ผู้มาก่อนกาล
เปิดตำรา 4P+1 ของ Gala Camille แบรนด์ลิปแท่งเทาตัวดัง ที่ขายหมด 200,000 แท่ง ใน 15 วัน
“ผู้หญิงจะมีลิปกี่แท่งก็ได้ แต่ถ้ามีลิปวางเรียงอยู่ 10 แท่ง แล้วให้เลือกหยิบเพียง 1 แท่ง เป็นคุณจะเลือกหยิบแท่งไหน ก็ต้องหยิบแท่งที่แตกต่างจากแท่งอื่นไปเลยใช่ไหมคะ” หญิงสาวเจ้าของแบรนด์ดังที่เป็นไวรัลใน TikTok ตั้งคำถามนี้กับเราหลังจากให้ดูลิปสติกทุกคอลเลกชั่นของ Gala Camille
และคำตอบของเราคือ “ใช่” ในฐานะผู้หญิงก็มองว่าลิปสติกเป็นสิ่งที่เปลี่ยนง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้แบรนด์เดิมหรือสีเดิมตลอดไป ยิ่งมีสิ่งที่น่าสนใจและยังไม่เคยใช้มาวางอยู่ตรงหน้า ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบลิปแท่งที่แปลกตามาลองเทสต์ดูก่อนตัดสินใจซื้อ
ต้องยอมรับว่าท่ามกลางแบรนด์ลิปสติกมากมายที่มีอยู่ในท้องตลาด ลิปของ Gala Camille แตกต่างด้วยสีสันของแพ็กเกจจิ้ง และลูกเล่นในแต่ละคอลเลกชั่นที่ ‘หาทำ’ กิมมิกน่ารักๆ ให้คนใช้งานรู้สึกสนุกไปด้วย
ตั้งแต่ลิปแท่งเขียวที่ต้องกดเปิดเหมือนกดปากกา 2-3 ครั้งก่อนใช้งาน จนสร้างตำนานขายหมด 50,000 แท่ง ภายใน 7 วัน มาถึงลิปแท่งเทาที่ต้องหมุนเปิดเหมือนไขลาน ก่อนจะมีเนื้อลิปออกมาที่หัวแปลงซิลิโคน ซึ่งขายหมด 200,000 แท่ง ภายใน 15 วัน
ด้วยยอดขายที่ปังไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ทั้งที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปช่วงต้นปี 2023 และตอนนี้แบรนด์มีอายุเพียง 1 ขวบเท่านั้น คอลัมน์ 5P ในตอนนี้จะพาทุกคนไปเปิด 4P ในการทำธุรกิจเครื่องสำอาง และอีก 1 เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ แนน–นฤมล ประเสริฐสุข CEO ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Gala Camille แต่งแต้มสีสันบนธุรกิจของตัวเองให้ ‘แตกต่าง’ และ ‘เป็นที่ต้องการ’ ของตลาดได้มากขนาดนี้
Product
แม้ตลาดเครื่องสำอางจะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก แต่แนนเล่าว่าถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าสินค้าส่วนมากออกแนวเกาหลี ใช้โทนสีและแพ็กเกจจิ้งน่ารักๆ ตามความชอบของคนไทยทุกวันนี้ เธอที่ชอบการแต่งหน้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้เห็นช่องว่างทางการตลาดที่จะทำให้แบรนด์ของตัวเองแตกต่าง แต่ตกสาวๆ เข้าด้อม Gala Camille ได้
“เราศึกษาว่าตอนนี้เทรนด์เครื่องสำอางและการแต่งหน้าในไทยเป็นยังไง แต่เราไม่ได้ดูเพื่อที่จะทำสินค้าตอบโจทย์เทรนด์ที่มีตอนนี้ กลับกัน เราเลือกทำสินค้าให้โดดเด่นและแตกต่างจากที่มีในไทย โดยดูเทรนด์จากต่างประเทศ เพราะถ้าสังเกตเทรนด์ที่เข้าไทยส่วนมาก ก็มาจากเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศก่อนทั้งนั้น”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Gala Camille ไม่ใช่แค่แบรนด์เครื่องสำอาง แต่มองตัวเองเป็น ‘I’m the trend.’ ที่จะทำสินค้าออกมานำเทรนด์เครื่องสำอางและพลิกการแต่งหน้าในไทยให้สนุก มีสีสัน และตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย
“เราเลือกทำตามเทรนด์สายฝอ ตั้งแต่แพ็กเกจจิ้ง เราเลือกแม่สีฉูดฉาด เห็นแล้วสะดุดตา เช่น สีน้ำเงิน สีเขียว ส่วนสีลิป เราเลือกเฉดที่ใช้ได้กับทุกสีผิว และได้สัมผัสที่ฉ่ำ ไม่ทำให้ปากแห้ง พอลองถูออกดูแล้วเห็นถึงความติดทน ก็ทำให้คนสนใจสินค้าของเรา”
สินค้าตัวแรกๆ ที่เลือกออกเป็นลิปสติก เธอให้เหตุผลว่าในบรรดาเครื่องสำอางทั้งหมดที่ใช้บนหน้าแบ่งเป็นพวกงานผิว เช่น รองพื้น แป้ง และพวกคัลเลอร์ เช่น บลัชออน ลิป ลิปนี่แหละเป็นสิ่งที่คนเปลี่ยนบ่อยที่สุด และตัดสินใจซื้อง่ายที่สุด ถ้าสามารถแจ้งเกิดจากลิปได้ ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะเชื่อมั่นในแบรนด์และซื้อสินค้าประเภทอื่นของแบรนด์ต่อไป
“คนรู้จักเราจาก ‘Melty Creme Balm’ หรือลิปบาล์มแบบกดแท่งเขียว ที่หลายคนชอบเรียกว่าลิปปากกา เพราะมีวิธีใช้เหมือนการกดปากกา ในต่างประเทศมีเทรนด์นี้มาสักพักแล้ว แต่ในไทยยังไม่มี พอเราเป็นเจ้าแรกที่ทำ ก็เป็นเหมือนผู้มาก่อนกาล ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้ จนขายหมด 50,000 แท่ง ภายใน 7 วัน”
จากลิปแท่งเขียวที่เป็นกระแสทำให้แนนรู้เลยว่า สิ่งที่ยากและท้าทายในตลาดเครื่องสำอางคือเทรนด์การแต่งหน้านั้นมาไว ไปไว แบรนด์ต้องวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคให้ได้ เพื่อ ‘จับจุดให้ถูก และเปลี่ยนให้เป็น’
“สินค้าที่ทำให้รู้สึกว่าเราจับจุดถูกคือลิปแท่งเขียว พอเป็นที่นิยมขึ้นมา คนก็เรียกร้องให้มีสีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จากตอนแรกที่ลิปรุ่นนี้มี 5 สี ปัจจุบันก็เพิ่มมาถึง 12 เฉดสี และเราก็รู้จักเปลี่ยนให้เป็น จากการเก็บฟีดแบ็กว่าลูกค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เก็บทุกจุดบกพร่อง เพื่อนำมาพัฒนาสู่สินค้าตัวใหม่อย่าง ‘Spinning Lubric Lip’ หรือลิปแท่งเทา ที่มีความฉ่ำ ชุ่มชื้น และติดทนกว่ารุ่นก่อนๆ
“พร้อมลูกเล่นใหม่คือต้องหมุนแท่งลิปเหมือนเราไขลาน แล้วถึงจะมีเนื้อลิปออกมาบนหัวแปรงซิลิโคน ทำให้ขายหมด 200,000 แท่ง ภายใน 15 วัน ประกอบกับจังหวะที่เราปล่อยลิปแท่งเทามา ตัวลิปแท่งเขียวก็ยังเป็นกระแส มันเลยทำให้เรายังอยู่ในกระแสตลอดเวลา”
Price & Promotion
“ตอนเป็นนักศึกษาแล้วเดินไปดูเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง เรารู้สึกว่าราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่ตอนนั้นก็คิดว่าถ้าเรามีแบรนด์เครื่องสำอางเป็นของตัวเอง จะทำสินค้าคุณภาพดีในราคาที่เอื้อมถึงได้”
นั่นเป็นเหตุผลที่สินค้าส่วนใหญ่ของ Gala Camille มีราคาเพียงหลักร้อยต้นๆ และมีกลุ่มลูกค้าเด็กสุดที่หยิบสินค้ามาใช้คือวัย 15 ปี ครอบคลุมไปถึงนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงาน
“เราอยากเจาะกลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัยที่ชื่นชอบในเรื่องความสวยงาม ราคาก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะ เพราะราคาแพงไม่ได้แปลว่าคนจะไม่ซื้อ หรือราคาถูกก็ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าสินค้าชิ้นนี้จะขายได้ดี
“สิ่งที่ทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าจริงๆ คือความพึงพอใจที่ลูกค้าจะได้รับ มันคุ้มค่ากับราคาที่เขาจ่ายไป”
แนนยังเผยอีกว่าลูกค้ามักจะซื้อลิปครั้งหนึ่งมากกว่า 1 แท่ง จึงจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายให้ลูกค้าซื้อหลายแท่งมากยิ่งขึ้น เช่น ลดราคาเมื่อซื้อ 2 แท่ง แต่เธอก็เน้นย้ำว่าการจัดโปรโมชั่นมีทั้งมุมที่ดี คือโปรโมชั่นจะชูยอดขายให้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีมุมที่ต้องระวัง คือไม่ควรจัดโปรโมชั่นบ่อยเกินไป เพราะลูกค้าอาจรอซื้อเฉพาะช่วงลดราคาเท่านั้น
ด้วยความที่เธอคิดสินค้าให้มีลูกเล่นมาตั้งแต่ต้น ทำให้ Gala Camille หันไปให้ความสำคัญกับการสร้างสีสันทางการตลาดและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบอื่นมากกว่าการจัดโปรโมชั่น
“เราใช้อินฟลูเอนเซอร์โดยต้องเลือกคาแร็กเตอร์ให้เข้ากับแบรนด์ และบรีฟคอนเทนต์ให้ชัดเจน ว่าสินค้าตัวไหนจะเล่นกับกิมมิกอะไรบ้าง เพื่อสร้างภาพจำให้ลูกค้า จนลูกค้าบางคนมาทำคอนเทนต์รีวิวให้เราเพราะชอบจริงๆ เลยก็มี
“และที่เป็นไวรัลใน TikTok ส่วนหนึ่งมาจากคอนเทนต์ในช่องของ Gala เราไม่ได้ขายของแบบตะโกน แต่ทำคอนเทนต์เอาเรื่องสำอางมา DIY ร่วมกัน เช่น ลิปผสมกับอายแชโดว์ ทำให้คนหยุดดูและคลิปก็จะขึ้นหน้าฟีดเรื่อยๆ”
นอกจากนั้น แนนยังหมั่นไปเจอลูกค้าจริงๆ เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดี ครั้งหนึ่ง Gala ไปจัดกิจกรรมที่อีฟแอนด์บอย สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อเปิดตัวลิปแท่งเทา เธอยกสตูดิโอที่นางแบบถ่ายรูปโปรโมตสินค้าจริงๆ ไปตั้งให้คนถ่ายรูป เปิดบูทให้คนสลักชื่อลงลิป และจัดนิทรรศการ Gala
“กิจกรรมพวกนี้มีความเป็นศิลปะซ่อนอยู่ทั้งนั้น เพราะเรามองว่าการแต่งหน้าก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่คนเข้าถึงได้ง่าย สามารถครีเอตสไตล์การแต่งหน้าที่ใช่และเป็นตัวของตัวเองได้”
Place
ถึงแม้ Gala Camille จะเป็นแบรนด์ที่แจ้งเกิดจากออนไลน์ แต่หลังจากเปิดตัวแบรนด์เพียง 2 เดือนก็บุกตลาดออฟไลน์ จนตอนนี้มีวางขายในร้านเครื่องสำอางอย่างอีฟแอนด์บอยทุกสาขาทั่วประเทศ
“ตลาดออนไลน์และออฟไลน์ควรทำควบคู่กันไป เพราะเราไม่ได้อยากทำสินค้าที่เป็นกระแสแล้วหายไป แต่อยากสร้างความมั่นคงให้กับแบรนด์ การทำตลาดออนไลน์ให้แข็งแรงก็ส่งผลไปสู่การซื้อในตลาดออฟไลน์ โดยเฉพาะสินค้าเราที่เป็นเครื่องสำอาง ยังไงคนก็อยากไปจับ ไปลองเทสต์สีที่หน้าร้านอยู่ดี”
แต่ไม่ใช่ว่าร้านไหนโด่งดัง มีสาขาเยอะแล้วจะไปวางขายได้เลย แนนเน้นย้ำให้เลือกร้านที่มีกลุ่มลูกค้าและพฤติกรรมการซื้อสอดคล้องกับสินค้าของตัวเอง อย่างคนเข้าร้านสะดวกซื้อทั่วไปจะเน้นซื้อของใช้มากกว่าเครื่องสำอาง แต่ถ้าคนเข้าร้านที่เน้นขายสินค้าสุขภาพและความงามอย่างวัตสัน ก็มีโอกาสที่จะซื้อเครื่องสำอางมากกว่า เป้าหมายต่อไปของ Gala จึงเป็นการขยายสาขาสู่วัตสันทั่วประเทศ
Personality
P ตัวสุดท้ายของ Gala Camille คือ personality หรือบุคลิกของแบรนด์
“personality ของ Gala ค่อนข้างชัดมากๆ ทั้งมู้ด CI หรือสิ่งที่เราสื่อสารออกมา เราพยายามสื่อว่า Gala ไม่ได้เป็นแบรนด์ที่ขายแค่เมคอัพอย่างเดียว แต่ตัวตนของ Gala มีความเป็นศิลปะผสมผสานอยู่ด้วย
“personality ของสินค้า Gala คือการทำสินค้าไม่เหมือนใคร ถ้าเหมือนเราไม่ทำ ถ้าต่างเราถึงจะทำ ทุกครั้งที่ทำสินค้าจะคิดเสมอเลยว่าทำไมต้องทำ ทำแล้วทำไมคนถึงต้องใช้ของเรา แล้วของเราต่างยังไง เราไม่กลัวว่าความต่างนี้จะทำให้คนไม่ใช้สินค้าของเรา เพราะมันเป็นความต่างที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้งานได้จริง และทำให้คนสนุกไปกับการใช้สินค้า
“รวมไปถึง personality ของเราและทีมงาน ที่ทุกคนเป็นตัวของตัวเองและสนุกไปกับการทำงาน อย่างสินค้าแต่ละตัวที่ออกมาก็เป็นสิ่งที่เราชอบและคิดว่าดีที่สุด พอส่งต่อให้ทีมออกแบบ ทีมการตลาด ทีมครีเอทีฟและโปรดักชั่น แต่ละคน แต่ละฝ่ายก็จะเห็นสิ่งที่อยากทำแล้วปล่อยไอเดียกันอย่างเต็มที่
“ทุกคนทำงานเป็นทีมเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และส่งผลให้เราไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น การทำแบรนด์ในทุกวันนี้ไม่สามารถทำคนเดียวได้ มันเหมือนเราเอาจิ๊กซอว์ที่เป็นด้านดีของแต่ละทีม แต่ละคนเข้ามาประกอบกันเป็นภาพความสำเร็จของ Gala Camille ในทุกวันนี้”