645
May 30, 2023

Leadership & Happiness

คำแนะนำจากอาจารย์ Harvard Business School ‘เคล็ดลับการมีความสุขไม่ใช่ความสำเร็จแต่คือการเป็นผู้ให้’

‘ความท้าทายในการมีความสุขของคนสำเร็จคือความสำเร็จ’ คืออินไซต์ที่เล่าในเซสชั่น ‘Leadership, Happiness, and Success at Every Stage of Life’ โดย ลีโอนาร์ด ชเลซิงเกอร์ (Professor Leonard A. Schlesinger) หนึ่งในผู้ออกแบบหลักสูตรคอร์ส ‘Leadership & Happiness’ ของ Harvard Business School โดยเขาบินตรงมาไทยเพื่อเล่าเคล็ดลับความสุขของชีวิตในกิจกรรมของ Harvard Business School Association of Thailand

หลายครั้งคนเรามักเข้าใจว่าถ้าเราประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วจะมีความสุข แต่โปรเฟสเซอร์จากฮาร์วาร์ด กำลังบอกว่าความจริงอาจเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน

ชเลซิงเกอร์บอกว่าข้อมูลจากผลสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนทั่วโลกกว่า 3 ล้านคนพบว่า
คนเรามีแพตเทิร์นความพึงพอใจในชีวิตคล้ายกันอยู่ 2 ช่วงใหญ่ ช่วงครึ่งแรก (First Half) คือตั้งแต่ช่วงอายุ 16-50 กว่าในวัยทำงานจนถึงวัยกลางคนซึ่งกราฟความพึงพอใจในชีวิตจะเป็นกราฟลงและตกลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น แต่เมื่อถึงครึ่งหลัง (Second Half) ตั้งแต่อายุราว 60 ปีเป็นต้นไป ความพึงพอใจในชีวิตจะพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดและคงระดับคงที่โดยไม่ขึ้นหรือตกฮวบฮาบมากนักในช่วงบั้นปลาย

ชเลซิงเกอร์แนะนำว่าแพตเทิร์นของความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตย่อมมีขาขึ้นและขาลงสลับกันไปตลอดเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนที่เป็นผู้นำย่อมไม่ปล่อยให้ความสุขขึ้นอยู่กับโชคชะตาและเป็นคนเลือกเส้นทางที่ปูทางให้มีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เลือกเส้นทางกราฟขาขึ้นในชีวิตด้วยตัวเอง หรือ ‘Get on the upper path, avoid the lower path’ คำถามคือในทางปฏิบัติ จะทำยังไงให้สามารถเลือกเส้นทางความสุขได้ เพราะเพียงแค่คิดก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกดปุ่มเปิดสวิตช์ความสุขได้เองง่ายๆ

ในเซสชั่นนี้ได้ให้คำตอบไว้ว่า ‘ความสำเร็จ’ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้เกิดความสุขโดยเฉพาะในบั้นปลายชีวิต ชเลซิงเกอร์กล่าวถึง The Success-curve หรือ แพตเทิร์นความพึงพอใจในชีวิตที่มักเกิดขึ้นกับคนที่ประสบความสำเร็จสูงว่าแม้จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน แต่ก็หลีกเลี่ยงช่วงขาลงที่อาจประสบความสำเร็จน้อยกว่าช่วงอื่นในชีวิตไม่ได้เช่นกัน มีผลการสำรวจและบันทึกความคิดของเหล่าผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกหลายคนทั้งผู้ที่ได้รางวัลโนเบลและนวัตกรชื่อดังว่าแม้กระทั่งคนระดับตำนานที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ทั่วโลก ก็มีช่วงที่เกิดความรู้สึกล้มเหลวหรือไม่มีความสุขและหลายครั้งความรู้สึกเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในช่วงท้ายของชีวิต

ชเลซิงเกอร์บอกว่าที่คนเหล่านี้ไม่มีความสุขเพราะยิ่งเคยประสบความสำเร็จหรืออยู่สูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีทางขาลงที่สูงชันกว่าคนอื่นเช่นกัน ถ้าแพตเทิร์นเหล่านี้ยังเกิดกับคนเก่งที่สำเร็จมากๆ มาแล้ว คนทั่วไปก็คงหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่พอใจหรือล้มเหลวในชีวิตได้เช่นกันซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย แล้วเราควรพัฒนาตัวเองยังไงถ้าความสำเร็จมากๆ ไม่ใช่คำตอบ

ถึงตรงนี้ชเลซิงเกอร์บอกว่า การพัฒนาตัวเองและสั่งสมความรู้ของคนเราแบ่งได้เป็น 2 แบบตามทฤษฎี Raymond Cattell’s Two intelligence แบบแรกคือ Fluid Intelligence Brains ที่เป็นทักษะความรู้ต่างๆ จากการเรียนรู้และฝึกฝน ตัวอย่างเช่น ทักษะการแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งทักษะเหล่านี้จะลดน้อยถอยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามธรรมชาติหลังอายุ 40 ส่วนอีกแบบคือ Crystallized Intelligence Wisdom คือความรู้ที่ได้จากการตกตะกอนจากประสบการณ์จริงในชีวิตหรือเรียกสั้นๆ ว่า wisdom ซึ่งความรู้ในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 เรื่อยไปจนแก่เฒ่า

คำแนะนำคือในช่วงต้นของชีวิตให้เน้นการฝึก Fluid Intelligence เพื่อคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้โลก
ส่วนครึ่งหลังของชีวิตให้โฟกัสที่ wisdom และถามตัวเองว่าเราจะแบ่งปัน wisdom ของเราให้ผู้อื่นได้ยังไง การมีความสุขและความพึงพอใจในชีวิตที่ยั่งยืนโดยเฉพาะช่วงบั้นปลายคือการแบ่งปันความรู้ให้คนอื่น อย่างการเป็นครูหรือเป็นผู้ให้ 

พอนิยามความสุขกลายเป็นการให้ นั่นแปลว่าคนเราสามารถ ‘ลงมือทำ’ ให้เกิดความสุขได้ แบ่งปัน wisdom ในชีวิตของเราให้ผู้อื่นควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่นในการมีชีวิตที่ดีอย่างการมีเพื่อนและครอบครัวที่ดี มีความเชื่อและ purpose ที่ขับเคลื่อนชีวิต เปลี่ยนคำถามจาก ‘What can I expect in terms of happiness as I get older ?’ เป็น ‘What can I do to get happier?’ ก็จะทำให้เราเป็นผู้สร้างความสุขในชีวิตได้ด้วยตัวเอง

You Might Also Like