นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Mini Aquarium for All

เวียนว่ายไปกับ Aquabeeru มินิอควาเรียมที่ตั้งใจเป็น ‘เซฟโซน’ ของทั้งคนและปลาสวยงาม

แปลกแต่จริงที่ว่า ภาพจำของร้านขายปลาสวยงามในบ้านเรามักไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่นัก  

ทว่านั่นอาจไม่ใช่กับ Aquabeeru (อควาบีรุ) ร้านขายปลาสวยงาม ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร ที่เพิ่งก่อตั้งในช่วงต้นปี 2024 โดยความตั้งใจของ เบียร์–เสกสรร พิสิฐเพ็ญจันทร์ บรรณาธิการภาพและมัลติมีเดียจาก Howl & VPN Magazine และนนท์–ชานนท์ สิมะบวรสุทธิ์ Co-founder และบรรณาธิการ Howl & VPN Magazine ร่วมด้วยคนสนิทข้างกายอีก 2 ราย คือ ริบบิ้น–ลักษณาภรณ์ จุลพันธ์ และน้ำฝน–ลัคนา พิสิฐเพ็ญจันทร์ ที่หมายมั่นปั้นมือเปลี่ยนภาพจำด้านลบของร้านปลาสวยงามที่มีอยู่ตามท้องตลาด

ฟังดูอาจเป็นเป้าหมายไกลเกินเอื้อม แต่จากสองตาที่ได้เห็นคงต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่คำอวดอ้างเกินจริง เพราะ Aquabeeru ไม่ใช่ร้านปลาสวยงามที่เพียงเพื่อซื้อมา-ขายไป แต่ยังมอบความรู้พื้นฐานแก่นักเลี้ยงปลามือใหม่ พร้อมกับดูแลความเป็นอยู่ของบรรดาปลาในร้านดุจครอบครัวมากกว่าแค่สินค้า 

สะท้อนผ่านการจัดวางตู้ปลาแต่ละตู้อย่างพิถีพิถันด้วยเฟอร์นิเจอร์คุณภาพ มีระบบคัดกรองสิ่งปฏิกูล สายออกซิเจนที่ถูกเก็บเป็นที่ทาง ไหนจะการเลี้ยงในระบบนิเวศที่เหมาะสม แม้กระทั่งป้ายบอกชื่อพันธุ์ปลาที่ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ยังมีให้เห็น เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจึงแทบไม่ต่างจากอควาเรียมขนาดย่อมยังไงยังงั้น

นอกจากนี้ Aquabeeru ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น เวิร์กช็อปจัดตู้ปลาและพันธุ์ไม้น้ำ คาเฟ่นั่งชิลล์ สถานที่จัดเวิร์กช็อปสำหรับประชุม และเซฟโซนสำหรับคนที่เหนื่อยล้าจากชีวิตประจำวันโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเก็บกระเป๋าไปถึงทะเล 

รวมๆ แล้วแนวคิดและวิธีนำเสนอภาพลักษณ์ของ Aquabeeru ช่างน่าสนใจ กับการบริหารร้านปลาไซส์เล็กน่ารัก แต่สามารถช่วยเยียวยาและชุบชูจิตใจของทั้งคนและปลาสวยงามไว้ได้ 

ว่าแล้วขอเชิญผู้อ่านไปแหวกว่ายกันในร้าน สัมผัสความอบอุ่น พร้อมกับหาคำตอบการบริหารของพวกเขาจากคอลัมน์ Market Share คราวนี้ 

เท่าที่ทราบมา ดูเหมือนพวกคุณจะมีความชอบในเรื่องการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

เบียร์ : เดิมทีความรู้ในการจัดตู้ปลาหรือความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาสวยงามของผมแทบเป็นศูนย์ แต่เผอิญคุณพ่อของผมเขาอยากเลี้ยงปลาคาร์ป แต่เลี้ยงเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที ผมเลยศึกษาค้นคว้าเพื่อช่วยเหลือว่า เราควรเลี้ยงแบบไหนดี เลี้ยงแบบไหนมันถึงจะรอด ทำไปทำมาเลยมีความเข้าใจพื้นฐานของการเลี้ยงปลาสวยงาม 

ถึงอย่างนั้นผมก็ยังไม่ได้อินกับการเลี้ยงปลาสวยงามอยู่ดีนะ จนกระทั่งวันหนึ่งแฟนของผม (ลักษณาภรณ์) เขาไปเห็นคลิปการจัดตู้ปลาแบบเกาหลี ที่เน้นตกแต่งด้วยตัวการ์ตูนสวยๆ น่ารักๆ เลยมีความคิดอยากจัดตู้ปลาแบบนั้นบ้างในแบบที่อิงจากบ้านของตัวการ์ตูนสพันจ์บ็อบ

ผมก็ว่าโอเค เป็นไอเดียที่ดูน่าสนุก หลังจากนั้นเลยศึกษาความรู้เกี่ยวกับวิธีจัดตู้ปลา ถลำลึกถึงขั้นที่ศึกษาเรื่องระบบคัดกรองชีวภาพ วัฏจักรไนโตรเจน จนถึงระบบนิเวศของปลาสวยงามแต่ละพันธุ์ จนกระทั่งผมไปได้ตู้ปลาขนาด 12×12 นิ้ว ก็เลยเริ่มจัดตู้ปลาเองเป็นครั้งแรก ลองผิดลองถูกจากความรู้เท่าที่เรามีในตอนนั้น วางกรวด เติมไม้น้ำ เติมปลา ทยอยทำด้วยความสนุก จนในที่สุดก็ได้ตู้ปลาตู้แรก

เพียงแต่ไม่ใช่ตู้สพันจ์บ็อบที่วางไว้แต่แรก (หัวเราะ)

ริบบิ้น : ทุกวันนี้ก็ยังทวงเขาอยู่นะ ว่าเมื่อไหร่เราจะได้ตู้สพันจ์บ็อบ (หัวเราะ)

อย่างที่เล่าไป คือหลังจากเราทำตู้ปลาตู้แรกสำเร็จ ก็เกิดเป็นเอฟเฟกต์ ‘ตู้งอก’ คืออยากจะลองทำตู้ปลาในแบบอื่นๆ บ้าง ทีนี้พอมีหลายตู้ก็เลยอยากลองทำคอนเทนต์นำเสนอการจัดตู้ปลาสวยงามลงทาง TikTok ในชื่อช่องว่า Aquabeeru ปรากฏว่าได้รับความสนใจเกินคาด

นนท์ : ส่วนผมก็เคยมีปมกับการเลี้ยงปลามาก่อนเหมือนกัน คือสมัยเด็กๆ ผมเลี้ยงปลาสวยงามเยอะ แต่ส่วนใหญ่เลี้ยงแล้วมันไม่รอด จนกระทั่งตอนได้ทำงานร่วมกับเบียร์ มีวันหนึ่งเขาชวนผมไปบ้านแล้วอวดตู้ปลา เราถึงเห็นว่าอุปกรณ์เลี้ยงปลาสวยงามตอนนี้พัฒนาไปไกลกว่าเมื่อก่อนมาก ทำให้ตัดสินใจว่าจะกลับมาเลี้ยงปลาสวยงามอีกครั้ง แล้วเป็นเบียร์นี่แหละที่คอยให้คำแนะนำว่าต้องเลี้ยงแบบไหน พอคราวนี้เราเลี้ยงสำเร็จ เราถึงมาต่อยอดความรู้และประสบการณ์ที่มีด้วยการเปิดร้านขายปลาสวยงาม

น้ำฝน : ส่วนเราเป็นคนชอบสัตว์อยู่แล้ว แต่จะเน้นแค่พวกหมาหรือแมว ปลาสวยงามเราไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่ คือตัวมันดูเป็นเกล็ดๆ แถมยังพาไปเดินเล่นไม่ได้ กอดไม่ได้ แต่พอพี่เบียร์ชวนมาทำตรงนี้เราถึงค่อยๆ ซึมซับความชอบ ได้เห็นว่าปลาสวยงามมีหลากหลายชนิด และมีสิ่งที่น่าค้นหามากกว่าที่เราเห็น

จุดไหนที่พวกคุณตัดสินใจเปลี่ยน Aquabeeru จากงานอดิเรก ให้กลายเป็นร้านขายปลาสวยงาม 

เบียร์ : ผมเริ่มจัดตู้ปลาตู้แรกได้ในช่วงเดือนธันวาคม (2566) หลังจากนั้น 3 เดือนถึงทดลองเปิดร้าน Aquabeeru เหตุผลในการเปิดร้านไม่มีอะไรซับซ้อน คือเราอยากทดลองเลี้ยงปลาหลายชนิด แต่การจะไปซื้อทีละตัวสองตัวยังไงทางฟาร์มไม่ยอมขายแน่นอน ก็เลยจำเป็นต้องซื้อปลาทีละเยอะๆ ลามไปถึงพวกหอย พวกกุ้ง

ทีนี้พอปลาที่ซื้อมามันเหลือก็เลยแจกจ่ายให้คนรู้จักบ้าง ขายในราคาถูกๆ บ้าง แรกเริ่มเราไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าควรจัดส่งปลาด้วยวิธีไหนปลาถึงจะปลอดภัย สุดท้ายเลยตัดสินใจขับรถไปส่งเองทุกออร์เดอร์ คือทำไม่ได้กะเอากำไร เราทำเพื่อสนองแพสชั่นตัวเองและเพิ่มคอนเนกชั่นกับผู้คนในวงการเลี้ยงปลาสวยงาม

Aquabeeru มีภาพลักษณ์ต่างไปจากร้านขายปลาสวยงามทั่วไปตามท้องตลาด ขนาดที่มองผิวเผินจากภายนอกแทบจะนึกว่าเป็นร้านคาเฟ่เสียด้วยซ้ำ คุณได้ไอเดียนี้มาจากไหน

เบียร์ : ความจริงเรามีพื้นฐานเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเราชอบความมินิมอล มีบรรยากาศความเรียบง่ายแบบญี่ปุ่นๆ ซึ่งภาพแรกในหัวของผมคืออยากให้มวลรวมของร้านดูมีความอบอุ่น มีมุมนั่งคุย นั่งเล่น พักผ่อน เหมือนเรานั่งดูปลาอยู่ที่บ้าน 

อุดมคติของ Aquabeeru คือไม่อยากให้ลูกค้าเข้ามาเพื่อซื้อปลาเสร็จแล้วกลับ เราอยากให้ทุกคนมานั่งเล่นดูปลาก่อน มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนปัญหาที่เจอ เพราะแน่นอนว่าใครที่เลี้ยงปลาก็ย่อมต้องเจอปัญหา ซึ่งเราเคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อนแต่ไม่ได้รับคำตอบจากร้านขายปลาที่เราซื้อ  

นนท์ : ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งคำถามว่า ทำไมร้านขายปลาในประเทศไทยส่วนใหญ่บรรยากาศต้องดูมืดๆ ดูเฉอะแฉะ เราเลยอยากแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อยกระดับธุรกิจร้านขายปลาสวยงามให้ดีขึ้น เราอยากสร้างร้านขายปลาที่เฟรนด์ลี่กับลูกค้า ดูสะอาด และที่สำคัญคือต้องขายปลาที่สุขภาพดี เพราะต่อให้ร้านดูสวยแต่ถ้าไม่ดีต่อสุขภาพปลาเราก็ไม่ทำ

ดูเหมือนว่าจุดเด่นของ Aquabeeru ไม่ได้มีแค่เพียงบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง แต่ยังมีเรื่องของการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่เข้ามา 

เบียร์ : สังเกตถ้าลูกค้าเปิดประตูร้านเข้ามาเราจะถามก่อนเลยว่ามาไกลไหม เดินทางมายังไง แล้วค่อยสอบถามว่าส่วนตัวแล้วเลี้ยงปลาหรือเปล่า หรือถ้ายังไม่อยากรีบร้อนก็นั่งเล่นก่อน เรามีมุมคาเฟ่ขายเครื่องดื่มด้วยนะ

ว่าง่ายๆ คือทำยังไงก็ได้ให้เขาอยากอยู่นานๆ เสพบรรยากาศจนเขารู้สึกอยากเลี้ยงปลา อยากมีตู้ปลาเป็นของตัวเอง แต่เราจะไม่รีบเร่งบังคับหากลูกค้าคนนั้นยังไม่เคยเลี้ยงปลามาก่อน หรือยังไม่รู้ว่าถ้าซื้อแล้วเขาจะไปเลี้ยงตรงไหน เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเราจะห้ามเสียด้วยซ้ำ 

เราจะบอกลูกค้าเสมอว่า ถ้ายังไม่พร้อมลองไปคิดดูก่อนได้นะ เราแลกไลน์ แลกเบอร์ แล้วถ้าพร้อมเมื่อไหร่ค่อยกลับมาก็ได้

ริบบิ้น : อีกข้อคือเราต้องถามลูกค้าก่อนว่าเขาอยากเลี้ยงปลาแบบไหน เคยมีกรณีที่ลูกค้าอยากเลี้ยงปลาดุกับปลาใจดี ถ้าปลาทั้งสองชนิดมีนิสัยแตกต่างกันสิ้นเชิงจนไม่สามารถเลี้ยงร่วมกันได้ เราก็แนะนำให้ความรู้ว่า เปลี่ยนเป็นปลาพันธุ์นี้คู่กับพันธุ์นี้ดีกว่านะ ต้องเลี้ยงในระบบนิเวศแบบนี้ดีกว่านะ จนถึงวิธีการเลี้ยงแบบไหนที่ถูกต้อง เพราะเราอยากให้เขาซื้อไปเลี้ยงแล้วรอด

เบียร์ : อีกอย่างคือ ปกติร้านขายปลาทั่วไปจะเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่เราจะใช้วิธีลดน้ำออก 20% แล้วเพิ่มน้ำใหม่เข้าไปแทนที่ พร้อมกับใส่แบคทีเรียสำเร็จรูปคอยบำบัดน้ำ เพื่อยังคงระบบนิเวศตามธรรมชาติของปลาในตู้ไว้ ผมเลยจะไม่ขัดตู้ปลาจนใสเกินเพราะจะได้สังเกตออกว่าแบคทีเรียในตู้ยังโอเคอยู่หรือเปล่า หรือแม้การใส่กรวดในตู้ก็สำคัญเช่นกัน เพราะกรวดจะช่วยทำให้ค่า pH ในน้ำสมดุล

อย่างในส่วนอุณหภูมิของแอร์เราจะคงอยู่ที่ 28 องศา ถ้าลูกค้าในร้านเยอะถึงจะค่อยปรับต่ำลงมาที่ 26 องศา แล้วเปิดพัดลมช่วยพัดถ่ายเทอากาศ เพราะถ้าอุณหภูมิต่ำเกินกว่านั้นปลาก็อาจจะป่วยได้อีก แอร์เย็นคนชอบก็จริงแต่ปลาจะปรับตัวไม่ทัน 

ดีไซน์ทุกอย่างภายในร้านพวกคุณเป็นคนทำเองหมดเลยหรือเปล่า

เบียร์ : ใช่ คือให้ทุกคนแนะนำมาก่อนว่าอยากมีอะไรในร้านบ้าง แล้วผมที่มีพื้นฐานการใช้โปรแกรม 3D ถึงค่อยร่างแปลนขึ้นมา ว่าเราจะมีเคาน์เตอร์สำหรับทำเป็นคาเฟ่ตรงนี้นะ มุมตรงนี้จะเป็นชั้นวางตู้ปลา ตรงนี้จะเป็นมุมสำหรับให้นั่งเล่น ส่วนโต๊ะตรงกลางไว้สำหรับเวิร์กช็อปจัดตู้ปลากับกิจกรรมตักปลาแบบงานวัด 

ที่สำคัญคือเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นจะต้องทำมาจากไม้ สาเหตุที่ต้องเป็นไม้เพราะอย่างที่บอกว่าเราต้องการบรรยากาศความเป็นมินิมอล ส่วนอีกข้อคือเราต้องการประหยัดงบในส่วนนี้ ชั้นวางไม้ต่างๆ เราเป็นคนวัด เป็นคนประกอบเอง ทาสีเอง เพราะพ่อของผมมีความรู้เรื่องงานช่าง หรืออย่างผมก็ชอบงานไม้อยู่แล้ว เลยคิดว่าเอางบไปสนับสนุนเรื่องความเป็นอยู่ของปลาดีกว่า ลงทุนใช้ตู้ปลากระจกเกรดดีๆ วางระบบไฟ วางระบบน้ำให้ดีไปเลย  

อย่างดีไซน์ชั้นวางตู้ปลาเราก็ประยุกต์มาจากร้านขายปลาสวยงามในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดีไซน์แบบนี้นอกจากจะดูปลอดโปร่ง ขณะเดียวกันยังเก็บซ่อนความไม่เรียบร้อยได้ง่าย เช่น พวกสายไฟ ท่อบำบัดน้ำ หรือในส่วนของ ‘ฝาตู้ปลา’ ที่ทำจากไม้ก็ไม่ได้มีไว้แค่เพื่อความสวยงาม แต่ยังช่วยควบคุมความชื้น แถมช่วยดูดซับกลิ่นคาวปลาได้อีกด้วย

นนท์ : ที่ภูมิใจสุดๆ คือตู้ปลาที่เห็นอยู่ เราได้ทีมช่างที่ทำกระจกให้กับอควาเรียมชื่อดัวในไทยเป็นคนทำให้ทั้งหมด งานที่เห็นเลยเนี้ยบและมีความแข็งแรงมาก

ริบบิ้น : พอนำตู้ปลาที่เป็นกระจกมาวางต่อกันเป็นแนวยาวเลยให้ความรู้สึกเหมือนเป็น ‘มินิอควาเรียม’ ตามความตั้งใจของเรา หรือที่มีติดป้ายข้อมูลพันธุ์ปลาต่างๆ ก็เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเชิงวิชาการให้คนที่แวะเวียนเข้ามาได้ศึกษา โดยเฉพาะน้องๆ ที่เป็นเด็กนักเรียน ถึงต่อให้ไปที่อควาเรียมจริงๆ เขาก็จะไม่มีทางได้เห็นปลาลักษณะแบบนี้ เพราะอควาเรียมส่วนใหญ่ถ้าไม่เลี้ยงปลาน้ำเค็ม ก็จะเลี้ยงปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ซึ่งใช้งบประมาณเลี้ยงดูน้อยกว่าและง่ายกว่า

ที่สังเกตเห็นอีกอย่างพวกคุณเลี้ยงปลาสวยงามที่พิการแยกเอาไว้ด้วย  

เบียร์ : ใช่ จริงๆ อนาคตเราวางแผนจะมีโปรเจกต์รับเลี้ยงปลาสวยงามที่พิการด้วยซ้ำ 

ในความเป็นจริงทุกครั้งที่เราไปซื้อปลาพวกนี้จากฟาร์มต่อให้เราคัดดีแค่ไหน สุดท้ายจะต้องมีสักตัวที่เป็นปลาพิการอยู่ดี ยิ่งปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยงโอกาสพิการยิ่งสูง ไม่ครีบขาดก็ตาบอด เพราะปลาพวกนี้เกิดมาจากปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีความเลือดชิด 

พอนำไปเลี้ยงรวมกับปลาที่สุขภาพแข็งแรง สุดท้ายปลาที่พิการก็จะถูกฝูงทอดทิ้ง แล้วเราไม่อยากขายปลาที่พิการให้กับลูกค้าเลยตัดสินใจว่านำมาเลี้ยงเองดีกว่า

จากที่ฟังมาการเลี้ยงปลาสวยงามดูจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอตัว ผิดจากความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าปลาเป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงได้ง่ายที่สุด

เบียร์ : ข้อมูลของปลาในโลกเรายังมีอยู่น้อยมากเลยนะ ต่อให้เป็นปลาชนิดเดียวกันแต่ทำไมบ้านเราเลี้ยงแบบหนึ่ง ต่างประเทศเลี้ยงอีกแบบหนึ่ง นำเข้ามาจากต่างประเทศ พฤติกรรมของปลาก็เปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป 

อย่างปลาคาร์ดินัลบ้านเราบอกเลี้ยงด้วยน้ำประปาได้ แต่ถ้าไปดูในเว็บไซต์ต่างประเทศเขาจะบอกว่าต้องเลี้ยงในน้ำที่มีค่า pH ต่ำ ต้องมีอุณหภูมิไม่มากกว่าหรือน้อยกว่า 22-24 องศาเซลเซียส รวมๆ แล้วมันมีอะไรจุกจิกกว่าที่เห็นเยอะ เราต้องศึกษาอยู่ตลอดเพื่อนำมาบอกต่อลูกค้า

ริบบิ้น : อย่างเราเคยเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษามาก่อน ก็อยากนำประสบการณ์ตรงนั้นมาปรับใช้ ทั้งการทำใบความรู้ที่แปะบนบอร์ดหน้าร้าน หรือโปสต์การ์ดที่สอนวิธีการจัดตู้ปลาเราก็เป็นคนลงมือวาดกันเองทั้งหมด 

อีกอย่างที่เราพยายามกัน คือการปลูกฝังวิธีเลี้ยงปลาสวยงามที่ถูกต้องให้แก่เด็กๆ ที่เข้ามาในร้าน เสริมให้เขารู้ว่าปลาแต่ละชนิดมันไม่ได้มีแค่ความแปลกหรือความสวยงามนะ แต่ต้องเลี้ยงด้วยวิธีแบบนี้ถึงจะรอด พอเขาซื้อไปเลี้ยงเราก็จะถามไถ่ว่า นำไปทำตามแล้วปลารอดไหม ปลายังโอเคอยู่หรือเปล่า 

คำตอบที่ได้ก็จะเป็นแบบ ปลาของหนูยังโอเคอยู่เลยค่ะ กุ้งที่ซื้อไปมันลอกคราบด้วยนะคะอะไรประมาณนี้

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Aquabeeru นำเสนอในเรื่องของ ‘ไม้น้ำ’ ที่เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการจัดตู้ปลา และเป็นอีกศาสตร์ที่แตกต่างจากการเลี้ยงปลาสวยงามโดยสิ้นเชิง

เบียร์ : ทั้งสองศาสตร์แตกต่างกันพอสมควร คือถ้าคนอยากเลี้ยงไม้น้ำเขาจะใส่ปลาในตู้ให้น้อยที่สุดเพื่อคุมของเสียภายในตู้ ซึ่งทำให้ไม้น้ำเติบโตสวยงาม แต่ด้วยเหตุผลนี้แหละเราเลยตั้งคำถามว่า แล้วทำไมการเลี้ยงปลากับเลี้ยงไม้น้ำมันถึงอยู่ร่วมกันไม่ได้ ก็เลยพยายามศึกษาการเลี้ยงไม้น้ำเพิ่มเติม แล้วนำความรู้ที่ได้มานำเสนอผ่านการเวิร์กช็อปจัดตู้ปลา

นนท์ : คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าการเลี้ยงไม้น้ำเป็นศาสตร์ที่ยาก ถ้าจะเลี้ยงต้องมีเครื่องปล่อยคาร์บอน ต้องมีเครื่องกรองน้ำ แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นขนาดนั้น ไม้น้ำบนโลกมีหลายระดับ คุณสามารถเลือกเลี้ยงไม้น้ำที่เลี้ยงไม่ยากได้  คุณอาจจะเลือกเลี้ยงในโหลแบบ low-tech ที่มีหลักการเลี้ยงไม่ยาก ซึ่ง Aquabeeru พยายามนำเสนอจุดนี้ โดยใช้มุมมองจาก pain point ที่เราเคยเจอมา เช่น อยากเลี้ยงแต่งบไม่พอ หรืออยากเลี้ยงแต่ยังขาดคนอธิบายหลักการตรงนี้ให้ฟัง คือถ้าเราเลี้ยงได้คนที่ซื้อไปก็ต้องเลี้ยงได้เช่นกัน

เบียร์ : ถ้าพูดถึงโหลแบบ low-tech คนที่เลี้ยงไม้น้ำจริงๆ จังๆ เขาจะไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่เพราะตู้ขนาดเล็กไม่สามารถจัดเต็มใส่ทุกอย่างลงไปได้ แต่ที่เราเสนอโหล low-tech เพราะมันเลี้ยงดูง่าย ราคาประหยัด มีความสวยงามตามธรรมชาติในแบบของมันเองถึงอาจจะไม่เท่าตู้แบบ hi-tech 

นอกจากการให้ความรู้เรื่องปลาสวยงาม ให้ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้น้ำ กิจกรรมเวิร์กช็อปจัดตู้ปลา คาเฟ่นั่งชิลล์ หรือกิจกรรมตักปลาแบบงานวัด ในอนาคต Aquabeeru มีแผนจะทำอะไรเพิ่มเติมอีก

เบียร์ : มีหลายอย่างที่เราอยากทำอีกเยอะมาก เช่น ชั้นสองเราอยากทำเป็นห้องเวิร์กช็อปจริงจัง อยากทำสื่อเผยแพร่ความรู้ประเภทนิตยสาร ทำเว็บไซต์รวบรวมความรู้เกี่ยวกับปลาสวยงามเท่าที่เราจะหาได้ 

นนท์ : เรื่องของเว็บไซต์ยังมีอีกข้อที่เราอยากนำเสนอสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงปลา โดยเราจะทำชอยส์ให้เลือก 3 ข้อ คืองบประมาณที่มี, ปลาที่คุณอยากเลี้ยง และขนาดตู้ เพื่อให้คนที่เล่นได้กดเลือกจนกว่าจะพบผลลัพธ์ที่แมตช์ และสามารถนำไปต่อยอดสั่งซื้อตู้ปลาและปลามาเลี้ยงตามที่วางแผนไว้

น้ำฝน : เราอยากทำโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า ‘กระเบนยิ้ม’  คือเป็นการขนส่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อปลาสวยงามโดยเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาปลาตายหรือบาดเจ็บระหว่างทางจากการขนส่งแบบผิดวิธี ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย และขนส่งยังไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก เราเลยอยากที่จะทำตรงนี้เองไปเลย

เบียร์ : อย่างการ์ดเกมที่ให้ความรู้เรื่องปลาเราก็อยากทำนะ เพราะเป็นสื่ออีกแบบที่เด็กและวัยรุ่นให้ความสนใจ โดยรวมแล้วคือเราตั้งใจจะทำให้คนเข้าถึงเรื่องปลาสวยงามให้ง่ายที่สุด

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Illustrator

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like