นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

สารแม่ครัว

Frankfurt kitchen 1.9 x 3.4 สถาปัตยกรรมการครัวของผู้หญิงยุคใหม่

ห้องครัวเป็นห้องที่แสนธรรมดา แต่ถ้าเรามองในมุมของความเป็นครอบครัว ครัวมักเป็นหัวใจสำคัญของบ้าน ครัวเป็นพื้นที่อบอุ่น เป็นพื้นที่ของกลิ่น รส และอาหารอร่อย ครัวมักเป็นพื้นที่ของแม่ ห้องครัวมักเป็นหัวใจของบ้านและงานบ้าน เป็นพื้นที่บริบาลทุกข์สุขของสมาชิกในครอบครัว

ถ้าเรามองบ้านในฐานะพื้นที่อยู่อาศัย การออกแบบพื้นที่บ้านในยุคสมัยใหม่ ในห้องครัวที่เราพลิกดูในนิตยสาร หรือเป็นส่วนหนึ่งของคอนโด ห้องครัวที่ถูกแยกออกเป็นสัดส่วน ในที่พักอาศัยในเมืองที่ครัวมักมีขนาดพอประมาณ ครัวขนาด 6 ตารางเมตรที่แยกตัวออกเป็นอิสระจากพื้นที่อื่นๆ ถือเป็นนวัตกรรมการออกแบบหนึ่ง ครัวกะทัดรัดเป็นผลผลิตจากยุคสมัยใหม่ที่ผู้หญิงพยายามออกแบบพื้นที่ให้กับผู้หญิง เป็นพื้นที่ที่ใช้วิธีคิดแบบใหม่และตั้งใจเปิดพื้นที่การทำงานของงานบ้านที่สอดคล้องกับวิธีคิดของโลกสมัยใหม่

ในพื้นที่ที่เราคุ้นเคยเช่นพื้นที่บ้าน คอลัมน์ ‘ทรัพย์คัลเจอร์’ จะขอพาทุกท่านไปมองเห็นจุดเล็กๆ ของประวัติศาสตร์ ในความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ล้วนแต่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดที่ใหญ่โตกว่านั้น ในครั้งนี้เราจะพากลับไปยังสาธารณรัฐไวมาร์ เยอรมนี ในห้วงสมัยของการแก้ปัญหาและการออกแบบที่อยู่อาศัย ในกระแสเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและความพยายามปลดปล่อยผู้หญิง ในการออกแบบบ้านที่เริ่มต้นจากครัว และการออกแบบครัวที่เริ่มต้นจากความเข้าใจในโลกของผู้ชาย

ห้องชุดสมัยใหม่ ชีวิตสมัยใหม่

การสืบไปยังครัวสมัยใหม่ ต้องขอชวนผู้อ่านนึกภาพบรรยากาศและสถาปัตยกรรมของทศวรรษ 1920 ในพื้นที่เยอรมนี ห้วงสมัยที่เราเรียกว่าสาธารณรัฐไวมาร์ หนึ่งในอิทธิพลสำคัญต่อโลกสถาปัตยกรรมและการออกแบบคือการเกิดขึ้นของเบาเฮาส์ (Bauhaus) รวมถึงกระแสการออกแบบสมัยใหม่ (modernist) ยุคสมัยนั้นเองช่วงเวลาที่เราให้ความสำคัญกับความเรียบง่ายและประสิทธิภาพ เมืองเริ่มก่อตัวและการออกแบบต่างๆ เน้นตอบสนองความเหมาะสมกับการอยู่อาศัย ให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ ยุคนี้เองที่เริ่มเกิดตึกอาคารคอนกรีต เกิดออฟฟิศ เกิดบ้านพักอาศัยแบบอพาร์ตเมนต์ 

ในกระแสการออกแบบของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ บริบทของสังคมเป็นเงื่อนไขการออกแบบหนึ่ง ในสมัยนั้นเป็นยุคหลังสงครามโลก ด้วยแรงบอบช้ำจากสงคราม และการขาดแคลนที่อยู่อาศัย หนึ่งในโจทย์การออกแบบคือการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองที่มีความคุ้มค่า เพียงพอ และในมุมของสถาปนิกและนักวางผังเมือง พื้นที่อยู่อาศัยเหล่านี้ต้องดีกับผู้คนด้วย

ในห้วงเวลาหลังสงครามโลก ประกอบกับการขยายตัวของเมือง ในช่วงนี้เองที่เราจะเริ่มเห็นอาคารต้นแบบและหน้าตาของการออกแบบพื้นที่ของห้องในอาคารพักอาศัยแนวตั้งต่างๆ ที่ปารีสก็มี Unité d’Habitation ซึ่งถือเป็นหนึ่งในต้นแบบที่ Le Corbusier พัฒนาขึ้นในปี 1920 ในห้วงเวลาของการเริ่มต้นค้นหาหน้าตาที่พักอาศัยในเมือง ที่เยอรมนีซึ่งเป็นการพัฒนาการออกแบบและสถาปัตยกรรมจากฝ่ายสังคมนิยม แฟรงก์เฟิร์ตก็ได้เริ่มโครงการ Neues Frankfurt หรือแฟรงก์เฟิร์ตใหม่ เป็นโปรเจกต์บ้านพักอาศัยแนวตั้งของรัฐ คือระดมนักบริหาร นักออกแบบมาสร้างพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ของเมืองขึ้น

ความน่าสนใจของการออกแบบในยุคนั้นในนามของอาคารและที่พักอาศัยแบบใหม่คือความพยายามในการเข้าใจสเกล วิถีชีวิตโดยเอาความต้องการมาผนวกกับเงื่อนไขทางการออกแบบต่างๆ เช่น ความคุ้มค่า ระยะขนาด การแบ่งจำนวนห้อง การเดินงานระบบต่างๆ จนสร้างเป็นหน้าตาเลย์เอาต์พื้นที่ที่เรานิยามได้ว่าเป็นที่อยู่อาศัยของชีวิตสมัยใหม่ อพาร์ตเมนต์ของโปรเจกต์แฟรงก์เฟิร์ตใหม่ มีจุดเด่นคือเป็นหน้าตาอาคารที่เชื่อว่าตอบสนองการใช้ชีวิต นำไปสร้างที่ไหนก็ตอบสนองการใช้ชีวิตของคนสมัยใหม่ได้ หน้าตาห้องที่ออกมาก็จะเป็นอาคารพักอาศัยแบบห้องชุด มีระบบทำความร้อนส่วนกลาง มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ห้องน้ำ ห้องนอน พื้นที่รับประทานอาหาร เป็นที่พักอาศัยที่คิดเรื่องความคุ้มค่า เหมาะสม มีแนวคิดเรื่องความสะอาด สุขอนามัย ตรงนี้ได้อิทธิพลของ Machine Living ของเลอกอร์บูซีเย

บ้านสมัยใหม่ เริ่มที่ครัวสมัยใหม่ 

ทีนี้ แม้ว่าในยุโรปจะเริ่มมีการออกแบบอาคารสูงเพื่อการพักอาศัยและมีกระแสสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่บริบทของความเป็นรัฐสังคมนิยมฝ่ายซ้ายก็มีอิทธิพลในงานออกแบบด้วย ในการสร้างบ้านรัฐของแฟรงก์เฟิร์ตยืนอยู่บนความพยายามในการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมโดยเฉพาะของผู้หญิง กระแสการออกแบบมีม็อตโต้ขับเคลื่อนว่า ‘เริ่มที่ครัว แล้วค่อยไปที่ผิวอาคาร (First the kitchen, then the facade!)’ 

ครัวในสมัยนั้นถือเป็นพื้นที่ที่ถูกนำมาคิดในฐานะพื้นที่สำคัญของบ้าน เป็นพื้นที่ที่นักออกแบบและนักเคลื่อนไหวมองว่าจะเป็นพื้นที่ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและเป็นที่ที่ปลดแอกหน้าที่และปลดแอกผู้หญิงจากกิจของผู้หญิงคือการเป็นแม่บ้านและการทำงานบ้าน

ดังนั้นนักออกแบบที่เข้าร่วมทีมออกแบบและเป็นผู้สร้างครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตจึงค่อนข้างเป็นตัวแทนหนึ่งของการเคลื่อนไหว คือ Margarete Schütte-Lihotzky สถาปนิกหญิงผู้เป็นนักศึกษาหญิงคนแรกของวิทยาลัยศิลปะประยุกต์เวียนนา (Kunstgewerbeschule) ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่มีผลงานโดดเด่นในโลกสถาปัตยกรรมและงานออกแบบซึ่งเป็นโลกของผู้ชาย และเป็นนักออกแบบหญิงคนเดียวของโปรเจกต์ที่พักอาศัยใหม่ของเมือง

ในการออกแบบอพาร์ตเมนต์ใหม่ เธอเองเป็นผู้สร้างหมุดหมายในความคิดของการสร้างครัวในฐานะพื้นที่เฉพาะของบ้านขึ้น ครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตคือพื้นที่ครัวขนาด 1.9 x 3.4 มีลักษณะเป็นครัวบิลต์อินบางส่วนซึ่งผลิตและประกอบได้ในจำนวนมาก ในพื้นที่นั้นเน้นความกะทัดรัด มีอ่างล้างจาน เคาน์เตอร์ สตูลตัวเล็กๆ เตาแก๊ส ตู้ติดผนัง และโต๊ะรีดผ้าพับได้ อุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า และแยกพื้นที่ครัวออกจากส่วนอื่นของบ้านด้วยประตูบานสไลด์

ห้องทดลองของผู้หญิง

ทำไมห้องครัวกะทัดรัดที่ว่าถึงสำคัญและเป็นรูปแบบครัวที่ถือเป็นหมุดหมายการออกแบบพื้นที่บ้าน และเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิสตรี อย่างแรกคือการออกแบบพื้นที่บ้านด้วยการเปิดพื้นที่ครัวเป็นพื้นที่เฉพาะของผู้หญิงถือเป็นความคิดในการจัดการพื้นที่ที่มีนัยของเพศสถานะ–ตรงนี้อาจเป็นข้อถกเถียงต่อไป

วิธีคิดของครัวที่แยกออกไป ผู้ออกแบบใช้หลักการของพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์งานบ้านของผู้หญิง ด้วยการคิดพื้นที่ที่มีประสิทธิผลสูงสุด คือเป็นที่ที่แม่บ้านจะสามารถทำสิ่งต่างๆ จบได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ของตัวเอง เธอสามารถทำอาหาร จัดการสิ่งของต่างๆ รีดผ้า ล้างจาน ไปจนถึงนั่งพักผ่อนได้ในพื้นที่ครัวของตัวเองด้วยการขยับตัวที่น้อยที่สุด- ทั้งยังใช้พื้นที่น้อยและได้พื้นที่ใช้สอยที่มีประสิทธิภาพมาก

วิธีคิดนี้เป็นการที่นักออกแบบสังเกตและนำเอาวิธีการของโลกอุตสาหกรรมเข้ามาออกแบบกิจกรรมของผู้หญิงและแบ่งเป็นพื้นที่เฉพาะของพวกเธอ ในบางความเห็นระบุว่า ความคิดหนึ่งของการออกแบบเพื่อให้ผู้หญิงทำงานบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้พวกเธอจัดการงานทั้งหลายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พวกเธอมีเวลาเป็นของตัวเองซึ่งอาจเปิดโอกาสให้พวกเธอไปทำงานนอกบ้านได้

ปลดแอกได้จริงไหม กับการผูกมัดผู้หญิงไว้กับครัว

เป็นเรื่องธรรมดาที่การเคลื่อนไหวต่างๆ จะถูกตั้งคำถาม ครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตของไลออตซ์คีเองก็เช่นกัน อย่างแรกที่สุดคือการออกแบบของเธอคิดด้วยหลักคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rationalization) ตีความการงานของแม่บ้านด้วยหลักการของสายพานการผลิต (line of production) ดังนั้นเมื่อผู้หญิงเข้าใช้งานจริงแล้ว พวกเธอพบว่าห้องครัวของบ้านรัฐมีลักษณะตายตัวเกินไป คือถ้าคิดจากสายพานการผลิต การผลิตมักเป็นการทำสิ่งต่างๆ อย่างเดียว ทำเป็นอย่างๆ ไป แต่งานของผู้หญิงมักเป็นการสับเปลี่ยนและทำสิ่งต่างๆ หลายอย่างไปพร้อมๆ กัน (multitasking) 

ทั้งนี้ ในเงื่อนไขของความตายตัวและการจำกัดของพื้นที่ นักออกแบบก็คงมองในแง่ดีคือพยายามนำเอาอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งาน ทว่าแม่บ้านหรือสุภาพสตรีในสมัยนั้นพบว่าการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ เป็นสิ่งที่พวกเธอต้องเรียนรู้ใหม่ เป็นการปรับตัวเข้ากับพื้นที่ที่ค่อนข้างยาก

หนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ไลออตซ์คีถูกนำมาวิจารณ์บ่อยที่สุดคือการที่เธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอเองเป็นคนออกแบบครัวที่ไม่เคยทำครัว คนทำอาหารส่วนใหญ่สมัยเด็กคือแม่ของเธอ ส่วนเธอพึ่งพาร้านอาหารมากกว่า ทว่าในข้อโต้แย้งคือเธอเองไม่ได้จินตนาการครัวขึ้นมา แต่ได้เก็บข้อมูลและทำสัมภาษณ์ก่อนจะลงมือออกแบบครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตขึ้น

ทั้งนี้ การแบ่งแยกพื้นที่ครัวให้เป็นพื้นที่ของผู้หญิง ในที่สุดก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการผูกมัดผู้หญิงเข้ากับครัว และตีความผู้หญิงเข้ากับการทำงานในโรงงาน ตรงนี้ทางไลออตซ์คีก็แย้งว่าเธอไม่ได้คิดถึงงานของผู้หญิงแค่การทำอาหาร แต่คืองานในภาพรวม ทั้งเธอยังชี้ให้เห็นว่าครัวของเธอเป็นพื้นที่ส่วนตัว เธอตั้งใจให้ครัวเป็นพื้นที่ปิดที่ผู้หญิงจะสามารถมีพื้นที่และเวลาของตัวเอง เป็นที่ที่พวกเธอไม่ถูกจ้องมองในขณะทำงาน ในขณะเดียวกันห้องครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตจะติดตั้งหน้าต่างไว้ เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงสามารถจ้องมองไปยังพื้นที่ภายนอกได้

การออกแบบครัวและพื้นที่บ้านจึงก้าวเข้าสู่ข้อโต้แย้งและการออกแบบที่ซับซ้อน ครัวสำเร็จรูปอาจนำไปสู่การไม่สามารถทำบ้านให้เป็นบ้าน เช่น การนำเฟอร์นิเจอร์เก่าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่บ้านและครัวที่อาจต้องคิดจากผู้ใช้งานแล้วปรับพื้นที่กายภาพเข้าสู่พื้นที่ใช้งาน ไม่ใช่การเรียกร้องให้ผู้คนปรับตัวเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยที่ถูกออกแบบไว้ 

นอกจากนั้นครัวแฟรงก์เฟิร์ตที่แม้ว่าจะถูกวิจารณ์ว่ายังคิดด้วยความคิดแบ่งแยกเพศ แต่ในหลายความเห็นก็มองว่าพื้นที่ที่ถูกสถาปนาขึ้นเป็นพื้นที่ของผู้หญิงนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการวางให้เป็นพื้นที่คู่ขนานกับการทำงานนอกบ้านคือพื้นที่การทำงาน ด้วยวิธีคิดการทำงานในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ครัวอันสำคัญ ในความเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์การออกแบบ การคิดถึงพื้นที่ที่มีนัยทางเพศและบทบาททางเพศ ทุกวันนี้ครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแนวหน้าแทบจะทุกแห่งของยุโรปและอเมริกา เช่น Museum of Modern Art ที่นิวยอร์ก หรือ Victoria and Albert Museum ที่ลอนดอน ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่รอบๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแฟรงก์เฟิร์ต เบอร์ลิน และเวียนนา

ภาพ :  Museum der Dinge, Bauhaus Kooperation, Margarete Schütte-Lihotzky 

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like