จิ๋วแต่แจ๋ว
flo Wolffia แบรนด์ผำโดยอาจารย์นักวิจัย ที่อยากดันผำไทยเป็นโปรตีนของโลกให้ได้ในสักวัน
ในฐานะคนเหนือที่โตมากับอาหารจากครัวของคุณยายข้างบ้าน ไข่ผำหรือผำ (Wolffia) สำหรับเราคือวัตถุดิบพื้นบ้านภาคเหนือ-อีสานที่ค่อนข้างคุ้นเคย แต่เมื่อวันที่คุณยายข้างบ้านไม่อยู่แล้ว กลิ่นเขียวๆ รสนัวๆ ในแกงผำของคุณยายก็หลงเหลือแค่เพียงความทรงจำ
กระทั่งไม่กี่เดือนก่อน เราสะดุดตากับผำสดของ flo Wolffia (โฟล วูล์ฟเฟีย) ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในตัวเมืองกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ทำให้นึกถึงคุณยายคนนั้นหรอกที่ทำให้รู้สึกสนใจ ทว่ากลับเป็นคาแร็กเตอร์โมเดิร์นๆ ของผำที่แบรนด์นำเสนอแก่สายตาเราต่างหาก
พูดให้เห็นภาพ คนที่เห็นผำในชามแกงร้อนๆ มาตลอด พอได้เห็นคนตักผำของ flo Wolffia กินแบบสดๆ เห็นมันอยู่ในสมูทตี้โบวล์ โยเกิร์ต พาสต้า พุดดิ้ง เค้ก ไอศครีม หรือเป็นเพสต์กินกับขนมปัง มีหรือที่จะไม่ตื่นเต้นไปกับเขาด้วย
หลายปีมานี้ เทรนด์การกินอาหารจากพืชและโปรตีนทางเลือก รวมไปถึงนักพัฒนาและวิจัยทางการเกษตรทั้งในไทยและทั่วโลก ต่างพร้อมใจกันฉายสปอตไลต์ให้กับผำในฐานะดาวรุ่งแห่งวงการซูเปอร์ฟู้ดเพราะภายใต้ผนังเซลล์จิ๋วๆ ของมันนั้นอุดมไปด้วยแร่ธาตุ วิตามิน และสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย มากไปกว่านั้น ผำยังถือเป็น future food หรืออาหารแห่งอนาคต ในช่วงที่ความต้องการด้านอาหารจะเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัว ด้วยมีแค่น้ำสะอาดกับแสงแดดก็เติบโตและขยายพันธุ์ได้แล้ว
จากการสะดุดตาแบบเร็วๆ ในวันนั้น กลายเป็นว่าผู้เคยมีความหลังกับไข่ผำอย่างเราเลยได้เชคแฮนด์ ทำความรู้จักผำใหม่ และที่สนุกสุดคือได้ลองกินมันอย่างหลากหลายขึ้นด้วย
ที่แน่ๆ บ่ายวันนี้พิเศษกว่าวันไหนๆ เพราะเรามีโอกาสนัดพูดคุยถึงเบื้องหลังของธุรกิจอาหารเพื่อความยั่งยืนกับ ผศ. ดร.วิษุวัต สงนวล หรือ อาจารย์ฟุ นักวิจัย อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แอดวานซ์ กรีนฟาร์ม จำกัด ผู้พัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงผำ และจัดจำหน่ายในชื่อแบรนด์ flo Wolffia นั่นเอง
สำหรับใครที่ยังสงสัยว่าผำคืออะไร ก่อนจะเปิดใจลองหม่ำผำไปด้วยกัน บทสัมภาษณ์ของอาจารย์ผู้ขายผำเป็น (อีกหนึ่ง) อาชีพตอนนี้ มีเรื่องราวมหัศจรรย์ของพืชน้ำขนาดจิ๋วชนิดนี้มาเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปตอนแรกๆ นักวิจัยอย่างคุณมาสนใจผักพื้นบ้านอย่างผำได้ยังไง
เรารู้จักเพราะว่าเราทําวิจัยเรื่องพืช ก็มีกระแสเกี่ยวกับ plant-based protein แล้ว duckweed หรือแหนก็เป็นหนึ่งในโปรตีนทางเลือกที่อยู่ในกระแส ซึ่งผำเป็นแหนชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กที่สุด เป็นน้องเล็กเลย แล้วเราก็มีจังหวะที่ต้องพา professor ท่านหนึ่งไปดูพืชน้ำของบ้านเรา เขาก็ให้ไอเดียว่าผำเนี่ยมันเป็นของคนไทยนะ เราควรจะเลี้ยงและกินมันให้มากกว่านี้ นักวิจัยจากต่างประเทศหลายคนก็พูดเหมือนกันว่าบ้านเราก็น่าจะเป็นผู้ผลิตได้ เพราะไทยเป็นบ้านเกิดของมัน
แล้วอะไรคือจุดเริ่มต้นที่อยากเอาวัตถุดิบพื้นบ้านเข้ามาให้คนเมืองกินกัน
ผำคือพืชที่มีโอกาสเป็นโปรตีนทดแทนหนึ่งใน 4-5 ชนิดที่ดีที่สุดของโลก ถ้าเราต้องผลิตอาหารให้มากขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2050 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการอาหารน่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว เราต้องมีพืชที่ดีกว่านี้ คือมีประสิทธิภาพในการเป็นอาหารให้เรา ปลูกง่าย โตเร็ว สารอาหารสูง แล้วก็ไม่มีของเสีย ซึ่งผำมันตอบโจทย์ทุกข้อเลย แล้วมันก็เป็นของคนไทยด้วย ยังไงเราก็ควรที่จะสนับสนุนมัน
ก่อนหน้านี้ อาจารย์เมธา (ผศ. ดร.เมธา มีแต้ม ผู้ร่วมก่อตั้งและ Chief Technologist) เขาทำวิจัยสาหร่ายมาก่อน มีความรู้ในการเลี้ยงพืชน้ำก็เอามาปรับใช้ เราพยายามเลี้ยงมันจากในกะละมังให้ลูกกิน ต้องบอกว่ามันไม่ง่ายนะ เพราะว่าตอนแรกเราไม่เข้าใจมัน แล้วยิ่งเลี้ยงในจำนวนน้อยจะเลี้ยงให้เสถียรยากมาก แต่ที่เราสนใจจริงๆ คือผำเป็นผักชนิดแรกที่ลูกเรายอมกิน ก็โอเค พอมันเป็นของที่ตอบโจทย์ครอบครัวเรา เราว่าผำน่าจะตอบโจทย์พ่อแม่ประมาณ 70% ของประเทศนี้ด้วยเหมือนกัน
แล้วเรามองได้หลายมุมมากเลยว่าเรากินผำเป็นอาหารแบบไหน จะเป็นอาหารพื้นบ้าน เป็นซูเปอร์ฟู้ด กินเป็นโปรตีนออร์แกนิก กินเป็นอาหารเสริม (supplement) พอมันมีหลายแบบให้เราเลือก เราก็เห็นว่าตลาดมันยังกว้างมาก ในบ้านเราก็ยังไม่ค่อยมีใครทำ และผำก็เป็นสิ่งที่ตลาดต่างประเทศเขารู้จัก มีคนเอาไปทำที่ประเทศอื่นด้วย มันก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราควรที่จะเอาสิ่งนี้กลับมา แล้วก็พัฒนาให้มันเห็นผลจริงๆ ด้วยความที่เราเป็นอาจารย์ แล้วเรื่องนี้เรามองว่ามันต้องใช้เทคโนโลยี ใช้นวัตกรรมพอสมควรเลยเพื่อที่จะทำให้มันมีคุณภาพขึ้นมาก็เลยเลือกทำมันด้วยตัวเอง
ผำธรรมชาติกับผำที่ flo Wolffia เลี้ยง มีความแตกต่างกันยังไง
ในธรรมชาติเราจะเจอผำตามบึงน้ำจืดหรือบ่อที่เป็นน้ํานิ่ง เขามักจะอยู่ปนกับแหนชนิดอื่นเลยทําให้คนเรียกเขาว่าไข่แหนหรือไข่ผำ เพราะคิดว่ามันเป็นลูกของแหน ชาวบ้านโดยทั่วไปเขาก็จะรู้ว่าบ่อไหนมีสภาพเหมาะสมที่ผำจะเติบโตได้มากกว่าแหนชนิดอื่น ก็จะเก็บมาล้าง มาทําอาหารได้
แต่ว่าการเก็บจากธรรมชาติแบบนี้มันก็มีความเสี่ยงการปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีทางการเกษตร โลหะหนัก เชื้อจุลินทรีย์ที่ถ้าเราไม่ตรวจเราก็ไม่มีทางรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง สิ่งสำคัญคือน้ําตรงนั้นมาจากไหน ซึ่งในปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าน้ําที่อยู่ในบ่อหรือแหล่งธรรมชาติ มันไม่ได้สะอาดเหมือนกับสมัยก่อน
ทีนี้เราก็เอาผำตามธรรมชาติมาเลี้ยงเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ พันธุ์ไหนเลี้ยงง่าย โตเร็ว มีสารอาหารสูง ก็เอามาเลี้ยงในบ่อที่มีน้ําสะอาด กว่าจะเลี้ยงผำจากธรรมชาติในบ่อให้ไม่มีการปนเปื้อนของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เลยนะ
ส่วนวิธีการเลี้ยง เราก็คิดวิธีการของเราขึ้นคือพยายามเลี้ยงให้เขาโตไว ถ้าเขาโตไวเขาจะไม่สะสมแป้งและไขมัน แม้ว่าตามธรรมชาติเขาจะสะสมน้อยอยู่แล้ว ผำเขาเหมือนยอดผักนะคะ ถ้าเราเก็บเรื่อยๆ ก็จะแบ่งตัวเร็ว เป็นเทคนิคที่ทำให้ผำมีเซลล์ที่แอ็กทีฟและมีสารอาหารสูง
เราใส่ใจเรื่องความสะอาดของน้ำมากๆ ตอนเลี้ยงก็จะใส่ปุ๋ยในขนาดที่พอเหมาะ ไม่ใส่เยอะเกินไป แล้วเวลาที่เก็บมาจากบ่อของเรา ก็จะเอามาล้างด้วยน้ำ RO ซึ่งเป็นเกรดสูงสุดของน้ำดื่ม เพื่อให้เรากินมันได้แบบมั่นใจ ทุกแบตช์มีการตรวจคุณภาพใต้กล้องจุลทรรศน์ วัดปริมาณจุลินทรีย์ เรามีการเก็บข้อมูลตลอดว่าผำโตได้ดีในสภาวะแบบไหน แล้วเราจะทำยังไงให้ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เอากลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุด และต้องปลอดภัยที่สุดด้วย
พอต้องสวมหมวกอีกใบเป็นนักธุรกิจขายผำ เจออุปสรรคแบบไหนบ้าง
เราเจอว่าคนไทยที่เคยทานผำก่อนหน้านั้น ณ วันนี้เขาไม่ทานแล้ว เพราะมันหาไม่ได้ หรือบางทีเจอในตลาดก็ไม่กล้าซื้อเพราะมันอาจจะมีการปนเปื้อนได้ ถึงเราจะเชื่อว่าผำมันโตในน้ำสะอาดเท่านั้น แต่สะอาดสำหรับพืชและสะอาดสำหรับคนมันไม่เหมือนกัน หลังจากที่เริ่มทำก็พบว่าคนที่เป็นแบบนี้มีเยอะมากเลย แล้วคนที่เคยทําอาหารจากเมนูนี้ก็น้อยลงไปทุกวัน ผำมันก็หายไปเพราะว่ามันไม่อยู่ในชีวิตประจําวันของเรา คนชอบกินก็ไม่ทําเองด้วยนะ แล้วเด็กเจนฯ ต่อไปยิ่งไปกันใหญ่เลย เพราะการรับรสเขาก็อีกแบบหนึ่ง เราทานข้าวน้อยลงแล้วไปทานอย่างอื่น การมีทางเลือกที่หลากหลายมันคือเรื่องที่ดี แต่เราก็ต้องหาวิธีการที่จะช่วยให้ของดีแบบนี้มันไม่หายไปด้วย
แล้ว flo Wolffia ใช้วิธีการแบบไหนเพื่อชวนคนกลับมากินผำ
เราก็เอาผำมาแปลงโฉมใหม่ จริงๆ พอเราได้ทานเองก็รู้สึกว่าผำเป็นพืชที่มีความโมเดิร์นมาก มันเข้าทุกอย่าง ของที่เราชอบทานทุกอย่างเนี่ยสามารถใส่ผำลงไปได้เลย ก็เลยพยายามสื่อสารตรงนี้เยอะ ตอนนี้ก็โชคดีที่มีคนหันมาสนใจตรงนี้เยอะขึ้น แล้วพอเขาชอบเขาก็ช่วยบอกต่อ ช่วยเราโปรโมตด้วย
หลายคนที่เคยทานก็บอกว่าไม่อยากลอง เพราะความทรงจําของเขาคือผำมีกลิ่นเหม็น ต้องอธิบายว่าผำจากธรรมชาติเนี่ย กลิ่นที่เราได้รับมันเป็นกลิ่นที่ติดมาจากโคลนและสาหร่าย ไม่ใช่กลิ่นของผำจริงๆ เพราะฉะนั้น ใครที่เคยกินแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบกลิ่น ก็อยากให้มาลองของเราก่อน เพราะเราทำให้มันสะอาดจริงๆ
ทำไมถึงตั้งชื่อแบรนด์ว่า flo Wolffia
ที่เรียกว่า flo เรานึกถึงเวลาที่เขาอยู่ในน้ำ ปกติเขาอยู่น้ํานิ่งๆ แต่ที่ฟาร์มเราตั้งใจทําให้น้ํามันเคลื่อนน้อยๆ เพื่อเป็นการกระจายสารอาหาร มีลมผ่านนิดหน่อย เวลาเขาไหลอยู่ในบ่อเขาจะมีความเซนมากเลย ไหลเอื่อยๆ ดูแล้วสบายใจ เป็นพืชที่มีความมินิมอลดีต่อใจ
และคำว่า flow มันเป็นเรื่องของการที่เราอยู่ในโมเมนตัมที่ถ่ายไปข้างหน้าเรื่อยๆ ฝรั่งเขานิยามผำว่าเป็น Green Machine เครื่องจักรสีเขียวที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นอาหารให้เราในแบบที่คลีนที่สุด อาจารย์เมธาเขาก็บอกว่า flo มันคือการ flow ของพลังงานจากแสงอาทิตย์มาสู่เราในแบบที่ไม่ต้องมีอะไรเยอะแยะ ไม่วุ่นวาย
การที่คนให้ความสนใจกับเทรนด์ซูเปอร์ฟู้ด สิ่งนี้มันเอื้อกับแบรนด์ยังไง
เดี๋ยวนี้คนให้ความสําคัญกับเรื่องสุขภาพเยอะขึ้น แล้วก็ให้ความสําคัญกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย ถามว่ามันดีกับผำของเราไหม แน่นอน มันดีมากๆ เลย
ยุคหนึ่งคนอาจจะคุยกันว่าต้องกินวิตามิน กินสารนี้เท่านี้ๆ นะ แต่ว่าถึงจุดหนึ่ง หรืออย่างตอนนี้เรามีกระแสการกินอาหารเป็นยา บวกกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด เราอยากจะแก่แบบมีคุณภาพ เราเลยไม่อยากรู้สึกว่าเราต้องกินยา การกินวิตามินเป็นเม็ดๆ บางทีมันก็ให้ความรู้สึกเหมือนยา ไม่เพลิดเพลินและเป็นของที่ไม่ค่อยสมดุลเท่าไหร่
ตั้งแต่หลังโควิด-19 โลกก็มุ่งไปที่อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งพอเทรนด์เหล่านี้มามันเลยตอบโจทย์ เพราะเวลาเราทานผำกับเมนูที่เราเอนจอยอยู่แล้ว ยังไงมันก็อร่อย แถมเรายังได้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงด้วย
เราเชื่อว่าทุกอย่างมีสองด้าน เทรนด์ซูเปอร์ฟู้ดมันยังชวนคุณฉุกคิดถึงข้อเสียอะไรบางอย่างไหม
ถ้าพูดถึงเทรนด์ของซูเปอร์ฟู้ดในบ้านเรา เรามองว่าไทยยังตามกระแสที่อื่นระดับหนึ่งเลย สำหรับเรามันเป็นความเศร้านิดหนึ่งตรงที่ซูเปอร์ฟู้ดในช่วงปีแรกๆ มันเป็นอาหารจากต่างชาติเสียเยอะเลย ถ้าว่ากันตามตรง เราจะได้ยินชื่อเมล็ดเจีย อาซาอิ เคล ซึ่งเป็นของต่างชาติ มันไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะที่เราเสียเงินให้กับการใส่ใจสุขภาพ แต่จริงๆ แล้วบ้านเรามีซูเปอร์ฟู้ดเยอะมากที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยเห็น ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าเสียดาย
เราอาจจะไม่ค่อยเก่งเรื่องการตลาด อันนี้ต้องยอมรับว่าเราต้องช่วยกันจริงๆ จังๆ ว่าทำยังไงให้กระแสซูเปอร์ฟู้ดมันออกมาจากประเทศเราให้ได้ แต่ว่าอันนี้ก็มีข้อควรระวัง เช่น บางครั้งข้อมูลต่างๆ ที่มาจากงานวิจัยของไทยมันมีน้อยจริงๆ เราเลยเสียเปรียบต่างชาติ แล้วข้อมูลที่มีก็อาจจะยังไปไม่ทั่วถึง มันเลยค่อนข้างยากในการส่งต่อข้อมูลไปถึงประชาชน
สำหรับซูเปอร์ฟู้ด เราอยากให้คนไทยเข้าถึงซูเปอร์ฟู้ดได้เยอะๆ ซึ่งสิ่งที่คนเข้าถึงก็ควรเป็นของที่เป็นของเราเยอะขึ้นด้วย เพราะว่าผลประโยชน์มันก็จะวนมาที่พวกเราเองนั่นแหละ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อของแพงๆ แล้วยังได้กินของที่สดใหม่ด้วย อย่างผำเอง ฝรั่งเขาก็ถามมาตลอดว่าเมื่อไหร่เราจะส่งไปที่ประเทศเขาบ้าง เขารู้สึกอิจฉาคนไทยเลยด้วยซ้ำ
ดูเหมือนว่าผำจะเป็นที่ต้องการในต่างประเทศ ถ้าโฟกัสไปที่ตลาดต่างประเทศแต่เริ่มเลยมันน่าจะง่ายกว่าหรือเปล่า ทำไมคุณถึงเลือกที่จะขายผำให้คนไทย
มีหลายคําตอบมากเลยที่ประกอบกัน อย่างแรก อาจารย์เมธาอยากให้คนไทยได้กินจริงๆ อย่างที่สอง บริษัทเรายังเล็กอยู่ มีผลผลิตน้อย เราก็ต้องขายในประเทศก่อนนี่แหละ แล้วเราก็มีความเชื่อว่าถ้าเราขายคนไทยได้ เราขายที่ไหนก็ได้ในโลกเพราะว่าคนไทยเนี่ยเทสต์ดีมากๆ เลยในเรื่องอาหาร
ถ้าคำตอบสวยๆ ก็จะประมาณนี้ แต่ว่าในความเป็นจริงคือ ถึงทั่วโลกจะมีคนต้องการเยอะ แต่บริษัทที่ประสบความสำเร็จในการทำผลิตภัณฑ์จากผำหรือแหนออกมาให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ ก็ต้องบอกว่ามีน้อยมากๆ เรามีกันอยู่ไม่กี่บริษัท อีกอย่างคือต้นทุนในการส่งออกก็ค่อนข้างสูง ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างตลาดในบ้านเราให้แข็งแรงก่อน
ทุกคนยังบอกเราว่าถ้ามันจะเกิดมันก็ต้องเกิดด้วยบริษัทเรานี่แหละ (หัวเราะ) เพราะว่าเมืองไทยคือบ้านของมัน เวลาที่ต่างชาติจะไปบอกให้คนในประเทศเขากิน ถ้าเขาสามารถบอกได้ว่า ดูสิ คนไทยยังกินกันเลย สิ่งนี้มันจะมีน้ำหนักมากนะคะ เพราะไทยเรามีเครดิตที่ดีมากในเรื่องอาหาร
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไปขายต่างประเทศก่อนเราก็น่าจะเจอเรื่องท้าทายอีกแบบ เพราะว่าตอนนี้ตลาดซูเปอร์ฟู้ดทั่วโลกดูเหมือนว่ากระแสมันจะมาแรงมากๆ แต่ภาพรวมในเชิงเศรษฐกิจมันก็ไม่ได้รุ่งโรจน์มากขนาดนั้น แรงซื้อของคนทั่วไปไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อย่างยุโรปตอนนี้ก็รัดเข็มขัดกัน คนจ่ายเงินกันน้อยลง แล้วเขาก็มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่พร้อมขายกันอยู่แล้ว
จริงๆ ถ้าอยากขายในตลาดต่างประเทศ เรามีโอกาสเยอะนะ แล้วของของเราสู้ได้สบายมาก อย่างฝรั่งเนี่ยขายสามคำเขาซื้อเลย
อยากรู้เลยว่าฝรั่งเขาอยากฟังอะไร หรือซื้อคำไหนบ้างจาก flo Wolffia
ต่างชาติคุณภาพมาก่อนเสมอ เพราะฉะนั้นตอนที่เราทำเราตั้งใจเลยว่าต้องมี 3 คำนี้คือ nutritious, safe และ sustainable
เราเรียกนวัตกรรมของเราว่า NSS Technology คือผำของเราต้องมีคุณค่าอาหารสูงที่สุด ปลอดภัย แล้วก็ยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่าง nutrition คือสิ่งแรกๆ ที่เขาจะดูถ้าเห็นว่ามันคือซูเปอร์ฟู้ด กระบวนการเพาะเลี้ยงมีผลเยอะมากกับคุณค่าทางอาหาร ถ้าเทียบโปรตีน ผำจากบ่อธรรมชาติจะมีโปรตีนอยู่ที่ 17.8% แต่ผำของเราต้อง 40% ขึ้นไป หรือแคลเซียม สังกะสี ผำของเรามีสูงกว่าธรรมชาติถึง 5 เท่า ถ้าเราจะเคลมสถานะเป็นซูเปอร์ฟู้ดจริงๆ เราก็ต้องบอกได้ว่าสารอาหารมันสูงแล้วก็ต้องรักษามาตรฐานให้ดีด้วย เพราะเมื่อเข้าไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร เราจะถูกกำกับโดยกฎหมายอีกที
การปนเปื้อนเป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน เพราะผำเป็นพืชที่อยู่ในน้ำ เขาสามารถดึงสารอาหารจากน้ํามาสะสมในตัวเขาได้เยอะ ถ้ามีโลหะหนักปนเปื้อนเขาก็จะดึงมา แล้วแผ่นดินในบ้านเราปนเปื้อนค่อนข้างเยอะ เราเลยต้องลงทุนกับระบบในฟาร์ม การจัดการน้ำและระบบตรวจคุณภาพเยอะมากๆ
ในแง่ของ sustainability ทุกวันนี้ตราที่แสดงถึงความยั่งยืนในระบบการผลิต เช่น net-zero product มีมูลค่าสูงกว่าออร์แกนิกด้วยซ้ำนะคะ คือถ้าเราบอกได้ว่าผลผลิตของเราเป็น net-zero ได้ก็จะดี ตอนนี้เราก็พยายามทําข้อมูลเรื่องนี้ ตัวผำเองเป็นพืชที่ยั่งยืนมากๆ แต่ในฐานะผู้ผลิตเราก็ต้องคิดและคํานวณทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้ไปในกระบวนการเพาะเลี้ยง แต่บอกเลยว่าเราใช้ทรัพยากรไปเยอะกับการอยากทําให้มันยั่งยืน ถามว่าที่สุดหรือยัง ก็ยังนะ ดังนั้นสิ่งที่เราจะมุ่งต่อไปจากนี้ คือทำให้ยั่งยืนมากกว่านี้
ตอนนี้กลุ่มแฟนๆ ผำของเราเป็นใครกันบ้าง
อันดับต้นๆ เลยก็คือมนุษย์แม่ที่หาผักให้ลูกกิน ตักใส่ในโจ๊กแล้วคนทานได้เลย มันตอบโจทย์ความสะดวกในชีวิตเขา แล้วสาเหตุที่เด็กไม่กินผักส่วนใหญ่ก็มาจากความขมหรือการเคี้ยวแล้วมันติดฟัน กลืนไม่ลง รู้สึกว่ากินยาก ซึ่งผำแก้ปัญหาตรงนี้ได้หมดเลย
กลุ่มที่สองก็คือกลุ่มพ่อแม่ของคนวัยเรา เขาจะมีปัญหาตรงข้ามคือ กินผักได้น้อยลงเพราะว่าเคี้ยวไม่ได้แล้ว พอกินผักน้อยก็จะมีปัญหากับโรคต่างๆ อาการขับถ่ายไม่ดี หรือทานอาหารได้น้อย จริงๆ ถ้าถามว่าลูกค้าของเราคือใคร บอกได้ว่าเป็นกลุ่มเดอะแบกเยอะนะ ฉันซื้อให้ลูกแล้วฉันก็ซื้อให้พ่อแม่ด้วยประมาณนี้
กลุ่มที่สามคือกลุ่มคนที่รักตัวเอง เป็นกลุ่มที่มาด้วยความตั้งใจที่ดีมากจริงๆ คือเขาไม่ได้มองว่าเขาทานเพราะว่าต้องสวย หรือกินเป็นทางลัดของหุ่นฟิตแอนด์เฟิร์ม แต่เขาลงทุนกับการหาอะไรดีๆ ให้ตัวเองทาน แล้วกลุ่มนี้ก็มักจะเป็นกลุ่มที่ช่วยเราโปรโมต เนื่องจากเขาหาข้อมูลความรู้จากโซเชียล พอได้ชิมแล้วชอบ เขาก็คืนกลับให้เราด้วย เป็นกลุ่มที่น่ารักกลุ่มหนึ่งเลย
กลุ่มที่สี่คือกลุ่มแฟนคลับผำที่อยู่ต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ก็จะรุ่นพ่อแม่เราขึ้นไปที่เขาเคยทานผำ เป็นผำเลิฟเวอร์ และยังทำอาหารกันอยู่ แล้วรู้สึกว่าหาผำไม่ได้แล้ว พอได้ฟังเรื่องราวจากเราเขาก็จะอินมากๆ อยากจะกลับมากินของที่เคยกินอีก จริงๆ กลุ่มนี้ก็มีเยอะเหมือนกัน
และสุดท้ายคือกลุ่มชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย กลุ่มนี้จะสั่งกันทีหนึ่งเป็นลังๆ เพราะว่าเขาทานเยอะกว่าเรา บางคนเขาบอกเราว่าเขาอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีผำ เพราะเขากินเพื่อ health benefit ของตัวเองจริงๆ
มาถึงตรงนี้เชื่อว่า flo Wolffia บรรลุเป้าหมายในประเทศไปประมาณหนึ่งแล้ว เป้าหมายถัดไปของธุรกิจคืออะไร
เราคงอยากไปถึงในแง่ที่ว่า เราจะทํายังไงให้ผำตอบโจทย์โปรตีนของโลก รวมไปถึงตอบโจทย์ความยั่งยืนของโลกด้วยค่ะ ก็อยากใส่นวัตกรรมเข้าไปอีก เพื่อให้มันไปได้ถึงจุดหมายที่เราวางไว้ เพราะว่าไม่ว่าจะยังไง สุดท้ายโลกเราหรือลูกๆ ก็อยากได้สิ่งนั้น แต่เราทําคนเดียวไม่ได้หรอก ถึงจุดหนึ่ง เราก็อยากให้ประเทศไทยทำไปกับเราด้วย เพราะว่าตลาดโลกยังมีที่ทางให้เราไปได้อีกไกลมาก
สมมติว่าเทียบกับสไปรูลินา เป็นซูเปอร์ฟู้ดที่มีมูลค่าสูงมากในตลาดโลก แต่ถามว่ามีใครที่กินสไปรูลินาแบบถ้วยได้บ้าง ต่อให้มีสารอาหารสูง แต่กินได้น้อยมากอยู่ดีเพราะว่ามันมีกลิ่นคาวตามธรรมชาติอยู่ แล้วต้องบอกว่าผำกินง่ายกว่ามากๆ แล้วสารอาหารก็สูง ถ้าเกิดเราทำให้ผำมีมูลค่าในตลาดให้ได้สักครึ่งของสไปรูลินา มันจะเป็นรายได้ที่ไม่น้อยเลยนะสำหรับประเทศไทย
จากคุณแม่ที่เลี้ยงผำในกะละมังน้อย สู่คุณแม่ของผำนับล้านล้านตัวในบ่อขนาดสองร้อยตารางเมตร มาถึงวันนี้คุณได้เรียนรู้อะไรจากผำบ้าง
เยอะมากๆ ในมุมของนักวิจัย ผำเป็นพืชที่วิจัยสนุกมากนะคะ เนื่องจากเขาเป็นพืชที่โตเร็วมาก ถ้าใส่หมวกนักวิจัยแล้ว ก็จะอยากทําอะไรกับมันเยอะแยะไปหมด ทําไมมันโตเร็ว ทําไมมันสามารถเอาแร่ธาตุมาได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น ทําไมมันอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วไม่ใช่แค่เรานะ นักวิจัยทั่วโลกก็รู้สึกแบบนี้
ในมุมของแม่ก็สนุกมากเช่นกัน เพราะว่ามันเป็นผักที่ลูกเราโอเคที่จะกิน แล้วก็เป็นพืชที่ลูกเราเลี้ยงได้ กินเองได้ แล้วก็ทําอาหารสนุกมาก ลูกเราเขาจะพูดบ่อยๆ ว่า “มามี้ๆ ทำไมเราไม่ทำป๊อกกี้ใส่ผำ” “ทำไมเราไม่ทำช็อกโกแลตเคลือบผำ” พอผำมันใส่กับทุกอย่างได้ เขาจะคิดวิธีการกินผำไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ได้เห็นว่าผำมันเป็นอะไรได้หลายอย่างมากเลย
การทำบริษัทนี้มันเป็นเหมือนประตูที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมด การจะทำของให้คนกินเราจะต้องทำอะไรบ้าง ไปถึงเรื่องเทคโนโลยี เช่น เราจะทำให้ผำเป็นผง เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องแปรรูปยังไง ต้องใช้อะไรบ้าง รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ แล้วพอเรามีเรื่องธุรกิจเข้ามาด้วย เราก็ได้เรียนรู้เยอะมากๆ รู้สึกเหมือนใช้ชีวิตคุ้มมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
แล้วสุดท้ายเลย ทั้งหมดที่ว่ามามันก็ย้อนกลับมาสู่เราที่เป็นครู มันทำให้เราเป็นครูที่ดีขึ้นมากเลย เรามีเรื่องเล่าให้นักศึกษาฟังมากขึ้น แล้วเขาก็สนุกกับการที่ได้เรียนอะไรที่มันมาจากประสบการณ์ ความผิดพลาดของเรา
เรามองเห็นมากขึ้นว่าทํายังไงให้โลกอุตสาหกรรมอาหาร หรือว่าโลกข้างนอก กับสิ่งที่เราสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น ทําให้มันจริงมากขึ้น เอาประสบการณ์ เอาคนที่เรารู้จักมาสอน มาแชร์กัน เราเชื่อในพลังคนรุ่นใหม่ ในฐานะครูเราก็ต้องพยายามทำให้เขารู้สึกว่าพลังของเขาสำคัญ และมันเป็นสิ่งที่ประเทศเราต้องการมากที่สุดเลย
ขอบคุณสถานที่ The Commons Thonglor