Gōngsī Solution

คุยกับ ธีรภาพ อัญญานุภาพ เจ้าของเพจ ‘คุยกับกงสี’ ผู้เชื่อว่า ทุกปัญหาธุรกิจครอบครัวมีทางออก  

คำว่า กงสี หรือ 公司 (gōngsī) ในภาษาจีน มีความหมายว่า กิจการของตระกูลที่แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

หากดูเพียงผิวเผินนี่คือคำสั้นๆ คำหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วเนื้อในกลับแฝงความหมายยิ่งใหญ่ ยิ่งถ้าใครเป็นลูกหลานชาวมังกรน่าจะเข้าใจดี ว่ากว่าที่บรรพบุรุษจะหอบหิ้วเสื่อผืนหมอนใบข้ามน้ำข้ามทะเล เสี่ยงดวงเริ่มต้นชีวิตในฐานะผู้ใช้แรงงาน หมั่นเก็บหอมรอมริบทุกบาททุกสตางค์ เพื่อก่อร่างสร้างกิจการเป็นของตัวเองนั้นยากเลือดตาแทบกระเด็น แต่ที่ยากยิ่งกว่า คือการทำให้ครอบครัวสามารถรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และช่วยกันบริหารกิจการในมือนี้สืบต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ความเชื่อนี้ชัดแจ้งมากยิ่งขึ้น ผ่านข่าวคราวการแก่งแย่งชิงผลประโยชน์ธุรกิจภายในครอบครัวที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง หรือแม้แต่ซีรีส์เรื่องดังที่หยิบ pain point นี้มาใช้เป็นวัตถุดิบขับเคลื่อนเรียกเรตติ้งคนดู สวนทางกับเนื้อแท้ของธุรกิจประเภทนี้ ที่หากบริหารจับวางถูกที่ทางก็สามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล

 ธีรภาพ อัญญานุภาพ

แต่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมีความเชื่อแบบเดียวกันเสียหมด เพราะในขณะที่คนอื่นมองธุรกิจกงสีในแง่ลบมากกว่าบวก ชายที่ชื่อว่า เต็ม–ธีรภาพ อัญญานุภาพ กลับมองต่างออกไป 

ในมุมหนึ่งคุณธีรภาพคือเจ้าของกิจการ อัญญานุภาพ คอนซัลติ้ง จำกัด (Aunyanuphap Consulting) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว สร้างเกราะป้องกันธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็ง และส่งต่อกิจการไปได้จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการทำธุรกิจ ส่วนอีกมุมหนึ่งเขาคือเจ้าของเพจ Facebook คุยกับกงสี ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่า ‘ปัญหาธุรกิจกงสีมีทางออกเสมอ’ 

“ธุรกิจกงสีมี value มากกว่าที่คุณคิด ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะจัดการกับมันยังไง” นี่คือประโยคที่คุณธีรภาพเน้นย้ำกับเราตลอดการสนทนา และเป็นประโยคเดียวกันกับที่เขาบอกลูกเพจเสมอ

คำถามคืออะไรทำให้เขาปักใจหลงใหลในธุรกิจที่เรียกว่ากงสี และอะไรที่ทำให้เขาเชื่อว่าธุรกิจประเภทนี้จะสามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล และที่สำคัญคือทางออกจากสารพันปัญหาที่เปรียบเสมือน ‘คำสาป’ ของธุรกิจกงสีต้องทำยังไงนั้น ขอชวนฟังคำตอบจากปากของคุณธีรภาพผ่านคอลัมน์ Brand Belief คราวนี้

เตรียมตัวเตรียมใจแล้วมาหาทางออกไปพร้อมกัน

 ธีรภาพ อัญญานุภาพ

เห็นว่าคุณเติบโตมาในครอบครัวที่ทำ ‘ธุรกิจกงสี’ อยากรู้ว่าคุณรู้สึกยังไงกับคำคำนี้

ผมขอเท้าความก่อนครับว่า ครอบครัวผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีนโดยแท้ อากงของผมเป็นคนจีนตามแบบฉบับประวัติที่รู้จักกันเลยคือเสื่อผืนหมอนใบ เก็บเงินเล็กน้อยก็มามีที่อยู่อาศัยแถวปากคลองตลาด เก็บไปเรื่อยๆ เลยมาซื้อบ้านตึกแถวย่านท่าเตียนซึ่งไม่ไกลกันนัก ท่านเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว (ต่อมากลายเป็นธุรกิจของครอบครัว) ด้านนำเข้าและส่งออก ค้าขายอุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง และเป็นธุรกิจหลักซึ่งส่งต่อมายังรุ่นคุณพ่อผม ซึ่งภาพของการทำงานในธุรกิจครอบครัว บรรยากาศของคนในครอบครัวที่ช่วยบริหารกิจการอย่างขยันขันแข็ง ผมได้ซึมซับมาตลอดตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เวลาใครติดปัญหาอะไรทุกคนก็พร้อมที่จะก้าวเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน นั่นคือภาพที่ผมเห็น และประทับใจมาตลอด

แต่ด้วยภาวะพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้หลายธุรกิจครอบครัวประสบปัญหา และแน่นอนรวมไปถึงธุรกิจครอบครัวบ้านผมด้วย ทำให้บ้านผมปรับตัวจากการทำธุรกิจค้าขายร่วมกันมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยแต่ละคนก็จะมีทรัพย์สินที่ต่างคนต่างก็บริหารจัดการดูแลส่วนตัว ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องราวที่แม้จะน่าเสียดาย และช่วงนั้นผมอายุน้อยมากอยู่ในช่วงวัยเรียนจึงไม่อาจเข้ามาก้าวก่ายการทำงานหรือบริหารได้ แต่พอย้อนกลับไปมองการปรับตัว และพยายามอยู่รอดมาได้ถึงขนาดนี้ทางผมก็ได้รับประสบการณ์ และภูมิใจไม่น้อยสำหรับกงสีหรือธุรกิจครอบครัวของผม

สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคุณ คือสิ่งที่คนทำธุรกิจกงสีทุกคนต้องเผชิญ

ผมเรียกว่าเป็นอาการปลาช็อกน้ำ ธุรกิจกงสีสมัยก่อนมักจะขาดการวางแผนรับมือล่วงหน้าทั้งจากปัจจัยภายใน คือด้านครอบครัว และภายนอก คือด้านธุรกิจ ผมขอยกตัวอย่างเคสคลาสสิกที่หลายคนเคยได้ยิน นั่นคือธุรกิจครอบครัวรูปแบบผลิตและส่งออก สิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้วนั่นคือการผลิต และค้าขายอุปกรณ์ก่อสร้างมันมีกำไรแค่หลักหน่วย (หลักบาท) ซึ่งเมื่อพวกเขาไม่ได้วางแผนล่วงหน้าเพื่อพัฒนาธุรกิจ หรือรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดจากด้านธุรกิจหรือครอบครัว พวกเขาก็จะไม่สามารถปรับตัวได้ และพลอยต้องปิดตัวลงไปในที่สุด

หากเราลองย้อนหยิบเอาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยช่วงเปลี่ยนแปลงระบบภาษีปี 2535 ในการนำเอาภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มาลองใส่ในสมการการดำเนินธุรกิจครอบครัว จะเห็นได้เลยว่าจากกำไรหลักบาท เมื่อโดน VAT เพียง 7% พวกเขาก็ไม่สามารถสร้างกำไร และไปต่อไม่ได้ในเชิงธุรกิจ สุดท้ายก็เลยไปต่อไม่ไหว สมาชิกครอบครัวหลายครอบครัวก็เริ่มแตกแยกเพราะบางคนก็อยากทำธุรกิจอย่างถูกต้อง (เสีย VAT ถูกต้อง) อีกฝั่งก็ไม่ได้เสีย VAT ทำให้เกิดสงครามภายในกงสี และสุดท้ายก็ต้องปิดกิจการไปในที่สุดเพราะไม่อาจปรับตัวได้ในโลกธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างจากปลาน้ำจืดที่ถูกโยนไปอยู่ในน้ำเค็ม

 ธีรภาพ อัญญานุภาพ

แล้วทำไมถึงสนใจธุรกิจกงสีเป็นพิเศษ ทั้งที่ส่วนตัวคุณไม่ได้มีส่วนช่วยครอบครัวบริหารกิจการของที่บ้าน

จริงอยู่ที่แม้ผมไม่ได้มีส่วนได้เสียและเข้าไปช่วยบริหารกิจการของครอบครัว ผมเป็นเพียงแค่คนเฝ้ามอง แต่การเฝ้ามองนี้ทำให้รู้สึกว่า กงสีเป็นธุรกิจที่มีมนตร์ขลังบางอย่างซึ่งหาจากที่ไหนไม่ได้ ผมได้เห็นความสัมพันธ์เหนียวแน่นของคนในครอบครัว ที่ต่างคนต่างช่วยเหลือกันผ่านการทำงาน พี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ ความตั้งใจที่รวมเป็นจุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือจุดประสงค์ในการทำธุรกิจที่ส่งทอดจากรุ่นพ่อที่ถูกส่งต่อมาถึงรุ่นลูกเป็นทอดๆ มันเลยเกิดเป็นความรู้สึกที่ว่า คุณลักษณะหรือ character แบบนี้มันควรจะเกิดกับทุกครอบครัวที่มีธุรกิจกงสี

นั่นเลยเป็นความตั้งใจที่ทำให้คุณเปิดเพจเฟซบุ๊ก ‘คุยกับกงสี’ ใช่ไหม

เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญเลยครับ ต้องบอกว่าก่อนหน้าที่ผมจะเป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวนั้นผมทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนาองค์กร เป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ และเป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวในบริษัทให้คำปรึกษาด้านกฎหมายรวมกันประมาณ 3 ที่ และได้เข้าไปทำเป็น Operations Lead ช่วยกำกับดูแลการปฏิบัติการภายในธุรกิจครอบครัวหนึ่งที่เขาได้เชิญชวนเข้าไป ประสบการณ์รวมๆ กันก็มากกว่า 10 ปี

กระทั่งวันหนึ่งลูกค้าที่เราให้คำปรึกษาบอกกับผมว่า สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ดีนะ แต่จะดียิ่งกว่านี้ถ้าผมสามารถแชร์ให้ธุรกิจครอบครัวอื่นได้รับรู้ว่า งานที่ปรึกษาที่ผมทำมันมีประโยชน์กับหลายธุรกิจครอบครัวที่กำลังเผชิญกับปัญหาว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับครอบครัวคุณมันไม่ใช่ทางตัน ไม่ใช่ปัญหาโลกแตกนะ มันมีวิธีแก้ไขปัญหา ถ้างั้นคุณลองเอาสิ่งที่คุณเคยให้คำปรึกษาไปเล่าให้คนที่เจอปัญหาแบบนี้บ้างดีไหม

พอผมมานั่งคิดก็จริงแบบที่เขาพูด ในประเทศเราไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องปัญหาธุรกิจครอบครัวมาก่อน ส่วนใหญ่ที่พูดก็มีแต่เชิงเทคนิคเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ด้านกฎหมาย บัญชี การเงิน หรือการตลาด ซึ่งแต่ละส่วนแม้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ แต่อาจไม่ได้เชื่อมโยงกับหลักการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างถูกต้อง เพจคุยกับกงสีเลยเกิดมาด้วยจุดประสงค์ที่อยากผลักดันลูกหลานหรือคนที่มีธุรกิจกงสีอยู่ในมือ ให้เขาเห็นถึงหลักการบริหารธุรกิจครอบครัวที่ถูกต้อง และสร้างการเปลี่ยนแปลงมุมมองว่าธุรกิจครอบครัวไม่ใช่ธุรกิจที่แย่หรือไม่มีอนาคต ทุกปัญหาที่เจอมันมีทางออก เพียงแค่ต้องเข้าใจการบริหารที่ถูกต้อง ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง หรือเปลี่ยนวิธีสื่อสารบางอย่าง เพื่อให้ธุรกิจของคุณสามารถพัฒนาต่อ

 ธีรภาพ อัญญานุภาพ

พูดง่ายๆ คือทำเพื่อสนองแพสชั่นตัวเอง

จะพูดอย่างนั้นก็คงไม่ผิดครับ เพจคุยกับกงสีไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพราะอยากจะหาผลกำไร แต่ทำเพราะอยากให้คนอื่นเห็นว่า ธุรกิจกงสีมันมีมากกว่าที่คุณเห็นผิวเผินตามในละครที่คนในครอบครัวรบราฆ่าฟันแย่งผลประโยชน์กัน ถามว่าแบบในละครมีไหม ก็มี แต่นั่นเป็นเพียงบางส่วนที่เราได้ยิน แต่ก็มีธุรกิจครอบครัวที่พวกที่เขาประสบความสำเร็จ ซึ่งเบื้องหลังมันมี untold story ที่มีประโยชน์แก่ทุกครอบครัวซ่อนอยู่ เพียงแต่ยังไม่มีคนหยิบมาเล่า รวมถึงนำมาวิเคราะห์วิธีการให้พวกเขาได้เข้าใจอย่างละเอียด และเข้าใจง่าย 

ทุกคอนเทนต์ที่ปรากฏบนหน้าเพจล้วนมาจากคุณคนเดียว

ใช่ครับ (หยิบสมุดจดขึ้นมาให้ดู) ทุกบทความ ทุกๆ โพสต์ผมทำด้วยตัวคนเดียว เริ่มต้นผ่านสมุดเล่มนี้ที่ใช้จดบันทึกว่าวันนี้จะเล่าเรื่องอะไร ซึ่งแต่ละเรื่องเป็นการหยิบโจทย์ หรือปัญหาที่ลูกค้าเข้ามาปรึกษากับผม เช่น เรื่องความเสี่ยงของธุรกิจ เรื่องของการวางโครงสร้างธุรกิจ หรือการจัดสรรหุ้น เพราะฉะนั้นผมมองว่าเมื่อมันเป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์จริง และมีทางออกที่สร้างได้จริง คนที่ได้อ่านก็จะสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงเช่นเดียวกัน 

ลูกเพจที่เข้ามาพูดคุยกับคุณในเพจส่วนใหญ่มักมาด้วยปัญหาอะไร

คนส่วนใหญ่ที่ติดต่อเข้ามาผ่านเพจคือคนหนุ่มสาวครับ ทางพวกเขาเข้ามาสอบถามว่าที่ไม่รู้ว่าตัวเองควรรับช่วงต่อ หรือจะรับมือกับกิจการของที่บ้านยังไง อย่างเคสแรกที่ติดต่อเข้ามาในเพจ บ้านของเขาเปิดกิจการร้านทองแล้วกำลังเผชิญสถานการณ์ซบเซา ผมก็ให้คำปรึกษาและแนะนำจากประสบการณ์ของผม ซึ่งทางเค้าก็เข้าใจในหลักการ และได้นำสิ่งที่ได้พูดคุยกันนำกลับไปใช้

ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณซีรีส์เรื่อง เลือดข้นคนจาง ที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องธุรกิจกงสีมากขึ้น (หัวเราะ) อาจจะฟังดูตลก แต่ซีรีส์เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับคนเจนฯ Y ซึ่งอยู่ในวัยที่กำลังก้าวขึ้นมาสานต่อกิจการจากพ่อแม่ซึ่งเป็นคนเจนฯ X ทำให้เขาเกิดความสนใจว่า ถ้าเขาจะสานต่อกิจการเขาต้องทำยังไง การเปลี่ยนผ่าน การจัดสรรหุ้น การบริหารกิจการต้องเริ่มจากตรงไหน แล้วถ้าต้องร่วมงานกับญาติในฐานะผู้บริหารฉันต้องวางตัวแบบไหน สิ่งเหล่านี้เขาไม่เคยรู้เพราะรุ่นพ่อแม่เขาก็รับมาจากอากงอาม่าแบบตามมีตามเกิด

สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำเพจล่ะ

ผมมองว่าความท้าทายในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจครอบครัว ที่จะต้องพูดถึงเรื่องของโอกาส ความท้าทาย หรือปัญหาของแต่ละครอบครัว นั่นคือการทำให้ผู้ที่ติดตามเพจกล้าสะท้อนตัวเอง และยอมรับว่า สิ่งที่เขากำลังอ่านอยู่เป็นอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้ในครอบครัวเขา มากไปกว่านั่นคือกล้าที่จะหยิบปัญหาใต้พรมนี้ขึ้นมาแก้ไข เช่นเรามักจะไม่ยอมรับว่าเรากำลังเกิดการขัดแย้งเห็นต่างในครอบครัว ทั้งที่เราสามารถขัดแย้งกันได้ แต่ต้องเป็นการขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น กับอีกเรื่องคือการนำเสนอเนื้อหาให้เข้าใจต่อคนอ่านมากที่สุดครับ

หากมองตัวเลข GDP ในประเทศไทยจะเห็นว่า ธุรกิจกงสีสามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยถึง 80% น่าสนใจว่าทำไมธุรกิจกงสีถึงมี value ได้ถึงขนาดนี้

จริงๆ นิยามของคำว่าธุรกิจกงสีมันมีอยู่หลายขนาดเลยครับ เพียงแต่หลายคนติดภาพจำที่ว่าธุรกิจครอบครัวต้องเป็นธุรกิจข้างทาง เป็นร้านอาหาร เป็นร้านขายของชำ หรือโรงเหล็กเก่าๆ ทั่วไป ทั้งที่จริงมันมีตั้งแต่ระดับ SME ไปจนถึงระดับใหญ่อย่าง CP ของตระกูลเจียรวนนท์ หรือ ThaiBev ของเจ้าสัวเจริญ (เจริญ สิริวัฒนภักดี) ก็ถือเป็นธุรกิจกงสี นั่นเลยทำให้ธุรกิจประเภทนี้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูง

ผมมักจะบอกเสมอในเพจคุยกับกงสีว่า ธุรกิจครอบครัวทุกครอบครัวมีต้นทุนที่ล้ำค่า มันคือ family business capital มันคือทุนทรัพย์ของครอบครัวคุณที่สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยที่คุณไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ หรือต้องไปหาทุนจากผู้ลงทุนภายนอก ซึ่งหากมองแล้วก็อาจมีความเสี่ยงกว่าหลายเท่า ผมจึงเชื่อเสมอว่าธุรกิจครอบครัวนั้นสามารถพัฒนา ต่อยอด แตกขยายได้ ทั้งนี้จะต้องมีการสื่อสาร และวางแผนอนาคตกันจริงจังอย่างเป็นรูปธรรมครับ 

ในธุรกิจระดับโลกก็มีการส่งต่อสิ่งที่เรียกว่าทุนทรัพย์ของครอบครัว 

ใช่ครับ ผมยกตัวอย่างกรณีของ KFC แทบไม่มีใครรู้สูตรไก่ทอดที่ผู้พันแซนเดอร์คิดค้น มีคนพยายามเลียนแบบแต่ทำยังไงก็ไม่เหมือน ซึ่งคนที่รู้สูตรนี้จริงๆ มีแค่ 2-3 คนบนโลกเท่านั้น ซึ่งก็คือคนในตระกูลของผู้พันแซนเดอร์ นี่จึงเป็นตัวอย่างของทุนทรัพย์ของครอบครัวที่กลายเป็น ‘สูตรลับทางการค้า’ ที่มีมูลค่ามหาศาล สูตรพวกนี้มองผิวเผินเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ในเชิงธุรกิจสูตรลับทางการค้าพวกนี้มีมูลค่ามหาศาล บางธุรกิจยอมที่จะซื้ออีกกิจการมูลค่าหลายพันล้านบาทเพียงเพราะต้องการรู้ และเป็นเจ้าของสูตรลับทางการค้าของอีกเจ้าด้วยซ้ำไป 

หากสะท้อนกลับมาในธุรกิจครอบครัวไทย ทุนทรัพย์ครอบครัวมีได้หลากหลายซึ่งแยกออกมาได้ 2 ด้านหลักๆ นั่นก็คือทุนทรัพย์ฝั่งธุรกิจ และทุนทรัพย์ฝั่งครอบครัว ในทุนทรัพย์ฝั่งธุรกิจเรามองทุนทรัพย์ในเรื่องของทรัพย์สิน เครื่องจักร พนักงานที่เรามี หรืออีกมุมนึงคือองค์ความรู้ภายในธุรกิจของเรา เช่น ความคุ้นชินตลาด ความรู้ผู้บริหาร พนักงาน หรือแม้กระทั่งการรู้จักมี Connection กับคู่ค้าที่สั่งสมมานานหลาย 10 ปี อีกทุนทรัพย์ในฝั่งของครอบครัวเป็นมุมที่หลายครอบครัวมองข้ามแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถก้าวผ่านวิกฤตมาได้นักต่อนัก รวมถึงเป็นแหล่งรวมของนวัตกรรม ไอเดียสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้น เช่นสมาชิกครอบครัวที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มีการศึกษาที่ดี เปรียบเสมือนขุนพลที่พร้อมจะเข้ามาพัฒนาสานต่อธุรกิจครอบครัว หรือทุนทรัพย์ด้านที่ดิน ทรัพย์สิน เป็นเหมือน family bank ที่สามารถลงทุนให้กับคนในครอบครัวหากมีไอเดียที่เห็นพ้องต้องกัน หรือวง Connection ระดับสูงของคนในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ก็รู้จักเพื่อนในวงการ หรือเจ้าของกิจการหลายที่ ที่หากเราอยากรู้จักใครเพียงแค่ถามหรือโทรศัพท์แป๊บเดียวก็สามารถติดต่อพูดคุยกับ Connection นั้นได้อย่างง่ายดาย

แต่ธุรกิจกงสีที่ประสบความสำเร็จกลับมีไม่มาก เป็นเพราะอะไร

สูตรของกงสีประกอบด้วย 3 ข้อ คือ หนึ่ง–ธุรกิจ สอง–ครอบครัว และสาม–ความเป็นเจ้าของ โดยที่ 3 ข้อนี้ไม่สามารถขาดข้อใดข้อหนึ่งไปได้ ถ้ามีธุรกิจแต่ไม่มีครอบครัวนั่นก็เป็นเพียงธุรกิจทั่วไป

มุมมองหรือ mindset ของคนทำกงสีสมัยก่อน คือทำยังไงก็ได้ให้ธุรกิจมันไปต่อได้ ทำยังไงก็ได้ให้สามารถหลีกหนีความยากแค้น แต่พอกิจการเปลี่ยนมือมาถึงสักรุ่นที่ 3 รุ่นที่ 4 ซึ่งอยู่ในจุดที่กิจการมั่นคงไม่ต้องดิ้นรนจนเกินไป สิ่งที่ตามมาเลยกลายเป็นเรื่องของ ‘ปัจเจก’ เรื่องของความเป็น ‘เจ้าของ’ มากกว่าคำว่าครอบครัว ในมุมมองของคนทำธุรกิจมันเลยเป็นจุดตัดที่ต้องเลือกว่าธุรกิจนี้จะเติบโตกลายเป็นอาชีพที่มั่นคง หรือจะเลือกเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหลัก เพราะยังไงสองอย่างนี้ก็ขัดกันชัดเจน ถ้าคุณเลือกที่จะเติบโตก็จำเป็นต้องเด็ดขาด ถ้าคุณทำดีก็โอเค ถ้าคุณทำผิดก็ต้องได้รับ Feedback ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมืออาชีพ แต่กับความเป็นครอบครัวถ้าคุณบ่นใส่กันนิดเดียวก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทะเลาะบ้านแตก ไหนจะเรื่องของความเป็นเจ้าของ ใครเล่นหุ้นจะรู้ดีว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการยิ่งต้องอยากได้เงินปันผลที่มันสูงขึ้น

ในสมัยก่อนอาจจะยังไม่เห็นปัญหาจาก 3 ข้อที่ว่ามากนัก เพราะสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งธุรกิจกันมายังมีจำนวนไม่มาก แต่พอเป็นยุคปัจจุบันที่สมาชิกในครอบครัวมีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับบริบททางสังคม และการศึกษาที่ผู้คนมีความหลากหลาย มันเลยทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวนั้นเริ่มห่างเหิน พอห่างเหินก็เกิดการกระทบกระทั่งจนเป็นปัญหาได้ง่าย พอเกิดปัญหาก็เริ่มไม่สื่อสาร เมื่อไม่สื่อสารต่างคนต่างทำงาน ก็กลายเป็น ‘การเมืองกงสี’ คนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าบางคนเลยเกิดเป็นความรู้สึกที่ว่า ธุรกิจครอบครัวเท่ากับปัญหา เราจึงเห็นว่าคนรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะไม่สานต่อกิจการของครอบครัวและยินดีจะออกไปหางานทำเอง พร้อมปล่อยให้กิจการนั้นล้มหายตายจาก หรือดีที่สุดคือใครทนอยู่ได้เป็นคนสุดท้ายก็เอากิจการนี้ไปทำต่อ โดยที่อาศัยความรู้ อาศัยแรงงานจากคนนอกครอบครัวมาทำแทน

นั่นทำให้คนนอกมองธุรกิจกงสีเป็นดัง ‘ธุรกิจต้องคำสาป’ ที่มีทั้งการแก่งแย่งชิงดี การทำงานที่ต้องเกรงอกเกรงใจกัน หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ที่ดูล้าสมัย 

ใช่ครับ ผู้คนทั้งในและนอกธุรกิจครอบครัวมักจะมองว่าธุรกิจกงสีเต็มไปด้วยปัญหา ฉะนั้นสิ่งที่ผมนำเสนอในเพจคุยกับกงสีจึงเป็นการบอกว่า ทุกโจทย์ ข้อสงสัย หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมันสามารถแก้ได้ ใครที่เข้าไปอ่านจะสังเกตเห็นว่าผมแทบไม่นำเสนอเรื่องของปัญหา เพราะผมคิดว่าทุกคนย่อมรู้ปัญหาของตัวเองดีอยู่แล้ว เผลอๆ ดีกว่าผมด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมนำเสนอจึงเป็นเรื่องของทางออก หรือ Solution ของแต่ละประเด็นปัญหา ซึ่งจะทำให้คุณเห็นว่าเรื่องที่มันร้ายแรง จริงๆ ในสายตาของหลายครอบครัวมันมีทางออกเสมอ และมันสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงๆ 

จุดเริ่มต้นของปัญหาธุรกิจกงสีมักเกิดจากการทะเลาะหรือเห็นต่างภายในครอบครัว ถ้างั้นคุณมีข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหานี้ยังไง

ผมขอแนะนำว่า ทุกๆ บ้านควรจะมีการวางกฎระเบียบร่วมกัน เพื่อให้รู้ว่าธุรกิจในมือควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหน จะเติบโตในรูปแบบธุรกิจเดิม หรือจะเติบโตขยายธุรกิจในรูปแบบใด ซึ่งผมเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ธรรมนูญครอบครัว’ 

กฎระเบียบของธรรมนูญที่ผมลิสต์ขึ้นมามีทั้งหมด 9 เรื่อง แต่มี 4 เรื่องที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นคือ วิถีของการทำธุรกิจครอบครัวคืออะไร หรือ ‘family value’ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายครอบครัวลืม ว่าเราอยากดำเนินธุรกิจให้ไปในทางไหน อยากให้ลูกหลานเรามีคุณลักษณะในการทำธุรกิจแบบไหนบ้าง ยกตัวอย่างเราอยากให้ธุรกิจครอบครัวของเราไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด เราก็ต้องฟูมฟักลูกหลานให้ดำเนินตามแบบแผนที่เราคิดว่าชัดเจนโปร่งใสที่สุด

เรื่องที่สองก็คือเรื่อง ‘หุ้น’ เพราะหุ้นของธุรกิจจะเป็นตัวสะท้อนเรื่องของ ‘อำนาจความเป็นเจ้าของ’ และ ‘อำนาจการบริหาร’ ภายในองค์กร ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนหุ้นให้ชัดเจน

เรื่องที่สามคือเรื่อง ‘สิทธิ’ ของสมาชิกครอบครัวที่สามารถทำงานภายใต้วิถีครอบครัวได้ ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะบ่อยครั้งผมพบว่า ‘เขย-สะใภ้’ ซึ่งถือเป็นคนนอกของหลายครอบครัวที่แต่งเข้ามา พวกเขามักตกเป็นจำเลยของปัญหาธุรกิจครอบครัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขย-สะใภ้ ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเพียงผลลัพธ์ของปัญหาของการไม่พูดคุยตกลงกฎระเบียบภายในครอบครัวระหว่างกันแต่แรก ดังนั้นต้องกำหนดสิทธิของคนในครอบครัวที่สามารถยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจให้ชัดเจน เช่น ต้องเจาะจงเฉพาะคนในสายเลือดเดียวกันหรือเปล่า, เขย-สะใภ้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ไหม หรือแม้แต่บางบ้านที่มีบุตรบุญธรรม สิ่งเหล่านี้ต้องกำหนดให้ชัดเจน

สุดท้ายคือเรื่องของ ‘การดูแล’ จริงอยู่ว่าเราโฟกัสเรื่องของธุรกิจ แต่ความเป็นครอบครัวก็ต้องมีการดูแลกันและกัน บางบ้านอาจจะลงความเห็นว่าอยากให้มีสวัสดิการครอบครัว ช่วยซัพพอร์ตเรื่องของการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล รถยนต์สำหรับใช้งาน หรือที่อยู่อาศัย เป็นอีกเรื่องที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาที่ว่าใครขอคนนั้นได้ ใครดีใครได้ ซึ่งสิ่งที่อาจตามมาคือการผิดใจกันเอง

อีกหนึ่งในปัญหาสุดคลาสสิกที่ทำให้ธุรกิจกงสีไม่สามารถไปต่อได้ นั่นคือเรื่องความแตกต่างของ generation gap คำถามคือจะทำยังไงให้คนวัยต่างกันสามารถเปิดอกคุยเรื่องการทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา

 ผมยกตัวอย่างเคสจริงเคสหนึ่งที่พ่อกับลูกคุยกันเรื่องงาน ตอนแรกก็คุยงานกันดีๆ พ่อก็ตำหนิว่าทีหลังคุณอย่าทำงานพลาดแบบนี้สิ พลาดเหมือนเรื่องที่บ้านเลย ขนาดเรื่องง่ายๆ แค่ปิดไฟในห้องคุณยังลืมปิด คือคุยไปคุยมาทางคุณพ่อและลูกไม่สามารถแยกได้ระหว่างเรื่องของครอบครัวกับเรื่องของงาน ฝ่ายลูกก็รู้สึกถึงความไม่ชัดเจน ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเรื่องครอบครัวกับเรื่องงาน พานไม่พอใจการสนทนากับคุณพ่อ และเมื่อได้เจอหน้ากันครั้งต่อๆ ไปก็ไม่คุยกันมากขึ้น ทั้งตอนทำงานหรือตอนอยู่ที่บ้าน

ทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ หรือจะเรียกว่าเป็นแบบฝึกหัดให้กับทุกบ้านก็ว่าได้ นั่นก็คือ ก่อนที่ครอบครัวจะเริ่มมีการพูดคุยประชุมระหว่างกัน ให้ครอบครัวลองทำการตกลง ‘หมวก’ ซึ่งก็คือ ‘บทบาทหน้าที่’ ไม่ว่าจะเป็นการคุยส่วนตัวหรือการประชุมรวมให้ชัดเจน ว่าเรื่องที่เรากำลังจะคุยกัน เรากำลังคุยโดยสวมหมวกของประธานกับผู้จัดการของบริษัท สิ่งที่เราจะพูดก็เพื่อนำมาสู่การเข้าใจบริบทในการประชุม และจะสามารถทำให้การประชุมนั้นเกิดประสิทธิภาพได้สูงสุดครับ

แล้วถ้าจะทำให้ธุรกิจกงสีทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจระดับใหญ่ได้ต้องคำนึงถึงเรื่องไหนเป็นพิเศษ

Sizing ของแต่ละธุรกิจครอบครัวมีความต่างกันมากๆ แต่ปัจจัยแรกที่จะทำให้เกิดการยกระดับ คือการคุยกันเรื่องของอนาคต ถ้าคุณจะยกระดับ อนาคตครอบครัวของคุณต้องชัดเจน 

ปัจจัยต่อมาคือต้องแยกเรื่องของครอบครัวกับธุรกิจ บางบ้านแผนงานดีมาก แต่คนในครอบครัวไม่มีศักยภาพที่จะผลักดันแผนนี้สำเร็จ ยกตัวอย่างกรณีที่ผมเจอคือเขาต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ไปสู่ระดับสากล แต่คนในครอบครัวไม่มีใครมีความรู้เรื่องวิศวกรรม ไม่มีใครมีความรู้เรื่องของการควบคุมคุณภาพ หรือการทำบัญชี รวมถึงหากมองเข้าไปในกลุ่มผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหารก็มีแต่ชื่อคนในครอบครัว คำถามคือเพียงแค่สมาชิกครอบครัวนั้นจะสามารถนำพาให้ธุรกิจเติบโตไประดับโลกได้จริงหรือ? เมื่อผมไปให้คำปรึกษาครอบครัวนั้น ทางเขาเลยเริ่มเข้าใจว่าการกระจายอำนาจตำแหน่งการบริหารให้มืออาชีพนั้นสำคัญ และสามารถทำได้ โดยยังมีกลไกป้องกันความเป็นเจ้าของธุรกิจให้ยังอยู่กับคนในครอบครัวอยู่

ฉะนั้นบทเรียนสำหรับเรื่องนี้คือ การแยกเรื่องการบริหารออกจากเรื่องของครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมมองว่าควรทำเป็นอย่างมากถ้าต้องการให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตเป็นมืออาชีพ อย่างวิธีการเว้นตำแหน่งให้กับคนที่มีความสามารถนั้นจริงๆ ผมก็มองว่าสามารถทำได้ เพราะหากมอบหมายหน้าที่ให้แก่คนในครอบครัวเพียงอย่างเดียว ก็อาจเป็นการปิดโอกาสให้ธุรกิจได้เจอกับโอกาสที่สดใหม่และพลาดโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโต

นอกจากเพจคุยกับกงสี คุณยังเปิดบริษัท Aunyanuphap Consulting ที่ให้คำปรึกษากับบริษัทที่เป็นกงสีโดยเฉพาะ ตัวคุณแยกการทำหน้าที่สองสิ่งนี้ยังไงในเมื่อมีเป้าหมายที่ใกล้เคียงกัน

ผมมองว่าสองอย่างนี้มันมีความแตกต่างกันมาก แต่ก็ตอบจุดประสงค์ในการช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวในภาพใหญ่เหมือนกันครับ การทำ Aunyanuphap Consulting คือการให้คำปรึกษากับลูกค้าตามโจทย์ที่เขาต้องการ แต่การทำเพจคุยกับกงสีคือการสร้าง awareness ให้กับทุกครอบครัวที่มีธุรกิจ ผมไม่ได้มองว่า ครอบครัวที่เข้ามาคุยกับผมจะต้องกลายเป็นลูกค้า ผมเพียงอยากแชร์ ให้เขารู้ว่าธุรกิจครอบครัวมีดียังไง บริหารอย่างไร รวมถึงให้เขารู้ว่าการทำธุรกิจครอบครัวไม่ได้เริ่มจากการมองสิ่งที่ตัวเองขาด แต่มองจากสิ่งที่ตัวเองมีแล้วค่อยวางแผนต่อยอดเพื่อรักษามรดกตกทอดของครอบครัวไว้

เคยนำบทเรียนที่ให้คำปรึกษาลูกเพจมาปรับใช้ในการบริหารองค์กรบ้างไหม

มีครับ ผมจะไม่เอาเรื่องของปัญหาส่วนตัวมาปนกับเรื่องของการทำงาน ผมจะเตือนตัวเองทุกครั้งว่าเรากำลังสวมหมวกใบไหนอยู่ขณะทำงาน อีกสิ่งที่หยิบมาใช้ในการบริหารองค์กรเป็นประจำคือ การสร้างความขัดแย้งแบบสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า constuctive conflict ซึ่งหลักการของสิ่งนี้คือคนที่ทำงานร่วมกันสามารถเห็นต่างได้ แต่การเห็นต่างต้องนำไปสู่การพูดคุย ตกผลึกทางความคิด และร่วมสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้แก่ธุรกิจ

ถึงตรงนี้ สิ่งที่คุณเรียนรู้จากการทำเพจคุยกับกงสีมีอะไรบ้าง

ผมขอมองในมุมที่ให้คำปรึกษาและการเขียนบทความอย่างเป็นประจำนะครับ ผมมองว่าการสร้างธุรกิจหรือครอบครัวที่ดี ยืดหยุ่น และเข้มแข็ง ต้องเริ่มจากการป้องกันมากกว่าแก้ไข เพราะการป้องกันคือการพูดคุยหาทางออกร่วมกันโดยที่ปัญหานั้นๆ ยังไม่เกิด ซึ่งเราสามารถพูดคุยปัญหาระหว่างกันได้อย่างเปิดอกและสบายใจมากกว่า รวมถึงสามารถหาทางออกตรงกลางได้อย่างครอบคลุมเหมือนเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ต่างจากการแก้ไขซึ่งเหมือนการที่วัวหายแล้วค่อยล้อมคอก แม้เราปะหรือปิดมันแค่ไหนความผิดพลาดนั้นก็ไม่อาจย้อนกลับมาแก้ไขได้อยู่ดี ผมเลยมองว่านั่นคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ และมองว่าเรื่องของครอบครัวสามารถเป็นบทเรียนในการนำไปเริ่มต้นพัฒนากงสีของแต่ละคนได้เช่นเดียวกัน

แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณอยากพัฒนาเพจคุยกับกงสีต่อ

เมื่อก่อนผมเขียนบทความจนเมื่อยมือ (หัวเราะ) แต่ก็เจอลูกค้าบางคนบอกกลับมาว่า เดี๋ยวนี้เขาไม่นิยมอ่านกันแล้ว เร็วๆ นี้เลยมีแผนที่จะชวนเพื่อนๆ ที่รู้จัก และทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นผู้มากประสบการณ์ที่ให้ปรึกษาทางธุรกิจครอบครัวด้านต่างๆ มาทำคอนเทนต์ พูดคุย และแชร์มุมมองในการให้คำปรึกษาจากประเด็นที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ หรือประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจในแวดวงธุรกิจปัจจุบัน เช่น เรื่องเทคโนโลยี AI กฎหมาย ภาษี การตลาด การเงิน การบัญชี ฯลฯ มาเล่าผ่านรูปแบบ video interview ซึ่งทางผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนดังกล่าวจะกลายเป็นฐานความรู้ใหม่ให้กับธุรกิจครอบครัวทุกระดับ และสามารถนำสิ่งที่ชมไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจครอบครัวของพวกเขาได้อย่างมากที่สุดครับ

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like