Captain of the World

Captain Tsubasa เพราะฟุตบอลคือเพื่อนของพวกเรา

Match : โรงเรียนนันคัตสึ 4-2 โรงเรียนเมวะ
Date : กุมภาพันธ์ 1984

นัดชิงชนะเลิศของศึกฟุตบอลชิงแชมป์ประเทศในระดับประถมของญี่ปุ่น เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของการต่อเวลาพิเศษแล้ว

ในช่วงเวลา 90 นาทีปรากฏว่าทีมโรงเรียนนันคัตสึเสมอกับทีมโรงเรียนเมวะอย่างสุดเร้าใจ 2-2 ก่อนที่กัปตันทีมนันคัตสึจะมาทำประตูนำ 3-2 ในช่วงครึ่งหลังของการต่อเวลาพิเศษ

ฮิวงะ โคจิโร กัปตันทีมเอซของทีมโรงเรียนเมวะยังไม่ยอมแพ้ พยายามที่จะทวงประตูตีเสมอให้ได้ เพราะความพ่ายแพ้อาจหมายถึงความฝันที่จะได้ทุนเข้าศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนโตโฮ และอาจหมายถึงความหวังที่จะดูแลพี่น้องในครอบครัวต้องดับลงด้วย

แต่วากาบายาชิ เก็นโซ พิสูจน์ความเป็น ‘SGGK’ (Super Great Goal Keeper) ที่ไม่ยอมเสียประตูจากนอกกรอบเขตโทษเด็ดขาด และยังได้ความช่วยเหลือจากมิซากิ ทาโร คู่หูแข้งทองของซึบาสะที่เสียสละสกัดบอลไม่ให้ข้ามเส้นประตู แม้ว่าศีรษะจะกระแทกกับเสาประตูอย่างรุนแรงก็ตาม

ซึบาสะที่เห็นเพื่อนบาดเจ็บหนัก ได้ระเบิดพลังเฮือกสุดท้ายออกมา ด้วยการลากบอลลุยฝ่าดงนักเตะเมวะยกทีม เอาชนะฮิวงะในการดวลกัน และกำลังจะเผชิญหน้ากับ วากาชิมัตสึ เคน นายทวารลีลาคาราเต้

ถ้าผ่านไปได้นันคัตสึจะเป็นผู้ชนะทันที ซึบาสะจะทำได้หรือไม่!

ที่เล่ามาข้างต้นเชื่อว่าคนที่อายุอานามใกล้ๆ กับผม (เกิดในยุค 80s โตในยุค 90s) น่าจะคุ้นๆ เคยๆ อยู่ที่ไหนสักแห่งในกล่องความทรงจำใช่ไหมครับ

เพราะนี่คือหนึ่งในตอนที่เร้าใจที่สุดในช่วงแรกของ ‘กัปตันซึบาสะ’ (Captain Tsubasa) การ์ตูนหรือมังงะฟุตบอลที่โด่งดังที่สุดในยุค 80s ที่สร้างปรากฏการณ์มากมายให้เกิดขึ้น 

ปรากฏการณ์ที่ไม่ได้ถูกจำกัดเอาไว้แค่ในประเทศญี่ปุ่น แต่กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่นำไปสู่สิ่งต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา โดยที่เจ้าของผลงานอย่างอาจารย์โยอิจิ ทาคาฮาชิ เองก็ไม่ได้คาดคิดหรือคาดฝันมาก่อนว่าเรื่องราวและลายเส้นของเขาจะไปได้ไกลถึงเพียงนี้

เพราะความตั้งใจแรกของอาจารย์ทาคาฮาชิมีเพียงแค่ ‘อยากให้คนญี่ปุ่นหันมารักฟุตบอล’ บ้างเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรที่มากหรือน้อยไปกว่านั้น

แต่ก่อนอื่นสำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่ได้รู้จักเรื่องราวของกัปตันซึบาสะอย่างลึกซึ้ง หรืออาจจะเคยรู้จักแต่ลืมไปแล้ว ผมขออนุญาตทบทวนความทรงจำให้สักเล็กน้อยนะครับ

Captain Tsubasa เป็นผลงานมังงะเกี่ยวฟุตบอลที่เกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างมากของอาจารย์ทาคาฮาชิ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาเต็มเปี่ยมจากการได้เฝ้าติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1978 ซึ่งจัดการแข่งขันกันที่ประเทศอาร์เจนตินา

แรกเริ่มเดิมที อาจารย์ทาคาฮาชิ ไม่ได้ปันหัวใจให้เกมลูกหนังมาก่อน เพราะเกิดและเติบโตมากับเบสบอลซึ่งเป็นกีฬายอดฮิตของชาวญี่ปุ่นซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

เพียงแต่ฟุตบอลโลกครั้งนั้นคือ ‘รักแรกพบ’ ของนักเขียนมังงะฝึกหัด ที่ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าเขาจะวาดมังงะเกี่ยวกับฟุตบอล หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ซักก้า’ (サッカー) ขึ้นมาให้ได้ เพื่อจะทำให้คนญี่ปุ่นหันมาตกหลุมรักเกมฟุตบอลในแบบเดียวกับที่เขาตกหลุมรักบ้าง

ปัญหาอยู่ที่กองบรรณาธิการนิตยสาร Shonen Jump ไม่ซื้อไอเดียของเขา เพราะไม่เชื่อว่ามังงะฟุตบอลจะได้รับความนิยม ทำให้อาจารย์ทาคาฮาชิต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างมากในการพยายามหาทางเสนอไอเดียเพื่อให้ผ่านการพิจารณา

ดังคำเขาว่า ‘ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก’ หลังความพยายามร่วม 3 ปี สุดท้ายไอเดียมังงะลูกหนังซึ่งเป็นผลงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการเรื่องแรกของอาจารย์ทาคาฮาชิก็ได้รับการตอบรับ

โดยที่เรื่องราวนั้นไม่ใช่เรื่องมังงะของนักฟุตบอลอาชีพชื่อดัง หรือนักกีฬาจอมแกร่งที่ผ่านชีวิตที่ยากลำบากอะไร

ตัวละครเอกของเรื่องเป็นเพียงแค่เด็กประถมอายุ 11 ขวบคนหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ในตัว

ที่สำคัญคือเด็กคนนี้มีหัวใจที่บริสุทธิ์ และคอยพร่ำบอกกับทุกคนเสมอว่า ‘ลูกฟุตบอลคือเพื่อน’

วิธีการดำเนินเรื่องแบบ ‘hero’s journey’ ทำให้คนอ่านตามเอาใจช่วย โอซารา ซึบาสะ ตัวละครเอกกับผองเพื่อนอย่าง วากาบายาชิ เก็นโซ, มิซากิ ทาโร หรือเรียว อิชิซากิ (ผู้มีใบหน้าเป็นอาวุธ ไม่ใช่หล่อนะ ใช้หน้ารับลูกยิงคู่แข่ง!) ไปโดยไม่รู้ตัว

ในระหว่างการเดินทางสายลูกหนัง ซึบาสะและเพื่อน ทีมโรงเรียนนันคัตสึ (ได้แรงบันดาลใจจากโรงเรียนมินามิคัตสึชิกะ ที่อาจารย์ทาคาฮาชิเคยเรียนตอนประถม) จะต้องพบเจอกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากมาย ซึ่งรวมถึงคู่แข่งแห่งชีวิตคนแรกอย่าง ฮิวงะ โคจิโร นักเตะจอมดุดันแห่งโรงเรียนเมวะ ที่เดิมพันอนาคตกันในนัดชิงชนะเลิศระดับ epic 

ก่อนที่เรื่องราวจะก้าวเดินต่อ จากระดับประถม ไปสู่ระดับมัธยม ไปถึงระดับนานาชาติ มีการนำตัวละครที่มีต้นแบบจากนักฟุตบอลจริงๆมากมายหลายคนในยุคนั้น อาทิ ฮวน ดิอาซ (ดีเอโก มาราโดนา), เอลซิด ปิแอร์ (มิเชล พลาตินี), คาร์ล-ไฮนซ์ ชไนเดอร์ (คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเก) 

หรือแม้แต่นักฟุตบอลไทยก็เคยปรากฏตัวในเรื่องด้วย อย่างพี่น้องกรสวัสดิ์lและบุญนาค แม้ว่าจริงๆ แล้วจะไม่ได้มีต้นแบบจากนักฟุตบอลคนไทย แต่ก็ใช้จุดเด่นของไทยที่นึกออก เช่น กีฬาตะกร้อและมวยไทย มาแต่งเติมจินตนาการ

โดยที่เรื่องราวผ่านวันเวลามายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ จนผู้อ่านหลายคนเติบโตจากเด็กมาสู่การเป็นผู้ใหญ่ หรือบางคนก็กลายเป็นคุณพ่อคุณแม่คนไปแล้ว

เพียงแต่ในเบื้องหลังแล้วน้อยคนจะรู้ว่า Captain Tsubasa เคยเกือบถูกตัดจบตั้งแต่ 10 ตอนแรก!

เหตุผลเพราะตามธรรมเนียมของ Shonen Jump แล้วจะมีการวัดอันดับความนิยมของมังงะทุกสัปดาห์ ซึ่งมังงะเรื่องใหม่ที่ได้รับความนิยมต่ำกว่าที่ 10 ก็จะถูกตัดจบอย่างรวดเร็ว

สำหรับเรื่อง Captain Tsubasa เดิมก็เป็นเรื่องที่ทางกองบรรณาธิการไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายอยู่แล้ว และคะแนนนิยมใน 3 ตอนแรกก็ออกอาการน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยอันดับไหลไปไกลถึงที่ 13

ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปสงสัยซึบาสะจะต้องถูกตัดจบอย่างแน่นอน

ว่าแล้วอาจารย์ทาคาฮาชิก็ตัดสินใจใช้ท่าไม้ตายเป็นครั้งแรก ในตอนที่ 4 ด้วยการทำให้ซึบาสะโชว์ลีลาเตะระดับอภินิหารออกมาให้ทุกคนได้เห็น

ลูกไม้ตายดังกล่าวของอาจารย์ทาคาฮาชิและซึบาสะที่ ‘ชู้ต’ ไปด้วยกันคือลูกจักรยานอากาศ หรือที่เรียกว่าโอเวอร์เฮดคิก ซึ่งเป็นหนึ่งในท่ายิงประตูที่สวยที่สุดแต่ก็ทำได้ยากที่สุดเช่นกัน 

การที่เด็กน้อยอย่างซึบาสะโชว์ท่าโอเวอร์เฮดคิก (ซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในท่าประจำตัว) สะดุดใจนักอ่านขึ้นมาทันที และทำให้ความนิยมของซึบาสะไต่ทะยานขึ้นไปอยู่เหนืออันดับที่ 10 ได้สำเร็จ ส่งผลให้อาจารย์ทาคาฮาชิโล่งใจเพราะถึงตอนนี้เรื่องราวของเจ้าหนูผู้มีชื่อเป็นปีกและท้องฟ้า (ซึบาสะแปลว่าปีก และโซระแปลว่าท้องฟ้า) จะได้เดินทางไปต่อ

โดยที่ในเบื้องหลังการทำงานแล้ว อาจารย์ทาคาฮาชิ ไม่ได้คิดแค่จะเอาสิ่งที่มีอยู่จริงในเกมฟุตบอลมาใช้ แต่ได้แต่งเติมใส่จินตนาการของตัวเองเข้าไปให้มีความมหัศจรรย์เหลือเชื่อเกิดขึ้น 

ท่าไม้ตายหลายๆ ท่าของนักเตะในเรื่องดูเหนือจินตนาการอย่างมาก เช่น ท่า ‘สกายแล็บ’ ของพี่น้องตระกูลทาจิบานา ที่ใช้การถีบส่งด้วยสองขาของคนหนึ่งเพื่อส่งอีกคนขึ้นไปบนท้องฟ้า 

ไอเดียสุดบรรเจิดของท่าเหล่านี้ได้แรงบันดาลใจจากท่าของนักมวยปล้ำอาชีพ ซึ่งเป็นการแสดงที่อาจารย์ทาคาฮาชิโปรดปรานเช่นกัน และคิดว่านำมาใส่ไว้ในเรื่องก็น่าจะสนุกและโอเวอร์ดี

แต่ในอีกหลายท่าก็เป็นสิ่งทำได้จริงๆ นอกเหนือจากลูกโอเวอร์เฮดคิกแล้ว ยังมีลูกชิ่งคู่ขาแข้งทอง (ซึบาสะ-มิซากิ) ที่เป็นสิ่งที่นักฟุตบอลอาชีพทำกันได้จริงๆ ในการแข่งขัน หรือแม้แต่ลูกยิงใบมีดโกน ‘คามิโซริชู้ต’ ของโซดะ มาโคโตะ ก็เคยมีนักฟุตบอลเจลีกทดสอบให้ดูว่าทำได้จริงๆ

โดยที่นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในจินตนาการแล้ว อาจารย์ทาคาฮาชิ ยังเน้นในเรื่องของวิธีการลำดับภาพที่มีมุมมองชวนให้เปิดอ่านหน้าต่อไปอย่างตื่นเต้น

ไปจนถึงการออกแบบท่ายิงให้เท่สุดๆ ดังจะเห็นได้จากลูกยิง ‘ไดรฟ์ชู้ต’ ของซึบาสะ หรือ ‘ไทเกอร์ช็อต’ ของฮิวงะ ที่มีการจัดท่วงท่าทุกอย่างออกมาได้อย่างสวยงาม

สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นี่แหละที่นำไปสู่เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

ความมหัศจรรย์ในฝีเท้าการเล่นของซึบาสะ พลังมิตรภาพของผองเพื่อน และการต่อสู้ที่เข้มข้น ส่งผลให้เกิดกระแสความนิยมฟุตบอลในญี่ปุ่นสมความตั้งใจของอาจารย์ทาคาฮาชิจนได้

จากประเทศที่ไม่เคยมีแม้แต่ฟุตบอลลีกอาชีพที่แท้จริง ญี่ปุ่นค่อยๆเดินหน้าไปสู่การสร้างลีกฟุตบอลอาชีพที่จริงจังในเวลาต่อมาอย่าง ‘เจลีก’ ในปี 1993

Captain Tsubasa อาจไม่ได้มีส่วนโดยตรงต่อการก่อตั้งเจลีก แต่มังงะเรื่องนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กชาวญี่ปุ่นมากมายที่หันมาสนใจการเล่นฟุตบอล ในยุคนั้นมีใครบ้างที่จะไม่ลองออกท่าทางตามตัวละครในเรื่อง 

ขนาดผมเองก็เคยลองยิงประตูแล้วตะโกนว่า ‘ไดรฟ์ชู้ต’ เลย! (แต่ไม่เคยกล้าลองทำท่าโอเวอร์เฮดคิกนะครับ)

แต่เหนืออื่นใดคือการต่อสู้ของซึบาสะ คนที่แม้จะดูเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ที่ฟ้าประทานให้ แต่สิ่งที่ทำให้เขาโบยบินได้ในเกมลูกหนังนั้นคือปีกสองข้าง

ข้างหนึ่งคือ ‘ความฝัน’ ที่ต้องแลกมาด้วยความพยายามไม่มีวันย่อท้อเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่ยากลำบากให้ได้

และอีกข้างคือ ‘พลังของมิตรภาพ’ จากเพื่อนๆที่ยืดหยัดเพื่อกันและกัน สอนสิ่งสำคัญให้เราได้เรียนรู้ถึงคำว่า ‘ทีม’ แบบแนบเนียน

เรื่องราวของซึบาสะจึงกลายเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ครั้งใหญ่ในหัวใจเด็กญี่ปุ่นทั่วประเทศ ซึ่งปกติประเทศนี้ก็เป็นประเทศแห่งแรงบันดาลใจ ใช้ความฝันเป็นพลังในการผลักดันตัวเองอยู่แล้ว ญี่ปุ่นจึงเริ่มต้นมีความฝันในเกมฟุตบอลอันยิ่งใหญ่ ด้วยการไปฟุตบอลโลกให้ได้! ซึ่งหลังอกหักอย่างแรงในปี 1993 ญี่ปุ่นก็พยายามต่อไปจนสามารถผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในปี 1998

Captain Tsubasa ยังเป็นมังงะที่เชื่อมโยงระหว่างโลกของความจริงกับโลกในจินตนาการของอาจารย์ทาคาฮาชิได้อย่างน่าอัศจรรย์

กล่าวคือซึบาสะในช่วงแรกนั้นมีความฝันที่จะไปค้าแข้งในบราซิลตามรอยของโรแบร์โต ฮอนโง อดีตนักเตะทีมชาติบราซิลที่เป็นอาจารย์ลูกหนังคนแรก ซึ่งเรื่องการไปบราซิลนี้อาจารย์ทาคาฮาชิได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวจากนักฟุตบอลญี่ปุ่นที่ไปค้าแข้งในบราซิล

นักเตะที่มีการพูดกันว่าเป็นต้นแบบในเรื่องนี้คือ มุซาชิ มิสุชิมะ ไอ้หนูดาวรุ่งวัย 10 ขวบที่ไปผจญภัยในบราซิลกับทีมเซา เปาโล เพียงแต่อาจารย์ทาคาฮาชิปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพระคนที่เป็นต้นแบบตัวจริงคือ คาซูโยชิ มิอุระ หรือ ‘คิงคาซู’ ที่เป็นนักฟุตบอลญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ค้าแข้งในลีกบราซิล

เพียงแต่ซึบาสะในมังงะได้ไปเล่นให้กับเซา เปาโลเหมือนมิสุชิมะ ส่วนคาซูในชีวิตจริงเล่นให้กับซานโตส

คิงคาซูยังเป็นนักฟุตบอลญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ย้ายไปเล่นในกัลโช เซเรีย อา อิตาลี ลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกและได้รับความนิยมสูงสุดในญี่ปุ่นด้วยกับสโมสรเจนัว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก ก่อนจะย้ายกลับมาเล่นในบ้านเกิดอีกครั้ง แถมอกหักไม่ได้ไปฟุตบอลโลกด้วย

เพียงแต่หลังจากนั้นไม่นานนักก็มีนักฟุตบอลญี่ปุ่นคนที่ 2 ที่ได้ย้ายไปเล่นในเซเรีย อา โดยนักเตะคนดังกล่าวคือ ฮิเดโตชิ นากาตะ กองกลางพรสวรรค์ที่ย้ายไปแจ้งเกิดกับทีมเปรูจา ก่อนจะสร้างชื่อด้วยการเป็นหนึ่งในขุนพลทีมโรมา สโมสรฟุตบอลระดับท็อป

สิ่งที่น่าสนใจคือ นากาตะก็เป็นหนึ่งในเด็กที่เติบโตมากับ Captain Tsubasa และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาญี่ปุ่นก็กลายเป็นประเทศจากเอเชียที่ผลิตนักเตะส่งออกไปเล่นในลีกฟุตบอลทั่วโลกเรื่อยมา โดยเฉพาะในยุโรปที่ถือเป็นแผ่นดินใหญ่ของเกมลูกหนัง ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สเปน ไปจนถึงเบลเยียม ฯลฯ

ปัจจุบันมีนักเตะดังๆ อย่าง ทาคุมิ มินามิโนะ ที่เคยเล่นให้กับลิเวอร์พูลและปัจจุบันกับโมนาโก เช่นกันกับวาตารุ เอ็นโด ที่พิสูจน์ตัวเองในฐานะดาวเด่นของลิเวอร์พูลเช่นกัน หรือคาโอรุ มิโตมะ ปีกจอมเลื้อยที่ลากบอลได้มหัศจรรย์ราวกับเป็นตัวละครในเรื่องซึบาสะ

โดยที่นักเตะในเรื่อง Captain Tsubasa หลายคนก็ได้ไปค้าแข้งในยุโรปเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นฮิวงะ ที่ไปอยู่กับยูเวนตุส หรือวากาบายาชิ กับทีมบาเยิร์น มิวนิค เป็นต้น

เหมือนเป็นการเล่นลูกชิ่งหนึ่งสองของแรงบันดาลใจ ส่งกันกลับไปกลับมา ประหนึ่งคู่ขาแข้งทองเลยทีเดียว

สิ่งที่ทำให้เรื่อง Captain Tsubasa เจ๋งขึ้นไปอีกคือแรงบันดาลใจนี้ไม่ได้ถูกจำกัดหรือสงวนเอาไว้สำหรับคนญี่ปุ่นเท่านั้น

เพราะนับจากที่มังงะได้รับความนิยม จนได้ถูกนำไปสร้างเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นฉายทางโทรทัศน์ในปี 1983 Captain Tsubasa ก็ติดปีกไปสู่หัวใจของเด็กๆ ทั่วโลกที่ได้ร่วมติดตามเรื่องราวของซึบาสะและผองเพื่อนไปด้วย

ถึงแม้ว่าเพื่อความสะดวกปากในการเรียกชื่อ ซึบาสะจึงถูกเปลี่ยนไปหลายชื่อตามภูมิภาคและประเทศที่ฉาย เช่น โอลิเวอร์ อะตอม (Oliver Atom) ในยุโรป หรือกัปตันมาเจด (Captain Majed) ในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเพื่อให้คุ้นเคยกับคนในประเทศนั้นๆ มากยิ่งขึ้น (ก็คือการ localisation นั่นเอง) แต่หัวใจหลักของเรื่องราวยังคงเหมือนเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมคือสำหรับบางประเทศที่เคยเป็นคู่แข่งของซึบาสะก็จะยิ่งอินตามมากขึ้นเป็นพิเศษ

เมล็ดพันธุ์ของความรักต่อเกมฟุตบอลจากใจของอาจารย์ทาคาฮาชิ จึงถูกหว่านไปยังหัวใจของเด็กทั้งโลกด้วย ซึ่งแม้ในหลายประเทศอาจจะเป็นชนชาติที่คลั่งไคล้ในเกมฟุตบอลอยู่ก่อนแล้ว แต่เรื่องราวของซึบาสะก็จับใจเด็กๆ ได้อยู่ดี

ฟุตบอลคือภาษาสากล ซึบาสะเองก็เช่นกัน

นั่นทำให้มีนักฟุตบอลจำนวนมากที่เติบโตมาโดยมึซึบาสะเป็นเพื่อนเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ (จริงๆ อยากเรียกว่าโคตรบอลแต่กลัวไม่สุภาพ แต่อ้าว เรียกไปแล้ว!) อย่าง ซีเนอดีน ซีดาน, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร, เฟร์นานโด ตอร์เรส, อเล็กซิส ซานเชซ

“ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ที่เราต้องดูทีวีด้วยสัญญาณภาพที่ไม่ค่อยชัด แต่เพื่อนๆ ที่โรงเรียนก็พูดถึงแต่การ์ตูนฟุตบอลญี่ปุ่นเรื่องนี้ ผมเริ่มเล่นฟุตบอลเพราะเจ้าสิ่งนี้ เพราะพี่ผมบังคับ และผมรักการ์ตูนเรื่องนี้” เฟร์นานโด ตอร์เรส เคยให้สัมภาษณ์กับ Daily Mail สื่อในอังกฤษ

ขณะที่อันเดรส อิเนียสตา ผู้พาสเปนคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2010 เคยมอบเสื้อพร้อมลายเซ็นให้อาจารย์ทาคาฮาชิ พร้อมข้อความว่า “ขอบคุณสำหรับแรงบันดาลใจ” และการย้ายมาเล่นในเจลีกของเขาก็เป็นเพราะอยากมาเล่นในบ้านเกิดของซึบาสะ

หรือแม้แต่ ลิโอเนล เมสซี ราชาลูกหนังโลกก็เคยบอกกับอาจารย์ทาคาฮาชิ ที่เคยได้พบกันครั้งหนึ่งว่า “ผมเคยเล่นทีมเดียวกับซึบาสะด้วย” ซึ่งก็ทำให้เจ้าของผลงานถึงกับปลื้มสุดๆ เลยทีเดียว

โดยที่อาจารย์ทาคาฮาชิก็ปลื้มเมสซีเหมือนกัน ด้วยนอกจากจะเคยบอกว่านักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลกชาวอาร์เจนตินาเป็นต้นแบบของซึบาสะในยุคหลัง (รวมกับอิเนียสตา สมัยเล่นด้วยกันในทีมบาร์เซโลนา) ก็ยังเคยเดินทางไปเชียร์เมสซี จนได้เห็นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาครองได้สำเร็จในการแข่งขันที่ประเทศกาตาร์ในปี 2022 ด้วย

ซึบาสะยังไปไกลกว่าแค่เรื่องของการเป็นแรงบันดาลใจเฉยๆ

ในแง่ของธุรกิจแล้วนี่เป็นมังงะฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ด้วยยอดจำหน่ายมากกว่า 90 ล้านเล่ม (ข้อมูลในปี 2023) มีการนำไปตีพิมพ์ในกว่า 50 ประเทศ ไม่นับแอนิเมชั่นที่มีฉายทั่วโลกหลากหลายภาษาแตกต่างกันออกไป

โอโซรา ซึบาสะ ได้รับการโหวตให้เป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดคนหนึ่ง ด้วยบุคลิกของความเป็นนักกีฬาที่มีหัวใจบริสุทธิ์ แข่งขันอย่างยุติธรรม ช่างฝัน แต่ก็เต็มไปด้วยเลือดนักสู้

นอกเหนือจากมังงะและอนิเมะแล้ว Captain Tsubasa ยังถูกแปลงร่างอีกมากมาย เช่น วีดีโอเกมที่ออกมามากมายหลายภาคตั้งแต่เครื่องแฟมิคอม (แฟมิลี่ คอมพิวเตอร์) ที่มีรูปแบบเกมการเล่นแบบ Role-playing game (กดคำสั่งเอา) จนถึงภาคล่าสุด Captain Tsubasa: Rise of New Champions บนเครื่อง PS4 ในปี 2020 (และกำลังจะมีเกมออนไลน์บนมือถือ Captain Tsubasa: Ace ในเร็วๆนี้)

หรือแม้แต่ภาพยนตร์ดัง ‘นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่’ (Shaolin Soccer) ก็ได้แรงบันดาลใจจากซึบาสะเช่นเดียวกัน

แน่นอนครับว่ายังมีการทำสินค้าออกมาจำหน่ายมากมายไม่รู้จบ ตั้งแต่เสื้อผ้า สินค้าที่ระลึก ปากกา ดินสอ กล่องดินสอ ไปจนถึงการที่คอลแล็บกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง adidas ที่เคยออกคอลเลกชั่นพิเศษจากเรื่องนี้ให้แฟนๆ ได้ตามเก็บ รวมถึงของสะสมยุคใหม่อย่าง NFT ก็เคยมีการผลิตออกมาแล้ว (แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก)

หรือแม้แต่การคอลแล็บกับสโมสรฟุตบอลจริงๆ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการที่สโมสรบาร์เซโลนาประกาศเซ็นสัญญากับซึบาสะ (ซึ่งล้อไปกับเนื้อเรื่องในมังงะที่ซึบาสะได้ย้ายจากเซาเปาโลมาอยู่กับบาร์เซโลนา ที่เป็นทีมโปรดของอาจารย์ทาคาฮาชิ) 

หรือการเซ็นสัญญาเข้าทีมคอนซาโดเล ซัปโปโร ของมัตสึยามะ ฮิคารุ นักเตะเก่งหัวใจแกร่งเจ้าของท่า ‘อีเกิลช็อต’ ที่ในเรื่องมีพื้นเพเป็นคนเมืองซัปโปโร ที่ไม่ได้ทำกันแค่เป็นสีสัน แต่เป็นโครงการ ‘มัตสึยามะ ฮิคารุโปรเจกต์’ ที่จะเฟ้นหานักเตะฝีเท้าดีในท้องถิ่นซัปโปโรเข้าสโมสรจริงๆ

แต่ซึบาสะไม่ได้หยุดแค่นั้น ในปี 2011 ช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองฟุกุชิมะ อาจารย์ทาคาฮาชิวาดภาพซึบาสะกับข้อความ ‘We Will Never Walk Alone’ (ซึ่งมาจาก You’ll Never Walk Alone สโลแกนอันโด่งดังของทีมลิเวอร์พูล) เพื่อระดมความช่วยเหลือแก่ชาวเมืองฟุกุชิมะเป็นการเร่งด่วน

แม้แต่ในประเทศที่มีสงครามอย่างอิรัก ในปี 2004 กองกำลังปกป้องตัวเองของญี่ปุ่นได้ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ปรากฏว่ารถบรรทุกน้ำที่ออกเดินทางไปให้ความช่วยเหลือได้รับความสนใจจากเด็กๆ ชาวอิรักอย่างมาก เพราะบนรถมีการติดสติ๊กเกอร์ตัวละครจากเรื่องซึบาสะที่ชาวอิรักรู้จัก ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างง่ายและราบรื่นขึ้น 

ในประเทศไทยเองก็มีความร่วมมือกันในการขอลายเส้นตัวละครของ อาจารย์ทาคาฮาชิ นำมาใช้ออกแบบสนามฟุตบอลกลางแจ้งสุดสวยให้เด็กๆ ได้เล่นกันด้วย

เรียกได้ว่า Captain Tsubasa เป็นมังงะที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อโลกใบนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

แต่ท่ามกลางสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ยังมีสิ่งที่อาจารย์ทาคาฮาชิได้ทำเพื่อบ้านเกิดของตัวเองอย่างเมืองคัตสึชิกะด้วย

โดยนอกจากที่เมืองจะมีการตกแต่งแปลงโฉมให้กลายเป็นเมืองของซึบาสะ ที่มีรูปภาพและรูปปั้นของตัวละครกระจายอยู่ทั่วเมืองให้คนที่หลงรักมังงะเรื่องนี้ได้เดินเก็บเช็กพอยต์ต่างๆ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกในหัวใจแล้ว

สิ่งที่อยู่ในเรื่องอย่างทีมนันคัตสึก็ได้กลายเป็นความจริง เมื่อมีการก่อตั้งทีมนันคัตสึ เอสซี ชื่อเดียวกับทีมแรกของซึบาสะขึ้นมาจริงๆ ด้วย โดยนอกจากจะตั้งเป้าในการไปสู่ลีกสูงสุดของประเทศให้ได้แล้ว อาจารย์ทาคาฮาชิก็หวังว่าทีมฟุตบอลแห่งนี้จะเกื้อหนุนเมืองคัตสึชิกะให้มีความฝันและความสุขไปอีกแสนนาน

ทั้งหมดที่กล่าวมาพอจะบอกได้ว่านับจากเสียงนกหวีดแรกของ Captain Tsubasa เมื่อปี 1981 หรือเป็นเวลา 43 ปี มังงะเรื่องนี้ไม่เพียงแต่มอบความสุข ความสนุกจากการติดตาม เรื่องราวของเจ้าหนูสิงห์นักเตะคนนี้ยังได้มอบแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้แก่โลกใบนี้อย่างมากมาย

สิ่งที่น่าเสียดายเล็กน้อยคือด้วยวัยของอาจารย์ทาคาฮาชิที่ล่วงมาถึง 63 ปี ปัญหาสุขภาพคือสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ทำให้มีการเขียน ‘ตอนจบ’ ของมังงะฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลไปเป็นที่เรียบร้อย โดยตีพิมพ์ในนิตยสาร Captain Tsubasa

เป็นการปิดฉากตำนานที่ยิ่งใหญ่และยาวนานลงเสียที

แต่ในเมื่อซึบาสะยังไปไม่ถึงความฝันในการไปเล่นฟุตบอลโลก (ปัจจุบันอายุ 22 ปีในเรื่อง) อาจารย์ทาคาฮาชิก็ยังไม่ถอดใจที่จะพาปีกแห่งความฝันคู่นี้ไปให้ถึงจุดนั้นเหมือนกัน ซึ่งแม้จะมีตอนจบอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่นั่นเป็นตอนจบในแบบของ ‘มังงะที่ได้รับการตีพิมพ์’

เรื่องราวของซึบาสะจะกลับมาดำเนินต่อไปในรูปแบบใหม่ที่จะเผยแพร่บนเว็บไซต์แทน ด้วยการวาดภาพเป็นลายเส้นคร่าวๆ ที่จะช่วยประหยัดเวลาและประหยัดแรงของอาจารย์ทาคาฮาชิ ซึ่งมั่นใจว่าด้วยวิธีที่เหนื่อยน้อยกว่านี้ เรื่องราวของซึบาสะจะกลับมาดำเนินต่อไปได้อย่างรวดเร็ว 

โดยที่ความฝันสูงสุดคือการที่ซึบาสะพาญี่ปุ่นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้

แต่ความฝันที่สวยงามกว่าที่ทำได้สำเร็จแล้วคือการสร้างการรับรู้และจดจำเกมฟุตบอลในแบบที่สวยงาม ทำให้คนทั้งโลกหลงรักเกมฟุตบอลในแบบเดียวกับที่ซึบาสะหลงรักมาตั้งแต่แรกพบและจะรักไปจนจบชีวิต 

เพราะฟุตบอลคือเพื่อน เพื่อนที่จะอยู่เคียงข้างเราตลอดไป 🙂

Match facts

  • โอลิเวอร์ อะตอม , โอลิเวร์ อัตตง, มาเจด, แอนดี ไต๋ ชีเว่ย คือชื่อของ โอโซระ ซึบาสะ ในเวอร์ชั่นภาษาต่างๆ เช่นเดียวกับชื่อเรื่องที่แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน เช่น โอลิเบร์ อี เบนจิ (Oliver y Benji–สเปน), แฟลช คิกเกอร์ (Flash Kicker–สหรัฐอเมริกา), โอลีฟ เอ ตอม (Oliver et Tom–ฝรั่งเศส), ฮอลลี เอ เบนจี (Holly e Benji–อิตาลี)
  • ในเรื่อง Captain Tsubasa ยุคแรกมีนักฟุตบอลจำนวนมากที่ได้แรงบันดาลใจจากนักฟุตบอลชื่อดังจริงๆ แต่มีจำนวนหนึ่งที่อาจารย์ทาคาฮาชิ นำบุคลิกมาใช้แล้วเปลี่ยนชื่อนิดเดียว เช่น ริวาอุล (ต้นแบบจากริวัลโด สตาร์บาร์เซโลนายุค 90s), ดาวิด เทรซากา (ต้นแบบจากดาวิด เทรเซเกต์ กองหน้าทีมชาติฝรั่งเศส) หรือแม้แต่นักเตะญี่ปุ่นเองก็มีอย่าง กอน นากายามะ (ต้นแบบจาก มาซาชิ นากายามะ กองหน้าดาวดังในยุค 90s)
  • ซึบาสะเป็นมังงะที่มี spin-off หรือเรื่องแยกมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และหนึ่งในเรื่องแยกที่ดีที่สุดคือ Shojo Kaede หนังสือนิยายที่อาจารย์ทาคาฮาชิตั้งใจส่งเป็นกำลังใจให้ทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นในนาม ‘นาเดชิโกะ’ โดยตัวเอก คาเอเดะ มีต้นแบบจากโฮมาเระ ซาวะ ดาวเด่นที่พาญี่ปุ่นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหญิงในปี 2011

อ้างอิง

Writer

นักเตะสมัครเล่นที่พอเขียนหนังสือได้นิดหน่อย เชื่อในพลังของตัวหนังสือที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ มีเพจเล็กๆของตัวเองชื่อ Sockr และเคยแปลหนังสือ เมสซี vs. โรนัลโด: คู่ปรับฟ้าประทาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like