นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

เมดอินอีสาน

การเฮ็ด BWILD Isan แบรนด์ที่ทำให้ช่าง นักออกแบบ และสินค้าเมดอินอีสานเป็นที่ยอมฮับ

คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ถูกพูดถึงบ่อยขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในมิติศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มักถูกมองว่าเป็นของดีที่อาจยกระดับเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

แต่ก่อนที่คำคำนี้จะเฟื่องฟูขึ้นและถูกผูกโยงกับมิติวัฒนธรรมและภูมิปัญญา จนกลายมาเป็นนโยบายที่ภาครัฐพยายามขับเคลื่อนเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทย เช่น นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์นั้น ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว BWILD Isan เองก็เกิดขึ้นด้วยเหตุผลคล้ายกัน แตกต่างเพียงโอกาสที่ BWILD Isan พยายามสร้างคือโอกาสของคนอีสาน เพื่อให้โอกาสเป็นเส้นทางพาอีสานไปสู่อีสานที่ดีขึ้นในทุกๆ วันด้วยงาน ความคิดสร้างสรรค์ และฝีมือคนอีสาน

ชมพู่–กาญจนา ชนาเทพาพร ผู้ก่อตั้ง BWILD Isan

“อีสานเราไม่ได้มีโอกาสมากมาย ถ้าเทียบกับภูมิปัญญา ทรัพยากรที่เรามีอยู่ เราต้องการโอกาสที่จะแสดงฝีมือ ที่จะรักษา ปกป้องงาน และภูมิปัญญาของผู้คนมากกว่านี้ มันเกิดจากสิ่งนี้ และที่ปักหมุดเป็นอีสาน เพราะที่นี่คือบ้าน ฉันอยู่ที่นี่ บ้านฉันยังไม่ดี ฉันอยากให้ที่นี่ดี และที่นี่จะต้องดีด้วยทุกสิ่งที่ฉันทำ” ชมพู่–กาญจนา ชนาเทพาพร ผู้ก่อตั้ง BWILD Isan เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นและความตั้งใจใน day 1 ให้ฟัง

การก่อร่างขึ้นของ BWILD Isan ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ได้เกิดจากการเห็นโอกาสทางธุรกิจ มีเพียงคำถามเล็กๆ ที่ว่า ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดอย่างโควิดที่ธุรกิจและการทำมาหากินของผู้คนหยุดชะงัก คนอีสานหลายคนต้องหวนกลับสู่บ้านเกิด ไร้งาน ไร้ความหวัง รวมถึงห้องเสื้อ By Heart ของชมพู่ เธอในฐานะเจ้าของกิจการจะพานักออกแบบและช่างฝีมืออีกหลายชีวิตผ่านวิกฤตนี้ไปยังไง

แม้จะเริ่มต้นกันมาจากก้าวเล็กๆ และเริ่มในสถานการณ์ที่ยาก แต่ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา BWILD Isan ได้สร้างโอกาส สร้างชื่อเสียงให้กับช่างฝีมือและนักออกแบบชาวอีสานในระดับประเทศ อย่างช่วงกลางปี 2024 BWILD Isan ก็ได้พาสินค้าจากช่างฝีมือและนักออกแบบชาวอีสานไปเฉิดฉาย ณ กรุงมอสโก ในงาน Thai Festival in Moscow 2024 หรือจะเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา ที่การได้ร่วมงานกับเซ็นทรัลพัฒนาและสตูดิโอสถาปนิก ATTA STUDIO เนรมิตต้นคริสต์มาส ‘คัก-คริส-มัด’ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนขึ้นหน้าลานเซ็นทรัล ขอนแก่น ที่สำคัญโปรเจกต์นี้ยังเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนอีกกว่า 15 ชุมชนและร่วมมือกับช่างในท้องถิ่นอีสาน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ชมพู่และทีม BWILD Isan พยายามทำเพื่อให้ผู้คนได้เห็นศักยภาพอีสานบ้านเกิด และทำให้อีสานเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น  เพราะมากกว่าเรื่องของแฟชั่น ล่าสุดเธอคนนี้ยังเป็นส่วนเล็กๆ ของกลุ่มนักสร้างสรรค์ในการร่วมทำงานโปรเจกต์ ‘ปลาร้าหมอลำ Isan to the World’ ขึ้น ซึ่งเป็นเฟสติวัลครั้งแรกที่จัดขึ้นโดยภาครัฐและเอกชน เพื่อตั้งใจนำเสนอวัฒนธรรมดนตรีและอาหารการกินอีสาน โดยเฉพาะ ‘ปลาร้า’ และ ‘หมอลำ’ ไปสู่สายตาชาวโลก

น่าสนใจว่าอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ชมพู่ไม่ละทิ้งความเป็นอีสานไป เพราะไม่ว่าจะลงมือทำอะไร เธอยังคงยึดโยงอยู่กับดินแดนแห่งนี้ทั้งสิ้น ตามไปค้นลึกถึงมุมมองและวิธีคิดทำ BWILD Isan การเปลี่ยนอีสานเป็นสินค้าที่ขายได้ และย้อนภูมิหลังของเธอพร้อมกันในคอลัมน์ ‘อี’คอมเมิร์ซ’ ตอนนี้

-1-
บ่แม่นคนอีสานตั้งแต่เกิด แต่กะฮักอีสานบ่แพ้ไผ 

“พ่อแม่พี่ไม่ใช่คนอีสาน พี่เกิดในครอบครัวคนจีน พ่อพี่เป็นคนกรุงเทพฯ แม่เป็นคนแปดริ้ว พ่อกับแม่ย้ายไปทำมาหากินที่อุดรธานีตั้งแต่พี่ยังเด็ก ทำกิจการเล็กๆ เป็นร้านค้าห้องแถวในตลาด

“พี่เกิดและเติบโตที่อุดร ความรู้สึกเรา เราคือคนอีสานนะ เป็นคนอีสานที่อยู่ในเมือง เพราะพอโตมาเข้ามหา’ลัยก็ยังเรียนอยู่ที่อีสาน คือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท”

แม้ไม่ใช่คนอีสานแต่กำเนิด แต่ชีวิตที่ได้คลุกคลีกับสังคมอีสานมาตั้งแต่ยังเล็กทำให้เธอรู้สึกได้ว่าที่นี่คือ ‘บ้าน’

“บางคนมีคำถามว่าทำไมถึงต้องแค่อีสาน ในใจพี่คือ ถ้าบ้านเราเรายังทำให้ดีไม่ได้ จะไปคิดอะไรใหญ่กว่านี้ได้ ทำบ้านตัวเองให้ดีก่อน มันไม่ได้เป็นเรื่องแปลกเลย การที่คนคนหนึ่งพูดเรื่องบ้านตัวเองหรือรักบ้านตัวเอง และยอมรับได้ในเรื่องที่มันทั้งดี ไม่ดี และเลือกที่จะทำให้มันดีขึ้น 

“ชีวิตตั้งแต่เด็กจนโต สังคมรอบตัวทำให้เราซึมซับวิถีชีวิตคนอีสานและความเป็นอีสานที่แตกต่าง การโตมากับสังคมอีสานทำให้เราได้เห็นอีสานในหลายมิติ ในด้านที่มีพร้อม มีเกินพอ ไปจนถึงด้านที่มีไม่พอ พี่มีทั้งเพื่อนที่มาจากกรุงเทพฯ มาเรียนขอนแก่น พร้อมทุกด้าน และมีทั้งเพื่อนที่อยู่ต่างอำเภอ ต้องมาพักหอพักใน ม. คนที่อยู่ต่างอำเภอเขาก็ต้องต้องดิ้นรน หาค่าเรียน ค่าเทอม การเรียนมหา’ลัยทำให้เราได้เห็นชีวิตนั้น

“แม้แต่ช่างเย็บผ้าที่ร้าน 17 ปีที่ทำงานด้วยกัน เขายังต้องนั่งรถประจำทางโดยสารกันเป็นชั่วโมงเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง ตอนกลับก็ต้องรีบกลับเพราะรถโดยสารจะหมด ขนาดเราอยู่ขอนแก่นเหมือนกันแท้ๆ ต่างกันแค่เขาอยู่ต่างอำเภอ การคมนาคมการเดินทางยังยากมาก เลยรู้สึกว่าการต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตควรจะเป็นของคนอีสาน หรือคนที่ทำธุรกิจในอีสานนั้นมันไม่ง่าย เพราะไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหน มันมีความไม่พอ และไม่พร้อมไปหมด ”

-2-
BWILD Isan จากคน Isan เพื่อคน Isan 

ชมพู่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ถือเป็นชีวิตที่ไม่ได้ลำบาก อยู่ในสิ่งแวดล้อมของคนอีสานในเมือง ทำให้เธอไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าใครและคิดว่าคนกรุงเทพฯ กับเธอก็มีโอกาสและศักดิ์ศรีเท่ากัน ทว่าอีกด้านของความคิดก็รู้ว่าไม่ใช่คนอีสานทุกคนจะรู้สึกถึงความเท่าเทียม

ด้วยความเชื่อว่าอีสานมีดี ประกอบกับประสบการณ์การทำธุรกิจที่สั่งสมมา ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า การทำธุรกิจหรืองานที่เธอจะสามารถทำมันได้ดีที่สุดก็คือ งานที่สร้างจากความดีงามของพื้นที่ที่เธออยู่และเติบโต

“ทำไม BWILD Isan เลือกที่จะชูความเป็นอีสาน ก็ต้องบอกว่า คงถูกหล่อหลอมจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ทั้งการให้รักบ้าน ดูแลครอบครัว เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กจนโต พอสั่งสมประสบการณ์ทางธุรกิจ มันทำให้เรารู้ว่าการจะทำธุรกิจหรือทำอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงเรากำลังปกป้อง ดูแลบางอย่างที่มีความหมายมากกว่าแค่ทำมาหากินได้นะ และมันเป็นสิ่งที่ดี

“จริงๆ พี่เพิ่งมาตกตะกอนตอนวัย 40 กว่าปีนี่เอง ก็คือ 4-5 ปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มทำ BWILD Isan นี่แหละ ซึ่งอายุตอนนั้นก็ไม่ได้เด็กแล้วนะ เห็นอะไรมาเยอะ ทำธุรกิจมาก็เกือบ 20 ปี จนมีวิกฤตหนักตอนช่วงโควิด วิกฤตมันทำให้เราเห็นตัวเอง ทำให้มีคำถามในใจว่า เราเกิดมาเพื่อทำธุรกิจหาเงินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวตัวเองให้รอด แต่ในวันนี้ที่ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก เราควรจะเอาตัวรอด หรือเราจะลุกขึ้นมาพาใครให้รอดไปด้วยกันได้ไหม 

BWILD Isan

“มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจเราว่าคำว่าเกื้อกูล พึ่งพากัน ช่วยเหลือ กัลยาณมิตร มันควรต้องใช้ได้ในสถานการณ์ที่มันแย่ที่สุด ทำให้มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำ BWILD Isan ในช่วงนั้น” ชมพู่เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง ก่อนจะขยายความสถานการณ์ที่เธอเรียกมันว่ายากลำบากให้เข้าใจ

“ในช่วงโควิด 4-5 ปีที่แล้ว ถ้าจำได้คือมันลำบากยากเย็นมาก ต้องตัดสินใจระหว่างยอมแพ้กับลุกขึ้นมาสู้ และจะง่ายเลยถ้าพี่มีความคิดที่จะปกป้องแค่ตัวเองและครอบครัว ตอนนั้นพี่ก็แค่หยุด ปิดกิจการ ไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ต้องเกิด BWILD Isan ก็แค่เซฟเงินทั้งหมดเพื่อให้ครอบครัวเราอยู่ต่อไปได้

“แต่เราไม่ได้เลือกเส้นทางนั้น เราไม่ได้มีมากหรอก แต่รู้ว่าจะปล่อยผ่านคนที่อยู่ตรงหน้าไม่ได้ มันคือชีวิตคน ตอนนั้นพี่ตัดสินใจลงทุนอย่างมีความหวัง เพราะเชื่อว่าชีวิตทุกคนรอบตัวจะต้องผ่านช่วงโควิดไปให้ได้ ตอนนั้นมีกันประมาณ 7-10 ชีวิต ซึ่งหมายถึง 7-10 ครอบครัว”

การลุกขึ้นมาต่อสู้ในช่วงเวลาที่หลายชีวิตกำลังยอมแพ้ไม่เพียงเพื่อต้องการให้ทีมงานหลายชีวิตรอดไปด้วยกัน แต่คือการเชื่อในศักยภาพของทีมออกแบบและช่าง รวมถึงเชื่อใน local wisdom (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) ของอีสาน 

“เรามีของดีมากพอ ถ้าเรารักสิ่งที่เรามี เราจะเล่าได้แตกต่าง” เธอยืนยัน

“ช่างบางคน งานฝีมือบางอย่าง หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นบางอย่างมันไม่สามารถสร้างได้ใน 8 ภาคการเรียน 4 ปีการศึกษา ต่อให้คุณจบปริญญามาก็อาจจะไม่มีความรู้เท่าเหล่าช่างฝีมือ หรือครูช่างทั้งหลายที่เขาสั่งสมประสบการณ์มาตลอดชีวิต

“อย่างคนเย็บกระเป๋าไก่ของ BWILD Isan เนี่ย มีประสบการณ์มาแล้ว 20 ปีนะ เราใช้ช่างหนังคนเดียวเย็บไก่ 1 ตัว และช่างแต่ละคนทักษะไม่เท่ากัน เขาก็จะมีลายเซ็นที่ไม่เหมือนกัน ต่อให้แพตเทิร์นเดียวกัน งานทำมือโดยคนก็จะออกมาต่างจากงานโรงงาน งานอุตสาหกรรม นั่นคือเอกลักษณ์ของงานคราฟต์และงานดีไซน์ แต่ทักษะช่างฝีมือเหล่านี้กำลังจะหายไปจากประเทศเรา เพราะสู้กับระบบอุตสาหกรรมไม่ได้ 

“และที่เลือกใช้ชื่อแบรนด์ให้มีคำว่า ‘อีสาน’ เพราะว่าเราต้องปักหมุดตัวเองไว้ให้มั่นคงและจริงใจ เลยเลือกที่จะเอาสิ่งที่เราอยากเห็นมันดีมาทำ นั่นก็คืออีสาน เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็น wonder woman เก่งกว่าใครที่จะมาทำให้อีสานดูดี อีสานมีคนเก่งเยอะ เราแค่ช่วยกันในมุม ในมิติของตัวเอง ในสิ่งที่เราทำได้ บ้านเราอยู่ที่นี่ เราสร้างงานที่นี่ และหวังว่าที่นี่จะต้องดี”

-3-
สารพัดของดีอีสานจากช่างและนักออกแบบอีสาน

กระเป๋าไก่บ้าน (Kai Baan Bag), กระเป๋าปลากัด (Pla Kad Bag), กระเป๋าสุ่มไก่ (Chicken Cage Bag), คัก-คริส-มัด ไปจนถึงคอลเลกชั่น Re-no-waste เหล่านี้คือสารพัดสินค้าและงานสร้างสรรค์จาก BWILD Isan ที่ทำให้เห็นว่าอีสานก็มีดีไม่แพ้ใคร มากกว่านั้นยังเป็นผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นอีสานได้อย่างถ่องแท้

“กระเป๋าไก่บ้านเกิดจากการหาเหตุผลของการที่คนจะซื้อกระเป๋าสักใบ คุณค่าไหนที่ลูกค้าจะได้ และยังส่งกลับมาสู่คุณค่าที่เราต้องการให้เกิดขึ้นด้วย การที่คนจะซื้อหรือแต่งตัวที่มีเหตุผลและดีได้คือสิ่งไหน ถือแล้วต้องได้ทั้งกับคนถือ คนออกแบบ ช่างฝีมือไทย และยังต้องส่งความภาคภูมิใจกลับมาสู่อีสาน นี่คือสิ่งที่เราคิดและพยายามทำให้เกิดขึ้นในดีไซน์ของเรา เราเลยใช้เรื่องราวของไก่บ้านอีสานมาเล่า

“ไก่บ้านแม้จะเป็นสิ่งบ้านๆ แต่เป็นสัตว์เลี้ยงที่ทุกบ้านคนอีสานมี ไก่บ้านคือไก่ชน แล้วพอเป็นไก่ชนที่ชนเก่ง แปลว่าทั้งครอบครัวของมันจะถูกอัพเกรดขึ้น มีมูลค่า ได้รับการดูแลที่ดี แล้ววิถีไก่ชนเขาจะเต็มที่ เต็มเหนี่ยว ซึ่งพี่รู้สึกเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจของ BWILD Isan ในช่วงเวลานั้น

“เหมือนกับพวกเรา คนอีสานทุกคน ถ้าเราต่อสู้ให้เต็มที่จนประสบความสำเร็จ ครอบครัว ตัวเขาก็จะถูกยกระดับขึ้นมาด้วย ไก่ชนกว่ามันจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่แค่นั่งสบายแล้วได้ชัยชนะ มันต้องสู้ก่อน พี่ก็คิดว่ามันเชื่อมโยงกับตัวพี่ น้องๆ และช่างในทีมที่ต่างเป็นคนอีสาน เราต่างก็ต้องต่อสู้”

นอกจากกระเป๋าไก่บ้านแล้ว กระเป๋าปลากัดเองก็นำเสนอความเป็นอีสานได้คมคายไม่น้อยหน้า โดยเฉพาะการเป็นสัตว์เลือดนักสู้

“ใครเป็นคนอีสานจะคุ้นกันดีกับการกัดปลา ชนไก่ของคนอีสาน จนมีคำว่า ‘ว่างเว้นจากนา ก็กัดปลาชนไก่’ เพราะพอว่างเว้นจากฤดูทำนา คนอีสานเขาจะทำกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกัน ซึ่งกระเป๋าปลากัดมาจากการที่เราได้ลงพื้นที่ที่ขอนแก่นแล้วได้ไปเจอกับเซียนปลากัดและได้รู้จักกับปลากัดป่า พอศึกษาดูก็ได้รู้ว่าปลากัดป่านั้นมีในหลายพื้นที่และแตกต่างกัน 

“และปลากัดป่าอีสานจะเป็นปลากัดป่าที่ตัวเล็ก สีไม่สวย แต่ดุมาก กัดทีกัดจนตาย และบ่อไหนกัดชนะ มูลค่าจะถูกยกขึ้นทั้งบ่อ ถือเป็นสายเลือดนักสู้ ซึ่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเรื่องราวเหล่านี้ สำหรับพี่คือวัตถุดิบที่มีมูลค่าและสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดได้อีกมากมายไม่รู้จบ

“ไก่บ้านและปลากัดป่าเลยกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในมุมของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่นำพาวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ผู้คนของเราไปต่อ คือวิถีที่เราใช้เล่าเรื่องความดีงามของผู้คน พื้นที่ วัสดุ ภูมิปัญญา และหลายๆ อย่างของอีสาน

“วิธีคิดงานของเราจะเป็นแนวลึก ไม่ฉาบฉวย ทุกอย่างมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป จะผลิตเท่าที่คนต้องการ ในราคาที่ช่างฝีมือไปต่อได้ และธุรกิจยังมีกำไร เราคิดงานเพื่อเป็นโอกาสให้ศิลปินและช่างฝีมือและเล่าเรื่องราวของอีสานที่เรารัก”

นอกจากกระเป๋าไก่บ้านและปลากัดที่สร้างภาพจำแฟชั่นอีสานแบบใหม่ โดยเฉพาะความเก๋และสนุก ในวันที่แฟชั่นเป็นตัวร้ายทำลายโลก และผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน กระทั่งแบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์หันหลังให้ฟาสต์แฟชั่น ชมพู่และ BWILD Isan เองก็ไม่ทิ้งเรื่อง sustainable fashion และมีแนวคิด sustainable fashion ตั้งแต่เริ่มต้นแบรนด์

“คนอาจจะมองแฟชั่นเป็นตัวร้าย ยิ่ง BWILD Isan ออกกระเป๋าไก่ เขาคงมีคำถาม อะไรของเธอกระเป๋าไก่ เราใช้เวลาและความพยายามมากๆ ที่จะสื่อสารให้คนมองทะลุเปลือกนอกเข้ามาถึงข้างในว่าทำไมต้องไก่บ้าน ทำไมต้องปลากัด และต่อให้ต้องพูดไปนานกว่านี้ เราก็จะพูดจนกว่าทุกคนจะรู้ว่าทำไมเราต้องทำสิ่งนี้

“ตราบใดที่เรายังมีภูมิปัญญา มีช่างฝีมือ มีนักสร้างสรรค์ที่ยังต้องพัฒนางาน พัฒนาตน พัฒนาสังคม เพื่อพัฒนาประเทศเราได้อย่างเกื้อกูลกัน งานคราฟต์ในแฟชั่นจึงยังจำเป็นต้องมีอยู่ เพราะมันคือวิถีชีวิตผู้คนของเรา ทุกคนดูแลตนเอง ดูแลครอบครัวได้ด้วยงานฝีมือของตัวเอง

“อีกโปรเจกต์ที่สะท้อนแฟชั่นยั่งยืนและบอกเล่าเรื่องราวความเป็นอีสานได้อย่างดีคือ Re-no-waste เกิดมาจากการที่พี่ได้เห็นวิธีคิดของคนอีสานที่เขาไม่ยอมทิ้งอะไรไปง่ายๆ เวลามีวัสดุอะไรเหลือทิ้ง เขาก็จะไม่ทิ้งเลย เขาจะเก็บไว้แล้วเอามาประดิษฐ์เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น สายพลาสติกรัดกล่องพัสดุ พี่เห็นช่างเย็บผ้าพี่เก็บเป็นกำเลยนะ พอเยอะก็เอามาทำสานเป็นตะกร้าใช้ สานเป็นลายสวยงามด้วย ทำของใช้เอง ไม่มีอะไรถูกทิ้งขว้างง่ายๆ นี่คือทักษะของช่างอีสานที่แทบจะมีอยู่ในทุกคน”

ปีที่ผ่านมา ชมพู่ได้ทำโปรเจกต์ Re-no-waste ร่วมกันระหว่าง SUITCUBE x BWILD ISAN  คือใช้เศษผ้าที่เหลือในการตัดสูทมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าไก่ Messenger Bag ถือเป็นการร่วมมือกันของธุรกิจแฟชั่นเพื่อแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

-4-
ธุรกิจอีสานจากศาสตร์การคิดแบบ
‘พอแล้วดี The Creator’

“เวลามีชีวิตอื่นอยู่ในเส้นทางเดินของธุรกิจเรา มันจะทำให้การมีอยู่ของเราในเส้นทางนั้นมีความหมาย ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ การมีคนร่วมทาง ร่วมแชร์ความรู้สึก พี่ว่ามันเป็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ การที่เราได้สร้างบางสิ่งให้กับสังคมและบ้านเกิดในวันที่เรายังมีแรง หรือการที่เราได้รักษาบางสิ่งเอาไว้อย่างเต็มที่ในตอนที่เรายังทำงานได้ มันคือช่วงเวลาที่มีความหมายและพี่อยากทำให้เต็มที่

“สิ่งสำคัญที่พี่ได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจแบบพอแล้วดีของ BWILD Isan ธุรกิจเล็กๆ ที่วิถีการทำธุรกิจแทบจะคือส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต การมีจุดยืนคือเรื่องที่สำคัญ จุดยืนกับจุดขายเป็นคนละเรื่องกัน เราจึงต้องเลือกว่าจะทำอะไร และจะไม่ทำอะไร เราเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคนไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับบางคนได้”

ถึงชมพู่จะบอกว่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ของเธอนั้นมากกว่าแค่ตัวเอง ทว่าอีกด้านเธอยังคงยืนยันว่าต้องเลือก ด้วยไม่สามารถเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน วิธีคิดนี้ของชมพู่ทำให้เห็นว่าการบริหารความคิดให้สมดุลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะมีผลกับการใช้ชีวิต ตัวตน สิ่งนี้ยังมีผลกับการทำธุรกิจของเธอ

หลังจากได้เริ่มต้นทำ BWILD Isan ในช่วงโควิด เธอได้มีโอกาสไปเรียนหลักสูตร ‘พอแล้วดี The Creator’ และเล่าให้ฟังว่า ดร.ศิริกุล เลากัยกุล หรือพี่หนุ่ยของเธอนั้นถือเป็นครูคนแรกที่สอนให้เชื่อว่าธุรกิจเล็กๆ ก็สร้างสิ่งที่มีคุณค่าได้ อีกทั้งเธอยังได้เรียนรู้เรื่องอิคิไกและริเน็นเพิ่มเติมในช่วงเวลานั้น ยิ่งทำให้เข้าใจความหมายของการมีชีวิต และความหมายของการทำธุรกิจของเรา 

“เราได้เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราก็เกิดคำถามว่าแบรนด์แฟชั่นจะใช้คำว่า ‘พอ’ ได้ยังไง แต่พอพี่ได้เช็ก พี่รู้เลยว่าสำหรับ BWILD Isan นั้นยัง เรายังมีไม่พอ ทั้งศักดิ์ศรีในการอยู่ การเป็นคนอีสาน ศักดิ์ศรีในการประกอบอาชีพ ค่าแรง การให้คุณค่า ให้เกียรติ วิชาชีพ ภูมิปัญญา พอไม่ได้แปลว่าหยุด แต่ต้องรู้ว่าถ้ามีไม่พอ ต้องเพิ่ม ต้องทำให้มีให้พอ 

“การทำธุรกิจ ทำแบรนด์ จำเป็นต้องมีจุดยืนชัดเจน มีเข็มทิศ มีเป้าหมายที่จะไป ถ้าเป็นธุรกิจก็คือ brand model กำหนดไว้ไม่ให้เราหลงทาง มันคือการตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าจะทำธุรกิจนี้เพื่ออะไร ด้วยแนวทางไหน ส่งมอบคุณค่าอะไรให้ใครบ้าง มีธุรกิจเราเกิดขึ้นแล้วสังคมดีขึ้นหรือไม่ ยังไง ต้องวัดผลได้ ไม่ใช่คิดเอง เออเอง” 

การได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องนี้จากพอแล้วดีทำให้ชมพู่รู้จักตัวเองมากขึ้น เธอรู้สึกว่าตัวเองกับแบรนด์คือส่วนหนึ่งของกันและกัน ที่สามารถสร้างจุดยืนของตนเอง และสร้างภูมิคุ้มกันให้แบรนด์และธุรกิจของตัวเองได้ เป็นที่มาของคำที่เธอบอกว่า “เมื่อแบรนด์เราชัด ลูกค้าก็ชัดเช่นกัน”

“หลายครั้งในวงการฟาสต์แฟชั่นมีคนพูดกับพี่ว่า โง่รึเปล่า คนอยากได้ ทำไมไม่ทำออกมาเยอะๆ ราคาต้นทุนแพงไป ก็ไปทำให้ถูกลงสิ ไปสั่งผลิตล็อตใหญ่ๆ ที่เมืองจีนจะได้ถูกลง ใครๆ ก็ทำกัน ในจุดยืนบางอย่างที่เรารักษาไว้มันอาจจะดูโง่ เพราะเราอยู่ในจุดยืนที่ต่างกัน แต่เพราะมันสำคัญกับเรา เราก็จะไม่ทำ ถ้าเราทำแบบนั้น งานของเราไม่เห็นว่าจะช่วยศักดิ์ศรีช่างฝีมือไทยในตรงไหน ผลิตเยอะๆ เพราะอยากได้กำไรเยอะๆ ไม่ได้ทำให้ชีวิตใครที่ดีขึ้นได้ ก็คงเป็นแค่การนำคำว่าอีสานมาหากิน 

“ทุกวันนี้ที่ทำธุรกิจ พี่ยังคงต้องการกำไร แต่ธุรกิจนั้นต้องมีคุณค่า เพื่อที่จะเป็นเกราะคุ้มกันและเลี้ยงดูธุรกิจและผู้คนได้ เราต้องหาจุดสมดุลน้ันให้เจอทั้งกับชีวิตและการทำงาน”

ชมพู่ทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยประโยคสั้นๆ แต่กลับสะท้อนวิธีคิดของเธอและจุดยืนของ BWILD Isan ได้อย่างดี

ข้อมูลติดต่อ

Website : bwildisan.com

Facebook : www.facebook.com/BWILDISAN 

Instagram : www.instagram.com/bwildisan 

Writer

nochnichterdbeeren ig : ploimanee.sir

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like