รสมือคุณย่า

Enoteca Maria ร้านอาหารที่จ้างคุณย่าคุณยายจากทั่วโลกมาเป็นเชฟและเปิดแค่อาทิตย์ละ 3 วัน

อาหารให้พลังงานกับร่างกาย อาหารทำให้เรามีแรง อาหารทำให้เราทำงานได้ในแต่ละวัน

แต่กับอาหารบางอย่าง เราไม่ได้กินอาหารจานนั้นเพราะเราหิว เราไม่ได้กินอาหารจานนั้นเพราะเราอยากกิน แต่เรากินอาหารจานนั้นเพราะความคิดถึง

หากคุณโชคดีมากพอที่จะมีความทรงจำร่วมกับใครสักคนผ่านอาหารบางจาน หรือผ่านกาลเวลาที่อาจล่วงมาแล้วอย่างยาวนาน ไม่ว่าอาหารจานนั้นจะเป็นเมนูไหน ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร เราคิดว่าคุณคือคนที่โชคดี 

ความโชคดีของคนบางคน หมายถึงการได้มีความทรงจำเกี่ยวกับอาหารร่วมกับคุณย่าคุณยายผ่านมื้ออาหารในวัยเด็ก ไม่ว่าความทรงจำนั้นคือการได้เป็นลูกมือโขลกเครื่องแกงให้คุณย่า หรือความทรงจำนั้นคือรสมือของคุณยาย ที่ไม่ว่าเชฟมิชลินหน้าไหนบนโลกใบนี้ก็สู้ไม่ได้ทั้งนั้น 

ถ้าคุณบังเอิญเป็นคนที่โชคดีคนนั้น เราก็ยินดีกับคุณด้วย และปฏิเสธไม่ได้ว่าเราแอบอิจฉาคุณชะมัด

โจ สการาเวลลา (Joe Scaravella) ผู้ก่อตั้งร้านอาหาร Enoteca Maria ที่นิวยอร์ก คือหนึ่งในผู้โชคดีคนนั้น

โจมีเชื้อสายชาวซิซิลี ประเทศอิตาลี แต่เกิดและโตมาที่บรูกลินโดยการเลี้ยงดูของคุณยาย เพราะตามประสาความฝันแบบอเมริกันดรีมที่ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย จะเกิดจะโตมาจากที่ใดก็ประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น ถ้ามีความตั้งใจ มีความพยายาม และขยันอดทน 

ดังนั้นการที่คุณแม่ของโจต้องออกไปทำงานหนักทุกวัน เพื่อให้ครอบครัวตั้งหลักที่ผืนดินแห่งความหวังและโอกาสแห่งนี้ได้ ทำให้เขาได้ใช้เวลาวัยเด็กเกือบทั้งหมดกับคุณยายชาวอิตาเลียนของเขา 

ในความทรงจำที่ไม่จาง คุณยายหมั่นเพียรทำอาหารอิตาเลียนให้กินทุกวันๆ รสมือลาซานญ่า สปาเกตตี ยอกกี้มันเทศ ยังคงสะกดโจได้อยู่หมัด ไม่ว่าจะออกไปเล่นซนที่ไหนสุดท้ายก็กลับมาอิ่มเปรมกับอาหารของคุณยายอยู่ดี

จนเมื่อปี 1999 เมื่อคุณยายของโจเสียชีวิต และโจคงไม่ได้กลิ่นซอสโปโมโดโรลอยมาเตะจมูก ไม่ได้ยินเสียงเคี่ยวสตูว์ในครัวที่บ้านอีกต่อไป

แต่ความคิดถึงอาหารจานเหล่านั้น และบรรยากาศในครัวที่คุณยายเคยเดินไปมายังคงอยู่ในใจไม่มีวันจางหาย

เดือนมีนาคม ปี 2007 เขาตัดสินใจว่าจะบำบัดความคิดถึงนั้นด้วยการเปิดร้านอาหาร!

โจตั้งชื่อร้านอาหารนั้นว่า Enoteca Maria คำว่า Enoteca แปลว่า ที่เก็บไวน์, โรงเก็บไวน์ ส่วน Maria เป็นชื่อของคุณแม่โจ

เนื่องด้วยร้านอาหารร้านนี้เปิดมาเพื่อบำบัดความคิดถึงของโจที่คิดถึงบรรยากาศการทำอาหารของคุณยาย สมัยที่คุณยายยังมีชีวิตอยู่ คอนเซปต์ของร้านนี้จึงไม่เหมือนร้านอาหารร้านไหนๆ 

โจไม่ได้จ้างเชฟที่เชี่ยวชาญที่สุด หรือมีเทคนิคการทำอาหารที่หวือหวา แต่เขาจ้างคุณย่าคุณยายมาทำอาหาร (หรือจะเรียกว่ามาเป็นเชฟ) ที่ร้านแทนต่างหากล่ะ

อาจจะพูดได้ว่าหนึ่งในคุณสมบัติของคนที่มาทำอาหารให้คุณทานที่ร้าน Enoteca Maria คือสุภาพสตรีที่มีอายุไม่หย่อนกว่า 50 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น เพราะปัจจุบันนี้ร้าน Enoteca Maria มีคุณย่าคุณยายจากทั่วโลกมาขันอาสาทำงานเป็นเชฟให้ที่ร้านหมุนเวียนกันประมาณ 30-40 คน และขอบเขตอายุของคุณย่าคุณยายเหล่านั้นอยู่ที่ 50-91 ปี!

เนื่องจากคุณย่าคุณยายแต่ละคนมีอายุยืนยาวขนาดนั้น แต่ละคนจึงพกสูตรลับและตำรับอาหารที่ตัวเองทำจากบ้านมาแบ่งปันให้กับครัวที่ร้าน Enoteca Maria อยู่เสมอ เท่ากับว่าที่ร้าน Enoteca Maria คุณจะได้กินอาหารตำรับคุณย่าคุณยายหลายๆ บ้าน ซึ่งจะว่าไปคงเหมือนเวลาเราไปเที่ยวเล่นที่บ้านเพื่อน แล้วคุณย่าคุณยายของเพื่อนก็จะทำกับข้าวให้กินนั่นแหละ

จากความตั้งใจที่อยากสร้างบรรยากาศของห้องครัวในบ้านสมัยที่คุณยายยังมีชีวิตอยู่ โจจึงมุ่งไปที่คุณย่าคุณยายชาวอิตาเลียนที่ทำเฉพาะอาหารอิตาเลียนเท่านั้น แต่ไปๆ มาๆ เขาก็คิดได้ว่า ความคิดถึงรสมือของคุณย่าคุณยายไม่ควรถูกสงวนไว้เฉพาะคนที่มีเชื้อสายอิตาเลียน 

ปี 2015 เชฟคุณยายต่างชาติคนแรกจึงถูกว่าจ้างที่ร้าน Enoteca Maria และคุณยายคนนั้นเป็นชาวปากีสถาน

นับจากนั้นมา ขอบเขตเชื้อชาติของเชฟคุณย่าคุณยายที่ร้าน Enoteca Maria ก็แผ่ขยายออกไปอย่างไร้พรมแดน ปัจจุบันที่ร้าน Enoteca Maria มีเชฟคุณย่าคุณยายที่มีเชื้อสายมาจากทั่วโลก ทั้งซีเรีย อาร์เมเนีย ศรีลังกา กรีซ ญี่ปุ่น และเกาหลี

ร้าน Enoteca Maria เปิดทำการอาทิตย์ละ 3 วัน คือ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และเปิดให้บริการเป็นรอบๆ ได้แก่ 14:30, 17:30 และ 19:30 น. โดยที่ร้านจะมีเชฟคุณย่าคุณยายวันละ 2 คนที่ถือเป็นเชฟใหญ่ของร้าน และ 1 ในนั้นจะเป็นคุณยายชาวอิตาเลียน ซึ่งอนุมานเอาว่าเพื่อรักษาความตั้งใจเดิมของโจที่เปิดร้านนี้มาเพื่อระลึกถึงคุณยายของตัวเองนั่นแหละ

ถ้าคอนเซปต์การเปิดร้านอาหารเพื่อย้อนความคิดถึงที่ตัวเองมีต่อคุณยายของโจว่าน่ารักแล้ว อยากบอกว่า ยังมีเรื่องราวที่น่ารักมากไปกว่านั้นในร้านอาหารแห่งนี้ นั่นคือการเปิดให้เชฟคุณย่าคุณยายทุกคนสอนทำอาหารได้

เพราะความคิดถึงในช่วงเวลาที่มีต่อคุณย่าคุณยายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างที่เกริ่นไว้แต่ต้นว่า บางคนคิดถึงรสมือ บางคนคิดถึงช่วงเวลาที่ได้เป็นลูกมือ (แถมยังได้ตำรับเคล็ดลับการปรุงอาหารติดตัวไปอีก)

โจจึงเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมาเทรนการเป็นลูกมือเพื่อเรียนรู้การทำกับข้าวกับเชฟคุณย่าคุณยายที่ร้านได้แบบตัวต่อตัว ที่สำคัญคือฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรทั้งนั้น แต่มีข้อแม้เพียงแค่ว่า คุณต้องลงทะเบียนรอคิวสักหน่อย เพราะคนอยากมาเรียนรู้เคล็ดลับวิชากับเชฟคุณย่าคุณยายจากร้าน Enoteca Maria มากเหลือเกิน 

สิทธิพิเศษในการได้เรียนรู้ตำรับอาหารจากคุณย่าคุณยายที่ร้าน Enoteca Maria เกิดขึ้นได้เฉพาะที่ร้านอาหารร้านนี้ที่ตั้งอยู่บน Staten Island ที่นิวยอร์กเท่านั้น หมายความว่า ถ้าเราอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่ที่โตเกียว หรืออยู่ที่ย่างกุ้ง เราก็อดเรียนกับคุณย่าคุณยายผู้น่ารักเหล่านี้เลยอย่างนั้นน่ะเหรอ?

เชื่อเหลือเกินว่าพวกเราไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่ตั้งคำถามนี้กับโจ 

เพราะโจได้รวบรวมเอาสูตรอาหารของคุณย่าคุณยายทั้งหลายที่เป็นเชฟที่ร้าน Enoteca Maria ไว้ในหนังสือแบบออนไลน์ ที่ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนบนโลกก็เข้าไปดูแล้วทำตามได้ แถมในสูตรอาหารแต่ละสูตรยังลงรูปคุณยายเจ้าของสูตรไว้อีกต่างหาก เวลาคุณเอาสูตรอาหารเหล่านี้ไปลองทำเองที่บ้าน คุณจะได้รู้ว่ากำลังเรียนรู้สูตรลับการทำซุป หรือการย่างสเต๊กจากคุณยายคนไหนยังไงล่ะ

Enoteca Maria อาจจะเป็นร้านอาหารที่เกิดมาจากความคิดถึงของโจที่มีต่อคุณยาย แต่ตอนนี้ความคิดถึงนั้นได้กลายเป็นทั้งธุรกิจที่สร้างรายได้แก่คุณย่าคุณยายอีกมากมาย แถมยังเป็นร้านอาหารที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและอ้อมกอดของคุณย่าคุณยายทั้งหลายที่มีต่อลูกๆ หลานๆ ที่แม้ไม่ได้ผูกพันกันโดยสายเลือด แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นด้วยอาหาร

แล้วครั้งสุดท้ายที่คุณกินอาหารด้วยความคิดถึง อาหารจานนั้นคืออะไร และอาหารจานนั้นทำให้คุณคิดถึงใคร?

อ้างอิงจาก

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like