What’ Next in ESG

มองภาพอนาคต ESG ของไทย เมื่อเหล่าธุรกิจต้องหันมาทำ Sustainable Transformation

ในแต่ละปีมักจะมีคำศัพท์ยอดฮิตที่คนในแวดวงธุรกิจมักจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันบ่อยครั้ง อย่างช่วงสามสี่ปีก่อนหน้าคงหนีไม่พ้นคำว่า digital transformation หรือไม่ก็ disruption ปีถัดมาคำที่เราจะได้ยินเป็นประจำก็หนีไม่พ้นคำว่า blockchain หรือไม่ก็ Bitcoin

จนมาถึงปี 2022 ที่ผ่านมา คงไม่มีคำไหนที่จะได้รับความสนใจมากไปกว่าคำว่า ‘ESG’ 

ESG นั้นย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม), social (สังคม) และ governance (ธรรมาภิบาล) เป็นเหมือนเช็กลิสต์ 3 ข้อหลักๆ ที่นักลงทุนเอาไว้ใช้ประเมินความยั่งยืนในแต่ละธุรกิจ 

อันที่จริง ESG ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ด้วยสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนในอดีต ทรัพยากรของโลกที่เริ่มร่อยหรอลงจึงทำให้ช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญและหยิบยกเรื่องของ ESG มาพูดถึงกันมากขึ้น

ก่อนเริ่มต้นปี 2023 เราจึงหยิบยกคำนี้ไปพูดคุยกับ อาจารย์เอก–อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อชวนกันมองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ผ่านมาและอนาคตข้างหน้าของ ESG ในไทย โดยสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนคือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านธุรกิจและสิ่งแวดล้อมมายาวนานราว 20 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยก่อนที่คำว่า CSR จะได้รับความนิยมในไทย หน้าที่ของพวกเขาคือการเอางานวิจัยต่างๆ ที่อยู่บนหน้ากระดาษมาทำให้เกิดการปฏิบัติจริงได้ จนองค์กรนี้กลายเป็นเหมือนคอนซัลต์ที่คอยให้คำปรึกษากับบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม และยังมีการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเป็นเวลาสิบกว่าปี เพื่อทำหลักสูตรอบรมด้านความยั่งยืนให้กับเหล่าบริษัททั้งหลายที่อยู่ในตลาดฯ 

นอกจากการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นของสังคม การปรับตัวขององค์กรให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป 

ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในวงการนี้มานาน เราจึงชวนอาจารย์เอกมาพูดคุยกันเรื่อง ESG ทั้งในแง่มุมของการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นของสังคม การปรับตัวขององค์กรให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงเรื่องของกลยุทธ์ในธุรกิจ เพราะภาพลักษณ์ของธุรกิจคงไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่จะทำให้หลายองค์กรตัดสินใจให้ความสำคัญกับ ESG

วิวัฒนาการ (อย่างย่อ) ก่อนคำว่า ESG จะได้รับความนิยมในไทย 

เพื่อให้พูดคุยเรื่อง ESG ได้อย่างเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจารย์เอกจึงเล่าย้อนถึงที่มาที่ไปให้ฟังกันก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องธุรกิจและสิ่งแวดล้อมในบ้านเรานั้นแบ่งออกเป็น 3 ยุคหลักๆ ด้วยกัน 

ยุคแรกคือ CSR โดยคอนเซปต์ของ CSR ในยุคนั้นถูกมองเป็นเรื่องของกิจกรรมเพื่อสังคม หากธุรกิจอยากรับผิดชอบอะไรต่อสังคมก็จะไปสร้างกิจกรรมที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากสิ่งที่ทำอยู่ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ช่วงหนึ่งเราเห็นหลายองค์กรออกมาปลูกป่าชายเลนหรือบริจาคแจกทุนกันอยู่บ่อยๆ 

กระทั่งในปี 2010 ที่ทาง ISO ได้ออกมาประกาศสิ่งที่เรียกว่า ISO 26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรทั้งหลาย โดยภายใน ISO 26000 ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 7 ข้อหลักๆ ด้วยกันคือ การกำกับดูแลองค์กร, สิทธิมนุษยชน, การปฏิบัติด้านแรงงาน, สิ่งแวดล้อม, การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม, ประเด็นด้านผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน

“ตอนนั้นทุกองค์กรโฟกัสแต่เรื่องชุมชน แต่พอ ISO 26000 ออกมา 7 ข้อ ผมแฮปปี้มากเลยในยุคนั้น (ยิ้มกว้าง) เพราะมันทำให้ภาพของคำว่า CSR หรือ social responsibility ขยายขอบเขตออกไปได้กว้างกว่าเดิม ให้คนได้รู้มากขึ้นว่าการทำเพื่อสังคมไม่ได้มีแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม และนี่ก็เหมือนเป็นการเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 ของ CSR ในบ้านเราแล้ว”

จากยุคแรกที่องค์กรจะเน้นทำกิจกรรมที่เน้นการให้ เน้นการบริจาค และบางครั้งกิจกรรมเหล่านั้นก็อาจไม่ได้เชื่อมโยงกลับมาที่ตัวธุรกิจสักเท่าไหร่ แต่พอเข้ามายุคที่สอง องค์กรเริ่มทำ CSR ด้วยการหันกลับมามองที่ตัวเองว่าการทำธุรกิจของพวกเขาจะช่วยลดผลกระทบต่อสังคมได้ยังไง ลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ carbon footprint ได้มากเพียงใด การทำ CSR ในยุคที่สองจึงเป็นการที่หลายๆ องค์กรหันมาให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการภายใน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมมากยิ่งขึ้น 

“คำถามคือ เมื่อคุณลดการปล่อยก๊าซอะไรต่างๆ มาจนเต็มที่จนถึงจุดหนึ่งที่มันลดไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้วจะทำยังไงต่อ ยกตัวอย่างก็เหมือนอย่างรถยนต์ไฟฟ้า จากที่เคยใช้น้ำมันพอเปลี่ยนมาเป็นระบบไฟฟ้าก็สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ในระดับนึงแล้ว แต่ถ้าเราอยากได้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากกว่านั้นอีก ก็ต้องลงทุนใส่เทคโนโลยีเข้าไปเพิ่ม ทีนี้จากรถยนต์ไฟฟ้าราคา 6-7 แสนก็จะขยับราคาไปที่คันละหลายล้านบาท อันนี้คือการเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าถ้าจะลดให้มากกว่าเดิม ก็ต้องใส่เทคโนโลยีเพิ่มเข้าไป ต้นทุนก็จะสูงขึ้นไปอีก แล้วแบบนี้ธุรกิจจะอยู่ได้ไหม 

“มันมีคำถามที่ว่าถ้าลดเราลดอะไรไปไม่ได้มากกว่านี้ แล้วหลังจากนี้เรื่องของ CSR จะเป็นยังไงต่อ มันจะตันอยู่เท่านี้จริงๆ หรือ 

“นั่นจึงเป็นที่มาของการเริ่มก้าวสู่ยุคที่ 3 อย่าง ESG” 

ผู้นำเทรนด์ ESG ในไทยไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือตลาดหลักทรัพย์ 

คุณค่าที่แท้จริงของธุรกิจคืออะไร?

หากนำคำถามนี้ไปถามผู้คนในอดีต คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้นเรื่องของการทำไรสูงสุด แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน คำตอบจึงเปลี่ยนไปตามบริบทสังคม คุณค่าที่แท้จริงของธุรกิจไม่ได้มีแค่เรื่องของมูลค่าแต่รวมไปถึงคุณค่าบางอย่างที่ไม่ใช่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่ทำให้วอลต์ดิสนีย์อยู่มาได้นานนั้นไม่ใช่แค่มูลค่าที่พวกเขาขายการ์ตูนได้ แต่เขาขายเอนเตอร์เทนเมนต์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและครอบครัวใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ซึ่งอย่างหลังคือคุณค่าที่พวกเขาได้ส่งมอบให้กับผู้คน” อาจารย์เอกยกตัวอย่างเสริมเพื่อจะเล่าต่อไปถึงยุคที่ 3 ของ CSR ต่อไปว่าในยุคนี้องค์กรจะเริ่มมองไปถึงเรื่อง high purpose คือไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องการทำกำไร แต่มองไปถึงว่าธุรกิจนั้นสร้างคุณค่าอะไรให้กับสังคมบ้าง 

โดยคนแรกๆ ที่เอาคำว่า ESG มาพูดในบ้านเราไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

และเมื่อตลาดหลักทรัพย์พูดถึง ธุรกิจใหญ่ๆ ที่อยู่ในตลาดฯ ได้ยินและออกมาสร้างแอ็กชั่น ก็ย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เรื่องของ ESG ได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้นไปด้วย 

ถอดสมการของ ESG ที่ทำให้สิ่งแวดล้อม สังคม และธุรกิจเดินหน้าไปด้วยกันได้

ภายใน 3 ตัวอักษรอย่าง ESG ตัวอักษรหลังสุดอย่างตัว G ที่หมายถึง governance หรือธรรมาภิบาลน่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยถึงความหมายของมันมากที่สุด ด้วยเหตุผลนี้อาจารย์เอกจึงถอดสมการของ ESG ให้เราเข้าใจว่าทั้ง 3 ตัวอักษรนี้ทำงานเชื่อมโยงกันยังไง

“environment กับ social เป็นสิ่งที่มีความคาบเกี่ยว แยกออกจากกันไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือแล้ว governance มาจากไหน

“ที่มาที่ไปของตัว governance ก็มาจากมุมมองของเหล่านักลงทุนและผู้ถือหุ้น เพราะแม้จะเป็นเจ้าของบริษัท แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เข้าไปบริหารเอง จะจ้างมืออาชีพและคนเก่งๆ มาช่วยบริหารองค์กรให้ เมื่อไม่ได้เข้าไปทำเองนักลงทุนก็ย่อมมีการตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่าเหล่ามืออาชีพที่เข้าไปบริหารจะบริหารธุรกิจเพื่อประโยชน์ของนักลงทุนได้มากเพียงใด เอาเงินไปลงทุนกับตัว E และตัว S ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะถ้าทำได้ไม่ดีมันก็จะกลายมาเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัท และทำให้กำไรของนักลงทุนลดน้อยลงไปด้วย” 

การมี G เข้ามากำกับ E กับ S จึงเหมือนมีคนมาช่วยกำกับให้การทำงาน และการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมกับสังคมจะต้องสร้างกำไรที่ดีให้กับบริษัทอยู่ต่อไปได้

เมื่อบริษัทมีกำไร อยู่รอดได้ แบบนี้ถึงจะเป็นการทำธุรกิจที่ยั่งยืน 

ธุรกิจเล็ก-กลาง ไม่ต้องกลัวตกเทรนด์ เพราะหลายธุรกิจทำ ESG อยู่แล้ว เพียงแค่ไม่รู้ตัว 

เมื่อคำว่า ESG ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กและกลางจึงมักเกิดคำถามว่า แล้วในปี 2023 บริษัทที่ไม่มีเงินทุนมากมายอย่างพวกเขาจะทำ ESG ได้ยังไง เราจะเห็นธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางหันมาทำ ESG กันมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งอาจารย์เอกก็บอกว่าอันที่จริงแล้วหลายๆ ธุรกิจทำ ESG กันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้ตัวกันเท่านั้นเอง  

“อย่างเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องสิทธิมนุษยชน มีบริษัทไหนบ้างที่ไม่ทำ ทุกคนต้องทำเพราะสิทธิมนุษยชนขั้นต่ำมันอยู่ภายใต้ที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ต่อให้คุณไม่รู้จัก human right, UNBP, CRBP แต่ยังไงแล้วคุณต้องทำเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเรื่องความรับผิดชอบต่อธุรกิจ พนักงาน ชุมชน หรือคู่ค้า จริงๆ แล้วฐานต่ำสุดที่ทุกคนต้องทำมันถูกบังคับด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ฉะนั้นจริงๆ หลายคนทำอยู่แล้ว เพียงแต่คุณทำภายใต้กรอบกฎหมาย

“ซึ่งสังเกตไหมว่ากฎหมายมันจะไล่ CSR ขึ้นไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังตื่นตัวเรื่อง carbon tax ถามว่าเมื่อก่อนทำไมไม่มี ก็เพราะองค์กรที่จะทำต้องมีขนาดใหญ่ ใครทำฉันเจ๋งกว่าคนอื่น แต่พอมาถึงวันนี้คุณต้องเก่งเท่ากัน ทำได้เหมือนกัน ดังนั้นกฎหมายจะเป็นตัวไล่ระดับให้การทำเรื่อง ESG สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ”

อุตสาหกรรมที่จะปรับตัวเรื่อง ESG ได้อย่างเห็นชัดมากที่สุดในปี 2023

หากถามว่าอุตสาหกรรมไหนที่ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคมจนเกิดการตื่นตัวในเรื่องของ ESG มากที่สุด เชื่อว่าคำตอบแรกของใครหลายคนน่าจะเป็นคำตอบเดียวกันกับเรา คือเหล่าธุรกิจขุดเจาะ พลังงาน ทำเขื่อน หรือพวกก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งหลาย

แต่คำตอบของอาจารย์เอกกลับแตกต่างกันออกไป นั่นคือ ‘การเงิน’ 

“เพราะการขุดเจาะ ระเบิดภูเขามาทำเหมือง หรืออะไรก็ตามแต่จะทำไม่ได้เลยถ้าไม่มีเรื่องของการเงินเข้ามาซัพพอร์ต เลยจะเห็นได้ว่าภาคการเงินจะเริ่มออกมาเทคแอ็กชั่นกับเรื่อง ESG มากขึ้นเรื่อยๆ หันมาให้ความสำคัญเรื่อง sustainable finance ผ่านการออกนโยบายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น green fund, green bond หรือ green loan ก็ตาม และการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงิน ก็ย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปยังอุตสาหกรรมอื่นตามไปด้วย”

หากบริษัทขายสินค้าไม่ให้ความสำคัญในเรื่อง ESG ไม่ได้มีนโยบายในการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม อาจทำให้วันหนึ่งผู้บริโภคหันไปหาสินค้าคู่แข่งที่ใส่ใจในประเด็นนี้มากกว่า แต่กับสถานบันการเงิน อะไรคือความจำเป็นที่ทำให้ต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้

“คือคนอยากกู้เงินแบงก์อยู่แล้ว มีแต่แบงก์ที่ไม่ให้กู้ ถามว่าถ้าแบงก์ไม่ออกนโยบายด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมแล้วมันจะกระทบต่อธุรกิจของพวกเขายังไง ถ้างั้นผมขอยกตัวอย่างเช่น สมมติมีธุรกิจนึงจะมาขอกู้เงินแบงก์ แบงก์บอกว่าคุณต้องทำประเมินเรื่องสังคมสิ่งแวดล้อมไม่งั้นไม่ให้กู้  ฝั่งธุรกิจตอบกลับมา ไม่ทำไม่ได้เหรอ คือถึงฉันจะไม่มีนโยบายแคร์สิ่งแวดล้อม แต่ฉันหาเงินต้นกับดอกเบี้ยมาคืนคุณได้แน่ๆ 

“คำถามคือ คุณมั่นใจเหรอว่าบริษัทที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเยอะจะสามารถทำเงินให้คุณได้ในระยะยาว ผู้บริโภคจะยอมรับพวกเขาไหม 

“เพราะบริษัทที่ไม่ทำเรื่องนี้ในตอนนี้ ก็ถือว่านั่นเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงในอนาคตแล้ว”

และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นเหล่าสถาบันทางการเงินทั้งในไทยและต่างประเทศออกมาขยับทำนโยบายปล่อยกู้ที่ให้ความสำคัญเรื่อง green มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าในปี 2023 เราจะเห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน 

สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนตาม 

เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยน ย่อมทำให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนตามไปด้วย โดยอาจารย์เอกบอกว่าในอนาคตเราจะเห็นองค์กรในไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จะมีองค์กรออกมาประกาศตัวว่าจะสร้างคุณค่าอะไรบางอย่างให้กับสังคมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่บอกว่าทำกิจกรรมอะไร

“เมื่อก่อนเราจะได้ยินเรื่องการทำ digital transformation แต่ต่อไปนี้คำที่เราจะได้ยินมาขึ้นเรื่อยๆ คือคำว่า sustainability transformation ตัวมิชชั่น วิชั่น กลยุทธ์ หรือการดำเนินงานต่างๆ ในธุรกิจจะมีการทรานส์ฟอร์มเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของตัวองค์กรมากขึ้น ซึ่งดิจิทัลกับไอทีจะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม”

เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว โจทย์ที่น่าสนใจจึงไม่ใช่เรื่องที่ว่าองค์กรจะตื่นตัวมากแค่ไหน แต่คือจะมีกลยุทธ์ในการทำ sustainability transformation ยังไงมากกว่า เพราะเรื่องพวกนี้ไม่ใช่แค่เอาเครื่องมือมาใส่แล้วจะทำให้ธุรกิจ green ขึ้นมาได้ทันที แต่คือผู้บริหาร พนักงาน และผู้คนในองค์กรทั้งหลายยังต้องปรับเปลี่ยนทรานส์ฟอร์มวิธีคิดวิธีการทำงานของตัวเองด้วยเช่นกัน 

องค์กรจะกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเรื่องความยั่งยืนในผู้คนมากขึ้น 

เมื่อนโยบายขององค์กรเปลี่ยน คนในองค์กรจึงต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาจารย์เอกจึงบอกว่าในอนาคตองค์กรจะกลายเป็นเหมือนเตาหลอมที่บ่มเพาะเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้คนด้วยวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรเองที่จะทำให้ ‘คน’ หันมาพูดเรื่องความยั่งยืนใน ‘คน’ ด้วยกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่เรื่อง human capital หรือการพัฒนาทุนมนุษย์นั่นเอง

นอกจาก CSR ในองค์กรที่เติบโตขึ้นแล้ว เราจะเห็น CSR หรือ Consumer Social Responsibility ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้คนก็เติบโตด้วยเช่นกัน

คนกลุ่มนี้เวลาจะซื้ออะไรสักอย่างเขาจะมองหาคุณสมบัติทั้งในเชิงฟังก์ชั่น และ social and enviromental ควบคู่กันไป เช่นหากจะซื้อกระติกน้ำสักอัน แล้วมีสองยี่ห้อมาตั้งอยู่ตรงหน้า คุณสมบัติเหมือนกันเลย เก็บความเย็นได้ จุน้ำได้เยอะ ราคาดี แต่อีกชิ้นบอกสามารถรีไซเคิลได้ 100% คราวนี้คนจะหันมาเลือกกระติกที่รีไซเคิลได้มากขึ้นทันที หรืออย่างข่าวการเสียชีวิตของพยูนมาเรียมเพราะขยะพลาสติกในทะเล ในตอนนั้นสิ่งที่ตามมาทันทีคือกระแสของพลาสติก และถ้าเอาที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือตอนที่ห้างเริ่มงดแจกถุงพลาสติก แรกๆ คนก็ยังปรับตัวกันไม่ได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าการพกถุงผ้าไปซูเปอร์มาร์เก็ตก็กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว 

เหล่านี้เป็นบางส่วนที่สะท้อนให้เห็นว่าค่านิยมของผู้คนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนไปจากอดีตมากขึ้นแล้ว หากธุรกิจยังคงทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่ปรับตัว แต่การทำอะไรแบบเดิมๆ นั้นเป็นสิ่งที่ไปละเมิดค่านิยมของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป

ก็คงเป็นเรื่องยากที่ธุรกิจนั้นจะยืนระยะได้นาน

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

บางเวลาเป็นช่างภาพและบางเวลาก็ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย

You Might Also Like