นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

The Beef Master

คุยกับโต-ตาล ถึงวิธีการปั้นแบรนด์ ‘เนื้อแท้’ และเบื้องหลังการตลาดที่ไวรัลบนโลกโซเชียล

ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณช่วงปี 2000s คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ ‘Silly Fools’ วงดนตรีร็อกสตาร์ชื่อดังของเมืองไทยที่ทั้งมัน ร็อก เดือด มีลายเซ็นในแนวเพลงของตัวเองจนเป็นที่จดจำบนโลกแห่งเสียงเพลง ก่อนที่ในเวลาต่อมา ฟรอนต์แมนของวงอย่าง โต–วีรชน ศรัทธายิ่ง จะประกาศแขวนไมค์ไม่เดินบนเส้นทางสายดนตรีอีกต่อไป

การลาออกจากวงการดนตรีของเขาในวันนั้น ส่วนสำคัญมาจากความเคร่งครัดและตั้งใจเดินในเส้นทางศาสนาอย่างเข้มข้นของเจ้าตัว แต่การปิดประตูสายดนตรีของเขา กลับทำให้ประตูบานใหม่เปิดทางให้กับเขาในเวลาต่อมา

นั่นคือ ประตูสู่โลกธุรกิจ 

โต ได้กระโจนเข้ามาลองผิดลองถูกร่วมกับเพื่อนรักคนสนิท อย่าง ตาล–นภศูล รามบุตร อดีตผู้บริหารธนาคารผู้ตัดสินใจลาออกจากโลกการเงินใบเก่า ด้วยความเชื่อและอุดมการณ์ทางศาสนาเช่นกัน 

ผู้ละทิ้งโลกใบเก่าทั้งสอง โต-ตาล จึงเริ่มออกเดินทางสู่เส้นทางสายใหม่ ทั้งคู่เป็นมิตรคู่หูทั้งบนเส้นทางแห่งศาสนาและเส้นทางสายธุรกิจ

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Company B บริษัทที่ประกอบกิจการขายเนื้อวัวและธุรกิจร้านอาหารชื่อดังหลายร้านทั้ง The Beef Master, เนื้อแท้, พันละวัน

หลายคนน่าจะจดจำ ‘เนื้อแท้’ ในฐานะแบรนด์ที่ใช้โซเชียลฯ ได้อย่างทรงพลัง หลายคอนเทนต์กลายเป็นไวรัล บนโลกออนไลน์ อยากรู้ว่าพวกคุณดูแลเพจนี้ด้วยตัวเองหรือมีใครช่วยดูแล

โต : เรามีทีมงานที่เป็นฝ่ายพีอาร์ทำ เขาชื่อน้องคิง เขาเรียนมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเขาจะสนใจเรื่องเหตุบ้านการเมือง เขาชอบดูข่าว เขาก็ชอบคุยเล่น ล้อกันไปมากับตาลทั้งวัน

คุณบรีฟอะไรไหม ว่าต้องทำอะไร ห้ามทำอะไร

โต : ผมก็มีดูๆ ตอนแรกที่เขาโพสต์ พอมันเริ่มออกมาดูมีฟีดแบ็กที่ดี ผมก็บอกเขาว่า เออ แบบนี้มันก็น่าจะดีนะ แต่ต้องระวังนิดนึง อย่าให้มันมีปัญหานะ

ตาล : คือเขาก็เป็นคนมีอุดมการณ์เหมือนกันกับเรา น้องเขาเข้ามาเพื่อจะมาอยู่ร่วมอุดมการณ์เดียวกับเรา 

คนที่จะมาอยู่บริษัทเดียวกับเรา ไม่ใช่มาเพราะเราจ่ายเยอะนะ เพราะเราไม่มีปัญญาจ่ายอยู่แล้ว แต่เขามาเพราะเขามีหลักการเหมือนโตและผม นั่นคือหลักการศาสนา จริงๆ เขามาช่วยเราทำรายการโต-ตาล ด้วย เพราะฉะนั้นกรอบหลักๆ มันจะไม่ตกเหว เขาจะรู้อยู่แล้วว่าอะไรเล่นได้เล่นไม่ได้ แต่เขาก็เป็นคนกวนประสาทนั่นแหละ มันเป็นคาแร็กเตอร์เด่นของเขา

โต : เพราะบุคลิกเขาเป็นอย่างนี้ คนก็เลยเหมือนจะชอบเขานะ แต่สังเกตไหมว่าเขาจะไม่เล่นเรื่องผู้หญิง เรื่องลามกจกเปรต เรื่องพวกนี้ผมไม่เคยพูดด้วยซ้ำแต่เขารู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นผมไม่จำเป็นต้องอธิบาย แค่บางทีเวลาเล่นออกไปอย่าให้คนเข้าใจว่าผมมีปัญหาในสังคม ผมเลยต้องคอยบอกเขาว่าอย่าให้คนเข้าใจผิดว่าผมเป็นคนมีปัญหาในสังคม เราแค่อยากทำให้คนสนุก ไม่ได้อยากมีปัญหา 

เหมือนคุณค่อนข้างให้อิสระในการคิดกับทีม

โต : มันเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากสมัยผมทำงานในห้องอัด ผมเป็น co-producer ในแทบจะทุกอัลบั้มเลย การที่เราสังเกตว่าใครทำอะไรดี แล้วเรา enhance มัน ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของโปรดิวเซอร์นะ ผมว่าเราต้องให้โอกาสคน ทุกๆ คนเขามีลายเซ็นหมด เราต้องให้โอกาสเขาแสดงออก ชี้ให้เขาเห็นว่า แบบนี้เล่นแล้วดีนะ เล่นออกมาอีก เอาออกมาเยอะๆ เฮ่ย แบบนี้อย่าเล่น ไม่ดี อันนี้คือหน้าที่โปรดิวเซอร์

ตาล : เมื่อก่อนโตเขาเป็นศิลปินเอง แต่ตอนนี้เขาต้องเริ่มมาทำหน้าที่โปรดิวซ์คนแบบเต็มๆ ตัวแล้ว โตเขาลองให้น้องเขาเซ็นไปเรื่อยๆ จนกว่าลายเซ็นของน้องเขาจะออกมาเป็นตัวเขา ศักยภาพคนเรามันไม่มีที่สิ้นสุดหรอกครับ เราแค่ต้องหาทางเปิดประตูให้โอกาสเขาได้เค้นมันออกมา

แสดงว่าพวกคุณไม่ได้มานั่ง approve ทุกโพสต์

โต : ไม่เลย ผมนั่ง approve โพสต์กับเขาแค่วันแรกๆ เอง หลังๆ ผมปล่อยเลย ผมไม่รู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ผมต้องมาถามเขาด้วยซ้ำว่า คิง ทำไมคนชอบโพสต์นี้โพสต์นั้นวะ เล่าให้ฟังหน่อยสิ คือผมเป็นคนไม่ค่อยอ่านข่าวในประเทศ ผมเลยไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาโพสต์ถึงหรือพูดถึงมันสื่อถึงอะไร อย่างบางทีมีโพสต์ไหนที่มันเริ่มไวรัลหนักๆ เข้า ผมก็รู้สึกเหมือนผมจะซวย ผมก็ เฮ่ย คิงมึงเล่นกูแล้วมึง อย่างพอเขาเริ่มโพสต์แล้วเพจมันเริ่มดัง ผมก็บอกเขาว่ามึงอย่าทำให้กูติดคุกนะเว้ย (หัวเราะ)

ย้อนกลับไปก่อนที่เนื้อแท้จะเป็นที่รู้จัก คุณทั้งสองรู้จักกันได้ยังไง ทำไมถึงตัดสินใจจะทำธุรกิจร่วมกัน

โต : ตอนที่ผมเลิกร้องเพลง ผมก็หันเหมาทางศาสนาค่อนข้างเยอะ จนผมได้มาทำทีวีช่องศาสนา แล้วก็เลยได้มาเจอตาลที่นั่น ส่วนตาลก็เลิกจากอาชีพเก่าเขาเหมือนกัน เลยได้มาเจอกันและมาทำรายการ โต-ตาล ด้วยกัน ก็เริ่มมาจากตรงนั้น

ตาล : ไอเดียแรกคือเริ่มมาจากความคิดที่ว่า หาอะไรทำกันเถอะ ไม่มีตังค์แล้ว (หัวเราะ)

โต : ส่วนไอเดียของผมคือ ไม่ทำอะไรเลยได้ไหม แต่ตาลเขาก็บอกว่า เราจะไม่มีกินกันแล้วนะโต ผมก็เลยถามว่าทำอะไรดี ตาลเขาก็เสนอไอเดียแรกมาว่า ให้ทำยาสีฟันขาย คือเขาคิดว่าคนเราต้องแปรงฟันก่อนแล้วค่อยกิน ไอ้ผมก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เฮ่ย ต้องเอาเรื่องกินก่อนไหม ก่อนจะแปรงฟัน (หัวเราะ) ก็เลยหยุดความคิดเขาที่จะทำยาสีฟันเอาไว้

ตาล : โตเขาอยากทำพวกวัวพวกฟาร์มมานานแล้ว

โต : คือผมอยากมีวัวมีฟาร์มของตัวเองตั้งแต่สมัยเป็นนักร้องแล้ว แต่ว่าเราไม่ใช่เกษตรกร และเราไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง เรื่องที่ดินผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง จะซื้อที่ดินยังไงให้เหมาะสมกับการเลี้ยงวัว หลังจากนั้นผมก็รู้จักกับตาลโดยมีศาสนาเป็นตัวนำพา เราก็มั่นใจแล้วว่าเราเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน ผมก็เชื่อใจ ไว้ใจเขา พอตาลเขาบี้ผมว่าต้องทำงานแล้วนะ ผมก็เลยตัดสินใจเอาเงินก้อนสุดท้ายมาลงทุน ประกอบกับตอนนั้นจังหวะชีวิตทำให้เราได้รู้จักกับคนฝรั่งเศสคนนึงที่เชี่ยวชาญเรื่องเนื้อ ตาลเขาก็บอกว่าคนนี้น่าสนใจ ผมกับตาลเลยตัดสินใจทำธุรกิจกับคนฝรั่งเศสคนนี้ สุดท้ายปรากฏว่าเขาโกงเรา แต่ว่าผมกับตาลก็ได้ความรู้จากเขานะ เรื่องการทำ dry-aged beef (การบ่มเนื้อวัวให้มีมิติสัมผัสทางรสชาติมากขึ้น)

เลยนำเอาความรู้นั้นมาต่อยอด

โต : มันก็ใช่ แต่เราก็เจอปัญหาอีกอย่างของ dry-aged beef คือพอเราลงทุน ลงเวลาไปกับมันตั้ง 4-5 เดือน กว่าจะบ่มเสร็จและเอาไปขายได้ กว่าจะได้เงินคืนมามันใช้เวลานาน เราอยู่ไม่ได้หรอก และมันเป็นตลาด niche เราจะมาทำให้เป็น mass มันก็ลำบาก เราก็เลยต้องเปลี่ยนทิศทางจากการบ่มเนื้อวัวมาขุนวัวแล้วขายแทน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ พอเริ่มทำมันก็หยุดไม่ได้แล้ว เหมือนขี่หลังเสือ ขึ้นแล้วมันลงไม่ได้

ตาล : ตอนแรกเริ่มจากไม่มีจะกิน แต่ตอนนั้นก็คือเป็นหนี้แล้ว (ยิ้ม) ก็คือมันกลายเป็นว่าหนักกว่าตอนไม่มีเงินอีก

การเปลี่ยนจากการบ่มเนื้อวัว มาเป็นขุนเนื้อวัวจากฟาร์มแล้วชำแหละขายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน คุณเริ่มตั้งตัวกับทิศทางใหม่นี้ยังไง

โต : เหมือนพระเจ้าก็ช่วยให้เราได้เจอกับฟาร์มฟาร์มนึงที่ใหญ่มากที่เมืองไทยที่ไฮเทคมาก และเขาเอาวัวต่างชาติมาขุนและขายส่งออกนอก ตอนนั้นจังหวะมันพอดีมากที่เขามีปัญหากับฝั่งเมืองนอกที่เขาทำการค้าด้วยพอดี เขาเลยมีเวลามาทำธุรกิจกับเรา

และที่สำคัญคือ เขาเห็นด้วยกับอุดมการณ์ของเราในการเอาวัวต่างชาติมาขุนแล้วขายให้คนไทยกินในราคาที่เข้าถึงได้และมีมาตรฐานดี เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนที่เราคิดเริ่มจะทำธุรกิจนี้ เนื้อวัวเนี่ยส่วนใหญ่ถ้าดีก็ดีไปเลย กิโลฯ ละ 5,000-6,000 ขึ้น ซึ่งมันจะถูกเอาไปทำเป็นสเต๊กอย่างเดียว เราเลยมาคิดว่า จะทำยังไงให้เอาเนื้อที่ดี ราคาที่เข้าถึงได้มาทำเป็นเมนูที่กินได้ทั่วๆ ไปด้วย ทีนี้เหลือแต่การหาพันธุ์วัวมาขุน

พอดีตอนนั้นเรามีโอกาสได้ติดต่อฟาร์มที่ออสเตรเลีย เลยได้เอาวัวเป็นจากออสเตรเลียเข้ามา ซึ่งมันเป็นพันธุ์ที่ปกติแล้วเขาไม่ขายออกนอกประเทศ เขาจะเลี้ยงให้คนโลคอลกินอย่างเดียว แต่เรามีโอกาสเอาเข้ามาในเมืองไทยได้ครั้งละ 1,000-2,000 ตัว เอามาให้ฟาร์มในเมืองไทยขุน

คุณกำลังบอกว่า คุณขนเอาวัวเป็นๆ จากออสเตรเลียมาเลี้ยงในเมืองไทยครั้งละเป็นพันตัว

โต : ใช่ เพราะเราต้องการเปลี่ยนรสชาติไม่ให้เหมือนกับที่ออสเตรเลีย 

ทำไมถึงไม่ต้องการให้รสชาติของวัวไม่เหมือนกับที่ออสเตรเลีย

โต : เพราะอาหารวัวที่เมืองไทยดีกว่าเขา วัวพันธุ์นี้ถ้าเขาอยู่ที่ออสเตรเลียเขาก็จะให้กินอาหารแบบฝรั่งๆ ของเขา เช่นพวกบาร์เลย์ พวกอาหารแบบของเขา แต่ถ้ามาที่เมืองไทยเราเอามาเลี้ยงแล้วให้กินอาหารแบบไทย พวกธัญพืชไทย ข้าวไทย ข้าวโพดไทย ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง งาดำ เลี้ยงเขาด้วยอาหารพวกนี้รสชาติเนื้อเขาจะไม่เหมือนกับที่ออสเตรเลียแล้ว แต่ไฟเบอร์จะนิ่มและรสชาติจะนุ่มเพราะพันธุ์เขาดีมาแต่แรก

ตาล : ขนาดเจ้าของฟาร์มวัวพันธุ์นี้ที่เป็นคนออสเตรเลียที่เขาเป็นคนขายวัวให้เรา พอเขามากินวัวพันธุ์นี้ในแบบที่เราเลี้ยง เขาจำรสชาติวัวเขาไม่ได้เลย เขาบอกนี่ไม่ใช่วัวเขา

โต : เขาคิดว่าเราโม้ เขาคิดว่านี่ไม่ใช่วัวเขา เพราะเขาบอกว่าเขากินเนื้อของวัวเขามา 25 ปี ทำไมเขาจะจำไม่ได้ 

เขากินแล้วบอกว่าอร่อยกว่าวัวเขาเยอะเลย ผมเลยบอกเขาว่า นี่แหละอาหารไทย ธัญพืชไทย พอวัวกินอาหารแบบนี้แล้วมันจะเปลี่ยนเลย มันจะรสชาติดี แต่เขาไม่สามารถทำได้ในประเทศเขานะ เพราะธัญพืชของเขากับของเรามันไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าของเขาไม่ดีนะ แต่รสชาติมันไม่เหมือนกัน 

หลังจากเอาวัวเข้ามาพันกว่าตัว คุณจัดการมันยังไง เพราะดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

โต : ใช่ ตรงนี้ยากมากเลย ยิ่งเมื่อสิบปีก่อนคนไทยยังไม่ค่อยฮิตกินเนื้อกันเท่าไหร่ และเขาอาจจะยังไม่เชื่อด้วยว่าส่วนอื่นๆ ของวัวมันทำอะไรได้เยอะ ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนสเต๊กอย่างเดียว ก็เลยไม่ค่อยมีคนมาสั่ง มาซื้อเราเท่าไหร่ ผมกับตาลต้องวิ่งขายตามโรงแรม วิ่งเข้าหาเชฟระดับประเทศ ระดับโลก ส่วนใหญ่เขาอยากได้แต่สเต๊กคัตอย่างเดียว แล้วเขาก็ยังไม่มั่นใจในตัวเราด้วยว่าเรามีความสม่ำเสมอหรือเปล่า เขาไม่เคยเห็นสเกลในการผลิตของเรา 

คือตอนนั้นเรายังเป็นหน้าใหม่นั่นแหละ ซึ่งก็ได้ลูกค้ามาบ้าง ต้องให้เครดิตเชฟต้น (จากร้าน Le Du) เขาเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเรามาตั้งแต่แรกตอนที่ยังไม่มีใครรู้จักเราเลย เขาเอาเนื้อเราตลอด จนตอนนี้เราไม่ได้ส่งเขาแล้ว (หัวเราะ) คือพอเรามาเริ่มทำร้านอาหารเอง เราไม่สามารถส่งเนื้อให้ใครได้อีกแล้ว มันไม่พอ แต่ตอนนั้นที่เริ่มทำใหม่ๆ เชฟต้นเขาเชื่อมั่นในเรา และเขาชอบเนื้อเรามาก หลังจากนั้นก็มีเชฟคนอื่นๆ อีก แต่สเกลการซื้อจากเชฟ จากร้านอาหารมันยังไม่พอดีกับสเกลที่เราผลิตได้ เพราะส่วนใหญ่เขาต้องการแค่สเต๊กคัต คิดดูว่า เทียบสัดส่วนแล้วสเต๊กคัตมันเป็นเพียงแค่ 1 ใน 5 ส่วนของวัวเท่านั้นเอง วัวตัวนึงเชือดมา 250 กิโลฯ ได้สเต๊กคัตมา 50 กิโลฯ แล้วอีก 200 กิโลฯ ทำอะไรล่ะ

แล้วจัดการกับส่วนที่เหลือตั้ง 200 กิโลฯ ต่อตัวยังไง 

โต : เราก็คิดว่างั้นเราเปิดร้านที่ให้เชฟและคนทั่วไปลองมาชิมเนื้อของเราดีกว่า ก็เลยมีไอเดียการเปิดร้านอาหารขึ้นมา โดยแบ่งชนิดของเนื้อแต่ละอย่างให้เหมาะกับชนิดของอาหารที่จะทำ เช่น เราเอาเนื้อตรงสันคอที่มันเหนียวแต่มันอร่อยซึ่งตอนนั้นคนยังไม่ค่อยนิยมกินกันมาใช้ เราเอาน่องมาทำให้ถูกต้อง เราเอาเนื้อตรงหัวไหล่มาทำให้ถูกต้อง โดยแบ่งประเภทอาหาร เช่น จานผัดกะเพราเราจะใช้ส่วนนี้ ก๋วยเตี๋ยวใช้ส่วนนั้น อีกเมนูก็ใช้อีกส่วน ให้เหมาะสมและให้คนมาลองกิน

ให้คนเขารู้ว่าวัวหนึ่งตัวสามารถแยกส่วนไปทำอาหารได้ แต่ต้องเลือกส่วน ถ้าเราเอาสเต๊กมาทำกะเพรามันก็ไม่เหมาะ คือถ้าวัวเราเลี้ยงมาดีทั้งตัว มันก็จะเหมาะเอาไปทำอาหารต่อได้หมดทั้งตัว ซึ่งเราเป็นคนแรกที่เอาวัวทั้งตัวมาแบ่งทำอาหารแต่ละประเภท ส่วนใหญ่ตอนนั้นเขาเอาแค่ส่วนสเต๊กมาใช้เท่านั้นเอง

นี่เป็นที่มาของการเปิดร้านอาหารอย่างที่เห็น

โต : ใช่ ก็คือร้าน The Beef Master ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ เป็นร้านอาหารเล็กๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ปรากฏว่าเชฟได้มากิน แต่เป็นคนธรรมดาที่มากินกันกระจุยเลย ทีนี้ผมเลยบอกตาลว่า เราต้องทำร้านอาหารจริงจังแล้วล่ะ เพราะถ้าเรามัวมารอให้เชฟหรือคนอื่นมาเข้าใจมันคงจะไม่ทัน ตอนนั้นสต็อกเนื้อเรามีอยู่เยอะมาก เราก็เลยไปเปิดร้านอาหารอีกสาขานึง คือ The Beef Master ที่ MBK เป็นสาขาใหญ่เลย โดยร้านนี้เราโฟกัสที่ชาวต่างชาติ

ตอนที่ต้องเปิดร้านอาหารพวกคุณประหม่าหรือตื่นเต้นกันบ้างไหม

โต : ตอนที่เปิดร้านเล็กๆ The Beef Master สาขาแรกที่เดอะมอลล์ บางกะปิอันนั้นตื่นเต้นมาก เพราะเราใช้เวลาเทรนทีมงานชุดเปิดร้านโดยใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือน พอเปิดร้านได้ 2 วันเท่านั้นแหละ ลาออกทั้งทีม

ตาล : ไม่ได้ลาเลย พูดคำว่าลาไม่ได้ เขาออกไปเฉยๆ หายไปเลย

โต : (ยิ้ม) ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาถึงหายกันไป ตอนนั้นพวกผมตื่นเต้นมาก ตาลต้องล้างจาน ผมรับออร์เดอร์ เราสองคนทำเองหมดทุกอย่าง แล้วมันเป็นห้างด้วย หยุดไม่ได้ ห้างเขามีกฎมีระเบียบของเขาว่าพวกผมต้องเปิดร้านทุกวัน

พนักงานส่วนอื่นๆ อย่างเช่นคนที่ต้องเป็นคนแล่เนื้อก็ต้องมาช่วยกันทั้งหมด แล้วก็มีหัวหน้าเชฟคนนึงที่เขาอยู่กับเรา เขามาช่วยเรา เขาก็ทำงานหนักมาก วุ่นมาก ยังดีนะที่เขาเอาอยู่ อันนี้น่ะผมตื่นเต้นที่สุดแล้ว ผ่านจุดนั้นมาได้ ส่วนกับการเปิดร้านสาขาอื่นๆ ผมเฉยๆ

ตาล : เวลาเราไม่มีทางเลือกเนี่ย ความตื่นเต้นมันจะหายไป การไม่มีทางเลือกเป็นพรอันประเสริฐนะ

แล้วการเปิดร้านอาหารทั้งที่เดอะมอลล์ บางกะปิ และที่ MBK ตอบโจทย์การระบายสต็อกเนื้อที่ค้างอยู่ได้ดีเลยไหม

ตาล : ก็ถือว่าระบายได้ส่วนนึง ก่อนหน้านั้นเราพยายามระบายสต็อกเนื้อของเราออกไปทาง Hypermart ในราคาที่ถูกหน่อย ซึ่งตรงนั้นเราก็เลยไม่ค่อยได้กำไร แต่เราต้องเลือกเอาระหว่างเงินจมกับได้เงินคืนกลับเข้ามาบ้าง ตอนที่เราเปิดร้านอาหารช่วงแรกก็คิดแบบนี้ คือขายสเต๊กแล้วได้กำไร แต่ขายเนื้อส่วนอื่นอาจจะไม่ค่อยได้กำไร หรือถ้าช่วงไหนขายไม่หมดก็ไม่ได้กำไร

โต : 3 ปีแรกของการทำธุรกิจ ผมกับตาลไม่มีเงินเดือนเลย

ตอนที่เริ่มธุรกิจก็โดนโกง ต่อมาขายเนื้อก็เหลือในสต็อกเยอะอีก พวกคุณเครียดกันบ้างไหม

โต : เครียดครับ และตอนนี้ก็ยังเครียดอยู่ (หัวเราะ)

ตาล : ตอนนั้นผมนึกว่าขายเนื้อแล้วจะสบาย ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่มีอะไรสบาย อย่างร้านอาหาร The Beef Master ที่ MBK เราจะโฟกัสกับชาวต่างชาติซึ่งเน้นไปที่กินสเต๊กกับเบอร์เกอร์อย่างเดียว สุดท้ายส่วนอื่นของเนื้อก็จะระบายออกไปไม่ได้อีก

โต : คือ พอ The Beef Master เราเน้นขายชาวต่างชาติที่เขาชอบมากินแต่สเต๊กและเบอร์เกอร์เรา สุดท้ายเลยต้องหาทางเปิดร้านอาหารที่ไม่ได้พึ่งแต่ชาวต่างชาติ และอยากขยายการขายเนื้อให้คนที่มากินเนื้อที่เอาไปทำอาหารจานอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่สเต๊กกับเบอร์เกอร์ด้วย 

ประกอบกับคำว่า The Beef Master คนไทยอาจจะออกเสียงยาก เราเลยต้องคิดชื่อแบรนด์ใหม่ให้มันเข้าปากคนไทย ให้อ่านออกเสียงและเรียกได้ง่ายๆ สามารถพูดต่อกันได้ นั่นก็เลยมาเป็นชื่อ ‘เนื้อแท้’ ซึ่งจริงๆ เมนูก็คล้ายกับ The Beef Master แต่เราดึงราคาลงมานิดนึงให้คนไทย และเพิ่มเมนูที่คนไทยชอบกินเข้าไป เช่น โจ๊ก กะเพรา ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เมนูพวกนี้ถูกปากคนไทยและชื่อร้านก็เรียกง่าย เนื้อแท้ก็เลยดัง พอดังเสร็จเราก็เลยเริ่มขยายสาขาต่างๆ ของเนื้อแท้ออกไป

ตาล : คือเมนูเก่าของ The Beef Master เราก็ยังคงไว้ เรายังมีขาย แต่เราเพิ่มเมนูใหม่ๆ ที่ The Beef Master ไม่มีเข้าไปในร้านเนื้อแท้ ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์

แล้วร้าน ‘พันละวัน’ มีที่มาที่ไปยังไง

โต : พันละวันนี่มาหลังโควิด

ตาล : แต่จริงๆ เราทดลองเมนูกันมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว

โต : เราพัฒนากันมา 2 ปี พันละวันของเราขายเคบับเนื้อ ซึ่งคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ คือจริงๆ ผมอยากจะทำในสิ่งที่ผมชอบอีกนั่นแหละ ตั้งแต่สมัยผมอยู่ห้องอัดผมก็ชอบให้คนไปซื้อเคบับมาจากนานา แล้วการขายเคบับมันก็เป็นอีกหนึ่งแชนแนลที่ทำให้เราขายเนื้อออกไปได้ 

ตาล : ตอนแรกกระแสก็ไม่ดีหรอก

โต : เพราะมันเป็นช่วงหลังโควิดด้วย แล้วคนก็ไม่เดินห้าง แต่ห้างบอกเราว่า ช่วยเปิดหน่อย เราก็เปิดมาสองสาขาแล้ว ที่สามย่านมิตรทาวน์กับที่ MBK เป็นเคบับเนื้อผสมแกะ ตอนนี้กระแสตอบรับก็ดีมาก

ที่ว่าเป็นเคบับเนื้อวัวผสมกับแกะ มันทำให้ต้นทุนสูงไหม

ตาล : เรื่อง cost สูงอย่าไปถามคนคนนี้ (ชี้ที่โต) เขาไม่รู้หรอก

โต : (ยิ้ม) ผมไม่รู้ ผมแค่อยากกินแบบนี้

ตาล : เวลาเอาเรื่อง cost มานั่งเถียงกันผมแพ้ทุกที เพราะถ้าเราเอาเรื่อง cost มาตั้งเป็นหลัก มันก็จะไม่เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้น มันจะไม่เกิดสิ่งที่ดีที่สุดขึ้น

โต : ผมบอกว่าถ้าราคาถูกแล้วคนไม่ชอบจะเอาไหม สุดท้ายก็เลยต้องเลือกทำออกมาให้คนชอบก่อน เอาเรื่องรสชาติมาก่อน ส่วนเรื่อง cost ให้ตาลเขาไปจัดการเอาเอง ผมไม่เกี่ยวแล้ว (หัวเราะ)

ตาล : ครับ ผมจัดการได้ แต่คุณเป็นหนี้เพิ่มนะ (ยิ้ม) ไม่หรอก คือผมเชื่อว่าถ้าทำในสิ่งที่ดีที่สุดมันก็ดีที่สุด

โต : คือถ้าเราเถียงกันแล้วเหตุผลเขามันเหนือกว่าผม ผมก็เออ เอาเลย เปลี่ยนเลย แต่ถ้าเหตุผลผมดีกว่า เขาก็ฟังผมไง เพราะเราแค่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด มันไม่ใช่การเถียงกันเพื่อหาว่าใครแจ๋วกว่ากัน เพราะหนี้เราก็แบกมาด้วยกัน เพราะฉะนั้นทำยังไงให้หมดหนี้ ก็ต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุด

ตาล : โตเขาจะไม่เอาปัญหาตรงหน้ามาข้องเกี่ยวกับการตัดสินใจเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่ผมเป็นคนอย่างนั้นนะ ซึ่งตรงนี้สำคัญ เราต้องการคนแบบโต เพราะถ้าเป็นแบบผม ผมจะเอาปัญหาตรงหน้ามาเป็นกำแพง แบบนั้นเราจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดออกมา มันเลยต้องมีคนแบบโตนี่แหละ มันต้องแบ่งพาร์ตกันทำ

พูดถึงการแบ่งพาร์ตการทำงาน คุณทั้งสองแบ่งพาร์ตการทำงานกันยังไงบ้าง

โต : ผมดูเรื่องอาหาร เรื่องเมนูอาหาร ส่วนตาล เขาเก่งเรื่องการเงิน เพราะเขามาทางนี้อยู่แล้ว ก็จะให้เขาดูเรื่องเงิน เรื่องการบริหารไป ส่วนผมดูเรื่องอาหาร การสื่อสารว่าทำยังไงให้คนรู้จักเรา ทำยังไงให้คนรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ แต่ผมก็มีให้คุณตาลเขาช่วยเหมือนกันนะ 

เพราะคุณตาลเขาเป็นคนกินอาหารแมส เขาจะรู้ว่าอาหารแบบไหน รสชาติแบบไหนที่คนส่วนใหญ่จะชอบ ซึ่งไม่เหมือนกับผมที่อาจจะชอบรสชาติบางอย่างที่มันค่อนข้างเฉพาะกลุ่มและเฉพาะกิจ เพราะฉะนั้นผมก็จะให้คุณตาลชิม ถ้าเขาคอมเมนต์เมนูทดลองของผมว่า เออ หรูมาก ละมุนมาก แสดงว่าเมนูนี้ผ่าน เอาไปขายได้ จริงๆ ผมก็ให้คนชิมหลายคนนะ แต่หนึ่งในคนที่ผมให้ชิมก็คุณตาลนี่แหละ

แต่บางทีต่อให้ตาลและทุกคนที่ผมเอาไปให้ชิมเขาไม่เอา ผมก็จะเอามาขายอยู่ดี เพราะผมชอบ ผมจะสื่อสารให้คนเข้าใจว่าต้องเอาสมองไปเพ่งกับรสชาติไหน แล้วคุณจะรับรู้ได้ถึงเสน่ห์ของมัน

ตาล : โตเขาเป็นลีดเดอร์ แต่ผมมองว่าผมเป็นเมเนเจอร์มากกว่า

โต : ก็ลีดกันคนละอย่าง ถ้าเรื่องการเงินผมไม่เถียงเขาเลยนะ ผมให้เขาตัดสินใจไปเลย ผมไม่ยุ่ง ไม่ต้องมาบอกผม

ตาล : ไม่รู้เลยไม่ได้ ต้องรู้บ้าง (หัวเราะ) คือผมยังไม่ค่อยเป๊ะเท่าไหร่ แต่โตเขาจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและเขาจะไม่ประนีประนอม ผมว่านี่คือสิ่งสำคัญมาก

ที่ว่าไม่ยอมประนีประนอมหมายถึงเรื่องอะไรบ้าง

ตาล : ผมหมายถึงทุกสิ่งเลย อย่างเช่น ถ้าเขามั่นใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาจะไม่มีโมเมนต์ที่ไม่มั่นใจ เขาจะไม่มีเอ๊ะ พวกสถานที่ที่จะเปิดร้าน คอนเซปต์ร้าน โตเขาเหมือนมีภาพสุดท้ายอยู่ในหัวของเขา ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าเขาบอกว่าอันนี้ใช่ ผมก็ต้องให้เขาทำ เพราะผมยังคิดภาพไปไม่ถึงหรอก ผมยังนึกไม่ออก 

เพราะฉะนั้นเราต้องลีดด้วยวิชั่น แล้วเราเอา operation ตาม โตเขาจะคิดออกมาเลยว่าโปรดักต์เป็นอะไร แบรนดิ้งเป็นยังไง ลูกค้ามาแล้วจะต้องทำให้พวกเขารู้สึกยังไง ทั้งหมดนี้ต้องให้โตเขาคิดนำผมไปก่อน แล้วที่เหลือให้เขาโยนมา ผมก็จะไปหาทางทำให้แผนการเงินมันซัพพอร์ตสิ่งที่โตเขาคิดให้มันเกิดขึ้นให้ได้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่เอาเรื่องเงินขึ้นก่อน ถ้าเราเอาเรื่องตัวเลขเรื่องการเงินขึ้นมานำก่อน มันก็จะไม่ไปไหน มันจะไม่ไปข้างหน้า

โต : คือโชคดีที่ผมกับตาลมาเจอกัน มันเลยพอดีกัน ที่เราได้มีสิ่งที่มีมาสนับสนุนกันทั้งคู่ อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของศาสนา อันนี้ทำให้ผมไว้ใจเขา จริงๆ ผมไม่ไว้ใจใครเลยนะ แต่ผมไว้ใจเขา อุดมการณ์ที่เราทำธุรกิจตรงนี้ เพราะเราต้องการเอารายได้เมื่อเรามีกำไรมหาศาลแล้ว เอาไปทำงานสังคมเป็นหลัก ผมกับตาลเลิกอาชีพเก่าโดยที่จริงๆ เรายังไม่ต้องเลิกก็ได้ 

ถ้าผมยังต้องการหาเงินเพื่อมาบำเรอตัวเอง ผมก็คงยังใช้ชีวิตแบบเดิมได้ แต่เนื่องจากผมกับตาลรู้จักกันด้วยการทำงานศาสนา ทำงานสังคม เราเลยอยากหาเงินเพื่อมาทำงานสังคมโดยที่เราไม่ต้องขอเงินบริจาคจากพี่น้อง อันนี้คือเจตนาของเรา พออุดมการณ์มันตรงกัน มันเลยมีความไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นการแบ่งพาร์ตเราเลยแบ่งกันอย่างชัดเจน และเราก็ไว้ใจกัน ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก

คนมักจะพูดว่าถ้าสนิทกับใครอย่าชวนกันมาทำธุรกิจ คุณคิดเห็นยังไง

โต : ก็เขาต้องการหาเงินมาเพื่อเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่ผมกับตาลทำงานร้านอาหารเพื่อหาเงินมาทำงานสังคม เพราะฉะนั้นสุดท้ายเงินไม่ใช่เงินของผมกับตาลอยู่ดี มันเป็นเงินของสังคม

ตาล : ทุกวันนี้โตเขายังไม่สนเรื่องเงินอยู่ ไม่สนใจเลย โตเขาไม่สนใจเรื่องวัตถุ เรื่องรายได้ จะรวย จะได้เท่าไหร่ เขาไม่สนใจเลย

โต : ตาลเขาก็เป็นแบบนั้นเหมือนกันนั่นแหละ เขาไม่สนเรื่องวัตถุ และคนที่เขาทำงานกับเราที่บริษัท อย่างเชฟ อย่างผู้จัดการฝ่าย HR ทุกคนที่เขาเข้ามาทำงานกับเรา เขาต้องการทิ้งเรื่องความปวดหัวเรื่องวัตถุนิยมเหล่านี้ไปเหมือนกัน 

เขาจึงมาทำงานกับเราเพราะเขามีเจตนาเดียวกับเรา เราก็ต้องดูแลให้พวกเขาได้มีเงินเดือนเลี้ยงดูครอบครัวเขาได้ แรงกายทั้งหมดที่พวกเขาทำงาน พวกเขาทำเพื่อที่ว่าสุดท้ายแล้ว ธุรกิจที่โตขึ้นมันจะนำพาเราให้สามารถไปทำงานสังคมต่อไปได้อีก เพราะฉะนั้นทุกคนเข้ามาทำงานกับเราด้วยเป้าหมายเดียวกันกับเรา 

ตาล : อุดมการณ์เป็นสิ่งสำคัญมากนะ มันจะทำให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างเราไม่ต้องมานั่งเถียงกัน เรารู้ว่าเราทำอะไร เพราะอะไร อะไรผิดอะไรถูก

โต : แต่ตาลเขาไม่ได้ทำตามอุดมการณ์ผมนะ เขาทำตามหลักการศาสนา เพราะฉะนั้นทิศทางทุกอย่างมันเดินไปในทิศทางเดียวกัน อย่างเรื่องที่ตัดสินใจมาทำธุรกิจอาหาร เราทำเพราะมันก็มีผลบุญนะ เพราะเราทำให้คนมีความสุขได้จากการกิน คุณภาพของอาหารที่มันออกมาดีเพราะมันออกมาจากเจตนาที่ดี ราคาเราก็ดึงลงให้มันลงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนตาลก็บอกผมว่าเราดึงลงขนาดนี้เราเริ่มจะเจ็บแล้วนะ

ทั้งสถานการณ์โควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ต้นทุนขึ้นบ้างไหม แล้วพวกคุณทำยังไง

โต : cost ขึ้นไป 30-40% ณ ตอนนี้ เราก็ต้องขึ้นราคาในบางเมนู 

ตาล : เราขึ้นบางเมนู แต่บางเมนูที่คนต้องกินทุกวัน เราก็ต้องพยายามดึงไว้ คือเราตั้งใจให้ ‘เนื้อแท้’ เป็นร้านที่ขายอาหารดีที่คนกินได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นถ้าบางอย่างราคามันสูงไปมากกว่านี้ เราก็จะเสียคอนเซปต์ตรงนี้ไป ถ้าคนเขาจะมากินที่ร้านเรา แล้วเขาต้องคิดเยอะ อันนี้มันจะไม่ใช่เจตนาของเราแล้ว โอเค บางเมนูที่ luxurious หน่อย เช่น สเต๊ก มันจำเป็นต้องขึ้นก็ต้องขึ้น บางเมนูที่เราไม่ได้กำไร เราก็จำเป็นต้องตัดทิ้ง

ด้วยวิธีคิดที่ว่าอยากให้คนมากินทุกวัน จึงไม่ขึ้นราคา แล้วมันส่งผลต่อรายได้ไหม

โต : กำไรเราน้อยครับ เราก็เลยพยายามจะเปิดร้านอาหารเพิ่ม เพื่อให้ volume มันเพิ่มขึ้นมา

ตาล : เราไม่ใช่ร้านอาหารที่จะได้กำไรเยอะเหมือนร้านอาหารทั่วไปอยู่แล้ว โตเขาบ่นบ่อยๆ ว่า ร้านเราที่ขายดีขนาดนี้ มันควรจะกำไรมากกว่านี้หรือเปล่า ทำไมเรายังต้องกระเสือกกระสนขนาดนี้ ก็ว่ากันไปครับ แต่ยังไงเราก็จะไม่เสียคอนเซปต์ที่เราตั้งใจไว้ เดี๋ยวเราจะพยายามหาทางลด cost ลง ผมว่ามันจะมีศาสตร์ของมันอยู่ครับในการจัดการเรื่อง operation ให้มันดึงต้นทุนให้ลงมาได้อีก

โต : จริงๆ ถ้าผมจะเอากำไร ผมก็ใส่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในเมนูตั้งแต่แรก ผมก็รวยแล้ว แต่อย่างที่บอกว่าผมมีหลักการ ผมมีอุดมการณ์ของผม และผมมีหลักการศาสนาของผม เพราะฉะนั้นผมไม่ต้องการเงินที่ได้มาจากสิ่งต้องห้ามที่ศาสนาห้าม เรื่องเหล้า สุรา นี่ไม่ได้เลย และผมไม่อยาก overcharged คนด้วยเพราะผิดหลักการอีก ดังนั้นผมก็ดึงราคาเท่าที่ดึงได้ แต่จะเสียใจเล็กน้อยตอนที่คนบอกว่าอาหารแพง ผมก็คิดในใจ แพงเหรอวะ กูจะตายอยู่แล้ว 

ตาล : โต เขาเคยสัมภาษณ์ในรายการป๋าเต็ดทอล์กว่า หลักการอิสลามจะให้เราซื้อแพงแล้วขายถูก คือกับซัพพลายเออร์เราต้องอย่าไปกดราคาเขา ให้เขาได้สบายใจที่จะทำงาน หาของ พัฒนาสินค้ามาให้เรา อย่างฟาร์มวัว พอเขารู้ว่าเราเต็มที่กับเขา เขาก็เต็มที่กับเรา แล้วเวลาขายก็อย่าไปค้ากำไรเกินควร คือทำให้ราคามันพอดี คนจะได้มาบริโภคเยอะๆ จำนวนคนมาบริโภคเยอะๆ เราก็จะได้อยู่ได้ เราก็ทำตามหลักการนี้ เพราะเราเชื่อว่ามันคือสูตรสำเร็จ

การทำแบบที่คุณว่ามันต้องใช้เวลานานกว่าปกติไหมในการจะประสบความสำเร็จ

โต : ที่ผ่านมาผมไม่ได้ดังตั้งแต่เพลงแรกอยู่แล้ว ผมใช้เวลา 4 ชุด กว่าคนจะรู้จักผม ซึ่งนั่นใช้เวลาหลายปีนะกว่าผมจะดัง

ตาล : ถ้าเทียบกันกับธุรกิจอาหาร ตอนนี้เราอยู่ที่ชุดที่เท่าไหร่แล้ว พวกเราตอนนี้เนี่ย

โต : ก็น่าจะสักชุด 4-5 แล้วแหละ (ยิ้ม) ตอนนี้ดังแล้ว แต่เงินยังไม่มา ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ ดังแล้วได้เงินด้วย (หัวเราะ)

ตาล : ตอนนี้น่าจะประมาณ ชุด Mint

โต: เรามาแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปครับ ผมเชื่อในการสร้าง foundation ที่ดี กัดฟันนิดนึง 

ถ้าดังเร็ว มันก็อาจจะไปเร็ว แต่ถ้าคนเขารู้จักและมั่นใจในอุดมการณ์ของเรา เขาก็จะยืนอยู่กับเรา และยิ่งเขามั่นใจว่ารสเนื้อเราเหมือนเดิมนะ รสอาหารเราเหมือนเดิมนะ ทุกอย่างเรารักษาอุดมการณ์และมาตรฐานไว้เหมือนเดิมและไว้ใจได้ มันจะอยู่ในจิตสำนึกของเขา ทุกอย่างมันต้องใจเย็น ผมเชื่ออย่างนั้นนะ

ตาล : ไม้ยืนต้นกับไม้ล้มลุก มันไม่เหมือนกันนะ ไม้ยืนต้นมันใช้เวลาแต่มันก็จะมั่นคง ไม้ล้มลุกมันอาจจะขึ้นเร็ว แต่เดี๋ยวมันก็ไป ทุกอย่างมันอาจจะดูมีปัญหา แต่เดี๋ยวมันก็มีทางไปของมัน

ตอนนี้มีหลายร้านหลายสาขา แล้วคุณบริหารคนยังไง

โต : ช่วงนี้ผมกับตาลหละหลวมนิดนึงตรงนี้ เพราะพวกผมวุ่นกับปัญหาการเงิน เพราะร้านเพิ่งจะฟื้นจากโควิด มันเลยมีเรื่องการเงินที่เราต้องปรับระบบใหม่หลายๆ อย่าง พวกเราก็เลยค่อนข้างละเลยเรื่องคน เดี๋ยวต้องกลับไปดูเรื่องคนแล้ว

ปกติตอนที่บริษัทยังเล็กๆ ผมต้องไปพูดทุกที่ ทุกสาขา กับพนักงานทุกคนเรื่องอุดมการณ์ของบริษัท และถ้าใครไม่พอใจเชิญออกได้เลย  เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาทำงานกับเรา คือคนที่เข้ามาด้วยอุดมการณ์เหมือนกันหมด โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ พนักงานรุ่นแรกๆ คนพวกนี้อยู่ยาวมาก ตอนนี้กลายเป็นหัวหน้าหมดแล้ว แต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามา บางทียังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำว่าผมเป็นใคร 

เดี๋ยวผมกับตาลเคลียร์เรื่องการเงินจบแล้ว ผมต้องเข้าไปพูดให้พวกเขาฟังว่า การมาทำงานที่นี่ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้เงินเดือน แต่สิ่งที่พวกเขาทำ เพราะในอนาคตมันจะได้เอาไปต่อยอดเป็นงานเพื่อสังคม ถ้าเขารู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันมีคุณค่า ผมว่าพวกเขาจะทำงานอย่างมีไฟนะ สำหรับผมอุดมการณ์คือสิ่งที่ทำให้คนอยู่บนเรือลำเดียวกัน เราอยากให้คนประเภทเดียวกัน อุดมการณ์เดียวกันมาอยู่ด้วยกัน

ก็คือคุณเอาอุดมการณ์นำทาง เอาคนที่มีอุดมการณ์เหมือนคุณมาทำงานร่วมกัน

โต : ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ เราก็ต้องดูแลให้คนภายใน ให้พี่น้องของเรา ให้เขามีความสุขด้วย คิดเผื่อเขาว่าอนาคตเขาจะเป็นยังไง เขาจะโตต่อไปในหน้าที่การงานเขาได้ยังไง เพราะทุกคนเขาก็อยากจะสบายในอนาคต คำว่างานสังคมของเราเริ่มตรงนี้ก่อน สังคมวงในของเรา แล้วค่อยออกไปสู่สังคมข้างนอก

ตาล : งานสังคมต้องเริ่มจากครอบครัวก่อน แล้วก็ไปที่คนรอบข้าง คนในบริษัท 

ได้ยินข่าวมาว่าภายในปี 2570 คุณจะพยายามขยายสาขาจนพา Company B เข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้

โต : ใช่ ใจจริงผมไม่ได้อยากมีหลายสาขาเลย ผมอยากมีสาขาเดียวเพราะมันจัดการง่าย แต่เราต้องการเงินและเราอยากระบายสต็อกเนื้อของเรา ตาลเขาเลยบอกผมว่ามันมีแค่ทางเดียวคือเราต้องขยายสาขา และเราต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์หาคนมาลงทุน

ตาล : ไม่มีทางเลือกอีกแล้วครับงานนี้

โต : ใช่ ไม่มีทางเลือกอีกแล้ว ผมกู้เงินก็ไม่ได้ ผมต้องมาหาตลาดทุน เพราะเราไปตลาดการเงินไม่ได้ ผมจะทำยังไงถ้าผมอยากได้คนมาลงทุนเพิ่ม ผมก็ต้องเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นของมหาชน และคนทุกคนสามารถดูงบการเงินของเราได้

มันจะโปร่งใส เป็นทางเดียวแบบที่ตาลบอกผมว่า ถ้าเรามีแค่ทางเลือกเดียว งั้นทางเลือกเดียวนี้ต้องดีที่สุดสำหรับเรา ประกอบกับมีนักลงทุนมาเชื่อใจและสนใจลงทุนร่วมกับเราพอจะทำให้เรามีเงินก้อนไปต่อได้ช่วงโควิดด้วย

ตาล : คือมันเป็นคำสัญญาที่เราให้กับนักลงทุน นักลงทุนทั้งกองทุน และ investor คนอื่นๆ เขาเชื่อใจและสนใจจะมาลงทุนกับเราช่วงโควิด ช่วงที่ทุกอย่างมันเนกาทีฟไปหมด แต่เขาก็ยังมาลงทุนกับเรา ยังเชื่อในเรา แล้วพอเขามาลงทุน เขาก็ต้องอยากได้ capital gain กลับไป ถูกไหมครับ 

มันเลยเป็นคำสัญญาที่เราให้กับเขา แต่มันก็ทำให้เราได้เจอกับประตูบานใหม่ๆ นะครับ เช่น ตลาดทุน นักลงทุน การจัดการข้อมูลต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งของพวกนี้เราไม่เคยคิดถึงมันมาก่อนเลยนะ แต่มันเป็นเรื่องดีหมดเลย

โต : ใช่ เป็นเรื่องดี

ตาล : ดีและเหนื่อยขึ้นเยอะนะ กับการทำให้ระบบต่างๆ มันเข้ากับมาตรฐานตลาดทุน มันทำให้เราเหนื่อยขึ้นแหละ แต่มันเป็นเรื่องดีนะ มันเป็นระบบมากขึ้น และตลาดทุนมันเป็นตัวที่จะทำให้เรามีเงินทุนพอที่จะ sustain ธุรกิจต่อไป

ตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำธุรกิจด้วยกันเคยคิดไหมว่าวันนึงจะมีร้านอาหารที่มีสาขามากมายและเราจะต้องนำกิจการเข้าตลาดทุน

โต : ไม่เคยคิดหรอกครับ

ตาล : หกเดือนที่แล้วเราก็ไม่คิดแบบวันนี้หรอก คือพระเจ้าจะพูดว่า บางเรื่องเราคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับเรา แต่มันเป็นเรื่องที่ดีหากเจ้ารู้ อย่างโควิดมันไม่ใช่เรื่องดีหรอก ใช่ไหม การล่มสลายของร้านอาหารก็ไม่ใช่เรื่องดีใช่ไหม แต่พอเรามองตอนนี้แล้วได้เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดหลังจากโควิด อย่างตอนนี้มันดีมากกว่าตอนที่พวกเราประสบปัญหาเรื่องวิกฤตโควิดมาก จนเราหันกลับไปมองน้ำตาก็จะไหลนะ

โต : ถ้าเราไม่ผ่านโควิดมาเราก็จะไม่รู้หรอก

ตาล : ว่ามันมีเรื่องดีๆ ที่รอเราอยู่อย่างมหาศาล มันเปิดประตูให้เราออกไปเจอโอกาสเต็มไปหมด

สุดท้ายคุณคิดว่าแก่นแท้ของการทำธุรกิจของคุณทั้งสองคืออะไร

ตาล : แก่นคือทำให้ดี ทำให้ดีที่สุด เพราะพระเจ้าดูอยู่ แค่นั้นเองครับ

โต : และถ้ามันได้กำไร เราก็เอาไปทำงานสังคมต่อไป มันไม่ใช่เงินของตาลหรือของผม มันเป็นของสังคม

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

เป็นวัยรุ่นต้องทำงาน

You Might Also Like