เพื่อชีวิต
Cheewid แพลตฟอร์มช่วยระดมทุนและอาสาสมัครเพื่อต่อชีวิตองค์กรเพื่อสังคมไทย
โลกเต็มไปด้วยปัญหามากมายที่รอวันแก้ไข คงไม่แปลกที่จะมีผู้คนรวมกลุ่มกันทั้งในนามองค์กรไม่แสวงหากำไร กิจการเพื่อสังคม หรือมูลนิธิเพื่อแก้ปัญหาที่พวกเขาพอจะหยิบจับได้ แต่ก็ใช่ว่าการทำงานเพื่อสังคมจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ
การเงินฝืดเคือง เข้าถึงแหล่งทุนอย่างยากลำบากทำให้หลายโครงการทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง
คนทำงานเพื่อสังคมเงินเดือนน้อยจนไม่สามารถดึงดูดคนยุคใหม่ให้เข้ามาทำงานในระยะยาวได้
หลายองค์กรเพื่อสังคมไม่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ทำให้ไร้ตัวตนบนโลกออนไลน์ หรือไม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาในโลกยุคใหม่
Cheewid จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มช่วยเหลือกิจการเพื่อสังคมและองค์กรไม่แสวงหากำไรในทุกแง่มุม ทั้งในด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมแรงให้คนทำงานเพื่อสังคมเติบโตได้ไกลกว่าเดิม
หากคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ cheewid.com เราจะพบกับแคมเปญที่กำลังระดมทุน ตำแหน่งงานอาสาสมัครในองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ และข้อมูลองค์กรเพื่อสังคมในประเทศไทยโดยหวังว่าจะตอบโจทย์ทั้งฝั่งองค์กรเพื่อสังคมและผู้บริจาค
Cheewid ที่อยากตอบโจทย์ชีวิตคนทำงานเพื่อสังคมเป็นยังไงตามไปดูกัน
จุดเริ่มต้นของ Cheewid
แม้ว่าแพลตฟอร์ม Cheewid จะเป็นน้องใหม่ เพิ่งเปิดตัวเว็บไซต์ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่ คริษฐ์ ศุภวัฒนกุล ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Cheewid ควบตำแหน่งนักลงทุนของธนาคารแห่งหนึ่งเท้าความให้ฟังว่าเขาฟูมฟักความฝันนี้มาตั้งแต่ปี 2015 ในช่วงเวลานั้น คริษฐ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและเทคโนโลยีชื่อว่า Accenture และมีโอกาสร่วมเขียนแผนแม่บทโปรเจกต์ Thailand 4.0 เพื่อสะท้อนช่องว่างทางเทคโนโลยีที่หน่วยงานรัฐต้องพัฒนา
ระหว่างที่คร่ำเคร่งทำแผนแม่บทครอบคลุมเรื่องสวัสดิการแรงงานและการพัฒนามนุษย์ เขามีโอกาสได้เรียนรู้กรณีศึกษาเรื่องการทำงานเพื่อสังคมจากประเทศต่างๆ นั่นจุดประกายให้เขาสนใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาเติมเต็มการทำงานเพื่อสังคม
“ผมเริ่มทำ Cheewid ขึ้นมาเพื่อเป็นพาร์ตเนอร์กับองค์กรเพื่อสังคม ช่วยเขาสเกลระบบการบริหารจัดการ (operation) ซึ่งผมคิดว่าเทคโนโลยีเป็นตัวที่สร้างการเติบโตได้ดีที่สุด
“ด้วยความที่ผมทำงานอยู่ฝั่งการลงทุนและระดมทุนเลยเห็นว่าสกิลของผมสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับฝั่งองค์กร non-profit ได้ ขณะเดียวกันผมก็รู้มุมมองของนักลงทุนด้วย รู้ว่าเขาอยากจะลงทุนกับอะไร เลยอยากจะเอาความเชื่อมโยงเหล่านี้มาพัฒนากิจการเพื่อสังคมในเมืองไทย”
แม้ในโมงยามนั้นประเทศไทยจะเริ่มมีการระดมทุนในรูปแบบ crowdfunding แล้ว แต่คริษฐ์อยากสร้างเครื่องมือดิจิทัลที่ทำได้มากกว่าการรับบริจาค เขาจึงไม่รีรอเริ่มก่อร่างวางไอเดียแพลตฟอร์ม Cheewid เพื่อนคู่คิดที่อยากช่วยเหลือทุก ‘ชีวิต’ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อมผ่านเทคโนโลยี
“สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นโอกาสทางการตลาดคือในเอเชียมีการบริจาคเงินเพื่อการกุศลประมาณ 500-600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนตัวเลขเงินบริจาคในไทยจากกรมสรรพากรคือประมาณแสนล้านบาท คำถามคือแสนล้านบาทต่อปีมันไปอยู่ที่ไหน แล้วเราจะทำยังไงให้เงินจำนวนนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถช่วยเหลือได้ทั้งกิจการเพื่อสังคมทีมเล็กๆ แต่มีวิชั่นที่ดี และช่วยผลักดันองค์กร non-profit ขนาดใหญ่ของไทยให้เติบโตไปเป็นองค์กรใหญ่ระดับโลก
“นอกจากนั้นเงินบริจาคในไทยเยอะก็จริงแต่ก็ไม่เยอะเท่าต่างประเทศ เราจึงไม่ได้แค่อยากขยายช่องทางให้คนกลุ่มเล็กสามารถแย่งสัดส่วนเงินทุนกับคนกลุ่มใหญ่แต่เราอยากขยายขนาดตลาดให้มีช่องทางการบริจาคเงินหรือการช่วยเหลือมาจากต่างประเทศด้วย”
ต้นทุน Cheewid
อย่างที่เล่าไป องค์กรเพื่อสังคมหลายแห่งเผชิญกับปัญหาด้านการเงินทำให้ไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร อีกทั้งเงินบริจาคก็กระจุกอยู่เพียงองค์กรบางประเภท แพลตฟอร์ม Cheewid จึงเข้ามาตอบโจทย์ด้วยบริการระดมทุนให้กับกิจการเพื่อสังคม องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคม
เพียงกดเข้ามาที่นี่ที่เดียว ผู้บริจาคจะได้รู้จักองค์กรเพื่อสังคมกว่า 100 แห่ง ครอบคลุมตั้งแต่องค์กรด้านการศึกษา เช่น ‘โครงการร้อยพลังการศึกษา’ ที่ช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาส, หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘กินช่วยเกษตรกร’ ที่เชื่อมเกษตรกรกับคนกินไว้ด้วยกัน ลดปัญหาผลผลิตล้นเกินจนโดนกดราคา ไปจนถึงหน่วยงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ศาสนา และสิทธิสัตว์หลากหลาย
“สิ่งที่เราทำหลักๆ บน cheewid.com คือสารบัญ การบริจาค (donation directory) ถ้าใครต้องการข้อมูลของมูลนิธิหรือกิจการเพื่อสังคมในไทยก็สามารถเข้ามาดูได้ ตั้งแต่ข้อมูลการก่อตั้ง โครงการขององค์กรที่กำลังทำอยู่และโครงการที่กำลังเปิดระดมทุน โดยองค์กรต่างๆ สามารถระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มได้ 2 รูปแบบ คือระดมทุนให้กับองค์กร องค์กรเอาไปใช้กับโครงการอะไรก็ได้ กับรูปแบบระดมทุนให้กับโครงการซึ่งต้องนำเงินไปใช้กับโครงการที่เปิดระดมทุนเท่านั้น”
คริษฐ์ย้ำว่าแพลตฟอร์มให้ความสำคัญกับการเป็น decentralized platform หรือแพลตฟอร์มที่ไร้การรวมศูนย์ องค์กรที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มจะสามารถจัดการแคมเปญบริจาคหรือดูข้อมูลการบริจาคที่ผ่านมาได้ด้วยตัวเอง ขณะที่ผู้บริจาคเองก็สามารถเลือกบริจาคได้หลากหลายช่องทางทั้งโมบายล์แบงก์กิ้ง สแกน QR code หรือตัดบัตรเครดิต
นอกจากการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Cheewid ยังเห็นว่าหนทางที่ยั่งยืนคือการที่องค์กรสามารถหาทุนได้ด้วยตนเอง พวกเขาจึงมีบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน เปิดให้บริการทำพรีเซนต์นำเสนอขอทุน (pitch deck presentation) ในรูปแบบที่สวยงาม ครบถ้วน ถูกแกรมมาร์เพื่อให้องค์กรสามารถนำไปขอทุนจากต่างประเทศได้ และให้บริการค้นหานักลงทุน จับคู่องค์กรเอกชนกับองค์กรเพื่อสังคม สร้างโอกาสใหม่ๆ ที่องค์กรเพื่อสังคมอาจนึกไม่ถึง ส่วนแหล่งทุนก็ได้โปรเจกต์ CSR ที่มีคุณภาพจริงๆ
หนึ่งในตัวอย่างที่ Cheewid เข้าไปเป็นสะพานเชื่อมระหว่างบริษัทเอกชนและธุรกิจเพื่อสังคมคือการร่วมกับ a-chieve องค์กรที่สนับสนุนการค้นหาตัวเองทั้งอาชีพที่ใช่และชีวิตที่ชอบของนักเรียนวัยมัธยม จัดงานมหกรรมแนะแนวเส้นทางอาชีพ ‘ฟูมฟัก ฝัน เฟส’ งานแนะแนวที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้อาชีพที่หลากหลาย โดยคริษฐ์มีส่วนร่วมตั้งแต่การนำเสนอโครงการกับบริษัทในไทยที่สนใจทำงานด้าน CSR จนได้ทุนจากธนาคารแห่งหนึ่งที่ต้องการสร้างฐานกลุ่มผู้ใช้งานเป็นน้องๆ ที่ต้องการเปิดบัญชีใหม่ งานนี้นอกจากธนาคารจะได้ตั้งบูทของแบรนด์แล้วยังสามารถสร้าง awareness ให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านการแนะนำอาชีพในสายงานธนาคาร ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางบวกให้กับองค์กรในอีกทาง
ในโลกธุรกิจและการลงทุน ตัวเลขกำไรเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญแต่สำหรับคริษฐ์ เขามองว่าปัจจุบันบริษัทควรให้ความสนใจกับประเด็นทางสังคมไม่แพ้ผลกำไร
“ผมว่ามันเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้พนักงานด้วยเหมือนกัน” เขาเล่าว่าองค์กรที่มีเป้าหมายอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมจะเป็นองค์กรที่มีแนวทางที่ชัดเจน และเป็นองค์กรที่น่าดึงดูดสำหรับคนรุ่นใหม่
“หลักๆ แล้วสิ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจคือ Why we do it. หรือเราทำงานไปเพื่ออะไร นี่เป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูดพวกเขาให้ทำงานเลย”
ระดม Cheewid
ไม่เพียงเงินทุนที่สำคัญ คนทำงานก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจที่ขับเคลื่อนงานเพื่อสังคม แต่ปัญหาคือหลายองค์กรนั้นขาดแคลนคนทำงาน แถมคนทำงานมูลนิธิหลายคนในปัจจุบันก็ขาดสกิลในโลกยุคใหม่ เช่น การใช้โปรแกรมเบื้องต้นอย่าง google slide หรือ google meet แพลตฟอร์ม Cheewid จึงทำงานจัดหาอาสาสมัคร (volunteer management) ซึ่งไม่เพียงอุดช่องว่างเรื่องการขาดคนและขาดสกิลยังเติมเต็มคนทำงานที่อยากมาร่วมขยับสังคมไปด้วยกัน
“เราทำงานกับพนักงานออฟฟิศ (white-collar) จำนวนมากที่ต้องการเติมเต็มความว่างเปล่าในการใช้ชีวิตประจำวัน อยากทำงานที่มีความหมาย เราเลยช่วยเชื่อมต่อเขาเข้ากับมูลนิธิ non-profit ต่างๆ มูลนิธิเองก็จะได้เข้าถึงคนทำงานที่มีสกิลที่ต้องการ เช่น เคยมีมูลนิธิหนึ่งต้องการความช่วยเหลือเรื่องการเงินและบัญชี เราก็มีอาสาสมัครคนหนึ่งที่เขาเรียนบัญชีมาและสามารถสอนได้ ซึ่งสิ่งนี้มันมีประโยชน์กับอาสาสมัครหลายคนที่ต้องการเรซูเม่ไปเรียนต่อต่างประเทศด้วย”
ในอีกด้าน Cheewid ยังได้ทำงานกับพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีอีกหลายแห่งที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือคนทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบเว็บไซต์และงานดีไซน์ระบบจัดเก็บข้อมูล นอกจากนี้ Cheewid ยังสร้างคอมมิวนิตี้คนทำงานเพื่อสังคม ชักชวนผู้เชี่ยวชาญในบริษัทชั้นนำของประเทศและของโลกมาให้คำแนะนำและความรู้แก่อาสาสมัครและองค์กรเพื่อสังคมที่ Cheewid ทำงานอยู่ด้วย
Cheewid ที่แตกต่าง
หย่อนเงินลงกล่องหรือโอนเงินช่วยเหลือ การบริจาคดูเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว หลายคนคงสงสัยว่าอะไรที่ทำให้แพลตฟอร์ม Cheewid แตกต่างจากองค์กรทั่วไป
หนึ่งในคำตอบคือเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้
“เราคัดกรององค์กรที่จะอยู่บนแพลตฟอร์มด้วยตัวเองโดยคัดจาก social impact หรือความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขามีต่อสังคม องค์กรต้องบอกได้ว่าเขาทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมยังไง ถ้าเป็นนิติบุคคล เราจะขอเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ตั้งแต่หนังสือบริคณห์สนธิ งบดุล งบการเงิน งบกระแสเงินสดมาดูด้วยว่าคุณใช้เงินในทางที่ถูกต้องหรือเปล่า แล้วก็สัมภาษณ์ผู้บริหารและพนักงานเพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีตัวตนจริงไม่ใช่เปิดระดมทุนแล้วจะหายไป”
แนวทางดังกล่าวคือความตั้งใจของ Cheewid ที่อยากให้คนบริจาคมีประสบการณ์การบริจาคที่ดี โปร่งใส เห็นว่าเงินที่บริจาคไปถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถัดจากเรื่องความโปร่งใส อีกหัวใจสำคัญที่ทำให้ Cheewid แตกต่างคือเรื่อง ‘เทคโนโลยี’
วันนี้พวกเขากำลังค่อยๆ เติบโต และทยอยปล่อยฟีเจอร์ต่างๆ ออกมาให้องค์กรเพื่อสังคมได้ใช้งาน เช่น ข้อมูลอันดับผู้บริจาคเงินสูงสุดในประเทศไทย หรือข้อมูลบริษัทที่มีการทำ CSR แต่คริษฐ์เล่าว่าในอนาคต เขาอยากให้ Cheewid เป็นเพื่อนคู่คิดขององค์กรเพื่อสังคมในทุกมิติมากขึ้น ทั้งเรื่องการรับบริจาคเงินที่จะพัฒนาให้สามารถรับเหรียญบิตคอยน์และ ETH ได้ มีการวางแผนให้ Cheewid เป็นธนาคารดิจิทัล (neobank) สำหรับองค์กร non-profit เพื่อลดความยุ่งยากในการกู้เงินจากธนาคารทั่วไป และสนับสนุนให้องค์กรเพื่อสังคมในไทยใช้เทคโนโลยีทางการเงินในองค์กร
และก้าวถัดไปคือการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีในกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น ทั้งในส่วนของการจัดการทรัพยากรบุคคล การใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์หาแนวโน้มผู้บริจาค และการสร้างมาตรวัดผลกระทบทางสังคม (social impact) เพื่อให้การทำงานเพื่อสังคมสามารถวัดผลได้ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมจริงๆ รวมไปถึงเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของแหล่งทุน
“ในโลกธุรกิจ digital transformation เกิดขึ้นแล้วเราก็อยากให้มีคนที่ทำงานฝั่ง non-profit เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและดาต้าเช่นกัน
“ทุกวันนี้ ถ้าไปถามมูลนิธิทั่วไปว่าคุณมีตัวเลขการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) เท่าไหร่ คุณมีการประเมินตัวชี้วัดทางสังคม (social impact indicator) ไหม หลายที่ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ เราจึงอยากจะทำเครื่องมือที่จะมาช่วยวัดผลกระทบทางสังคมออกมา”
ท้ายที่สุด เพื่อช่วยคนทำงานเพื่อสังคมให้เติบโต Cheewid ก็ต้องอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืนดังนั้นเพื่อให้มีทุนขับเคลื่อนแพลตฟอร์มคริษฐ์เล่าว่าพวกเขาจึงออกแบบแพ็กเกจบริการสำหรับองค์กรที่ต้องการการสนับสนุนพิเศษในราคา 1,000 ต่อเดือน
แม้ว่าจะเพิ่งเปิดได้ไม่นานแต่ที่ผ่านมา Cheewid ได้ช่วยระดมทุนไปมากกว่า 8 ล้านบาทผ่าน 54 โครงการแล้วและยังคงเดินหน้าทำตามความตั้งใจต่อไป
ชีวิตของ Cheewid จะเติบโตไปช่วยเหลือชีวิตอื่นในแบบใดบ้างเราคงต้องติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไป