สร้างอิมแพ็ค

คุยกับ พอลล์ กาญจนพาสน์ แห่งบางกอกแลนด์ ผู้ตั้งเป้าหมายสร้างอิมแพ็คให้เป็น smart city

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปีนี้คือช่วงเวลาทองของเหล่าแฟนเพลงที่ชอบไปคอนเสิร์ตอย่างไม่ต้องสงสัย มีคอนเสิร์ตสเกลเล็ก กลาง ใหญ่ กระจายให้เลือกชมแทบทุกสัปดาห์ จนใครหลายคนอาจนึกภาพช่วงเวลาอันซบเซาก่อนหน้านี้ไม่ออก

จากการระบาดของโควิดตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ ธุรกิจไมซ์ (MICE: Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) อันได้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานอีเวนต์ งานแสดงสินค้า เอกซ์ซิบิชั่น และคอนเสิร์ต ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ต้องงดกิจกรรมการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก จนจำต้องปรับรูปแบบการจัดงานเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

ซึ่งประเทศไทยเองก็มีศักยภาพด้านการจัดงานระดับโลกมากมาย จากการวิจัยของ TCEB ที่เก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการไมซ์ 650 รายทั่วโลก ยกให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ของการจัดงาน ที่โดดเด่นในเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน ความมีเอกลักษณ์ และภาพลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องไมซ์

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจไมซ์ซบเซาลงไปโดยปริยาย และทั้งจำนวนและรายได้ของธุรกิจไมซ์ลดลงกว่า 90% เมื่อเทียบกับรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันของช่วงก่อนเกิดโควิด ทว่า วันนี้เมื่อธุรกิจไมซ์เริ่มพลิกฟื้น ผู้ประกอบการไมซ์ไม่ได้โฟกัสแค่ธุรกิจในประเทศ แต่ต้องสร้างศักยภาพให้พร้อมแข่งขันในระดับโลก

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่พัดพาให้เรามาพบกับ พอลล์ กาญจนพาสน์ แม่ทัพใหญ่แห่งบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือผู้พัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ให้กลายเป็นอิมแพ็ค เมืองทองธานี ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่ให้บริการมามากกว่า 25 ปี เพื่อคุยกันเรื่องวิธีคิด วิธีบริหารที่ทำให้บางกอก แลนด์ยังยืนหยัดได้จนถึงทุกวันนี้ไม่ว่าจะผ่านวิกฤตมาแค่ไหนก็ตาม

ทุกคนเป็นครอบครัวที่มีเป้าหมายเดียวกัน

บทบาทผู้บริหารของพอลล์เริ่มต้นในปี 1998 ในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เข้ามารับช่วงต่อจากอนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้เป็นพ่อ และพี่ชาย ปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ที่ดูแลธุรกิจในเครือบางกอกแลนด์เป็นหลัก ช่วงแรกพอลล์รับหน้าที่บริหารฝั่งพร็อพเพอร์ตี้ และ city management ส่วนพี่ชายดูแลด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก โดยแต่ละคนมีหน้าที่ต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ พัฒนาเมืองทองธานี

“วันแรกที่ได้เข้ามาจับธุรกิจครอบครัวเต็มตัว โจทย์แรกที่เจอก็ไม่ง่าย พอลล์เล่าว่า ตอนนั้นเรามองว่าบางกอกแลนด์เป็นบริษัทที่มีศักยภาพ และเห็นโอกาสในการพัฒนาอีกมาก ทว่าหลังจากนั้นไม่นานประเทศไทยก็เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้หลายอย่างไม่เป็นไปตามแผน เราเจอปัญหาต่างๆ มากมาย ท่ามกลางความยากลำบากเหล่านี้เราก็ฝ่าฟันจนสามารถใช้พื้นที่เมืองทองธานีจัดเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ได้สำเร็จ” 

โจทย์ต่อมาเป็นเรื่องกำแพงภาษา ในเวลานั้นพอลล์เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่อายุเพียง 24 ปีที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ เมื่อต้องเข้ามาบริษัทที่เต็มไปด้วยคนไทย ยังไม่มีใครสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษมากนัก และส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุมากกว่า ที่เห็นกันมาตั้งแต่เด็ก จึงถูกมองว่าเป็นจูเนียร์ตลอดเวลา ทำให้ช่วงแรกชีวิตการทำงานไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

ทว่าปัจจุบันเครือบางกอกแลนด์มีพนักงานกว่า 2,500 คน ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ สนามโกคาร์ต โรงเรียนสอนทำอาหาร โรงเรียนสอนเทนนิส ค้าปลีก และโรงแรม 

“การที่พนักงานทั้งหมดมีพื้นฐานแตกต่างกัน ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา นิสัยใจคอ และอายุ ประสบการณ์สอนให้เราต้องทำความเข้าใจความแตกต่างของพนักงานแต่ละกลุ่ม มีบ้างที่เกิดความไม่เข้าใจ เราก็พยายามสื่อสารถึงเป้าหมายองค์กรว่าแม้จะอยู่ในต่างธุรกิจ แต่ทุกคนเป็นครอบครัวที่มีเป้าหมายเดียวกัน”

พอลล์เล่าว่า หลังสิ้นสุดเอเชียนเกมส์ พื้นที่รอบข้างเมืองทองธานียังไม่ได้รับการพัฒนา ยังเป็นพื้นดินแห้งๆ เรียกได้ว่าความเจริญยังเข้าไม่ถึงด้วยซ้ำ ซึ่งในตอนนั้นบริษัทยังไม่มีแผนหรือโปรเจกต์ต่อ ทำให้ทีมงานทุกคนรู้สึกเคว้งคว้างพอสมควร 

สำหรับตนเองแล้ว หลายคนมองว่าโควิดเป็นช่วงที่ตกต่ำที่สุดของธุรกิจ แต่ที่บางกอกแลนด์จุดตกต่ำที่สุดคือ หลังเอเชียนเกมส์ เพราะบริษัทขาดเป้าหมายและทิศทางธุรกิจ ไม่มีเงินสำรอง ทำให้บริษัทต้องหากระแสเงินสดเพื่อมาดำเนินธุรกิจต่อไปให้ได้

และในปี 1999 จากเดิมที่อิมแพ็คยังไม่มีชื่อเป็นทางการ ทีมผู้บริหารจึงเปลี่ยนเป็นใช้ชื่อ IMPACT เพื่อสื่อถึงการสร้างอิมแพ็กกับพื้นที่โดยรอบ โดยย่อมาจากคำว่า International Multi Purpose Arena Convention Trade

กว่า 25 ปีที่อิมแพ็คเดินหน้าจัดงานเล็ก หรืองานใหญ่ระดับประเทศ 

มีหนึ่งงานที่สร้างชื่อให้อิมแพ็คอย่างมาก นั่นคือ BOI Fair ปี 2000 งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรม และสัมมนาวิชาการ ซึ่งเป็นงานที่ประสบความสำเร็จด้วยยอดผู้เข้าชมงานกว่า 4.5 ล้านคน 

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่พื้นที่อินดอร์ที่จัดงานได้ ในปี 1996 ศิลปินระดับโลกอย่างไมเคิล แจ็กสัน ก็เลือกจัดคอนเสิร์ตที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งงานนี้แหละทำให้ผู้คนรู้จักอิมแพ็คมากขึ้น และในฝั่งผู้จัดก็เห็นศักยภาพการจัดงานที่ใช้พื้นที่ได้หลากหลาย ทั้งงานแสดงสินค้า คอนเสิร์ต หรือแม้แต่การแข่งขันเทนนิสไทยแลนด์โอเพ่น, ดิสนีย์ออนไอซ์ หรือการประกวดนางงามก็เลือกจัดที่นี่

ปัจจุบันพื้นที่จัดงานของอิมแพ็คทั้งหมดรวมประมาณ 3 แสนตารางเมตร 

เมื่อถามว่างานไหนที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุด พอลล์เล่าว่า เป็นงาน ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นในปี 2019 เป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่รวบรวมผู้นำภายในกลุ่มประเทศสมาชิกกว่า 10 ประเทศ 

“ความยากของงานนี้อยู่ที่การเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัย เพราะเมื่อผู้นำทุกประเทศมารวมตัวกัน ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราใช้เวลาเตรียมตัวค่อนข้างนาน 6-9 เดือน เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วน ทั้งตำรวจ ทหาร รวมถึงพนักงานของเราที่ต้องเป็นอาสาสมัครช่วยงานในทุกแผนก ต้องประชาสัมพันธ์กับลูกบ้านที่อาศัยในพื้นที่โดยรอบในเรื่องความปลอดภัย ต้องเข้า-ออกพื้นที่เป็นเวลา 

แต่ความเสียดายคือ เราทำงานกันหนักมาก จนวันงานผมเข้าโรงพยาบาล แต่ถือเป็นงานที่ภูมิใจที่สุด เพราะทุกคนตั้งใจมาก และฟีดแบ็กงานนี้ก็ดีมากเช่นกัน”

หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 25 ปี อีกหนึ่งอุปสรรคที่พอลล์และทีมก้าวผ่านไปได้อย่างสวยงามคือโควิด ด้วยการมีเงินสำรองและแผนการบริหารที่ดี 

พอลล์เล่าถึงภาพรวมธุรกิจไมซ์ในปีที่ผ่านมาว่า “การจัดงานกลับมาคึกคักเหมือนเดิม ทั้งจำนวนคนและจำนวนงาน นักท่องเที่ยวหลายประเทศเดินทางเข้ามาเพื่อร่วมอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตมากขึ้น มีเพียงแค่นักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่ถึงเป้า ผมมองว่าจะให้ทุกอย่างเพอร์เฟกต์ก็คงไม่ได้ แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ แต่ก็ยังมีปัจจัยที่น่ากังวลคือ ปัญหาการเมือง สงครามระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ GPD ก็ยังคงเป็นความท้าทายในเศรษฐกิจของประเทศเราอยู่ ปีนี้คาดว่าช่วง 6 เดือนหลังน่าจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยค่อนข้างยืดหยุ่นในการปรับตัว แม้กลุ่มลูกค้าจีนจะไม่ถึงเป้า แต่เราก็ยังเข้าถึงลูกค้าประเทศอื่นๆ ได้ คาดว่าแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ”

ตอนนี้การจัดอีเวนต์ยังต้องมีออนไลน์ไหม

“ช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์ได้แล้วว่าการจัดงานแบบไฮบริดไม่เวิร์ก เพราะมนุษย์ชื่นชอบการพบเจอ พูดคุย สัมผัส เทคโนโลยีทำให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่ทดแทนกันไม่ได้”

ไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาต่อไป

ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใดก็ตาม ไม่มีใครหนีการแข่งขันได้ ในธุรกิจไมซ์เองก็เช่นกัน 

“ผมมองว่าการแข่งขันไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะอีเวนต์ เอกซ์ซิบิชั่น หรือคอนเสิร์ต ซึ่งเราไม่เคยหยุดพัฒนา และเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เรามองที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก การที่เราอยู่มาได้ 25 ปีไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้วิธีคิดหรือแนวคิดแบบเดิมๆ ตลอดไป ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองและสรรหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

อย่าคิดว่าอะไรที่สำเร็จในปีก่อนๆ ปีนี้หรือปีหน้าจะสำเร็จต่อไป ช่วงกลางปีที่แล้วเราได้ไปดูงานในหลายประเทศ ทำให้รู้ว่าบางอย่างที่เขาทำก็ดีกว่าเรา ทั้งเรื่องเทคโนโลยีหรือวัฒนธรรม เราก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้ได้”

ตั้งเป้าสู่การเป็น smart city

“เราพยายามพัฒนาให้เมืองทองธานีกลายเป็นสมาร์ตซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เราเริ่มตั้งแต่กลางปีที่แล้ว มีการศึกษาข้อมูลและพูดคุยกับ สวทช.และภาคเอกชนๆ อื่นด้วย เพราะการเป็นสมาร์ตซิตี้ไม่ใช่แค่เราทำฝ่ายเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้เราออกตัวเดินได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้เพื่อให้การเป็นสมาร์ตซิตี้มีความชัดเจนขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งเรื่องระบบไอซีที การบริหารสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและที่พักอาศัย หรือแม้แต่การศึกษา โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย

“การทำสมาร์ตซิตี้ไม่ใช่แค่เรื่องของบริษัทอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ ทั้งเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ช่วยยกระดับรายได้ของผู้อยู่อาศัย ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน

การจัดอีเวนต์ กับแนวทางการลดคาร์บอนฟุตปรินต์

ที่ผ่านมาคุณอาจเคยได้ยินข่าวว่า อุตสาหกรรมไมซ์เป็นผู้ร้ายในการสร้างปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ เพราะในการจัดงานมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานที่เป็นตัวการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นการจัดอีเวนต์ยุคนี้จึงต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนฟุตปรินต์ 

วันที่เราคุยกัน พอลล์เล่าว่า ในปี 2026 รถไฟฟ้าจะมาจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่หน้าอิมแพ็คแล้ว สามารถลงรถไฟฟ้าแล้วเดินไปฮอลล์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ใครที่มาอิมแพ็คก็ใช้รถไฟฟ้าสายสีชมพู ลงสถานีศรีรัช แล้วต่อรถเข้ามาอีกนิดหน่อย เมื่อเทียบกับสมัยก่อน การเดินทางในเวลานี้สะดวกและเร็วกว่าเมื่อก่อนมากๆ ซึ่งการเดินทางด้วยรถสาธารณะนี่แหละที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ได้ 

นอกจากนี้อิมแพ็คยังให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุสำหรับจัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกวัสดุที่รีไซเคิลได้ มีการจัดการขยะและเศษอาหาร เพื่อเปลี่ยนเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ต่อไป 

“เราไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ แต่มองว่าเป็นแนวทางที่เราต้องปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก”

จากรุ่นพี่ สู่รุ่นน้อง

เชื่อว่าเวลานี้ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า ‘ไทยแลนด์แดนคอนเสิร์ต’ เพราะทุกสัปดาห์บ้านเรามีการจัดคอนเสิร์ต อีเวนต์ หรืองานแสดงสินค้ากันอยู่ตลอด และปีนี้อิมแพ็คก็เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดงานที่ถูกจับจองอย่างรวดเร็วทั้งคอนเสิร์ตไทยและต่างชาติ ทำให้ใครๆ ก็อยากมาจับธุรกิจจัดอีเวนต์

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาลุยในธุรกิจนี้ พอลล์แนะนำว่า “ต้องมีวิชั่น เช่น อยากจัดงานแนวไหน อีเวนต์ คอนเสิร์ต สัมมนา หรืองานแสดงสินค้า ฯลฯ หาข้อมูลว่าเวลานี้มีผู้จัดงานลักษณะนี้กี่คน แล้วถ้าจัดจะมีผู้ร่วมงานมากน้อยแค่ไหน ในงานแรกๆ ไม่จำเป็นต้องลุยเดี่ยวหรือจัดใหญ่ คุณอาจหาพาร์ตเนอร์แล้วคอลแล็บกันก่อน 

ต่อมาเป็นเรื่องของการวางแผน ที่หมายถึงการวางแผนทุกอย่าง ตั้งแต่วางแผนด้านการเงิน แผนฉุกเฉิน วางแผนประชาสัมพันธ์ หรือวางแผนเพื่อหาข้อมูลของท็อปปิกนั้นๆ เนื่องจากการจัดงานไม่ควรเกิดความผิดพลาด เพราะหากผิดแล้วไม่สามารถถอยหลังหรือเริ่มต้นใหม่ได้ 

พอลล์ขยายความเรื่องการวางแผนให้ฟังว่า ตัวอย่างเช่น เรื่องการเงิน ที่ต้องจ่ายมัดจำค่าเช่าสถานที่ ผู้จัดงานต้องเตรียมเงินสำรองจ่ายล่วงหน้า มีการอัพเดตงบแต่ละส่วนอย่างใกล้ชิด เช่น ค่าสถานที่ 30% ค่าโปรโมตงาน 30% ค่าอาหาร 20% หรือเงินสำรองฉุกเฉิน 20% ซึ่งเรื่อง cash flow เป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการรายย่อยมักเจอ ดังนั้นการวางแผนด้านการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

ในส่วนของความครีเอทีฟที่หลายคนมองว่ามีผลต่อการจัดงาน พอลล์ย้ำว่า คิดได้ ก็ต้องลงมือทำได้ 

“ผมอยากเห็นอิมแพ็คที่มีตึกเยอะๆ แต่รถไม่ติด เราพยายามทำให้พื้นที่ตรงนี้เติบโตตามแนวทางสมาร์ตซิตี้ ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเมืองอัจฉริยะของเราจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่ และจะสร้างอิมแพกต์ให้ชุมชนในพื้นที่ยังไง”

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

ความสุขอยู่ที่ชัตเตอร์ เพียงสัมผัสก็พอแล้ว

You Might Also Like