นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

สุสานหิ่งห้อย

‘หิ่งห้อย’ มากกว่าบาดแผลสงคราม คือความรัก การเกิด-ดับ และการพัฒนาชนบทญี่ปุ่น 

ถ้าพูดชื่อสุสานหิ่งห้อย เราคงนึกถึงแอนิเมชั่นสำคัญที่พาคนทั้งโลกหลั่งน้ำตาด้วยเรื่องราวของสองพี่น้องที่ต้องเอาชีวิตรอดในโศกนาฏกรรมสงคราม 

นอกจากประเด็นบาดแผลสงครามแล้ว การอ้างอิงถึงหิ่งห้อยยังมีนัยพิเศษกับบริบทวัฒนธรรมญี่ปุ่น ด้วยหิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่คนญี่ปุ่นรัก มีประวัติศาสตร์ และมีความหมายกับวิถีชีวิตของผู้คนมาอย่างยาวนาน ทว่าในความรักของหิ่งห้อยที่มีตั้งแต่บรรพกาล ก็กลับพาให้น้องหิ่งห้อยไปสู่หายนะ 

จุดเปลี่ยนสำคัญคือยุคสมัยแห่งความเจริญอย่างสมัยเมจิ เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเกิดศูนย์กลางเมืองสำคัญ หิ่งห้อยที่เคยอยู่ตามธรรมชาติถูกกวาดเข้าสู่พื้นที่กิจการต่างๆ ของเมืองใหญ่ ด้วยหิ่งห้อยถือเป็นความมหัศจรรย์และภาพฝันอันสวยงาม ในยุคนั้นได้เกิดอุตสาหกรรมหิ่งห้อยขึ้น การขุดไถหิ่งห้อยจำนวนมากจากคลองอันอุดมสมบูรณ์นั้นมาพร้อมกับความเสื่อมโทรมที่รุกคืบเข้าสู่พื้นที่ธรรมชาติ 

พื้นที่สำคัญของเหล่าหิ่งห้อยจึงกลายเป็นสุสานหิ่งห้อยที่มีความหมายตรงตัวในที่สุด

จังหวะที่แอนิเมชั่นสุสานหิ่งห้อยกำลังจะเข้าฉายในเน็ตฟลิกซ์ คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ขอพาทุกท่านไปชมแสงระยับยามค่ำคืนอันเป็นที่รักของชาวญี่ปุ่น จากตัวแทนของความรัก ปรัชญาแบบพุทธศาสนา เรื่องเล่าเรื่องความเพียร จนกลายเป็นการทำลายก่อนที่จะเกิดกระแสที่รัฐใช้การอนุรักษ์หิ่งห้อย ไปจนถึงใช้หิ่งห้อยเป็นหัวใจของการฟื้นฟูเมืองผ่านการสร้าง ‘หมู่บ้านหิ่งห้อย’ ในพื้นที่ชนบท

ตัวแทนของฤดูร้อน ปรัชญาลึกซึ้งของหิ่งห้อย

หิ่งห้อยเป็นสิ่งมีชีวิตที่มักปรากฏตัวในช่วงฤดูร้อน กิจกรรมสำคัญของชาวญี่ปุ่นคือการชมหิ่งห้อย กระทั่งการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีชื่อเสียงด้านการชมหิ่งห้อยซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่มีน้ำ เช่น แม่น้ำหรือลำธารที่ใสสะอาด เมืองสำคัญเช่นเมืองโมริยามะ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ผู้คนจากเมืองใหญ่จะเดินทางมาเยือน มีกิจกรรมล่องเรือไปตามแม่น้ำเพื่อชมแสงวิบวับสีเขียวและเหลืองที่สงบงาม

ความพิเศษของหิ่งห้อยในวัฒนธรรมคือการเป็นตัวแทนของความกลมกลืนและความงามในธรรมชาติ หิ่งห้อยเป็นตัวเรื่องสำคัญที่ศิลปินจะนำมาใช้ในศิลปะภาพพิมพ์ไม้ที่เรียกว่า ukiyo-e มีความหมายว่าภาพของโลกที่ล่องลอยอยู่ (pictures of the floating world) 

ศิลปะภาพพิมพ์ไม้มักแสดงภาพชีวิตประจำวัน ความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจในช่วงศตวรรษที่ 17–ศตวรรษที่ 20 ความน่าสนใจของศิลปะภาพพิมพ์ไม้คือตัวมันเองก็เป็นกิจการอย่างหนึ่ง มีการพิมพ์ภาพจำหน่ายไปยังผู้ซื้อศิลปะโดยเฉพาะรอบๆ เมืองเอโดะอันเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น

ภาพหิ่งห้อยเป็นอีกภาพที่ค่อนข้างได้รับความนิยม ศิลปินใช้หิ่งห้อยเป็นส่วนประกอบหรือเป็นประเด็นหลักของงาน ตัวหิ่งห้อยมีความหมายลึกซึ้ง หลายครั้งเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ ตัวมันเองก็มีความมหัศจรรย์ เป็นแสงที่ไม่รู้จบ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความคิดเรื่องความไม่จีรัง ความวูบไหวและไม่แน่นอน การเกิดและดับของสรรพชีวิต ทั้งการแสดงภาพหิ่งห้อยยังต้องใช้ทักษะทางศิลปะอย่างพิเศษในการให้ภาพของแสงในที่มืด 

การชมหิ่งห้อยถือเป็นกิจกรรมของผู้คน ตั้งแต่การเฝ้ามองไปจนถึงการจับหิ่งห้อยมาเลี้ยงดูเพื่อการชม ตัวหิ่งห้อยยังสัมพันธ์กับความรัก ตำนานเช่นในมหากาพย์เรื่องเกนจิมีตอนที่ว่าด้วยหิ่งห้อย ตัวละครเอกใช้วิธีปล่อยฝูงหิ่งห้อยเพื่อให้คู่รักของน้องชายมองเห็นกันและกันได้ หิ่งห้อยจึงมีนัยของความโรแมนติก 

ภาพพิมพ์ส่วนใหญ่มักให้ภาพเป็นส่วนหนึ่งของการเกี้ยวพาราสี หรือเป็นส่วนหนึ่งของความงามของสตรี บางภาพของญี่ปุ่นรับอิทธิพลของจีนว่าด้วยความเพียรมา เป็นภาพของนักเรียนยากจนที่จับหิ่งห้อยใส่ไว้ในตะเกียงเพื่อใช้อ่านตำราในช่วงค่ำคืน บางเรื่องพูดถึงการเข้าสู่สนามรบที่แม่ทัพสังเกตพฤติกรรมของหิ่งห้อยบริเวณน้ำใกล้ๆ ว่าสะอาดหรือปลอดภัย มีการวางยาหรือสิ่งแปลกปลอมหรือไม่

ภาพของ Kiyochika

หายนะของหิ่งห้อย กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม

อันที่จริงความนิยมของหิ่งห้อยนำพาผู้คนไปสู่บ้านของพวกมัน อย่างน้อยที่สุดคือช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงต้นศตวรรษที่ 20 กระทั่งที่ญี่ปุ่นเริ่มขยายทางรถไฟ เมืองน้อยแบบโมริยามะเองก็มีรถไฟสายพิเศษที่วิ่งตรงจากเกียวโตและโอซาก้า พาคนเมืองไปเยี่ยมเยียนบ้านของเหล่าหิ่งห้อยได้

ทว่าความซวยของหิ่งห้อยเกิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือในยุคเมจิ (1868-1912) ในช่วงนี้เกิดหายนะต่อหิ่งห้อยในหลายด้าน โดยเฉพาะการก่อตัวขึ้นของเมืองใหญ่เช่นเกียวโต โตเกียว และโอซาก้า ผู้คนที่ช่างคิดพบว่าทำไมเราไม่พาหิ่งห้อยเข้าไปในเมืองซะเลย ผลคือในยุคนั้นเกิดอุตสาหกรรมหิ่งห้อย ที่นักล่าและพ่อค้าจะจับหิ่งห้อยไปปล่อยขายในเมือง 

วิธีคิดแสนธรรมดาในยุคนั้นคือในเมื่อเรารักหิ่งห้อยมาก ในกิจการร้านค้าใหม่ๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สวนส่วนตัว กระทั่งพระราชวังหลวงในกรุงเกียวโต ก็มีการจับและขนหิ่งห้อยนับล้านตัวไปยังบ้านใหม่ในเมือง

หายนะของหิ่งห้อย สัมพันธ์กับความเปราะบางและวงจรชีวิตของเจ้าหิ่งห้อยเอง วงจรชีวิตของหิ่งห้อยต้องอาศัยทั้งน้ำสะอาดของแม่น้ำและพื้นที่ริมน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยวงจรที่หิ่งห้อยตัวเมียจะต้องขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณริมแม่น้ำที่มักปกคลุมด้วยมอส ก่อนที่ตัวอ่อนจะลงไปเจริญเติบโตในแม่น้ำ 

จังหวะของการผสมพันธุ์และวางไข่นี้เองที่พ่อค้าหัวใสสามารถลงมือจับหิ่งห้อยได้เป็นจำนวนมาก รายงานระบุว่าในหนึ่งคืน นักจับหิ่งห้อยสามารถจับหิ่งห้อยได้ถึง 3,000 ตัว วิธีการจับคือการเอาคราดไม้ไผ่ลากและขุดพวกมันขึ้นมาจากดิน

แน่นอนว่าหิ่งห้อยที่เพิ่งวางไข่ โดยเฉพาะตัวเมียที่ขึ้นมาเพื่อวางไข่ เมื่อถูกจับไปปล่อยในพื้นที่กลางเมือง ชีวิตของพวกมันจะนำไปสู่ความตายอย่างแน่นอน สภาพแวดล้อมในเมือง ในสวนไม่เหมาะสมกับการวางไข่และการเจริญเติบโต ซ้ำร้าย แม่พันธุ์ของเหล่าหิ่งห้อยเองก็หายไปจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม

นอกจากการเติบโตขึ้นของเมืองที่ขุดพาพวกหิ่งห้อยไปสู่ความตาย พื้นที่อยู่อาศัยเดิมของหิ่งห้อยเองก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรม แม่น้ำที่เคยสะอาดเริ่มปนเปื้อนทั้งจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง การสร้างพนังกั้นน้ำปูนและสารเคมีต่างๆ ทำให้บริเวณน้ำตื้นๆ ที่เคยปกคลุมด้วยมอสหรือพืชต่างๆ เริ่มกลายเป็นพื้นที่โล่งๆ 

ระบบนิเวศที่หายไปนี้ส่งผลโดยตรงทั้งน้ำสะอาดที่มีผลต่อตัวอ่อนหิ่งห้อย หญ้ามอสที่เคยเป็นที่กำบังและเป็นพื้นที่เติบโตของหอยทากน้ำจืด อาหารหลักของพวกมัน

หิ่งห้อยกับการพาความเจริญกลับบ้านเกิด

คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์เคยพูดถึงกระแสการกลับไปพัฒนาชนบทยุคหลังสงครามโลก ปัญหาที่ชนบทญี่ปุ่นเริ่มว่างเปล่าลง ผู้คนซึ่งในที่นี้ดันพาเอาหิ่งห้อยไปตายที่เมืองด้วย 

ช่วงทศวรรษ 1960 นี้เองที่ทั้งพื้นที่สำคัญของหิ่งห้อย และพื้นท่ีบ้านเกิดเมืองนอนเริ่มประสบปัญหาถดถอยและเสื่อมโทรมลง จังหวะนี้เองที่พื้นที่ธรรมชาติเกิดกระแสการอนุรักษ์พื้นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยขึ้น พร้อมๆ กับความพยายามดึงผู้คนและความเจริญกลับไปสู่ชนบท

กระแสที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเรียกว่า ‘หมู่บ้านหิ่งห้อย’ หรือ ‘firefly villages–hotaru no sato’ คำว่าหมู่บ้านหิ่งห้อยเป็นคำกว้างๆ คืออาจหมายถึงพื้นที่หมู่บ้านที่มีพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูหิ่งห้อยจริงๆ หรืออาจหมายถึงพื้นที่ตามธรรมชาติที่มีการอนุรักษ์และมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นๆ

งานศึกษาว่าด้วยหิ่งห้อยและการพัฒนาพื้นที่ชนบทมีความสัมพันธ์กัน การอนุรักษ์ทางธรรมชาติมีความเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูชนบทที่รกร้าง หิ่งห้อยกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกลับไปพัฒนา เป็นหัวใจของการท่องเที่ยว 

Firefly Village

ในงานศึกษาชี้ให้เห็นการทำงานอย่างซับซ้อนของกลุ่มอนุรักษ์และการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมทั้งในทางสิ่งแวดล้อมและในการเสื่อมโทรมเชิงสังคมเช่นการไม่มีผู้อยู่อาศัย ทำให้เมืองหรือพื้นที่นั้นๆ กลับมามีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

ในงานวิจัยระบุว่าในปี 2016 มีพื้นที่ที่เรียกว่าหมู่บ้านหิ่งห้อยมากถึง 650 แห่ง ในการอนุรักษ์มีกระบวนการทำงานอย่างซับซ้อน บางแห่งมีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ จุดร่วมของหมู่บ้านและการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยหิ่งห้อยมักสัมพันธ์กับการจัดพื้นที่ชมหิ่งห้อยสำหรับทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว มีการจัดเทศกาลชมหิ่งห้อย มีกิจกรรมอื่นๆ เช่นการจัดการแสดง กิจกรรมเกี่ยวกับงานฝีมือของท้องถิ่น เทศกาลด้านอาหาร บางแห่งมีการใช้มาสคอตหิ่งห้อยน้อย Pikkari-chan จากเมืองทัตสึโนะ 

เมืองทัตสึโนะเป็นอีกเมืองที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวจากหิ่งห้อย เก่าแก่ตั้งแต่สมัยเอโดะ และเมืองเองก็เกือบเสียหิ่งห้อยไปทั้งหมดในยุคเมจิ ด้วยการกลับมาของนักอนุรักษ์และความร่วมมือกับโรงเรียนและนักเรียนของเมืองทำให้การฟื้นฟูที่อยู่อาศัยและหิ่งห้อยกลับมา 

เมืองแห่งนี้มีจุดเด่นในการจัดเทศกาลหิ่งห้อยซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ประจำปี ด้วยบริบทความร่วมมือกับเด็กๆ หัวใจของงานและการอนุรักษ์หิ่งห้อยคือเจ้ามาสคอตน้อยที่ถือว่าเป็นที่รักของเด็กๆ ทั้งเด็กในเมืองและเด็กที่เดินทางมาเที่ยวในช่วงเทศกาล

ความน่าสนใจของทั้งความรักของหิ่งห้อยของคนญี่ปุ่น ความรักที่เกือบทำให้หิ่งห้อยสูญพันธุ์ คือการที่ญี่ปุ่นมองเห็นผลเชิงลบของยุคการพัฒนา ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ธรรมชาติ และการนำเอาความเสื่อมโทรมกลับมาเป็นกลยุทธ์เพื่อดึงทั้งผู้คนให้กลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอน และดึงผู้คนโดยเฉพาะคนเมืองให้กลับไปท่องเที่ยวในชนบท 

ในความเข้าใจ การฟื้นฟูด้วยหิ่งห้อยไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่คือการฟื้นฟูอดีต ในกระบวนการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติมีความสลับซับซ้อนทั้งการดูแลเชิงระบบนิเวศต่อสรรพสัตว์ของระบบนิเวศนั้นๆ การนำเรื่องเล่าและความรักต่อธรรมชาติ กรณีนี้คือหิ่งห้อย ให้กลับมามีชีวิต จากการรักและทำให้พวกมันเป็นสินค้า ส่งไปขายในเมือง สู่การทำให้พวกมันกลับคืนสู่ธรรมชาติ และพาผู้คนกลับมาหาพวกมันอีกครั้ง

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like