คลับเคลื่อนสังคม
บุ๊กคลับ คลับการอ่านเขียนจากยุคหนังสือแพง พื้นที่แสวงความรู้ของผู้หญิงสู่โมเดลหลักร้อยล้าน
บุ๊กคลับ คือกิจกรรมที่กลุ่มนักอ่านเลือกอ่านหนังสือเล่มหนึ่งร่วมกัน แล้วมาล้อมวงพูดคุยถึงเนื้อหา แลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง การตีความ กระทั่งแชร์ประสบการณ์ต่างๆ จากการอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง กิจกรรมสมาคมหนังสือจึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทั้งเกี่ยวข้องกับความคิดความรู้ เป็นการสร้างเครือข่ายชุมชน และที่สำคัญคือเกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจด้วย
สำหรับบ้านเรา กิจกรรมสมาคมหนังสืออาจจะยังไม่เป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายนัก แต่ในยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะที่อเมริกา นี่ถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการอ่านและสิ่งพิมพ์ของมนุษยชาติ
ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ที่ไม่ไกลนัก สมาคมหนังสือในยุคสมัยใหม่เป็นต้นมา เรามักมองเห็นภาพของเหล่าสุภาพสตรีที่รวมตัวกันอ่านหนังสือ จากเหล่าผู้หญิงวิคตอเรียนที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา ถึงเหล่าแม่บ้านในยุคความฝันแบบอเมริกา
ถ้าเรามองย้อนไป การที่ผู้หญิงก่อตั้งบุ๊กคลับ นับเป็นการรวมตัวกันเพื่อทั้งใช้เวลาว่าง และเป็นการแสวงหาความรู้ร่วมกัน ในช่วงเวลาที่พวกเธอถูกผูกมัดไว้กับบ้าน และถูกกีดกันออกจากโลกของการศึกษาที่ยังคงเป็นพื้นที่ของผู้ชายอยู่
ทุกวันนี้ แม้เราจะเข้าสู่โลกของติ๊กต็อกและโซเชียลมีเดีย ทว่าล่าสุด ในหมู่วัยรุ่นเจนฯ Z และเหล่านักอ่านหญิง กิจกรรมสมาคมหนังสือกลับมาเฟื่องฟู เป็นกิจกรรมที่ทั้งตัวมันเองสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และกลับไปส่งผลต่อกิจการสิ่งพิมพ์และกิจกรรมการอ่านเขียนอีกครั้ง
สมาคมการอ่าน รากฐานยาวนานของวัฒนธรรมหนังสือ
กิจกรรมการเอาหนังสือมาอ่านร่วมกัน ค่อนข้างเป็นกิจกรรมทางปัญญาและกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะในยุคสมัยที่หนังสือและตำรามีจำนวนจำกัด การอ่านและการถกเถียงจึงเป็นทั้งกิจกรรมพื้นฐาน และเป็นสิ่งที่ต่อยอดความคิดของมนุษย์
ในศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษ หนังสือยังมีราคาสูงและมีจำนวนน้อย การตั้งสมาคมหนังสือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชนชั้นสูงเข้าถึงหนังสือ การเข้าถึงหนังสือก็นำไปสู่การรวมตัวกันเพื่อสร้างเครือข่ายสังคมและสร้างความบันเทิง
ที่ว่าสร้างความบันเทิง เพราะในยุคแรกสมาคมหนังสือเป็นกิจกรรมที่ปนเปกันระหว่างการถกเถียงเรื่องหนังสือ การพูดคุยสัพเพเหระ การนินทา ส่งต่อข่าวสาร และที่สำคัญคือการกินดื่มโดยเฉพาะการดื่มเหล้า มีการเล่นเกมต่างๆ ประกอบ
สิ่งที่สัมพันธ์กับกิจกรรมสมาคมหนังสือ คือการเปิดห้องสมุดที่ตอนนั้นมักเป็นห้องสมุดส่วนบุคคล เปิดรับสมาชิกแบบมีค่าใช้บริการ ห้องสมุดในยุคนั้นจึงไม่ได้เป็นที่ที่เข้าไปหาหนังสืออย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ทางสังคมด้วย ห้องสมุดสำคัญๆ มักมีห้องบิลเลียด ห้องจัดนิทรรศการ และห้องที่เกี่ยวกับดนตรี
กิจกรรมของสมาคมหนังสือเองยังล้อไปกับห้องสมุด คือเป็นกิจกรรมส่วนการอ่านที่แรกเริ่มตอบสนองเรื่องการเข้าถึงการอ่าน เป้าหมายแรกของการตั้งสมาคมหนังสือ (ที่มักมีค่าสมาชิก) คือการรวมทรัพยากรเช่นเงินหรือหนังสือ และกระจายหนังสือเรื่องหนึ่งๆ ไปอ่านโดยทั่วกัน
สิ่งเพิ่มเติมของบุ๊กคลับคือกิจกรรมร่วมกัน ลักษณะกิจกรรมของสมาคมหนังสือมักเป็นการพบปะกันในโรงเตี๊ยม โรงกาแฟ หรืออาคารสาธารณะ โดยสิ่งหนึ่งที่ทำให้บุ๊กคลับต่างกับห้องสมุด คือการรวมตัวกันโดยมีการกินอาหารไปจนถึงการดื่มเหล้าที่มักจะจัดขึ้นเดือนละครั้ง การเข้าสังคมจึงเป็นอีกเงื่อนไขที่พ้นไปกว่ามิติของการเข้าถึงหนังสือ เพราะในยุคนั้นเหล่านักอ่านที่มีห้องสมุดเป็นของตัวเองก็มักจะเป็นสมาชิกสมาคมหนังสือด้วย
สมาคมหนังสือของผู้หญิง จริงจังระดับนำสังคม
กิจกรรมการอ่าน รวมถึงการเขียน เป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่ผู้หญิงเข้าไปใช้เวลา และเข้าไปมีบทบาทได้ ห้องสมุด และบุ๊กคลับเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
สมาคมหนังสือของผู้หญิงเป็นหนึ่งในหมุดหมายของการตั้งคลับหนังสือ ซึ่งย้อนกลับไปได้ก่อนศตวรรษที่ 18 กิจกรรมสำคัญของการรวมตัวกันอ่านมักอ้างถึงกิจกรรมของแอนน์ ฮัตชินสัน (Anne Hutchinson) สุภาพสตรีลูกสาวครอบครัวบาทหลวงที่นั่งเรือ 1634 แอนน์เป็นหนึ่งในสุภาพสตรีส่วนน้อยที่ได้รับการศึกษาจากพ่อ และในเส้นทางเดินทางไปสู่ท่าเรือแมสซาชูเซตส์ เธอได้ตั้งกลุ่มเพื่อขบคิดและวิพากษ์วิจารณ์คำเทศน์ประจำสัปดาห์
กิจกรรมถกเถียงเรื่องตัวบท คำสอน เป็นสิ่งที่เธอถูกประณามตั้งแต่อยู่บนเรือแล้ว เมื่อเรือมาถึงและเธอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อาณานิคม แอนน์เองก็ได้เริ่มตั้งกลุ่ม และจัดกิจกรรมการอ่านและตีความไบเบิลขึ้นที่บ้านเป็นกิจกรรมประจำขึ้น การร่วมกันวิเคราะห์และตีความบทเทศน์ของโบสถ์ ไปจนถึงการอ่านพระคัมภีร์
ในที่สุดแอนน์ถูกนำขึ้นไต่สวน ถูกเนรเทศออกจากบอสตัน เผชิญความยากลำบาก เจอกับสงครามกับกลุ่มชนพื้นเมือง และเสียชีวิตลงที่โรดไอส์แลนด์ ตัวเธอเองเป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างข้อวิพากษ์ต่อกลุ่มพิวริตัน กลุ่มผู้อพยพอังกฤษที่เน้นความเคร่งครัดและศรัทธา การที่แอนน์ถูกลงโทษจึงเป็นหมุดหมายและเป็นตัวแทนของอิสรภาพทางศาสนา
เรียนไม่ได้ไม่เป็นไร เรียนและคิดกันเองด้วยหนังสือ
หลังศตวรรษที่ 17 บุ๊กคลับในประวัติศาสตร์อเมริกาก็สัมพันธ์กับผู้หญิงและกิจกรรมการเขียนอีกเช่นกัน นั่นคือการตั้งบุ๊กคลับของ Hannah Adams สุภาพสตรีอเมริกันที่ถือเป็นนักเขียนหญิงคนแรกของอเมริกา
เธอทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วยการเขียนทั้งประวัติศาสตร์ ศาสนาเปรียบเทียบ ฮันนาห์ได้ตั้งสมาคมหนังสือชื่อ Belle Lettres สมาคมดังกล่าวถือเป็นพื้นที่สำคัญที่ผู้หญิง ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านจะเข้ามาถกเถียงกันเรื่องงานเขียน ตั้งแต่บันเทิงคดี บทกวี และความเรียงต่างๆ
ความสำคัญของการรวมตัวของสุภาพสตรีเพื่ออ่าน หรือบางครั้งชวนคนมาอ่านงานเขียนของตัวเองส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าสู่พื้นท่ีการศึกษาได้ หัวข้อที่พูดคุยส่วนใหญ่เกิดจากความกระหายความรู้ มีการฝึกฝนการคิด มีการโต้เถียงซึ่งหลายครั้งเป็นการโต้เถียงแย้งกลับไปยังสภาพสังคม ตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์ ความเป็นไปทั้งหลาย
คำถามที่เหล่าผู้หญิงถามย้อนไปกระทั่งว่า ‘ผู้หญิงแบบเราๆ เกิดมาเพื่ออะไร’ ‘จะใช้ชีวิตไปอย่างไร’ จนถึงการถกเถียงถึงศีลธรรม ความถูกต้อง ซึ่งในอเมริกาเกิดกลุ่มสมาคมหนังสือสตรีขึ้นมากมาย คำถามบางครั้งก็ยอกย้อนทบทวนไปถึงสิ่งท่ีบุรุษทำ
ไม่ว่าจะการสังหารชาวท้องถิ่น สงคราม ความถูกต้องของเหล่าชายผิวขาว สมาคมการอ่านของพวกเธอจึงเป็นชนวนแรกๆ ที่จุดประกายการขบคิดและเป็นพื้นที่ของการคิดอันเป็นรากฐานของการต่อสู้ปลดแอกในเวลาต่อมา
ห้วงเวลาที่พวกเธอถูกกีดกันออกจากพื้นที่การศึกษา สุภาพสตรีทั้งหลายกลับรวมตัวกันและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ในร้านหนังสือ ในห้องนั่งเล่นของใครสักคน รวมตัวกันถกเถียงสิ่งต่างๆ ภายใต้แสงเทียน ในแง่นี้ สมาคมหนังสือและการอ่านร่วมกันจึงเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการอ่านเขียน (literary culture) เป็นพื้นที่ของการหาความรู้ตั้งแต่ยุคที่ผู้หญิงยังเป็นชายขอบ
สิ่งที่น่าสนใจคือบุ๊กคลับในวัฒนธรรมอเมริกันยังเป็นสิ่งที่แพร่กระจายและมีความหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มการอ่านของผู้ชายคนชั้นกลาง กลุ่มการอ่านของผู้หญิง แน่นอน อีกกลุ่มสุดชายขอบของสังคมในขณะนั้นคือกลุ่มคนผิวดำที่ถูกห้ามการอ่าน
ในปี 1821 มีการตั้งสมาคมอ่านหนังสือขึ้นอย่าง Coloured Reading Society สมาคมที่มีเฉพาะชายผิวดำ และในช่วงทศวรรษเดียวกันเริ่มเกิดสมาคมการอ่านของผู้หญิงผิวดำเช่น Society of Young Women and the Philadelphia Female Literacy Association
ความพิเศษของคลับหนังสือเหล่านี้คือการรวมตัวของนักเขียน และเป็นพื้นที่แสวงหาความรู้ทั้งความรู้ทั่วไปและความรู้เกี่ยวกับการเขียน คลับเช่นของผู้หญิงผิวดำมีการเปิดทั้งการถกเถียงเรื่องวรรณกรรม และให้สมาชิกนำงานเขียนของตัวเองเข้ามาสู่การวิจารณ์ด้วย
ตรงนี้ทำให้เรามองเห็นระบบนิเวศของการเขียน คือการที่ผู้หญิงทั้งอ่าน ทั้งเขียน และสนับสนุนกิจกรรมการเขียนถือเป็นวัฒนธรรมที่เดินร่วมไปกับกิจการสื่อสิ่งพิมพ์
บุ๊กคลับ 900 ล้านดอลลาร์ โมเดลอัจฉริยะสู่อุตสาหกรรมบันเทิง
ความพิศวงของวัฒนธรรมที่ฝังรากเช่นบุ๊กคลับยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในปี 2015 มีการสำรวจพบว่าชาวอเมริกัน 5 ล้านคนเกี่ยวข้องกับบุ๊กคลับไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สิ่งที่พิเศษกว่านั้นคือในยุค TikTok ครองเมืองและโลกออนไลน์ที่เราคิดว่าจะเปลี่ยนการอ่านและหน้าตาชุมชนไป ในปี 2023 กลับพบว่ากระแส BookTok และ Bookstagram ทำให้เกิดชุมชนหรือสมาคมหนังสือเพิ่มจำนวนขึ้น
หลังปี 2023 พบอีเวนต์ของบุ๊กคลับเพิ่มขึ้น 24% สิ่งที่น่าสนใจคือ สถิติพบว่า 88% ของบุ๊กคลับ ริเริ่มโดยผู้หญิง ซึ่งจริงๆ ครึ่งหนึ่งของสมาคมเปิดพื้นที่ให้ผู้ชายเข้าร่วมคลับด้วย
หนึ่งในความน่าพิศวงหนึ่งของบุ๊กคลับและผู้หญิงในโลกปัจจุบันคือการมาของบุ๊กคลับของ Reese Witherspoon ดาราหญิงที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตา รีสอยากทำสื่อที่เน้นเรื่องผู้หญิงในวงการสื่อและคอนเทนต์ ซึ่งเธอเองก่อตั้งสื่อ Hello Sunshine ในปี 2016 บริษัทผลิตรายการต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือแพลตฟอร์มบุ๊กคลับ Reese’s Book Club
ความเท่ของ Reese’s Book Club คือการทำงานด้านคอนเทนต์ของรีสที่ผสมผสานกับหนังสือหรือการอ่าน รีสค่อยๆ เปิดบุ๊กคลับผ่านอินสตาแกรม จนในที่สุดก็ค่อยๆ ทำให้บุ๊กคลับกลายเป็นคอนเทนต์หลักของสื่อ Hello Sunshine ปัจจุบัน Reese’s Book Club มีผู้ติดตาม (subscribers) 2.5 ล้านคน
บุ๊กคลับของเธอไม่ได้หยุดแค่การอ่านและแนะนำหนังสือ แต่บริษัทตั้งใจจับคู่หนังสือหรือนวนิยายใหม่ เข้ากับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ พูดง่ายๆ คือเธอทำทั้งระบบตั้งแต่การเลือกนวนิยาย ซึ่งตัวรีสเองจะติดต่อไปที่สำนักพิมพ์ เพื่อทั้งเจรจาให้หนังสือนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซึ่งบริษัทของเธอดูแลอยู่ หลังจากนั้นเธอจึงใช้บุ๊กคลับสร้างกระแสตั้งแต่ที่นวนิยายเรื่องนั้นๆ ยังเป็นหนังสือ พอดังแล้วบริษัทก็จะไปจับคู่เข้ากับผู้ผลิตซึ่งก็คือสตรีมมิงเช่นแอปเปิลทีวีหรือเน็ตฟลิกซ์
ในปี 2023 บริษัททำกำไรได้ราว 50-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ Candle Media ซื้อกิจการไปในมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูตรของการใช้บุ๊กคลับไม่ใช่แค่การสร้างกระแส แต่คือการสร้างกลุ่มผู้อ่านและทิศทางของผู้คน ศึกษาความเป็นไปได้ของเรื่องหรือนวนิยายนั้นๆ ตั้งแต่ยังเป็นขั้นตอนของหนังสือเพื่อทั้งปรับปรุงหรือเลือกแง่มุมที่ถูกต้องต่อไป ช่วยป้องกันการเจ๊งหรือเงียบเหงาของซีรีส์หลังลงทุนได้มากขึ้น
สุดท้าย ความพิเศษของทั้งบุ๊กคลับ และกิจกรรมการเขียนการอ่านคือการที่ผู้หญิงรันวงการการอ่านเขียน จากการเป็นพื้นที่จากข้อจำกัด เป็นพื้นที่ท้าทายความเชื่อและจริยวัตรทางศาสนาตั้งแต่ยุคพิวริตัน มาจนถึงสมัยของการเป็นพื้นที่ความรู้และการทำมาหากินไม่กี่อย่างของผู้หญิง เรื่อยมาจนถึงการกลับมาของพื้นที่บุ๊กคลับที่ผู้หญิงก็ยังคงเป็นหัวใจของวงการการอ่าน และมีโมเดลน่ามหัศจรรย์ถึงขนาดใช้บุ๊กคลับเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซีรีส์และสื่อบันเทิงหลักร้อยล้าน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- atlasobscura.com/articles/1700s-book-clubs-drinking-socializing
- shondaland.com/inspire/books/a45563057/the-long-legacy-of-book-clubs
- theeditingco.com/blog/the-radical-history-of-book-clubs-connecting-us-through-literature
- edition.cnn.com/2024/02/23/business/book-club-growth/index.html
- forbes.com/sites/falonfatemi/2023/07/07/the-rise-of-the-community-economy
- capitalletter.com/p/reese-witherspoon