อยากเข้าวงการ FemTech แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง? 7 เทรนด์เทคโนโลยีเพื่อนหญิงพลังหญิงที่น่าจับตามองในตอนนี้
อยากเข้าวงการ FemTech แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง? 7 เทรนด์เทคโนโลยีเพื่อนหญิงพลังหญิงที่น่าจับตามองในตอนนี้
FemTech เป็นหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่ถูกพูดถึงในช่วงหลายปีมานี้ และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ CTO ของ Amazon อย่าง Werner Vogels ยังบอกว่า FemTech จะเป็นเทรนด์สำคัญในปี 2024 ควบคู่ไปกับ generative AI!
แต่ที่จริงแล้ว FemTech คืออะไร คนที่สนใจอยากก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจนี้จะเริ่มต้นยังไง ในเดือนสตรีสากลและวันสตรีสากลนี้ Capital จึงอยากชวนทั้งเพื่อนหญิงพลังหญิงและคนที่สนใจ FemTech มาสอดส่องกันว่าในเวทีระดับโลกนั้น เทรนด์ FemTech เทรนด์ไหนที่น่าจับตามอง และน่านำมาปรับใช้ในบริบทของไทยได้บ้าง
FemTech คืออะไร?
คำว่า FemTech เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2558 โดย Ida Tin ผู้ร่วมก่อตั้ง Clue แอพฯ ติดตามการมีประจำเดือนของผู้หญิง จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ ความหมายของคำนี้ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ แต่โดยทั่วไป FemTech คือเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพของผู้หญิง เป็นได้ตั้งแต่สินค้าหรือบริการที่ดูแลสุขภาพของคนเป็นแม่ คนวัยทอง วัยรุ่น หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขภาพประจำเดือนทั่วไปอย่างปัญหาฮอร์โมนแปรปรวน
FemTech ยังน่าสนใจอยู่ไหม?
จากรายงาน FemTech Global Market Report โดย The Business Research Company ระบุว่าตลาด FemTech จะเติบโตจาก 36.52 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 เป็น 41.97 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 และจะเติบโตเป็น 81.24 พันล้านดอลลาร์ในปี 2571
McKinsey & Company ยังวิเคราะห์ไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่า FemTech มาแรงมาจากหลายปัจจัย
- ข้อมูลจาก Google Trends ทำให้เห็นว่าคนสนใจ FemTech เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19
- การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมาของ AI
- สังคมให้ความสนใจเรื่องของผู้หญิง การพูดคุยเรื่องเพศ สุขภาพทางเพศมากขึ้น
การมาถึงของ FemTech ยังอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสุขภาพได้ เพราะบริษัท FemTech คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อผู้หญิงที่ไม่เคยมีบริษัทด้านสุขภาพไหนทำมาก่อน กล้าเปิดเวทีอภิปรายเรื่องสุขภาพและความสุขทางเพศของผู้หญิงซึ่งยังไม่ค่อยมีเวทีไหนพูด จึงเป็นการทลายตราบาปเรื่องเพศกับผู้หญิงไปโดยปริยาย
เทรนด์ FemTech ที่น่าจับตามองในปี 2024?
1. FemTech เพื่อป้องกันและตรวจหามะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และช่วยให้คนไม่ต้องรู้สึกอายจนไม่กล้าไปหาหมอ เช่น Juno Genetics ที่หาแนวทางการตรวจมะเร็งเต้านมผ่านทางพันธุกรรม
2. FemTech สำหรับคนวัยหมดประจำเดือน เช่น IdentifyHer สตาร์ทอัพสัญชาติไอริชที่มีอุปกรณ์สวมใส่ที่ใช้เซนเซอร์รวบรวมข้อมูลของคนวัยหมดประจำเดือนแต่ละคน เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและจัดการอาการวัยหมดประจำเดือนได้ง่ายขึ้น
3. FemTech สำหรับชาวปวดประจำเดือน เช่น Myoovi สตาร์ทอัพจากอังกฤษที่ผลิตสินค้าช่วยบรรเทาอาการปวดโดยใช้เทคโนโลยี TENS ปิดกั้นความรู้สึกเจ็บปวดไม่ให้เข้าถึงสมอง ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ทันที หรือ Body Moody สตาร์ทอัพจากเช็ก พัฒนาชุดบอดี้สูทที่ใช้ความร้อนบรรเทาอาการปวดประจำเดือนและปวดหลัง ชาวเมนส์สามารถควบคุมความร้อนได้ผ่านแอพฯ หรือผ่านบอดี้สูท
4. FemTech เพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง เช่น ALLY แอพพลิเคชั่นที่มีคนไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง คิดค้นขึ้นเพื่อรวบรวมสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ซึ่งได้รับรางวัล UN Women Awards Winning กลไกลของ ALLY คือทีมงานจะเข้าไปเทรนด์พนักงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้คนในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง และถ้าพนักงานผ่านเกณฑ์ สถานที่นั้นๆ ก็จะได้รับการรับรองทั้งปรากฏในแอพพลิเคชั่นด้วย
Shakti อุปกรณ์สวมใส่ป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง จาก SHAKTI WEARABLES สตาร์ทอัพสัญชาติอินเดีย ซึ่งจะปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ไม่อันตรายถึงชีวิตใส่คนที่เข้ามาล่วงเกิน Shakti ยังส่งตำแหน่งปัจจุบันที่ตรวจพบของผู้สวมใส่ไปยังผู้ติดต่อ 3 คนแรกทาง WhatsApp และข้อความ
5. FemTech เพื่อคนที่ต้องการวางแผนครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้หญิงวางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้น และคู่รักยังวางแผนการมีลูกได้แม่นยำกว่าเดิม ในกลุ่มนี้เป็นได้ตั้งแต่แอพฯ และอุปกรณ์ติดตามรอบเดือนที่ระบุวันตกไข่เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ หรือจะเป็นระดับเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ก็ได้ เช่น FertilAI สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอลที่ใช้ AI ช่วยติดตามการตกไข่ไปจนถึงการรักษาขั้นสูงเพื่อลดการทดสอบที่ไม่จำเป็น
6. FemTech เพื่อสุขภาพทางเพศ ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นเพื่อให้ทุกคนมีความสุขทางเพศที่ดี ลดการตีตราว่าคนที่ใส่ใจเรื่องเพศเป็นคนไม่ดี ทั้งยังสนับสนุนให้ทุกคนได้สำรวจร่างกายตัวเอง เช่น Leda Health สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ที่ให้บริการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดฉุกเฉิน แถมยังมีชุดรวบรวมดีเอ็นเอ เพื่อช่วยเหลือคนที่โดนล่วงละเมิดทางเพศ
7. FemTech ในระดับองค์กรเพื่อชีวิตที่ดีของลูกจ้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าสุขภาพร่างกายของพนักงานย่อมมีผลกับประสิทธิภาพงานไม่น้อย เช่น Partum Health ที่สร้างระบบการดูแลพนักงานตั้งครรภ์ บริษัท SaaS Ludo สร้างเครื่องมือด้านทรัพยากรบุคคลสำหรับนายจ้างเพื่อเตรียมความพร้อมให้พ่อแม่มือใหม่ในบริษัท
แม้ FemTech จะเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่แน่นอนว่าเมื่อพ่วงมากับการเป็นธุรกิจที่เน้นเทคโนโลยี การจะก่อร่างสร้างแบรนด์สักแบรนด์ขึ้นมาจึงอาจต้องอาศัยทุนทรัพย์ องค์ความรู้ และความอดทนอย่างสูง แต่เทรนด์ที่เรารวบรวมมาเหล่านี้ก็อาจเป็นคัมภีร์เบื้องต้นที่ช่วยให้คนที่สนใจเริ่มรู้ว่าจะสร้าง FemTech ในไทยในทิศทางไหน
สุขสันต์วันสตรีสากล!
อ้างอิง
- femtechworld.co.uk/news/the-biggest-femtech-and-womens-health-of-2024-insights-from-ultra-violet-futures
- startus-insights.com/innovators-guide/femtech-trends
- forbes.com/sites/forbestechcouncil/2023/12/21/the-growth-of-femtech-separating-hype-from-facts/?sh=7d8b430b7c9e
- femtechinsider.com/werner-vogels-femtech-2024
- mckinsey.com/industries/healthcare/our-insights/the-dawn-of-the-femtech-revolution
- news-medical.net/health/The-FemTech-Revolution-how-technology-is-empowering-Womens-health-and-wellness.aspx
- thebusinessresearchcompany.com/report/femtech-global-market-report