Think Like a Designer
คุยกับ Bill Burnett จากนักออกแบบของเล่นสู่ผู้เขียน Designing Your Life คู่มือออกแบบชีวิต
บิลล์ เบอร์เนตต์ (Bill Burnett) คือนักออกแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัทชั้นนำระดับโลกที่นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) ของดีไซเนอร์มาประยุกต์เป็นกระบวนการการออกแบบชีวิต เขาเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ Designing Your Life : คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking ที่ขายดีทั่วโลกและยังเป็นผู้บุกเบิกวิชานี้ที่ Stanford Life Design Lab อีกด้วย
นอกจากประสบการณ์ที่เคยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้แบรนด์ดังอย่าง Apple และ Star Wars แล้ว นักเรียนจากคลาสดีไซน์ของบิลล์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดยังเป็นผู้ออกแบบนวัตกรรมและงานดีไซน์ที่ประสบความสำเร็จอยู่แทบทุกวงการของบริษัทใหญ่ๆ
บิลล์บอกว่า ทุกคนล้วนเคยมีโมเมนต์ที่เจอทางตันในชีวิตกันทั้งนั้น และดีไซเนอร์ก็มักรู้สึกตันตลอดเวลาเพราะงานหลักคือการแก้ปัญหาในการออกแบบ แต่เขามองว่ากระบวนการแก้ปัญหาของดีไซเนอร์เป็นสิ่งที่สนุกและสามารถนำทุกขั้นตอนมาใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตได้เช่นกัน
หลายคนอาจเคยอ่านหนังสือเล่มนี้หรือรู้จัก design thinking มาบ้างแล้ว ในโอกาสที่บิลล์ เบอร์เนตต์ กำลังจะมาจัดเวิร์กช็อป Designing Your Life ที่ไทยในเดือนกันยายน เราเลยถือโอกาสชวน ดร.เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล Certified Coach ด้าน Designing Your Life และนักจิตวิทยาที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรที่หลากหลาย รวมถึงเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของศาสตร์วิชานี้ในไทย มาเป็นผู้ส่งต่อคำถามและชวนบิลล์สนทนาถึงเบื้องหลังการออกแบบชีวิตและวิธีคิดเบื้องหลังความสำเร็จ เพราะในการทำความเข้าใจศาสตร์หนึ่ง ไม่มีอะไรจะทำให้เข้าใจเบื้องลึกได้ดีกว่าการฟังเรื่องเล่าชีวิตจริงจากเจ้าของหนังสืออย่าง บิลล์ เบอร์เนตต์ อีกแล้ว
ส่วนบทสนทนาระหว่างทั้งสองจะเป็นยังไง ขอชวนร่วมรับฟัง
คุณเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกหลงทางในชีวิตบ้างไหม
ผมคิดว่า wicked problem (ปัญหาที่ไม่มีวิธีแก้สูตรสำเร็จ) ที่เจอในช่วงวัยรุ่นคือโลกนี้ดูเหมือนจะไม่มีที่สำหรับผมมาตลอดและผมต้องหาทางที่จะฟิตกับโลกให้ได้ เพื่อให้ตัวเองได้ทำสิ่งที่สนใจอย่างแท้จริง เหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะผมมีความชอบทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะแต่โลกกลับบอกผมว่า Don’t mix. อย่าเอาสองศาสตร์นี้มาผสมกัน
ผมชอบฟิสิกส์เพราะฟิสิกส์ตอบปัญหาใหญ่ๆ ได้ อย่างจักรวาลคืออะไร ทำไมสสารถึงดำรงอยู่และผมก็ชอบศิลปะเพราะศิลปะสามารถตอบปัญหาใหญ่ๆ ได้เหมือนกัน เช่น ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์คืออะไร เราจะประยุกต์ใช้ศิลปะให้สร้างสรรค์ผลงานที่สวยงามออกมาได้ยังไงและศิลปะก็ทำให้เรารู้สึก ผมสามารถมองภาพเหมือนของแวน โกะห์ที่มีขนาดเล็กแค่ 14×13 นิ้วแล้วมีน้ำตาได้เพราะผมเห็นว่าในตาของเขามีความรู้สึกทรมานบางอย่างอยู่ ผมเลยมองว่าทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะเหมือนกันตรงที่สอนวิธีการในการตั้งคำถามใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรคือความสวยงาม อะไรคือความจริง โลกนี้ประกอบสร้างมาจากอะไร แต่คนส่วนใหญ่จะบอกว่ามันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและคุณไม่ควรจะชอบทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน
โลกนี้บอกคุณว่าวิทยาศาสตร์และศิลปะเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นตอนวัยรุ่นมันเลยรู้สึกเหมือนกับว่าโลกนี้ไม่มีที่สำหรับคนแบบผม ไม่มีใครที่ต้องการอาชีพ Artistic Physicist หรือ Physicist ที่ไม่คิดเลขแต่ทำงานศิลปะ ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนซับซ้อนมาตลอด
แล้วตอนนั้นคุณปรับมุมมองให้เจอทางเลือกที่แฮปปี้กับชีวิตได้ยังไง
ผมเจอส่วนผสมตรงกลางที่ลงตัวระหว่างศิลปะกับวิศวกรรมคือนักออกแบบผลิตภัณฑ์ (product designer) ผมสนุกกับวิชาศิลปะมากและเคยคิดที่จะเรียนคณะสายอาร์ตแต่ครอบครัวผมไม่ได้สนับสนุนให้เรียนด้านนี้เท่าไหร่ สุดท้ายก็เจอคณะที่รวมทั้งศิลปะ วิศวกรรม มานุษยวิทยา และจิตวิทยาเข้าด้วยกัน ศาสตร์นี้คือ product design
ผมเข้าเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตอนนั้นเป็นช่วงแรกที่ผู้คนเริ่มพูดถึง design thinking ซึ่งเริ่มสอนจากที่สแตนฟอร์ด ตอนผมเรียน product design โปรแกรมนี้เปิดมา 10-15 ปีแล้วโดยเริ่มสอนตั้งแต่ปี 1963 หน้าที่ของดีไซเนอร์คือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชั่นใช้งานได้จริงดังคำที่ Ludwig Mies van der Rohe ดีไซเนอร์ชื่อดังของโลกกล่าวไว้ว่า form follows function แต่หนึ่งในฟังก์ชั่นที่เราต้องดีไซน์ออกมาด้วยคือความสวยงามเพื่อให้คนใช้เอนจอยกับการใช้ข้าวของที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของเราดีขึ้น มันเลยเป็นการผสมของหลายศาสตร์ ผมค้นพบศาสตร์นี้ด้วยตัวเอง ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีตำแหน่งงานที่เรียกว่าดีไซเนอร์
เล่าชีวิตการทำงานที่ผ่านมาของคุณให้ฟังหน่อย คุณใช้ชีวิตมากี่แบบ
ผมเริ่มงานแรกด้วยการเป็นนักออกแบบของเล่น ทั้งทำของเล่น Star Wars และได้มีส่วนร่วมทำหนัง Star Wars ตอน 2 และ 3 รวมถึงหนัง Raiders of the Lost Ark จากนั้นก็เป็นนักธุรกิจอยู่พักหนึ่ง ก่อตั้งธุรกิจแรกโดยใช้เวลา 4 ปีก่อนขายบริษัทไปแล้วย้ายมาทำบริษัทที่สอง มันเป็นธุรกิจแนวสตาร์ทอัพในซิลิคอนแวลลีย์ ทั้งต้องทำสินค้าออกมาให้สำเร็จ ระดมทุน คุยกับนักลงทุนและลูกค้า ต้องเป็นทั้งดีไซเนอร์ นักธุรกิจและนักเล่าเรื่อง ตอนที่ทำบริษัทที่สองนี้เองที่ผมแต่งงานและมีลูกคนแรกแล้วผมก็ตระหนักว่าผมไม่สามารถทำงาน 60-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้อีกต่อไป ผมรู้สึกว่ามันไม่ยั่งยืนเลยตัดสินใจย้ายไปทำงานที่บริษัทใหญ่
ผมได้โอกาสไปทำงานที่ Apple เพราะผมชอบสินค้าของเขา มันเหมือนงานในฝันเลย แล้วพอมาทำงานในองค์กรใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนมาทำงานอย่างมีระบบมากขึ้น ผมต้องดูงบ เขียนรีพอร์ต มีเป้าหมาย KPI ที่ต้องทำให้ได้และสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำอีกมากมาย การเป็นนักออกแบบที่ Apple นั้นมีหน้าที่ต้องดูแลทีมไปจนถึงคิดค้นแล็ปท็อปรุ่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากการทำงานที่ผ่านมา มันแตกต่างกับตอนเป็นนักธุรกิจมากๆ
ผมทำงานที่ Apple มา 7 ปีและรู้สึกสนุกกับงานมากๆ ผมรักการออกแบบแล็ปท็อปและทีมเพื่อนร่วมงานก็ยอดเยี่ยมแต่หลังจาก 7 ปีนั้นผมบอกตัวเองว่าผมไม่อยากออกแบบคอมพิวเตอร์ มันไม่น่าสนใจอีกต่อไปแล้ว ผมเลยไปถามเจ้านายว่าผมสามารถออกแบบตู้เย็น ห้องน้ำ หรือของเล่นได้ไหม แล้วเขาก็บอกว่า ไม่ ที่นี่เราออกแบบแค่คอมพิวเตอร์ ผมเลยตอบว่า ผมรู้ครับ แค่ล้อเล่น
แล้วจากนั้นผมก็เลยมาก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านดีไซน์ที่ออกแบบของหลากหลายมากขึ้น ผมทำกับเพื่อนโดยมีออฟฟิศที่ซิลิคอนแวลลีย์และที่ฮ่องกง เราคิดค้นและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผลิตที่จีน ตอนนั้นเป็นช่วงปีท้ายๆ ของ 90s และต้น 20s การทำบริษัทที่ปรึกษาทำให้เข้าใจว่าเราไม่ได้ทำงานให้ตัวเอง เราเป็นคนขายงาน ต้องออกไปหาลูกค้า สร้างสัมพันธ์กับลูกค้าในจีน เอเชียและฮ่องกง มันเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากบทบาทอื่นๆ เลย ผมทำบริษัทที่ปรึกษานี้ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ที่ Stanford Life Design Lab ซึ่งเป็นเส้นทางอาชีพที่แตกต่างกัน 5 แบบ
แล้วการคิดค้นคอนเซปต์ Designing Your Life มีที่มายังไง
ตอนแรกผมเป็นอาจารย์พาร์ตไทม์ที่สแตนฟอร์ดตั้งแต่ปี 1984 ซึ่งก็ทำมาหลายปีอยู่ ในปี 2006 ตอนที่ David Kelly เริ่ม Stanford d.school โรงเรียนสอนดีไซน์ที่ดังมากในเวลาต่อมา ตอนนั้นเขาเพิ่งเริ่มต้นและชวนผมว่าอยากมาเป็น professor ฟูลไทม์ที่นี่ไหม เพราะพวกเขาอยากได้คนมาช่วย d.school ที่เพิ่งก่อตั้งและต้องการคนดูแลโปรแกรม ถือเป็นเส้นทางการเลือกที่น่าสนใจของผมเพราะการเป็นอาจารย์มีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับตอนทำบริษัทที่ปรึกษาแต่ผมตัดสินใจเลือกทางนี้เพราะอยากทำงานเพื่อสิ่งตอบแทนที่มากกว่าเงิน ผมอยากสร้างดีไซเนอร์ที่ดีหลายพันคนให้พวกเขาออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่ยากให้กับโลกไม่ว่าจะเป็นปัญหา climate change สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอื่นๆ อีกมากมาย นั่นคือมิชชั่นของผมตอนที่เริ่ม
ในปี 2006 จึงเป็นครั้งแรกที่ผมมีงานประจำในสายวิชาการ ในตำแหน่ง Executive Director ทั้งสำหรับปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แล้วในปี 2007 เพียงปีเดียวหลังจากก่อตั้ง Dave Evans ก็กลายเป็น Co-founder ของ Stanford Life Design Lab และเป็น Co-author ของหนังสือ Designing Your Life ร่วมกับผม ด้วยความที่เขาสอนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์อยู่ด้วย เขาเลยถามว่า นักเรียนของคุณที่สแตนฟอร์ดสับสนในชีวิตบ้างหรือเปล่าเพราะนักเรียนที่เบิร์กลีย์สับสนมากว่าจะเลือกงานยังไงดีและจะชอบเส้นทางที่เลือกนั้นไหม ผมบอกเขาว่านักเรียนที่นี่ก็สับสนเหมือนกันและผมพูดเรื่องนี้อย่างเข้าใจด้วยเพราะนักเรียนของเราฉลาดมากแต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะทำยังไงดีกับชีวิต
เดฟถามว่าแล้วคุณคิดยังไง ผมเลยบอกว่างั้นมาทำคลาสที่สอนเรื่องนี้กันไหม แล้วพวกเราก็เริ่มออกแบบคลาสจากมุมมองของดีไซเนอร์เพราะผมคิดว่าการออกแบบชีวิตก็เป็นปัญหาหนึ่งด้านการออกแบบเหมือนกัน
แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าวิธีคิดและกระบวนการออกแบบของดีไซเนอร์จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบชีวิตแล้วได้ผล
เพราะผมรู้ว่าในโปรเจกต์งานดีไซน์ต่างๆ ที่คิดค้นสิ่งใหม่ของผมได้ผล ผมกับเดฟก็เลยโปรโตไทป์ (ทดลองทำต้นแบบ) คลาสเรียนอย่างรวดเร็วและค้นพบว่านักเรียนของเราสนุกกับกระบวนการการออกแบบชีวิตนี้มากและพวกเขาก็เก็ตว่าสามารถเอาวิธีคิดแบบดีไซเนอร์มาใช้ในการออกแบบชีวิตได้ คุณสามารถทดลองทำโปรโตไทป์, มี empathy แชร์ไอเดียและประยุกต์ใช้ทุกขั้นตอนของกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เวิร์กกับการออกแบบชีวิตได้ อาจจะมีส่วนที่แตกต่างกันบ้างนิดหน่อยแต่มันเป็นกระบวนการที่งดงามเวลาเอามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบชีวิต
นักเรียนของคุณที่ Stanford Life Design Lab มักมีความเชื่อผิดๆ และติดกับดักอะไรในชีวิตบ้าง
นักเรียนของผมมักรู้สึกว่าพอเขาเลือกคณะที่ใช่ไปแล้ว เขาก็ต้องยึดติดอยู่กับสิ่งที่เลือกตลอดชีวิตที่เหลือ หลายคนคิดว่าถ้าเลือกคณะไปแล้วก็ต้องเป็นนักบัญชี นักธุรกิจ หรือโปรแกรมเมอร์ตลอดชีวิต ด้วยความที่ผมสอนที่สแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยสนับสนุน จากดาต้าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของนักเรียนที่ผมเจอซึ่งผมไม่สามารถเมคตัวเลขขึ้นมาลอยๆ ได้ คือมีนักเรียนน้อยกว่า 20% ที่ทำงานตามสายที่เรียนมาในช่วงมหาวิทยาลัย ความจริงแล้วคณะที่เรียนเป็นเพียงทางเลือกตอนคุณทำกิจกรรมหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเท่านั้นแต่ยังไม่ใช่ทางเลือกที่เหลือทั้งหมดของชีวิต ผู้คนมักจะกังวลว่าเลือกคณะถูกไหมทั้งๆ ที่หลายครั้งความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นคนเลือกมันด้วยซ้ำ หลายคนแค่กำลังพยายามทำให้ครอบครัวหรือสังคมพอใจ
ผมบอกนักเรียนของผมที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในอายุ 21-22 ว่า มีการคาดการณ์ว่าในรุ่นของพวกคุณจะเป็นรุ่นแรกที่มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอย่างสุขภาพดีถึงอายุ 100 ปี ไม่ใช่แค่อายุยืนขึ้นเท่านั้นแต่รวมถึงช่วงอายุที่มีสุขภาพดีก็ยาวนานมากขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าถ้าคุณสำเร็จการศึกษาตอนอายุ 20 เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะมีเวลาเหลืออีกราว 70 ปีในการทำงาน คุณจะให้ตัวคุณตอนอายุ 20 เป็นคนตัดสินใจชีวิตที่เหลือทั้งหมดอีก 70 ปีถัดไปของคุณเหรอ มันจะน่าเบื่อมากถ้าคุณทำอย่างนั้นและมันเป็นไปไม่ได้ด้วยเพราะงานต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปหมดตามโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้นคุณต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอย่างว่องไวและมายด์เซตของดีไซเนอร์ก็จะช่วยให้ทำแบบนั้นได้
แล้วสำหรับวัยทำงานล่ะ คนมักติดกับดักอะไรที่ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข
จากสถิติพบว่า 70% ของชาวอเมริกันไม่ชอบงานของตัวเอง พวกเขาแค่ทำมันไปเรื่อยๆ ทุกคนจะพูดว่าคุณจะได้ทำงานที่มีคุณค่าแต่ไม่สามารถหาเงินจากมันได้ หรือถ้าไม่เป็นแบบนั้นคุณก็จะหาเงินได้มากๆ โดยทำงานแบบขายวิญญาณ แต่ผมไม่เชื่อในคำกล่าวเหล่านี้เลย ผมคิดว่าพอเราเริ่มทำกระบวนการ Designing Your Life มันก็ช่วยฮีลใจในการหลงทางตรงนี้ได้มาก
แล้วสำหรับตัวคุณเอง หลังจากค้นพบตัวตนว่าชอบงานดีไซเนอร์แล้ว มีช่วงไหนในชีวิตการทำงานที่รู้สึกหลงทางอีกไหม
ผมพบ wicked problem อีกอันในชีวิตเมื่อถึงวัยเกษียณ ผู้คนมักจะบอกว่าคุณควรเกษียนตอนอายุ 65 ปี พอจบการทำงานแล้วก็ควรออกไปทำอย่างอื่น ผมเคยพยายามคิดว่าผมจะทำอะไรต่อหลังเกษียณดี แม้จะมีคนบอกว่าควรเกษียณแต่ผมไม่อยากเกษียณและมันใช้เวลาพอสมควรในการตกตะกอนกว่าจะรีเฟรมมุมมองใหม่ได้
พอผมเข้าอายุ 66 ผมก็รู้สึกว่า เดี๋ยวนะ การต้องเกษียณตอนอายุเท่านี้เป็นความเชื่อผิดๆ อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้คนอายุยืนยาวขึ้น เราเลยออกแบบกระบวนการที่โฟกัสว่า what’s next เปลี่ยนคำถามจากควรทำอะไรหลังเกษียณ เป็นคุณอยากทำอะไรต่อในชีวิตถ้าคุณไม่ต้องกังวลกับเรื่องเงินทองมากมาย หรือถ้าคุณไม่ต้องกังวลว่าต้องเอาใจคนอื่นอีกต่อไปแล้วและคิดถึงสิ่งที่คุณพอใจ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่น่ากลัวสำหรับหลายคน
พอรีเฟรมมุมมองแล้ว ชีวิตคุณในวัยเกษียณเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน
ตอนแรกผมบอกเดวิดว่าจะทำอาชีพนี้ 10 ปีแต่ก็ทำมา 15 ปีแล้ว ปีที่แล้วผมเลิกทำงานประสานงานเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลายและตอนนี้ก็ทำเฉพาะส่วนที่สนุกเท่านั้น ผมมีตารางสอน 2 เทอมสลับกับหยุดพักอีก 2 เทอม และผมก็สร้างมูฟเมนต์ของ Designing Your Life ทั่วโลกในขณะนี้ ทั้งสถาบันที่สิงคโปร์และงานสอนที่ไทย ผมกำลังฝึกผลงานศิลปะของตัวเองอยู่ด้วย มีสตูดิโอศิลปะที่ทำอยู่ในตอนนี้เพราะผมไม่เชื่อว่าจะมีการเกษียณ ชีวิตที่สอนและทำงานศิลปะไปด้วยคือชีวิตของผมตอนนี้
สเตปแรกในการเปลี่ยนมายด์เซตเพื่อออกจากกับดักความเชื่อผิดๆ ในชีวิตคืออะไร
เดฟเคยพูดไว้ว่า “You can’t solve a problem you’re not willing to have.” หมายความว่าคุณต้องพร้อมที่จะลองสิ่งใหม่เพราะมันต้องใช้ความกล้านิดหน่อย มันน่ากลัวที่จะลองสิ่งใหม่แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะผูกมัดกับการลองทำสิ่งใหม่ ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
เราเลยออกแบบให้สเตปแรกในการออกแบบชีวิตคือการยอมรับ คุณต้องยอมรับก่อนว่าคุณพร้อมแล้วที่จะลงมือทำและเราก็จะแนะนำเสมอว่าเริ่มตั้งเป้าหมายเล็กๆ ก่อน เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ยังไม่ต้องลองสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทดลองใช้ชีวิตหลายเวอร์ชั่นก่อนที่คุณจะปักหลักกับมัน ผมไม่เชียร์ให้คิดว่าเราต้องสามารถเปลี่ยนทั้งชีวิตได้ภายในวันเดียวเพราะมันจะ crazy และเสี่ยงเกินไปเหมือนกับที่เราจะไม่ปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในวันเดียวแล้วคาดหวังว่าทุกคนจะชอบ
มีผู้คนมากมายที่พอเข้ามาในคลาส Designing Your Life แล้วรู้สึกตัน พวกเขาไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นตรงไหน ไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการอะไร ผมคิดว่าการไม่รู้เป็นสิ่งที่โอเค ทุกคนต้องเคยตันกันทั้งนั้น คุณแค่เริ่มต้นจากจุดที่คุณอยู่เพราะ design starts in reality แค่ต้องแน่ใจว่าคุณพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงก่อนและนั่นจะเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการทั้งหมด
ถ้ายังไม่รู้คำตอบของชีวิตว่าชอบอะไรหรืออยากไปทางไหนต่อแล้วจะออกแบบในสิ่งที่ไม่รู้ได้ยังไง
ตอนทำงานที่ Apple ทีมออกแบบก็ยังไม่รู้จักแล็ปท็อปว่ามันควรมีหน้าตายังไงแต่เราต้องคิดค้นมันขึ้นมา ผมรู้จักทีมที่คิดค้นไอโฟน ตอนแรกพวกเขาก็ไม่รู้ว่าไอโฟนควรมีหน้าตายังไงเหมือนกัน ไม่มีใครรู้จักสมาร์ตโฟนจนกระทั่งพวกเขาคิดค้นมันขึ้นมา ถ้าคุณไปอ่านประวัติของสตีฟ จอบส์ จะพบว่าทีมได้โชว์โปรโตไทป์ของไอโฟนถึง 3 ครั้งด้วยกัน และเขาก็ตอบว่า ผมคิดว่ายังไม่ผ่าน ลองทำมาใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง พวกเขาออกแบบมาหลายแบบและทดลองทำโปรโตไทป์หลายแบบอย่างต่อเนื่อง
พวกเราที่เป็นนักออกแบบจะรู้จากประสบการณ์ของเราว่าถ้าคุณอยากคิดค้นบางอย่าง สินค้าใหม่หรือสิ่งใหม่ในโลกนี้ที่ไม่เคยทำมาก่อน ทางเดียวที่จะคิดค้นมันออกมาได้คือการมี deep empathy (ความเข้าใจลึกซึ้ง) ในผู้คนที่คุณออกแบบสิ่งนั้นให้เขาและทดลองทำโปรโตไทป์จริงเพื่อทดสอบว่ามันเวิร์กไหม
คุณจะเห็นว่ามันคล้ายกันเวลาออกแบบชีวิต ตอนที่คุณกำลังคิดค้นตัวตนใหม่ของคุณในช่วงสำเร็จการศึกษา กำลังจะหางานใหม่หรือย้ายสายงาน ในตอนนั้นคุณก็ยังไม่มีดาต้าเกี่ยวกับตัวคุณเองในเวอร์ชั่นอนาคตเหมือนกัน คุณไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง ดังนั้นคุณก็เลยต้องการกระบวนการที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการสำรวจชีวิตและมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าทำออกมาแล้วมันจะเวิร์ก
หลายครั้งที่ผมถามผู้คนว่าถ้าคุณสามารถทำได้ทุกอย่างที่ต้องการ คุณจะออกแบบชีวิตของคุณให้เป็นยังไง คุณอยากได้อะไร แล้วพวกเขาก็ตอบว่า ไม่รู้ ผมตอบว่า That’s okay. คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เราจะออกเดินทางเพื่อค้นพบมันด้วยกันเพราะเราต่างก็ไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เราออกแบบจะมีหน้าตาเป็นยังไงเหมือนกัน เราแค่ยังไม่รู้ แต่ถ้าคุณเริ่มใช้ empathy เพื่อทำความเข้าใจตัวเอง นั่นแหละคือจุดเริ่มต้น
การมี empathy ช่วยให้คุณเป็นนักออกแบบที่ดีได้ยังไง
เวลาคุณคุยกับคน มันไม่ใช่แค่การสังเกตหรือทำรีเสิร์ชทางการตลาดแต่มันคือการสังเกตพฤติกรรมและชีวิตของผู้คนที่เรียกว่า deep ethnography ต้องบอกว่าคนที่มี empathy ที่ดีและชอบรู้จักผู้คนจะสามารถทำความรู้จักผู้คนได้อย่างรวดเร็วและสอบถามว่าผู้คนอยากได้อะไรได้ง่ายกว่า แต่สมมติว่าเราอยากออกแบบมือถือประเภทใหม่ ความเข้าใจผิดคือเราไม่ได้ออกไปถามคนอื่นว่าเขาต้องการอะไรแล้วออกแบบมันออกมาตรงๆ เพราะความจริงแล้วคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อาจจะมีคนตอบว่าอยากได้แบตเตอรีที่อยู่ได้นานกว่านี้ อยากได้หน้าจอที่สว่างกว่านี้ แต่พวกเขาจะจินตนาการอะไรก็ตามที่แตกต่างจากเดิมไม่ออก
มันเลยมีงานที่เราเรียกว่าดีไซเนอร์ซึ่งเป็นคนตั้งคำถามว่า “what would be the perfect next thing?” ในการหาคำตอบ เราต้องคิดค้นและทำโปรโตไทป์ร่วมกันกับผู้ใช้ (user) เรียกว่ากระบวนการ co-create มันคือมายด์เซตที่เรียกว่า radical collaboration คุณไม่รู้ว่าคุณต้องการอะไรแต่มันก็โอเคที่จะไม่รู้ แค่ลองพูดคุยกับคนอื่นและลงมือทำแล้วเราก็จะรู้ว่าอะไรเวิร์กหรือไม่เวิร์กบ้าง
การใช้ empathy เพื่อทำความเข้าใจตัวเองในการออกแบบชีวิตมีเทคนิคแตกต่างกับการออกไปทำความเข้าใจคนอื่นยังไงบ้าง
มันเป็นกระบวนการเดียวกัน แตกต่างกันแค่เวลาที่ออกแบบชีวิตคุณใช้ empathy เพื่อทำความเข้าใจตัวเองว่าคุณต้องการอะไร คุณรีวิว life view และ workview ของคุณแล้วหาเข็มทิศ (compass) ในเส้นทางของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมี empathy กับโลกใบนี้ด้วยเหมือนกันเพราะในบรรดาสิ่งที่คุณชอบอาจไม่ใช่สิ่งที่โลกพร้อมจ่ายเงินให้คุณก็ได้ คุณอาจจะชอบสะสมแสตมป์ สะสมผีเสื้อสตัฟ ชอบเขียนกลอนซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่คนบนโลกอาจไม่พร้อมจ่ายเงินให้แพสชั่นเหล่านี้ของคุณก็ได้ ดังนั้นเมื่อพูดถึงทั้งชีวิต ไม่ใช่แค่งาน คุณเลยต้องออกแบบชีวิตโดยคำนึงถึงสิ่งที่โลกต้องการด้วย คุณต้องตั้งคำถามใหม่จนกว่าจะเจอสิ่งที่เวิร์กกับคุณและสร้างโปรโตไทป์ให้ได้มากที่สุดเหมือนกับตอนสร้างผลิตภัณฑ์
แล้วคนเราจะทดลองสร้างโปรโตไทป์เส้นทางชีวิตเพื่อก้าวข้ามความไม่รู้ยังไงได้บ้าง
เริ่มจาก “Stop thinking. Go out in the world. Try something.” วิธีได้อินไซต์ในชีวิตของคุณเริ่มจากอ่านบทความหรือพบผู้คนและฟังคนเหล่านั้นเล่าว่าเขาทำอะไร พอเราเกิดความอยากรู้ อยากค้นหาเพิ่ม เราก็จะก้าวข้ามความกลัว ความอายหรืออะไรก็ตามในการถามคำถามคนอื่น และคนอื่นก็จะให้คำแนะนำคุณต่อว่า ไปคุยกับคนนี้สิ หรือไปที่แล็บนี้สิแล้วไปดูว่าคนอื่นทำสิ่งที่คุณอยากทำกันยังไง ทันทีที่คุณเริ่มลองทำโปรโตไทป์ด้วยการออกไปมีบทสนทนากับผู้คนหรือลองประสบการณ์ใหม่ๆ คุณจะรู้สึกว่ามันมีอะไรมากกว่าที่คุณคิดในตอนแรก หรือบางอย่างที่คุณคิดในหัวว่าน่าสนใจ พอลงมือทำจริงๆ อาจไม่ได้น่าสนใจอย่างที่คิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอินไซต์ที่น่าสนใจเวลาออกแบบชีวิต เพราะผมเป็น curious kid ที่อยากรู้และไม่เคยโตทำให้พลังแห่งความกระตือรือร้นในการอยากรู้สิ่งใหม่สามารถเอาชนะทุกอย่างได้
ความจริงแล้วเวลาที่คนรู้สึกว่าหลงทางหรือกำลังถึงทางตันมันเป็นเพราะความกลัวที่จะลงมือทำ กลัวที่จะลองสิ่งใหม่ สิ่งที่ผู้คนเข้าใจผิดคือพวกเขาคิดว่าจะสามารถอ่านหนังสือหรือแค่ได้ยินบางอย่างแล้วเกิดไอเดียออกมาเป็นดีไซน์ใหม่ได้เลยแต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ ชื่อหนังสือคือ Designing Your Life ที่พูดเกี่ยวกับกระบวนการว่าคุณจะสร้างชีวิตคุณและทดลองใช้ชีวิตได้ยังไง มันไม่ใช่แค่เรื่องความคิด มันคือการลงมือสร้างและลงมือทำและผมเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็น maker ได้
ถ้าคุณเรียนวิธีคิดและ tool เหล่านี้ ปัจจัยภายนอกจะกระทบคุณยาก เพราะคุณเช็กกับตัวเองตลอดอยู่แล้ว คุณสังเกตโลกนี้อยู่แล้วว่าอะไรกำลังจะมาและกำลังจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง คุณปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนไปก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ด้วยวิธีคิดแบบนี้คุณจะไม่กลัวถ้า AI เข้ามา เพราะคุณต้อนรับมัน คุณจะไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงแต่สงสัยใครรู้เกี่ยวกับมัน คุณออกแบบชีวิตคุณก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง นี่เป็นวิธีคิดที่ทำให้พร้อมปรับเปลี่ยน คุณอาจจะไม่สามารถคาดการณ์เรื่องในอนาคตได้ทุกอย่างก็จริงแต่คุณก็จะสามารถคาดคะเนได้หลายอย่าง ผมหมายถึงว่าถ้าคุณนั่งอยู่เฉยๆ แล้วคิดว่า AI จะมาแย่งงานคุณไป คุณก็อาจจะถูก คำถามคือคุณจะทำยังไงเพื่อออกแบบชีวิตคุณ จะรอให้มันมาเปลี่ยนคุณเหรอ ถ้าคุณยอมรับให้ทุกสิ่งมาเปลี่ยนคุณได้ ผมเรียกมันว่า default life แต่ถ้าคุณมีมายด์เซตของดีไซเนอร์ มันจะไม่ใช่ fixed mindset แต่เป็น growth mindset และ creative mindset
คุณคิดว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์กับการออกแบบชีวิตมีความแตกต่างกันยังไง
ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผลลัพธ์สุดท้ายคือผลิตภัณฑ์ในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ช่วงเวลานี้มีไอโฟน 15 ออกมา ตอนนี้มีนวัตกรรมทางการแพทย์ในแวดวงศัลยกรรมออกมาและผลิตภัณฑ์นั้นจะมีช่วงชีวิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่จะมีนวัตกรรมใหม่ออกมา ดังนั้นในการออกแบบสิ่งของ มันจะมีปัญหาและวิธีแก้ปัญหาแต่ในการออกแบบชีวิต มันค่อนข้างเป็นกระบวนการมากกว่า ผลิตภัณฑ์เป็น a fix thing in time แต่คุณไม่ได้ถูก fix in time คุณเป็นมนุษย์ที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณมีความชอบในบางสิ่งและวันหนึ่งคุณก็ไม่ได้ชอบมันอีกต่อไปแล้ว เมื่อผ่านระยะเวลาไปพักหนึ่ง คุณก็จะอยากได้ความหลากหลาย บางคนก็ชอบทำสิ่งเดิมซ้ำๆ และอยากทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ และผมก็เคารพคนที่ทำแบบนั้น นั่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน โลกต้องการ master craftsman ที่ทำสิ่งเดิมที่ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้น คุณก็ยังต้องเรียนรู้การทำสิ่งเดิมให้ดีขึ้น
เมื่อพูดถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผมได้ออกแบบมาหลายอย่างแล้ว ก็มีทั้งสิ่งที่สำเร็จและไม่สำเร็จมากมายนัก เวลาที่ผลิตภัณฑ์ไม่ประสบความสำเร็จ ก็แค่เสียเงินไปในตลาด มันอาจจะเป็นเรื่องซีเรียสแต่ไม่ได้ส่งผลวิกฤตกับชีวิต แต่เวลาเราออกแบบชีวิต เรากำลังพูดถึงสิ่งที่จริงจังว่าเราจะใช้ชีวิตยังไง ใครจะเป็นพาร์ตเนอร์ในชีวิตเรา เราจะมีลูกกี่คน ถ้าผลิตภัณฑ์ไม่เวิร์กก็แค่เสียเงิน แต่ถ้าคุณลองบางอย่างแล้วมันไม่เวิร์ก อาจจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป ดังนั้นเราเลยต้องระมัดระวังในการออกแบบชีวิต ผมเลยคิดว่าการออกแบบชีวิตนั้นมีความเซนซิทีฟกว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์และเราต้องออกแบบมันอย่างระมัดระวัง เพราะคุณคงไม่อยากพลาดให้เกิดการออกแบบที่ผิดทำให้ชีวิตคุณตกอยู่ในภาวะน่ากังวลต่อครอบครัวและเพื่อนของคุณ
ถ้าชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแล้วคุณคิดว่าคนเราควรบาลานซ์ระหว่างการทดลองทำหลายอย่างในชีวิตกับการโฟกัสในสิ่งเดียวยังไง
ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังอยู่ในฤดูกาลไหนของชีวิต มันจะมีช่วงเวลาในชีวิตที่คุณคิดค้นตัวตนใหม่ของคุณและก็จะมีช่วงเวลาที่คุณลงลึก โฟกัสทำสิ่งนั้นสิ่งเดียวออกมาให้ดีที่สุดและทำมันซ้ำๆ ให้ดีขึ้น ตอนที่ผมตัดสินใจเข้าสู่สายวิชาการเต็มเวลา ผมไม่ได้คิดถึงเส้นทางสายอาชีพอื่นเลย เป็นเวลาสิบปีที่ผมพยายามทำโปรแกรมการเรียนที่ดีที่สุดในประเทศกับสแตนฟอร์ด ตอนแรกผมมีนักเรียนที่เรียนจบ 50 คนต่อปี แล้วผมก็ขยายเป็น 100 คนต่อปี แล้วผมก็มีนักเรียนหลักพันคนภายใน 10 ปี ช่วงเวลานั้นผมไม่ได้คิดถึงเส้นทางอื่นเลยเพราะกำลังตื่นเต้นกับสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างมาก ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด ผมถึงค่อยเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ และเริ่มออกแบบชีวิตใหม่ให้บาลานซ์ขึ้นกับสิ่งอื่นๆ ที่อยากจะทำ
ผมเคยเห็นนักเรียนของผมที่ทำงานหนึ่งในช่วงเวลาไม่กี่ปีแล้วก็ลาออก จากนั้นก็เปลี่ยนงานโดยใช้เวลาอีกไม่กี่ปีแล้วก็ลาออกอีก ผมถามพวกเขาว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ เขาบอกว่า ผมทำสิ่งนี้และทำมันได้ดีแล้วแต่ถูกบอกให้ทำซ้ำๆ ผมบอกพวกเขาว่าการทำซ้ำนี่แหละที่ทำให้เกิด mastery คุณจะทำได้ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคุณทำซ้ำ ถ้าคุณทำสิ่งใหม่ตลอดเวลา มันจะไม่ยั่งยืน
เฟรมเวิร์กหนึ่งในหนังสือคือ Odyssey Plan มันคือการให้คุณคิดไอเดียทางเลือกในการใช้ชีวิต 3 แบบแทนที่จะแพลนแผนการชีวิตมาแบบเดียว วิธีนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้คุณเกิดความคิดสร้างสรรค์ ลองนึกถึงเวลาผู้คนวางแผนการชีวิตที่บ้าบิ่น มันไม่ใช่ว่าเราอยากให้เขาออกจากงานและทำสิ่งนั้นแต่เพื่อให้ลองคิดถึงไอเดียในการใช้ชีวิตที่ไม่มีกรอบและข้อจำกัด เวลาที่เราคิดอยู่ในกรอบและข้อแม้ เราจะออกแบบชีวิตอย่างธรรมดา แต่ถ้าเราอยากได้คำตอบที่แตกต่างและพิเศษ เราก็ต้องคิดให้แตกต่าง ดังนั้นเป้าหมายของ Odyssey ไม่ใช่ให้คนออกแบบแผนการทั้งสามแบบใหม่ตลอดเวลาและทดลองอะไรใหม่เสมอ แต่เพื่อให้นึกถึงเส้นทางที่กว้างขึ้นก่อนที่พวกเขาจะลงมือทำหรือโฟกัสกับมัน
แล้วเมื่อไหร่คือจังหวะเวลาที่เหมาะในการออกแบบชีวิตใหม่
ทางจิตวิทยา มันมีสิ่งที่เรียกว่า life stage theory ที่บอกว่า ณ จุดหนึ่งของชีวิต จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นตามโครงสร้างของสังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่รอบหนึ่งคือตอนจบไฮสคูลแล้วไปมหาวิทยาลัย แล้วก็ตอนเรียนจบแล้วเริ่มทำงาน มันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เฟสหนึ่งของชีวิต เพราะคุณกำลังเติบโตเป็นคนที่พึ่งพิงตัวเองโดยไม่ได้อยู่กับครอบครัวอีกต่อไป และก็มีแนวโน้มจะมีอีกครั้งตอนที่คุณอยู่ในช่วงอายุ 30 และ 40 ที่ทำงานมา 10-20 ปีแล้ว และเริ่มตั้งคำถามว่าชีวิตมีแค่นี้เหรอ เราอยากได้อะไรมากกว่านี้ไหมหรืออยากเปลี่ยนอะไรไหม นั่นคือสิ่งที่ผู้คนเรียกมันว่า midlife crisis แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่วิกฤต มันแค่เป็นช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่คุณตั้งคำถามที่ลึกขึ้นกับตัวเองว่าอะไรคืองานที่มีความหมายจริงๆ สำหรับคุณ อะไรคือความหมายของชีวิตคุณ แล้วมันก็จะมีช่วงที่คุณมีครอบครัว มีลูก คิดเกี่ยวกับการเกษียนหรือเลิกทำงานซึ่งเข้าสู่อีกเฟสหนึ่งของชีวิต เราเลยมีเวิร์กช็อปชื่อ career 1.0 สำหรับเริ่มต้นชีวิตการทำงาน มีเวิร์กช็อปชื่อ The Mid-Career Tune-Up สำหรับคนที่อยากทำให้ชีวิตดีขึ้น เรากำลังจะมีเวิร์กช็อปที่สิงคโปร์ชื่อ Designing Your Longevity เพื่อค้นหาว่าคุณอยากทำอะไรเมื่อคุณรีไทร์ นี่คือ 4 milestone big แห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงชีวิตของทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัฒนธรรมแบบไหน
แต่ผมคิดว่ามันยังมี micro moment เล็กๆ ที่คุณอาจจะแค่รู้สึกเบื่อ คุณลงเอยกับการทำงานในสายที่เรียนมาเพราะคุณรู้สึกว่ามันใช้ความรู้จากที่เรียนมาได้จริง หรือคุณทำงานมา 5-6 ปีแล้วโดยไม่เห็นผลอะไรและคุณทนกับมันไม่ได้อีกต่อไป ช่วงเวลาเหล่านี้คุณก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงและตั้งคำถามว่าจะออกแบบให้การทำงานฟิตกับชีวิตคุณได้ยังไงเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาคุณอาจเลือกบางอย่างโดยที่มันไม่เวิร์กกับคุณ หรือบางทีคุณไม่ได้เป็นคนเลือกมันแต่ครอบครัวเลือกให้คุณหรือคุณเลือกเพราะสังคมบอกว่าคุณควรเป็นทนายหรือหมอ
ยกตัวอย่างคนรู้จักที่ออกแบบชีวิตได้อย่างประสบความสำเร็จให้ฟังหน่อยได้ไหม
เพื่อนผมชื่อทิม ผมเล่าถึงเขาอยู่ในหนังสือ Designing Your Life เล่มแรกและไม่ได้บอกชื่อเต็มจริงๆ ของเขาให้ใครรู้เพื่อเก็บตัวตนของเขาเป็นความลับ เขาเป็น natural life designer เป็นวิศวกรที่เก่งมากและมีความสามารถ ในช่วงแรกของการทำงาน เขาทำสตาร์ทอัพและทำงานหนักมาก แม้ธุรกิจจะประสบความสำเร็จแต่เขากลับรู้สึกเหมือนชีวิต 3 ปีของเขาขาดหายไปกับการทำงานร้อยชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อหาเงินในบริษัทที่ห้าปีต่อจากนี้อาจไม่มีใครรู้ว่ามีตัวตนอยู่ ดังนั้นทิมเลยรีเซตชีวิตทั้งหมดของเขา เขาปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่ง ไม่ต้องการรับเงินเดือนและหน้าที่เพิ่ม ผู้คนคิดว่าเขาฉลาดมากแต่เขาไม่มีความทะเยอทะยานจะได้ตำแหน่งสูงขึ้นอีกแล้ว พอเขาเริ่มสร้างครอบครัว เขาก็บอกว่าต่อไปนี้สิ่งที่ผมจะให้ความสำคัญอันดับแรกคือครอบครัวและลูก งานมาอันดับสอง ถ้างานมากระทบ ผมจะเปลี่ยนงาน ด้วยวิธีคิดนี้ทำให้เขามีความสุขมาก หลังจากหนังสือที่เล่าเรื่องเขาเผยแพร่ออกไป บริษัทของทิมก็อยู่ในช่วงขาลงและเขาถูกปลด เขาถามผมว่าเขาจะทำยังไงดี ผมบอกว่าคุณก็แค่หางานใหม่และวิธีที่คุณจะตามหามันคือการเน็ตเวิร์กกับผู้คน ทิมเลยพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่เขาเคยทำงานด้วยอย่าง Senior Manager และ Vice President ที่เชื่อว่าทิมเป็นคนที่ดี คนเหล่านั้นแนะนำงานใหม่ให้ทิมและทิมก็ได้ทำงานที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เขากลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่ผมเคยเจอในสายงานของเขา ทุกวันนี้ทิมมีความสุขมากและมีสมดุลในชีวิต ทำงาน 39.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และไม่เคยเอางานกลับมาทำที่บ้านเลย ไม่เคยตอบอีเมลวันหยุดสุดสัปดาห์และสนับสนุนครอบครัวได้เต็มที่โดยไม่มีความทะเยอทะยานในการวิ่งไล่ตามในสิ่งที่ผู้คนส่วนมากวิ่งไล่ตามค่านิยมสังคมแล้วทรมาน
อีกตัวอย่างของคนที่ผมรู้จักคือ Mark Wee เขาเป็น Head of DesignSingapore Council ซึ่งเป็นครีเอทีฟเอเจนซีของรัฐบาลสิงคโปร์ เขาทำงานสนับสนุนและโปรโมตงานดีไซน์ในสิงคโปร์เพื่อผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เขายังทำโรงเรียนสอน design thinking ให้บริษัทต่างๆ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก และทำ Designing Your Life Institute กับผมที่สิงคโปร์ด้วย เขามีช่วงที่ลังเลว่าจะทำงานให้องค์กรรัฐต่อไปดีไหม ผมแนะนำเขาว่าลองเขียนสิ่งที่คุณอยากทำทั้งหมดแล้วส่งมาให้ผม เขาอยากเป็นทั้งศิลปิน สถาปนิก และยังมีเป้าหมายในการสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์ ผมวงสิบสิ่งที่คิดว่าตำแหน่ง Executive Director ควรทำให้เขา แล้วบอกเขาว่าคุณสามารถทำสิ่งที่คุณอยากทำได้ทุกอย่างไปพร้อมๆ กันเพราะ all design is yours คุณทั้งสามารถดูแลสถาบันให้ผมและคุณก็สามารถผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยที่ไม่มีโครงสร้างแบบราชการไปด้วยได้ ตอนนี้มาร์กเลยเป็นทั้ง Executive Director ของ Designing Your Life Institute ให้โปรแกรมผมและเพิ่งเปิดตัวคอลเลกชั่นแรกของเสื้อผ้าเด็กของแบรนด์เขาเอง ผมคิดว่าคนที่มีความสามารถในอายุเท่าเขา การทำอย่างเดียวจะเป็นการลดความสามารถมากมายที่มีอยู่ในตัวเขาเกินไป
การคิดค้นศาสตร์ Designing Your Life สร้างอิมแพกต์ต่อชีวิตตัวคุณเองยังไงบ้าง
ทันทีที่เราเริ่มออกแบบกระบวนการ ผมก็พบว่าผมออกแบบชีวิตใหม่และรีเฟรมมันตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมพยายามหาทางที่จะเป็นคนที่มีความสุข โปรดักทีฟ และมีเหตุผลมาตลอดเพราะผมไม่อยากเป็นคนทำงานที่โกรธขึ้งกับชีวิต ผมเคยรู้สึกว่าผมอยากทำงานที่ไม่มีอยู่บนโลกนี้แล้วผมก็แก้ปัญหานั้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องด้วยการทดลองใช้ชีวิตในหลายเวอร์ชั่น มันทำให้ทุกวันนี้ผมมีครอบครัวและเลี้ยงลูกหลานได้อย่างมีความสุข และผมก็พบภรรยา Cynthia ที่เป็นผู้หญิงแสนวิเศษ ทุกวันนี้เธอเป็นนักธุรกิจที่คิดแบบดีไซเนอร์ และเราสองคนต่างก็หาทางของเราเองที่จะใช้ชีวิตแบบที่เราอยากได้ไปด้วยกัน มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์
ตอนนี้ผมเพิ่งเป็น grandfather ด้วย ขอแนะนำให้รู้จักกับหลานสาวของผมชื่อคลาร่า คุณก็รู้ว่าในการออกแบบชีวิตมีหลักที่สำคัญคือควรโฟกัสในสิ่งสำคัญ และผมคิดว่า Nothing is more important than a new life. (ไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าการออกแบบชีวิตใหม่อีกแล้ว)
ขอบคุณภาพจาก Stanford Life Design Lab และ Designing Your Life