Long Bao
105 ปีของ ‘กู่หลงเปา’ Artisan Bun Shop ที่รีแบรนด์ซาลาเปาโบราณให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่
หากเคยไปเยือนย่านชนบทหรือย่านเก่าแก่แสนสโลว์ไลฟ์ของญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยกิจการร้านอาหารของผู้ประกอบการรายเล็กที่ทำด้วยความใส่ใจ จะพบว่าไอเดียสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเสน่ห์จากไลฟ์สไตล์ที่เนิบช้าในย่านนั้นดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจได้ไม่ยาก
ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านซาลาเปาโบราณมองว่าอยากรีแบรนด์ซาลาเปาโบราณและทำให้ย่านทรงวาดมีความฮิปคล้ายโอโมเตะซันโดในโตเกียว
ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบของถนนทรงวาดในวันธรรมดา ควันฉุยจากเข่งซาลาเปาที่เพิ่งนึ่งร้อนๆ ลอยมาจากหน้าต่างของครัว open kitchen ที่โชว์กระบวนการทำซาลาเปาทั้งนวดแป้ง ปั้น จีบ และนึ่ง ชวนให้แวะทักทายเจ้าของร้านและชิมซาลาเปาสักลูก
ร้านซาลาเปาแห่งนี้สืบทอดสูตรจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนานมาราว 105 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 จากอาหารวัฒนธรรมที่คนจีนนิยมซื้อไหว้เจ้า ทุกวันนี้ซาลาเปายังคงเป็นทั้งอาหารและขนมที่กินแล้วอยู่ท้อง หลายเจ้ารีแบรนด์ชื่อซาลาเปาให้ดูทันสมัยในยุคใหม่ด้วยการเรียกซาลาเปาว่า Bun หรือ Bao เช่นเดียวกับ Gu Long Bao ที่ นัท–อภินัทธ์ พิริยะกุลวงศ์ ตั้งชื่อแบรนด์ใหม่และใส่คำบรรยายร้านว่าเป็น Artisan Bun Shop ที่ขายซาลาเปาโบราณ
ในบรรดาตัวเลือกอาหารทานเล่นและสตรีทฟู้ดที่หลากหลาย กู่หลงเปานำเสนอซาลาเปาแบบใหม่อย่างซาลาเปาอบ, ซาลาเปาไส้หมู plant-based สำหรับคนกินวีแกน, ไส้งาดำแบบขนมญี่ปุ่น ไปจนถึงซาลาเปา frozen ที่ส่งได้ทั่วประเทศโดยยังคงเอกลักษณ์แป้งซาลาเปาสีเหลืองนวลจากมันเทศและกรรมวิธีดั้งเดิมไว้
ใครหิวแล้ว ตามนัทมาชิม Gu Long Bao ที่มีเรื่องราวความเป็นมายาวนานกว่าศตวรรษกัน
Traditional Chinese Bun
นัทเปิดประวัติของครอบครัวว่าศาสตร์การทำซาลาเปาเป็นหนึ่งในวิชาชีพติดตัวของบรรพบุรุษชาวจีนแต้จิ๋วที่ใช้เป็นวิชาทำมาค้าขายเมื่อย้ายมาประเทศไทย โดยซาลาเปาเป็นอาหารวัฒนธรรมที่ขายดิบขายดีอย่างมากในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคก่อน
“แต่ก่อนร้านเราไม่ได้ทำแค่ซาลาเปา มีทั้งหมั่นโถว ซิ่วท้อ มาไลโกว สมัยก่อนจะทำเป็นลูกกลมๆ ขนาดใหญ่และมีตัวปั๊มภาษาจีน บางทีก็เอาพวกเปลือกส้มหรือหอมแดงมาใส่ในไส้หมูสับทำเป็นขนมปังหน้าแตก คนจะนิยมสั่งกับเราทีละเยอะๆ ราวห้าร้อยลูกเอาไปไหว้ตามศาลเจ้าและโรงเจต่างๆ”
ซาลาเปาเป็นอาหารไหว้เจ้าที่คนจีนนิยมซื้อฝากญาติ ครอบครัว และเพื่อนในช่วงเทศกาลสารทจีน เชงเม้ง ตรุษจีน สาเหตุที่เป็นอาหารมงคลเพราะภาษาจีนของซาลาเปาคือ 包子 bāozi ‘เปา’ แปลว่า ‘ห่อ’ สื่อถึงโชคลาภจากหีบห่อเงินทอง
ส่วนคำว่าซาลาเปาโบราณ ‘สูตรแต้จิ๋ว’ ที่ยาวนานกว่าร้อยปีแบบกู่หลงเปา ในภาษาจีนเรียกว่า 潮州 หรือ Cháozhōu-style
จากการสัมผัสกับลูกค้าของนัท เขาพบว่าสิ่งที่ลูกค้าชื่นชอบคือรสชาติดั้งเดิมและเอกลักษณ์ของแป้งมันเทศสีเหลืองนวลที่แน่นและเหนียวหนึบหนับจากการนวดแป้งด้วยมือซึ่งไม่เหมือนแป้งขาวที่กินแล้วร่วน “ลูกค้าหลายคนบอกว่า ซาลาเปาแบบนี้เหมือนที่อาม่าทำ เป็นแบบที่ตามหามานาน”
กระบวนการทำซาลาเปาสูตรแต้จิ๋วแบบดั้งเดิมนั้นทำมือเองตั้งแต่การทำแป้งจนถึงไส้ “จากแป้งผง ใส่น้ำและยีสต์หมักผสมลงไป นวดจนขึ้นเป็นก้อนแล้วผสมกับมันเทศ ใช้มือนวดจนเนื้อแป้งสีขาวกับมันเทศรวมเป็นเนื้อเดียวกัน พอนวดเสร็จจะเอามาปั้นเลยไม่ได้ ต้องทิ้งให้ฟูก่อนแล้วค่อยเอามาปั้น นำก้อนแป้งมาตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ ซึ่งเราเรียกเป็นภาษาอังกฤษเองว่านักเก็ต ตบให้เป็นแผ่นกลม ใส่ไส้ที่เตรียมไว้ แล้วก็ถึงขั้นตอนจีบ ปิดท้ายด้วยเอาไปนึ่งนานครึ่งชั่วโมงต่อรอบ เป็นอันเสร็จ”
เตานึ่งที่ใช้ในยุคบุกเบิกเป็นเตาฟืนแบบคลาสสิกซึ่งทำให้เกิดภูมิปัญญาการทำที่วางซาลาเปาของคนสมัยก่อน เริ่มจากการคิดว่าจะทำยังไงให้สามารถนึ่งซาลาเปาได้จำนวนมากในครั้งเดียว จึงวางซาลาเปาในกระจาดบนชั้นไม้ต่อกันสูงขึ้นไปหลายชั้นทำให้สามารถนึ่งได้จำนวนมาก
ปัจจุบันกู่หลงเปาเปลี่ยนมาใช้เตาแก๊สแต่ยังคงกระบวนการดั้งเดิมในการทำทุกอย่างทั้งสูตรซาลาเปากว่าร้อยปีและไส้ยอดนิยมอย่างหมูสับไข่เค็ม ถั่วหวาน และเผือกกวน ไปจนถึงหมั่นโถว
How to Scale Bun Shop
สาขาดั้งเดิมของร้านตั้งอยู่ที่สามแยกหมอมีและเพิ่มสาขาใหม่ล่าสุดที่ถนนทรงวาดในรุ่นของนัท คอนเซปต์ของสาขาทรงวาดที่นัทตั้งใจทำคือ open kitchen ที่ลูกค้าสามารถมองเห็นกระบวนการทำซาลาเปาดั้งเดิมตั้งแต่ผสมแป้ง ปั้น จีบ นึ่ง และทำหน้าต่างร้านให้สามารถซื้อซาลาเปาแบบ grab & go ได้สะดวก เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย
ทุกวันนี้สาขาแรกยังเป็นอากู๋ของนัทเป็นผู้ดูแลเต็มตัว ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่าในละแวกนั้นที่คุ้นชินกันการเปิดอีกสาขาจึงเป็นการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่และสร้างแบรนด์ให้คนรู้จักมากขึ้น
นัทอธิบายที่มาที่ไปของการรีแบรนด์ว่า “คนจีนสมัยก่อนขายซาลาเปาแบบไม่มีการทำการตลาดเลย ใช้วิธีแนะนำคนรู้จักและบอกต่อกันมา จะไม่ซีเรียสกับชื่อแบรนด์เวลาขายและไม่ได้มีชื่อแบรนด์ที่เป็นที่จดจำอย่างจริงจังเลยมาตั้งชื่อใหม่เอง”
กู่หลงเปาเป็นชื่อแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งตั้งเมื่อนัทเริ่มเข้ามาช่วยกิจการ “คำว่า ‘กู่หลงเปา’ แปลว่าซาลาเปาโบราณ ‘กู่’ คือโบราณ ‘หลง’ คือเขียงไม้ไผ่ ‘เปา’ คือแป้ง รวมกันแปลว่าซาลาเปาโบราณ”
ด้วยกระบวนการทำซาลาเปาที่ทำเองทั้งหมดทำให้นัทบอกว่ากิจวัตรของอากู๋ที่เห็นมาช้านานคือทำซาลาเปาทั้งวันตั้งแต่ตีสองจนเสร็จราว 3 ทุ่ม
“ซาลาเปาที่ทำวันนี้จะได้ในวันต่อไป ใช้เวลานานเพราะเราทำใหม่ทั้งหมด ถ้าซื้อไส้สำเร็จรูปจากที่อื่นมามันก็ง่ายแต่มันก็จะไม่มีเอกลักษณ์ สมัยก่อนในยุคที่ไม่มีการสั่งซื้อวัตถุดิบอย่างสะดวกแบบทุกวันนี้ ต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ไปตลาดตอนเช้าเพื่อเอาวัตถุดิบที่ดี เพราะถ้าไปสาย ตลาดก็จะวาย ของดีไม่เหลือ ต้องเตรียมไส้ตั้งแต่เช้าตรู่และทำแป้งต่อ กว่าจะเสร็จก็ทั้งวัน”
นัทสืบทอดความพิถีพิถันในการทำซาลาเปานึ่งและยังต่อยอดเมนูใหม่อย่างซาลาเปาอบสไตล์ Cantonese หรือ กวางตุ้งซึ่งเป็นคนละแบบกับสูตรแต้จิ๋วดั้งเดิมและยังเป็นของใหม่เอี่ยมสำหรับตลาดซาลาเปาในไทยที่มักขายแค่ซาลาเปานึ่งกับทอด
“แรงบันดาลใจมาจาก ‘เชิงเจียนเปา’ ของประเทศจีน เป็นซาลาเปาคล้ายสูตร pan-fried บนกระทะ มันจะกรอบนอกนุ่มในโดยที่ข้างในมีความ juicy อยู่ เราไม่ทอดเพราะว่าถ้าทอดแล้วนำ้มันจะเยอะมากทำให้สูญเสียจุดเด่นของเนื้อแป้ง ถ้ากรอบหมด คนจะไม่รู้เลยว่าความนุ่มความเหนียวของสูตรแป้งดั้งเดิมเป็นยังไง”
เมนูใหม่ทำให้ดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ให้รู้จักกู่หลงเปาได้ “แรกๆ จะเป็นวัยรุ่นที่ตามมากินจากอินฟลูเอนเซอร์และเพจรีวิวอาหารต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย แต่ตอนนี้ทุกเพศทุกวัยก็ชอบซาลาเปาอบเหมือนกัน”
นอกจากนี้นัทยังพัฒนาการทำซาลาเปาแบบ frozen ให้สามารถส่งสินค้าทั่วประเทศได้จากที่สมัยก่อนเน้นขายแค่หน้าร้านวันต่อวันเท่านั้น “เราทำซาลาเปาแบบเน้นความสดใหม่ ไม่ใส่สารกันบูด พอมาเพิ่มสต็อกแบบ frozen ก็ยังคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่ จะไม่ได้ทำสต็อกไว้เยอะเกินไป เน้นขายออกเร็วไว”
Sexy Bao
แต่เดิมซาลาเปาไส้โบราณยอดนิยมนั้นมี 3 ไส้ คือหมูสับไข่เค็ม ถั่วหวานงา และเผือกกวนที่บรรพบุรุษของนัทได้ริเริ่มสูตรให้เซ็กซี่เมื่อร้อยปีที่แล้ว
ไส้หมูสับไข่เค็มในแบบแต้จิ๋วจะเน้นรสชาติกลมกล่อมผสมความมันจากไข่เค็มที่หั่นสดใหม่ทุกวัน เป็นสไตล์แต้จิ๋วที่แตกต่างจากซาลาเปาฮกเกี้ยนที่มีไส้คล้ายหมูพะโล้และซาลาเปากวางตุ้งไส้หมูแดง
ไส้หวานมีรสชาติเต็มปากเต็มคำของถั่วหวานงาขาวจากเมล็ดถั่วเขียวกะเทาะเปลือกที่คัดสรรกลิ่นหอมเป็นพิเศษ แช่น้ำนาน 4 ชม. กวนกับน้ำตาลทรายและคั่วงาร้อนๆ เวลากินจะได้รับสัมผัสกรุบๆ ของเมล็ดถั่ว ส่วนเผือกกวนก็นำเผือกสดมานึ่งและบด เน้นใช้เนื้อเผือกจริงไม่ใช้แป้งผสม
นอกจากไส้ซาลาเปาที่ฮิตค้างฟ้าของร้านเหล่านี้ นัทยังเพิ่มเติมไส้ใหม่ๆ ตามยุคสมัยและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เช่น งาดำ โดยมองภาพซาลาเปาคล้ายขนมญี่ปุ่นไส้หวานที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ จากเดิมที่มีเฉพาะหมูสับไข่เค็มสูตรดั้งเดิมกว่าร้อยปี ก็เพิ่มซาลาเปาไส้หมู plant-based
“ส่วนตัวเราเป็นคนกินวีแกนหนึ่งวันต่อสัปดาห์อยู่แล้วและเทรนด์วีแกนก็กำลังมา เลยลองหาเนื้อ raw meat ที่คุณภาพดีมาแล้วปรับให้คล้ายเนื้อหมูจริง ผลตอบรับคือลูกค้าก็ชอบ ด้วยเทกซ์เจอร์หมู plant-based ของเราที่คล้ายเนื้อหมูจริงมาก แยกกันแทบไม่ออกและรสชาติคล้ายกันมากแต่เนื้อวีแกนจะไม่มีกลิ่นหมู”
นัทบอกว่าเวลาคนกินอาหารจะคำนึงถึงเทกซ์เจอร์ กลิ่น รสชาติ ถ้าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้อร่อยไม่แพ้สูตรเดิมได้ก็ไม่มีปัญหา
“เคยมีลูกค้าสั่งสองไส้ ซาลาเปาหมูจริงกับ plant-based ไปด้วยกัน เขาแยกไม่ออกและโทรมาถามว่าไส้ไหนเป็นอันไหน ช่วงที่ซาลาเปาหมูสับไข่เค็มหมด ก็มีคนที่ไม่ได้กินวีแกนมาซื้อแบบ plant-based ไปแทน” โดยสูตรวีแกนนี้ทำให้สามารถเพิ่มช่องทางการขายตามร้านขายอาหารวีแกนเฉพาะทางอย่าง Veganarie
“เดี๋ยวนี้เทรนด์ใส่ใจสุขภาพกำลังมา คนคิดเยอะขึ้นกว่าเดิมและกินแป้งน้อยลง ทำซาลาเปาไหว้เจ้าด้วยแป้งก้อนใหญ่แบบสมัยก่อนก็ไม่ไหว หาคนกินยาก ไส้ที่เอามาขายภายใต้ชื่อกู่หลงเปาในปัจจุบันคือเลือกที่คนรุ่นใหม่อยากกิน ส่วนตัวคิดว่าแม้ซาลาเปาเป็นสูตรดั้งเดิมแต่ไม่จำเป็นต้องยึดติด เพราะถ้ายึดติดแล้วผ่านไปอีกสิบปียังขายแบบเดิมก็ไม่ใช่ เรามาคิดว่าจะทำยังไงให้เซ็กซี่กว่าเดิมดีกว่า โดยที่ไม่สูญเสียความดั้งเดิมไปและมีสิ่งใหม่ๆ มาดึงดูดคนด้วย”
Rebrand Bun Identity
การคิดค้นซาลาเปาสูตรใหม่ของนัทตั้งแต่ซาลาเปาอบสไตล์จีนกวางตุ้งและไส้งาดำสไตล์ขนมญี่ปุ่น
เกิดจากการละวางตัวตนความเป็นจีนแต้จิ๋วโดยยังรักษากระบวนการทำซาลาเปาดั้งเดิมไว้
“มองว่าการรีแบรนด์อย่าทำเยอะเกินไปและอย่าทำฉาบฉวย หมายความว่าถ้าทำเยอะเกินไปลูกค้าจะรู้สึกว่าพยายามเกินไป เช่น สมมติทำอาหารฝรั่งเศส การพยายามยัดเยียดองค์ประกอบให้เป็นฝรั่งเศสจ๋าจะทำให้ดูไม่เรียล ความท้าทายคือเดี๋ยวนี้มีของอร่อยและของดีเยอะแยะแต่บางทีคนก็ไม่รู้จักของดีเหล่านั้น จะทำยังไงให้คนหมู่มากรู้จักเรา ไม่ยัดเยียดความเป็นจีนเกินไปและรักษาความดั้งเดิมไว้ได้ ต้องค่อยๆ รีแบรนด์สเตปบายสเตปแล้วใส่สตอรีที่มีอยู่จริงของเราลงไป”
นัทยกตัวอย่างว่าการรีแบรนด์กู่หลงเปานั้นค่อนข้างลงทุนและใช้เวลากับการดีไซน์อัตลักษณ์แบรนด์ในช่วงแรก ทั้งโลโก้ กราฟิกและรูปแบบการสื่อสารในเพจ
“ช่วงแรกเราคุยกับดีไซเนอร์เยอะว่าซาลาเปาของเรามีสตอรีและสูตรร้อยปีเป็นแบบนี้ จะทำยังไงให้โลโก้สามารถนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดของเราตรงนี้ได้และไม่ดูโบราณเกินไป มีความเป็น contemporary ด้วยเลยออกมาเป็นคอนเทนต์ในเพจใหม่ของกู่หลงเปา พอคนเข้าร้านแล้วเราก็ค่อยๆ แทรกสตอรีของร้านให้คนซึมซับไปเรื่อยๆ”
เพจ ‘กู่หลงเปา ซาลาเปาโบราณ Gu Long Bao 古笼包 Artisan Bun Shop’ เป็นเพจใหม่ของนัทที่ตั้งใจรีแบรนด์โดยใช้สูตรเก่าแก่ร้อยปีเป็นจุดขาย
วิธีเล่าเรื่องซาลาเปาไม่ได้มีแค่คอนเทนต์ในเพจเท่านั้น แต่ยังมีเวิร์กช็อปการทำซาลาเปาให้ผู้ที่สนใจสัมผัสประสบการณ์การทำซาลาเปาที่พิถีพิถันและวัฒนธรรมอาหารแบบจีนด้วย
ที่ผ่านมานัทเคยนำกู่หลงเปาร่วมจัดเวิร์กช็อปสอนทำซาลาเปากับโรงแรม Asai Bangkok Chinatown ในย่านเยาวราช “ทางโรงแรม Asai อยากสร้างคอมมิวนิตี้ inclusive ที่ดึงธุรกิจท้องถิ่นไปร่วมทำกิจกรรมกับเขา เราก็คุยกันว่าทำเวิร์กช็อปร่วมกันไหม พอขายไอเดียแล้วเขาก็ชอบ เป็นโอกาสดีที่ให้ชาวต่างชาติรู้จักวิธีการทำซาลาเปาในสูตรดั้งเดิม”
จากกระบวนการทำซาลาเปาสมัยก่อนที่ทำนานมาก เวลาจัดเวิร์กช็อปก็จะร่นระยะเวลาลงเหลือราวสองชั่วโมง ด้วยการเตรียมแป้งที่นึ่งแล้วมาให้ล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปจะได้ลองนวดแป้งและปั้นเองด้วย “ทุกคนจะได้ซาลาเปาของตัวเองกลับไปกิน แป้งที่ลองปั้นเองอาจจะบูดเบี้ยวบ้างแต่คนที่มาทำก็แฮปปี้เพราะเป็นของที่เขาทำเอง”
Made in Songwat
ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ย่านทรงวาดมีธุรกิจของคนรุ่นใหม่ผุดขึ้นมามากมาย นอกจากกู่หลงเปาแล้ว ยังมีร้านอาหารอย่างโรงกลั่นเนื้อ, อีกา คาเฟ่อย่าง Arteasia Tart Bar, F.V., โฮสเทล Urby, อาร์ตแกลอรี่ PLAY art house และอีกมากมายรวมแล้วเกิน 20 ร้าน
“สมัยที่เรายังไม่เกิด ถนนเส้นนี้จะคึกคักมากเพราะติดแม่น้ำ มีทั้งคนจีน ไทย ฝรั่ง ตอนนี้ผู้ประกอบการบนถนนเส้นนี้และร้านดั้งเดิมมารวมตัวกันเพื่ออยากทำให้ทรงวาด happening อีกครั้ง เลยเป็นที่มาของชื่อ Made in Songwat”
นัทเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนย่านสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ กิจกรรมที่ผ่านมาของ Made in Songwat คือ Song Wat Week (ทรงวาดวีค) ที่มีแพ็กเกจทัวร์ให้คนเดินเที่ยวตามสถานที่สร้างสรรค์ต่างๆ ในย่านและมีเวาเชอร์ที่มอบส่วนลดหรือสิทธิพิเศษของแต่ละร้านเพื่อดึงดูดความสนใจ
กู่หลงเปาเข้าร่วมแทบทุกกิจกรรมของทรงวาดวีค ทั้งทัวร์พาเดินเที่ยวทรงวาดและกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ นัทมองว่าไม่ได้อยากแค่ให้คนแวะมาซื้อซาลาเปาที่กู่หลงเปาเท่านั้น แต่หากแวะมาทรงวาดก็อยากให้คนมาเที่ยวเป็นฮาล์ฟเดย์ทริป แวะที่เที่ยวต่างๆ ในย่าน นอกจากธุรกิจโมเดิร์นของคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีสถานที่และอาคารเก่าแก่ที่น่าเยี่ยมชม เช่น ‘มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก’ ที่อยู่ติดกับกู่หลงเปาและ ‘โรงเรียนเผยเอิง’
“มองว่าทรงวาดมีไวบ์ที่ cozy และชิลล์ ไม่ใช่ย่านที่คอมเมอร์เชียลจ๋า ถ้าเทียบกรุงเทพฯ กับโตเกียว เยาวราชจะเหมือนฮาราจูกุที่คนแน่นมาก แต่ทรงวาดจะเหมือนโอโมเตะซันโดที่คนไม่ได้เยอะเท่าแต่จะค่อยๆ มีคนแวะมาเรื่อยๆ มาเสพอาหาร เครื่องดื่ม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมเก่าๆ”
การสืบทอดธุรกิจของคนรุ่นใหม่อย่างกู่หลงเปาทำให้กลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัยกลายเป็นแฟนคลับร้านเพิ่มขึ้น ดึงดูดให้ผู้คนสนใจทั้งวัฒนธรรมอาหาร กรรมวิธีการทำซาลาเปาและเรื่องราวของย่านเก่าแก่ที่นำเสนอความคลาสสิกในรูปแบบที่ต่างออกไปเมื่อมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามา