Shining Hat
เบื้องหลัง Shining Hat ไฮไลต์ของ EXPO 2025 กับ ‘Toyo Ito’ สถาปนิกผู้ออกแบบที่ไม่เห็นด้วยกับธีมเรื่องอนาคตและเทคโนโลยี
ไม่ว่าคุณจะติดตามข่าวงาน EXPO 2025 ซึ่งกลับไปจัดที่โอซาก้าอีกครั้งหลังจากผ่านไป 55 ปีหรือเปล่า แต่ถ้าเล่นโซเชียลมีเดียล่ะก็คงได้เห็นภาพ Expo Hall ที่มีชื่อเล่นว่า Shining Hat ผ่านเข้ามาในฟีดบ้างแน่ๆ
อาคารทรงกลมสีขาวล้วนสุดเท่ที่โดดเด่นด้วยหลังคาทรงจานบินสีทองอร่าม กลายเป็นไวรัลตั้งแต่ก่อนงานเริ่มในวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา เห็นแวบแรกบางคนอาจคิดว่าอาคารนี้คงได้ยูเอฟโอเป็นแรงบันดาลใจ ชูประเด็นการไปอวกาศให้เข้ากับธีมของงานเอ็กซ์โปในปีนี้อย่าง ‘Designing Future Society for Our Lives’ แน่ๆ
แต่นั่นเป็นความคิดผิดที่ผิดไปเยอะเลยทีเดียว


โตโย อิโต้ (Toyo Ito) สถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่นผู้ออกแบบอาคารดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับหลายสื่อว่าเขาไม่อินกับธีมนี้ และพอพูดถึงอนาคต ทุกคนกำลังพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป เลยอยากชวนทุกคนมาตั้งคำถามว่า “ชีวิตที่เปล่งประกายคืออะไร” และ “สังคมแห่งอนาคตคืออะไร” ผ่านการเยี่ยมชมอาคารนี้
บทความนี้เลยจะพาไปสำรวจจุดต่างๆ ของน้องหมวกทองส่องประกายกับความหมายที่ซ่อนอยู่ในการออกแบบ
มองเผินๆ เหมือนมีรูบนท้องฟ้าและกำแพงสีขาวลอยขึ้นมาจากพื้น แต่ Shining Hat เป็นอาคารสองชั้น สูงประมาณ 20 เมตร หลังคาเหล็กสีทองที่ดูบาง มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 70 เมตร รองรับผู้ชมได้เกือบ 2,000 คน บนพื้นที่ประมาณ 8,000 ตร.ม. เป็นหนึ่งในอาคารหลักของงานที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้เป็นสถานที่จัดการแสดงต่างๆ รวมไปถึงพิธีเปิด-ปิดงานของงานเอ็กซ์โป

การก่อสร้างใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท แม้ทุนสร้างจะฟังดูเป็นตัวเลขที่สูง แต่อิมแพกต์ของสิ่งปลูกสร้างนี้นั้นมีมากมายหลายด้านและน่าจะส่งผลดีต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
แรงบันดาลใจในการออกแบบอาคารนี้มาจากหน้าตาของอาคาร Tower of the Sun แลนด์มาร์กสุดไอคอนิก ผลงานของศิลปินชื่อดัง ทาโร่ โอคาโมโตะ (Taro Okamoto) จากงานเอ็กซ์โปปี 1970 ซึ่งจัดที่โอซาก้าเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ทรงของหลังคาที่เหมือนจานดาวเทียม (parabolic antenna) ยังตั้งใจสื่อถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลของญี่ปุ่นจากโลกภายนอกและการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ


Tower of the Sun ไม่ได้มีอิทธิพลแค่กับดีไซน์ภายนอก แต่ยังช่วยตกตะกอนความคิดที่มีต่อความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีกับมนุษย์ก็ว่าได้ สมัยโตโยเพิ่งเริ่มต้นเส้นทางในอาชีพนี้ เขาเคยมีส่วนร่วมในการออกแบบอาคารในงานเอ็กซ์โป 1970 แต่ลาออกกลางคัน ด้วยความผิดหวังหลายๆ อย่าง เลยทำให้เขาไม่ได้กลับไปที่งานนั้นอีก
แม้ในสมัยนั้นมีอาคารเท่ๆ ที่ออกแบบโดยสถาปนิกดังมากมาย เช่น Kenzo Tange แต่ผลสำรวจกลับบอกว่าผู้ร่วมงานกว่า 60 ล้านคน ส่วนมากเดินทางไปเพื่อดู Tower of the Sun ส่วนอาคารอื่นๆ กลับไม่ได้รับความสนใจขนาดนั้น
ไม่เพียงคุณค่าในแง่มุมการออกแบบ ในแง่มุมเศรษฐกิจ งานเอ็กซ์โป ’70 ประสบความสำเร็จอย่างสูง ตลอดช่วงเวลาจัดงาน 6 เดือน สร้างรายได้สุทธิประมาณ 1.9 หมื่นล้านเยน มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 3.5 ล้านล้านเยนทั่วประเทศ และประมาณ 1.1 ล้านล้านเยนในภูมิภาคคันไซ โดย Tower of the Sun มีผู้เข้าชมประมาณ 9 ล้านคน และหลังจากปิดไป 50 ปี พอเปิดให้คนเข้าชมด้านในอีกครั้งในปี 2018 ก็มีผู้คนสนใจจำนวนมหาศาล จนยอดจองเต็มล่วงหน้าไปหลายเดือน ปีแรกมีผู้เข้าชมมากกว่า 300,000 คน และถึงตอนนี้คิวเข้าชมก็ยังแน่นเสมอมา
สถาปนิกชื่อดังสงสัยมาตลอดว่าทำไม Tower of the Sun ถึงสามารถดึงดูดคนญี่ปุ่นได้ขนาดนั้นและยังได้รับความสนใจมาจนถึงปัจจุบัน
ความสงสัยนั้นเพิ่งได้รับความกระจ่างในปี 2023 เมื่อโตโยรับงานออกแบบอาคารซึ่งอยู่ใกล้กับหอคอยแห่งดวงอาทิตย์อันเลื่องชื่อ เขาได้มีโอกาสมองไปยังหอคอยหลายครั้ง และในที่สุดก็เข้าใจเสน่ห์ของงานออกแบบที่แผ่พลังที่มีความดิบแบบดั้งเดิมซึ่งดึงดูดผู้คนได้ทุกยุคสมัย
“สิ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้คนจริงๆ แล้วคงไม่ใช่เมืองแห่งอนาคต แต่เป็นพลังชีวิตและความเชื่อมโยงกับธรรมชาติที่สื่อสารผ่านหอคอยแห่งดวงอาทิตย์
“ผู้คนคงรู้สึกถึงพลังชีวิตที่ไม่สามารถเติมเต็มได้ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”
ในวัย 83 ปี โตโยมองว่าทุกวันนี้ผู้คนพูดถึงแต่เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI และอื่นๆ และพยายามจะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นเพื่อสร้างความสุขให้ตนเอง แต่เขากังวลว่างานเอ็กซ์โปที่เน้นธีมเทคโนโลยีและอนาคตอาจจะทำให้คนมองข้ามสิ่งที่สำคัญจริงๆ ในการเติมเต็มความสุขในชีวิตไป
“โดยทั่วไป งานเอ็กซ์โปมักมีแนวโน้มที่จะ ‘แสดงอนาคต’ ผ่านวิวัฒนาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ผมคิดว่าวิธีการเช่นนั้นอาจมาถึงขีดจำกัดแล้วก็ได้”
โตโยเข้าร่วมการคัดเลือกผู้ออกแบบด้วยการสอดแทรกแนวคิดนั้นลงไปในผลงานมากมาย เริ่มจากการนำเสนออาคารทรงกลมที่เรียบง่าย แต่ทรงพลังและอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน เขามองว่าถ้าพูดถึงอาคารแห่งอนาคต คงเต็มไปด้วยความแปลกใหม่หลากหลายรูปแบบทั้งรูปทรงและรายละเอียด แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่มีพลังดึงดูดผู้คนได้มากที่สุดคือรูปทรงที่เรียบง่ายนี่เอง

ถัดมาคือเรื่องสี ภายนอกอาคารเป็นกำแพงสีขาวหลังคาสีทอง ด้านในก็เป็นผนังสีขาวและเพดานสีทองส่องประกายเช่นกัน แต่ไม่ได้ขาวแค่กำแพง ทั้งพื้นและที่นั่งล้วนเป็นสีขาวโพลน บรรยากาศโอ่โถงภายในห้องสีขาวและเพดานสีทองที่สะท้อนแสงกำลังดีต้องการสื่อถึงอนาคตอันสดใสของมนุษย์ หลายคนที่ไปเยี่ยมชมอาคารนี้บอกว่า นอกจากจะตื่นเต้นกับดีไซน์ด้านนอก ความรู้สึกเมื่อได้เข้ามาข้างในก็ชวนให้ตื่นเต้นไม่แพ้กัน
แน่นอนว่านั่นคือความตั้งใจอีกอย่างของสถาปนิกมือรางวัล
ผนังสีขาวไม่ได้เกิดจากการทาสี แต่มันคือผ้าสีขาวที่ตัดเป็นแถบเรียงซ้อนทับกันอย่างไม่เป็นระเบียบ เพื่อให้รู้สึกถึง ‘ร่องรอยของมือมนุษย์’ และ ‘ลมหายใจของผู้คน’
โตโยชักชวนนักออกแบบสิ่งทอคู่ใจที่เคยร่วมงานกันแล้วหลายครั้งอย่าง โยโกะ อันโด (Yoko Ando) มาเนรมิตผนังสีขาวล้วนแต่ไม่เรียบง่าย ริ้วผ้าขาวถูกนำมาสร้างเทกซ์เจอร์คล้ายคลื่นหมุนวนไปทั่วกำแพง มิติความลึกที่เกิดขึ้นจากขนาดของชิ้นผ้าและความโค้งที่ไม่เท่ากันช่วยเพิ่มความน่าค้นหาและกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ ของผู้รับชม เขาบอกว่า ความพลิ้วไหวของผ้าอาจจะทำให้ชวนคิดถึงสิ่งมีชีวิตหรือพืชหรืออะไรสักอย่าง แล้วแต่ว่าสีขาวโพลนและเทกซ์เจอร์เหล่านั้นจะพาจินตนาการของผู้ชมไปที่ไหน
“แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปแค่ไหนก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ก็ยังคงเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ในเอ็กซ์โปครั้งนี้ ผมจึงอยากแสดงออกถึงความเข้มแข็งที่สามารถสื่อสารกับสัญชาตญาณหรือความรู้สึกดิบๆ ที่ฝังลึกอยู่ในตัวมนุษย์มากกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อสื่อถึงภาพของอนาคต”
สำหรับงานครั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วประเทศประมาณ 2.9 ล้านล้านเยน และการบริโภคภายในประเทศอาจเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านเยน โดยประมาณ 30% มาจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย Shining Hat ไม่เพียงแต่เป็นไอคอนหลักของงานครั้งนี้ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดผู้เข้าชมและมีบทบาทสำคัญในแง่มุมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง Tower of the Sun ได้สร้างเอาไว้
โตโยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โยมิอุริไว้อีกว่า เขาหวังว่า Shining Hat จะเป็นพื้นที่ให้ประเทศต่างๆ ได้จัดกิจกรรม และ ‘เพาะบ่มวัฒนธรรม’ ร่วมกัน
“เพราะอารยธรรมคือสิ่งที่ทำให้เราถอยห่างจากผืนดิน ในขณะที่วัฒนธรรมคือสิ่งที่กลับเข้าใกล้มากขึ้น”
ใครที่มีโอกาสไปร่วมงานเอ็กซ์โป 2025 ขอชวนลองหาโอกาสไปคิดทบทวนคำถามที่โตโยฝากไว้ในอาคารหลังนี้
อ้างอิง