Case Study

CASETiFY แบรนด์เคสมือถือที่ต่างด้วยความคิดสร้างสรรค์และการคอลแล็บจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก

แค่รูปลักษณ์ภายนอก สีสันที่สวยงามของสินค้าที่ดึงดูดสายตาอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของสูตรสำเร็จในการขายสินค้า และเข้าไปอยู่ในใจของผู้คน แต่สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างแบรนด์ ตัวตนของสินค้า ความแตกต่าง และการสื่อสารของแบรนด์ไปยังผู้คนต่างหากที่จะทำให้แบรนด์โตอย่างยั่งยืนได้

เรากำลังพูดถึง CASETiFY แบรนด์อุปกรณ์เสริมเทคโนโลยีสัญชาติฮ่องกงที่เติบโตเร็วที่สุด และเป็นบริษัทอุปกรณ์เสริมเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และสามารถเข้าถึง 1 ใน 5 ของผู้บริโภคเจนฯ Z ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

CASETiFY เคสโทรศัพท์มือถือที่คนรุ่นใหม่ฮิตกันทั่วบ้าน ทั่วเมืองในขณะนี้ก็ใช้วิธีการทำทุกอย่างที่กล่าวมาและทำอย่างต่อเนื่อง

จุดเริ่มต้นก่อนที่ CASETiFY จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จากผู้ชายที่มีชื่อว่า ‘เวสลีย์ อิ้ง’ (Wesley Ng) ผู้ที่หลงใหลและคลั่งไคล้การใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม เวลาโพสต์ภาพสวยๆ ลงบนหน้าฟีดทีไรก็มักจะได้รับการตอบรับที่ดีอยู่เสมอ ประกอบกับในยุคนั้นแม้จะมีโทรศัพท์มือถือที่ถูกใจ น่าซื้อ แต่เคสโทรศัพท์ที่มีวางขายดูจะยังไม่ตอบโจทย์เวสลีย์เท่าไหร่นัก เขารู้ว่าเคสที่มีวางขายนั้นน่าเบื่อ ไม่มีสไตล์ และไม่สามารถหาเคสโทรศัพท์มือถืออันไหนที่ถูกใจได้

นั่นจึงทำให้เขาหยิบทั้งสองเรื่องราวออกมาเป็นไอเดียที่ว่า หากนำภาพสวยๆ บนอินสตาแกรมมาต่อยอดเป็นสินค้าที่ใช้ได้จริง เป็นลายบนเคสโทรศัพท์มือถือได้ก็น่าจะเป็นไอเดีย และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เจ๋งไม่น้อย

จากที่เป็นพนักงานประจำของบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำงานด้านออกแบบ เวสลีย์ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาปั้นธุรกิจแบรนด์เคสโทรศัพท์มือถืออย่างเต็มตัว 

ปี 2011 ก็ได้เกิดแบรนด์ที่มีชื่อว่า Casetagram ขึ้น เป็นแบรนด์เคสโทรศัพท์มือถือที่ให้ลูกค้านำภาพจากอินสตาแกรม มาออกแบบและตกแต่งเป็นลวดลายบนเคสเองได้และขายผ่านช่องทาง e-Commerce ก่อนที่ช่วงกลางปี 2014 ได้รีแบรนด์เปลี่ยนชื่อ พร้อมกับประโยคที่ว่า New name. Same people. More memorable products. มาเป็น CASETiFY

พร้อมกับเปลี่ยนฟอนต์โลโก้มาเป็นในแบบปัจจุบัน ใครใช้เคสของ CASETiFY อยู่ หรือลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ ก็จะเห็นโลโก้ของแบรนด์ที่ดูสะอาดตา อ่านง่าย และให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง ทีมงาน CASETiFY เคยอธิบายไว้ว่า แรงบันดาลใจสำหรับโลโก้นี้มาจากแนวคิดของพวกแสตมป์ สติ๊กเกอร์ และเทป ที่เป็นสิ่งที่ผู้คนใช้ปรับแต่งสิ่งของที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นเจ้าของ จึงได้ออกแบบโลโก้ให้เหมือนสติ๊กเกอร์ และดีไซน์ให้โลโก้อยู่ที่กรอบของกล้องมือถือ ส่วนตัวเคสบริเวณอื่น CASETiFY ให้อิสระกับคนที่เป็นเจ้าของที่สามารถดีไซน์ตั้งแต่ฟอนต์ สีของเคส ข้อความ รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ทำตัวเคสด้วย

เหมือนกับที่เวสลีย์ บอกไว้ว่า “ผลิตภัณฑ์ของ CASETiFY เปรียบเสมือนผืนผ้าใบสำหรับการสร้างสรรค์ไม่มีที่สิ้นสุดผ่านการร่วมมือกับแบรนด์ที่โดดเด่น…งานของเราคือการสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ที่มีตัวเลือกเพียงพอจะตอบทุกสไตล์ ทุกเทรนด์แฟชั่นและทุกบุคลิกตั้งแต่แบบเรียบง่ายไปจนถึงงานดีไซน์ที่จัดจ้าน” 

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมีหลายคนคิดว่า CASETiFY ดูเหมือนแบรนด์ธรรมดาที่ขายเคสโทรศัพท์ ลูกค้าสามารถออกแบบและตกแต่งได้เอง ที่ก็ไม่ต่างจากเจ้าอื่นเท่าไหร่นัก แต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ CASETiFY เคสโทรศัพท์มือถือราคาเริ่มต้นหลักพันบาทนี้สามารถครองใจผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ทั่วโลก และเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างทุกวันนี้ 

ปี 2020 CASETiFY มีรายได้กว่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวสลีย์ยังตั้งเป้าว่าจะต้องกวาดรายได้ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 

คำตอบมีด้วยกัน 3-4 ข้อ

1. Personalization and Unique

ความเฉพาะตัวและไม่เหมือนใครคือจุดเด่นของ CASETiFY หากเปรียบเทียบก็คงเหมือนสไตล์การแต่งตัว เลือกองค์ประกอบตั้งแต่เสื้อผ้า หน้า ผม ไปจนถึงรองเท้า ที่แต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง การเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวตนของเรามากที่สุดเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองไม่มากก็น้อย

เช่นเดียวกับเคสโทรศัพท์มือถือแม้จะเป็นองค์ประกอบเล็กๆ แต่การเลือกสิ่งที่ไม่ซ้ำจำเจ ดีไซน์สวยงามที่มีชิ้นเดียวในโลกที่สะท้อนตัวตน มาพร้อมกับความคงทนที่จะช่วยปกป้องโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเป็นไหนๆ และตอบโจทย์ personalized experience ของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ไม่ยาก

ใครลองกดเข้าไปในเว็บไซต์ก็จะรู้ว่านี่เป็นจุดแข็งของ CASETiFY ที่ลูกค้าสามารถเลือกคัสตอมเคสของตัวเองได้ตั้งแต่ลวดลาย การเลือกข้อความและฟอนต์ สีของเคส ความหนา ไปจนถึงวัสดุที่ใช้ทำเคส

2. Collaborations

การคอลแล็บเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลายๆ แบรนด์ทั่วโลกใช้ในทำแบรนด์ให้เติบโต เพราะนอกจากจะได้สินค้าที่มีดีไซน์แปลกใหม่ออกมา ยังสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นด้วย CASETiFY เองก็เลือกวิธีนี้เช่นกัน 

เราเห็น CASETiFY คอลแล็บกับคาแร็กเตอร์ ดีไซเนอร์ ภาพยนตร์ แบรนด์ต่างๆ ไปจนศิลปิน K-pop เวสลีย์เลือกคอลแล็บกับแบรนด์ที่มีความน่าสนใจในตัวของแบรนด์นั้นๆ เองป็นหลัก ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแบรนด์ประเภทใดแค่อย่างเดียว เพราะต้องการสร้างสรรค์งานดีไซน์ที่ออกมาตอบโจทย์คนทุกไลฟ์สไตล์ตั้งแต่แบบเรียบง่ายไปจนถึงงานดีไซน์ที่จัดจ้าน 

Kentipz, Basquiat, Disney Mickey & Friend, Barbie, One Piece, Sailor Moon, Dragon Ball Z, Harry Potter, BLACKPINK, Twice, NBA, Blvck Paris ฯลฯ คือตัวอย่างแบรนด์ คาแร็กเตอร์ ดีไซเนอร์ ศิลปินที่ CASETiFY ออกคอลเลกชั่นด้วยมาแล้ว

3. Social Media

โซเชียลมีเดียคือหัวใจหลักที่เข้าถึงผู้คน และหากพูดว่า CASETiFY เองก็เกิดจากโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมก็คงไม่ผิดนัก เพราะฉะนั้นเวสลีย์จึงให้ความสำคัญกับการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ TikTok มากๆ นอกจาก CASETiFY จะขายผ่านช่องทางออนไลน์และจัดส่งไปทั่วโลกแล้ว ช่องทางโซเชียลมีเดียคือกระบอกเสียงชั้นดีที่ทำให้ผู้คนรู้จัก CASETiFY มากขึ้น โดยที่แบรนด์แทบจะไม่ต้องพูดอะไร เพราะเวลาเราถ่ายรูป หากเราถ่ายรูปหน้ากระจกแล้วแชร์ภาพนั้นๆ ลงไป โลโก้เล็กๆ ที่อยู่รอบกล้องถ่ายรูปก็จะปรากฏผ่านสายตาของผู้คนแบบเนียนๆ 

หนึ่งในเคสที่น่าสนใจที่ทำให้ผู้คนพูดถึง และตามหาซื้อเคส CASETiFY กันอย่างล้นหลามคือ Kylie Jenner เซเลบริตี้สาวที่ถ่ายรูปคู่กับเคสแล้วโพสต์ลงใตอินสตาแกรมของตัวเธอนั่นเอง

4. Online and Offline

แน่นอนว่า CASETiFY นอกจากจะมุ่งเน้นไปยังกลยุทธ์การขายแบบ direct-to-customer เติบโตจากการขายผ่าน e-Commerce มีรายได้จากช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

แม้จะประสบความสำเร็จ และมีช่องทางจำหน่ายออนไลน์ครอบคลุมมากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก มีสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นตลาดหลักในปัจจุบันก็ตาม แต่การสร้างประสบการณ์แบบสัมผัสได้จริงย่อมทำให้ผู้คนเข้าถึง และได้รับประสบการณ์ที่ดีมากกว่า เวสลีย์จึงทำการเปิดหน้าร้านสาขาที่ชื่อว่า CASETiFY Studio ขึ้น ปัจจุบันมีสาขาอยู่ 18 แห่งทั่วเอเชีย-แปซิฟิก และ 1 สาขาในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับเปิดหน้าร้านแบบ pop-up store ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จากฟีดแบ็กที่ดีช่วยสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าเข้าถึงเทคโนโลยีแบบจับต้องได้จริง ทำให้ CASETiFY มีเป้าหมายที่จะเปิดร้าน 100 แห่งภายในปี 2025 

ทั้งหมดนี้คือคำตอบ

จากแค่เริ่มแรกขายแค่เคสโทรศัพท์มือถือ ตอนนี้ CASETiFY มีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อมากมาย และกลายมาเป็นบริษัทแบรนด์ไลฟ์สไตล์เคสมือถือ และอุปกรณ์เสริมทางเทคโนโลยีระดับโลกที่ประสบความสำเร็จและน่าจับตา

 “Real cute, Real Tough” ความสวยงามที่มาคู่กันกับความแข็งแรงทนทาน และความไม่เหมือนใคร ทำให้ผู้คนตัดสินใจจิ้มเลือก CASETiFY มาเป็นเคสกับโทรศัพท์มือถือคู่ใจได้ไม่ยาก

FYI 
รู้หรือไม่ว่า CASETiFY มาเปิด pop-up store แห่งแรกใจกลางกรุงเทพฯ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อ 26 กันยายนปีที่ผ่านมา โดยจะเปิดถึง 25 มีนาคม 2566 จากกระแสการตอบรับที่ดีทำให้ CASETiFY ตั้งเป้าจะบุกตลาดประเทศไทยอย่างเต็มตัว มีแผนที่จะเปิด CASETiFY Studio ถาวรภายในปี 2023 

อ้างอิง

Tagged:

Writer

กองบรรณาธิการธุรกิจ

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like