นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Soy Story

Beanila จากน้ำเต้าหู้ถุงละ 5 บาทสู่คาเฟ่สารพัดเมนูน้ำเต้าหู้ที่อยากทำให้ของ niche แมสได้

แม้เทรนด์สุขภาพและอาหารทางเลือกจะมาแรงแซงทางโค้ง หลากหลายแบรนด์ในไทยและต่างประเทศต่างผลิตสินค้าทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพออกมาตีตลาดกันมากมาย ตั้งแต่เนื้อจากพืช หรือจะเป็นนมแพลนต์เบส อย่างนมโอ๊ตที่โด่งดังในช่วงที่ผ่านมา ไปจนถึงนมจากถั่วเหลือง

แต่พูดก็พูด ความอร่อยและความคุ้นชินของคนทั่วไปยังทำให้กลุ่มคนที่เลือกทานอาหารทางเลือกเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้น ด้วย pain point ของอาหารทางเลือกที่มักจะราคาสูงกว่า และยังแอบทานยากในบางเมนู

เมื่อได้ลองชิมน้ำเต้าหู้และสารพัดเมนูของคาวและของหวานจากน้ำเต้าหู้ของคาเฟ่น้ำเต้าหู้อย่าง Beanila เราถึงกับต้องเปลี่ยนความคิด เพราะรสชาตินั้นทานง่าย มีเมนูให้เลือกหลากหลาย แถมยังเลือกระดับความหวานและท็อปปิ้งได้ตามใจ ส่วนราคาก็เทียบเท่าหรือน้อยกว่าเมนูที่ทำจากนมวัวด้วยซ้ำ

เพราะความตั้งใจของ ใหม่–ธนพนธ์ ม่วงเเดงดี และ มาย–ณัฐชยา ม่วงแดงดี คือการทำให้น้ำเต้าหู้หรือผลิตภัณฑ์จากนมถั่วเหลืองเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนได้จริง ทั้งยังเป็นการสานต่อความตั้งใจของคุณพ่อ ผู้ที่เริ่มทำน้ำเต้าหู้ขายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

“ทุกธุรกิจมีโอกาส เพียงแต่เราเลือกได้ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ ถ้าจะทำก็ทำให้เต็มที่ เหมือนกับที่คุณพ่อบอกเราสองคนเสมอว่าถ้าอยากทำอะไรทำให้มันเต็มที่ไปเลย อย่าทำแบบครึ่งๆ กลางๆ” มายบอกอย่างนั้น

นั่นเป็นที่มาว่าทำไมทั้งคู่ถึงจริงจังกับการทำให้น้ำเต้าหู้ธรรมดาๆ มีระบบและมาตรฐานมากขึ้น เพื่อพลิกภาพจำและทำให้คนเข้าใจว่าน้ำเต้าหู้คุณภาพนั้นสร้างมูลค่าได้มากกว่าถุงละ 5 บาท และเป็นที่มาที่เรานัดสนทนากับสองพี่น้องถึง Soy Stories ในแบบฉบับของ Beanila 

ความพยายามครั้งที่ 3

กว่าจะมาเป็นแบรนด์น้ำเต้าหู้และสารพัดเมนูจากน้ำเต้าหู้นั้น มายและใหม่เล่าว่า Beanila ผ่านมาเยอะ เจ็บมาเยอะ ตั้งต้นจาก 20 ปีที่แล้ว พ่อของทั้งคู่ขายน้ำเต้าหู้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่ด้วยราคาขายเพียงถุงละ 5 บาท กำไรที่ได้จึงไม่เพียงพอนักจนต้องเปลี่ยนอาชีพไป 

ก่อนจะกลับมาขายอีกครั้งช่วงที่เทรนด์สุขภาพและอาหารคลีนกำลังมาแรง แต่แม้จะขายที่ราคา 25 บาทต่อขวด ก็ยังไม่มากพอที่จะสร้างกำไรได้

“หลังเลิกงาน คุณพ่อจะเริ่มทำน้ำเต้าหู้ ทำเสร็จก็ประมาณเที่ยงคืนตีหนึ่ง กว่าจะเอาไปส่งตามโรงพยาบาลเสร็จก็ตีห้า เขาก็ต้องเข้างานต่อ คุณพ่อเลยเริ่มไม่ไหวจนต้องขายกิจการให้เพื่อนไป” มายย้อนเล่าเหตุการณ์

แต่เหมือนเทวดาฟ้าลิขิต แม้จะเลิกกิจการไปแล้ว 2 ครั้ง รุ่นลูกอย่างมายและใหม่ กลับมีไอเดียสานต่อธุรกิจในช่วงโควิด-19 ระบาด ด้วยข้อจำกัดในการทำงานช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ที่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นประจำแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะรุนแรง ใหม่ที่ทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีตัดสินใจลาออกจากงานแล้วกลับมาตั้งต้นกับธุรกิจน้ำเต้าหู้ ส่วนมายที่เพิ่งเรียนจบก็ตัดสินใจร่วมทำน้ำเต้าหู้กับพี่ชายอีกครั้ง แม้ทั้งคู่จะไม่มีประสบการณ์ด้านการทำอาหารเลยสักนิด

“คุณพ่อก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะเราสองคนไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย เขาก็ย้ำว่าทำอาหารมันเหนื่อยนะ” มายว่าอย่างนั้น ก่อนที่ใหม่จะเสริมว่า

“แต่เรามองว่ามันน่าจะมีโอกาสและน่าจะไปได้มากกว่านี้ เพราะมันก็มีคนที่เขาทานนมวัวไม่ได้ แล้วในต่างประเทศ ธุรกิจนมทางเลือกจากพืชก็มีอยู่เยอะ”

และความพยายามครั้งที่ 3 ของการทำธุรกิจน้ำเต้าหู้ก็เริ่มต้นขึ้น

หน้าร้านที่พร้อมสื่อสารกับลูกค้า

แรกเริ่มทั้งคู่นำน้ำเต้าหู้ไปฝากขายตามร้านอาหารสุขภาพและโรงพยาบาล กิจวัตรคือเริ่มส่งของตั้งแต่ตี 3 ก่อนจะจบที่เวลา 2 ทุ่ม รวมๆ แล้วในแต่ละวันทั้งคู่ต้องส่งของไปกว่า 20 ร้าน เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบ ค่าน้ำมัน รวมถึงค่าเสียเวลา แต่ละเดือนจึงได้เพียงหนึ่งหมื่นบาท และนั่นเองจึงทำให้ทั้งคู่มองเห็นแนวทางธุรกิจ

“ตอนนั้นอาศัยกินเงินเก็บและกินข้าวที่คุณพ่อทำให้ที่บ้าน” ใหม่เล่าพลางหัวเราะ ก่อนอธิบายว่าแม้การขายส่งจะมีข้อดีสำหรับคนที่มีทุนน้อย แต่ก็มีข้อพึงระวังที่ต้องใส่ใจไม่น้อย

“อย่างแรกเลยคือเราเอาของไปวางตามร้านอาหารสุขภาพ คู่แข่งก็ต้องหลากหลาย วันนี้เขาอาจจะชอบของเรา แต่พรุ่งนี้ลูกค้าอาจจะอยากไปซื้อของคนอื่นแล้ว อย่างที่สอง คือบางทีเราไม่รู้ว่าลูกค้าจะอยากกินวันไหน หรือช่วงไหนเขาจะออกไปต่างจังหวัด ของที่ตีกลับมามันเลยเยอะมาก 

“และอย่างที่สาม สำคัญที่สุดเลยคือพอเราฝากขาย เราไม่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้เลยว่าของเราแตกต่างยังไง เราไม่รู้ว่าลูกค้าคือใคร ไม่รู้ฟีดแบ็กจากเขาว่าเราจะพัฒนาหรือทำอะไรต่อไป ตรงข้าม ถ้าเรามีแบรนด์ มีหน้าร้านของตัวเอง แค่เขาเข้ามาร้าน เราก็สามารถแนะนำได้ทันที

“เช่น น้ำเต้าหู้เราทำจากถั่วเหลืองร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เขาสบายใจได้ว่ามันดีต่อสุขภาพ หรือเต้าหู้ก้อน ถ้าเอาไปวางตามร้านอื่นๆ เขาคงนึกไม่ออกว่าจะซื้อไปทำอะไร แต่พอเรามีหน้าร้าน เราอธิบายได้เลยว่าลูกค้าเอาไปทำเป็นเมนูยำ สลัด หรืออูด้งได้นะคะ” มายเล่าประสบการณ์ 

การเปิดหน้าร้านยังทำให้พวกเขาได้อินไซต์จากลูกค้าอยู่เสมอ หลายครั้งก็เปิดให้ลูกค้าช่วยเทสต์เมนูใหม่ และกลายเป็นว่าเมนูที่ลูกค้าแนะนำกลับขายดีเกินกว่าที่คิด สิ่งเหล่านี้เองทำให้ทั้งคู่มองว่าการสื่อสารกับลูกค้าที่หน้าร้านได้โดยตรงสำคัญยิ่งกว่าอะไร

“เหมือนเวลาเราโทรไปเบอร์คอลเซ็นเตอร์ เราก็อยากจะคุยกับคนจริงๆ ไม่ใช่ AI มันเป็นแบบนั้นเลย” ใหม่อธิบายพลางหัวเราะ

เพราะข้อจำกัดด้านการสื่อสารและอยากเติบโตมากกว่านี้ ไอเดียการเปิดหน้าร้านของมายและใหม่ จึงค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างและกลายมาเป็นร้าน Beanila ที่เรานั่งสนทนากันตรงนี้

สินค้าหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

ย้อนกลับไปช่วงตั้งต้นไอเดียการเปิดคาเฟ่ มายและใหม่มองว่ากลุ่มลูกค้าของทั้งคู่น่าจะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ คนทำงานที่แม้จะเวิร์กฮาร์ดแค่ไหนก็ต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ แต่การเปิดหน้าร้านนี่แหละที่ทำให้ทั้งคู่ได้บทเรียนสำคัญ

“เราคิดผิดทั้งหมดเลย กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ที่สำคัญ คนที่เขาซีเรียสเรื่องสุขภาพมากๆ เขาจะเลือกวัตถุดิบเอง ทำอาหารทานเอง มากกว่าจะมาซื้อร้านนอกบ้าน”​ มายบอก

นั่นเป็นที่มาที่แต่เดิมมีเพียงเมนูน้ำเต้าหู้และเต้าฮวยที่เป็นตัวชูโรงของร้าน ทั้งคู่จึงเริ่มมองว่าน้ำเต้าหู้นั้นสามารถนำไปทำเป็นเมนูอะไรได้อีกบ้างที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จะทานได้ในชีวิตประจำวัน 

“เด็กก็ต้องทานได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องทานได้ คนออกกำลังกาย คนสูงวัยต้องทานได้หมด หรือถ้าไม่ชอบน้ำเต้าหู้เราก็มีเมนูที่เลือกใส่นมแทนได้ เบเกอรีเราก็ไม่ได้เป็นเบเกอรีคลีน เรียกว่าเราต้องกระจายกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญต้องอร่อย เพราะเราไม่ได้อยากให้คลีนจนเข้าถึงยาก แต่อยากให้ทานได้ทุกวัน” มายอธิบาย

ความหลากหลายจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์เมนูของ Beanila ถ้าเราไปดูใบเมนูที่หน้าร้านจะเห็นว่าทั้งคู่ขยันออกเมนูใหม่มากทีเดียว ไม่ว่าจะเต้าฮวยบัวลอยทรงเครื่อง ซอฟต์เสิร์ฟ ชา กาแฟ และเร็วๆ นี้ก็จะมีเจลาโต้ และบิงซูซึ่งมีส่วนผสมของน้ำเต้าหู้  

ยังไม่พอ แต่ละเมนูยังมีหลายรสชาติและหลายท็อปปิ้งให้เลือกจับคู่ อย่างน้ำเต้าหู้ก็มีทั้งน้ำเต้าหู้ธรรมดาที่เลือกระดับความหวานได้ น้ำเต้าหู้รังผึ้ง น้ำเต้าหู้มันม่วงคาราเมล ฯลฯ เมนูเต้าฮวยบัวลอยทรงเครื่องก็มีให้เลือกว่าจะทานเย็นหรือร้อน ทานกับน้ำเต้าหู้ น้ำเชื่อมตาลโตนดดอกหอมหมื่นลี้ หรือจะเป็นน้ำขิงเข้มข้นก็ได้ทั้งนั้น 

นอกจากนั้น ยังมีเมนูของคาวอย่างเกี๊ยวหมูซุปเต้าหู้และนาเบะ รวมถึงยังมีเมนูหลักๆ และเมนูที่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์ เพื่อเพิ่มความสดใหม่และทำให้ลูกค้าประจำมีอะไรให้ทดลองอยู่เสมอ

“แม้เราจะเน้นความหลากหลาย แต่ในความหลากหลายนั้นมันผ่านการรคัดเลือกวัตถุดิบที่ดี และเน้นการทำเองเกือบทุกขั้นตอน อย่างบัวลอย ซอสงา ซอสขิง โคนไอศครีม ฯลฯ เราก็ทำเองทั้งหมด หรืออย่างท็อปปิ้งของน้ำเต้าหู้เราก็อาจจะไม่ได้มีมากเท่าร้านทั่วไป แต่เราคัดมาแล้วว่าไม่ว่าจะกล้วยเบิร์น ถั่วตัด วุ้นใบเตย หรือข้าวโพดย่าง ฯลฯ มันเข้ากันได้ดีและมันดีต่อสุขภาพจริงๆ” มายอธิบาย 

ด้านหน้าร้านยังมีตู้แช่สำหรับ Grab&Go เพราะลูกค้าบางคนแค่อยากเข้ามาซื้อเต้าหู้ก้อน น้ำขิง หรือน้ำเต้าหู้ ฯลฯ กลับไปทำอาหาร ไม่ได้อยากนั่งคาเฟ่ ความหลากหลายเหล่านี้เองที่ทำให้ลูกค้าของ Beanila นั้นมีหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มครอบครัว วัยรุ่น วัยทำงาน คนรักสุขภาพ หรือคนสูงอายุ 

“แม้ตอนแรกกลุ่มลูกค้าสูงอายุจะไม่เข้าใจว่าทำไมน้ำเต้าหู้ถึงราคาสูงกว่าคนอื่น หรือทำไมต้องทำเป็นคาเฟ่ แต่พอเราอธิบายและเราก็มีสินค้าที่ตอบโจทย์เขาได้ เขาก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำ บางทีก็จะมีกลุ่มคุณป้ามานั่งปาร์ตี้ในร้านด้วย” มายเล่าพร้อมรอยยิ้มก่อนสรุปให้ฟังว่า

“การวางคอนเซปต์ วางกลุ่มลุกค้า วางอะไรต่างๆ เชิงธุรกิจมันสำคัญ แต่สุดท้าย ถ้าเรายังไม่ได้ลงสนามจริง เราอย่าเพิ่งตีกรอบให้ตัวเองเพราะทุกอย่างมันเป็นการเรียนรู้จากหน้างาน และธุรกิจมันไม่มีอะไรตายตัว” 

ระบบที่ดีสำคัญกับการเติบโต

หากเดินเข้ามาภายในร้าน Beanila เชื่อว่าสิ่งที่เตะตาและดึงดูดใจหลายคนน่าจะเป็นเครื่องจักรขนาดมหึมาที่ตั้งเด่นเป็นสง่าในห้องกระจกด้านขวามือ ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำหรับทำน้ำเต้าหู้ที่เราได้ชิมกันไป

“ตั้งแต่คิดจะทำร้าน เราก็ตั้งใจเลยว่าจะต้องเอาเครื่องจักรมาตั้งให้ลูกค้าดู เรายังมีเครื่องจักรสำหรับทำเต้าฮวย บิงซู และอีกหลายอย่าง ที่ให้ลูกค้าเห็นเลยว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นยังไง เพราะเราอยากสื่อสารความจริงใจและโปร่งใสออกไป” มายอธิบาย

เครื่องจักรที่ว่านี้ไม่ได้เพิ่งมีในช่วงที่ทั้งคู่ตั้งหน้าร้านแล้วเท่านั้น แต่ทั้งคู่นำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตตั้งแต่วันแรกๆ ที่คิดจะขายน้ำเต้าหู้ ทั้งที่รายได้ในตอนนั้น อาจไม่ได้คุ้มกับต้นทุนเครื่องจักรที่จ่าย

“ตอนแรกเราก็ไม่ได้ใช้เครื่องจักรที่ใหญ่ขนาดนี้หรอก เราทดลองจากเครื่องจักรเล็กๆ กันก่อน เพื่อดูว่ามันผลิตได้มากแค่ไหน แต่ข้อจำกัดของเครื่องจักรเล็กคือกว่าจะได้น้ำเต้าหู้ในแต่ละแบตช์นั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน เราเลยมองว่าถ้าเราอยากเติบโต เราจะต้องจริงจังกับเครื่องจักรและการเซตระบบตั้งแต่วันแรก

“เพราะเครื่องจักรขนาดใหญ่มันสามารถลดการใช้แรงงานคนได้ ไม่อย่างนั้นถ้าพนักงานป่วยขึ้นมาเราจะทำยังไง เครื่องจักรยังทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่าเราจะได้น้ำเต้าหู้คุณภาพที่มีมาตรฐานเท่ากันทุกครั้ง แม้เราจะไม่สามารถบอกได้ว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่เรามองว่ามันมีโอกาสที่จะเติบโต ถ้าเราเตรียมตัวไว้ก่อนมันก็ดีกว่า” ใหม่ผู้รับหน้าที่ในการผลิตอธิบายถึงความคิดเบื้องหลังของการลงทุนครั้งนี้

นอกจากการลงทุนกับเครื่องจักรแล้ว Beanila ยังเป็นร้านน้ำเต้าหู้ที่จริงจังกับการสร้างระบบอย่างมาก เพราะมายเล่าว่าเธอได้สร้าง Beanila Bible ขึ้นมาสำหรับเทรนพนักงานว่าควรจะแต่งตัวแบบไหน ทักทายลูกค้ายังไง 

“มันเหมือนกับการสร้างแม่พิมพ์ ถ้าแม่พิมพ์มันเวิร์ก ผลผลิตจากแม่พิมพ์ก็จะออกมามีคุณภาพ เราเลยพยายามทำทุกอย่างให้เป็นระบบ ไม่ทำอันนี้ทีอันนั้นที เพราะเราอยากเติบโต ที่สำคัญลูกค้าก็จะเชื่อใจว่าไม่ว่าพนักงานหรือเราทำ สินค้าที่เขาได้รับไปมันก็จะเป๊ะและมีคุณภาพเหมือนกัน” มายบอก

“พอมีปัญหา ระบบยังทำให้เรารู้ว่าเราต้องแก้ปัญหายังไง ปรับปรุงหรือเพิ่มอะไรอีกบ้าง เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลากลับมาแก้ไขอะไรซ้ำๆ” ใหม่เสริม

Beanila และการพา ‘น้ำเต้าหู้’ ไปสู่ดินแดนใหม่ๆ 

ระหว่างการสนทนากับมายและใหม่ Beanila มีคนเข้า-ออกไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะกลุ่มวัยรุ่น ครอบครัว คนทำงาน และผู้สูงอายุ จนดูเหมือนว่า Beanila เอาชนะใจคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับนมวัวมากกว่าได้แล้ว แต่ทั้งคู่กลับบอกว่าลูกค้าเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ความตั้งใจของพวกเขาคือการนำพา Beanila แทรกซึมและทำให้ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เปิดใจได้มากกว่านี้ 

“ถึงอย่างนั้นเราก็ยังมองว่าธุรกิจนี้มันมีโอกาสเติบโตนะ ไม่ว่าจะทั้งในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม เพราะในแถบเอเชียหรืออเมริกาก็มีแบรนด์จากนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้อยู่เยอะ เพียงแต่แต่ละประเทศอาจมีความชอบที่แตกต่างกัน”

นั่นทำให้เมื่อเราถามถึงนิยามของน้ำเต้าหู้ที่ดีในมุมของมายและใหม่ ทั้งคู่ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่านิยามที่ว่านั้นขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล

“อย่างในแถบอเมริกา กลิ่นถั่วเหลืองจะจางมากแต่เขาเน้นใส่ท็อปปิ้งหลากหลาย ส่วนในเอเชียบางประเทศจะชอบแบบใสๆ เพื่อให้กินได้ทั้งวัน บางที่ก็ชอบแบบข้นๆ ส่วนประเทศไทยมักจะชอบแบบกลางๆ คือไม่ข้นและไม่จาง แต่จะต้องมีกลิ่นหอมของถั่วเหลืองชัดเจน” ใหม่อธิบาย 

ในอนาคต ทั้งคู่จึงมองภาพของ Beanila ไว้หลายทาง ทั้งขยายสาขาไปยังต่างประเทศ และการขยายโมเดลธุรกิจของ Beanila ให้เป็นมากกว่าคาเฟ่น้ำเต้าหู้ แต่มีทั้งสตูดิโอโยคะ พิลาทิส หรือกิจกรรมเชิงสุขภาพให้คนได้มาใช้บริการ

“เราอยากทำให้มันมีความไลฟ์สไตล์ที่เข้าไปแทรกซึมในชีวิตประจำวันของทุกคนได้มากกว่าเดิม ลูกค้าอาจจะไม่ได้มาคาเฟ่เพื่อกินน้ำเต้าหู้อย่างเดียว เขาอาจจะมาเล่นโยคะ พิลาทิสก็ได้ เรียกว่าสามารถใช้ชีวิตใน Beanila ได้ทั้งวัน” มายเล่าแผนสำคัญ

ในวันที่เรานั่งสนทนากันอยู่นี้ อาจเรียกได้ว่า Beanila เติบโตไปอีกขั้น จนไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งสองพี่น้องคู่นี้เคยคิดจะล้มเลิกการสร้าง Beanila หลังจากที่ใหม่เคยเกิดอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องจักรมาแล้ว

“วันที่เกิดอุบัติเหตุกับพี่ใหม่ เราก็คิดว่าคงไม่ทำต่อแล้ว แต่เราอาจจะติดคุณพ่อมาก เลยอยากทำให้ Beanila ประสบความสำเร็จ ทำให้เขาเชื่อและภูมิใจว่าเราสามารถทำให้แบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยทำมันในอดีต มันไปได้ไกล 

“สิ่งที่เราสองคนสรุปได้จากการหาทางออกในวันนั้นจึงคือเราไม่สนว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง แต่ว่า Beanila จะต้องไปต่อได้ เพราะนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น” มายทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

What I’ve Learned

  • ใหม่ : เวลามีฟีดแบ็กในทางลบ เราต้องรู้วิธีการที่จะรับมือและตอบกลับไป บางครั้งเราจะพูดตรงๆ ไม่ได้ แต่ต้องหาวิธีที่มันซอฟต์ขึ้น บางคำตอบผมคิดเป็นชั่วโมงกว่าจะตอบกลับไป
  • ใหม่ : เจ้าของต้องลงมาทำเอง เพราะการคุยกับลูกค้า การแก้ปัญหาจะแตกต่างกับการให้พนักงานทำ
  • มาย : การทำคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียสำคัญมาก ไม่ว่าจะคอนเทนต์ที่บอกว่าทำไมต้องมาทานน้ำเต้าหู้ร้านเรา หรือรู้ไหมว่าเราลงทุนกับเครื่องจักรไปเท่าไหร่ แต่เราจะเน้นการทำคอนเทนต์เองและไม่เคยบูสต์โพสต์เลยสักครั้ง เพราะเรามองว่าถ้าเรายิงแอดฯ เราอาจจะได้ลูกค้าเยอะก็จริง แต่มันจะมาตู้มเดียว ต่างกับคอนเทนต์ออร์แกนิกที่เราจะได้ลูกค้าในระยะยาวมากกว่า
  • มาย : เราไม่ควรเป็นคนวิ่งตามเทรนด์ แต่เราต้องสร้างเทรนด์นั้นขึ้นมาเอง ถ้าเราสร้างเทรนด์นั้นขึ้นมาได้ ลูกค้าก็จะสนใจและเข้ามาหาเรา

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like