Collect Music Memories in VINYL

Drop the Needle Collective เอเจนซีที่คอนเนกต์ศิลปินกับแฟนเพลงด้วยแอนะล็อกมิวสิกและแผ่นไวนิล

คำว่า Drop the Needle นั้นแปลตรงตัวได้ว่า วางหัวเข็มลงบนแผ่นเสียง 

เหตุผลที่ตั้งชื่อนี้เพราะ ‘Drop the Needle Collective’ คือเอเจนซีที่นำเสียงเพลงแอนะล็อกไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คน ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท Gadhouse ผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงสัญชาติไทยสไตล์ retro modern ที่ขายดีและมีชื่อเสียงไปไกลทั้งในไทยและต่างประเทศ

ดรีมทีมทั้งสี่ของ Drop the Needle Collective ที่จะมาคุยกับเราในวันนี้มีทั้ง จ๊ะเอ๋–จุฑามาศ ขันแก้ว DTN Collective Manager, บอมบ์–คชล เกลื่อนวัน Account Executive, ก๊อง–กีรติ เงินมี Creative Director และ เหมย–นภัสกร อิทธิสาร Content creator 

“เราเป็นเอเจนซีที่ออกแบบประสบการณ์ด้านดนตรีและอยากคอนเนกต์ผู้คนและเสียงเพลงเข้าด้วยกัน” บอมบ์บอกว่าเหตุผลที่ Drop the Needle Collective นิยามตัวเองว่าเป็น ‘เอเจนซี’ เพราะอยากเป็นนักเล่าเรื่องและออกแบบประสบการณ์มากกว่าแค่ขายสินค้าอย่างเดียว 

และเหตุผลที่ต้องมีทั้งนักออกแบบ นักเล่าเรื่อง นักสร้างคอมมิวนิตี้ นักขายเพราะเบื้องหลังการทำงานคือการสร้างสรรค์สินค้าที่เก็บสะสมความทรงจำของแฟนเพลงไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียงไวนิลที่ออกใหม่ในโอกาสพิเศษอย่างโอกาสครบรอบ ออกอัลบั้มใหม่ หรือคอนเสิร์ตของศิลปิน  

โดยมีโมเดลธุรกิจคือการรับผลิตแผ่นเสียงไวนิลที่เป็นหมวดหลักและ merchandise อื่นๆ หลากหลายแบบให้ศิลปินและค่ายเพลง ทั้งเทปคาสเซตต์ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ฯลฯ รวมทั้งของสะสมในเซตแผ่นเสียงอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก ไปจนถึงรับจัดอีเวนต์สำหรับแบรนด์ที่อยากสร้างมิวสิกไลฟ์สไตล์

ชวนหยิบแผ่นเสียงของ Drop the Needle Collective ขึ้นมาเล่นทีละแผ่น แล้วฟังเรื่องราวการทำธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังการทำแผ่นเสียงแต่ละรุ่นไปพร้อมๆ กัน 

เลือกศิลปินที่มองว่าเจ๋ง

จุดเริ่มต้นคือการหาแผ่นเสียงทั้งมือหนึ่งและมือสองมาขายแบบซื้อมาขายไปจนเมื่อรู้จักพาร์ตเนอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศที่สามารถผลิตแผ่นเสียงได้อย่างมีคุณภาพ ก็เห็นโอกาสในการต่อยอดเปิดแบรนด์ใหม่ที่แตกหมวดหมู่ออกมาจาก Gadhouse เพื่อเน้นด้านแผ่นเสียงที่ผลิตเองโดยเฉพาะ

ในการคัดสรรเพลง จ๊ะเอ๋บอกว่า “เราเลือกศิลปินที่ชอบเป็นอันดับแรก ไปด้วยใจเลย แล้วก็ได้ผลตอบรับกลับมาด้วยใจเหมือนกัน ตอนนี้ก็เป็นพาร์ตเนอร์กับแทบจะทุกค่ายในประเทศไทยเลย” ค่ายเพลงที่ร่วมงานด้วยจึงมีหลากหลายตั้งแต่ Smallroom, GMM Grammy, SpicyDisc, What The Duck, Nadao Music, LOVEiS, YUPP!, 123records, Parinam Music, Color Code “พอรู้จักกับค่ายเพลงอินดี้เยอะ เราก็ปิ๊งไอเดียว่าอยากติดต่อคนรู้จักก่อนเลย อันดับแรกติดต่อไปที่ Parinam Music จุดเริ่มต้นของเราเลยได้ศิลปินมาทำและคิดไอเดียด้วยกัน” 

แผ่นแรกคือวง FOLK9 อัลบั้ม Chinese Banquet แนวเพลง Dream Pop ผสมกรู๊ฟดนตรี Soul ที่ออกแบบให้แผ่นเสียงมีสีสันสะดุดตาไม่เหมือนใครเป็นสีส้มใส ต่อด้วยวง Lemon Soup อัลบั้ม Weekend อัลบั้มยุค coming of age สุดคลาสสิกของวงที่เป็นเพลงในความทรงจำของใครหลายคน

เริ่มด้วยสองคอลเลกชั่นนี้แล้วก็ทำต่อเนื่องเรื่อยมา โดยแต่ละรุ่นจะเน้นความเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น มีทั้งอัลบั้มที่คัดสรรเพลงใหม่ทั้งหมดไปจนถึงเลือกเพลงที่ทางค่ายเพลงอยากนำเสนอในโอกาสพิเศษ 

ก๊องบอกว่าถ้าศิลปินคนไหนมีเพลงเพราะแต่คนในวงกว้างยังไม่รู้จักก็อยากทำให้คนเห็นว่าเพลงนั้นพิเศษขึ้นมา “หรือเราอาจเลือกศิลปินบางคนที่ยังไม่ค่อยมีแฟนคลับแต่เรามองว่าเจ๋งดี ทำออกมาเป็นอัลบั้มเวอร์ชั่นที่ยังไม่เคยมีใครปล่อยออกมาและหายาก หาฟังที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ 

“อย่างแผ่นเสียงอัลบั้ม Drop the Needle Vol. 1 x Smallroom ก็ไม่ได้เลือกเพลงที่ป๊อปปูลาร์ แต่เป็นเพลงแรร์ไอเทมที่ศิลปินชอบ ศิลปินรู้สึกว่าอยากแนะนำเพราะมันไม่ใช่เพลงแมสที่ทุกคนจำได้ ทางค่ายเลยเอาเพลงเหล่านี้มารวมกัน ตอนแรกที่แยกแทร็กแต่ละเพลงก็ยังไม่แน่ใจ แต่พอเรียบเรียงลิสต์เพลงทั้งหมดแล้วออกมาสมูท พอทุกคนเปิดฟังแล้วมันดี” 

จ๊ะเอ๋ยังบอกว่า “เดี๋ยวเร็วๆ นี้เราก็จะชวนวงญี่ปุ่นวงหนึ่งมาทำแผ่นเสียงด้วยกันให้มันพิเศษ เลือกจากการเป็นวงที่มีแนวเพลงน่าสนใจแล้วคิดว่าบ้านเราก็น่าจะมีคนชอบเหมือนกัน” 

การมีคอนเนกชั่นกับศิลปินในประเทศต่างๆ ทำให้ทีมได้ลองฟังเพลงแนะนำใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากศิลปินต่างประเทศเหล่านั้น เช่น เพลงจากประเทศที่มีวัฒนธรรมฟังเพลงแข็งแรงอย่างอินโดนีเซีย แล้วมาแนะนำเพลงให้คนไทยที่รักแผ่นเสียงหลากหลายกลุ่มฟังอีกต่อ  

พาศิลปะมาเจอกับดนตรี

เสน่ห์ของการทำแผ่นเสียงไม่ใช่แค่คัดเลือกเพลง แต่ยังเป็นการนำศิลปะและดีไซน์มาออกแบบแผ่นเสียงให้เข้ากับคาแร็กเตอร์ของศิลปิน Drop the Needle จึงเป็นตัวกลางที่ชวนนักวาดและดีไซเนอร์มาเจอกับคนทำดนตรี แล้วร่วมออกแบบแผ่นเสียงและสินค้าอื่นๆ ร่วมกัน 

โดยเน้นทำแผ่นเสียงลิมิเต็ดเอดิชั่น ซึ่งหมายถึงรุ่นพิเศษที่ทำแค่ครั้งเดียวในโอกาสพิเศษ เช่น แผ่นเสียงอัลบั้ม Yupp! 444 Compilation ในโอกาสฉลองครบรอบ 4 ขวบของค่ายเพลง YUPP! ที่รวมเพลงจาก 4 ศิลปินหลักและ 4 ศิลปินหน้าใหม่ แล้วชวนนักวาด SIMPLESEASUN มาวาดคาแร็กเตอร์ของนักร้องในสไตล์มังงะบนปกแผ่นเสียงร่วมกับค่าย พร้อมสติ๊กเกอร์และการ์ดคาแร็กเตอร์สำหรับสะสม 

ในการออกแบบแต่ละครั้ง ศิลปินแต่ละท่านจะถูกจับคู่กับนักวาดที่มีสไตล์เข้ากัน และหลายครั้งคอนเซปต์ดีไซน์ของแผ่นเสียงเหล่านี้ก็มาจากการตีความจากเพลง อย่างเซตล่าสุดของนนท์ ธนนท์ ‘Cigarette Candy & Vanilla Sky” Limited Edition Triple LP’ ที่ทำแผ่นเสียงออกมา 3 แผ่น 3 สี คือ Cigarette, Candy และ Vanilla Sky สื่อถึงเนื้อเพลงที่เล่าเรื่องราวความทรงจำที่หวานหอมเกินฝันและขมเกินที่จะลืมไหว 

การสะสมแผ่นเสียงจึงไม่ใช่แค่สะสมเพลงแต่เป็นการสะสมศิลปะและความทรงจำด้วย เหมยบอกว่าคอลเลกชั่นแผ่นเสียงที่เธอประทับใจที่สุดคือคอลเลกชั่น Rattana Rainbow Eyes ซิงเกิลลำดับที่ 2 จากโปรเจกต์เดี่ยวของ ‘นะ Polycat’

“ครั้งนี้มีการนำ NFT (ดิจิทัลอาร์ต) เข้ามาเล่นด้วย และขาย 3 แบบ แบบแรกจะได้แค่แทร็กเพลง แบบที่สองได้ไป meet&greet ที่อีเวนต์ด้วย แบบที่สามจะได้งาน NFT และได้สิทธิ์เข้าไปหลังเวทีคุยกับพี่นะทุกคอนเสิร์ตต่อจากนี้ไป ก็รู้สึกประทับใจ เป็นครั้งแรกของเราที่ได้ทำอีเวนต์ ได้เห็นบรรยากาศในงานที่แฟนคลับอบอุ่นมาก ไม่ว่างานผ่านไปกี่ปี พอเราแชร์ขึ้นมาใหม่แฟนคลับก็ยังจำได้อยู่ เขายังพูดถึงงานในวันนั้นว่าดีมาก”  

จ๊ะเอ๋และบอมบ์เองก็มีความรู้สึกประทับใจที่คล้ายกันคือการได้ทำแผ่นเสียงที่ทุกคนตามหา อย่าง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ The Vinyl’  ของบิวกิ้น-พีพี ที่ทำร่วมกับนาดาว มิวสิคและกลายเป็นรุ่นแรร์ไอเทมที่แม้ทำมาปีกว่าแล้วแต่แฟนคลับยังตามหาอยู่

นอกจากแผ่นเสียงแล้ว สินค้าอื่นๆ อย่างเทปคาสเซตต์, เครื่องเล่นเทป, เครื่องเล่นแผ่นเสียง Turntable, Slipmat แผ่นรองไวนิล, เครื่องเล่นซีดี, เครื่องเล่น MP3 ก็ล้วนสามารถออกแบบในดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ให้เข้ากับศิลปินแต่ละคนได้หมด  

สร้างห้วงเวลาที่ดื่มด่ำกับตัวโน้ต  

ความสนุกของแผ่นเสียงอีกอย่างคือการได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนกับคอเพลงที่ชื่นชอบแบบเดียวกัน ในทุกๆ ปีที่ผ่านมา Drop the Needle มีอีเวนต์ที่ตั้งใจจัดรายปีคืองานวันร้านเเผ่นเสียงโลก Record Store Day เป็นงานที่รวมแผ่นเสียงมากมายและยังออกคอลเลกชั่นพิเศษสำหรับงานนั้นโดยเฉพาะ โดย 2 ปีที่ผ่านมาออกแผ่นเสียงอัลบั้มพิเศษร่วมกับค่าย Smallroom และ วง H3F 

“นอกจากคนที่ฟังแผ่นเสียงอยู่แล้ว เราอยากดึงคนกลุ่มใหม่เข้ามาด้วย สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจ เราก็จะให้ความรู้เขาว่าก่อนเข้ามาเล่นแผ่นเสียงมันต้องรู้จักอะไรบ้าง” จากความเชื่อที่ก๊องเล่าว่าไม่อยากจำกัดให้คนที่เข้าถึงแผ่นเสียงได้เป็นนักสะสมเท่านั้น ทำให้รูปแบบการจัดอีเวนต์มีความหลากหลายและเปิดรับคนหน้าใหม่ที่อยากลองก้าวเท้าเข้ามาในวงการ

“ตอนที่เราเคยจัด Record Store Day ครั้งที่ 2 ที่หอศิลป์ เราชวนพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ที่มีแผ่นเสียงเยอะที่สุดในประเทศไทยมาทำห้องสมุดแผ่นเสียง มันเป็นเพลงฮิตของแกรมมี่กับอาร์เอสและผลตอบรับก็ดีตามคาด ทุกคนก็มายืมแผ่นเสียงกันที่ห้องสมุด”

Vinyl Library ในครั้งนั้นรวมแผ่นเสียงไทยทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง และต่างประเทศ ซึ่งสามารถยืมและคืนได้ ทำให้วัยรุ่นสนใจเปิดประสบการณ์การฟังเพลงจากแผ่นเสียงไวนิลแม้จะไม่ใช่อัลบั้มนักร้องวัยรุ่นที่คุ้นเคยทุกแผ่นก็ตาม 

ดนตรีแอนะล็อกยังสามารถสร้าง music scene ทั้งบรรยากาศและประสบการณ์ให้แบรนด์หมวดอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสินค้าด้านดนตรีได้ด้วย จ๊ะเอ๋ยกตัวอย่างงาน ‘What The Duck Family & Friends Party’ ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี ของค่าย What The Duck ในวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมาและมีโซนที่จัดร่วมกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากอิเกียและ Ash Asia  

“ถ้าถามว่าเฟอร์นิเจอร์เข้ามามีส่วนร่วมกับไลฟ์สไตล์มิวสิกได้ยังไง ก็คือเราจัดเป็น listening room ให้มานั่งฟังเพลงบนเฟอร์นิเจอร์จากอิเกียที่โซน relaxing ในงาน เพราะคนเล่นแผ่นเสียงจะชอบซื้อเฟอร์นิเจอร์ให้มีดีไซน์และบรรยากาศเข้ากัน เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์การใช้เฟอร์นิเจอร์กับการฟังเพลง แล้วเดี๋ยวจะต่อยอดเล่าเป็นคอนเทนต์สินค้าแนะนำเฟอร์นิเจอร์จากอิเกียที่เหมาะกับคนรักแผ่นเสียง”

นอกจากนี้ยังได้ร่วมทำเเผ่นเสียงเพลง น่ารักจนใจเจ็บ (Feel Just Right) ในโครงการอณาสิริของแสนสิริร่วมกับศิลปิน Bonnadol ออกมาเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเล่าถึงการใช้ชีวิตที่พอดีกับตัวเอง โดยในเซตมีทั้งแผ่นเสียง ANASIRI x Bonnadol และเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เข้าชุดกันแบบลิมิเต็ดเอดิชั่น

การเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างมิวสิกไลฟ์สไตล์ให้แบรนด์เป็นช่องว่างทางตลาดที่ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางลุกขึ้นมาทำอย่างแพร่หลาย และ Drop the Needle Collective ก็เป็นเอเจนซีวงการเพลงแอนะล็อกในไทยเจ้าแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาออกแบบประสบการณ์ให้แบรนด์ด้วยเพลง

ตัวกลางที่คอนเนกต์ศิลปินกับแฟนคลับ

จากการผลิตแผ่นเสียงให้ศิลปินและค่ายหลายแห่ง ทีม Drop the Needle Collective บอกว่า ตอนนี้คอมมิวนิตี้คนรักแผ่นเสียงในไทยมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มดีเจเปิดแผ่นเสียง ร้านแผ่นเสียงทั่วไทยในหลายจังหวัด และคนรักการฟังเพลงหลากหลายเจเนอเรชั่น

“เราก็อยากส่งเสริมให้ร้านแผ่นเสียงอยู่ได้ด้วย พยายามพรีเซนต์ร้านแผ่นเสียงที่ดีในประเทศ อยากให้คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ได้เจอกัน เพราะในงานคอมมิวนิตี้จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และทำให้คนที่มีรสนิยมความชอบเหมือนกันได้เจอกัน เราก็อยากให้เกิดซีนนี้ขึ้น”

ก๊องยังเล่าต่ออีกว่าเบื้องหลังการผลิตสินค้าก็มีความท้าทายพอสมควร โดยเฉพาะสินค้าหลักอย่างแผ่นเสียงจะมีกระบวนการผลิตที่ทำยากกว่าซีดีและเทป ทั้งต้องเอาไฟล์เพลงมาเข้ากระบวนการ mastering for vinyl (กระบวนการปรับปรุงเสียงสำหรับแผ่นเสียงให้มีคุณภาพดีที่สุด) มีทีม sound engineer โปรดิวเซอร์และค่ายเพลงต้องทดลองฟังให้รื่นหูก่อนผลิตจริง 

ด้วยความเป็นแผ่นเสียงลิมิเต็ดเอดิชั่นที่ออกแบบใหม่ในทุกครั้งทำให้แต่ละครั้งต้องมีการทดลองเรื่องการผสมสี หรือทดลองทำสิ่งใหม่ที่ท้าทาย เช่น ตั้งโจทย์เรื่องการรักษ์โลกมากขึ้นในการผลิตสินค้าต่างๆ หรือออกแบบประสบการณ์ใหม่ในงานอีเวนต์ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน 

ความชื่นใจของทีมคือการได้เห็นคนลองฟังเพลงจากแผ่นเสียงแล้วชอบ ลองวางเข็มให้แผ่นเสียงเล่นเพลงแล้วได้สัมผัสประสบการณ์ฟังเพลงรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากการฟังในสตรีมมิง ได้หวนระลึกถึงความทรงจำที่น่าจดจำจากบทเพลง มีภาพถ่ายจากการไปงานอีเวนต์ ได้แผ่นเสียงและของที่ระลึกของศิลปินคนโปรดไว้เก็บสะสมในรูปแบบศิลปะสวยงามที่จับต้องได้ และความภาคภูมิใจที่สุดของ Drop the Needle คือการได้เป็นตัวกลางในการสร้างความทรงจำเหล่านี้และได้สร้างสินค้าแทนใจที่ทำให้มิวสิกไลฟ์สไตล์เข้าถึงคนรักการฟังเพลงได้ง่ายขึ้นนั่นเอง  

ข้อมูลติดต่อ :
Website :
droptheneedle.co
Facebook : droptheneedlebkk
Instagram : drop_the.needle

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like