Bus-siness Model

บัสซิ่งทรานสิท สตาร์ทอัพ public transport solution ที่อยากให้ขนส่งสาธารณะต่างจังหวัดดีขึ้น

นานทีปีหนฉันจะกลับบ้านต่างจังหวัด เพราะจากกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์เดินทางด้วยรถทัวร์จะใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง แต่ถ้าเดินทางด้วยเครื่องบินฉันต้องลงที่ขอนแก่นเสียก่อนค่อยต่อรถตู้อีกทีหนึ่ง ซึ่งการเดินทางด้วยเครื่องบินช่วยให้ถึงที่หมายเร็วขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ก็ใช้เวลานานกว่า 3-4 ชั่วโมง และเดินทางลำบากอยู่ดี

ในฐานะคนต่างจังหวัดฉันรู้ดีว่าขนส่งสาธารณะเมืองภูธรนั้นอยู่ในสถานการณ์ไหน และถ้ามีทางเลือกระหว่างขนส่งสาธารณะและรถส่วนตัวก็ขอใช้รถส่วนตัวเสียดีกว่า แต่แน่นอน หากไม่มีก็คงต้องยอมจำนนกับการเดินทางสาธารณะที่เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา

จนเมื่อขอนแก่นพัฒนาเมือง เริ่มมีแผนพัฒนาขนส่งสาธารณะในเมือง จึงเป็นความหวังให้ได้เห็นว่าขนส่งสาธารณะเมืองภูธรกำลังจะดีขึ้น แต่ด้วยปัญหาธุรกิจทำให้เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ‘ขอนแก่นซิตี้บัส (Khon Kaen City Bus)’ ภายใต้การบริหารของขอนแก่นพัฒนาเมืองก็ต้องประกาศหยุดเดินรถไปหลังจากเดินทางมาถึงขวบปีที่ 6 

การหยุดชะงักของขอนแก่นซิตี้บัส ไม่เพียงแค่คนขอนแก่นเท่านั้นที่ต้องเจ็บปวด แต่หลายคนรวมถึงฉันที่ต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะก็เจ็บปวดไม่น้อยไปกว่ากัน

ในความมืดมนยังคงมีแสงสว่าง เมื่อ ‘บริษัท บัสซิ่ง ทรานสิท จำกัด’ สตาร์ทอัพที่ทำ public transport solution หรือพัฒนาการแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่นและจังหวัดอื่นๆ ลุกขึ้นมาต่อชีวิตซิตี้บัสเมืองขอนแก่น

บริษัทนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือของคีย์แมน ต้า–ศุภกร ศิริสุนทร, นัท–วัชรชัย วรรณสิทธิ์ และ ภู–ภูริภัทร ลิมป์นิศากร พร้อมด้วย สุชาติ พรมมี, แมค–นพกร ถนอมเสียง, ปัทมาพร โสภัณ และ พรพิมล พ้องเสียง พวกเขาเข้ามาทำตั้งแต่ย้อนดูข้อมูลในอดีตใหม่ทั้งหมดเพื่อนำมาวิเคราะห์ระบบ ออกแบบรถบัสให้มีชีวิตชีวา ไปจนถึงปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้มีราคาไม่แพงและเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและใช้งานได้จริง

แม้ระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรจะไม่เชื้อเชิญให้อยากกลับบ้านบ่อยนัก แต่การกลับบ้านครั้งนี้กลับทำให้ฉันอยากเดินทาง เพราะเป็นการกลับบ้านพร้อมภารกิจสัมภาษณ์ ต้า–ศุภกร ศิริสุนทร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘บริษัท บัสซิ่ง ทรานสิท จำกัด’ และนักการตลาดผู้หลงใหลในระบบขนส่งสาธารณะ และหวังว่าวันหนึ่งขนส่งสาธารณะต่างจังหวัดจะดีขึ้น

ย้อนกลับไป อะไรคือเหตุผลที่ขอนแก่นซิตี้บัสต้องปิดตัวลง

ใช้คำว่าหยุดให้บริการดีกว่า ก็คือว่าธุรกิจมันขาดทุนต่อเนื่อง หลักๆ เลยจุดแตกหักคือโควิด เพราะกลุ่มผู้ใช้บริการหลักๆ จะเป็นนักเรียน นักศึกษา และคนที่เขาไม่ได้มีฐานะดี ไม่มีรถส่วนตัว คราวนี้พอมีโควิดปุ๊บมัน switched ทันที เพราะคนต้องเวิร์กฟรอมโฮม ต้องเรียนที่บ้าน จำนวนผู้โดยสารมันก็หาย จากเดิมที่มันพอประครองตัวได้ พอโควิดมันกลายเป็นสาหัสเลย หลังจากกลับมาจากโควิดมันก็ไม่ได้ recover ทางขอนแก่นซิตี้บัสหรือขอนแก่นพัฒนาเมืองที่เป็นเจ้าของเขาเริ่มรู้สึกว่าแบกไม่ไหว เลยประกาศว่าจะหยุดเดินรถชั่วคราว แต่ยังไม่ถึงขั้นปิดตัว ใช้คำว่าหยุดให้บริการ เพราะเขายังไม่ได้คืนใบอนุญาตให้ขนส่ง เขาแค่หยุดเพื่อดูว่ามันจะยังไงต่อ แต่เราไม่อยากให้มันหยุดก็เลยเข้าไปขอทำต่อ

ทั้งที่ขอนแก่นซิตี้บัสพักกิจการด้วยปัญหาธุรกิจ แต่พวกคุณก็พร้อมกระโดดลงไปทำสิ่งนี้ มองเห็นความสำคัญอะไรของสิ่งนี้

เรารู้สึกว่าการมีอยู่ของขนส่งสาธารณะมันสำคัญ มันช่วยซัพพอร์ตชีวิตผู้คน มันจำเป็นต้องมี แต่เราก็เข้าใจด้วยว่ามันก็ทำเงินยาก เพราะว่าขนส่งสาธารณะมันคือธุรกิจที่มันเป็น public service (บริการสาธารณะ) หมายความว่าคุณจะเก็บเงินค่าโดยสารแบบตามใจชอบไม่ได้ เพราะมันมีเพดานของค่าเดินทางที่ถูกกำหนดมาโดยนโยบายและกำลังจ่ายของคนที่เป็นยูสเซอร์ ซึ่งนอกจากจะไม่แพงแล้ว ถามว่าไม่ดีได้ไหม ไม่ดีก็ไม่ได้ ก็ต้องดีด้วย ขณะเดียวกันค่าบริการก็ต้องถูก มันเลยดูเป็นธุรกิจที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง 

บัสซิ่งทรานซิสเข้ามาทำอะไรบ้างกับขนส่งสาธารณะที่รับช่วงต่อจากขอนแก่นซิตี้บัส 

ที่จริงแล้ว ธุรกิจที่บัสซิ่งทรานสิททำ หลักๆ คือการพัฒนาโซลูชั่นสำหรับขนส่งสาธารณะ โดยมีโปรเจกต์แรกคือการเข้าไป operate ต่อลมหายใจให้ขอนแก่นซิตี้บัส ให้ไปรอดในระยะยาวได้  พวกเรามองเห็นโอกาสในวิกฤต ก็คือการที่ขนส่งสาธารณะทั่วประเทศมันอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคือมัน run down คนเก่าๆ ที่เขาทำขนส่งสาธารณะจะเป็นคนที่อายุเยอะแล้ว คนขับรถสองแถวก็จะเป็นคนแก่ๆ เป็นคุณลุง มีอาเจ็ก อาแปะเป็นเจ้าของสัมปทาน มันเป็นคนหน้าตาแบบนั้น ซึ่งธุรกิจโซลูชั่นของเรามันจะไปตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ มันจะไปทำให้เขา extended ให้ขนส่งสาธารณะมันอยู่ได้ยาวนานขึ้นและให้เขาทำธุรกิจได้ต่อไปได้

นอกจากนี้มันจะเข้ามาเพื่อปรับให้เข้ากับยูสเซอร์ เข้ากับเทรนด์ที่มันเปลี่ยนไปมากขึ้น อย่างเช่นช่วยเขาในเรื่องของเทคโนโลยี เพราะมันจะมีที่เราดูว่าแพตเทิร์นในการขึ้นของคนเป็นยังไง จุดไหนมันเยอะ จุดไหนมันน้อยเราก็จะมา utilize ตารางให้มันแมตช์กับคนโดยที่ไม่ต้องวิ่งรถเปล่า แน่นอนคุณก็จะเซฟเรื่องของค่าเชื้อเพลิงได้ เซฟเรื่องของชั่วโมงการทำงานของคนได้ ลดคาร์บอนอะไรแบบนี้ ถ้าเป็นแต่ก่อนคือรถต้องวิ่งทุก 15 นาที แม้จะไม่มีคนขึ้นก็ตาม ซึ่งเรามองว่ามันคือการเผาแก๊ส เผาน้ำมัน เผาพลังงานเสียไปเปล่าๆ พอเรามีดาต้า เราเห็นข้อมูล มันก็เอามาแพลนเรื่องพวกนี้ได้

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณอยากทำโซลูชั่นของขนส่งสาธารณะ

เพราะมันยังมีอีกหลายเมืองในไทยที่ยังไม่มีขนส่งสาธารณะสักสายเดียวและมีเยอะด้วย ขอนแก่นโชคดีกว่าคนอื่นคือมี 24 สาย บางเมืองจะมีแค่ 1 สาย 2 สาย บางเมืองอาจจะไม่มีเลย เรารู้สึกว่าเราอยากไปซัพพอร์ตเมืองและผู้ประกอบการ ในสเกลเมือง สมมติเขารู้สึกว่าเมืองเขาจำเป็นจะต้องมีขนส่งสาธารณะ เราก็เซอร์วิสเรื่องพวกนี้ได้ สามารถให้คำปรึกษา การออกแบบ ทำระบบว่าถ้าต้องการเริ่มขนส่งสาธารณะโดยเริ่มจากศูนย์จะทำยังไงได้บ้าง ลักษณะขนส่งสาธารณะของเมืองแต่ละเมืองควรเป็นยังไงก็เข้าไปให้คำปรึกษา 

อีกสเกลคือผู้ประกอบการ หรือคนที่เขาทำขนส่งสาธารณะอยู่แล้ว เราก็จะเข้าไปดูว่าสถานการณ์ปัจจุบันของเขามันเป็นยังไง เทคโนโลยีที่เรามีอยู่ตอนนี้จะช่วยเขาได้แค่ไหน อย่างเช่นถ้าเป็นสมัยก่อนมันก็จะมีคนขับคนนึง กระเป๋ารถเมล์คนนึง ถ้าเขาสู้ค่าแรงไม่ไหว ต้องเหลือคนขับแค่คนเดียว มันสามารถเป็นกระเป๋ารถเมล์ออโต้ได้ไหม กระเป๋ารถเมล์ออโต้ที่มันไม่ได้แพงมาก ทำได้ไหม ส่วนระบบหลังบ้านของเราก็จะไปช่วยเขาในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูล เก็บดาต้า แล้วก็วางแผนเรื่องบริหารจัดการเที่ยวรถให้มันแมตช์กับผู้คนภายใต้ทรัพยากรที่มันอยู่จำกัด 

ระบบขนส่งสาธารณะจะไม่มีปัญหาอะไรเลยถ้ามันถูกอุดหนุน (subsidize) โดยรัฐ แต่ในเมื่อตอนนี้เรายังไม่ไปถึงจุดนั้น เราต้องยอมรับว่าการจะทำให้ขนส่งสาธารณะมีบริการที่ดี หรือวิ่ง 15 นาที 20 นาที มันเป็นไปได้ยาก เพราะทุกคนต้อง utilize ทรัพยากรที่ตัวเองมี รวมถึงต้นทุนที่ต้องใช้และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งพอเป็นธุรกิจมันก็เป็นไปได้ยาก เราก็ต้องเอาโซลูชั่นที่เรามีมาซัพพอร์ตเขา หลักๆ เลยคือเรามองว่าโซลูชั่นที่เรามีมันไม่ได้เป็นโซลูชั่นที่ซับซ้อนหรือราคาแพง สิ่งที่เรามีมันสามารถเอามาเพิ่มคุณภาพการให้บริการได้ รวมถึงเอาไปใช้ในการบริหารเพื่อจะ cover ต้นทุนหรือทำ management ให้มันเป็นไปได้ พอเราเห็นตรงนี้เราเลยคิดว่าธุรกิจนี้มันเป็นไปได้สำหรับพวกเรา 

ขนส่งสาธารณะดูเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง คุณและทีมบริหารความเสี่ยงยังไง 

แน่นอนเราถูกบีบด้วยค่าโดยสารที่มันมีเพดานของมัน ในขณะเดียวกันก็ต้องทำบริการให้มันดีด้วย ถ้าเราเอาเงินจำนวนมากๆ มาลงทุนกับฝั่งบริการ แน่นอนว่ามันก็ไปไม่ได้ เขาเรียกว่าเอาเงินล้านมาแลกเงินสิบ แต่เราไม่ได้มองแบบนั้น เรามองว่าทักษะที่เรามีสามารถ compare ก้อนของ investment กับ management ในเรื่องของบริการได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ 

พอเราคิดได้แบบนี้ เรามีโซลูชั่นแบบนี้ คนที่ทำธุรกิจเดียวกันกับเรา คนที่เป็น operator ของขนส่งสาธารณะเขาก็คงต้องการสิ่งนี้แหละ ให้เขาซื้อตู้อัตโนมัติเมืองนอกราคาแพงๆ เขาไม่จ่ายอยู่แล้ว นึกภาพลุงขับรถสองแถว นึกภาพอาเจ็กเจ้าของสายรถเมล์ที่เขาโดนฟาดค่าใบอนุญาตหลายบาท ถ้าเอาโซลูชั่นแพงไปซัพพอร์ตเขา เขาก็ไปไม่ได้ ซึ่งถ้ามันมีเทคโนโลยีที่มันไม่ได้แพง แต่ยังตอบโจทย์เขาอยู่มันก็จะไปช่วยต่อลมหายใจเขา ทุกคน win หมด เพราะคุณภาพของบริการก็เพิ่ม ต้นทุนในการบริหารจัดการ หรือประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบของ operator เองมันก็ดีขึ้นด้วย ในขณะที่ยังสามารถให้บริการสาธารณะในราคาที่เหมาะสมได้ 

ยากไหมกับการแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะในเมืองต่างจังหวัด เพราะดูมันเป็นบริบทที่มีปัญหาเต็มไปหมด

ไม่ได้ยากมาก ด้วยทีมงานของพวกเราแต่ละคนมีแบ็กกราวนด์ที่ทำเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ในทีมจะมีทั้งสายเทค ธุรกิจ และพาร์ตเนอร์อีกคนหนึ่งเขาก็เป็นเจ้าของบริษัทรถเมล์ซึ่งทำเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว พอต่างคนต่างเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจและรู้ความถนัดของตัวเอง พอมารวมกันมันเลยพอมีทางจะเป็นไปได้ แต่ถ้าถามว่ามันจะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรขนาดนั้นไหมก็อาจจะไม่ แต่คิดว่ามันน่าจะอยู่ได้ น่าจะโอเคพอสมควรในระยะยาว

อย่างซิตี้บัส ผมและทีมได้ไปดูพวกสถิติเก่าๆ และดูเรื่องไฟแนนซ์ตอนที่ซิตี้บัสเปิดใหม่ ช่วงที่มันได้รับความนิยมผลลัพธ์มันทำได้ค่อนข้างดี ซึ่งถ้าเรากลับไปอยู่จุดเดิมได้ผมว่ามันแฮปปี้ ค่าโดยสารกับ fixed cost ต่างๆ มันค่อนข้างควบคุมได้ อันนี้ถ้าเราหาทางเลือกเช่นไปดูเรื่องโฆษณา หรือไปรับจ้างให้บริการเวลามีอีเวนต์มันก็จะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามา เป็นกำไรที่จะกลับเข้ามาได้ ซึ่งถ้าโมเดลเป็นแบบนี้ มันพอเป็นไปได้ที่จะทำกำไรได้นิดหน่อย 

หากธุรกิจนี้ไม่เป็นไปตามโมเดลที่มองไว้ ไม่กลัวว่าจะต้องกลายเป็นผู้แบกรับปัญหาเหรอ

เราไม่ได้ถึงขั้นมองว่าตัวเองจะมานั่งแบก แต่ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ ทำยังไงที่มันจะเป็นไปได้ ซึ่งพอลองหาช่องทาง หาวิธีการแฮ็กที่จะทำให้มันไปได้ก็รู้สึกว่ามันจะเป็นไปได้ แต่ถ้าถึงจุดที่หารายได้ไม่ได้เลยแล้วจะต้องแบกไปเลยมันก็จะเป็นโมเดลการกุศล (หัวเราะ) ยังยืนยันว่าที่ทำอยู่ไม่ใช่การทำการกุศล แต่เป็นการทำธุรกิจ คาดหวังกำไร และพอมาลองพิจารณาคิดว่ามันเป็นไปได้ และคิดว่าโซลูชั่นที่ทีมพัฒนาขึ้นมาและเทคโนโลยีที่มีมันมีความหวังที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้ 

อะไรทำให้พวกคุณมองว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของตัวเอง

หนึ่งคือพวกเราต่างคนต่างมีความถนัดที่สามารถมาเติมเต็มช่องว่างได้อยู่แล้ว อันที่สองคือพวกเราอินเรื่องนี้ รู้สึกว่าไม่อยากให้มันหายไป รู้สึกว่ามันสำคัญ เลยคิดว่างั้นพวกเรานี่แหละเข้ามาทำดีกว่า แต่ถ้าไปดูเรื่องของความเป็นไปได้แล้วมันยาก แต่เป็นไปได้ไหมก็มีความหวังว่ามันจะเป็นไปได้ เลยลองเสี่ยงกันดู

pain point ขนส่งสาธารณะทั้งตอนทำขอนแก่นซิตี้บัสและบัสซิ่งคืออะไร ว่าด้วยเรื่องเดียวกันไหม

pain point มันมีหลายเลเวลและไม่ใช่แค่ขอนแก่นอย่างเดียวที่เจอ แต่เป็น pain point เดียวกับทุกๆ จังหวัด อันที่หนึ่งคือระบบบ้านเรามองขนส่งสาธารณะเป็นธุรกิจ ไม่ได้มองเป็น public service ไม่ได้มองว่ามันเป็น infrastructure เหมือนกับถนน โรงเรียน หรือโรงพยาบาล พอไม่ได้มองเป็น public service มายด์เซตมันเลยคิดอีกแบบหนึ่ง พอคิดว่าขนส่งสาธารณะมันต้องเป็นแบบ fully commercial มันก็ต้องเป็นระบบแบบสัมปทาน เป็นเรื่องของค่าโดยสารเอย อะไรเอย คราวนี้พอค่าโดยสารมันถูกควบคุม ขณะเดียวกันธุรกิจก็ต้องอยู่ได้ เขาก็ต้องลดคุณภาพบริการลง เช่น รอบรถไม่ค่อยถี่ บริการไม่ค่อยดีและค่อยๆ เสื่อมลงๆ ผลที่ตามมาคือคนก็ใช้น้อยลง เป็นปัญหางูกินหางไม่รู้จบ

ขนส่งสาธารณะเป็นสิ่งที่รัฐไม่ได้มองว่ามันเป็น public service ที่จะต้องได้รับ subsidy (เงินอุดหนุน) เพื่อให้สิ่งนี้ต้องมีอยู่ เขาไม่ได้มองว่ามูลค่าเพิ่มของการมีขนส่งสาธารณะที่ดีจะไปทำให้เมืองมีเศรษฐกิจที่ดี หรือไปลดเรื่องค่าครองชีพผู้คนได้ ไม่ได้มองว่าสิ่งนี้จะทำให้คนอยู่ดีกินดีมากขึ้น หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้ามันไปวัดเรื่องของผลลัพธ์ indirect (ทางอ้อม) เขาอาจจะเห็นว่ามันควรค่าที่จะ subsidize นะ แต่พอมายด์เซตมันเป็นอีกแบบนึงเลยเป็นอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันว่าขนส่งสาธารณะมันค่อยๆ เสื่อมลง อันนี้ผมว่ามันเป็น pian point ใหญ่ที่สุด

รองลงมาคือเรื่องของคน การใช้ชีวิตของคนในเมืองจะต้องมี accountability (ความรับผิดชอบ) กับสาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องขนส่งสาธารณะหรือทางเท้า ถ้าสมมติว่าทุกคนเอาสบาย ฉันไม่อยากเดิน อยาก door-to-door ยังไงขนส่งสาธารณะมันไม่เกิดแน่ๆ มันจะอยู่ได้แค่รถส่วนตัวกับแท็กซี่เท่านั้น แต่ถ้าคุณมีความรับผิดชอบว่าฉันไม่เอารถไปเพิ่มให้ถนนหรอก ฉันยอมเดินนิดหน่อยมาปากซอยเพื่อใช้รถไฟฟ้า ขึ้นรถเมล์ มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ปริมาณรถบนถนนก็อาจจะลดลงได้

คุณบอกว่าด้านหนึ่งคือเรื่องมายด์เซตที่มีต่อขนส่งสาธารณะ ดังนั้นแล้วมายด์เซตแบบไหนถึงจะทำให้ขนส่งสาธารณะไทยหรือขอนแก่นดีกว่าที่เป็นอยู่ 

ถ้าคุณมองอีกมุมหนึ่ง ในมุมของเมืองที่มันพัฒนาจนเจริญแล้ว ขนส่งสาธารณะมันไม่ได้เอามาบริการคนจนนะ แต่เป็นบริการให้กับคนทุกระดับเลย มันเรียกว่า for all ได้จริงๆ อีกส่วนหนึ่งคือเขาเองก็มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวก็ได้ เดินนิดๆ หน่อยๆ ก็ได้ ซึ่งมันกลับมาที่ well-being คนด้วยว่าพอเมืองมันเดินได้ ขนส่งสาธารณะทั้งระบบมันทั่วถึง คุณก็ได้ทั้งสุขภาพ ได้ทั้งอากาศบริสุทธิ์

คนขอนแก่นเริ่มบ่นเรื่องรถติดแล้วหรือยัง

ขอนแก่นปกติที่ไปไหนมาไหนในตัวเมืองจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที มากสุด 30 นาที ถ้ารถติดก็อาจจะ 30-45 นาที แต่จะไม่ติดเป็นชั่วโมง ติดเป็นชั่วโมงปีนึงมันจะมีแค่บางครั้งบางคราว เช่นปิดถนน มีสอบแพทย์ ก็จะติดเป็นชั่วโมงเพราะมีคนข้างนอกเข้ามากันเยอะ แบบนั้นก็จะอัมพาตเลย แต่ปีนึงมันก็จะมีวันแบบนี้อยู่สัก 10 วัน แต่ถึงอย่างนั้นคนที่นี่ก็ suffer นะไม่ใช่ไม่ suffer กับการที่รถติดเช้าติดเย็น ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ มันคนละเลเวล กรุงเทพฯ มันติดสามชั่วโมงแบบนี้ ถ้าใช้ destination แบบกรุงเทพฯ ขอนแก่นเรียกรถไม่ติด แต่ถามว่าคนที่นี่บ่นรึยัง คือเกิน 15 นาทีบ่นแล้วแหละ เพราะปกติมัน 15-20 นาทีก็ถึง

พอเขาเริ่มบ่นแบบนี้ เขาเห็นแล้วหรือยังว่าขนส่งสาธารณะมันสำคัญ 

ไม่

ก็ยังใช้รถยนต์ส่วนตัวอยู่ดี

ใช่ เหมือนไก่กับไข่อะครับ ถ้าวันนี้ขนส่งสาธารณะมันมีให้บริการแบบทั่วถึงและมีคุณภาพดี คิดว่าคนพร้อมจะเปลี่ยนมาใช้ คนคงไม่ออกรถมาใช้หรอก แต่ถ้าคนต่างจังหวัดรู้สึกว่ามันเดินทางไม่สะดวก แน่นอนถ้าเขามีทางเลือกและมีทุนพอ เขาก็จะเลือกขี่มอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ 

คนส่วนใหญ่เลือกใช้รถส่วนตัว ดังนั้นดีมานด์การใช้ซิตี้บัสอยู่ตรงไหน 

ดีมานด์คนต่างจังหวัดที่ใช้ขนส่งสาธารณะคือกลุ่มคนที่ไม่ได้มีกำลังเยอะ อันนี้อันที่หนึ่ง อันที่สองก็จะเป็นกลุ่มที่เขายังใช้รถไม่ได้ เช่นนักเรียน อันนี้ก็จะเป็นยูสเซอร์หลักที่เขาใช้ขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นอีกความท้าทายหนึ่ง เพราะยูสเซอร์ที่เป็นนักเรียนมันขึ้นอยู่กับ seasonal อย่างช่วงปิดเทอม ยูสเซอร์มันจะวูบไปเลย ถ้าเปิดเทอมก็จะกลับมา จะเป็นแพตเทิร์นประมาณนี้

นอกจากนี้กลุ่มที่เล่าให้ฟังที่เป็นยูสเซอร์ปัจจุบันมันยังถูกท้าทายด้วยเทรนด์ที่ว่ามันจะ migration ไปสู่รถส่วนตัว สมมติว่าเด็กนักเรียนพอเขาเริ่มโตขึ้น มีใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ เขาก็อาจจะซื้อมอเตอร์ไซค์มาขี่ นึกออกมั้ยฮะ เทรนด์มันไปทางนั้น มันไม่ได้มาทางนี้ อันนี้มันคือความท้าทายที่เจอของคนที่ทำขนส่งสาธารณะ

ประเด็นหนึ่งของเรื่องนี้คนยังไม่เข้าใจว่าขนส่งสาธารณะมันดีกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว ตรงนี้โซลูชั่นของบัสซิ่งทรานสิทจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเข้าใจด้วยวิธีใด

หลักๆ เลยเราต้องกลับไปทำความเข้าใจว่าทำไมคนถึงไม่ใช้ขนส่งสาธารณะ ซึ่งมีหลายเรื่องทั้งเรื่องข้อมูลข่าวสาร ความสะดวก เรื่องของบริการ สาเหตุก็อย่างที่เล่าไปว่าทำไมขนส่งสาธารณะบ้านเรามันถึง run down ที่บัสซิ่งทรานสิททำได้คือเราทำให้มันกลับมาในระดับที่ใช้ได้จริง และคงต้องมาดูกันว่าถ้าทำได้จริงคนจะกลับมาใช้ไหม อันนี้มันก็เป็นความท้าทายของผม จริงๆ ไม่อยากพูดว่ามันเป็นของผมหรอก มันคือของเราร่วมกัน เพราะว่าถ้าท้ายที่สุดแล้วขนส่งสาธารณะมันไปไม่ได้ คนที่เจ็บปวดก็คือพวกเราทั้งหมด ไม่ใช่พวกผมคนเดียว 

ตอนนี้ทำไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว

ตอนนี้เราเอาระบบที่เคยมีหลายๆ อย่างกลับมาได้หมดแล้ว เรื่องของจุดจอด เรื่องของอะไร พยายาม improve โน่นนั่นนี่ ตอนนี้ก็คือเปิดเทอมก็กำลังดูเรื่องของยอด เรื่องของโมเมนตัมว่าเป็นยังไงบ้าง โอเคหรือเปล่า ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักนิดนึง อันที่เรากำลังเปิดตัวเร็วๆ นี้เป็นตั๋วสะสมเที่ยว คล้ายๆ ตั๋วเดือน อย่างเมืองถ้าทำตั๋วร่วมได้ก็จะดี เชื่อมหลายๆ โหนด หลายๆ สาย เช่นขึ้นซิตี้บัสต่อรถสองแถว 

เหมือนกรุงเทพฯ ก็พยายามทำแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ทำไมคุณคิดว่าขอนแก่นสามารถทำได้ 

ในเชิงเทคโนโลยีมันทำได้ไม่ยาก อย่างของกรุงเทพฯ มันไม่เกิดเพราะว่าเขาคุยกันไม่ลงตัวอะไรบางอย่าง รวมถึงเรื่องของกฎระเบียบ และสัญญาสัมปทานต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัด

การพัฒนาขนส่งสาธารณะคือการพยายามทำให้การเดินทางของคนในเมืองดีขึ้น ตอนนี้ชีวิตคนในเมืองดีขึ้นแล้วหรือยัง

เอาเป็นว่าเขามีตัวเลือกมากขึ้นดีกว่า เพราะเราไม่สามารถไปวัดในมิติอื่นได้ แต่คนใช้ขนส่งสาธารณะมีตัวเลือกมากขึ้นว่าซิตี้บัสเป็นทางเลือกหนึ่งและเป็นทางเลือกที่ดี คุณไม่ต้องยืนรอโดยไม่รู้ว่ารถจะมาตอนไหน คุณสามารถวางแผนล่วงหน้าได้เพราะว่าเรามีตารางเวลาชัดเจน และดูได้เรื่อยๆ ว่ารถถึงไหนแล้ว ใกล้มาถึงรึยัง ฉันควรจะเดินจากตึกเพื่อมารอขึ้นรถได้รึยัง หรือถ้ารถยังไม่มาก็นั่งกินกาแฟรอก่อน อะไรอย่างนี้ มันวางแผนได้มากขึ้น มีข้อมูลเรียลไทม์มากขึ้น ถ้าคิดว่านี่คือคุณภาพชีวิต นี่คือความซิวิไลซ์ ก็คิดว่าฉันก็ทำแล้วแหละ 

ทำไมถึงเชื่อว่าขนส่งสาธารณะต่างจังหวัดจะดีขึ้น และยกระดับชีวิตผู้คนในเมืองได้

คำนี้ไม่ต้องดีเบต ไม่ต้อง argument อะไรเลย เพราะมันพิสูจน์ด้วยหลายๆ ที่บนโลกนี้มาแล้ว เมืองที่มันซิวิไลซ์ ประเทศที่มันเจริญ อะไรพวกนี้มันเป็นเบสิกของผู้คนมากๆ เรื่องนี้เราไม่ต้องมาโต้เถียงกันเลยว่าใช่ไม่ใช่ มันค่อนข้างพิสูจน์ชัดว่าขนส่งสาธารณะมันจำเป็นสำหรับเมือง ซึ่งเมืองไทยเองก็ต้องมาหาทางออกตรงนี้ร่วมกันว่าจะเอายังไงต่อ ผมเข้ามาทำตรงนี้ก็เพราะว่า ณ ตอนนี้สถานการณ์มันเป็นอย่างนี้ วันนึงอาจจะไม่ต้องมีพวกผมแล้วก็ได้ถ้าอยู่มาวันนึงรัฐบาลเขาบอกว่าเขา subsidize หมด แพงแค่ไหนเขาก็จ่ายให้ประชาชนขึ้นฟรี ทุกคนแฮปปี้ผมก็แฮปปี้นะไม่ได้ติดอะไร (หัวเราะ)

การทำสิ่งนี้มันก็เป็นความท้าทายแหละ แต่มันก็มีหลายเมืองในโลกที่คล้ายๆ กับเรา เคยเป็นเหมือนเรามาก่อนก็คือเป็นคัลเจอร์ของรถยนต์แล้วเขาเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้สำเร็จ ผมก็รู้สึกท้าทายกลับไปที่เมืองไทยเหมือนกัน เราก็อยากเห็นมันเป็นแบบนั้น  

มันท้าทายด้วยอะไร

อันที่หนึ่งระยะเวลา การพัฒนาขนส่งสาธารณะต้องใช้เวลา อันที่สองก็คืออย่างต่างประเทศ เรื่องของ policy เขาเข้มแข็ง เพราะ policy maker เขาเข้าใจว่าสิ่งนี้มันสำคัญยังไง แล้วเขาก็ออกแบบระบบที่มันเฮลตี้ ระบบและนโยบายที่มันเข้าใจจริงๆ ว่า constraint (ข้อจำกัด) มันคือยังไง อันที่สามคือคนเขามี accountability ถ้าสามอันนี้มันเกิดมันก็เป็นไปได้ 

อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้กับการทำธุรกิจเพื่อสาธารณะ

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการมองเห็นว่าการพัฒนาขนส่งสาธารณะมันมี challenge เยอะมาก แต่มันก็ยังมีทิศทางที่จะทำให้เป็นไปได้ มันยังมีช่องทางที่เป็นความหวังอยู่ แล้วเรายังพบว่าเรื่องดีมานด์มันไม่ใช่ว่าไม่มี มันยังมีกลุ่มคนที่ต้องการรถเมล์อยู่พอสมควร ถ้าสิ่งนี้มันหายไปคนเจ็บปวดมันเยอะนะ 

เคยอ่านเรื่องรถไฟคิว-ชิราทากิ ที่ฮอกไกโดที่ต้องรับส่งเด็กผู้หญิงจนจบ ม.6 ไหม มันมีหมู่บ้านหนึ่งที่มีรถไฟวิ่งผ่านแต่เป็นสถานีที่ไม่ค่อยมีคนขึ้น จะมีแค่เด็กผู้หญิงที่ขึ้นประจำเพราะเขาต้องขึ้นรถไฟคันนี้เพื่อไปเรียน แล้ววันนึงเขาก็ประกาศว่ารถไฟจะไม่จอดที่สถานีนี้แล้ว แต่พอมันยังมีเด็กคนนี้ขึ้นอยู่ เขาเลยตัดสินใจว่าเขาจะให้บริการสถานีนี้จนเด็กคนนี้เรียนจบ มายด์เซตแบบนี้มันเมคเซนส์นะ เพราะเขามองเห็นว่ายังไงขนส่งสาธารณะก็ต้องเซอร์วิสคน ถ้าเกิดว่ามันไม่มีสิ่งนี้แล้ว เด็กคนนี้จะทำยังไงต่อ เขาอาจจะไม่มีทางเลือกอื่นในการเดินทางแล้วก็ได้

ภาพของบัสซิ่งทรานสิทที่คุณอยากเห็นในอนาคตเป็นแบบไหน

ถ้าอนาคตแบบในฝันเลยคือไม่มีบัสซิ่งทรานสิทแล้ว หมายความว่าทุกคนเข้าใจสิ่งนี้ ทุกคนกลับมาใช้ขนส่งสาธารณะ สิ่งนี้มันไปได้ รัฐบาล subsidize หรืออะไรก็แล้วแต่ และมันเวิร์ก เราอาจจะไม่ต้องทำอะไรแล้วก็ได้ แต่ภาพนี้เป็นภาพที่เอกซ์ตรีมไป (หัวเราะ)

เป้าหมายสั้นๆ ที่ดูเป็นไปได้ขึ้นมานิดนึงคือเรามองว่าโซลูชั่นของเรามันได้ไปช่วยคนอื่นให้มันไปต่อได้ ถ้ามองว่าบัสซิ่งทรานสิทจะไปยังไงก็คงเป็นทิศทางที่ได้ไปเซอร์วิสคนอื่นๆ และอีกอันหนึ่งที่หวังคือคนกลับมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น เดี๋ยวถ้าคนกลับมาใช้ เขาได้เข้าใจและเรียกร้อง มันคงจะไปต่อได้ เพราะลำพังแค่พวกเราหรือคนที่พยายามเปลี่ยนแปลงมานั่งพูดเรื่องพวกนี้พลังมันยังไม่เยอะพอ 

You Might Also Like