หลักการลวงทุน

7 มุกเด็ดที่มิจฉาชีพใช้ลวงนักลงทุน

รู้หรือไม่? คนไทยเผชิญกับมิจฉาชีพหลอกโอนเงินมาเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 6 ของโลก

มีข้อมูลจากบริษัท Gogolook และ Whoscall บอกว่า จำนวนผู้คนในเอเชียถูกหลอกลวงทั้งจากสายโทรเข้า และข้อความ SMS ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เป็นผลมาจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ที่ตระหนักและป้องกันภัยการหลอกลวงออนไลน์ได้ดีขึ้น

แม้อัตราการหลอกลวงออนไลน์ในเอเชียจะลดลง ทว่าปีที่ผ่านมาคนไทยกลับโดนหลอกเพิ่มขึ้น 18% หรือคิดเป็น 79 ล้านครั้ง และในจำนวนนี้เป็นการหลอกให้ทำธุรกรรมออนไลน์ถึง 25.7% หรือประมาณ 20 ล้านครั้ง

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะนำเรื่องการให้ความรู้ทางการเงินการลงทุนเป็นวาระแห่งชาติ วิชากันลวงทุนในวันนี้จึงว่าด้วยเรื่อง มุกเด็ดที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ลวงนักลงทุนและบุคคลทั่วไป เพราะว่าตอนนี้วิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพอัพเกรดขึ้นทุกวัน เราในฐานะผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปก็ต้องรู้เท่าทันกลโกงเหล่านี้ด้วย

มาดูกันว่า 7 มุกเด็ดที่มิจฉาชีพใช้มีอะไรบ้าง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป

1. แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกูรูนักลงทุน

การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มิจฉาชีพมักนำมาใช้เป็นกลอุบายในการหลอกลวงผู้เสียหายเป็นอันดับต้นๆ หากวันใดวันหนึ่งคุณได้รับสายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมบัญชีกลาง หน่วยงาน DSI เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หรือสมาคมที่เกี่ยวกับการลงทุน โทรมาบอกว่าชื่อของคุณอยู่ในหมายจับ ทำผิดกฎหมาย มีภาษีค้างชำระ หรือต้องการอัพเดตข้อมูลในระบบราชการ อย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติ และใจเย็นๆ ท่องไว้ว่า อย่าโหลดแอพฯ อย่าเปลี่ยนรหัส และอย่าบอกข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด ให้ตรวจสอบไปยังบริษัท องค์กร หรือบุคคลที่ถูกอ้างถึงเพื่อยืนยันว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ หากได้กลิ่นตุๆ ให้รีบวางสายและบล็อกเบอร์ทันที 

หรือในกรณีของการแอบอ้างว่าตนเองเป็นโค้ช หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง โดยบุคคลเหล่านี้มักจะใช้วิธีการแชร์ความรู้ เทคนิคการลงทุนตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับระบบเทรด บางคนจะใช้การสร้างเฟซบุ๊กเพจและยิงแอดให้เหล่านักลงทุนสนใจ โดยใช้การเปิดคอร์สสอนลงทุนในราคาถูกผลตอบแทนแสนงามเป็นเหยื่อล่อ 

หากเจอมิจฉาชีพในลักษณะนี้ให้รีบตรวจสอบย้อนกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัดว่าคนคนนั้นมีตัวตนจริงหรือแอบอ้างมา ที่สำคัญคือห้ามบอกข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะรหัส OTP และรหัส ATM 

2. สร้างความไว้ใจ ด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมิจฉาชีพอย่างสนิทใจก็คือ การบอกข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นข้อมูลส่วนตัว ทั้งทะเบียนบ้าน เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่เลขโฉนดที่ดิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่แม้แต่เราเองก็ยังจำไม่ได้ 

มิจฉาชีพสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการทำเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นปลอม แอบอ้างชื่อบุคคลหรือองค์กรที่มีตัวตนจริง ใช้ข้อความที่น่าเชื่อถือ รวมถึงมีการอ้างหน่วยงานรัฐ บริษัทที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง มีข้อมูลการเทรดหุ้นโดยละเอียด และเมื่อผู้เสียหายนำชื่อไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตก็จะเจอข้อมูลจริง 

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลดความเสี่ยงที่จะถูกหลอกด้วยการค่อยๆ ศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง และปรึกษาคนรอบตัวที่ไว้ใจได้ก่อนตัดสินใจโอนเงินหรือลงทุนอะไรก็ตาม โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเงินก้อนโต และแม้ว่าข้อมูลที่ได้จากมิจฉาชีพจะดูน่าเชื่อถือเพราะมีการรับรองถูกต้องทางกฎหมาย ก็ควรนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาให้ดีเสียก่อน 

3. สร้างโปรไฟล์ปลอมเป็นหนุ่มหล่อสาวสวย มีการศึกษา ถามไถ่เรื่องราวชีวิตไม่ขาด

ทันทีที่มีหนุ่มหล่อ สาวสวยหน้าตาดี ฟอลโลว์ไอจีหรือ DM มาชวนคุยในเชิงชู้สาว นี่อาจเป็นการหลอกให้รัก แล้วลวงเอาเงิน หรือ romance scam ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงผู้คน โดยส่วนมากมิจฉาชีพจะใช้ภาพโปรไฟล์ของบุคคลอื่นที่ดูดี มีหน้าที่การงานดี เช่น นักธุรกิจ วิศวกร แพทย์ ทหาร มีสถานะในโลกออนไลน์เป็นคนโสด หรือผ่านการแต่งงานมาแล้ว โดยแฝงตัวอยู่ในโซเชียลมีเดียหรือแอพฯ หาคู่ เมื่อพบกลุ่มเป้าหมายจะหว่านล้อมในรูปแบบต่างๆ ให้ผู้เสียหายหลงรัก และแสวงหาผลประโยชน์ 

เป้าหมายของ romance scam เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง กลุ่มคนเหงาและต้องการหาเพื่อนพูดคุย ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเป็นได้ทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง คนที่เป็นทาสหมาทาสแมว หรือแม้แต่คนชอบทำบุญ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเป็นใครก็ได้ที่มองโลกในแง่ดีเกินไป เชื่อคนง่าย และเปิดโอกาสให้คนไม่รู้จักเข้ามาสานสัมพันธ์ได้ง่าย 

ปัจจุบัน romance scam มีการหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น

  • การหว่านล้อมด้วยคำพูดหวานๆ เช่น “รู้สึกถูกชะตาตั้งแต่เห็นภาพในโปรไฟล์” “ยิ่งคุยยิ่งรู้สึกว่าเป็นคนที่ใช่” หรือมีการถามไถ่เรื่องราวในชีวิต เช้า กลางวัน เย็น เช่น กินข้าวหรือยัง วันนี้ทำงานเป็นยังไงบ้าง วันหยุดไปเที่ยวที่ไหนดี ฯลฯ เพื่อหว่านล้อมให้ผู้เสียหายเชื่อใจ
  • หลอกว่าเป็นนักธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย กำลังมองหาพาร์ตเนอร์ร่วมลงทุน หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อนำไปหมุนในธุรกิจก่อน
  • หลอกว่าครอบครัวป่วยต้องใช้เงินด่วน และเมื่อเงินเดือนออกแล้วจะรีบใช้คืน
  • ชวนทำธุรกิจหรือลงทุนร่วมกัน เช่น การเปิดบัญชีสำหรับเทรดหุ้น โดยใช้เงินของผู้เสียหายเป็นหลัก และตัวมิจฉาชีพจะเป็นผู้ดูแลเงินให้ การหลอกลงทุนในลักษณะนี้ มิจฉาชีพจะบอกวิธีการลงทุนอย่างละเอียดทุกขั้นตอน แม้กระทั่งเวลาที่ควรลงทุน ต้องซื้อ-ขายตอนไหนถึงจะได้ผลตอบแทนกลับมา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ

ทุกรูปแบบของ romance scam ล้วนมาพร้อมกับทำสัญญาที่ว่า จะคืนเงินให้ตามจำนวนหรือมากกว่า รวมทั้งสัญญาว่าจะสร้างอนาคตร่วมกัน เมื่อเวลาผ่านไปผู้เสียหายเริ่มรู้ตัว มิจฉาชีพจะปิดบัญชีออนไลน์ต่างๆ ที่สร้างขึ้น และไม่สามารถติดต่อได้

ในเคสแบบนี้ถ้าตกเป็นเหยื่อแล้ว อย่าเพิ่งลบหรือบล็อกแอ็กเคานต์ ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน ข้อความแชต และภาพการพูดคุยทั้งหมดไว้ให้มากที่สุดเพื่อนำไปแจ้งความกับตำรวจ 

4. การันตีผลตอบแทน และทำให้เห็นว่าได้เงินจริง

ช่วงนี้หลายคนน่าจะเคยเห็นข่าวมิจฉาชีพหลอกลงทุนออนไลน์ หรือหลอกขายของที่ไม่มีอยู่จริง เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ลงทุนหุ้นในบริษัทระดับโลก โดยจูงใจด้วยการการันตีผลตอบแทนที่สูงเกินจริงในเวลาอันรวดเร็ว และหากชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนได้ก็จะเพิ่มโบนัสเข้าไปอีก นี่แหละคือแชร์ลูกโซ่ กลโกงที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงหรือจูงใจ  โดยเฉพาะการล่อลวงด้วยผลตอบแทนที่กำหนดเป็นตัวเลขแน่นอน

โดยการหลอกลวงให้ลงทุนมีจุดสังเกตไม่ยากคือ ส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะบอกว่านำเงินของเราไปลงทุนในหุ้น คริปโต NFT หรือเป็นหุ้นส่วนเพื่อขายของออนไลน์ และทุกการลงทุนจะให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง เช่น ได้กำไร 20-25% ภายใน 7 วัน หรือมีโบรกเกอร์มืออาชีพดูแลให้ การันตีกำไร 30% ต่อเดือน ยิ่งชวนเพื่อนมาลงทุนด้วยมากเท่าไหร่ก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น เป็นต้น

ถ้าเจอข้อความเหล่านี้แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ คำตอบคือ เป็นแน่นอน เพราะในโลกของการลงทุนไม่มีธนาคารหรือโบรกเกอร์คนไหนกล้าการันตีผลตอบแทนสูงๆ จากการลงทุน แถมยังย้ำอีกว่า ไม่มีการลงทุนใดไม่มีความเสี่ยง ไม่มีผลตอบแทนใดที่แน่นอน อะไรที่เหมือนจะได้มาง่ายๆ ก็อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป แทนที่จะได้เงินจากการลงทุนจริงๆ ก็อาจไม่ได้เลยสักบาท

5. ดึงเข้ากลุ่ม ใช้หน้าม้าหลอกล่อ

หากคุณมาถึงขั้นตอนเข้ากลุ่มไลน์ หรือกลุ่มปิดอะไรก็ตาม นั่นหมายความว่าคุณเสี่ยงที่จะโดนหลอกสุดๆ ถ้ามิจฉาชีพบอกให้เข้ากลุ่มไลน์ กลุ่มทำงานที่มีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า 7 ใน 10 คนนั้นอาจไม่ใช่นักลงทุน แต่เป็นหน้าม้าที่จะช่วยกันหว่านล้อมคุณ

สำหรับพฤติกรรมของคนในกลุ่ม ส่วนใหญ่จะมีการรายงานตัวกันทุกวัน ส่งภาพแคปหน้าจอบอกคนในกลุ่มว่าวันนี้ลงทุนไปเท่าไหร ได้กำไรกี่บาท หุ้นตัวไหนมาแรง ฯลฯ หากคุณเริ่มรู้สึกแปลกๆ และอยากพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับใครสักคนในนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าคนที่คุณแอดไปจะเป็นหนึ่งในมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาเป็นหนึ่งในนักลงทุน คอยกระตุ้นให้ทุกคนลงทุนมากขึ้น นั่นเท่ากับว่าคุณอาจโดนหลอกซ้ำสอง

6. โอนเข้าง่าย ถอนออกยาก

เมื่อคุณเริ่มลงทุน ในครั้งแรกๆ ก็จะถอนเงินต้นและกำไรออกมาได้ นี่ทำให้คุณรู้สึกว่า การลงทุนครั้งนี้ช่างคุ้มค่าเสียจริง ทำอะไรก็ง่ายไปหมด โอนง่าย ได้กำไรง่าย แต่เรื่องจะพลิกทันทีที่คุณอยากถอนเงิน ทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องยาก และมีความเป็นไปได้ว่าจะถอนเงินทั้งหมดออกมาไม่ได้ แถมยังต้องเสียเงินเพิ่มอีก เพราะโบรกเกอร์จะบอกว่ามีค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม ค่าภาษีในการถอน หรือต้องโอนเงินเข้าระบบเท่ากับจำนวนที่จะถอน เช่น ต้องการถอน 300,000 บาท ต้องโอนเงินเข้าไปก่อน 300,000 บาทจึงจะถอนได้ ซึ่งแน่นอนว่าก็ยังถอนออกมาไม่ได้อยู่ดี เผลอๆ ยังถูกเชียร์ให้ใส่เงินเพิ่มเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้นไปอีก

และเรื่องราวหลังจากนั้น เมื่อผู้เสียหายลงเงินไปแล้วก็จะเกิดปัญหาต่างๆ นานาที่ทำให้ถอนเงินไม่ได้อีกเช่นเคย ซึ่งมิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลสารพัด เช่น เว็บล่ม มีปัญหาเรื่องไทม์โซน หรือต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ในเวลาอื่น เมื่อเวลาผ่านไปผู้เสียหายก็ยังไม่ได้เงินกลับมา แต่ปรากฏว่าโบรกเกอร์หรือคนแนะนำหายตัวไปแล้วและไม่สามารถติดต่อได้

7. สร้างความกลัวและความกดดัน

นอกจากทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการใช้หลักจิตวิทยาร่วมด้วย โดยมี 2 ประเภทหลักๆ คือ การสร้างความกลัวและการกดดันโดยการจำกัดเวลา ซึ่งมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักใช้การโน้มน้าวด้วยอารมณ์มากกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผล เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอนั้นๆ พิเศษที่สุด เช่น กำหนดเวลาในการโอนเงิน จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการลงทุน หรือหากไม่โอนตอนนี้จะเสียสิทธิ์ในการร่วมลงทุนกับหุ้นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ทำให้ผู้เสียหายต้องรีบโอนเงินหรือส่งข้อมูลเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนตามที่มิจฉาชีพสัญญาไว้ 

สำหรับทุกคนที่ต้องการคาถากันถูกหลอกลงทุนออนไลน์ นอกจากทั้ง 7 ข้อที่กล่าวไปแล้ว เราขอแนะนำคาถาสั้นๆ ที่ควรท่องจำให้ขึ้นใจว่า “ไม่มีการลงทุนไหนที่ให้ผลตอบแทนมากในเวลาสั้นๆ” 

หรือถ้ามีใครมาชวนลงทุน สามารถตรวจสอบชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. รวมถึงค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุน ได้ที่ market.sec.or.th/LicenseCheck/Search หรือแอพพลิเคชั่น SEC Check First

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like