ขนส่งเยาวชน
ประวัติศาสตร์ของความปลอดภัยของบัสนักเรียน จากเกวียนม้าลาก ถึงสีเหลืองหมายเลข 13432
รถนักเรียนสีเหลืองสดใส รถบัสขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ขนส่งเด็กๆ ไปเรียนหนังสือในตอนเช้า และรับเด็กๆ กลับในตอนเย็น รถนักเรียนถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมอเมริกันมาจนทุกวันนี้ เรามักเห็นรถนักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของหนังวัยรุ่น เห็นภาพทั้งความเป็นระเบียบหรือความวุ่นวายของเด็กๆ จากเจ้ารถนักเรียนที่สุดจะไอคอนิกนี้
รถนักเรียนนอกจากจะสำคัญกับเด็กๆ แล้ว ตัวรถนักเรียนยังได้รับฉายาว่าเป็นยานพาหนะที่ปลอดภัยที่สุดบนถนนของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ รถนักเรียนถือเป็นยานยนต์ที่ครองถนนของอเมริกามากที่สุด
ในหนึ่งวันอเมริกามีรถนักเรียนขับรับ-ส่งมากถึง 480,000 คัน มีรายงานอุบัติเหตุบนท้องถนนบ้าง แต่อัตราการตายโดยเฉพาะผู้ที่โดยสารบนรถนั้นมีสัดส่วนที่ต่ำมาก ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมักเป็นคู่กรณี คนเดินถนน หรือคนขับขี่จักรยาน ไปจนถึงตัวคนขับเอง
ถ้าเรามองย้อนไป รถนักเรียนถือเป็นอีกหนึ่งยานพาหนะ ที่สัมพันธ์กับความจำเป็น เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เกิดโรงเรียน เกิดความต้องการในการขนส่งนักเรียนไปเรียน ยุคแรกสุดของรถนักเรียนคือการดัดแปลงเกวียนเทียมด้วยม้าเวียนรับส่งเด็กๆ ที่บ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน
ด้วยหลายเงื่อนไข รถนักเรียนจึงนับเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อยานยนต์ต้องรับผิดชอบชีวิตของเด็กๆ ในฐานะอนาคตของชาติ การออกแบบรถเพื่อให้นั่งได้มากขึ้น มีความปลอดภัยขึ้นจึงเป็นเงื่อนไขที่ร่วมผลักดันการออกแบบและผลิตรถบัสแห่งความปลอดภัยนี้
ในจังหวะที่ประเทศไทยเริ่มมองเรื่องความปลอดภัยของเด็กๆ กับระบบขนส่งเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำสอง คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์จึงขอชวนย้อนเวลากลับไปยังอเมริกาในยุคปฏิรูปการศึกษา เมื่อเด็กๆ บ้านไกล จนถึงยุคของการประดิษฐ์รถเพื่อรองรับคนจำนวนมากถูกพัฒนาขึ้น
จากบริษัทผลิตรถบัสยุคแรกๆ สู่การประชุมของนักการศึกษาในปี 1939 ที่ทำการวางมาตรฐานรถนักเรียนและให้กำเนิดสีเหลืองรถโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก
การศึกษาบังคับ รถม้าลาก และเด็กเวียนหัว
เวลาเราพูดเรื่องการปฏิวัติการศึกษา การเกิดขึ้นของโรงเรียนและการไปโรงเรียน การลงมือปฏิบัติถือเป็นเรื่องที่แสนซับซ้อนและเต็มไปด้วยรายละเอียด ที่อเมริกาเองเริ่มเกิดโรงเรียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เกิดการกระจายตัวของพื้นที่เมืองและที่อยู่อาศัย มีพื้นที่บ้านเรือนกระจายตัวอยู่ตามชนบท
ในปี 1852 รัฐแมสซาชูเซตส์ออกกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ หลังจากนั้นก่อนปี 1900 อีก 31 รัฐที่เหลือก็ออกกฎหมายในทำนองเดียวกัน ทว่าแม้มีการก่อตั้งโรงเรียนแล้ว มีการบังคับการไปโรงเรียนแล้ว แต่เด็กๆ จะไปถึงโรงเรียนได้ยังไง เพราะในสมัยนั้นถนนหนทางส่วนใหญ่ยังเป็นถนนเละๆ มีโครงข่ายถนนแค่พื้นฐาน เด็กบางคนต้องเดินไปโรงเรียนซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายไมล์ บางคนถ้าโชคดีมีเกวียนของชาวบ้านหรือชาวนาผ่านมาก็จะขอติดรถเพื่อไปให้ถึงโรงเรียนได้
ในยุคแรกโรงเรียนจึงจัดเกวียนที่เทียมด้วยม้าทำหน้าที่วิ่งวนเพื่อรับ-ส่งเด็กๆ ในช่วงเช้าและเย็น รถม้าลากของโรงเรียนเป็นบริการของโรงเรียนมาอย่างยาวนาน แต่จากบทความของ Smithsonian เองก็ระบุว่ารถโรงเรียนม้าลากไม่เป็นที่พอใจของผู้ปกครองเท่าไหร่ เช่นมีรายงานข่าวว่านักเรียนคนหนึ่งรู้สึกป่วย รับประทานอาหารไม่ได้เพราะนั่งรถโรงเรียนที่โคลงเคลง
ในทศวรรษ 1890 จึงได้เกิดอุตสาหกรรมรถบัสนักเรียนขึ้น ในปี 1892 บริษัทยานยนต์ Wayne Works ที่อินเดียน่าพัฒนารถม้าลากที่เรียกว่ารถนักเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการ ตัวรถเป็นห้องโดยสารยาวๆ คล้ายรถบรรทุกมีทางขึ้น-ลงทางเดียว และในปี 1914 บริษัทก็เริ่มผลิตรถนักเรียนแบบเครื่องยนต์ขึ้น บริษัท Wayne Works ขึ้นแท่นผู้ผลิตรถนักเรียนบริษัทหลักของอเมริกาในยุคนั้น
ค่าย Wayne Works และผู้ท้าชิงใหม่
ในจังหวะที่ผู้ผลิตรถยนต์ Wayne Works ขึ้นแท่นเจ้าตลาดของผู้ผลิตรถยนต์ ความต้องการรถขนนักเรียนยิ่งทะยานสูงขึ้นสัมพันธ์กับบริบทประวัติศาสตร์ของอเมริกาอย่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1929
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้จำนวนโรงเรียนแบบห้องเดียว (one-room school) คือโรงเรียนใกล้บ้านปิดตัวลงมหาศาล ตัวเลขรายงานว่าจากช่วงปี 1915 ที่โรงเรียนแบบห้องเดียวมีจำนวนมากถึง 200,000 โรงเรียน ลดเหลือลงเพียง 1,200 แห่ง ด้วยโรงเรียนใกล้บ้านที่ลดลง ทำให้โรงเรียนห่างไกลขึ้น รถโรงเรียนจึงยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำบริษัท Wayne Works ยังรั้งตำแหน่งผู้ผลิตรถโรงเรียนอันดับหนึ่งได้อยู่ แต่ไม่นาน รถโรงเรียนหน้าตาเหมือนรถบรรทุกของ Wayne Works ก็เริ่มถูกท้าทายด้วยนวัตกรรมรถบัส
ก่อนที่เราจะไปสู่ผู้ผลิตยานยนต์เจ้าใหม่ที่จะมาแบ่งตลาดด้วยนวัตกรรม บริษัท Wayne Works ซึ่งดูแลรถนักเรียนเจ้าสำคัญ เป็นบริษัทยานยนต์ที่เริ่มให้ความสำคัญกับความปลอดภัย เนื่องด้วยผู้โดยสารหลักคือเด็กๆ ในทศวรรษ 1930 บริษัท Wayne Works รวมถึงผู้ผลิตรถสำหรับรับ-ส่งนักเรียนเริ่มเพิ่มองค์ประกอบด้านความปลอดภัย เช่น มีการติดตั้งโคมไฟเพื่อเตือนรถอื่นๆ เริ่มมีระเบียบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือเหตุต่างๆ ในการพานักเรียนไปโรงเรียน
จุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งคือการมาถึงของบริษัทที่ชื่อว่า Blue Bird ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง Albert Laurence Luce เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ของฟอร์ดในรัฐจอร์เจีย คุณอัลเบิร์ตเริ่มทดลองต่อห้องโดยสารรถนักเรียนเข้ากับโครงของรถฟอร์ด รูปลักษณ์ดูเหมือนรถโดยสารหรือรถบัส
รถบัสโมเดลแรกๆ เจอกับปัญหาใหญ่คือเมื่อเอาไปวิ่งบนเส้นทางรับ-ส่งนักเรียนที่มักจะกันดารหน่อย รถโครงไม้จะพังออกจากกัน สิ่งที่คุณอัลเบิร์ตทำคือการเสริมโครงเหล็กเข้ากับโครงไม้ที่เชื่อมต่อกับช่วงล่าง กลายเป็นโมเดลสำคัญในปี 1927 แต่ถึงรถโครงเหล็กของคุณอัลเบิร์ตจะวิ่งบนถนนชนบทได้ แต่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยยังเป็นปัญหาอยู่
เหตุใหญ่หนึ่งคือการเกิดอุบัติเหตุกับรถนักเรียนของบริษัทหลายครั้ง ในทศวรรษ 1940 บริษัทจึงเริ่มผลิตรถยนต์ที่มีห้องโดยสารเหล็กทั้งคัน ในช่วงนี้เองที่หลายคนถกเถียงกันว่าจริงๆ แล้ว Wayne Works เองก็พัฒนารถนักเรียนที่ใช้โครงเหล็กก่อน แต่หลักฐานหลักเช่นในพิพิธภัณฑ์ของฟอร์ดเองก็มีรถบัสนักเรียนที่ระบุว่าเป็นคันแรกที่หลงเหลืออยู่จัดแสดง
สำหรับค่าย Wayne Works ตัวบริษัทเป็นผู้เริ่มนวัตกรรมด้านความปลอดภัยของทศวรรษ 1930 รถนักเรียนของ Wayne Works นอกจากได้เครดิตเรื่องโครงสร้างเหล็กทั้งคันแล้ว ยังมีการติดตั้งกระจกนิรภัย มีการออกแบบให้มีประตูด้านข้างที่ทำหน้าที่เป็นทางออกฉุกเฉิน ออกแบบให้เบาะนั่งสบาย ทางเข้ามีเพดานที่สูง มีกระทั่งลิฟต์เล็กๆ สำหรับรถเข็น
ทว่าในทศวรรษ 1940 เอง Wayne Works เลิกกิจการไปแล้ว บริษัท Blue Bird เป็นบริษัทที่ทั้งมีโมเดลรถบัสเหล็ก และยังเปิดกิจการผลิตรถนักเรียนยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ จากปี 1927 บริษัทผลิตรถนักเรียนไปแล้วราว 550,000 คัน
ด้วยความต้องการรถรับ-ส่งผู้โดยสารจำนวนมาก ต้องการความทนทานและความปลอดภัย รถนักเรียนจึงเป็นอิทธิพลสำคัญที่ย้อนกลับไปสู่พื้นที่ผลิตตัวถังและช่วงล่างของอุตสาหกรรมยานยนต์
Frank Cyr และสีหมายเลข 13432
แม้ว่าผู้ผลิตรถนักเรียนจะมีหลายเจ้า และส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความสะดวก แต่ในสายตาของนักคิดและอาจารย์ที่วิทยาลัยครู มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก (Teachers College, Columbia University) อย่าง Dr. Frank Cyr ที่ศึกษารถโรงเรียนทั่วประเทศกลับพบว่าในความปลอดภัยนั้น รถโรงเรียนกลับไม่มีมาตรฐานกลาง
รถโรงเรียนมีสารพัดสี สารพัดลักษณะ เป็นรถบัส รถบรรทุก บางที่ใช้เกวียนขนธัญพืช บางที่มีสีแดงบ้าง ขาวบ้าง น้ำเงินบ้าง ในปี 1939 ดร.ไคร์จึงจัดการประชุมใหญ่ระดับชาติว่าด้วยรถนักเรียนขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ในการประชุมนั้นจึงได้เกิดการวางมาตรฐานรถนักเรียนระดับชาติร่วมกันเป็นครั้งแรกโดยวางเกณฑ์ 44 เงื่อนไขเพื่อให้รถนักเรียนมีความปลอดภัยและมีมาตรฐานเดียวกัน หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดคือการเลือกสีเหลืองให้เป็นสีหลักของรถนักเรียน (ตัวรถของ Blue Bird ก็ใช้สีเหลืองมาตั้งแต่ช่วงปี 1920)
ตัวสีได้ชื่อเป็นทางการว่าสีรถนักเรียน (National School Bus Chrome) มีค่าสีหมายเลข Color 13432 สีเหลืองเป็นสีที่หายากในยานพาหนะอื่นๆ โดดเด่นบนท้องถนน สะดุดตา มองเห็นง่าย ภายหลัง ดร.ไคร์ จึงได้ฉายาว่าเป็นบิดาของรถโรงเรียนสีเหลือง
นอกจากสีเหลืองแล้ว หลักเกณฑ์ 44 ข้อยังมีเงื่อนไขของรถโรงเรียนอีกหลายด้านเช่น ต้องมีจำนวนที่นั่งสูงสุดได้ 65 ที่นั่ง ใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อความปลอดภัย ต้องมีทางออกฉุกเฉินและมีอุปกรณ์สำหรับการดับเพลิง
การกำหนดองค์ประกอบความปลอดภัยถือเป็นรากฐานสำคัญของหน้าตาและข้อกำหนดรถโรงเรียนในปัจจุบันทั้งของอเมริกาและอีกหลายประเทศที่ได้รับอิทธิพลการออกแบบรถโรงเรียนจากอเมริกา หน้าตาของรถนักเรียนสีเหลือง ห้องโดยสารที่เน้นทั้งความสบายของนักเรียน การออกแบบประตูฉุกเฉิน ไปจนถึงการเพิ่มองค์ประกอบเพื่อความปลอดภัยทั้งจากแรงกระแทก การรั่วไหลของเชื้อเพลิง ล้วนสัมพันธ์กับบริบทและอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อมวลชนที่มีการรับ-ส่งนักเรียน และการเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาเป็นตัวช่วยพัฒนาปรับปรุง
ปัจจุบันรถนักเรียนของสหรัฐมีผู้ผลิตอยู่จำนวนหนึ่ง สหรัฐฯ เองมีกฎหมายและข้อกำหนดในการผลิตและดูแลรักษารถนักเรียนเพื่อความปลอดภัยที่ค่อนข้างละเอียดและถี่ถ้วนมาก การผลิตและให้บริการรับนักเรียนถือเป็นภารกิจธรรมดาที่แท้จริงแล้วซ่อนหัวใจของการนำพาอนาคตของชาติไปถึงที่หมายและความรู้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
รถนักเรียนจึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม การวางพื้นฐานความปลอดภัย ความสัมพันธ์ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่การสร้างผลกำไร แต่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริบทการพัฒนา การให้การศึกษา และพาผู้คนไปสู่ระบบการศึกษาโดยสวัสดิภาพในทุกๆ วัน
อ้างอิงข้อมูลจาก