นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

อยู่อย่างเบาใจ จากไปอย่างใจเบา

‘เพราะความตายออกแบบได้’ Baojai Family ธุรกิจวางแผนชีวิตในวันนี้ให้ตายดีในวันหน้า

‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้’ 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดนี้อยู่เนืองๆ แต่น้อยคนนัก ที่จะคิดไกลถึงการออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะสังคมไทยแทบไม่เคยเอ่ยถึงเรื่องความตาย เพียงเพราะกลัวเป็นลางร้าย หลายคนจึงเบาใจได้กับทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องชีวิตในวาระสุดท้าย 

ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เราเดินทางมายังบ้านสวนขนาดย่อมของ กอเตย–ปิญชาดา ผ่องนพคุณ ผู้ก่อตั้ง ‘Baojai Family’ ธุรกิจวางแผนชีวิตเพื่อการตายดี หลังจากพ่อของเธอกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย 

ซึ่งทำให้เธอได้เรียนรู้ว่านอกจากสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ที่เคยร่ำเรียนและทำงานมา ‘สิทธิการตายดี’ ก็สำคัญ

“เรายังไม่เคยเห็นใครพูดถึงสิทธิการตายดี ยังไม่มีใครพูดเรื่องการรักษาแบบประคับประคองเลย ทั้งที่จริงแล้ว พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตราที่ 12 ระบุไว้ว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิแสดงเจตนาไม่รับการรักษาในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เราสามารถเลือกที่จะไม่ปั๊มหัวใจ เลือกที่จะไม่รับเคมีเพื่อยื้อชีวิตที่รักษาไปก็ไม่เกิดประโยชน์โดยไม่จำเป็น” 

กอเตยตัดสินใจเข้าร่วมเรียนรู้สิทธิการตายดีกับกลุ่ม Peaceful Death กลุ่มคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดูแลการเจ็บป่วย การตาย การบริบาล และความสูญเสีย นอกจากความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความตายที่เธอได้กลับมา สมุดที่ช่วยให้เราใคร่ครวญถึงความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตอย่าง ‘สมุดเบาใจ’ ของ Peaceful Death ก็เหมือนเป็นประตูนำทางให้เธอขับเคลื่อนสิทธิการตายดีในไทยมากขึ้น

“ช่วงที่เราเข้าใจสิทธิการตายดีมันดันเป็นช่วงที่พอเป็นผู้ป่วยติดเตียงและต้องให้มอร์ฟีนไปแล้ว เขาอยู่ในจุดที่อยากกระโดดออกจากเตียงเพราะคิดว่าข้างล่างเป็นสระว่ายน้ำ เราเลยใช้เวลาคุยกับพ่อนานมากกว่าจะได้แพลนในสมุดเบาใจว่าพ่ออยากได้อะไรในช่วงท้ายของชีวิต”

เธอพาพ่อกลับบ้านตามที่พ่อต้องการ เธอเลือกโลงศพสีขาวลายต้นไม้สีเขียวตามที่พ่อปรารถนา กระทั่งของชำร่วยในงานซึ่งเป็นกระเป๋าที่มีลายเซ็นของพ่อ กอเตยก็บอกว่านี่คือสิ่งที่พ่อเลือกเองทั้งสิ้น

“เขาได้เลือกทุกอย่างด้วยตัวเอง เรารู้สึกว่ามันเติมเต็มจนทำให้เขาจากไปแบบไม่ห่วงอะไรเลย”

ณ ห้วงเวลานั้น เธอได้เข้าใจว่าสิทธิการตายดีเริ่มต้นขึ้นในขณะที่เรายังกินดีอยู่ดี มีลมหายใจ และช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเราจะเป็นแบบไหนก็ขึ้นกับการออกแบบชีวิตของเราในปัจจุบัน

ตอนที่ใช้สมุดเบาใจพูดคุยเรื่องความตายกับคุณพ่อ คนในครอบครัวรู้สึกยังไงบ้าง 

เราชวนพ่อทำพร้อมกับแม่เลย ความโชคดีของเราคือแม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เราอยากทำอะไร เราอยากคุยอะไรก็ลองดู ไม่มีการต่อต้าน เพราะฉะนั้นกับครอบครัวไม่ใช่เรื่องยาก 

ที่ยากคือญาติ เวลาญาติมาเยี่ยมพ่อ สิ่งที่เขาจะพูดคืออยู่ได้อีกนาน แต่เราเห็นความเป็นจริงว่าไม่นานหรอก ญาติเลยไม่เข้าใจว่าเราจะทำสิ่งนี้กับพ่อไปทำไม แม้กระทั่งตอนแจกสมุดเบาใจในงานศพพ่อ บางคนก็บอกว่าเหมือนเราไปแช่งเขา ซึ่งเราก็เข้าใจว่ามันไม่ง่ายสำหรับเขาเหมือนกัน 

เพราะต้องบอกว่าในปี 2561 มันเป็นช่วงที่ยังไม่มีโควิด-19 เข้ามา ความตายดูเป็นเรื่องไกลตัว  มันยังไม่มีคนพูดเรื่องการสูญเสีย 

จุดไหนที่คุณรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

ตอนพ่อกลับมาอยู่บ้าน โรงพยาบาลตำบลเข้ามาดูแลพ่ออย่างดี ออกซิเจนที่พ่อใช้ก็มาจากคนที่เขาไม่ได้ใช้แล้ว แล้วบริจาคให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั้งที่ปกติถังนึงก็เกือบแสน ถ้าเช่าต่อเดือนอย่างต่ำก็ 5,000 บาท 

เรารู้สึกว่าชุมชนเกื้อกูลเรื่องนี้กันอย่างดีมาก ความตั้งใจแรกเลยคือเราอยากส่งต่อเรื่องนี้ให้กับคนในชุมชน เราไปเรียนเกี่ยวกับกระบวนกรชุมชนกับ Peaceful Death เพื่อนำชุมชนเขียนสมุดเบาใจหรือชวนคนใกล้ตัวคุยเรื่องชีวิตและความตายได้ 

เรารู้สึกรักองค์กรนี้มาก อีท่าไหนไม่รู้ก็ได้รับโอกาสให้ทำงานในองค์กรจนปัจจุบัน จากนั้นก็ไปเรียนทักษะกระบวนกรกับเสมสิกขาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนกระบวนกร 

แล้วอาชีพการวางแผนความตายคืออะไร

จริงๆ อาชีพเรามันเรียกว่าผู้เอื้ออำนวยในการวางแผนดูแลระยะท้าย แต่ลองคิดภาพว่าถ้าใช้คำนี้คนต้องไม่เข้าใจแน่ๆ ตอนนั้นเราเลยเลือกแบบตรงตัวเลยแล้วกันว่า Death Planner 

แรกๆ โดนด่ากระจุย เพราะว่ามันใหม่มากในสังคมไทย แถมคนยังเข้าใจผิดว่าคือการเตรียมงานศพ ใครจะตายก็เดินเข้ามาได้ หรืออยากจะการุณยฆาตก็มาได้ พอปรับมาใช้คำว่าการวางแผนการตายดี คนในแวดวงก็เข้าใจนะ แต่คนข้างนอกก็ยังไม่เก็ตอยู่ดี 

เราเลยมานั่งตกผลึกว่ากระบวนการที่เราทำมันพากลับมาเห็นชีวิต มันพากลับมาเห็นความสัมพันธ์ ถ้าเราใช้คำว่าวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีล่ะ มันเป็นยังไง ทุกคนบอกว่ามันรื่นหูกว่าเยอะ มันให้ความรู้สึกว่าเรากำลังทำงานกับตัวเองในชั้นของชีวิต มันคือการออกแบบชีวิตเพื่อที่เราจะตายดี มันจะทำให้กลับมาถามตัวเองว่าเราต้องมีชีวิตแบบไหนเพื่อที่วันสุดท้ายเราจะตายดี 

ตอนไหนที่รู้สึกว่าธุรกิจนี้มันมีทางไป

เราเห็นแล้วว่าในต่างประเทศมันมีโมเดลแบบนี้ แต่ในไทยมันยังไม่มี แล้วโมเดลในต่างประเทศก็เป็นแค่การทำบนเอกสารและยึดโยงตัวแพลนเป็นหลัก แต่คนที่เชื่อมโยงคุณค่าหรือช่วยคนใคร่ครวญความเป็นมนุษย์ในตัวเองยังไม่มี เราเลยคิดว่าเราจะทำสิ่งนี้แหละ 

เชื่อไหม มันเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะพอมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนไทยจะคิดว่ามันต้องฟรี แต่เราเชื่อว่ามันเป็นอาชีพได้ เราถามเลยว่าเพื่อนคนไหนอยากวางแผนบ้าง เราจะเข้าไปทำให้โดยไม่คิดว่าต้องจ่ายค่าบริการกี่บาท 

พอให้บริการเสร็จเราก็ถามว่าถ้าเราให้บริการแบบนี้ เพื่อนจะจ่ายเท่าไหร่ เราทำแบบนั้นอยู่นับไม่ถ้วน จนเจอว่ามีทั้งคนที่พร้อมจ่าย คนที่รายได้น้อย แล้วค่อยมาหาตรงกลาง เปรียบเทียบกับงานกระบวนกร วิทยากร และพิธีกรที่เราเคยได้เป็นรายชั่วโมง 

แต่เราลืมคิดต้นทุนแฝง จุดเปลี่ยนคือเราไปให้บริการนักธุรกิจที่ปัจจุบันเขาเป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเรา ตอนนั้นเขาบอกว่ากอเตยต้องมั่นใจในตัวเองและไม่ดูถูกตัวเอง เพราะสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า แล้วเขาก็สอนวิธีคิดค่าบริการที่สมเหตุสมผลที่สุด 

หลักการคืออะไร

ไม่เอาเปรียบลูกค้า ลูกค้าเห็นแล้วรับได้ โอเคที่จะจ่าย แล้วเราต้องแจกแจงให้ลูกค้าเห็นว่าในบริการนี้เขาจะได้อะไรจากเราบ้าง เช่น แม้จบการวางแผนไปแล้ว เรายังพูดคุยแนะนำได้โดยไม่เก็บค่าบริการ ถ้าจะมา ปรับแพลนกับเรา เราลดค่าบริการให้ตามสัดส่วน 

กลายเป็นว่าเราเจอกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจ่าย กลุ่มลูกค้าที่ให้คุณค่ากับงานของเราจริงๆ จนถึงทุกวันนี้ก็น่าจะดูแลไม่ต่ำกว่า 200 เคส ไม่รวมกลุ่มคนตอนต้นที่เราไปเก็บข้อมูล บางเคสเป็นครอบครัว บางเคสเป็นคู่รัก หรือบางครั้งเราก็ได้โอกาสไปเป็นวิทยากรบ้าง ได้สร้างหลักสูตรบ้าง เราเลยมองว่ามันอยู่ได้ 

สมมติวันนี้มีลูกค้าเดินเข้ามา Baojai Family จะช่วยวางแผนชีวิตเพื่อการตายดียังไงบ้าง

สิ่งที่จะถามก่อนคือ อะไรทำให้คุณตัดสินใจมารับบริการ บางคนบอกว่ากลัวความตายมากเลย แต่รู้สึกว่าต้องทำงานกับมันแล้ว บางคนบอกว่าความสัมพันธ์ที่บ้านไม่ดีเลย อีกแบบหนึ่งคือโสดค่ะ ต่อไปไม่รู้จะให้ใครดูแล ที่ถามเพราะเราจำเป็นต้องรู้ว่าลูกค้าเรามีปัญหาหรือความทุกข์อะไรในใจ 

คนเคยผ่านประสบการณ์สูญเสียกับไม่เคยก็ไม่เหมือนกัน คนมีโรคประจำตัวกับไม่มีก็ไม่เหมือนกัน แบบฟอร์มที่เราให้เขากรอกก็จะช่วยสกรีนให้เราได้ประมาณหนึ่ง แล้วเราถึงนัดหมายวันให้บริการ มันไม่ใช่การเอาสมุดเบาใจของ Peaceful Death ที่เราใช้ในกระบวนการไปเขียนเอง แต่มันคือการค่อยๆ พาไปทีละสเตป 

เช่น ถ้าคุณมีข้อกังวลเรื่องความสัมพันธ์กับคนในบ้าน คุณต้องแก้ไขเรื่องนี้ก่อน บางคนกลัวความตายมาก แต่ถ้าได้คุยกันจริงๆ เขาอาจจะไม่ได้กลัวความตาย แต่เขากลัวบางสิ่งบางอย่างก่อนที่เขาจะตาย เช่น ครอบครัวน่ารักมาก ฉันไม่อยากพรากจากครอบครัวที่ฉันรักไป หรือฉันยังมีเรื่องที่อยากทำเยอะมาก หรือฉันกลัวเจ็บปวดทรมาน 

บางคนก็บอกว่าฉันไม่กลัวเลยฉันพร้อมมาก แต่พอมันผ่านการใคร่ครวญหรือผ่านกระบวนการที่เราเรียกว่า death planning มา กลายเป็นว่าเขาไม่พร้อมที่จะตายเพราะยังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ 

การใช้บริการของเบาใจจะต่างจากการเขียนสมุดเบาใจที่มีขายทั่วไปยังไงบ้าง

ทุกคนสามารถวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีของตัวเองได้ จริงๆ ไม่ต้องใช้สมุดเบาใจเลยก็ได้ จะเขียน จะพิมพ์ ได้หมดเลย แต่สิ่งที่เราให้มากกว่านั้นคือการที่เราเป็นพื้นที่ให้เขาได้มาสะท้อนชีวิตตัวเอง หรือแม้กระทั่งทำให้เขาเข้าใจในตัวเองมากขึ้น การมีอยู่ของของทีมยังทำให้เขารู้สึกว่าโลกนี้มันน่าอยู่ขึ้น เราพาให้คนเห็นคุณค่าในชีวิต 

ลูกค้าคนแรกของคุณเป็นยังไง

ลูกค้าคนแรกคือลูกค้าที่อยากตาย เขาทักเข้ามาว่าวางแผนได้เลยใช่ไหม 

คุณทำยังไง

ตอนนั้นคุยกับตัวเองว่ารับดีหรือไม่รับดี (หัวเราะ) เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ อาจเพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้ปรับคำเป็นนักวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีมั้ง แต่สุดท้ายก็รับเพราะเราอยากรู้ว่าอะไรทำให้เขาเดินมาหาเรา หรือคำนี้มันกระตุ้นเขายังไง 

ตอนนั้นเราเริ่มจากนัดเขาทาง Zoom ถามว่าทำไมเขาถึงมาหาเรา คือยังไม่มีการเก็บข้อมูลก่อนนัดวางแผนเหมือนปัจจุบันเลย เขาก็บอกว่าไม่อยากอยู่แล้ว ท่าทีเขาเหมือนกับว่าทำแพลนให้ฉันเดี๋ยวนี้ เราก็บอกเขาว่าค่อยๆ ช้าๆ เดี๋ยวเราจะค่อยๆ วางแผนไปด้วยกัน 

พอคุยกับเขาไปสักพักก็บอกว่าไหนๆ ก็ตัดสินใจว่าจะไม่อยู่แล้ว ทำไมมาทำแพลนล่ะ เป็นห่วงใครเหรอ เราพูดแค่นี้ เขาร้องไห้เลย เขาบอกว่าเป็นห่วงแม่ เราเลยถามว่าถ้าชีวิตไม่มีความหมายจริงๆ ทำไมถึงยังรู้สึกเป็นห่วงแม่ล่ะ แล้วแม่รู้ไหมว่าเป็นห่วง 

เขาบอกว่าไม่รู้หรอกเพราะไม่ค่อยได้คุยกัน เราถามว่าแล้วคิดไหมว่าถ้าไม่อยู่ แม่จะเป็นยังไง ลองจินตนาการให้หน่อยได้ไหม เขาก็ร้องไห้หนักมาก เราเลยถามต่อว่าในเมื่อชีวิตภายนอกมันรัดตัวจนทำให้เรารู้สึกไม่มีคุณค่า ไหนลองค่อยๆ คิดไหมว่าแล้วคุณค่าในบ้านที่สัมผัสได้คืออะไร เขาบอกว่าทุกเช้า แม่ก็ยังทำอาหารไว้ให้กิน เขาก็ยังมีคุณค่ากับแม่อยู่ 

สุดท้ายเขาตัดสินใจแบบไหน

เราถามว่าแล้วตั้งใจจะไปเมื่อไหร่ เขาบอกว่าเขารู้สึกไม่พร้อมแล้ว แต่เขาก็ไม่รู้นะว่าจะรู้สึกแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน พรุ่งนี้อาจเปลี่ยนใจก็ได้ มันกลายเป็นว่าคนที่ไม่มั่นคงคือเราแล้ว จนเราต้องไปปรึกษากับทีม Peaceful Death ว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้องไหม 

พี่ๆ ก็ถามว่าถ้าวันนี้เขาออกจากกอเตยไปฆ่าตัวตาย เราจะรู้สึกยังไง เราบอกว่าคงเสียใจมากเลย พี่ๆ ก็บอกว่าแปลว่ากอเตยกำลังทำสิ่งที่เกินหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่เราคือคนวางแผนให้เขา เขาจะทำยังไงต่อมันคือชีวิตของเขา แล้วพี่ๆ ก็ถามกลับว่าถ้าเขาไม่มาเจอกอเตย คิดว่าเขาจะเป็นยังไง เราก็ตอบว่าเขาก็คงตัดสินใจแบบนั้นแหละ 

นั่นหมายความว่าถ้าทุกวันนี้เขายังเลือกที่จะอยู่ มันแปลว่าการมาเจอเราคงมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่เราต้องเตือนตัวเองคือเราเป็นนักวางแผน เราทำหน้าที่ของเราได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง ถ้าเราทำได้ดีแล้ว ที่เหลือมันคือการตัดสินใจของเขา

บทเรียนครั้งแรกและครั้งใหญ่

ใช่ หลังๆ มา เราเลยทำงานกับเรื่องนี้ได้ดีมากขึ้น เข้าใจมันมากขึ้น ลูกค้าเราคนแรกเขายังอยู่นะ ทุกคนที่มาใช้บริการยังอยู่กันเป็นครอบครัว เรายังทักไปถามไถ่เรื่องราวกับทุกคนเสมอ เราเลยได้เข้าใจว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าเขาจะตัดสินใจยังไง เราให้สิทธิเขา 

ถ้าเราทำตรงนี้ได้ นี่แหละคือมาตรฐานของเรา เพราะเราเชื่อมั่นในศักยภาพของเขา เราเชื่อว่าเขาเลือกทางที่ดีที่สุดของเขาแล้ว ส่วนอะไรที่มันเกินมือ เช่น เขาส่งสัญญะที่บอกว่าคนนี้ต้องให้ความช่วยเหลือ เราจะถามว่าเขาต้องการความช่วยเหลือไหม ถ้าต้องการเราจะส่งเขาต่อไปให้จิตแพทย์ นักจิตบำบัด 

อะไรคือมาตรวัดมาตรฐานของธุรกิจที่ทำงานกับ ‘ความตาย’ และ ‘คน’  

ต้องยอมรับว่ามันวัดยากมาก ยิ่งพอเราเป็นผู้เริ่ม เรายิ่งต้องวางมาตรฐานให้ชัดเจนและมีจริยธรรมที่ดีเพราะว่ามันคือธุรกิจที่ทำโดยตรงกับมนุษย์ เราไม่ใช่แค่คนทำสินค้าแล้วขายออกไป 

แต่สิ่งสำคัญ เราไม่เคยพูดว่าระหว่างการยื้อหรือไม่ยื้อชีวิต อันไหนดีกว่ากัน แต่เราทำให้ลูกค้าเห็นว่าอะไรที่มันเหมาะสมกับเขามากที่สุด ทำให้เห็นว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ ถ้าเขามีจุดที่เขาเอ๊ะว่าแล้วอย่างไหนมันดีกว่ากัน เราจะเปรียบเทียบให้เขาเห็นชัด สุดท้ายลูกค้าทุกคนเลือกไปในทางไม่ยื้อชีวิตทั้งหมดด้วยการตัดสินใจของเขาเอง ไม่ใช่เรา 

ถ้าใครสนใจจะเป็นนักวางแผนชีวิตเพื่อการตายดี อยากให้ลองมาคุยกันเพราะเราอยากทำให้อาชีพนี้มันเป็นมาตรฐาน อย่างในทีมตอนนี้ถ้ารวมเราด้วยจะมีนักวางแผน 4 คน แต่ละคนก็เตรียมเรื่องการตายกับที่บ้านแล้ว ที่สำคัญเราเคยเอาเขาไปอยู่ในหน้างานแล้วเราเห็นในสิ่งที่เขามีแต่เราไม่มี เราเลยรู้ว่าทีมมันไม่ต้องเหมือนกัน ทุกคนไม่ต้องเป็นกอเตย แต่ทุกคนเป็นตัวเขาที่มันเติมเต็มกัน 

ตอนนี้ที่ภาคใต้กับที่ภาคเหนือเราก็ยังมองหาว่าจะมีใครที่ทำตรงนี้ได้   

ทักษะของคนที่จะเป็นนักวางแผนความตายมีอะไรบ้าง

การฟังสำคัญมาก เราต้องรู้ว่าคนคนนึงที่ตัดสินใจมาวางแผนความตาย มันไม่ใช่แค่เรื่องของการที่เขาอยากตายดี แต่มันคือทั้งชีวิตของเขา ถ้าเราไม่ฟังเขาอย่างเพียงพอ เราจะไม่รู้เลยว่าคนคนนี้ต้องการอะไร เพราะเราอยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยเปิดให้คนได้บอกความต้องการของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา 

ทักษะที่ 2 คือการตั้งคำถามจากเรื่องราวที่เราได้ฟัง บางทีเราพบว่ามันมีบางอย่างที่เขาไม่พูด แต่เขาคิดหรือรู้สึกในใจ บางครั้งเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาต้องการอะไร เราก็ต้องตั้งคำถามเพื่อให้เขาได้ใคร่ครวญตัวเอง 

ทักษะที่สาม เราต้องมีองค์ความรู้ที่จะบอกกับผู้คนได้ว่าแล้วจากเรื่องราวที่เขาเล่ามา มันจะเป็นยังไงต่อ หรือสิทธิการตายดีคืออะไร อะไรคือการรักษาแบบประคับประคอง สเตจไหนที่ถือเป็นระยะสุดท้าย แล้วโรงพยาบาลไหนบ้างที่พร้อมดูแลเราในรูปแบบนี้ ถ้าบางคนไม่ได้อยากจบชีวิตที่บ้าน 

และทักษะสุดท้าย เราว่าคนที่จะทำงานนี้ได้ต้องเตรียมตัวเองมาประมาณหนึ่ง คือต้องเตรียมแพลนของตัวเอง ทำงานกับตัวเอง 

หมายถึงเราต้องรู้จักตัวเอง

ใช่ เราจะต้องมีประสบการณ์ในการเตรียมตัวเองเพื่อให้เรารู้ว่ามันดียังไง เพราะเราไม่มีทางพาคนไปหาความหมายของการตายดีได้เลยถ้าเราไม่ได้ทำกับตัวเอง 

ถ้าเราวางแผนกับตัวเองประมาณนึงแล้วรู้สึกว่าเราอยากส่งต่อ เราว่า 4 ข้อนี้ก็ครบแล้ว คุณสามารถเป็น death planner ในแบบของคุณได้ ไม่ต้องแบบกอเตยก็ได้ แต่เป็นในแบบของคุณ ที่เข้าใจคนอื่นแล้วก็ทำให้คนอื่นได้เข้าใจความต้องการของตัวเอง 

แล้วใครบ้างที่ควรวางแผนความตาย

เราว่าทุกคนสามารถวางแผนได้หมดเลย เราเคยมีลูกค้าครอบครัวที่เอาลูกอายุ 8 ขวบมาอยู่ด้วย แล้วน้องก็รู้แพลนของตัวเอง 

ถ้าแม้กระทั่งเด็กก็วางแผนชีวิตเพื่อการตายดีได้ หมายความว่าแผนของเราอาจเปลี่ยนแปลงตามคุณค่าที่เราให้ในแต่ละช่วงอายุ 

ถูกต้อง แผนนี้อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่มันอาจพาไปสู่ความวางใจว่าไม่ว่าแผนนี้มันจะออกมาจริงหรือไม่จริง ถ้าคุณวางใจในชีวิตได้ แค่กลับมาเห็นคุณค่าความสัมพันธ์และทำมันแค่นั้น มันโอเคแล้ว มันจะไปในเส้นทางของการตายดีต่อไปได้  

4-5 ปีที่ผ่านมา เห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการวางแผนความตายในสังคมไทยบ้างไหม

มีคนรับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เราว่าโควิด-19 เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนรู้ว่าความตายมันใกล้ตัวมาก แล้วถ้าเราไม่เตรียมตัวเรื่องนี้มันจะเป็นยังไง โควิด-19 ยังเอื้ออำนวยให้เราถูกพูดถึงในสังคมในวงกว้างมากขึ้นว่ามันมีบริการวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีนะ 

อีกช่องทางคือลูกค้าเราเขาก็เริ่มกล้ารีวิวหรือบอกต่อคนอื่นมากขึ้น จากแต่เดิมที่มาใช้บริการแล้วประทับใจแต่ไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับใครเพราะสังคมยังไม่ยอมรับ อีกอย่างกระบวนการเหล่านี้มันค่อนข้างใช้ความเป็นส่วนตัวสูง บางคนก็จะกระอักกระอ่วนที่จะต้องไปบอกว่าฉันผ่านกระบวนการนี้มา

เทรนด์การเกษียณโดยไม่มีลูกมีผลบ้างไหม

ต่อให้เขามีลูก คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้หวังพึ่งลูกแล้ว เขาอยากให้ลูกได้มีชีวิตของเขาเอง แล้วเขาก็ใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารว่าพ่อแม่ดูแลตัวเองได้ ไปใช้ชีวิตของคุณเถอะ ส่วนคนที่ไม่มีลูกแต่อยู่ด้วยกัน 2 คน สิ่งที่เรามีให้เขาคือเขาจะรู้ว่าในวันหนึ่งที่คนใดคนหนึ่งจากไปก่อน อีกคนจะทำยังไง 

คนเราคบกัน มีใครบ้างที่พูดว่าฉันสัญญาว่าฉันจะอยู่จนกระทั่งเธอติดเตียง จะเปลี่ยนแพมเพิสให้เธอ มีแต่คนพูดว่าจะอยู่จนแก่เฒ่า จะรักกันตลอดชีวิต เพราะอะไร เพราะไม่มีใครอยากจินตนาการถึงภาพนั้นแต่กระบวนการของ Baojai Family จะให้เขาจินตนาการถึงภาพนั้นว่าในวันที่เกิดเหตุการณ์นั้นเขาจะเอายังไง 

เชื่อไหมว่าคู่ชีวิตสมัยนี้ไม่ค่อยคิดว่าเธอจะต้องดูแลฉัน ฉันต้องดูแลเธอ แต่เขาตั้งหน้าตั้งตาหาเงินจ้าง caregiver อย่างเดียว เธอแค่อยู่เป็นกำลังใจก็พอ ลองคิดว่าถ้าเรื่องนี้ไม่เกิดการคุย สุดท้ายแล้วลำบากแน่ๆ  

คุณค่าของธุรกิจนี้ที่ทำให้คุณยังอยากทำต่อไป

ลูกค้าเราเป็นตัวเองมากขึ้น เป็นตัวเองที่ไม่ทำร้ายคนอื่น เป็นตัวเองในแบบที่มันดีขึ้นหรือเป็นตัวเองในแบบที่เรารักตัวเองมากขึ้น เคยมีลูกค้าคนหนึ่งบอกว่าขอบคุณมากนะที่วันนั้นเราได้เจอกัน มันทำให้ชีวิตเขาในทุกวันนี้มันเป็นไปในทิศทางไหนบ้าง หลายคนมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีขึ้น เขาเข้าใจกันมากขึ้น เขารู้ว่าพ่อแม่เขาต้องการอะไรในช่วงท้ายของชีวิต 

ส่วนตัวเราเอง เรามีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีขึ้นจากการทำงานนี้ เพราะก่อนหน้านี้เราก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพี่ชาย พอมาทำงานนี้ เรารู้สึกว่าเราหนีเรื่องนี้ไม่ได้แล้วถ้าเราอยากตายดี ถ้าตัวเราไม่ได้ทำงานกับตัวเองมันคงจะไม่จริงใจที่จะไปบอกให้คนอื่นหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

อีกอย่าง ก่อนหน้านี้เราเคยมีภาวะที่อยากตายเหมือนกัน เพราะเราไม่รู้ว่าคุณค่าของชีวิตเราคืออะไร มันตื่นมาก็งั้นๆ แต่วันที่มันเริ่มเห็นว่าการมีอยู่ของเราก็ไม่ได้จะไปสร้างโลกอะไรได้หรอก แต่มันค่อยๆ เปลี่ยนสังคมทีละนิด ทำให้คนที่เห็นความตายอยู่เบื้องหน้า เขากลับมาเห็นชีวิต กลับมาเห็นคุณค่าในตัวเอง นี่แหละมันคือคุณค่าต่อตัวเรา

แล้วสิทธิเรื่องการตายดีในไทยที่คุณอยากเห็นเป็นแบบไหน

อย่างแรก–เราอยากให้ทุกครอบครัวคุยเรื่องความตายได้ อยากให้คนที่เราเลือกใช้ชีวิตอยู่ด้วยสามารถคุยเรื่องนี้ได้จนเราเบาใจและวางใจว่าวันที่เราเจ็บป่วยเราต้องการอะไร วันที่เราตายเราต้องการแบบไหน 

สอง–ภาพของ Baojai Family จะชัดขึ้น ถ้านโยบายภาครัฐชัดเจน มีรัฐสวัสดิการที่ดี และกระจายความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น คิดดูว่าคนไทยจะตายดีได้อย่างเต็มที่เลย เราจะวางใจได้ว่าไม่ว่าชีวิตจะไปจบที่ไหนเราจะโอเค 

ไม่กลัวที่คนกล้าพูดถึงความตายจนไม่มาใช้บริการกับเรา 

ไม่กลัวเลย เพราะเราเชื่อว่าเราจะมีทิศทางทำสิ่งอื่นๆ วันนั้นเราคงรู้แล้วว่าคนต้องการอะไร 

ถ้าคนพูดเรื่องนี้กันได้ ถ้ารัฐชัดเจน สังคมไทยจะเดินไปถึงวันนั้น วันที่ธุรกิจนี้มันกลายเป็น red ocean เรื่องแพลนครอบครัวเราอาจไม่ต้องมาดูให้แล้วก็ได้ เขารับรู้ว่าเขาจะดูแลกันยังไง หรือเขาอาจจะยังเขียนแพลนเองไม่ได้ เขาก็ยังต้องการเราอยู่ดี แต่เราไม่ต้องทำงานกับด่านที่ว่าแล้วพ่อแม่จะโอเคไหม เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องปกติ เรื่องที่พูดได้ 

วันนั้น Baojai Family อาจทำเรื่องแผนน้อยลง แต่มีบริการที่เพิ่มขึ้น เราอาจเป็นภาคประชาชนที่เข้าไปดูแลเกื้อหนุนผู้ป่วยระยะท้ายในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์เพราะทุกคนในชุมชนสามารถดูแลกันเองได้

What I’ve Learned

  • เราเป็นคนเริ่มธุรกิจนี้ขึ้นมา มันอาจมีความรู้สึกว่าก็ทำไปเรื่อยๆ แต่เราเพิ่งได้เรียนรู้ว่าเราทำแบบนี้ไม่ได้ เราต้องจริงจังกับมันมากขึ้นแต่ทำในแบบที่ยังมีความสุขอยู่
  • ถ้าเราอยากทำให้เป็น red ocean เราต้องทำให้มันเป็น red ocean ด้วยตัวเราเอง เราต้องเผยแพร่สิ่งนี้ออกไปให้มาก
  • ธุรกิจเรามันทำงานกับใจคน เราต้องระมัดระวังและละเอียดกับทุกกระบวนการ
  • เราทำงานเรื่องใจกับคนอื่น แต่ถ้าเราไม่ดูแลทีมด้วยหัวใจมันจะไม่จริงใจเท่าไหร่ เราเลยค่อนข้างดูแลทีมดีมาก เราไม่ได้ทรีตกันด้วยผลประโยชน์อย่างเดียว แต่มันทรีตเหมือนว่าเราเป็นชุมชน เราเป็นกลุ่มคนที่จะทำสิ่งนี้ด้วยกัน
  • Writer

    กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

    Photographer

    ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

    You Might Also Like