นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Whatever Will Be, Will Be

Clayceracera สตูดิโอเซรามิกที่ออกแบบให้คนได้เล่น ทดลอง และพักใจในสวนมะพร้าว

เช้าวันฝนพรำ เราฝ่ามวลรถมหาศาลจากใจกลางกรุงมุ่งหน้าไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยความแออัดและวุ่นวายของการจราจร เชื่อว่าใครก็ตามที่ต้องสัญจรในเส้นทางนี้ย่อมรู้สึกว้าวุ่นเป็นธรรมดา

กระทั่งล้อรถของเราหยุดเคลื่อน จอดนิ่งในเวิ้งอาคารสีขาวของ Clayceracera สตูดิโอเซรามิกที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จิตใจที่วุ่นวายคล้ายไม่เคยหยุดวิ่งก็รู้สึกสงบโดยพลัน

Clayceracera คือสตูดิโอเซรามิกของสองศิลปินคู่รักอย่าง นัท–นัทธพล พูนเพชร และนิ้ง–สิริ สละอุบล ที่แต่เดิมสร้างสรรค์งานเซรามิกรูปทรงแตกต่างในนาม Clayceracera และ Clayceracera Neighborhood จุดเด่นของพวกเขาคือเซรามิกที่ปั้นออกมาอาจมีรูปทรงไม่สมมาตรแต่กลับให้ความรู้สึกบางอย่างกับลูกค้าบางคน

หลังทำงานเซรามิกได้สักพัก ทั้งคู่ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่บ้านของครอบครัวนัทมาเป็นสตูดิโอเซรามิกส่วนตัว ก่อนจะพัฒนาสตูดิโอนี้เป็นพื้นที่ ที่พัก และแกลเลอรี ให้คนที่อยากทดลองปั้นงานแบบนอกกรอบได้มาเวิร์กช็อป อ่านหนังสือ พักผ่อน และพักใจท่ามกลางสวนมะพร้าวที่ไม่เพียงสวยงามสบายตา แต่ยังสงบจนเหมือนได้มาชาร์จแบต

ท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย สังคมที่เต็มไปด้วยกรอบกำหนดและความคาดหวังบางอย่าง เชื่อว่าอาคารสีขาว วิวทิวทัศน์ และเสียงไม้พลิ้วไหวในเวิ้ง Clayceracera น่าจะทำให้หลายคนนึกถึงและเข้าใจความหมายของเพลง Que Sera, Sera ไม่มากก็น้อย

นักทดลองเซรามิก

“ผมจบสถาปัตย์ฯ ผังเมือง ส่วนนิ้งจบแฟชั่น” ที่โต๊ะไม้ใหญ่กลางห้องกว้าง นัทเกริ่นบทสนทนา บอกให้เรารู้ว่าแม้ไม่มีใครจบด้านเซรามิกโดยตรง แต่จุดร่วมสำคัญคือทั้งคู่เป็นนักเรียนศิลปะ

“ตอนนั้นเป็นช่วงหลังเรียนจบที่พอมีเวลาว่างอยู่บ้าง ผมเลยคิดอยากลองทำงานปั้นของตัวเองขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง บอกตามตรงว่าตอนนั้นไม่มีโนว์ฮาวอะไรเลย ผมอาศัยหาข้อมูลตามอินเทอร์เน็ต” 

นัทเริ่มจากนึกภาพวัยเด็กที่เคยปั้นดินน้ำมัน ก่อนจะหาซื้อดินญี่ปุ่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาลองขึ้นรูป แม้ปากจะบอกเป็นงานอดิเรก แต่เจ้าตัวกลับลงทุนซื้อดินญี่ปุ่นด้วยตัวเองถึงโรงงาน ทั้งยังลองหาวิธีเผาผลงานเพื่อให้เนื้อดินไม่แยกออกจากกัน

“ผมไปซื้อถังน้ำมันมาแล้วก็โยนใส่ถัง เผามันไปทั้งอย่างนั้น” เขาย้อนเล่าเรื่องราวการทดลองของตัวเองตั้งแต่ศูนย์ พลางมองไปยังวิวนอกกระจกบานใหญ่ คล้ายนึกคิดถึงห้วงเวลาก่อนเกิดสตูดิโอแห่งนี้

แม้ทดลองแล้วไม่รุ่ง แต่นัทไม่ยอมแพ้แค่นั้น เขาหันไปปั้นเซรามิกที่ทนต่ออุณหภูมิสูงมากกว่า ลงทุนขับรถไปกลับกรุงเทพฯ-นครปฐมเพื่อนำไปให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเผาผลงานให้ กระทั่งไปปรึกษาโรงงานเซรามิก และร่ำเรียนกับเจ้าของโรงงานอยู่นานนับปี

“ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงเรื่องรายได้ เพียงแต่รู้สึกว่าการที่มือของผมมันได้ปั้น ได้บิ ได้นวด ได้ขยับ ผมรู้สึกว่ามันผ่อนคลายและมันช่วยให้ภายในของผมสงบ”

จากปั้นมือง่ายๆ นัทลองปั้นด้วยเครื่อง และเริ่มฝึกเคลือบเงา จากปั้นงานแบบคนทั่วไป เขาก็เริ่มทดลองทำ 3D ปรินต์ แล้วหล่องานขึ้นมา บ้างก็ลองขึ้นรูปทรงแปลกๆ เพราะอยากทดลองขึ้นรูปดินแบบที่คนปั้นโอ่งเขาทำกัน และท้ายที่สุด เขายังสร้างเตาเผาของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้การทดลองไม่สะดุด

“ผมรู้สึกว่าการทดลองมันเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดผลลัพธ์หลากหลายจนอาจทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคาดคิด ผมเลยชอบการทดลองและการเล่นตรงนี้มากกว่าผลลัพธ์ที่ได้” 

มุมมองที่แตกต่างตรงนี้เองทำให้ผลงานของนัทมีรูปทรงที่แปลกตาจากเซรามิกทั่วไป และความแตกต่างนั้นเองที่ทำให้ Clayceracera ได้รับความสนใจ เพราะเพียงนัทโพสต์รูปภาพผลงานในโซเชียลมีเดีย ร้าน selected shop ก็ติดต่อขอผลงานไปวางขาย และลูกค้าหลายคนยังติดต่อให้เขาปั้นงานชิ้นพิเศษ นอกจากนั้น  ผลงานหล่อเซตอวัยวะมนุษย์ของเขายังได้จัดแสดงในงาน Bangkok Design Week ด้วย

“แม้ผลงานของผมจะค่อนข้างแตกต่างจากตลาดเซรามิกทั่วไป แต่มันก็ยังมีกลุ่มลูกค้าที่พอเลี้ยงเราได้เหมือนกัน ผมเลยเริ่มคิดว่างานเซรามิกมันน่าจะไปต่อได้” นัทอธิบาย

นักออกแบบพื้นที่

หากทอดสายตาไปยังส่วนต่างๆ เราจะเห็นเซรามิกหลากหลายรูปทรงตั้งเรียงรายอยู่ทั่วห้อง ทั้งหมดนี้ไม่เพียงเป็นฝีมือของนัท แต่ยังมีผลงานของนิ้งที่หันมาหยิบจับงานปั้นกับเขาบ้าง และเพราะผลงานที่มากเกินจะเก็บตรงนี้ ทั้งคู่จึงคิดปรับที่ดินรกร้างของครอบครัวนัทเป็นสตูดิโอส่วนตัว 

ภายในพื้นที่ 4,280 ตารางเมตรนี้ นัทและนิ้งแบ่งส่วนด้านหน้าสุดเป็นที่พักอาศัยของตัวเองซึ่งรีโนเวตขึ้นจากบ้านเก่าที่สร้างไว้ เชื่อมกับพื้นที่ส่วนตัวด้านหน้าคือที่ตั้งเตาเผาขนาดย่อม ถัดเข้ามาอีกหน่อยคือตัวอาคาร 2 ชั้นแห่งนี้  

พลันผลักประตูเข้ามายังอาคาร เราจะพบกับห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาวไร้ผนังกั้นที่นอกจากจะทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด ก็ยังเปิดมุมมองการทำงานศิลปะให้กว้างออก ด้านหนึ่งของผนังมีเพียงกระจกใสแผ่นบางคั่นกลางระหว่างพื้นที่ภายในและธรรมชาติภายนอก ผลงานการออกแบบนี้ได้แรงบันดาลใจจากวันแรกที่นัทมาเยือนที่ดินของครอบครัว

“ด้านหน้านี้คือสวนมะพร้าว ถัดออกไปท้ายสุดของที่ดินคือแม่น้ำแม่กลอง ผมยังจำความรู้สึกวันที่เดินจากหน้าบ้านมายืนตรงนี้ได้ ผมรู้สึกสงบ” นัทอธิบาย 

ช่วงแรก นัทจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้นเท่านั้น แต่เมื่อนิ้งถ่ายบรรยากาศการปั้นงานท่ามกลางธรรมชาติลงอินสตาแกรม มิตรสหายก็เริ่มอยากปั้นงานในสตูดิโอของพวกเขาบ้าง ไอเดียการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นสตูดิโอสำหรับเปิดเวิร์กช็อปเซรามิกจึงเกิดขึ้น

คีย์สำคัญคือการทำให้พื้นที่ขนาดยาวที่ไร้ผนังกั้นมีสัดส่วนชัดเจนแต่ใช้งานได้หลากหลายฟังก์ชั่น กลางห้องวางโต๊ะไม้ขนาดใหญ่สำหรับปั้นงาน ด้านหนึ่งของห้องมีโซฟาน่านั่งและเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้คนได้พักผ่อน ส่วนอีกด้านหนึ่งคือโซนบาร์ที่มีกาแฟและเครื่องดื่มเล็กๆ น้อยๆ 

“เราไม่ได้มีแบบอะไรมากมาย แต่ค่อยๆ เสริมเติมแต่งตามความต้องการของคนที่มาเยี่ยม เฟอร์นิเจอร์ก็แค่เลือกชิ้นที่อยากได้แล้วเอามากองรวมๆ กันก่อนจับไปวางตรงนั้นตรงนี้ พื้นที่วางงานก็ทำขึ้นจากอิฐมวลเบาที่เหลือจากการก่อสร้าง” นิ้งอธิบายไอเดีย

ถัดขึ้นไปข้างบนคือห้องนอนขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เผื่อไว้สำหรับมิตรสหายหรือนักเรียนที่อยากค้างคืนระหว่างทางก่อนถึงห้องนอนนั้น นิ้งและนัทปรับเป็นแกลเลอรีย่อมๆ สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ 

ในอนาคตทั้งคู่ตั้งใจเปิดรับผลงานของศิลปินคนอื่นๆ มาจัดแสดง รวมถึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมด้วย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะนัทต้องการใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางผังเมืองมาสร้างให้ที่นี่กลายเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้ 

“เราคิดว่าเราไม่ใช่คนในพื้นที่ การที่เราจะมาสร้างอะไรในพื้นที่นี้ก็ควรที่จะให้อะไรกับคนในชุมชนด้วย ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือการอุดหนุนสินค้าชาวบ้านมาเสิร์ฟให้คนเข้าร่วมเวิร์กช็อป แต่ในอนาคตเราตั้งใจให้มันเป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์มากขึ้น” นิ้งเสริม 

นักออกแบบประสบการณ์

“สถานที่ที่สวยงามและน่าพักผ่อนคือจุดดึงดูดความสนใจแรกที่ทำให้คนอยากทำความรู้จักเรา มีหลายคนที่แค่เดินผ่านหรือบางทีก็เห็นภาพจากอินสตาแกรมแล้วขอมาดูก็เยอะ” นัทเกริ่น

“แต่ความตั้งใจของเราไม่ใช่เพื่อให้คนมาถ่ายรูปแล้วกลับ เราอยากให้คนที่สนใจเซรามิก คนที่อยากพักใจ หรือคนที่อยากทดลองอะไรบางอย่างได้มาใช้พื้นที่ตรงนี้” เขาเสริม

นั่นหมายความว่าประตูบานแรกที่ทำให้คนอยากทำความรู้จัก Clayceracera อาจเป็นความงดงามของงานสถาปัตยกรรมก็จริง แต่หลักใหญ่ใจความที่ทั้งคู่ตั้งเป้าคือการออกแบบเวิร์กช็อปเซรามิกให้กินใจผู้เรียนมากกว่า

รูปแบบของ Clayceracera จึงไม่ใช่การเปิดสตูดิโอทุกวันเพื่อต้อนรับทุกคน แต่คือการให้คนที่สนใจจองวันและเวลาเฉพาะเพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลากับตัวเองท่ามกลางธรรมชาติและสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อาจหาได้ยากในวันวุ่นๆ 

เวิร์กช็อปของทั้งคู่จะไม่ใช่เวิร์กช็อปที่จุคนจากหลากหลายที่มา แต่เป็นเวิร์กช็อปส่วนตัวที่มีเพียงคนรู้จักกันอย่างพี่น้อง เพื่อนพ้อง ครอบครัว โดยมีนัทและนิ้งคอยแนะนำว่าจะทดลองปั้นดินด้วยวิธีไหนได้บ้าง

“เวิร์กช็อปของเราจะมี 3 คอร์ส คอร์สแรกคืองานปั้นมือ คอร์สที่สองคืองานปั้นเครื่อง และคอร์สสุดท้ายคืองานปั้นเชิงทดลอง สองคอร์สแรกอาจใช้เวลาแค่วันเดียวจบ ส่วนคอร์สทดลอง คนที่จองมักจะพักค้างคืนเพราะมันมีอะไรให้เขาเล่นสนุกจนวันเดียวอาจไม่พอ” นิ้งผู้ที่เคยสอนศิลปะมาก่อนเล่าถึงคอร์สเซรามิกประจำสตูดิโอ

“การทดลองในคอร์สที่สามเกิดจากการที่ผมกับนิ้งเองก็เริ่มต้นจากความไม่รู้เรื่องเซรามิก เพียงอยากทดลองและเล่นไปเรื่อยๆ เท่านั้น พอมาทำเวิร์กช็อปจึงคิดว่ามันก็คงจะดีถ้าคนอื่นๆ ได้มาทดลองและเล่นแบบเราบ้าง เพราะพอเราไม่มีกรอบ ไม่มีข้อกำหนดว่าเซรามิกต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ผลลัพธ์ที่ได้มันจึงหลากหลายมาก” นัทอธิบาย และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทั้งคู่จะบอกให้นักเรียนเผื่อใจกับผลงานว่ามันอาจไม่เพอร์เฟกต์หรือไม่เป็นตามที่คิด แต่กระบวนการระหว่างนั้นจะสอนอะไรบางอย่าง

“พอสถานที่มันเหมาะสม มองออกไปก็เห็นธรรมชาติ เกือบทุกคนที่มาใช้เวลาที่นี่แทบจะไม่จับโทรศัพท์เลย บางกลุ่มก็แทบไม่ได้พูดคุยอะไรมาก เพราะเขาตั้งใจกับการทดลองตรงหน้า นอกจากนั้น พอคอร์สของเราเป็นคอร์สไพรเวตที่มีแค่คนที่นักเรียนรู้จักเท่านั้น ทุกคนก็กล้าที่จะเลอะ กล้าที่จะกลับไปเล่นหรือทำอะไรแบบเด็กๆ อีกครั้ง 

“บางครั้งเราให้เขาปาแผ่นดินเพื่อสร้างรูปทรงใหม่ๆ บางครั้งก็เอาดินไปผสมน้ำแล้วมาแต้มงานเพื่อให้เกิดเทกซ์เจอร์แปลกๆ และบางครั้งก็เอาดินค่อยๆ ปะติดปะต่อลงบนลูกโป่ง” นิ้งเล่า

นั้ทและนิ้งยังบอกอีกว่าทั้งคู่ไม่ได้อยากเจาะจงว่านักเรียนของพวกเขาจะต้องทำอะไร เวลาไหน ดังนั้น ระหว่างพักเหนื่อยจากการปั้นงานก็อาจนั่งเลือกแผ่นเสียง อ่านหนังสือ หรือออกไปเดินที่สวนมะพร้าวก็ได้ และถ้าใครอยากจะพายซับบอร์ดที่แม่น้ำก็ย่อมได้ ที่สำคัญ ทั้งคู่ยังตั้งใจให้ที่นี่เป็นสถานที่ pet friendly ที่พ่อหมาแม่แมวจะมาทำกิจกรรมร่วมกับลูกสี่ขาของตัวเองก็ได้

“จริงๆ เราไม่ได้มองว่าที่นี่คือสตูดิโอเซรามิกแต่เรามองว่ามันคือพื้นที่มัลติฟังก์ชั่นเพราะนักเรียนและตัวเราเองสามารถเคลื่อนที่และใช้งานในส่วนต่างๆ ได้ทั้งหมด ยิ่งบรรยากาศมันสบาย สงบ และใกล้ชิดธรรมชาติ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนได้อยู่กับตัวเอง ได้ปล่อยใจไปกับธรรมชาติ ได้ทดลองสิ่งต่างๆ จนอาจเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่คาดคิด

“เหมือนกับชื่อ Clayceracera ที่ผมอิงมาจากเพลง Que Sera, Sera เนื้อเพลงมันบอกว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ผมคิดว่ามันเหมือนการปั้นดินว่าถ้าเราจะบังคับให้มันเป็นรูปร่างแบบนั้นแบบนี้ มันอาจจะเป็นการฝืนธรรมชาติและกลายเป็นเรื่องยากกว่าการปล่อยให้มันเกิดเป็นรูปทรงต่างๆ ของมันเอง 

“ท้ายที่สุด การปล่อยให้ดินมันไหลไปตามกระบวนการที่เราทดลองนี้ก็อาจทำให้เราได้บทเรียนและผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมาย” นัทอธิบายที่มาและความตั้งใจ

ตลอดบทสนทนา นอกจากความสงบที่เราได้รับจากสถานที่ มุมมองใหม่ๆ ที่ได้จากนิ้งและนัท เรายังได้เข้าใจความหมายของชื่อที่ว่า Clayceracera ว่าไม่เพียงเป็นบทสรุปของรูปทรงเซรามิกจากสองมือของทั้งคู่ แต่ยังเป็นหลักคิดในการทำเวิร์กช็อป การออกแบบพื้นที่ ไปจนถึงสิ่งที่ทั้งคู่อยากส่งต่อให้นักเรียนทุกคนได้รับรู้

ที่สำคัญ ความหมายของชื่อนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางของทั้งคู่ที่ไม่เคยยอมแพ้ในวันแรก และปล่อยให้ตัวเองได้ทดลองผลงาน ทดลองตลาดมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็น Clayceracera Studio ในวันนี้

What I’ve Learned
1. “แม้ผลงานของเราจะแตกต่าง แต่ในเมื่อมันยังขายได้และมีคนให้ความสนใจ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่ากลุ่มลูกค้าที่ niche ตรงนี้มีอยู่จริง”
2. “สถานที่ที่สวยงามและน่าพักผ่อนคือจุดดึงดูดความสนใจแรกที่ทำให้คนอยากทำความรู้จักเรา”
3. “เราควรหมั่นสังเกตมุมมองของลูกค้า ประสบการณ์ที่เขาได้รับ และวิธีการสร้างสรรค์ผลงานของเขา รวมถึงพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปกับลูกค้า เพราะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจมองข้ามไปนั้นช่วยให้เราพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น”

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like