เราจำความได้ เข้าบ้านมาก็เห็นตลอด พอตั้งใจว่าจะใช้รูปตัวเองเป็นช่วงเดียวกับที่ไปบวชและเพิ่งสึกออกมา รูปที่ถ่ายช่วงนั้นมันใช้ไม่ได้เลย (หัวเราะ) เลยคิดว่าเป็นรูปเด็กไปเลยแล้วกัน เพราะที่ระยองก็มีแบรนด์น้ำปลาตราเด็ก หรือซีอิ๊วก็มีเด็ก มันเล่นกับความเป็นการ์ตูน น่าจะทำให้แบรนด์ดูน่าจับต้องมากขึ้น 

แบรนด์เก่าแก่พยายามจะรีแบรนด์ให้ดูทันสมัย แต่สังเกตว่าแบรนด์ของคนรุ่นใหม่กลับเลือกใช้โลโก้ที่มีหน้าตาย้อนยุค 

งานของคนรุ่นเก่ามันมีรายละเอียด มีความผูกพัน ที่เราเลือกทำแบบนี้เพราะอยากให้มันลิงก์กับครอบครัวและเชื่อมโยงถึงภูมิหลัง อาจด้วยประสบการณ์ทำงานของเราที่ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ที่ร้านโบ.ลาน ได้อ่านหนังสือเก่า รู้จักแบรนด์เก่า เรารู้สึกว่าในงานเก่ามีเสน่ห์บางอย่าง มีความน่าเชื่อถือด้วย พอได้มาทำผลิตภัณฑ์ ก็เลือกดึงงานดีไซน์ที่เก่ากับลายเส้นที่ใหม่ เป็นการผสมผสานสิ่งที่เราชอบ

คี้เอ็งพานิช

คุณบอกว่ามีสูตรซอสพริกที่อยู่ในใจกับรสชาติที่อยากกิน อะไรคือความแตกต่างของซอสพริกจากคี้เอ็งพานิช

เราใช้วัตถุดิบที่แตกต่าง ปกติซอสพริกที่ซื้อตามท้องตลาดจะมีการผสมน้ำตาลทรายลงไปเพื่อเพิ่มความหวานและความข้นหนืด บางแห่งเติมสารให้ความข้นหนืดเพิ่มไปด้วย แต่เราใส่แค่เครื่องปรุงที่เป็นวัตถุดิบธรรมชาติ อย่างน้ำตาลมะพร้าวเราใช้ของเพียรหยดตาล เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ค่อนข้างแข็งแรง รู้จักกันมาตั้งแต่เราทำงานที่ร้านอาหาร และอยากสนับสนุนพวกเขาต่อก็เลยซื้อกันมาจนปัจจุบัน เพราะฉะนั้นความหวานในซอสพริกของเรามาจากน้ำตาลมะพร้าวจริงๆ

การใช้น้ำตาลมะพร้าวจริงๆ อย่างที่ว่ามันดียังไง

น้ำตาลมะพร้าวมีที่เป็นออร์แกนิกและไม่ออร์แกนิก คือในส่วนผสมอาจมีการฉีดยาฆ่าแมลงลงไปเพื่อกำจัดตัวด้วง ส่วนที่เป็นออร์แกนิกมาจากการเก็บน้ำตาลใสจากช่อดอกมะพร้าวมาทำน้ำตาล บ้านเราอากาศร้อน น้ำตาลใสมันเสียเร็ว ต้องปีนขึ้นไปเก็บรอบเช้าและเย็น และไม่ใส่สารกันบูด แต่จะใส่ไม้พะยอมลงไปเป็นการกันบูดแบบธรรมชาติ ปัจจุบันมีหลายเจ้าที่ร่นเวลาเก็บ ปีนไปเก็บรอบเดียวหรือหลายวัน ขึ้นไปทีนึงแล้วก็ใส่สารกันบูดเพื่อเพิ่มระยะเวลาเก็บ หรือบางแห่งเลือกประหยัดต้นทุนด้วยการใส่น้ำตาลทรายผสมให้จับตัวเป็นก้อน หนืดเร็วข้นเร็ว แต่ที่เราใช้คือร้อยเปอร์เซ็นจากช่อดอกมะพร้าว 

รสชาติของน้ำตาลมะพร้าวจะหวานนวล มีกลิ่นหอมเฉพาะ หวานนิดอมเปรี้ยวหน่อย รสนัวๆ และละลายไปกับลิ้น มีความลงตัวในการนำมาทำอาหาร ปกติทำแกงหรืออาหารไทย ด้วยกะทิมีความหวานในตัวอยู่แล้ว การเติมน้ำตาลมะพร้าวทำให้หวานกลมกลืนไปกับกะทิ เวลากินจะรู้สึกถึงความหวาน แต่เป็นความหวานที่มาแก้ความเผ็ด มาเพิ่มบาลานซ์ให้รสชาติ ความหวานที่เราต้องการใส่ในซอสพริกก็เหมือนกัน คือพอทานแล้วรู้สึกเผ็ด แต่ให้ความหวานตามมาให้ทันล้างความเผ็ด ไม่ได้อยากให้ทานแล้วปวดแสบปวดร้อนจนต้องหาน้ำกินตาม อยากให้เผ็ดอย่างมีเหตุผล คือมีความจัดจ้านนะ แต่รสชาติที่ตามมาต้องกลมกล่อมลงตัว

แล้วความเค็มและความเปรี้ยวได้จากวัตถุดิบอะไรบ้าง

ซอสพริกคี้เอ็งได้ความเค็มจากดอกเกลือธรรมชาติ มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วนเพราะไม่ผ่านกระบวนการใดๆ ใช้ขัดผิวก็ได้ ใช้ทำอาหารก็ได้ เราคงเคยผ่านตาพวกเกลือเม็ดจากอิตาลี จากฝรั่งเศส แต่จริงๆ เกลือบ้านเรามีคุณค่าเหมือนกัน และดอกเกลือก็เป็นเกลือที่ดีที่สุดในเกลือธรรมชาติ คือมันจะลอยจากการระเหยของน้ำเค็มเป็นผลึกขึ้นมาก่อน ในความเค็มของดอกเกลือเลยมีรสกลมกล่อมบางอย่างที่มากกว่านั้น 

และต่อมาเป็นความเค็มจากน้ำปลา เรารู้จักกับเจ้าของโรงงานน้ำปลาแบรนด์ท้องถิ่นที่ระยองก็เลยเลือกน้ำปลาที่เรากินมาตั้งแต่เด็กและใช้ในบ้านอยู่แล้วมาเพิ่มความเค็มในซอสพริก มันจะให้อูมามิแตกต่างจากซอสพริกทั่วไป 

ส่วนความเปรี้ยวได้จากน้ำส้มสายชูธรรมชาติ คือผ่านการหมักด้วยธัญพืช ผลไม้ และน้ำตาล ทำให้ได้รสชาติกลมกล่อม ไม่เปรี้ยวแหลมกลิ่นแรงอย่างแบบกลั่น  

สโลแกน ‘ร้านชำที่เป็นมิตรกับทุกคน’ ดูจะไม่ได้พูดถึงซอสพริกอย่างเดียว และเราเห็นว่าตอนนี้มีโปรดักต์อื่นด้วย

ตอนเริ่มธุรกิจไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าแค่อยากทำของขาย แต่พอมันเริ่มอยู่ได้เราก็ต้องคิดว่าทำยังไงให้ธุรกิจเติบโต เลยวางแผนว่าสักปีสองปีเราจะมีร้านอาหารและร้านชำร้านหนึ่งเหมือนออร์แกนิกช็อป เราใช้ชื่อเดียวกันว่าคี้เอ็งพานิช เป็นร้านชำที่มีของกินทุกสิ่งอย่าง เครื่องปรุง ซอส กะปิ น้ำปลา ของแห้ง ขนม ที่บรรจุในแพ็กเกจจิ้งที่พยายามจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ส่วนรสชาติ ความสะอาด ความปลอดภัยเป็นมิตรกับคนกินและเป็นมิตรกับคนทำด้วย

เป็นมิตรกับคนทำในแง่ไหนบ้าง

ในแง่ที่เราทำแล้วสบายใจ อาหารที่ทำออกไปมันสะท้อนบุคลิกภาพของคนทำ ผลิตภัณฑ์ที่ทำและส่งต่อให้คนได้กินของที่ดี มีสุขภาพที่ดีก็ทำให้เราสบายใจด้วย ไม่ต้องมาคอยกังวลใจว่าของที่ส่งออกไปแต่ละรอบจะไปทำให้ใครป่วยหรือเป็นอะไรไหม สเกลการทำงานของเราไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตจำนวนมาก แต่ยังเป็นสเกลบ้านๆ คือกลั่น กรอง เคี่ยว ทำทุกอย่างในครัวหลังบ้าน ทำได้ครั้งละไม่เกิน 100 ขวด เราเลยสามารถทำทีละไม่มากให้ดีที่สุด ให้สบายใจเราได้ 

และเรื่องราคาเราทำ costing คิดจากวัตถุดิบเป็นหลัก ไม่ได้บวกค่าแรง ก็เป็นราคาที่อยู่ได้ เพราะทำเป็นรายได้เสริมและเราทำเองคนเดียว ไม่อยากให้ราคามันสูงไป แต่ก็ต้องมีรายได้พอที่จะมีเงินใช้ในส่วนของตัวเอง เพราะฉะนั้นตอนนี้ราคามันอาจจะสูงกว่าซอสพริกในท้องตลาด แต่ก็ยังถูกกว่าแบรนด์ต่างประเทศ 

คี้เอ็งพานิช

ราคาที่สูงกว่าซอสพริกแบรนด์ใหญ่ในท้องตลาดมีข้อดีข้อเสียยังไง 

เรารู้จักกับเจ้าของร้านอาหารทะเลเจ้าหนึ่ง เขาเคยเอาไปชิมแล้วชอบ แต่ติดที่ว่าเราเองไม่สามารถทำราคาให้ตามที่เขาต้องการได้ เขาอยากเอาไปใช้ที่ร้าน แต่ด้วยสเกลและวัตถุดิบที่เราเลือกมันทำราคาแบบนั้นไม่ไหว น้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 20 กว่าบาท ราคาน้ำตาลมะพร้าวที่เราใช้อยู่ที่หลักร้อยต่อกิโลฯ (หยุดพูดและยิ้ม) เคยคิดเหมือนกันว่าจะเอาไปผลิตในโรงงานเพื่อสะดวกในการทำราคาและการขาย แต่พอเจอยอดผลิตขั้นต่ำ 10,000 ขวด เรารู้สึกว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะถ้าตกลงทำกับโรงงาน เราคงต้องทิ้งทุกอย่างที่ทำควบคู่ไปด้วย และไปโฟกัสธุรกิจหัวฟู ซึ่งมันไม่ใช่เราเลย ข้อด้อยของราคานี้เลยทำให้ขายออกไปในปริมาณที่ไม่มากนัก 

พยายามจะมีโปรโมชั่นซื้อ 1,200 บาท ส่งฟรีให้ ซึ่งการส่งฟรีมันเหมือนกับแถมซอสไปอีกขวด เพราะกล่องมันใหญ่ น้ำหนักมาก ค่าส่งก็เป็นร้อยบาท แต่การที่เขาซื้อเยอะเราก็อยู่ได้ เรามองว่าโปรโมชั่นสำคัญกับทุกแบรนด์ แต่ตอนนี้เราเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ทำทุกอย่างเองจริงๆ โปรโมชั่นมันเลยยังไม่ถูกคิดออกมามากขนาดนั้น 

แต่ราคานี้ก็ทำให้กลุ่มลูกค้าของเราชัดเจนหรือเปล่า

ซอสของเราถูกใจกลุ่มคนที่ชอบสินค้าคุณภาพ หรือกลุ่มฟู้ดดี้จริงจังเขาก็สั่งอยู่เรื่อยๆ มีกลุ่มลูกค้าที่ซื้อประจำบอกว่ากินที่อื่นไม่ได้ อยากกินรสนี้ เราก็พยายามรักษาคุณภาพเอาไว้ 

เรารู้สึกว่าคนกล้าซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาสูงหน่อย แต่ซอสพริกเขาไม่ได้กินทุกวัน ตอนที่เปิดตัวแบรนด์คี้เอ็งเป็นช่วงที่ทุกคนอยู่บ้านและสั่งของกินมาลองจากการล็อกดาวน์ มันเลยขายได้ค่อนข้างเร็ว แต่พอคนเริ่มออกไปข้างนอก เขาก็ซื้อน้อยลง เพราะไม่ว่าคุณซื้อไก่ทอดหรือของทอดอะไรมามันก็มีซอสพริกมาให้แล้ว เยอะด้วย (หัวเราะ) เพื่อนบอกว่าสั่งพิซซ่าพิมพ์ว่าขอซอสพริกเพิ่มก็ได้มาสามเท่า แล้วทำไมต้องซื้อของเรา เป็นเพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่ามันแตกต่าง คนที่คิดจะซื้อซอสพริกมาเก็บไว้ในตู้เย็นก็คงเป็นคนที่ต้องการกินจริงๆ เป็นคนขวนขวายที่จะซื้อ 

ผลิตภัณฑ์จากคี้เอ็งพานิชวางขายที่ไหนบ้าง

ตอนนี้เราขายเฉพาะออนไลน์ช่องทางเดียว ซึ่งเรื่อง place เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาที่สุด เพราะเรายังไม่มีที่ตั้งขาย ไม่มีให้เห็นหรือให้ลองชิมก่อน อย่างลูกค้าที่ซื้อไปแจกในเทศกาลปีใหม่ คนที่ได้รับได้ชิมแล้วเขาก็กลับมาซื้อ นั่นคือเขาเห็นความแตกต่างโดยที่เราไม่ต้องอธิบายเลย ในความรู้สึกเรา การไม่มีหน้าร้านอาจทำให้โปรดักต์ยังไปไม่ถึงวงที่กว้างกว่านี้ แต่ในอนาคตเราจะวางขายที่ร้านอาหารและร้านชำที่บ้านที่ระยองที่กำลังจะเกิดขึ้น 

เราเห็นแบรนด์ต่างประเทศที่คนต้องไปต่อแถวซื้อ เทอริยากิซอสของพ่อครัวที่ผลิตมาเป็นสิบปี น้ำมันมะกอกของตระกูลนี้ในอิตาลี เราอยากรักษาความโฮมเมดอาร์ทิซานเอาไว้มากๆ อยากให้ผลิตภัณฑ์ของคี้เอ็งพานิชเป็นทางเลือกหนึ่งในบรรดาของฝากจากระยอง ไม่ว่าคนที่มากินอาหารที่ร้าน หรือคนมาเที่ยวระยอง นอกจากกะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง ก็อยากให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นสิ่งที่คนต้องซื้อกลับบ้าน

มองย้อนกลับไปจากประสบการณ์ทั้งหมดของคุณ มีผลต่อการทำคี้เอ็งพานิชมากน้อยแค่ไหน

เราเรียนจบนิเทศศาสตร์ ระหว่างนั้นก็ทำอาหารมาตลอด ตั้งแต่เด็กก็รู้สึกว่าตัวเองชอบทำอาหารจัง พอเรียนจบเลยไปเรียนทำอาหารที่สวิตเซอร์แลนด์ เป็นคอร์สระยะสั้น 6 เดือนและฝึกงานอีก 6 เดือน ตอนฝึกงานเราอยู่ในครัวแค่สองคนคือเรากับเชฟ ทำงานวีคแรกเขาให้สั่งของแล้ว ตอนนั้นยังทำอะไรไม่เป็นเลย จำได้ว่ามีออร์เดอร์เข้ามาแค่ 5 โต๊ะ แต่เรายืนหันไปหันมาแบบคนล่ก งงว่าต้องหยิบอะไรก่อน-หลัง จนเชฟตะโกนออกมาให้อยู่เฉยๆ หยุดและหายใจก่อน และกลับไปอ่านออร์เดอร์ใหม่ 

อยู่ที่นั่นไม่นาน แต่เราทำงานทุกอย่างในร้านอาหารเป็น ลำดับงานทั้งหมด เข้ามาเปิดร้าน ล้างจาน เตรียมของ เก็บร้าน สั่งของ ในเรื่องการจัดการ วางแผนว่าพรุ่งนี้เข้ามาแล้วต้องทำอะไรก่อน-หลัง ทำให้เราเข้าใจการทำงานมากขึ้น แต่ระหว่างนั้น เราไม่ได้รู้สึกว่าอยากกินอาหารฝรั่งขนาดนั้น เรายังอยากทำอาหารไทยกินทุกวัน เวลาทำงานก็ทำได้ตามมาตรฐานที่เขาต้องการ แต่ใจเราคิดถึงอาหารไทยตลอดเวลา พอกลับมาก็ไปสมัครงานที่ร้านอาหารไทย

คี้เอ็งพานิช

อยู่ที่โบ.ลานเกือบสามปี เชฟโบ (ดวงพร ทรงวิศวะ) ค่อนข้างจริงจังเรื่องวัตถุดิบออร์แกนิก เรื่องอาหารทำมือ ทำพริกแกงตำด้วยมือ ทอดมันก็ฟาดด้วยมือ หรือตำรับตำราของเก่าของโบราณอย่างสมุนไพรที่กินเพื่อเอาสรรพคุณ ไม่ใช่ความอร่อยอย่างเดียว ไปจนถึงการจัดการขยะในร้าน เราได้ประสบการณ์จากตรงนั้นมา 

จากนั้นเราไปทำที่ซาหมวย แอนด์ ซันส์ เชฟหนุ่ม (วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์) พาไปเดินป่า ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้เราได้เห็นคุณค่าที่เกิดขึ้น เราเองมาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่มัธยมต้นจนลืมไปแล้วว่าระยองมีอะไร แต่วันที่กลับไปกินข้าวในร้านที่เราเคยกินตอนเด็ก ร้านที่เคยรู้สึกว่าเป็นอาหารธรรมดาทั่วไป กลับกลายเป็นว่าพอเรากลับไปด้วยการเป็นคนใหม่ ในสายตาใหม่นั้นเราได้เห็นลูกเล่นในการปรุงอาหารหรืออะไรเล็กน้อยที่น่าสนใจในอาหาร เราถึงค่อยๆ เรียนรู้ว่ารายละเอียดที่เติบโตมาสร้างพลังบางอย่างให้เรา 

เรารู้ดีว่าการทำร้านอาหารในจังหวัดระยองไม่ง่าย รุ่นพี่ที่เปิดร้านมาก่อนก็แชร์ให้ฟังว่าคนพื้นที่เขาไม่ค่อยออกมากินหรอก ส่วนใหญ่เขากินข้าวที่บ้าน ซึ่งเราก็เห็นได้จากครอบครัวหรือญาติก็กินข้าวที่บ้านจริงๆ แต่เราก็ยังอยากลองทำดูก่อน อยากทำอาหารให้คนในพื้นที่กิน ซึ่งคงเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีจำนวนเยอะมาก แต่มากกว่านั้นคือเราอยากกลับไปสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้ธุรกิจของเราเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้คนอยากกลับไปอยู่บ้าน

ตอนนี้เราทำแบรนด์ด้วยตัวคนเดียว แต่ในอนาคตเราอยากทำแบรนด์ให้ทุกคน โปรดักต์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ทำเพื่อสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ วัตถุดิบที่เลือกใช้ เลือกจากกลุ่มที่เชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชน แบรนด์เขาอาจจะแข็งแรงกว่าแบรนด์เราด้วยซ้ำ แต่เราก็ยังอยากเป็นหนึ่งแบรนด์เล็กๆ ที่สนับสนุนเขา เชฟโบเคยสอนว่าถ้าเราไม่ซื้อเขาในวันที่เขาเริ่มต้น วันหนึ่งเขาจะหมดแรง และหันไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าเราซื้อจนเขาอยู่ต่อไปได้ ถึงวันหนึ่งเราอาจไม่ได้เป็นลูกค้าเขา แต่วันนั้นเขาก็สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว

เราทำธุรกิจโดยนึกถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องในวงจรการผลิต ถ้าหลักการทำธุรกิจมีมากกว่า 4P เราว่า P สุดท้ายของเราคือ People

Writer

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like