Dancing is Living 

Bangkok Dance Academy โรงเรียนสอนเต้นขึ้นห้างแห่งแรกของไทยเพื่อให้การเต้นเข้าถึงคนทุกชนชั้น

“ค่าเรียนบัลเลต์สมัยก่อนชั่วโมงละ 150 บาทนะ แต่ก๋วยเตี๋ยวแค่ 3 บาทต่อชามเอง”

หากพูดถึงการเรียนบัลเลต์ในอดีต ศิลปะการเต้นแขนงนี้ถือเป็นของสำหรับกลุ่มคนที่มีฐานะการเงินเท่านั้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนเป็นศิลปะการแสดงที่อยู่บนหอคอยงาช้าง 

วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้ที่หลงใหลในการเต้นแขนงนี้ และมีความหวังให้บัลเลต์นั้นแพร่หลายในวงกว้างจึงตัดสินใจเปิด Bangkok Dance Academy สถาบันสอนการเต้นบัลเลต์เมื่อปี 2533 จุดประสงค์สำคัญคือต้องทำให้คนทุกชนชั้นเข้าถึงการเรียนบัลเลต์ และเต้นได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากลโลก

วิธีการที่วัลลภาดึงบัลเลต์ลงจากหอคอยงาช้างให้คนเข้าถึงมากขึ้น คือการเปิดสถาบันในห้างสรรพสินค้า ที่แม้ตามมาด้วยต้นทุนที่สูงกว่าสถาบันบัลเลต์ทั่วไป จนไม่ได้มีกำไรงอกงามเท่าที่อื่นๆ แต่เธอก็ยังยึดมั่นแนวทางธุรกิจเช่นนี้เพราะเชื่อว่าการเต้นจะสามารถสร้างคนและพัฒนาสังคมได้ 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือเรื่องราวจากมุมองของ ครูต้อย–วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้บริหารรุ่นแรก และ หลอดไฟ–นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ทายาทรุ่นที่สอง ถึง 34 ปีที่ผ่านมาของสถาบัน Bangkok Dance Academy โรงเรียนที่บ่มเพาะเมล็ดพันธ์ุด้านการเต้น การศึกษา และสร้างผลผลิตเป็นบุคลากรทางการเต้นที่มีคุณภาพทัดเทียมระดับโลก 

ย้อนกลับไป คุณไม่จำเป็นต้องเปิดโรงเรียนแต่เป็นนักบัลเลต์ทั่วไปก็ได้ อะไรทำให้คุณเลือกเส้นทางนี้ 

วัลลภา : ครูต้อยคลุกคลีกับการเต้นบัลเลต์มาโดยตลอด น้องสาวก็เรียนอยู่แล้ว พอกลับจากพาน้องไปเต้นอาชีพที่สวิตเซอร์แลนด์ เราเองก็ได้ไปเรียนเต้นแจ๊สเพิ่มเติมด้วย ตอนนั้นเลยเริ่มคิดกันว่าคงต้องมีสถาบันการสอนเต้นเป็นของตัวเองแล้วล่ะ แต่ทิศทางต้องแตกต่างออกไปจากสถาบันอื่นๆ เสียหน่อย

ตอนนั้นการเรียนบัลเลต์ลำบากมาก สถาบันที่มีอยู่ก็น้อยนิด ค่าเรียนบัลเลต์สมัยก่อนก็ชั่วโมงละ 150 บาทนะ แต่ก๋วยเตี๋ยวแค่ 3 บาทต่อชามเอง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ เราเลยตั้งโจทย์กันว่าจะทำยังไงให้กลุ่มตลาดคนเรียนบัลเลต์ขยายออกไป 

จากมีเพียงแค่กลุ่มระดับไฮโซ A+ A ให้มี B C เป็นกลุ่มคนทำงาน ชนชั้นกลางที่เขารักศิลปะการเต้น ซึ่งควรจะสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ จนเกิดเป็นสถาบันการเต้นร่วมกับน้องสาว ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นสถาบัน Bangkok Dance Academy ที่ก่อตั้งในปี 1990 ในเวลาต่อมา 

คุณทำ Bangkok Dance Academy ยังไงให้การเต้นบัลเลต์เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้

วัลลภา : เมื่อก่อนเวลาพูดถึงบัลเลต์ มันเหมือนต้องปีนบันไดขึ้นไปดู แต่ครูต้อยตั้งเป้าหมายเลยว่า จะล้มบันไดทิ้ง ไม่เอาแล้ว เปลี่ยนวิธีการแบบเดิมๆ หมด นั่นคือเรานำสถาบันการเต้นเข้าห้างสรรพสินค้าให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น

ต้องบอกว่าห้างสรรพสินค้าในเวลานั้นยังมีไม่มาก จะมีอยู่ก็แค่ในกรุงเทพฯ และมีไม่กี่เครือ โชคดีที่คุณสงกรานต์ อิสสระ ได้เริ่มทำห้างอิสระขึ้นมา ด้วยความที่เขาเป็นคนรุ่นใหม่ เลยเข้าใจครูต้อยที่อยากทำโรงเรียนทับสอง หรือโรงเรียนหลังเลิกเรียนในห้าง 

เขาให้พื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้าสำหรับทำสถาบันการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นจุดที่สร้างแรงกระเพื่อม ทำให้เห็นเป็นกระแสว่า สถาบันการเรียนการสอนก็เปิดในห้างสรรพสินค้าได้

การเปิดสถาบันการสอนในห้างสรรพสินค้าที่ถือเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น มีข้อจำกัดบ้างไหม

วัลลภา : อย่างแรก พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเป็นเงินเป็นทองอยู่ไม่น้อย ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ผู้ประกอบการเขาจะเอื้อให้กับการศึกษาได้เช่าพื้นที่ในราคาที่เราเอื้อมถึง คือกว่าจะหาเจ้าของสถานที่ที่เข้าใจสิ่งที่ครูต้อยทำก็ลำบากอยู่ 

อีกเรื่องสำคัญคือเรื่องการบริหารธุรกิจ เราต้องคำนวณอย่างละเอียด วิธีการคือเราจะวางแผนเป็นสัญญา 3 สัญญา สัญญาละ 3 ปี เป็นเวลา 9 ปีเสมอ เพราะไม่อย่างนั้น fixed cost จะกินเราหมด เพราะในความเป็นจริง margin ของการตั้งโรงเรียนในห้างสรรพสินค้าจะได้มากสุดคือ 20% เท่านั้น ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดเลย 

ถือได้ว่าการทำโรงเรียนทับสองในตอนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องต่อสู้กันพอสมควรเลย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจโมเดลธุรกิจ หลายคนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนเพื่องานอดิเรก ไม่ได้มองว่าเป็นวิชาชีพอย่างแท้จริง แต่ตัวครูต้อยเชื่ออีกแบบ เพราะที่ผ่านมาก็ยึดถือและทำเป็นอาชีพมาตลอด

ในมุมนึงหาก Bangkok Dance Academy มุ่งไปเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าระดับ A+ เลย อาจจะได้ผลกำไรมากกว่า  

วัลลภา : ใช่ แต่ก็ด้วยคำว่าแพสชั่น ด้วยคำว่ามุ่งมั่นของการเป็นครู ที่หวังจะทำให้ศิลปะการเต้นได้เผยแพร่แก่เยาวชนไทย เราเลยมุ่งทำตลาดวงกว้างมากกว่า เพราะครูเชื่อว่าศิลปะสร้างคน ดังนั้นศิลปะต้องเข้าถึงทุกคนให้ได้ เลยยอมให้ margin ธุรกิจตัวเองลดลง ยอมเข้าห้างที่จะเสียค่าเช่าแพงมากๆ เพื่อให้ได้กลุ่มตลาดที่กว้างและลึกขึ้น

แต่ในมุมธุรกิจก็มีข้อดีอยู่เช่นกัน เพราะนั่นรับประกันได้ว่าดีมานด์ของเราจะมากขึ้น ที่สำคัญเราได้มาเหยียบกลุ่มลูกค้านี้เป็นเจ้าแรก ดังนั้นเราจะคุมตลาดตรงนี้ได้ เป็นการรับประกันว่ารายรับยังสม่ำเสมอ เชื่อไหม สมัยที่ Bangkok Dance Academy อายุประมาณ 5-10 ปี เรามี waiting list ถึง 2 ปี คือถ้าจะเรียนต้องต่อคิวถึง 2 ปีเลย 

แปลว่าถ้าเราไม่โลภมากมันอยู่ได้ แล้วเราก็ได้ตามจุดประสงค์ที่เรามุ่งมั่นมา คือได้เผยแพร่ศิลปะออกไปสู่เยาวชนในวงกว้าง 

ในฝั่งลูกค้าเอง คุณทำยังไงให้คนทั่วไปรู้สึกว่าการเรียนบัลเลต์เข้าถึงได้ ไม่ได้มีไว้สำหรับเพียงคนที่มีเงิน จนเขากล้าเดินมาสมัครเรียนที่ Bangkok Dance Academy

วัลลภา : การตลาดสำคัญมาก แต่ตอนนั้นครูไม่ได้พึ่งโฆษณาเลย เราพึ่งการประชาสัมพันธ์ผ่านการบอกเล่าแบบปากต่อปากอย่างเดียว พูดตรงๆ คือเราสู้ด้วยคุณภาพ ครูของเราต้องดีพอ 

มีเรื่องนึงที่ครูประทับใจมาก วันนึงนั่งรถกลับบ้านแล้วคนขับรถเล่าให้ฟังว่า เขารู้จักกับแม่ค้าคนนึงที่อยู่ในซอยหมู่บ้าน เธอก็เล่าให้คนขับรถฟังว่าครูต้อยคือครูของลูกเขานะ ครูได้ยินแบบนั้นมันตื้นตันใจเลย เพราะนั่นหมายถึงลูกของแม่ค้าคนนั้นก็มาเรียนบัลเลต์หรือแจ๊สกับครูได้ 

ตอนนั้นดีใจมากๆ ที่ได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำไปมันเริ่มสำเร็จแล้ว ทุกๆ กลุ่ม ทุกๆ คน ขอให้รักศิลปะการเต้น เราสามารถที่จะพาไปให้ถึงฝันได้ 

เจ้าของธุรกิจหลายคนมักบอกว่าตอนขยายสาขาเป็นแฟรนไชส์ ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมาก คุณเห็นด้วยมากแค่ไหน

วัลลภา : ถูกต้อง เพราะจะมีเรื่องปวดหัวตามมามากมาย แต่เราเชื่อว่าปัญหามีไว้ให้ฝ่าอยู่แล้ว สำหรับ Bangkok Dance Academy อาจจะได้เปรียบกว่าหน่อย เพราะเรามีดีมานด์ที่มากพอ จึงเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีสาขา ไม่ใช่เราเปิดสาขาเพิ่มเติมเพราะอยากเปิดเฉยๆ 

คิดดูสินักเรียนที่เขาเข้าคิวรอเรียน 2 ปี เขารอเราจริงๆ และสุดท้ายก็ได้เรียนกับเราด้วย แต่เหตุผลที่คิว Bangkok Dance Academy มันนานขนาดนั้น เพราะเราเป็นโรงเรียนที่ฝึกฝนในเชิงเทคนิค มันค่อนข้างละเอียด ไม่ได้เป็น open class ทำให้ห้องไม่ค่อยว่าง 

บางคนที่เขาใช้ห้อง A ทุกวันเสาร์ 10 โมงเช้า เขาก็จะใช้ห้องนั้นพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งใช้เวลาหลัก 10 ปี เรื่องนี้เป็นความเสียเปรียบในแง่ธุรกิจ ดังนั้นสาขาต่างๆ เลยเกิดขึ้นจากไอเดียนี้ ไม่ใช่มาจากเราต้องการจะมี

แล้วนิยามสถาบันสอนเต้นที่มีคุณภาพในมุมของคุณเป็นแบบไหน 

วัลลภา : เราจะหวังพึ่งแค่ครูที่มีคุณภาพไม่ได้ แต่ต้องมีการบริหารโรงเรียนให้มีคุณภาพด้วย ในฐานะเจ้าของ เราต้องดูแลบริหารจัดการ สถานที่ กระจก พื้น และการให้บริการ หลักสูตรที่จะเอามาใช้อยู่เสมอ 

จนถึงปัจจุบันก็ยังเหนื่อยอยู่ 

คำว่า ‘นักเต้น’ กับ ‘ครูสอนเต้น’ แตกต่างกันยังไง

วัลลภา : คนละอาชีพเลย วงการศิลปะการเต้นมีหลากหลายอาชีพ ทั้งนักเต้น นักคิดท่าเต้น นักบำบัดโดยใช้การเต้น ฯลฯ มันสะท้อนว่าการเต้นไม่ใช่แค่การเตะขาหมุนตัว แต่การเต้นคือการสร้างคน นั่นหมายถึงบุคลิกภาพ ความมั่นใจในตัวเอง การทำงานเป็น ดังนั้นครูสอนเต้นต้องมีความเข้าใจ มีมายด์เซตตรงนี้

แล้วจุดที่สถาบัน Bangkok Dance Academy ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือช่วงเวลาไหน

วัลลภา : ช่วงที่ครบลูปการเรียนการสอน เป็นช่วงจังหวะที่เด็กที่มาเรียนกับเราตอน 4 ขวบแล้วเขาเรียนจบ สามารถทำเป็นอาชีพได้จนประสบความสำเร็จ นั่นคือจุดตัดของการเรียนการสอนใน Bangkok Dance Academy

ที่ครูมองเรื่องนี้เป็นความสำเร็จ เพราะมันคือข้อพิสูจน์ว่า คอร์สเรียนของสถาบันมาถูกทาง มันทำให้นักเรียนทำเป็นอาชีพได้ อย่างในตอนนี้ครูกว่าครึ่งนึงของ Bangkok Dance Academy ก็เคยเป็นเด็กนักเรียน 4 ขวบของเรามาก่อน 

นี่คือสิ่งที่พูดแล้วก็ยิ้มได้ แต่ก็ยังต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ

คำว่าประสบความสำเร็จของธุรกิจของ Bangkok Dance Academy ไม่ใช่เรื่องผลกำไร

วัลลภา : ไม่ใช่ มันคือผลลัพธ์ของนักเรียนที่เราสอนมาตลอด นี่คือผลผลิตของเรา 

แล้วพอถึงจุดนึงที่ต้องส่งต่อธุรกิจให้กับรุ่นลูก คุณวางแผนยังไง

วัลลภา : ศิลปะการเต้นต้องมาจากความรักที่จะทำ โชคดีที่ลูกสาวรักเรื่องนี้ และเขาเลือกที่จะทำอาชีพด้านนี้ เราเลยหวังว่าเขาอาจเป็นรุ่นต่อไปที่จะดูแลกิจการต่อได้ ตัวเขาเองก็ถือเป็นบุคลากรในแวดวงการเต้นที่มีคุณภาพ เราเห็นการเจริญเติบโตของเขา เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นแนวคิดที่ได้เพิ่มเติมเข้ามา เลยรู้สึกว่าถ้าเขามาต่อยอดสถาบันนี้ได้ก็คงจะดี 

ตอนเขากลับมาประเทศไทย ครูต้อยก็ชวนเขาว่ากลับมาช่วยพัฒนาวงการเต้นในไทยเถอะ เพราะที่ผ่านมามีลูกศิษย์ของเรา หรือนักเต้นของเมืองไทยไปต่างประเทศแล้วไปยาวเลย กลายเป็นว่าวงการเต้นไทยขาดทุนในแง่การพัฒนา ก็เลยชวนเขาว่า กลับมาเถอะ กลับมาพัฒนาบ้านเราเถอะ 

ในฐานะลูกที่รับธุรกิจต่อจากแม่ วันนั้นรับมือยังไงบ้าง

นวินดา : จริงๆ แม่ไม่ได้เอ่ยปากพูดตรงๆ แบบนี้หรอก เขาไม่ได้บังคับทุกเรื่องในชีวิต เหมือนเขาจะมีวิธีพูดของเขา แต่เรารู้ว่าลึกๆ เขาอยากให้กลับมาทั้งในฐานะลูกและศิลปินคนนึง 

สำหรับเรา เรื่องนี้ตัดสินใจยากมาก ตอนแรกคิดว่าจะประคองทั้งสองอย่างให้ไปได้ควบคู่กัน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริงการบริหารโรงเรียนที่เราคิดว่าง่าย เพราะคลุกคลีอยู่ในธุรกิจนี้ตั้งแต่เด็กๆ กลับเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำและไม่รู้ว่าจะวุ่นวายขนาดนี้ ทำให้ต้องตัดสินใจว่าจะสละอะไรดี สุดท้ายก็สละความเป็นศิลปิน แล้วมาทำด้านธุรกิจก่อน 

เหตุผลที่ตัดสินใจแบบนั้น คือเรามองถึงองค์รวมของวงการเต้น และโรงเรียนอื่นๆ ถ้าไม่รีบทำให้ Bangkok Dance Academy ยั่งยืนมั่นคง มันจะลำบากในการกลับมาทำใหม่ในอนาคต เราเลยต้องเลือกสิ่งที่เร่งด่วนในเวลานี้มากกว่า 

พอถึงวันที่ต้องมาทำงานในฐานะผู้บริหาร ศิลปินแบบคุณปรับตัวยังไง 

นวินดา : ตอนแรกพอเดาได้ว่าจะแตกต่างตรงไหนบ้าง แต่มันถูกต้องตามที่คิดไหมนั้นอีกเรื่องเลย เราเรียนศิลปะมาทั้งชีวิต เราเป็นศิลปินที่ต้องมาทำธุรกิจ ทุกอย่างมันเลยใหม่หมด

วิธีที่เราใช้คือต้องทำให้ธุรกิจเป็นเหมือนงานศิลปะ มันเลยทำให้เรากับแม่มีปัญหากันเยอะในช่วงแรกเพราะเราจะคิดนอกกรอบ และคิดในแนวทางที่อยากทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งจะดีไม่ดีเราไม่รู้ แต่ขอโอกาสในการลอง ซึ่งบางทีอาจจะสุดโต่งไปบ้าง 

แต่เราก็คิดว่าถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราจะบริหารมันไม่ได้เลย เลยขอทดลองดูแต่ยังยึดแก่นของความเป็น Bangkok Dance Academy ให้ได้มากที่สุด ทั้งระบบการสอนและระบบการบริหารธุรกิจ 

การเป็นลูกเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสร้างความกดดันให้คุณบ้างไหม

นวินดา : ความกดดันในฐานะลูกครูต้อยเป็นสิ่งที่เราเผชิญมาตั้งแต่เรียนจบเลย คือเราก็เป็นแค่มนุษย์คนนึงที่จบเต้นมา มีหลายคนที่เคยพูดว่าหลอดไฟรอดอยู่แล้วเพราะเป็นลูกครูต้อย หลอดไฟได้อยู่แล้วเพราะเป็นลูกครูต้อย ซึ่งมันก็สร้างแรงกดดันในตัวเราไม่น้อย 

แต่พอได้สร้างผลงานจนคนเห็นว่าเราเก่งจริง มันก็เริ่มสยบคำพูดพวกนี้ไปได้บ้าง ทำให้ตอนนี้เราสบายตัวเรื่องคำสบประมาทมากขึ้น ตอนนี้เลยมองแค่ว่าพยายามต่อยอด พยายามทำให้ได้ดี ในส่วนที่แม่ทำมา และทดลองในสิ่งที่เราอยากจะทดลองก็พอ

คุณเอาชนะความรู้สึกที่เกิดขึ้นยังไงบ้าง

นวินดา : โชคดีที่เรามองเห็นสิ่งที่ธุรกิจของเราจะเติบโตเป็นอีกอย่างในมุมมองของเราได้มากกว่า เราเห็นความเป็นไปได้ตรงนั้น เราเลยไม่ได้ทำตามในแบบที่มันเคยเป็น เราหวังจะสร้างวงการเต้นและธุรกิจเต้นในแบบที่เราเคยเป็น

พอคิดแบบนี้แรงกดดันในการจะต้องสานต่อ Bangkok Dance Academy ที่เป็นผลงานของครูต้อยก็ลดลง เพราะหลังจากนี้จะเป็นของเราแทนแล้ว

มองว่าปัญหาของวงการเต้นในช่วงเวลานี้คือเรื่องอะไร

นวินดา : มันเคยมีมูลค่ามากในสมัยก่อน แต่วันนี้มูลค่าของการเต้นมันลดลง หลายคนยังไม่รู้ว่าการเต้นเชิงเทคนิค กับการเต้นเชิงพาณิชย์แตกต่างกันยังไง

ดังนั้นเป้าหมายของเราคือทำให้คนรู้ว่าการเต้นเชิงเทคนิคคืออะไร และจะทำยังไงให้การสร้างคนผ่านการเต้นกลับมาอีกครั้ง 

สุดท้าย อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้สถาบัน Bangkok Dance Academy ยังคงอยู่คู่วงการเต้นของประเทศไทยมาได้จนถึงทุกวันนี้

วัลลภา : คุณภาพดีที่สุดในทุกๆ วัน ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ ที่สำคัญคือต้องไม่เอาคำว่าคุณภาพไปแลกกับสิ่งล่อตาล่อใจ ต้องจำความรู้สึกของตัวเองในวันแรกที่ตัดสินใจทำสิ่งนี้ให้ดี ว่าเราต้องการอะไร ซึ่งสำหรับครูต้อยคือการสร้างสังคมของวงการเต้นบัลเลต์ให้ดียิ่งขึ้น

นวินดา : สำหรับเราน่าจะเป็นผลงานเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องการแสดงและสอนเรื่อง creative movement ที่ไม่ใช่แค่นักเรียนหรือผู้ปกครอง แต่เป็นคนที่อยู่นอกเหนือวงการเต้นให้มีคุณภาพมากขึ้น จากนั้นก็เป็นด้านบริหารที่เป็นโจทย์ให้เราต้องทำต่อไปหลังจากนี้

Writer

KFC ฟิลเตอร์สตอรี่ไอจี และ Tame Impala คือสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้อยากมีชีวิตอยู่

You Might Also Like